เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


passo.jpg (6405 bytes)

การถูกล่วงเกินทางเพศโดยครูชายของนักเรียนชาย: ปัญหา ผลติดตาม และการป้องกัน

Sexual Abuse of School Boys by Their Homosexual Teacher: Problems, Impacts and Prevention

พรรณพิมล หล่อตระกูล พ.บ.*  Panpimol Lotrakul, M.D.*
มาโนช หล่อตระกูล พ.บ.**   Manote Lotrakul, M.D.**

Abstract

Objective To study the impact of sexual abuse of male students by their male homosexual teacher as well as their adjustment after the incidents, the reactions of teachers, family and the community, and to explore the conditions of the school and other factors leading to the incidents.

Method In-depth interviews of 20 male students at one school who had been sexually abused. Interviews of parents, teachers, and villagers were also conducted when permission was granted. The data were analyzed by means of qualitative methods.

Results Among 20 victims, six were forced to touch the offender's genital, eight were forced to masturbate him, one was forced to perform fellatio, and five were forced to have anal intercourse. Common symptoms were anxiety, phobias, and shameful feelings of the event. The frequency of abuse ranged from one to eight times. Two victims met the criteria for acute stress reaction, while others showed signs of adjustment disorder with anxiety.

Furthermore, it was found that after the incidents had taken place, the victims reacted by avoiding meeting the teacher in private. Half of the victims informed their parents of the incidents but they did not recognize the seriousness of the situations or did not know how to solve the problem. None of them told other teachers. In addition, despite a long-standing rumor of the incidents, no one took serious action to respond to the issue due to the offender's acquaintance with many authoritative figures in the community. As a result, those who are responsible tried to cover up the incidents or ignored it instead of directly trying to solve the problem.

Conclusions To prevent similar incidents in the future, students should be taught skills necessary in dealing with difficult situations. In addition, the parents and villagers should be provided with an opportunity to learn or participate in school activities. Moreover, there should be a number of accessible channels for the victims’ parents to report the incidents to the authority without fear of retaliation from the offender and other local authorities who have close relationship with the offender.

J Psychiatr Assoc Thailand 2001; 46(1):25-35.

Key words sexual abuse, homosexuality, child

* Department of Mental Health, Ministry of public Health, Tiwanon Road, Nonthaburi 11000.

** Department of Psychiatry, Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Rama VI Road, Bangkok 10400.

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อเด็กชายที่ถูกล่วงเกินทางเพศโดยครูชายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง รวมทั้งการปรับตัว ปฏิกิริยาตอบสนองของครู ครอบครัว ตลอดจนชุมชน และสภาพปัญหาของโรงเรียนตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์

วิธีการศึกษา สัมภาษณ์เด็กชายที่ถูกล่วงเกินทางเพศ ครูประจำชั้น ครูอื่นๆ ในโรงเรียน อาจารย์ใหญ่ และชาวบ้านที่ยินดีให้ข้อมูล โดยกระบวนการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีเชิงคุณภาพ

ผลการศึกษา ในเด็กชายที่ถูกล่วงเกินทางเพศจำนวน 20 คน มีเด็กถูกให้จับอวัยวะเพศจำนวน 6 คน, ถูกให้ช่วยสำเร็จความใคร่จำนวน 8 คน, ถูกร่วมเพศทางปากจำนวน 1 คน และถูกร่วมเพศทางทวารหนักจำนวน 5 คน จำนวนที่ถูกล่วงเกินมีตั้งแต่ 1 ถึง 8 ครั้ง พบเด็กเป็นโรค acute stress reaction จำนวน 2 คน ที่เหลือส่วนใหญ่มีอาการของ adjustment disorder with anxiety

เด็กปรับตัวต่อปัญหาโดยหลีกเลี่ยงการพบครูตัวต่อตัว เด็กจำนวนหนึ่งบอกพ่อแม่ แต่ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ แม้จะมีข่าวลือกันมานานถึงพฤติกรรมของครูผู้นี้ แต่ไม่มีผู้ใดสนใจอย่างจริงจัง เพราะครูผู้นี้มีความสนิทสนมกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาของผู้ที่รับผิดชอบจะเป็นในเชิงกลบเกลื่อนหรือปัดให้พ้นตัวมากกว่าจะมุ่งแก้ไขปัญหาโดยตรง

สรุป นอกจากจะป้องกันปัญหาโดยให้เด็กระวังการถูกลวนลามทางเพศ และมีทักษะในการแก้ปัญหาแล้ว ผู้ปกครองหรือชาวบ้านยังควรมีโอกาสได้เข้าร่วมรับรู้หรือมีส่วนในกิจกรรมของโรงเรียนด้วย และควรมีช่องทางหลายๆ ระดับให้เด็กหรือผู้ปกครองร้องเรียนได้เมื่อเกิดปัญหา โดยสามารถผ่านตรงข้อมูลไปสู่ผู้บริหารระดับสูงที่อยู่เหนืออิทธิพลท้องถิ่น

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2544; 46(1):25-35.

