เฅี่ยวฅับวารสาร
วารสารŠบับัจจุบัš
วารสารŠบับฅ่อšๆ
ฅองบรรณาธิฅาร
คำแšะšำใšฅารส่งพ้šŠบับ
สมัครสมาชิฅ
อีเมล์เพือš
สมาคมจิพแžกย์
พิดพ่อ
ค้šหาบกความใšวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในเขตชุมชนแออัดของเทศบาลเมืองกาญจนบุรี

 จุมพล สมประสงค์ พ.บ.*

ทคัดย่อ ผู้วิจัยได้สำรวจปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในเขตชุมชนแออัด เทศบาลเมือง กาญจนบุรี ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยการสุ่มตัวอย่างของประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แบบมีระบบ (systematic random sampling) ได้จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 250 คน จากทั้งหมด 1,487 คน คิดเป็นร้อยละ 16.8 โดยใช้แบบสอบถาม GHQ-28 ฉบับภาษาไทย พบผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 55 คน คิดเป็นร้อยละ 22.0 และพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ สุขภาพร่างกายของตนเอง การเจ็บป่วยร้ายแรงของคนในครอบครัว การตกงาน ปัญหากับคู่สมรส ปัญหากับสมาชิกในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและความพอใจกับงานที่ทำ

การศึกษานี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการให้บริการแบบองค์รวมทั้งกายใจและสังคมในการให้บริการทางสาธารณสุข และชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างสูง ซึ่งสมควรให้ความสนใจในการให้บริการให้มากขึ้น และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบปัญหาและปัจจัยของชุมชนที่มีความแตกต่างในโครงสร้างทางด้านประชากรลักษณะต่างๆ ต่อไป

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2540; 42(4) :184-196.

คำสำคัญ ปัญหาสุขภาพจิต GHQ-28 ฉบับภาษาไทย ชุมชนแออัด

* กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000

 The survey of mental health problems in slum communities in Muang District, Kanchanaburi

Joompol Somprasonk, M.D.*

 Abstract Mental health problems of people living in municipal slum communities in Muang District, Kanchanaburi were studied during June 1997 by using the Thai GHQ-28. By systematic random sampling, 250 cases were selected from 1,487 individuals whose age were 18 and over. The prevalence of mental health problem was 22.0% and the statistical significant factors (P < 0.05) were age, marital status, educational level, incomes, physical illness, a serious illness of family member, lose of job, marital problem, problem with family member, financial problem and the satisfaction with one’s work.

The study has reflected the importance of the bio-psycho-social of holistic care in public health services, and suggested that more attention be paid to the elderly people because of the high prevalence of mental health problems in this group. Further studies among different types of communities were recommended.

J Psychiatr Assoc Thailand 1997 ; 42(4) : 184-96.

 Key words: mental health problems, Thai - GHQ - 28 , slum community.

 * Division of Psychiatry, Paholpolpayuhasena Hospital, Muang District, Kanchanaburi 71000

บทนำ

พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ได้มีแหล่งเสื่อมโทรมเกิดขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและบางแห่งก็ขยายตัวเกิดเป็นเขตชุมชนแออัดขนาดใหญ่ ซึ่งชุมชนแออัดเหล่านี้มักจะถูกมองว่าเป็นแหล่งของปัญหาทางสังคม เช่น ยาเสพย์ติด อาชญากรรม และอบายมุขต่างๆ และความแออัดนี้ อาจมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนในชุมชน จนทำให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้1-3

จากการศึกษาทางระบาดวิทยาของโรคจิตในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกาโดย Faris และ Dunham ในปี ค.ศ. 1939 ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการป่วยกับความเสื่อมโทรมของสถานที่อยู่อาศัย และได้ตั้งสมมติฐานข้อหนึ่งไว้ว่า สังคมที่เสื่อมโทรม ทำให้เกิดความสับสนและความบีบคั้นทางจิตใจ ประกอบกับการที่สังคมนั้นขาดความสัมพันธ์ที่จะเกื้อหนุนจิตใจซึ่งกันและกัน จึงก่อให้เกิดความเครียดจนเป็นปัญหาสุขภาพจิต4

