เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


passo.jpg (6405 bytes)

การเลี้ยงดูลูกกับสุขภาพจิต*

ศ.เกียรติคุณ พญ.วัณเพ็ญ บุญประกอบ

* นำเสนอในการประชุมวิชาการราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยประจำปี 2542 ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร วันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ.2542

ในระยะ 20-30 ปีมานี้มีการพูดถึงการเลี้ยงดูลูกกันมากทั่วๆไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรียกว่าทั่วโลกได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงดูได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระยะ 40–50 ปีมานี้ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การเจริญพัฒนาของวัตถุ เทคโนโลยี และการให้ความสำคัญของภาคเศรษฐกิจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลให้เกิดอิทธิพลมากมายรอบด้านเข้ามาครอบคลุมทัศนคติ ค่านิยมความคิด ความสัมพันธ์และพฤติกรรมของผู้ใหญ่และเด็ก มีสิ่งสนุกสนานเพลิดเพลินล่อใจมากมายทางสื่อต่าง ๆ และเครื่องเล่นทำให้จิตใจคล้อยตามไปกับสิ่งที่ตนได้สัมผัส ได้ยิน ได้พบเห็น ซึ่งสอดแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันได้ทุกขณะ แม้กระทั่งความเป็นอยู่ก็มีเครื่องผ่อนแรง สิ่งสำเร็จรูปเข้ามาเป็นอุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องบริโภค ทำให้เกิดความสะดวกสบาย แต่กลับเป็นผลเสียของการอยู่ร่วม ความรับผิดชอบร่วมกัน การฝึกทักษะ การเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นอีกมากมาย ถึงขั้นทำให้มีประสบการณ์ชีวิตเกิดขึ้นได้น้อย โดยเฉพาะการแก้ปัญหา ความคล่องตัว การฝึกไหวพริบ การสร้างนิสัย และการฝึกการทำการปฏิบัติเป็นขั้นตอน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงแก้ไขตามสภาวะที่เหมาะสม จากวัตถุที่มีมากมายเหลือเฟือทำให้มีการเปลี่ยนง่าย ทอดทิ้งง่าย สร้างนิสัยฟุ่มเฟือย ขาดลักษณะมัธยัสถ์ อดออม ถนัดใช้ในการบริโภค แต่ไม่เป็นนักผลิตและสร้างสรร หรือมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาตน ครอบครัว และประเทศชาติ

ในปัจจุบันจึงพบว่าเด็กมีความอดกลั้น อดทนน้อย มีความก้าวร้าวสูงขึ้น กล้าแสดงออกทางเพศมากขึ้น ความเกรงกลัวและละอายต่อบาปลดลงไปมาก ความไม่สงบสุข เหตุการณ์วุ่นวายสับสน การข่มเหง เบียดเบียน แข่งขัน ประทุษร้ายต่อกัน ก้าวร้าวรุนแรงต่อกัน ได้พบเห็นในภาพ และเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป อีกทั้งพ่อแม่ไม่มีเวลาดูลูก และอบรมสั่งสอน เด็กถูกละทิ้งตามลำพังบ้าง ให้อยู่กับผู้อื่นบ้าง หรือแม้อยู่ร่วมด้วยกัน แต่ขาดปฏิสัมพันธ์ทางบวกต่อกัน หรือไม่เพียงพอ หรือแทบจะไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ต่างทำงานมีอาชีพ ต่างมุ่งสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยต่อการเลี้ยงดู พัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญ พัฒนาบุคลิกภาพของเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นมา

พระธรรมปิฏก ( ป.อ.ปยุตโต) กล่าวว่า “วิกฤตของสังคมไทยขณะนี้อยู่ที่วิกฤตของคุณภาพคน เพราะคนส่วนมากติดยากล่อม ติดตั้งแต่ลุ่มหลงสุรา การพนัน ยาบ้า ฯลฯ และติดลัทธิรอโชคช่วย ยิ่งคนไทยมีลักษณะรักสบาย เพราะสภาพดินฟ้า อากาศ ทรัพยากรเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากก็พอมีพอกินมีใช้ด้วยแล้ว คนไทยจะไม่ขวนขวาย และพยายามอดทน พากเพียร ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการนำพาให้ตนและชาติเจริญ.”

ท่านเห็นว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะเป็นเวลาที่เราต้องถือโอกาสสร้างคน พัฒนาเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง เป็นนักผลิต ไม่ใช่นักเสพ และนักบริโภคแต่อย่างเดียว

อาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์อาวุโสของเหล่าจิตแพทย์ได้เขียนเรื่อง “ลูกรักจงเป็นเด็กดี” ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2513 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นกว่า 100 ครั้ง ในหนังสือและวารสารต่าง ๆ กัน ท่านเขียนมาต้านกระแสพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่มุ่งจะผลักดันให้เด็กเก่งเป็นเลิศอย่างเดียว ท่านให้ข้อคิดว่า “ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้เด็กทุกคนฉลาดได้หมด แต่มีวิธีหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข บุคลิกภาพสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับของสังคม มีคุณธรรม คือการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี” ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ทุกคน

สุขภาพจิตของลูกขึ้นอยู่กับทัศนคติ และท่าทีการปฏิบัติของพ่อแม่ที่มีต่อลูก พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น และสนองความต้องการพื้นฐานอันเป็นหลักจำเป็นของชีวิต และต้องควบคู่ไปกับการอบรม ฝึกสอน ฝึกปฏิบัติให้ลูกไปด้วยเสมอ เพื่อการเจริญพัฒนาให้มีสุขภาพจิตดี

การพัฒนาเด็กที่เอื้อประโยชน์ต่อตน ต่อสังคมและประเทศชาติในทางสร้างสรรค์ที่ดีนั้น เด็กจะต้องถูกเลี้ยงให้คิดเป็น ทำเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นให้เป็น และแก้ปัญหาเป็นจะต้องยืนหยัดเข้มแข็ง ต่อสู้ต้านทานต่อสิ่งยั่วยุ ยั่วเย้าของสังคมและสิ่งล่อใจในสิ่งแวดล้อมให้ได้ มีความมานะพากเพียรพยายาม อดทนฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อบรรลุเป้าหมายให้เกิดความสำเร็จ นั่นคือ ใช้คุณธรรมของหลักอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ให้เกิดขึ้นเป็นคุณสมบัติภายในตัวเด็กให้ได้ ทัศนะอันหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องให้คุณค่ากับการทำงาน การปฏิบัติมิใช่เพียงกระตุ้นให้คิด และพูดเท่านั้น ให้ถือว่าการทำงาน การปฏิบัติ เป็นคุณสมบัติที่ดี ที่ควรยกย่อง ดังท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ให้รู้จักเป็นสุขเมื่อทำงาน งานคือเกียรติยศสูงสุดของคน ให้ชอบและทำไปตลอดชีวิต”

แต่ธรรมชาติของมนุษย์ (human nature) มีลักษณะพื้นฐานที่เอาตนเป็นศูนย์กลางคือ ความพอใจของตัวเองเป็นใหญ่ และพยายามแสวงหาสิ่งที่มาปรนเปรอให้ตนสุขสบาย มีความพอใจอยู่เสมอ ๆ ความทะยานอยาก ความอิจฉาริษยา และแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าวนั้น เป็นลักษณะดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในจิตสำนึก ดังท่านจะเห็นชัดเจนในเด็กทารก และเด็กเล็ก ๆ วัย 2–3 ขวบ ที่มีลักษณะเอาแต่ใจ เข้าข้างตัวเอง ไม่ได้ดังใจจะลงมือลงเท้า อาละวาด กัด ขว้างปา ทำร้ายคนหรือข้าวของ รอคอยไม่เป็นจะต้องได้อย่างใจทันที เด็กจะรู้จักจัดการกับผู้ใหญ่ เรียกร้อง บังคับให้ยอมตน เป็นต้น

ในระยะ 50-60 ปีมานี้ การเลี้ยงดูเด็กแตกต่างไปจากเดิมมาก การเลี้ยงดูเด็กกลายเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง ที่เรียก child development หรือการเจริญพัฒนาของเด็กมีการศึกษาวิจัย ฝึกอบรม ให้ความรู้กับพ่อแม่ แพร่หลายไปทั่วในภูมิภาคของโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทั้งนี้เพราะ พบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจ และขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูก จึงพบมีหนังสือ ตำรา วารสาร นิตยสาร บทความ ตลอดจนการฝึกอบรม พ่อแม่ ครู ผู้เลี้ยงดูเด็ก และผู้สนใจเกี่ยวข้องกับเด็กเกิดขึ้นมากมายมาโดยตลอด โดยเฉพาะในระยะ 20–30 ปีนี้ ในสมัยก่อนพ่อแม่เลี้ยงโดยจิตใจ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ของตัวเองที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีเป็นหลักสำคัญ ถ้ามีข้อขัดข้องสงสัย ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ผู้มีประสบการณ์ใกล้ชิดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือ เด็ก ๆ เจริญเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่สร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ และสังคมโลกมาตลอด และผลผลิตยังปรากฏใช้มาจนทุกวันนี้