คำสำคัญ การลวนลามทางเพศ รักร่วมเพศ เด็ก

* สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ถนนติวานนท์ นนทบุรี 11000

** ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 กรุงเทพมหานคร 10400

การถูกล่วงเกินทางเพศเป็นปัจจัยกดดันทางจิตสังคมที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านบุคลิกภาพของเด็กเป็นอย่างมาก เด็กกลุ่มนี้จะขาดความไว้วางใจสังคมรอบด้าน หลายคนถึงกับระแวงการมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มีความคับข้องใจสูง รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นที่เป็นโรคทางจิตเวช

ข่าวที่ปรากฏในสังคมของการล่วงเกินทางเพศ ส่วนใหญ่เป็นการล่วงเกินโดยเหยื่อมักเป็นเด็กหญิง ซึ่งอาจถูกล่วงเกินจากคนในครอบครัวหรือนอกครอบครัว การถูกล่วงเกินทางเพศโดยเหยื่อเป็นเด็กชาย (homosexual child abuse) ในประเทศไทยเท่าที่ผ่านมานั้นมีรายงานข่าวน้อย โดยผู้ล่วงเกินมักเป็นชาวต่างชาติ เด็กชายส่วนใหญ่เป็นเด็กเร่ร่อน และมีเด็กชายจำนวนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจโสเภณี อย่างไรก็ตามในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มมีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ในลักษณะการล่วงเกินทางเพศ โดยไม่เกี่ยวกับการขายบริการทางเพศ และมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาการล่วงเกินทางเพศลักษณะเช่นนี้เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อต้นปี พ.ศ.2541 มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนในชนบทแห่งหนึ่ง โดยเด็กชายในโรงเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ยกชั้นเรียนจำนวน 18 คน ถูกครูผู้ชายของโรงเรียนนั้นกระทำอนาจารและละเมิดทางเพศ โดยเด็กจะถูกขู่ไม่ให้บอกใคร และได้เงินเล็กน้อยเพื่อให้ปกปิดการกระทำ

การถูกล่วงเกินทางเพศโดยเฉพาะกับเพศเดียวกัน และที่เด็กที่ถูกกระทำมีจำนวนมากเช่นนี้ ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่าสภาพปัญหาของโรงเรียนตลอดจนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมีอะไรบ้าง การถูกล่วงเกินทางเพศนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อเด็ก เด็กมีกระบวนการปรับตัวอย่างไร เพื่อนนักเรียน ครู และครอบครัว ตลอดจนชุมชนมีปฏิกิริยาตอบสนองเช่นใด ทั้งนี้เพื่อการวางแผนป้องกันการเกิดปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีการศึกษา

เป็นการศึกษาตามขวาง (cross-sectional study) ที่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง เครื่องมือในการศึกษาได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ระยะเวลาของการถูกล่วงเกินทางเพศ ลักษณะการถูกล่วงเกินทางเพศ ความถี่บ่อย ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการหรือความไม่สบายใจ ผลกระทบทางร่างกายและจิตใจในระยะแรก เป็นต้น

สัมภาษณ์เด็กชายที่ถูกล่วงเกินทางเพศจำนวน 20 คน โดยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) ตามแนวทางการสัมภาษณ์ที่พัฒนาขึ้น โดยประเมินสิ่งที่เกิดขึ้น การแสวงหาความช่วยเหลือ ผลกระทบที่มีต่อเด็กหลังเกิดเหตุการณ์ และการปรับตัวของเด็ก นอกจากนี้ยังสัมภาษณ์เชิงลึกครูประจำชั้น ครูอื่นๆ อาจารย์ใหญ่ และชาวบ้านถึงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางในการป้องกัน และช่วยเหลือเด็ก ให้การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชตามเกณฑ์การวินิจฉัยขององค์การอนามัยโลก (ICD-10)1

ผลการศึกษา

ลักษณะทั่วไป

หมู่บ้านที่ตั้งของโรงเรียนนี้อยู่ตรงรอยต่อระหว่าง 2 จังหวัด การเดินทางแต่เดิมลำบากมาก ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาทางเข้าหมู่บ้านดีขึ้น ปัจจุบันการไปยังตัวอำเภอและไปยังตัวเมืองของอีกจังหวัดหนึ่งนั้น ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ชาวบ้านแทบทั้งหมดมีฐานะยากจน ต้องรับจ้างทำนา จากสภาพเดิมที่เป็นหมู่บ้านที่ติดต่อกับอำเภออื่นๆ ค่อนข้างลำบาก จึงไม่ค่อยมีผู้คนมายังหมู่บ้าน

โรงเรียนที่เกิดเหตุเป็นโรงเรียนประชาบาล มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งหมดประมาณ 250 คน โดยมีชั้นละ 27-35 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนชาย 9 คน หญิง 18 คน จำนวนครูประกอบด้วยอาจารย์ใหญ่ 1 คน และครู 8 คน นักการภารโรง 1 คน สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ชายหมู่บ้าน เป็นอาคารไม้ครึ่งตึก 2 ชั้นจำนวน 1 หลัง อาคารไม้ 1 ชั้น 1 หลัง บ้านพักครูลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้นอยู่ด้านหลังของโรงเรียนใกล้ๆ กันกับตึกเรียน