สำหรับในประเทศไทย มีผู้ศึกษาทางระบาดวิทยาของปัญหาสุขภาพจิตในประชากรกลุ่มต่างๆ ซึ่งพอรวบรวมอย่างย่อๆ ได้ดังนี้

มาร์วิน ไฟร์สะโตน และคณะ5 สำรวจโรคทางจิตเวชของประชากรบ้านแพะจอมแจ้ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพ.ศ. 2520 โดยใช้วิธีของสปิตเซอร์ พบผู้ที่เป็นโรคจิตอย่างชัดเจน ได้แก่ โรคจิตเภท โรคจิตทางอารมณ์ และกลุ่มอาการทางสมอง คิดเป็น 8.8 ต่อ 1,000

ส่งศรี จัยสินและคณะ6 สำรวจสภาวะสุขภาพจิตในจังหวัดชลบุรีในปีพ.ศ. 2522 โดยใช้ Health Opinion Survey (HOS) พบความชุกของปัญหาสุขภาพจิตประมาณร้อยละ 27-30

อัมพร โอตระกูลและคณะ7 ศึกษาปัญหาสุขภาพจิต ในตำบลสามเสนใน กรุงเทพมหานคร ในพ.ศ. 2525 ด้วยแบบสอบถามของ นพ.ยรรยงค์ ศุทธรัตน์ ที่ดัดแปลงจาก Cornell Medical Index (CMI) พบปัญหาทางจิตใจร้อยละ 30

วรัญ ตันชัยสวัสดิ์และคณะ8 สำรวจทางระบาดวิทยาของโรคประสาทวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ในหมู่บ้านปลักเด ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2525 โดยเลือกใช้ Present State Examination (PSE) ร่วมกับการสัมภาษณ์ทางจิตเวช เพื่อการวินิจฉัยทางคลินิก พบอุบัติการของโรคทั้งสองรวมกันประมาณหนึ่งในสามของประชากร

จักรกฤษณ์ สุขยิ่งและคณะ9 สำรวจความชุกของปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2538 ด้วย GHQ-60 ฉบับภาษาไทย พบประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 19.0

อัมพร เบญจพลพิทักษ์10 ศึกษาปัญหาสุขภาพจิตของแพทย์ประจำบ้านโรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2539 ด้วย GHQ-30 ฉบับภาษาไทย พบมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 42.2

วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ11 สำรวจปัญหาสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 1 ถึง 6 ใน พ.ศ. 2539 ด้วย GHQ-60 ฉบับภาษาไทย พบมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 24.6

จะเห็นได้ว่า ในประเทศไทยยังมีการศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างน้อย และเครื่องมือที่ใช้ก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และยังไม่มีการศึกษาในกลุ่มของชุมชนแออัดโดยเฉพาะ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งต่อการเกิดโรคทางจิตเวช

ดังนั้น จึงสมควรที่จะได้ศึกษาถึงขนาดของปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนแออัด ตลอด จนศึกษาถึงปัจจัยด้านต่างๆ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตที่พบ อันได้แก่ ปัจจัยทางด้านลักษณะของประชากร ปัจจัยทางชีวภาพ และปัจจัยทางจิต-สังคม12,13,14 เพื่อที่จะนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินงานสุขภาพจิต และจิตเวชชุมชนในชุมชนแออัดของเขตเมืองต่อไป

 วัสดุและวิธีการ

ผู้วิจัยได้ใช้แบบสำรวจ ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ข้อมูลทางด้านลักษณะของประชากรโดยทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครอบครัว ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้

2. ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านชีวภาพ ได้แก่ สุขภาพร่างกาย การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การใช้ยาเสพติด การออกกำลังกาย การมีญาติเป็นโรคจิต และประวัติการคลอด

3. ข้อมูลทางด้านจิต-สังคม ได้แก่ ผู้เลี้ยงดูตอนวัยเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว เหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิตในรอบ 1 ปี ปัญหาทั่วไปในระยะ 2-3 เดือน วิธีคลายเครียด การได้รับความรู้ทางด้านสุขภาพจิต ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความพอใจกับงานที่ทำ แหล่งช่วยเหลือทางด้านการเงิน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน

4. แบบสอบถาม GHQ-28 ฉบับภาษาไทย ซึ่งพัฒนาจาก GHQ-28 ของ Goldberg15 โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์ และคณะ16 ซึ่ง GHQ นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการใช้สำรวจปัญหาสุขภาพจิตในประชาชนทั่วไป เป็นการคัดกรองปัญหาและโรคทางจิตเวชเบื้องต้น โดยจะบอกเพียงว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดใด

GHQ ฉบับเต็ม ประกอบด้วยคำถาม 60 ข้อ (GHQ-60) ส่วน GHQ-28 ที่ผู้วิจัยใช้นี้เป็น scaled GHQ มีคำถาม 28 ข้อ แบ่งคะแนนเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการทางกาย (somatic symptoms) กลุ่มอาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ (anxiety and insomnia) กลุ่มความบกพร่องทางสังคม (social dysfunction) และกลุ่มอาการซึมเศร้าที่รุนแรง (severe depression) กลุ่มละ 7 ข้อ และคิดคะแนนแบบ GHQ Score (0-0-1-1) โดยใช้จุดตัดที่ 4 คะแนนขึ้นไปจากคะแนนเต็ม 28 คะแนน เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่ามีปัญหาสุขภาพจิต

ลักษณะของชุมชนแออัดที่สำรวจ ประกอบด้วย ชุมชนย่อย 6 แห่ง คือ ชุมชนเตาปูน 1, 2, 3 จำนวน 297 หลังคาเรือน ชุมชนร่วมพัฒนา 81 หลังคาเรือน ชุมชนริมน้ำชุกโดน 115 หลังคาเรือน และชุมชนโรงหีบอ้อย 89 หลังคาเรือน มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 2,675 คน ชุมชนทั้ง 6 แห่งนี้อยู่ห่างกันไม่มากนัก โดยแทรกอยู่ระหว่างอาคารบ้านเรือนและศูนย์การค้าที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่า ซึ่งแต่ละชุมชนนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ประชาชนไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง สภาพบ้านเรือนไม่คงทนถาวร แออัดยัดเยียดไม่เป็นระเบียบ ค่อนข้างสกปรก ขาดการสุขาภิบาลและสาธารณูปโภคต่างๆ ประชาชนส่วนมากมีอาชีพรับจ้างและไม่มีงานทำ จากการสอบถามพบว่า ปัญหาสำคัญของชุมชนทุกแห่งคือ การจำหน่ายและเสพยาเสพย์ติดประเภทต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในชุมชน นอกจากนั้นก็มีปัญหาการว่างงาน เล่นการพนัน การลักขโมย เป็นต้น

ผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลประชากรจากแบบสำรวจความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) ของเทศบาลเมืองกาญจนบุรี พบผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อยู่อาศัยในเขตชุมชนแออัด 6 ชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 1,487 คน และกำหนดขนาดตัวอย่างจากการคำนวณโดยใช้สูตรสำหรับการวิจัยเชิงสำรวจ17 ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 245 คน

การสำรวจได้ดำเนินการในช่วงเวลา 1-30 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ได้จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 250 คน

เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม โดยผู้ช่วยวิจัยที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ และตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลด้วยผู้วิจัย

การนำเสนอข้อมูลผ่านการวิเคราะห์โดยใช้จำนวนร้อยละ, Chi-square test และ Fisher’s exact test

 ผลการศึกษา

มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 250 คน จากประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งหมด 1,487 คน คิดเป็นร้อยละ 16.8 และพบว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่างมีปัญหาสุขภาพจิตเฉลี่ยร้อยละ 22.0

และเมื่อศึกษาจำแนกตามชุมชน พบว่า ชุมชนแต่ละแห่งมีความชุกของปัญหาสุขภาพจิตไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังตารางที่ 1

สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านลักษณะของประชากร ด้านชีวภาพและด้านจิตสังคม กับปัญหาสุขภาพจิต พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) คือ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ สุขภาพร่างกายของตนเอง การเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว การตกงาน ปัญหากับคู่สมรส ปัญหากับสมาชิกในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและความพอใจกับงานที่กำลังทำอยู่ ดังรายละเอียดที่แสดงในตารางที่ 2, 3 และ 4