แต่ระยะหลังหรือปัจจุบันความต้องการปรารถนา และทัศนคติของพ่อแม่ได้เปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่ต้องการให้ลูกเก่ง มีความเป็นเลิศจึงทำให้มีการแข่งขันกันสูง มีการผลักดันเด็กในด้านการเรียนการศึกษาวิชาการกันมาก ไม่ค่อยได้มุ่งสอน หรือถึงกับละเลยการอบรม ปลูกฝังคุณความดี และจริยธรรม กิริยามารยาท การศึกษาและวิจัยในปี ค.ศ.1999-2000 ได้มีบทความกล่าวว่าในระยะ 40 กว่าปีมานี้ เป็นข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของการแนะนำการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ให้ไปลงโทษหรือตำหนิติเตียนเด็ก เพราะจะไปทำให้เด็กเสียความภาคภูมิใจในตน (self esteem) แต่ที่จริงแล้วควรเน้นเรื่องการวางระเบียบวินัย (discipline) ควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูเด็กด้วยเสมอ ซึ่งจิตแพทย์เด็กและผู้เชี่ยวชาญทางพัฒนาการเด็กบางคนได้กล่าวถึงไว้

ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “ถ้าเลี้ยงลูกแล้วไม่ฝึกฝนอบรมก็คือ การเลี้ยงดูลิงดี ๆ นี่เอง เด็กจะต้องอยู่ในกรอบ ถึงเวลาที่มีการคะนองบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นธรรมดา แต่เมื่อถึงเวลาต้องสงบก็ต้องรักษาไว้ให้ได้เสมอ” ฉะนั้นจึงต้องได้รับการฝึกอบรม เกลานิสัยตั้งแต่เยาว์วัย

ระยะต่อมาใน 30 ปีที่ผ่านมานี้ การศึกษาวิจัยทางการแพทย์รุดเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก ทำให้มีการกระตุ้นพัฒนาการในด้านความเจริญของสมองและร่างกาย ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา และกระตุ้นกระชับความสัมพันธ์แม่ลูกหลังคลอด เพื่อสร้างความรัก ความผูกพันตั้งแต่เกิด จึงพบว่าเด็กเล็ก ๆ สมัยนี้ส่วนหนึ่งที่พ่อแม่ดูแลใกล้ชิดดี ฉลาด พัฒนาการไว เรียนรู้เร็ว แสดงออกเก่ง เรียนเก่ง แต่โดยภาพรวมของสังคม เด็กและวัยรุ่น กลับพบว่าปัญหาต่าง ๆ มีเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงสูงกว่าเดิม เช่น ปัญหาการเรียนไม่ดี เด็กสมาธิสั้น ปัญหาความประพฤติเกเร ตลอดจนกระทำผิดทางเพศ สำส่อน ติดยาเสพย์ติด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การทำร้ายคนอื่น ปัญหาการปรับตัว บุคลิกภาพแปรปรวน เป็นต้น ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นและเด็กพบมากกว่าแต่ก่อน และอาการเริ่มต้นในอายุน้อยลงไปทุกที ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของครอบครัว การเลี้ยงดูเด็ก สังคม และโลกในทุกวันนี้ สภาพโลกาภิวัฒน์ทำให้เห็นความวุ่นวาย สับสน เดือดร้อนกระจายอยู่ทั่วโลก เหตุการณ์รุนแรงมีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศคล้าย ๆ กัน เช่น เด็กยิงเพื่อนนักเรียนและครู เด็กทำร้ายพ่อแม่ ครู ละเมิดกฎต่าง ๆ ล่วงเกินทางเพศ ทำผิดกฏหมาย และบางครั้งด้วยสาเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น เด็กอายุ 12 ปี ฆ่าเด็กวัย 9 ปี เพียงเพราะอยากได้จักรยานมาขี่เล่น การทะเลาะกันระหว่างพี่น้องเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ปกติ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่รุนแรง แต่ปัจจุบันพบว่า การอิจฉาริษยา ในบางครอบครัวมีสูงมาก จนถึงทำร้ายเป็นศัตรูกัน ในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมพบว่ามีเด็กทำร้าย ข่มขู่เพื่อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีให้พบเห็นกันแล้ว

John Rosemond ผู้เขียนเรื่อง Raising a Nonviolent Child ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2000 นี้เขาศึกษาทบทวนต้นเหตุของความรุนแรงทั้งหมดตั้งแต่ระดับ gene-biochemistry ไปจนถึงครอบครัวตัวเด็กและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความรุนแรงในสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือด้วย เขาสรุปว่า “บรรดาผู้มีความเชี่ยวชาญในการฝึกอบรมเลี้ยงดูเด็ก (child rearing experts) ได้ให้การฝึกอบรมที่ผิดอย่างมากในการไปมุ่งส่งเสริมเพิ่มความภูมิใจแห่งตน (self-esteem ) อย่างมาก แต่ไม่ได้สอนเรื่องการควบคุมตนเอง (self-control) ผลตามมาก็คือ เด็กมีความรู้สึกที่ดีมากต่อตนเอง หลงตนเอง เอาตนเองเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นน้อยมาก หรือไม่มีเลย เด็กจะทำทุกอย่างที่ตนต้องการ และโทษผู้อื่นเมื่อมีความผิดหรือไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น

Jonathan Kellerman พบว่าครอบครัวของเด็กและวัยรุ่นที่เป็นฆาตกร หรือเป็น psychopath จะมาจากครอบครัวที่พ่อ และ/หรือ แม่เป็น psychopath เอง หรือมีแม่เป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ขาดการดูแลลูกที่ดีและไม่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีได้ อันเป็นเหตุให้เด็กไม่สามารถเกิดมาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

แต่เขาพบว่าส่วนหนึ่งในเด็กเหล่านี้มาจากครอบครัวที่ดี สังคมก็ดี เป็นคนมีฐานะปานกลางและชนชั้นมีรายได้ระดับสูง ให้ความดูแลลูกพร้อมทั้งปรนเปรอให้วัตถุลูกมากมาย แต่ขาดการอบรมฝึกวินัย ถ้าเด็กทำผิด การลงโทษใช้วาจาอย่างเดียวหรือเพิกเฉยไม่ใส่ใจ และไม่เคยลงมือปฏิบัติจัดการเอาจริงกับลูก เด็กพวกนี้จะถูกตามใจอย่างมาก (spoiled child)

เมื่อ ค.ศ.1890 William James ได้กล่าวว่า “ความภาคภูมิใจแห่งตน เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ควรมีรากฐานของความสำเร็จที่เราได้กระทำลงไปความหวังที่มีน้อย เมื่อประสบความสำเร็จจะรู้สึกว่าได้มาก ความภาคภูมิใจแห่งตนเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ดีต่อการกระทำ”

ค.ศ.1967 ศาสตราจารย์ Stanley Cooper Smith แห่ง Davis, University of Califonia ได้เสนอความเห็นว่า “ความภาคภูมิใจแห่งตนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเลี้ยงดูเด็ก และได้ย้ำถึงบทบาทของวินัย (disciplinary) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความภาคภูมิใจแห่งตน ฉะนั้นพ่อแม่มีหน้าที่ที่จะต้องมีกฎชัดเจน และวางขอบเขตพฤติกรรมให้แน่นอน (set limits) เด็กจึงจะมีความภาคภูมิใจแห่งตนสูงได้ การให้อิสระมากเกินขอบเขต จะทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจแห่งตนน้อย