เนื่องจากการเดินทางลำบาก จึงไม่ค่อยมีศึกษานิเทศก์หรือข้าราชการจากหน่วยงานระดับอำเภอหรือจังหวัดมาตรวจงาน การปฏิบัติงานของครูจึงค่อนข้างขึ้นอยู่กับอาจารย์ใหญ่เป็นหลัก ซึ่งลักษณะการปกครองเป็นไปในแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าจะเข้มงวดกวดขัน

ครูผู้ล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก

ในที่นี้ใช้นามสมมุติว่า "ครูสนาม" ครูสนามเป็นชาวจังหวัดนั้นแต่อยู่ต่างอำเภอ อายุ 31 ปี เรียนจบระดับปริญญาตรี สถานภาพโสด มีฐานะดี มีที่นาให้เช่า และปล่อยเงินให้กู้ นิสัยเป็นคนอารมณ์ร้อน ชอบดุด่าเด็กโดยไม่มีเหตุผล มีความตั้งใจสอนดีในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ นักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่าสอนดี เล่ากันว่าขณะหนุ่มเคยบวชเรียนและถูกล่วงเกินทางเพศ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีแฟนอยู่แล้ว แต่อกหักเลยเปลี่ยนมาเป็นชอบเพศเดียวกัน

ครูสนามบรรจุเข้ารับราชการที่โรงเรียนนี้ได้ประมาณ 8 ปี มีบทบาทในโรงเรียนค่อนข้างมาก เนื่องจากมีฐานะทางการเงินดี มีความสนิทสนมกับผู้ใหญ่บ้าน ประกอบกับรับผิดชอบในการสอนดีกว่าครูอื่น จึงทำให้ครูอื่นค่อนข้างเกรงใจ หลังเลิกเรียนครูสนามชอบชวนวัยรุ่นชายในหมู่บ้านมามั่วสุมในบ้านพักหลังโรงเรียน โดยมีวีดิโอโป๊ สื่อลามกต่างๆ อยู่เต็มบ้าน พฤติกรรมเช่นนี้มีมานานแล้ว คาดกันว่าวัยรุ่นเหล่านี้อาจถูกล่วงเกินทางเพศด้วย อาจารย์ใหญ่คนก่อนๆ ก็เคยเรียกมาตักเตือน แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรครูสนามจริงจัง ก่อนหน้านี้เคยมีการทำเรื่องส่งไปที่สำนักงานประถมศึกษาอำเภอ แต่พอครูสนามทราบก็ได้วิ่งเต้นจนทางเจ้าหน้าที่เก็บเรื่องไว้

ประชากรที่ศึกษา

ผู้วิจัยลงพื้นที่หลังจากเหตุการณ์เป็นข่าวได้ประมาณ 8 เดือน ซึ่งเป็นปีการศึกษาถัดไป ได้สัมภาษณ์เด็กชายที่ถูกล่วงเกินทางเพศจำนวน 20 คน ประกอบด้วยนักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งชั้นจำนวน 9 คน นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนนี้แล้วและกำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนระดับมัธยมในอีกหมู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กันจำนวน 3 คน นักเรียนที่เรียนจบแล้วไม่ได้เรียนต่อจำนวน 7 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ถูกล่วงเกิน 1 คน

การถูกล่วงเกินทางเพศมี 4 ลักษณะ โดยเด็กหลายคนถูกล่วงเกินหลายลักษณะ ดังต่อไปนี้

    1. ถูกให้จับอวัยวะเพศ โดยเด็กถูกเรียกให้ไปที่บ้านพักครูทั้งชั้นจำนวน 9 คน แล้วให้ผลัดกันจับอวัยวะเพศ ในจำนวนนี้มีเด็กที่ต่อมาถูกให้ช่วยสำเร็จความใคร่จำนวน 3 คน
    2. ถูกให้ช่วยสำเร็จความใคร่ มีจำนวน 8 คน โดยครูสนามมักเรียกเด็กไปทีละ 2-3 คน
    3. ถูกร่วมเพศทางปากจำนวน 1 คน โดยก่อนหน้านี้เด็กคนนี้ถูกให้จับอวัยวะเพศ และถูกให้ช่วยสำเร็จความใคร่
    4. ถูกร่วมเพศทางทวารหนักจำนวน 5 คน (บางคนถูกร่วมเพศทางปากด้วย)

จำนวนครั้งที่ถูกล่วงเกิน มีตั้งแต่ 1 ครั้งไปจนถึง 7-8 ครั้ง โดยมีอยู่ 1 คนที่ถูกล่วงเกินบ่อยโดยให้จับอวัยวะเพศ 2 ครั้ง ถูกให้ช่วยสำเร็จความใคร่ 5 ครั้ง และถูกร่วมเพศทางปาก 1 ครั้ง มี 3 คนที่ถูกร่วมเพศทางทวารหนัก 4 ครั้ง ในช่วงระยะ 1 ปี

สถานที่ทำการล่วงเกินทางเพศ ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านพักครูซึ่งอยู่ด้านหลังโรงเรียน ดังในกรณีให้เด็กนักเรียนผลัดกันจับอวัยวะเพศทั้งชั้น ครูสนามได้เรียกเด็กไปที่ห้องพัก ขณะเวลาพักเที่ยง โดยบอกว่าจะให้ดูโทรทัศน์ ในกรณีอื่นๆ จะเรียกให้เด็กไป 1-3 คน โดยบอกว่าให้ไปช่วยจัดหนังสือ ให้ล้างห้องน้ำ ให้ถูห้อง ฯลฯ บ้างก็กระทำใต้สะพานแถวหมู่บ้าน หรือบริเวณป่าละเมาะใกล้สะพาน