 วิจารณ์

1. จากตัวเลขค่าเฉลี่ยขนาดของปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนแออัดทั้ง 6 แห่ง ซึ่งมีค่าร้อยละ 22.0 นั้น เมื่อเทียบกับการศึกษาอื่นๆ เช่น การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตในเขตหนองจอกของ จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง9 พบปัญหาร้อยละ 19.0, วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ11 พบปัญหาสุขภาพจิตในนิสิตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร้อยละ 24.63 และ อัมพร เบญจพลพิทักษ์10 พบปัญหาสุขภาพจิตในแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลรามาธิบดี ร้อยละ 42.2 แสดงว่าแนวคิดที่ว่าความแออัดของชุมชนที่อยู่อาศัยมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าชุมชนที่เจริญมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย1-4 ก็อาจไม่เป็นจริงเสมอไป และจากการเปรียบเทียบความชุกของปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนทั้ง 6 แห่ง พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งอาจเป็นเพราะจากการสังเกตพบว่า ลักษณะของชุมชนและประชากรของชุมชนทั้ง 6 แห่ง มีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น จึงน่าที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างชุมชนที่มีลักษณะโครงสร้างของชุมชนและประชากรที่แตกต่างกันในช่วงเวลาเดียวกันต่อไป

2. อายุที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงสุดถึงร้อยละ 57.9 ซึ่งตรงกับรายงานของ จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง9 จากการสังเกตขณะที่ออกสำรวจชุมชน พบว่า ในช่วงเวลากลางวันนั้น จะพบแต่ผู้สูงอายุและเด็กเล็กๆ และพบว่าผู้สูงอายุส่วนมากมีปัญหาสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง โรคที่พบมาก เช่น โรคกระดูกและข้อ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ตาต้อกระจก เป็นต้น ซึ่งส่วนมากขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงอายุส่วนมาก ยังต้องประกอบอาชีพรับจ้าง ทำงานดูแลตนเอง หลายคนอยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่กันแค่สามีภรรยาที่อายุมาก และบางคนต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่ออกไปทำงานทิ้งเอาไว้ ซึ่งสภาพปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจมีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรให้ความสนใจ และเข้าไปช่วยเหลือให้มากขึ้น

3. การศึกษาวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณา (descriptive study) เพื่อศึกษาขนาดของปัญหา และศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตเท่านั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าปัจจัยที่มีนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นเหตุให้เกิดปัจจัยต่างๆ ดังเช่น ปัจจัยด้านระดับการศึกษา สถานภาพสมรส การตกงาน ปัญหากับคู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) นั้น สามารถอธิบายได้ว่า อาจเป็นเพราะปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีความเครียดอย่างมาก จนทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจ หรือในทางกลับกัน ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ก่อนก็อาจมีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ตกงาน เรียนหนังสือไม่ได้ หรือก่อให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็ได้

4. มีข้อน่าสังเกตในการศึกษาปัจจัยเรื่องของอาชีพการงานและรายได้ พบว่า ถ้าพิจารณาในแง่ของอาชีพที่ทำและจำนวนเงินที่ได้รับต่อเดือน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ค่อนข้างเป็นปัจจัยที่วัดได้ (objectivity) พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิต แต่ในปัจจัยที่วัดถึงความรู้สึก (subjectivity) ต่องานที่ทำว่าพอใจหรือไม่ และรู้สึกขัดสนหรือไม่ต่อรายได้ที่ได้รับ พบว่าทั้ง 2 ปัจจัย มีความสัมพันธ์ปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกนั้นมีผลมากกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีปัญหานั้นจะต้องให้ความสนใจประเด็นของอารมณ์ ความรู้สึกต่อปัญหานั้นๆ เป็นหลักเสมอ คนที่รายได้น้อย ตำแหน่งหน้าที่การงานไม่สูง อาจไม่มีปัญหาอะไร ถ้าผู้นั้นไม่ได้รู้สึกขัดสนหรือรู้สึกพอใจกับงานที่ทำอยู่