แต่การที่ต่อมาผู้ใหญ่ไปเน้นถึงความรู้สึกมากกว่าการกระทำเกินไป ทำให้เกิดลักษณะการชมตัวเอง สรรเสริญตัวเองมากขึ้น รู้สึกตนเองเป็นคนพิเศษ ทำให้เกิดการภูมิใจผิดๆ และหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นคนสำคัญ เป็นคนวิเศษ ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาความคับข้องใจขึ้นจะแสดงออกทางก้าวร้าวและกล่าวโทษคนอื่น แต่ในสมัยก่อน พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย จะให้ความสำคัญต่อการกระทำ การปฏิบัติ ที่เด็กทำได้เป็นผลสำเร็จ เกิดความภาคภูมิใจอย่างแท้จริง เรียก authentic pride และได้สอนให้เด็กมีพื้นฐานความอ่อนน้อมถ่อมตนควบคู่ไปกับความสำเร็จและการกระทำนั้น ๆ ด้วย Rosemond กล่าวว่าความภาคภูมิใจแห่งตน (esteem) หมายถึงการแสดงความเคารพ ความนับถือ (worship) ฉะนั้นไม่ควรจะไปสรรเสริญยกย่องตนเอง แต่ควรมีความรับผิดชอบ(responsibility) มาแทน และโลกมนุษย์จะดีขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าผู้ใหญ่รวมความคิด มุ่งจดจ่อสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ 3 ประการใหญ่ ๆ คือ

1. ให้มีเมตตากรุณา และ นับถือผู้อื่นเป็น คือการรับผิดชอบต่อสังคม

2. ให้มีการกระทำที่ดีที่สุด คือการรับผิดชอบต่อหน้าที่

3. ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องทั้งต่อหน้าและลับหลังสายตาผู้อื่น คือการรับผิดชอบต่อตนเอง

อาจารย์สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ได้ให้ข้อคิดว่า การพัฒนาเด็กให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ (well integrated personality) มีหลัก 5 ประการที่ผู้ใหญ่จะต้องให้เด็กอย่างเพียงพอคือ ความรัก ความอบอุ่น (affection) ความเข้าใจเด็กตามวัย (understanding) ความมั่นคงทางใจ (security) ระเบียบวินัย (discipline) ความสำเร็จและการเป็นที่ยอมรับของสังคม (achievement and social competence)

นอกจากนี้เด็กยังต้องการความเป็นที่พึ่ง มีที่คุ้มครองป้องกันภัย โดยทั่วไปพ่อแม่ให้ความรัก ความเมตตากรุณาต่อลูกอยู่แล้ว ให้ความรักความอบอุ่นและเป็นที่พึ่งของลูกอยู่เสมอ เช่น เมื่อลูกเจ็บป่วย พ่อแม่ช่วยดูแล พาไปรับการรักษา ในยามที่ลูกประสบความสำเร็จทำอะไรได้แม้เพียงเล็กน้อยในสายตาของผู้ใหญ่ก็ตาม พ่อแม่ก็ควรแสดงความชื่นชมยินดี เพราะเมื่อเด็กฝึกหัดทำอะไรได้ครั้งแรกๆ จะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับเขาเสมอ การปล่อยให้ลูกมีโอกาสฝึกหัด ฝึกทักษะ ทั้งหลายนั้น พ่อแม่จะต้องควบคุม และวางขอบเขตของพฤติกรรมเสมอเพื่อความปลอดภัย และให้เด็กมีความรู้สึกมั่นใจ และภาคภูมิใจตนเองได้เมื่อประสบความสำเร็จ

ในคุณธรรมของพรหมวิหารสี่นี้ ธรรมข้ออุเบกขา เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากที่คนเรามักเข้าใจผิดและใช้ผิดทาง อุเบกขาไม่ใช่การวางเฉยแบบไม่ทำอะไร แต่เป็นการวางเฉยที่มีสติ ตื่นตัวรู้พร้อม ระวังระไวอยู่ตลอดเวลา แม้ปล่อยเขาเล่นหรือทำอย่างอิสระบ้าง เด็กก็ยังอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เมื่อเด็กพลาดพลั้งหรือทำไม่ได้ผู้ใหญ่จะให้กำลังใจและช่วยเหลือ ถ้าเขาทำได้ก็ปล่อยและให้โอกาสเขาทำ ฝึกหัดไปทีละน้อย เด็กเล็กพึ่งพ่อแม่ เขาจะพัฒนาไปจนพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่จึงต้องปรับตนเองเข้ากับวัยของลูกที่เจริญพัฒนาไปตามขั้นตอน

ระเบียบวินัยเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตที่ต้องนำมาปฏิบัติกระทำกันอย่างจริงจัง ในการเลี้ยงดูเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมามีความยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอย บังคับควบคุมตนเองได้ เคารพกฏเกณฑ์กติกา รู้จักเคารพสิทธ์ผู้อื่น และปฏิบัติตนอยู่ในสังคมได้

เด็กจะต้องเรียนรู้การเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมก่อนที่ตนเองจะสามารถควบคุมตนเองได้ เด็กจะทำตามที่บอกก่อนที่จะเข้าใจเรื่องราวได้ทั้งหมด การฝึกหัด อบรมสั่งสอนจึงจะต้องเป็นโดยสม่ำเสมอต่อเนื่อง ค่อยเป็นไปทีละน้อย มีการปฏิบัติซ้ำและมีความแน่นอน การวางกฎเกณฑ์ในชีวิตประจำวันจะต้องชัดเจน เป็นรูปธรรมที่เด็กปฏิบัติตามได้โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนด เป็นผู้ปฏิบัติ และเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย เด็กจะรับเอามาตรฐาน ความถูกต้อง หรือรับรู้สิ่งใดผิด ตามที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เด็กจะต้องรู้ว่ามีบางเรื่องที่เฉพาะเจาะจงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีข้อจำกัดและไม่มีการต่อรอง หรือนำมาถกเถียงกัน การฝึกสอนเด็กนั้น คำพูดจะไม่ได้ผลเสมอไปหรือไม่ได้ผลเลยก็มี แต่ต้องใช้วิธีลงมือจัดการด้วย เช่น กล่าวห้ามไม่ให้แตะต้องสิ่งของนี้ พร้อมกับหยิบของออกไปหรืออุ้มพาเด็กออกไป เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเด็กยังไม่สามารถระงับความอยากได้ จึงดูเหมือนจะฝ่าฝืนการห้ามของผู้ใหญ่บ่อยๆ

การฝึกระเบียบวินัยต่างกับการลงโทษ การฝึกระเบียบวินัยคือการสื่อสาร (communication) ไปยังเด็กให้รู้ ให้ปฏิบัติตาม จัดเป็นการสอน ฉะนั้นพ่อแม่จึงต้องเป็นผู้ที่สื่อบอกเป็นคำพูดและท่าทีการปฏิบัติไปยังเด็กให้ชัดเจนและแน่นอน และที่สำคัญ พ่อแม่เองก็จะต้องชัดเจนในความคิดและความต้องการของตนด้วยว่าจะให้เด็กประพฤติอย่างไร ทำตามอย่างไร

เด็กที่ขาดการควบคุมตัวเองได้ง่ายจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง ฉะนั้นพ่อแม่จึงมีหน้าที่สอนลูกให้รู้จักควบคุมตนเองไปทีละน้อย เป็นขั้นตอนกว่าจะควบคุมยับยั้งตนเองได้ดีเมื่อโตขึ้นนั่นคือพ่อแม่จะต้องมีความหนักแน่น และมีอำนาจในตนเพียงพอที่จะหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของลูกได้

มีการถกเถียงกันมากในเรื่องการตีเด็กว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อ ค.ศ.1996 The American Academy of Pediatrics จัดการประชุม 2 วันติดต่อกัน เรื่อง The short and long term consequences of physical punishment โดยมีผู้เชี่ยวชาญ 24 ท่าน มาให้ข้อคิดเห็นถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดและหาข้อสรุปกันโดยเฉพาะในเรื่องการตีเด็ก ได้ผลสรุปว่าหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมนั้น เป็นที่เชื่อแล้วว่า การที่จะทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขสมบูรณ์ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนกันนั้น การที่พ่อแม่ตีเด็กไม่เป็นอันตรายหรือจะมีปัญหาที่ตามมาข้างหน้า ถ้ารู้หลักแห่งการที่จะลงโทษ เด็กหลายคนไม่ต้องถูกตีเลยก็ดีได้ หรือเด็กที่ถูกตีมาแล้วเติบโตเป็นคนดี เป็นคนปกติก็มีมากมาย เราจำเป็นต้องแยกการตีลูกด้วยความรัก ความปรารถนาดี ตั้งใจสั่งสอนออกไปจากการตีอย่างทารุณกรรม โหดร้าย ในประการหลังนี้จัดอยู่ในกลุ่มของผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติอยู่ในบุคลิกภาพ หรือมีปัญหาทางโรคจิตเวช การตีเด็กที่เป็นประโยชน์คือ ใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการให้พฤติกรรมนั้นหยุดอย่างเฉียบพลันทันที พฤติกรรมที่เป็นอันตรายที่แสดงการลบหลู่ลามปามผู้ใหญ่ เป็นการกระทำที่ไปรังแกหรือทำร้ายคนอื่นให้บาดเจ็บ หรือทำให้ข้าวของเสียหาย