ส่วนใหญ่เด็กจะไม่กล้าปฎิเสธเพราะกลัวถูกให้ซ้ำชั้น หรือให้สอบตกในบางวิชา บางครั้งครูสนามขู่จะให้วิ่งรอบสนาม 100 รอบถ้าเด็กไม่ยอมทำตาม หากเด็กมากันหลายคน ครูสนามก็มักจะแยกเด็กออกจากกันโดยสั่งงานให้ทำ

ผลกระทบทางจิตใจหลังการถูกล่วงเกินทางเพศ

เด็กที่ถูกให้จับอวัยวะเพศบอกว่า รู้สึกเกลียด ไม่ชอบ ช่วงแรกๆ เด็กจะกังวล กลัวว่าครูจะเรียกไปอีก เป็นอยู่ 2-3 วันก็ไม่ได้คิดอีก รู้สึกอายเมื่อถูกล้อ เด็กทั้งหมดเข้าใจดีว่าต่างจากการถูกให้สำเร็จความใคร่ให้ เด็กจะไม่กล้าไปกับครูสนามคนเดียว มักจะชวนเพื่อนไปกันหลายคน

ปฏิกิริยาของเด็กที่ถูกให้ช่วยสำเร็จความใคร่ คือมีอาการกลัว กังวลว่าจะถูกเรียกอีก คิดถึงแต่เรื่องนี้ เป็นอยู่ 3-4 วัน เด็กบางคนมีอาการนอนไม่หลับ เวลาเห็นครูเดินผ่านก็กลัว กลัวว่าจะถูกร่วมเพศทางทวารหนัก กลัวว่าเมื่อคนอื่นรู้จะรังเกียจ ไม่คบด้วยเพราะไปทำเรื่องไม่ดี

มีเด็ก 1 คน ถูกล่วงเกินทางเพศ 8 ครั้ง โดย 7 ครั้งก่อนหน้านี้ถูกให้จับอวัยวะเพศ และให้ช่วยสำเร็จความใคร่ นิสัยเดิมของเด็กเป็นคนไม่ค่อยพูด กังวลง่าย คิดมาก ตั้งแต่ถูกให้สำเร็จความใคร่ มีอาการกลัวครูมาก จะคอยหลบเลี่ยงครูอยู่ตลอด นอนไม่หลับไป 3-4 วัน ทุกครั้งหลังถูกล่วงเกิน รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ทุกวันนี้ยังคิดถึงเรื่องนี้เป็นบางครั้ง และรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่คิดเรื่องนี้

เด็กที่ถูกร่วมเพศทางทวารหนักจำนวน 5 คน ทุกคนมีอาการกลัวมาก คิดแต่เรื่องนี้อยู่ตลอด นอนไม่หลับ ไม่มีฝันร้าย รู้สึกโกรธและเกลียดครูสนาม บางคนคิดจะบอกพ่อแม่แต่ก็ไม่กล้าเพราะถูกครูขู่ไว้ กลัวว่าจะถูกตี ถูกให้ตก คิดจนเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ระแวงว่าจะถูกครูเรียกไปอีก ต้องคอยหลบอยู่ตลอด เกิดขึ้นอยู่เป็นสัปดาห์ ไม่พบเด็กคนใดที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เด็กทุกคนจะมีท่าทีอึดอัดไม่อยากเล่า โดยบอกว่าไม่อยากพูดถึงอีกเพราะอาย บางคนบอกว่าไม่สบายใจถ้าคิดถึงเรื่องนี้

มีเด็ก 2 คนที่มีอาการมาก คนแรกได้แก่เด็กชายแก้ว (นามสมมุติ) อายุ 15 ปี ถูกลวนลามขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยครูสนามสั่งให้ไปหาที่บ้านพักในวันเสาร์ ชักชวนให้ดูวีดิโอโป๊ แล้วให้เด็กช่วยสำเร็จความใคร่ให้ พอครูเผลอเด็กจึงพังประตูหนีออกมา ครูสนามตามไปจนถึงที่บ้านบอกไม่ให้พูดเรื่องที่เกิดขึ้น เด็กมีความกลัวมาก มีอาการผวาอยู่ตลอด งุนงง สับสน ไม่กล้าไปโรงเรียนอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์