5. มีปัจจัยหลายปัจจัยที่เมื่อพิจารณาเพียงจำนวนร้อยละแล้วเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก แต่เมื่อทดสอบความสัมพันธ์แล้ว พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น การมีญาติเป็นโรคจิต ซึ่งจะพบมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึงร้อยละ 60 เทียบกับผู้ที่ไม่มี ซึ่งพบปัญหาเพียงร้อยละ 21.2 หรือ ผู้ที่เคยถูกทำร้ายร่างกาย พบปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 40.0 เทียบกับผู้ที่ไม่เคยถูกทำร้าย พบร้อยละ 21.6 หรือแม้แต่ในหัวข้อของการเจ็บป่วยทางจิตของตนเอง ซึ่งคนที่เจ็บป่วยทางจิตก็น่าจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากและจากตัวเลขร้อยละ พบว่า ผู้ที่พบว่าตนเองเจ็บป่วยทางจิต มีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 50.0 เทียบกับผู้ที่ไม่เจ็บป่วยทางจิต พบปัญหาร้อยละ 21.5 ซึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนของผู้ที่มีปัจจัยเหล่านี้มีน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัจจัย จึงทำให้ไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

6. การที่ปัจจัยด้านสุขภาพร่างกายของตนเองและการมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยร้ายแรง มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคมได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การให้บริการแบบองค์รวม (holistic care) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้บริการแก่ประชาชนโดยทั่วไป

7. การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างสำรวจและใช้วิธีสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม ซึ่งต่างจากการวิจัยของ จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง9 และ วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ11 ที่ให้ประชาชนตอบแบบสอบถามเอง ซึ่งผลของการศึกษาที่ได้ก็ใกล้เคียงกันคือ พบความชุกของปัญหาสุขภาพจิต ประมาณร้อยละ 20 แต่การวิจัยนี้ใช้ GHQ-28 ฉบับภาษาไทย ที่มีข้อคำถามน้อยและสะดวกในการนำไปใช้ในการสำรวจชุมชนเพราะใช้เวลาไม่มาก

8. ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 ซึ่งเก็บก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทลอยตัว ดังนั้น ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เป็นปัญหาที่อยู่ในสภาวะวิกฤตแต่เป็นสภาพของปัญหาสุขภาพจิตของบุคคลนั้นๆ ซึ่งมีอยู่ในช่วงเวลานานพอสมควรแล้ว

สรุป

โดยภาพรวมของการศึกษาครั้งนี้ พบว่าชุมชนแออัดที่ศึกษานี้มีความชุกของปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 22.0 ซึ่งไม่แตกต่างมากนักกับชุมชนลักษณะอื่น เช่น ในชุมชนเขตหนองจอก9 และในนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ11 ซึ่งแสดงว่าลักษณะของชุมชนอาจไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิต

ในการศึกษาครั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบกันในแต่ละชุมชนทั้ง 6 แห่ง ไม่พบความแตกต่างกันในความชุกของปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะโดยทั่วไปของชุมชนแต่ละแห่งนั้น มีความคล้ายคลึงกันมาก ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น ในการศึกษาครั้งต่อไปอาจต้องศึกษาในชุมชนที่มีโครงสร้างทางสังคมและลักษณะของประชากรที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เปรียบเทียบกันในช่วงเวลาเดียวกัน

จากการศึกษาพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ สุขภาพร่างกายของตนเอง การเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตกงาน ปัญหากับคู่สมรสหรือสมาชิกในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและความพอใจกับงานที่กำลังทำอยู่

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจปัญหาของชุมชนครั้งนี้ ได้กำหนดขอบเขตไว้เพียงประชาชนในเขตชุมชนแออัดของเทศบาลเมืองกาญจนบุรีเท่านั้น และเป็นการสุ่มสัมภาษณ์ ทำให้ได้จำนวนของประชากรที่นำมาศึกษาค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมีผลต่อการศึกษาในแง่ของการทดสอบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ต่อปัญหาสุขภาพจิตได้ ดังนั้น ในการศึกษาต่อไปควรใช้กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาให้มากขึ้น