Rosemond ได้แนะนำ การตีเด็กที่จะเกิดประโยชน์และเป็นการสั่งสอนอบรมไว้ให้เป็นทางเลือก เมื่อข้อห้ามอื่น ๆ ไม่ได้ผลโดยให้ถือหลักว่า

1. การลงโทษวิธีนี้ใช้ได้ผลในเด็กอายุระหว่าง 2 – 3 ขวบ ถึง 6 ขวบ และอาจได้ถึง 10 ขวบ ตามการศึกษาวิจัย

2. จะลงมือตีเด็กเมื่อ

2.1 เป็นการกระทำที่เด็กแสดงการขาดความนับถือ เช่น พูดด่าพ่อแม่ ท้าทาย ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง

2.2 ต้องการให้พฤติกรรมนั้นหยุดรวดเร็ว เพราะเป็นความผิด .. ทำให้เกิดการเสียหายและเป็นอันตราย เช่น วิ่งไปที่ถนน อาละวาด ขว้างปาข้าวของเสียหาย หรือทำผู้อื่นเจ็บ

2.3 ในขณะที่ลงมือ ผู้ใหญ่เองจะต้องชัดเจนในเหตุผลของการลงโทษ และกระทำด้วยความสงบ ไม่มีอารมณ์

3. ตีได้ด้วยมือเท่านั้น จะเป็นการยับยั้งความรุนแรงเพราะผู้ใหญ่เจ็บด้วย

4. จะต้องให้เด็กรู้ว่า การที่เขาถูกตีนั้นด้วยเหตุเพราะอะไร เขาทำให้พ่อแม่ผิดหวังเรื่องอะไร หรือเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ ต้องให้เด็กรู้เหตุอย่างเฉพาะเจาะจง

5. อธิบายก่อน หรือตามหลังการถูกตีทันที ว่าการกระทำผิด ไม่สมควรนั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องตี

6. ตีเพียง 2-5 ครั้ง เป็นการเพียงพอ โดยไม่ต้องถอดเสื้อผ้าเด็กออก

7. ตีได้เฉพาะที่สะโพก หรือ ขา

8. หลังจากตีแล้ว ผู้ใหญ่ควรพูดและแสดงให้รู้ว่า จำเป็นต้องทำเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเสียหาย ด้วยความรักเขา ขณะนั้นอาจสัมผัสเด็กได้ เช่น กอด ลูบศรีษะ แต่ไม่ใช่ไปโอ๋

9. ข้อนี้สำคัญมาก เพราะตีอย่างเดียวไม่พอ จะต้องให้เด็กอยู่ตามลำพังสักครู่ เพื่อทบทวน การกระทำของตน

หลังจากนั้น บรรยากาศควรจะต้องกลับคืนสู่ปกติ โดยไม่แสดงความโกรธเด็กอีกต่อไป

การสอนกิริยา มารยาท

การสอนกิริยา มารยาท พ่อแม่ควรมุ่งสอนกิริยามารยาทลูกเริ่มต้นตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ นับถือต่อผู้อื่น และเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะช่วยให้ผู้อื่นรอบตัว รู้สึกสบายใจ การสอนกิริยา มารยาทนั้น จะต้องมีการแนะนำ ใช้เวลา มีการบอก ชี้แจง ตักเตือน แก้ไข ทบทวน อยู่เป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งมีแบบอย่างที่ดี ที่ปฏิบัติให้เห็น เด็กที่ได้รับการอบรม กิริยามารยาท จะเป็นเด็กที่เชื่อฟัง เข้ากับผู้อื่นได้ดี เข้าสังคมได้ มีเพื่อน เรียนดี มีความสุข เมื่อสอนกิริยามารยาทมาแต่อายุน้อย ๆ พอถึง 4 ขวบเด็กจะปฏิบัติได้ เช่น ไปลา มาไหว้ สวัสดี รู้จักขอโทษเป็น รู้จักแบ่งปันของเล่น พูดจาไพเราะ รู้จักรอคอยและไม่ขัดจังหวะผู้อื่น รู้จักกาลเทศะ และความเหมาะสม ในระยะหลังๆนี้จะพบอยู่บ่อยๆว่า เด็กแสดงอารมณ์อาละวาดไปจนโต ในขณะที่สมัยก่อน 50 ปีที่แล้ว แทบจะไม่พบเลยเมื่ออายุ 3 ขวบไปแล้ว

ศาสนากับการเลี้ยงดูเด็ก

Longitudinal Study on Adolescent Health (LSAM) โดย Michael Resnick ใน Journal of the American Medical Association ปี 1997 กล่าวว่า เดี๋ยวนี้ Social Science ได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนา ในการเลี้ยงดูเด็ก เขาแนะนำว่า ศาสนาจะช่วยให้เด็กออกจากความยุ่งยากลำบากได้ การศึกษาพบว่าฐานะทางเศรษฐกิจระดับเดียวกัน เด็กในเมืองที่ไปวัดจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมน้อย ทุก ๆ การศึกษาบ่งชี้ชัดว่าเด็ก ๆ ที่ไปวัดที่ได้ปฏิบัติและมีค่านิยมทางคุณธรรมที่แท้จริงแล้ว จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับความประพฤติต่อต้านสังคมทุกชนิด เช่น ลักขโมย หนีเรียน โดยเฉพาะในระยะวิกฤตของวัยรุ่น เด็กจะปฏิเสธต่อการใช้ยาเสพย์ติด บุหรี่ เหล้า เป็นต้น

ศาสนาเป็นกุญแจสำคัญที่จะให้เด็กมีคุณธรรม พ่อแม่จึงต้องให้เด็กคุ้นเคยกับคำสั่งสอนทางศาสนา เริ่มตั้งแต่อายุน้อย ๆ อันเป็นปัจจัยสำคัญมากในการป้องกันอันตราย และภัยคุกคามจากภายนอกเมื่อเติบโตขึ้น การมีมรรยาทดีมีความประพฤติดีคือมีศีลอยู่ในตน

ในหนังสือ “หลวงตาสอนเด็ก” ของท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าเราปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามความอยากทะเยอทะยานแล้ว คนนั้นจะเสียง่ายที่สุด จิตใจที่ไม่ได้รับการอบรมเลยนั้น เป็นจิตใจที่เต็มไปด้วยยาพิษ คนเราอยากได้อะไร อยากดู อยากเห็น อยากได้ยิน มักเป็นไปทางเสียหายเสียเป็นส่วนมาก ฉะนั้นจึงต้องมีธรรมเป็นเครื่องกลั่นกรอง ว่าอย่างนี้ดีหรือไม่ดี ต้องมีกฏเกณฑ์ห้ามตัวเอง อย่าปล่อยให้ใจและตัวเองคะนอง จิตใจต้องมีอรรถมีธรรมสกัดความอยาก เป็นเบรคห้ามล้อกำกับ และใช้ปัญญารักษาตัวให้ดี จึงจะมีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง

ท่านปัญญานันทภิกขุ ก็ย้ำว่า “ ศาสนาเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กต้องมี ให้มีแต่เล็ก ต่อไปจะมั่นคง หัดไปทีละเล็กละน้อย ไหว้พระ สวดมนต์ ท่องจำพุทธสุภาษิตบ้าง เด็กต้องมีการขัดเกลา ถ้าสกปรกมากต้องขัดกันแรงๆหน่อยจึงจะสะอาด

การเรียนรู้และอบรมสั่งสอนตั้งต้นเมื่อเป็นเด็กเล็ก

Dr. Berton L. White และกลุ่มทีมนักวิจัย 15 คนศึกษาเด็กอายุระหว่างปฐมวัย (preschool) อย่างจริงจัง เพื่อต้องการรู้ว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กเล็กนี้เป็นอย่างไร จึงจะทำให้เด็กนั้นเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาด มีสุขภาพสมบูรณ์ได้ทั้งกายและใจ การศึกษานี้เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Havard University’s Preschool Project ) ลงตีพิมพ์ใน APA Monitor American Psychological Association, Washington DC Vol. No.4 1976 สรุปว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ตั้งแต่ยังเล็กมาก ระยะที่สำคัญที่จะให้มนุษย์มีความสามารถฉลาดในทางเชาว์นปัญญา คือระยะ 8-18 เดือน ซึ่งเป็นระยะวิกฤติต่อการเจริญพัฒนาในเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับเด็กอายุหลัง 2 ขวบไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่จะให้ประสบการณ์ชีวิตกับลูกมากกว่าคนอื่นและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