ส่วนเด็กชายกอง (นามสมมุติ) เล่าว่า ในการถูกล่วงเกินทางเพศครั้งที่ 3 ครูสนามเรียกให้ไปกับเพื่อน 3 คนที่บ้านพัก แต่เด็กๆ ไม่ยอมไป วิ่งหนีขึ้นบันไดห้องเรียน ครูสนามจึงเอาไม้กวาดขว้างตามไปโดนตนเองล้มลง ส่วนเพื่อนหนีไปได้ ครูสนามเอาตัวไปร่วมเพศทางทวารหนัก เมื่อเสร็จกิจได้ให้เงินเด็กชายกอง 100 บาทแล้วห้ามไม่ให้บอกใคร แต่เด็กชายกองตัดสินใจบอกย่า ย่าจึงพาไปพบผู้ใหญ่บ้าน และไปแจ้งความตำรวจว่ามีการล่วงเกินทางเพศ ตำรวจจึงมารับตัวไปสอบสวนในวันต่อมา หลังจากวันนั้นเด็กชายกองมีอาการกลัวมาก กลัวว่าครูสนามจะมาฆ่า จะจ้างมือปืนมายิงทิ้งเพื่อปิดปาก กลัวว่าครูจะจ้างคนมาจับเอาตัวไปขาย กลางคืนนอนไม่หลับฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝันว่าครูสนามจับได้แล้วให้คนฆ่า รู้สึกสับสน เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง มีอาการนานประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อตำรวจจับครูสนามที่หนีไปได้ อาการกลัวก็ทุเลาลง

เมื่อถามว่ารู้สึกโกรธครูสนามหรือไม่ เด็กบางคนตอบว่าโกรธ แต่ไม่มีคนใดบอกว่าคิดจะทำร้าย และไม่มีคนใดบอกว่ารู้สึกหงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หรือรังแกเพื่อน จากการสอบถามว่าเพื่อนของเด็กๆ หลังจากถูกกระทำแล้วมีคนใดที่เห็นว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือรังแกเพื่อนมากขึ้นหรือไม่ ก็ไม่พบว่ามีคนใดมีลักษณะเช่นนี้เช่นกัน

นักเรียนหญิงในโรงเรียนส่วนใหญ่ทราบถึงเหตุการณ์เหล่านี้ แต่ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย บางคนก็เกลียด ไม่ชอบที่ครูสนามเป็นแบบนี้ ในขณะที่บางคนชอบครูสนามเพราะเห็นว่าสอนวิชาภาษาอังกฤษเข้าใจดี ไม่มีคนใดที่คิดว่าจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับตนเอง

ตารางที่ 1 ปฏิกิริยาของเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศ

ลักษณะการถูกล่วงเกิน

จำนวน

(คน)

อายุขณะ

ถูกล่วงเกินทางเพศ

บอกพ่อแม่/ไม่บอก

ปฏิกิริยา

ให้จับอวัยวะเพศ

6

10-12

3/3

เฉยๆ ไม่สบายใจ กังวล กลัวว่าจะถูกเรียกอีก คอยหลบเลี่ยง เรียนไม่รู้เรื่อง คิดแต่เรื่องนี้ ไม่ชอบ เกลียด
ให้ช่วยสำเร็จความใคร่

8

9-12

5/3

กลัวอยู่ 3-4 วัน นอนไม่หลับ เครียด เห็นครูก็กลัว รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี กลัวว่าคนอื่นรู้จะรังเกียจตนเอง โกรธ
ถูกร่วมเพศทางปาก

1

11

0/1

เครียด นอนไม่หลับ กลัว รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี
ถูกร่วมเพศทางทวารหนัก

5

9-12

3/2

กลัว เกลียด โกรธ กลัวว่าจะเรียก คอยหลบ

การแสวงหาความช่วยเหลือ

เด็กกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55) ไม่ได้บอกพ่อแม่ โดยเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศน้อยจะบอกพ่อแม่น้อยกว่าเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศมาก เด็กให้เหตุผลที่ไม่บอกพ่อแม่ว่า เป็นเพราะอาย ครูสนามห้าม ขู่จะตีถ้าบอก หรือกลัวครูให้ซ้ำชั้น ส่วนใหญ่เด็กมักจะรู้กันว่าใครถูกกระทำ มีการล้อกันบ้าง เด็กจำนวนหนึ่งเล่าว่าได้บอกพ่อแม่แล้วแต่พ่อแม่ไม่ว่าอะไร, แม่บอกว่าจะบอกผู้ใหญ่บ้านให้เอาเรื่อง แต่แล้วก็ไม่ได้บอก เพราะกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งกลับ, บอกแล้วพ่อแม่บอกว่าไม่จริง ครูจะทำอย่างนั้นทำไม, หรืออย่าไปทำครูเขาเลย สงสารครู เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีเด็กคนใดบอกว่าได้บอกครูคนอื่นเลย โดยเด็กให้เหตุผลว่าอายครู กลัวถูกครูดุ ว่าเอาเรื่องไม่จริงมาพูด หรือกลัวครูจะเอาไปแจ้งครูสนาม