และเนื่องจากแบบสอบถาม GHQ นั้น สามารถบอกเพียงว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่เท่านั้น ไม่สามารถระบุชนิดของปัญหาได้ ดังนั้น ในการศึกษาครั้งต่อไปอาจต้องมีการใช้การสัมภาษณ์ทางจิตเวช ในการจำแนกชนิดของปัญหาทางจิตเวชต่างๆ เพราะนอกจากจะรู้ถึงปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในแนวกว้างแล้ว การรู้เฉพาะลงไปถึงชนิดของปัญหาทางจิตเวช ก็จะสามารถนำไปแก้ปัญหาในแนวลึกเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะรายได้ต่อไป

 กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ธนา นิลชัยโกวิทย์ ที่อนุญาตให้ใช้ GHQ-28 ฉบับภาษาไทย ในการสำรวจปัญหาสุขภาพจิต ขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง ที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนเอกสารประกอบการวิจัย และขอขอบคุณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ที่ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยครั้งนี้

 เอกสารอ้างอิง

1. กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข. แผนพัฒนาสุขภาพจิตตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540-2544 ด้านสาธารณสุข. หจก. สยามอินเสิร์ทมาร์เก็ตติ้ง, 2539 : 2-7.

2. ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, เพ็ญจันทร์ ประดับมุข. สิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ. ข่ายงานวิจัยพฤติกรรมสุขภาพ. กระทรวงสาธารณสุข, 2535.

3. อรพรรณ เมฆสุภะ, อัมพร โอตระกูล, สุวัฒน์ ศรีสรฉัตร. ความชุกของปัญหาจิตเวชในประชาชนเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2530; 32: 97-110.

4. เกษม ตันติผลาชีวะ. ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536: 288-95.

5. มาร์วิน ไฟร์สะโตน, ฝน แสงสิงแก้ว และคณะ. การสำรวจคนไข้จิตเวชที่แม่สะเรียง. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2522; 24: 255-60.

6. ส่งศรี จัยสิน, จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ, เรไร ทีวะทัศน์, สุภาภรณ์ ทองดาว, จันทนา ชูบุญราษฎร์. การสำรวจสภาวะสุขภาพจิตของประชาชน จังหวัดชลบุรี. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2531; 33: 119-27.

7. อัมพร โอตระกูล, เจตน์สันติ์ แตงสุวรรณ, เยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม. ปัญหาสุขภาพจิตในเขตเมือง. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2525; 27: 122-33.

8. วรัญ ตันชัยสวัสดิ์, บุญนำ วงศ์เชาวน์วัฒน์. รายงานเบื้องต้น “การสำรวจทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคจิตเวช ในหมู่บ้านภาคใต้ของไทย”. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2526; 28: 115-21.

9. Chakrit Sukying, Thana Nilchaikovit, Chatchawal Silpakit. One month prevalence of psychiatric illness in Nongchok district, Bangkok. Ramathibodi Medical Journal 1995; 18: 253-60.

10. อัมพร เบญจพลพิทักษ์. ปัญหาสุขภาพจิตของแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลรามาธิบดี. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539; 41: 87-98.

11. วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ. การสำรวจสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2540; 42: 88-100.

12. Kaplan HI, Sadock BJ, eds. comprehensive textbook of psychiatry. 5th ed. Baltimore : Williams and Wilkins, 1989: 299-307.

13. Kranzler HR, Liebowitz NR. Anxiety and depression in substance abuse. Med Clin North Am 1988; 72: 867-81.

14. Goldman HH, ed. Review of general psychiatry. 2 nd ed. Connecticut: Appleton and Lange, 1988: 158-60.

15. Goldberg DP, William P. A user’s guide to the General Health Questionnaire. Berkshire : Nelson publishing, 1988.

16. ธนา นิลชัยโกวิทย์, จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง, ชัชวาลย์ ศิลปกิจ. ความเชื่อถือได้และความแม่นตรงของ General Health Questionnaire ฉบับภาษาไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539; 41: 2-16.

17. รำไพ สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา. คู่มือการทำวิจัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ศรีอนันต์, 2534: 7.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us