การที่เด็กจะใช้ภาษาสื่อเป็นคำพูดได้ดีซึ่งเป็นพื้นฐานของเชาว์นปัญญาและทักษะทางสังคมนั้น เด็กจะต้องมีการพูดด้วยการสอนพูดจากคนด้วยกัน “live language” ฉะนั้นช่วงอายุ 12-15 เดือนเป็นช่วงระยะอายุที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กมีจิตใจที่ดีในการมีชีวิตทางสังคมที่ดีต่อไป การเคลื่อนไหว การเล่น เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนา พ่อแม่ซึ่งควรจัดสถานที่ให้เด็ก

ครอบครัวเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการให้ความรู้ การศึกษาแก่เด็ก (education delivery system)และต้องประกอบด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ทำไมจึงต้องให้เด็กเริ่มรับรู้ และเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย

ในการศึกษาวิจัยได้ทำให้เรามีความรู้ว่า เซลล์ของสมอง หรือ neurons เมื่อก่อนเกิด และหลังเด็กเกิดแล้ว ไม่ได้แตกต่างกันมากเลย แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ กิ่งก้านสาขาที่แตกออกไปมากมาย ไปติดต่อกันระหว่างเซลล์ต่างๆ (connection) เกิดการสัมผัสเชื่อมโยงขึ้น (synapse) ระหว่างเซลล์ และคุณสมบัติที่ล้ำเลิศของสมองคือ ความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงได้ (plascidity) ซึ่งทั้งหมดนี้สมองจะเจริญมากน้อยขึ้นกับประสบการณ์ และการกระตุ้นที่พอเหมาะจากสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยง (network) เหล่านี้จะเจริญมากใน 2 ขวบปีแรก จนมีจำนวน synapse เท่าๆกับผู้ใหญ่ และเมื่อ 3 ขวบจะเป็น 2 เท่าของพ่อแม่ ฉะนั้น 3 ปีแรก เด็กจะรับรู้และเรียนรู้มีการตกลงตัดสินใจกับตัวเองต่อสิ่งแวดล้อม เช่นให้ความสุข เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องอันตราย น่ากลัว ไม่ดี ไว้วางใจไม่ได้ เป็นต้น หลังอายุ 10 ปีไป synapse เหล่านี้น้อยลง จนถึงวัยรุ่นจำนวนจะลดลงเป็นครึ่งของที่เคยมีเมื่อเด็กเล็ก (P. Susan Greenfield 1999)

ฉะนั้นประสบการณ์เบื้องต้นจึงสำคัญที่สุดในการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะภาษา ถ้าได้ละเลยไป หรือให้ผิดไปแล้ว หน้าที่ของสมองไม่ได้ทำหรือทำผิดพลาดไปจะยากมากในเวลาต่อๆมาที่เด็กจะเรียนรู้และใช้ความสามารถของตนได้เต็มที่ การพัฒนาสมองจึงเป็นลักษณะ “ใช้ให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการกระทำ หรือปล่อยให้สูญเสียไป” (use it or lose it) การเจริญพัฒนาของเด็กแม้ว่าจะมีพันธุกรรม (genes) เป็นตัวกำหนดอยู่ก็ตาม ไม่ว่าพื้นฐานของเด็กจะเป็นแบบใด (temperament) พ่อแม่ คนเลี้ยงดูที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กจะปรับเปลี่ยนขัดเกลาเด็กได้ด้วย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะจงใจปั้นเด็กให้เป็นคนที่เราต้องการได้ พึงระลึกว่าแม้เด็กจะเป็นผู้รับอย่างอัศจรรย์ (perceiver) แต่เขายังไม่สามารถเข้าใจและแปลคำพูด และเหตุการณ์ที่พบได้ดีเลย หรือตามความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ จึงไม่ควรบังคับเด็กให้เรียนเร็ว และเร่งใส่ข้อมูลให้เกิดความรู้ ทั้งนี้เพราะสมองยังเจริญไม่เต็มที่ เช่น ถ้าไปเร่งรัดสอนเลขเมื่อเล็ก ๆ ในขณะที่ทางเดิน (pathway) ของสมองยังไม่เจริญถึงขั้นนามธรรม ยังไม่เติบโตพอและรวบรวมจัดเป็นระบบได้ดีพอ จะไม่เป็นผลดีเลย จนกว่าสิ่งเหล่านี้จะเจริญได้เต็มที่

เด็กเล็กต้องการการเรียนรู้จากการเลี้ยงดูใกล้ชิดโอบอุ้มทนุถนอม พูดคุยเล่นกับเขา ตอบสนองเขาเมื่อเขาต้องการ เพราะเมื่อเด็กสื่อความหมายมาโดยกิริยาท่าทางหรือการส่งเสียง ภาษา การสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งทางกาย สายตา การได้ยิน และต้องเป็นไปในทางที่ดี เสียงนุ่มทุ้ม และใบหน้าที่ยิ้มแย้ม การร้องเพลง เป็นสื่อที่สำคัญต่อเด็กมาก เขาสามารถรับรู้สัมผัสที่ดีและไม่ดีได้ตั้งแต่เล็ก ๆ เด็กต้องการการเรียนรู้ซ้ำ ๆ เขาพบว่าดนตรีที่ไพเราะจะกระตุ้นการประดิษฐ์ การสร้างสรรค์ การเล่นจะช่วยให้เด็กมีการเคลื่อนไหว อยากรู้อยากเห็น และมีความกระตือรือร้นใฝ่รู้ค้นคว้ามากขึ้น

ฉะนั้นในระยะ 3 ปีแรก เด็กจึงควรได้พบได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ดี ๆ ผู้ใหญ่ให้ความรัก ความเมตตา แต่สร้างขอบเขตวินัยในการประพฤติปฏิบัติ เด็กจะทำตามก่อนเด็กจะเข้าใจเสมอ การที่ผู้ใหญ่พูดบอกเด็กอย่างเดียว และพยายามพูดให้เด็กเข้าใจอย่างที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติกันสมัยนี้ นอกจากจะทำให้เด็กไม่ทำตาม ไม่เชื่อฟังแล้วยังเป็นการกระตุ้น เร้าอารมณ์ และการต่อต้าน และนำไปสู่ปัญหาระหว่างกัน เมื่อผู้ใหญ่ใช้การพูดมาก แต่ลงมือปฏิบัติน้อยเด็กจะไร้ระเบียบ ซน วุ่นวาย ละเมิดสิทธิ์ มีการควบคุมตนเองได้น้อย จึงควรพูดพอรับได้ ควบคู่กับการกระทำอย่างที่บอกด้วย เด็กเรียนรู้จากการกระทำมากกว่าคำพูด เพราะเรียนรู้เลียนแบบอย่างที่พบเห็นซ้ำๆในชีวิตประจำวันมากกว่าการพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การเลี้ยงดูลูกให้คิดเป็นและมองโลกในทางดี (optimistic or positive thinking)

การมองโลกในทางดี ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นอะไรดีไปหมดทุกอย่าง แต่เป็นการมองที่สถานการณ์

หรือเหตุการณ์ตามความเป็นจริงและอย่างถูกต้องแน่นอน เข้าใจถึงพื้นฐานของปัญหาและรู้ว่าปัญหาแต่ละอย่างนั้นมีสาเหตุได้หลายอย่างต่างๆกัน พ่อแม่อยากให้ลูกเป็น คนเก่ง คนดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปฏิบัติการงานได้สำเร็จ มีพลังผลักดันให้ก้าวหน้า รู้สึกตนมีคุณค่านั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องรู้จักคิดให้ดีและคิดให้เป็นด้วย เพราะจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ตนมีความหมายเพียรพยายาม อดทนต่อไปได้ เมื่อพบอุปสรรคไม่โทษตนเองเกินไป และไม่โทษผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อเรื่องนั้น และพยายามหาทางแก้ไขโดยไม่ย่อท้อ

Martin E.P Seligman ผู้ศึกษาและเขียนเรื่อง “Learned Helplessness” ซึ่งเขาพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของอาการและโรคซึมเศร้าตลอดระยะเวลา 25 ปี ที่เขาศึกษาวิจัยและรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เขาพบว่าอัตราส่วนของการมองโลกในแง่ดี (optimistic) และการมองโลกในแง่ร้าย (pessimistic) ของคนปกติเท่ากับ 2 : 1 ในขณะที่คนซึมเศร้า มีอัตราส่วน 1 : 1 ความคิดจะเป็นตัวชี้แนะ การกระทำ การฝึกสอนให้เด็กคิดให้ดี คิดให้เป็น จะเป็นเกราะคุ้มกันอาการโรคซึมเศร้าได้