ผลกระทบหลังการเกิดเหตุการณ์

จากการที่เด็กชายกอง ถูกกระทำรุนแรง ฝ่ายชาวบ้านเห็นว่าอาจารย์ใหญ่ไม่ได้จัดการอะไร เกรงเรื่องจะเงียบไปอีก จึงรวมกลุ่มกันไปร้องเรียนต่อทางอำเภอ ครูสนามจึงถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักงานประถมศึกษาอำเภอ ก่อนจะเกิดเป็นข่าว ได้มีการตั้งกรรมการสอบสวน แต่ยังไม่มีการลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอำเภอต่างก็รู้เรื่องนี้กันดี แต่ไม่อยากให้เป็นข่าว เนื่องจากเกรงว่าตนเองจะต้องรับผิดชอบ ที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น หลังจากที่ข่าวเริ่มแพร่ออกไป ครูสนามได้วิ่งเต้น ใช้อิทธิพลต่างๆ นานา โดยผ่านทางผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยเกลี้ยกล่อมไม่ให้ชาวบ้านเอาเรื่องกับตน พร้อมกับแจกเงินให้พ่อแม่เด็ก และบังคับให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่า ครูสนามมิได้กระทำอนาจารเด็กแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งสนิทกับครูสนามมากยังอ้างบารมี ส.ส. มาขู่โดยบอกว่าตนเองเป็นหัวคะแนน ส.ส. ทำให้ชาวบ้านเกรงกลัวอิทธิพล ไม่กล้าเอาเรื่องครูสนาม

เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวใหญ่เพราะมีคนที่ทราบข่าวมานานแล้วได้ส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์ส่วนกลางถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ประจวบกับในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน กำลังมีข่าวครึกโครมเรื่องข้าราชการในกรุงเทพฯ กระทำการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กชาย ข่าวนี้จึงอยู่ในความสนใจของประชาชน

หลังจากเกิดเป็นข่าว เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคุ้มครองเด็กได้ลงไปในพื้นที่ ขอความร่วมมือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้ทำการสอบสวนเรื่องราว อย่างไรก็ตามในช่วงแรกไม่มีผู้ปกครองเด็กคนใดยินยอมไปแจ้งความ เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพล อีกทั้งยังเกรงว่าตนเองไปรับเงินมาแล้วอาจมีความผิดถูกฟ้องร้องเอาได้ จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องสั่งการให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านให้ติดตามผู้ปกครองเด็กมาให้ปากคำกับเจ้าพนักงาน

จากข่าวที่เกิดขึ้นมีข้าราชการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางเข้าเยี่ยมจำนวนมาก คณะกรรมการประถมศึกษาจังหวัดจึงได้รีบสอบสวนและได้มีมติให้ลงโทษไล่ออกจากราชการในที่สุด ในด้านคดีอาญานั้น ครูสนามได้หลบหนีไปแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับตัวได้ในที่สุด ขณะที่ผู้วิจัยลงในพื้นที่นั้น ครูสนามถูกกักขังอยู่ในเรือนจำประจำจังหวัด โดยยังอยู่ในกระบวนการสืบพยานของทางศาล ซึ่งเด็กนักเรียนยังต้องไปให้ปากคำต่อศาล กับผู้ปกครองเป็นระยะๆ ตามลำดับ เด็กรู้สึกกังวลมาก ผู้ปกครองเองก็เป็นทุกข์เนื่องจากการไปศาลแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่าย 200-300 บาท บางครั้งต้องยืมเงินเพื่อนบ้าน จึงอยากให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว

ข่าวคราวที่เกิดขึ้นมีผลกระทบในทางลบต่อทั้งเด็ก โรงเรียน และชาวบ้านค่อนข้างมาก ชื่อของหมู่บ้านเป็นที่รู้จักกันไปทั้งจังหวัด เด็กจากหมู่บ้านนี้ที่ไปเรียนต่อที่อื่นจะถูกล้อเลียนหรือถามเรื่องนี้ ขณะครูประจำโรงเรียนไปประชุมครูที่จังหวัดหรือติดต่อหน่วยงานอื่นๆ เมื่อผู้อื่นทราบว่าสอนอยู่ที่โรงเรียนนี้ก็มักจะถามเรื่องที่เกิดขึ้น บ้างก็หัวเราะ หรือมองแปลกๆ ทำให้บรรดาครูต่างรู้สึกอึดอัดใจ ครูบางคนที่สอนอยู่เดิมได้ขอย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ขณะข้าราชการครูใหม่เลือกลงพื้นที่ก็ไม่มีใครเลือกที่โรงเรียนแห่งนี้ทั้งๆ ที่โรงเรียนอื่นกันดารและอยู่ห่างไกลกว่า ขณะที่ผู้วิจัยลงในพื้นที่ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนอยู่ในตำแหน่งช่วยราชการโดยย้ายมาจากโรงเรียนอื่น และมีครูใหม่มาประจำ 4 คน ส่วนครูเก่าเหลืออยู่ 4 คน ทุกคนต่างอยากให้เรื่องนี้ผ่านๆ ไป

ในแง่ผลกระทบทางจิตใจที่มีต่อเด็กนั้น ผู้วิจัยพบเด็กหลังจากเหตุการณ์เป็นข่าวได้ประมาณ 8 เดือน จากการสัมภาษณ์ไม่พบว่าเด็กมีอาการทางคลินิกของโรคซึมเศร้าหรือมีอาการของภาวะทางจิตเวชใดๆ เด็กที่ยังเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่มีปัญหาในด้านการปรับตัวหรือการเรียนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามพบว่าขณะสัมภาษณ์เด็กมีท่าทีอึดอัดใจ ไม่อยากจะเอ่ยถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางเพศรุนแรง ซึ่งผู้วิจัยต้องใช้เวลาในการสร้างสัมพันธภาพอยู่ระยะหนึ่ง