Seligman ได้ให้หลักการของการคิดดี (optimistic thinking) ไว้สอนตนเองและสอนเด็ก 3 ประการคือ

1. Temporary or changeable vs Permanence

การยอมรับเข้าใจสภาพความเป็นจริงที่ว่าเหตุการณ์และสภาพต่างๆนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีอะไรคงที่เสมอไป ซึ่งเข้ากับหลักอนิจจังของพระพุทธศาสนา ถ้ามองปัญหาเพียงชั่วคราว จะทำให้เกิดกำลังใจ อดทน และรอคอยได้ พร้อมกับขวนขวายพยายามต่อไป เช่น เด็กคิดว่า เขาพลาดไปในครั้งนี้ แต่ยังมีเวลาอื่น หรือสิ่งอื่น ที่เขาจะมีโอกาสพยายามทำได้ต่อไปอีกก็จะทำให้มีกำลังใจมากขึ้น

2. Impersonal vs Personal

การมองปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าไปเจาะจงเอาตัวบุคคล หรือกล่าวโทษตนเองและผู้อื่นมากไป เพราะบุคลิกของคนจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก และถูกเร้าอารมณ์การต่อต้านได้ง่าย จึงให้มองที่การกระทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมเป็นไปได้มากกว่า เด็กที่คิดดีจะมองว่าตนยังมีดีอยู่ และยังมีความสามารถอย่างอื่นอีก เช่น เด็กบอกกับตนเองว่า “เขาพลาดไป เพราะคราวนี้เขาดูหนังสือไม่พอ เขาต้องขยันขึ้น” เป็นต้น

3. Specific vs Generalize

ปัญหาทั้งหลายให้มองเฉพาะเรื่อง อย่าคิดหรือพูดเป็นเรื่องทั่วไปทั้งหมด เพราะในประการหลังจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแม้หมดหวัง เช่น เมื่อมีเรื่องกับเพื่อน เขารู้สึกว่า “ไม่มีใครชอบฉันเลย” หรือ “เพื่อนชอบมาหาเรื่องฉันเรื่อยทุกที” แต่ถ้าคิดว่าวันนี้เกิดเรื่องทะเลาะกันเพราะเพื่อนอารมณ์ไม่ดี หรือ “เขาคงไม่ชอบใจฉันที่ฉันไปพูดเรื่องนี้ขึ้น” เป็นต้น

ความคิดโต้แย้งเป็นกระบวนการอันหนึ่งที่ช่วยให้คนเรารู้จักคิดหาทางออกและแก้ปัญหา ช่วยในการตัดสินใจ ไม่ให้กระทำไปโดยไม่ไตร่ตรองหรือรีบด่วนหรือทำโดยปราศจากความยับยั้ง แม้เด็กๆอาจจะยังคิดโต้แย้งไม่เป็น พ่อแม่หรือผู้ปกครองแสดงเป็นแบบอย่างความคิดให้ได้ โดยคิดออกมาเป็นคำพูดดัง ๆ เช่น “แม่ลืมของไว้ที่ทำงานอีกแล้ว สงสัยรีบไปหน่อยวันนี้ คราวหน้าต้องตั้งสติเตือนตัวเองดีๆ” หรือ “วันนี้แม่พบผ้าชิ้นหนึ่งสวย ถูกใจ จะซื้อแล้วแต่คิดขึ้นมาได้ว่าจะต้องให้ค่าเทอมลูกก่อนเพราะเป็นเรื่องสำคัญ แม่เลยยังไม่ซื้อมา” เป็นต้น

การฝึกให้เด็กคิด จะต้องสอนด้วยว่า ความคิดนั้นๆ ถ้ากระทำแล้วจะมีผลตามหลังมาอย่างไร (consequences) ฉะนั้นเมื่อให้เด็กแสดงความคิดหลายอย่าง พ่อแม่ต้องรับฟังหรือจดลงแล้วให้คิดว่าผลลัพท์แต่ละอย่างนั้นมีอะไรตามมาได้บ้าง และมาเลือกดูอันที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ เพื่อลงมือกระทำ ถ้าทำไปแล้วไม่เกิดผลก็จะมีข้ออื่น ๆ ที่จะนำไปกระทำอีกได้ หรือกลับมาคิดหาวิธีแก้ไขกันต่อไป การกระทำเช่นนี้ เด็กก็จะหัดประเมินสถานการณ์การกระทำด้วยตัวของเขา และเขาจะรู้จักนำวิธีการเหล่านี้เข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ตลอดไป

การฝึกให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ในทางสร้างสรรค์นั้นยังมีหลักสำคัญอีก คือ

1. ไม่แก้ปัญหาแทนเด็ก หรือแก้ปัญหาให้หมดทุกอย่าง กล่าวคือ ไม่ไปแทรกแซง ยุ่งเกี่ยวกับเด็กไปทุกเรื่อง จนเด็กไม่ได้มีโอกาสทำ มีโอกาสฝึกฝน มีทักษะแก้ไขด้วยตนเอง อันตรายที่ตามมา นอกจากเด็กทำเองไม่เป็นแล้ว พ่อแม่ยังสื่อไปให้เด็กเข้าใจว่า เขาเป็นคนไม่มีความสามารถ เขาต้องพึ่งผู้อื่นเสมอ เมื่อเติบโตขึ้น เขาจะมีความลำบากในการตัดสินใจ และคอยหวังพึ่งผู้อื่น แต่พ่อแม่มีหน้าที่คอยให้ความสนใจ สนับสนุน และให้กำลังใจเด็ก

2. เมื่อให้เด็กคิด ให้เด็กลองทำ ต้องให้เขาคิดทำโดยตัวเองให้ตลอด ถ้ามีการติดขัด คับข้อง จึงช่วยชี้แนะ ให้คำปรึกษาได้

3. เมื่อให้เด็กทำอะไร อย่าเร่งรัดหรือคาดหวังมาก หรือให้เกิดผลเร็ว ต้องให้เวลาเขาเพียงพอการเจริญพัฒนาทุกชนิดจะต้องใช้เวลา และรอการเจริญพัฒนาหน้าที่ต่างๆของสมองให้ทำงานเต็มที่ด้วย ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจลักษณะของเด็กตามวัย และปรับตน เลี้ยงลูกเข้ากับวัยและระยะเวลาที่เด็กเจริญพัฒนาด้วย

4. ไม่ไปตำหนิวิพากษ์วิจารณ์การกระทำมากเกินไป เพราะเมื่อเด็กเริ่มคิดเริ่มทำ เขายังไม่เข้าใจทีเดียว ยังไม่ถนัด ไม่มีทักษะเพียงพอ เขากำลังหัดทำ จึงควรเริ่มการหัดทำทีละน้อย เป็นขั้นตอน ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ เอาใจใส่ในกระบวนการมากกว่าผล การทำได้แต่ละขั้นจะกระตุ้นให้เกิดความสุข ความพอใจ และอยากทำต่อไปมากขึ้น เด็กควรได้รับกำลังใจ การชื่นชมเมื่อเขาทำได้ หรือแสดงความพยายาม ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ และปรับตะล่อมไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางเกินไป

ผู้ใหญ่จึงไม่ได้บอกให้คิดอะไร ทำอะไรไปหมดทุกอย่าง แต่ฝึกให้เด็กคิดอย่างไร ทำอย่างไรไปด้วย ซึ่งสามารถปลูกฝังฝึกหัดให้เด็กมีความคิดในทางที่ดีได้ตั้งแต่อายุน้อย

การที่จะให้คนเรามีความคิดที่ดี และเกิดความภาคภูมิใจแห่งตนได้นั้น จะต้องอาศัยความสามารถในการควบคุมตนเอง ได้เป็นหลักสำคัญยิ่งด้วย การที่เด็กสามารถควบคุม มีความฉลาดในการจัดการสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งที่จะต้องให้มีเกิดขึ้นในการพัฒนาเด็ก และสามารถช่วยให้เกิดมีได้ตั้งแต่วัยทารกที่มีกับสิ่งใกล้ตัว เมื่อเด็กทำอะไร เช่น ยิ้ม ส่งเสียง เคลื่อนไหวร่างกาย แขนขา มีการตอบสนองกลับมาทางดีจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนมีอำนาจทำให้เกิดการตอบสนองได้ เด็กก็จะยิ่งทำยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งเพิ่มกิจกรรมมากขึ้น เด็กจะรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน อยากทำต่อ อยากลอง ค้นคว้าต่อ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกที่ดีที่ตนมีความสามารถในการกระทำ ตรงข้าม ถ้าการกระทำของเด็กไม่ได้รับการตอบสนอง เด็กจะหมดความสนใจ กลายเป็นความเฉื่อยชา มีอารมณ์วิตกกังวล และ / หรือ ซึมเศร้าตามมาได้ พร้อมกับรู้สึกว่าช่วยตนเองไม่ได้ การตอบสนองไม่แน่นอน หรือการไม่ตอบสนอง ท่าทีและการสื่อของเด็ก จะเกิดผลเสียต่อการเรียนรู้ และจิตใจได้อย่างมาก

ในชีวิตประจำวัน มีโอกาสมากมายที่พ่อแม่จะช่วยให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตนมีอำนาจควบคุม มีความสามารถทำได้ และป้องกันความรู้สึกที่ตนหมดหนทาง ไม่มีประโยชน์ที่จะทำต่อไป การช่วยเหลือเด็กให้กระทำต่อไปได้ โดย

1. เมื่อประสบสิ่งใหม่ ๆ ให้ค่อย ๆ เผชิญ และให้ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้นตอน เริ่มจากเล็กน้อยไปหามาก และเริ่มจากสิ่งง่ายที่เด็กพอทำได้ก่อน

2. จัดการกระทำ การงาน การเล่น ให้เหมาะกับอายุที่อาจทำได้

3. ให้มีทางเลือก เด็กสามารถเลือกได้ เมื่อเขาพูด บอกตอบรับ หรือปฏิเสธได้

4. ให้ความคิด และท่าทีดีๆ ต่อลูก ให้ประสบพบเห็นสิ่งที่ดี

5. ทบทวนว่าวันหนึ่ง ๆ มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นบ้าง เช่นในเวลานอน แม่อาจบอกว่า แม่มีความสุขที่เห็นลูกไม่ทะเลาะกัน ที่ลูกช่วยติดกระดุมให้แม่วันนี้ หรือที่ลูกตั้งใจทำการบ้าน เป็นต้น หรือลูกบอกแม่ว่าหนูดีใจที่แม่ยิ้ม วันนี้ เพื่อนที่โกรธหนูวานนี้มาพูดกับหนูแล้ว วันนี้หนูทำเลขเสร็จ เป็นต้น

การลงมือทำ การปฏิบัติ เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะพัฒนาคนให้เป็นผู้ผลิต การมีประสบการณ์ การทำได้ เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรร ไม่รอให้โชคชะตามากำหนดทางเดินชีวิต ตั้งแต่ 2 ขวบ เป็นต้นไป เด็กมีการเล่น และเริ่มการกระทำที่ช่วยตัวเอง การกระทำที่เลียนแบบ ผู้คนแวดล้อมรอบตัวภายในครอบครัว และบ้านตนเอง จึงเป็นวัยที่จะต้องเริ่มหัดให้เด็กได้ลอง ได้ทำได้หลายอย่างในชีวิตประจำวันที่อยู่ร่วมกัน เช่น การกิน การทำความสะอาด การแต่งตัว การครัว การใช้เครื่องใช้ไม้สอย เป็นต้น โดยยึดหลักว่า เป็นการฝึกให้เด็กรับรู้ เรียนรู้ หัดทำ หัดลอง มีประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการควบคุมตนเองขึ้น (self-control) เป็นสำคัญ โดยที่ความถูกต้อง เรียบร้อย กระทำดีอย่างใจผู้ใหญ่ต้องการนั้น ยังเป็นไปไม่ได้

งานบ้าน และกิจกรรมภายในบ้านเป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้ดีมาก ให้เด็กลองช่วยทำ เช่น “พับผ้า” (ซึ่งอาจเป็นการเล่นรื้อออกหรือพับยุ่งเหยิง) กวนแป้ง เด็ดผัก เช็ดโต๊ะ ฯลฯ เด็กอเมริกันอายุ 2 ขวบกว่า ทำความสะอาดตนเอง กินข้าวเอง ถอดใส่เสื้อผ้าเอง เมื่ออายุ 3 ขวบ บางคนติดกระดุมเองได้แล้ว ผู้ใหญ่ไม่ไปบังคับเด็ก แต่ให้เขาทำ เมื่อติดขัดช่วยเหลือ หรือทำให้ก่อนสักหน่อยและให้เขาทำต่อ เด็กจะเรียนรู้ทักษะ เรียนรู้ขั้นตอน รู้การแก้ปัญหา มีความคล่องตัว ไหวพริบ หัดคิด หัดพยายาม และอดทน แต่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องตระหนักความจริงด้วยว่าเราไม่ได้ปล่อยเด็กทำเองทั้งหมด มีอิสระตามอำเภอใจ หรือตัดสินใจเองไปทุก ๆ เรื่อง ที่ถูกต้องและตามความเป็นจริงคือ เด็กอยู่ในความควบคุมของผู้ใหญ่เสมอ ปล่อยเด็กตามลำพังไม่ได้ แม้จะให้โอกาสเลือก โอกาสตกลงใจก็ตาม พ่อแม่จะเป็นผู้เลือก กลั่นกรองไว้แล้ว เพื่อให้เด็กเลือกเองในที่สุด พ่อแม่เป็นผู้กำหนดโครงสร้าง วางกรอบขอบเขต เป็นผู้มีอำนาจบทบาทหน้าที่ควบคุมเด็ก เด็กจึงจะทำในสิ่งที่ดีที่ผู้อื่นและสังคมยอมรับได้ รู้จักสิ่งดี สิ่งไม่ดี แยกแยะได้ ต่อไปจะเลือกเป็น ฉะนั้นโครงสร้างและรูปแบบหรือกรอบขอบเขตที่วางจะต้องชัดเจน แน่นอน โดยประการเช่นนี้จะเป็นการป้องกันอันตรายและความไม่เหมาะสมไปด้วยกัน

ความรักความอบอุ่นที่ให้กับเด็กไม่มีขีดจำกัด แต่ต้องมีขอบเขตจำกัดในพฤติกรรมและการชมเชย แม้ว่าการชมเชยจะเป็นสิ่งที่ดีที่ต้องให้กับเด็กเพื่อเกิดกำลังใจและภาคภูมิใจก็ตาม คำชมเชยนั้นจะต้องให้เมื่อเด็กทำได้สำเร็จ หรือมีความพากเพียรพยายามตั้งใจอย่างเหมาะสม ผลของการชมพร่ำเพรื่อ เพียงเพื่อให้เกิดความรู้สึกดี แต่ไม่เน้นที่ความสามารถหรือการกระทำก็จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มีค่า ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความหมายเช่นกัน ไม่เกิดความรู้สึกว่าตนมีความสามารถที่แท้จริง ที่เป็นผลเสียอย่างมากตามมาก็คือ ความเฉื่อย ไม่กระตือรือร้น ความไม่มั่นใจ แม้เวลาต่อมาเขาสามารถทำอะไรได้จริง เมื่อชมเขา เด็กก็จะคิดว่า นั่นคือคำยอ ไม่ได้เป็นคำชมจากใจจริง และบางคนเกิดความไม่ไว้วางใจ และไม่เชื่อมั่นผู้ใหญ่ในคำชมนั้น ผลเสียอย่างมากคือ เขาไม่เกิดความภาคภูมิใจอย่างแท้จริง และไม่ได้เรียนรู้จากความสำเร็จนั้น