วิจารณ์

การถูกลวนลามทางเพศของเด็กในการศึกษานี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีลักษณะค่อนข้างเฉพาะ เช่น ผู้ลวนลามเป็นชายรักร่วมเพศโดยผู้ถูกลวนลามเป็นเด็กชาย เหตุการณ์เกิดขึ้นในบริบทของสถานการศึกษาโดยผู้กระทำเป็นครู ในบางครั้งมีเด็กหลายคนถูกลวนลามพร้อมๆ กัน เหตุการณ์เกิดขึ้นมานานก่อนที่จะมีการจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง เป็นต้น ซึ่งต่างจากกรณีทั่วๆ ไปที่ผู้ถูกกระทำมักเป็นเพศหญิง หรือถูกกระทำเดี่ยวๆ ผู้ถูกกระทำมักเป็นคนในครอบครัวหรือญาติ เป็นต้น ผลกระทบที่มีต่อเด็กในการศึกษานี้จึงอาจต่างไปจากกรณีที่ผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว

ผลกระทบต่อเด็กในด้านจิตใจนั้น เด็กส่วนใหญ่จะบอกว่ามีความเครียด กังวลอยู่นานประมาณ 3-4 วัน อาการที่พบบ่อยเป็นลักษณะของความรู้สึกเสมือนตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ อีก เหมือนดังที่พบในภาวะ acute stress reaction หรือ post-traumatic stress disorder เช่น มีความคิด ฝันถึงเรื่องนั้น, มีอาการวิตกกังวล หรืออยู่ในภาวะตื่นตัวมาก เช่น นอนหลับยาก ตกใจง่าย ระวังระไวอยู่ตลอดว่าจะถูกเรียกไปอีก, และมีการหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่มาทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ (ไม่อยากไปบริเวณสะพาน); อย่างไรก็ตาม พบว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่มีลักษณะอาการตะลึงงัน (daze) ต่อเหตุการณ์ เช่น ความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง สับสน งุนงงต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ acute stress reaction ตามเกณฑ์การวินิจฉัยขององค์การอนามัยโลก (ICD-10)1 เมื่อวินิจฉัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกแล้วเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการเข้ากับโรคในกลุ่ม adjustment disorder

เด็กที่พบมีอาการชัดเจนของ acute stress reaction มีอยู่ 2 คน ได้แก่ เด็กชายแก้ว และเด็กชายกอง ในกรณีของเด็กชายแก้วจากการสัมภาษณ์พบว่ามีพื้นฐานเป็นคนอ่อนไหวง่าย มักคิดฟุ้งซ่าน เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ จึงมีบุคลิกภาพเดิมที่เสี่ยงต่อปัญหาในการปรับตัวหากต้องเผชิญกับความกดดัน ส่วนเด็กชายกองมีอาการหลังจากที่ยายไปแจ้งความตำรวจ เด็กเกิดความกลัวว่าครูสนามจะกลับมาแก้แค้น ซึ่งเป็นความกลัวที่รุนแรงกว่าช่วงถูกลวนลามทางเพศ เนื่องจากสถานการณ์คับขันและมีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์ตามที่เด็กกลัวขึ้น

อาการที่พบในเด็กส่วนใหญ่ซึ่งบ่งถึงสภาวะของการตื่นตัวมาก เช่น นอนหลับยาก ตกใจง่าย ระวังระไวอยู่ตลอดนั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยในรายงานต่างๆ2,3 ในการศึกษานี้ไม่พบว่าเด็กมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ดังที่มีในรายงานอื่น2,4,5

ข้อน่าสังเกตคือไม่พบว่าเด็กมีการแสดงความก้าวร้าว (aggression) เหมือนกับที่พบในทางตะวันตก4,6,7 โดยเฉพาะในเด็กชายที่ถูกล่วงเกินทางเพศซึ่งเชื่อกันว่ามักมีอาการในลักษณะที่แสดงความก้าวร้าวออกมาภายนอก ซึ่งต่างจากเด็กหญิงที่มักมีอาการออกมาในทางรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ตำหนิตนเอง เหตุที่พบเช่นนี้อาจเป็นจากข้อจำกัดในการเก็บข้อมูล เช่น เวลาผ่านไปนานแล้ว เด็กมองไม่เห็นพฤติกรรมของตนเอง อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเด็กคนอื่นๆ ก็ไม่พบว่ามีใครที่มีลักษณะเช่นนี้ ข้ออธิบายอีกประการหนึ่ง ได้แก่ อาจเป็นเนื่องจากเด็กไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ต้องรับสิ่งร้ายๆ เพียงคนเดียว ความก้าวร้าวที่มีจึงน้อยจนไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

การที่เด็กส่วนใหญ่ตอบว่าไม่มีปัญหากับการเรียนทั้งๆ ที่มีอาการกลัว กังวล อาจเป็นเนื่องจากการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ไม่ได้เข้มงวดจริงจัง ทำให้ไม่เห็นว่ามีผลกระทบต่อการเรียนที่ชัดเจน