บทบาทของพ่อต่อการพัฒนาเด็ก

ตั้งแต่ขวบที่ 2 เป็นต้นไป พ่อจะมีบทบาทสำคัญขึ้นต่อการเลี้ยงดู โดยเฉพาะในการช่วยเรื่องการสร้างวินัย และควบคุมระเบียบ เด็กที่มีพ่อเข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงดูอย่างดี จะเจริญพัฒนาในการปรับตัวเข้าสังคมได้ดี ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นตนมากขึ้น ทักษะการงานและเรียนหนังสือได้ดี มีความรู้สึกและการกระทำที่สำเร็จได้หลายอย่าง แบบฉบับของพ่อที่มีลูกประสบความสำเร็จในการเรียน และมีอาชีพดำรงชีวิตไปได้ดี จะเป็นพ่อที่มีลักษณะเข้มงวด แต่ให้อภัยเป็น มีความเข้มแข็งแต่สามารถยืดหยุ่นได้ รับฟังความคิดเห็นของเด็ก มีอารมณ์ขัน สั่งสอนลูก และคาดหวังให้ลูกเชื่อฟัง บทบาทของพ่อมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะในการปรับตัวของเด็ก พ่อจึงควรให้เวลา มีความสนุกเพลิดเพลินกับลูก ทำอะไรร่วมกันอยู่เสมอ ช่วยให้ลูกมีงานอดิเรก มีกิจกรรม เช่นกีฬา การทำงานภายในครอบครัว ให้ความสนใจลูก เมื่อเข้าวัยรุ่น การรับฟัง เปิดโอกาสให้ลูกเข้าหา ปรึกษา รับฟัง โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องเพศ เรื่องอาชีพ อนาคต การปฏิบัติตนในสังคม ฯลฯ เด็กทุกวัยต้องการ ความรัก ความสนใจ เอาใจใส่อยู่เสมอ เมื่อเติบโตขึ้น เด็กจะมีวินัยในตนบ้างแล้ว ฉะนั้นบทบาท กรอบ ระเบียบ การวางขอบเขตของพ่อแม่จะน้อยลงไปตามวัยที่เด็กพัฒนาขึ้น แต่พ่อแม่จะมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ และเข้าหาได้เมื่อเขาต้องการ การปฏิบัติโดยวิธีเหล่านี้ เป็นการป้องกันปัญหาวัยรุ่น เช่น การประพฤติผิดทางเพศ พฤติกรรมเบี่ยงเบน การเสพยา ติดเหล้า เป็นต้น แต่เด็กจะประสบความสำเร็จในการเรียน ในอาชีพ เมื่อถึงคราวมีครอบครัว เขาจะมีชีวิตสมรสที่เป็นสุข และเป็นพ่อแม่ที่ดีต่อไปได้

การเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดี ทั้งกาย จิตใจ และมีคุณธรรม ให้เป็นผู้มีความแข็งแรง เข้มแข็ง มีความสุข พร้อมที่จะเผชิญปัญหา ต่อสู้เพื่อกู้แผ่นดินไทย ดังท่านพระธรรมปิฏกได้กล่าวว่า

ให้มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น

มีความเพียรสร้างสรร โดยใช้สติปัญญา

พ่อแม่ผู้ดูแลเด็กทุกคน รวมทั้งครู จึงเป็นเสาหลักในการเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัย สั่งสอน ฝึกหัด เป็นรูปแบบอย่างที่ดี มีทัศนคติที่ดีและปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรัก ความเมตตา แต่ท่าทีการปฏิบัติต้องเป็นบทบาทที่เข้มแข็ง หนักแน่นอดทน ให้ผู้ใหญ่มีความมั่นใจในอำนาจหน้าที่ของตนที่พึงมีต่อเด็ก แยกแยะให้เป็นระหว่างการลงโทษ การปราบพฤติกรรมที่ผิด ด้วยความรัก ปรารถนาให้ได้ดี ออกจากการลงโทษที่ไร้ความปราณี ทำร้ายร่างกาย และปราศจากคุณธรรม ในประการแรกผู้ใหญ่ยังอยู่ในระยะที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ในการสั่งสอน จึงควรมีกฏ มีกติกา มีระเบียบไว้เป็นเกณฑ์บ่งบอกที่ชัดเจน โดยเอาหลักที่ดีของสังคมมาเป็นตัวประเมิน เช่นไม่ให้เด็กประพฤติ เกเร เห็นแก่ตัว ท้าทาย ไม่ซื่อสัตย์ หรือ ก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น

หลักในการอบรมสั่งสอน และการลงโทษ

1. ผู้ใหญ่จะต้องแยกแยะระหว่างพฤติกรรมที่เด็กจงใจทำฝ่าฝืนกับพฤติกรรมที่ยังเป็นเด็ก มีความพลั้งเผลอ รับผิดชอบยังไม่ได้เต็มที่

2. มีขอบเขต ขีดคั่นการกระทำที่ชัดเจน ถึงการอันใดที่อนุญาตให้ทำได้ และการอันใดเป็นข้อห้าม

3. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมดื้อดึง ต่อต้าน ท้าทาย พ่อแม่ต้องมีความมั่นใจในการตัดสิน และจัดการ

4. เมื่อได้กระทำลงไปแล้ว ต้องสอนตามหลัง เหตุการณ์ และยืนยันในความรักความปรารถนาดีเสมอ

5. หลีกเลี่ยงความต้องการของผู้ใหญ่ หรือการออกคำสั่งที่เด็กทำไม่ได้ หรือไม่สามารถเป็นไปได้

6. ให้ความรัก ความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง และเป็นตัวนำ

ทั้งหมดที่บรรยายมานี้ เป็นหลักส่วนหนึ่งของการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี แต่ผู้ใหญ่ต้องไม่ลืมว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันในพื้นฐานจิตใจ ความถนัด ความสามารถ ดังเช่น Thomas และ Chess ได้ศึกษาระยะยาวเรื่อง temperament ที่มีแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น การปรับตัว การตอบสนอง พื้นฐานอารมณ์ ความช้า ความว่องไว เลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก เป็นต้น

ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องมีความฉลาด รู้ทัน เอาใจใส่ รู้จักลักษณะ บุคลิก ความต้องการของลูก เป็นผู้สังเกตที่ดี ปรับสภาพและวิธีการของตนเข้ากับเด็กที่กำลังเจริญวัย และยอมรับว่าลักษณะเฉพาะบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้ใหญ่ไม่ได้ แต่สามารถปรับ กล่อมเกลา และช่วยเหลือให้เด็กอยู่ในแนวทางที่ดี ปรับตนอยู่ได้ในสังคม ใช้ศักยภาพของตนให้เต็มที่ เอื้อประโยชน์ต่อตน ต่อสังคมและต่อประเทศชาติได้

ทั้งหมดที่บรรยายมานี้ ท่านสามารถพบสาระสำคัญๆ ทั้งหมดได้จากหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” และ “เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานีวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระองค์ได้บรรยายถึง พระราชจริยวัตรการอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรส พระราชธิดาให้เจริญวัยพรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วย พระพลานามัย พระราชจริยวัตร และพระปรีชาสามารถ นานัปการ กอร์ปด้วยทศพิธราชธรรมครบบริบูรณ์ ดังได้ประจักษ์แก่ใจของประชาชนชาวไทย และชาวโลกมาแล้ว

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปรินายก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระศาสนโสภณ ตรัสทางรายการวิทยุ อส. เมื่อ พ.ศ.2511ว่า

พระพุทธศาสนาได้มีหลักธรรมสำหรับอบรมจิตใจอยู่โดยสมบูรณ์ หากได้มีการนำให้มาเกิดความสนใจในการอบรมจิตใจจนถึงปลูกฝังเป็นนิสัยในทางที่ถูก เพื่อประพฤติตนให้เหมาะสม ให้มีความเจริญในด้าน การสอน การทำงาน สามารถเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ และครองชีวิตให้มีความสุขตามสมควร เพราะเด็กจะได้รับประโยชน์ที่สำคัญคือ ฝึกให้เด็กมีความตั้งใจเพิ่มขึ้น (เสริมสร้างพลังใจ) และฝึกให้รู้จักใช้ความคิด (เสริมพลังปัญญา) เด็กนั้นจึงจะเจริญพัฒนา ทำตนเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อสังคมประเทศชาติได้สืบไป

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2544;46(1):55-68.

บรรณานุกรม

  1. พระราชนิพนธ์สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. “แม่เล่าให้ฟัง”. จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา 21 ตุลาคม 2523.
  2. พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. “เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์” จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา 5 ธันวาคม 2530.
  3. ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปัณโน. “หลวงตาสอนเด็ก” รวบรวมพระธรรมเทศนา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.
  4. ท่านพุทธทาสภิกขุ. “แม่”. ในหนังสือจัดพิมพ์พระธรรมเทศนา. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, .
  5. ท่านปัญญานันทภิกขุ. “ความรักของแม่”. ในหนังสือ จัดพิมพ์พระธรรมเทศนา. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, .
  6. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ มูลนิธิพุทธธรรม, 2542.
  7. Shure MB. Raising a thinking child. New York: Saimon and Schuster Inc., 1994.
  8. Seligman MEP. The optimistic child. New York: Houghton Miffin Co, 1995.
  9. Rosemond J. Raising a nonviolent child. Misouri: Andrews Mcmeel Publishing , 2000.
  10. Greenspan SI. The challenging child. Addison – Wesley Publishing Co.,Inc, 1995.
  11. Turecki S, Tonner L. The difficult child. New York: Bantam Books, 1989.
  12. Nelsen J, Erwin C, Duffy R. Positive discipline the first three years from infant to toddler. Prima Publishing, 1998.
  13. Philadelphia Child Guidance Center, Maguire J. Your child emotional health. The Middle Years. Philip Lief Group Inc., 1994.
Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us