ในแง่มุมของการแสวงหาความช่วยเหลือของเด็กนั้น แม้ว่าพฤติกรรมของครูสนามจะเป็นที่ทราบกันมานานหลายปี แต่เด็กก็ไม่ทราบว่าจะป้องกันตนเองอย่างไร แม้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งก็ยังไม่ได้บอกใครเนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเพศซึ่งน่าอับอาย ไม่ตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการทารุณกรรมชนิดหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีเด็กคนใดบอกครูคนอื่นเลย การที่เด็กบางคนบอกว่ากลัวว่าครูจะเอาไปบอกครูสนาม บ่งว่าไม่มีครูสักคนหนึ่งที่สามารถทำให้เด็กไว้วางใจได้ว่าจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่เกิดขึ้น ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักไม่กล้าเรียกร้องหรือคุ้มครองสิทธิของตน ความเยาว์วัยทำให้เด็กไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ความกลัวจากการถูกข่มขู่เป็นปัจจัยหลักที่พบเสมอในกรณีของการทารุณกรรมเด็ก8

ในมุมมองระดับชุมชน พฤติกรรมล่วงเกินทางเพศต่อเด็กชายของครูสนามนั้น ก็เป็นที่พอทราบกันในหมู่บ้านมาระดับหนึ่ง มิได้เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งทราบกันในช่วงที่เป็นข่าว การที่ครูสนามยังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ได้เป็นเวลานาน อาจมองได้ว่าเป็นเพราะการมีอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในแต่ละกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้

โยชิฟูมิ ทามาดา9 ได้กล่าวถึงเรื่องของอำนาจและอิทธิพลในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่า "อำนาจ" หมายถึงผู้ที่มีอำนาจหรืออาชญาสิทธิ์ตามกฎหมาย เช่น ข้าราชการ (พลเรือนและทหาร) นักการเมือง กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ส่วน "อิทธิพล" หมายถึงอำนาจที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายรองรับ ครูสนามเป็นผู้ที่มีฐานะดี มีที่นาให้เช่า มีเงินให้ชาวบ้านกู้ ซึ่งเป็นสถานภาพที่ต่างไปจากครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนจึงทำให้ชาวบ้านเกิดความเกรงใจในระดับหนึ่ง สำหรับครูด้วยกันแล้วการที่ครูสนามมีความรับผิดชอบในการสอนค่อนข้างดี อีกทั้งมีความสนิทสนมกับข้าราชการที่สำนักงานประถมศึกษาอำเภอ ทำให้ครูอื่นไม่ค่อยอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวเท่าใดนัก แม้แต่อาจารย์ใหญ่ยังเกรงใจไม่กล้าทำอะไรครูสนามจริงๆ จังๆ นอกจากนี้ครูสนามยังสนิทสนมกับผู้ใหญ่บ้านของทั้งสองหมู่บ้านที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงเรียน อีกทั้งครูคนหนึ่งในโรงเรียนซึ่งมีความสนิทสนมกับครูสนามก็เป็นญาติใกล้ชิดของผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าไปร้องเรียนกับผู้ใหญ่บ้านเนื่องจากเกรงว่าผู้ใหญ่บ้านจะนำความไปบอกครูสนามว่าใครมาร้องเรียนแล้วเด็กจะลำบาก ส่วนการแจ้งความต่อตำรวจนั้น เป็นที่ทราบกันในหมู่บ้านว่าตำรวจจะรับเรื่องต่อเมื่อชาวบ้านได้ไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านก่อนเท่านั้น จึงเท่ากับว่าพ่อแม่ของเด็กแทบจะมีหนทางน้อยมากในการจะแก้ปัญหานี้โดยลำพัง การที่เรื่องได้เปิดเผยขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงจนชาวบ้านเกิดความรู้สึกร่วมกัน มีการรวมตัวกันไปแจ้งความและร้องเรียนต่อทางอำเภอ

ในชุมชนที่ระบบอุปถัมภ์ยังมีอยู่สูง และระบบราชการมีการรวมศูนย์ค่อนข้างมาก ชาวบ้านมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้ไร้อำนาจ อีกทั้งในวัฒนธรรมไทยนั้นเมื่อเทียบกับข้าราชการ ชาวบ้านมัก “รู้สึกว่าตนเองยังเป็นไพร่อยู่ แทนที่จะเป็น citizen”10 ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับข้าราชการแบบสูงกับต่ำ นายกับไพร่ หรือผู้ใหญ่กับผู้น้อย ซึ่งความสัมพันธ์ที่ผู้น้อยพึงประพฤติต่อผู้ใหญ่คือ เคารพ เชื่อฟัง และเกรงใจ11 โดยเฉพาะหากข้าราชการผู้นั้นมีเส้นสายหรือรู้จักข้าราชการส่วนกลางที่มีอำนาจเหนือขึ้นไปอีก ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกล่าวได้ว่าหากไม่เหลือทนจริงๆ ไม่มีหนทางแก้ไขใดๆ อีกแล้ว ก็ยากที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันออกมาร้องเรียนปัญหา หากปัญหายังไม่รุนแรงชาวบ้านมักจะยอมรับสภาพ โดยหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปปัญหาคงหมดไปเอง เนื่องจากเกรงการถูกกลั่นแกล้งทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากผู้มีอิทธิพลและผู้มีอำนาจ

การที่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขนั้น ปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ มีผู้หวังดีแจ้งไปทางหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ประจวบกับในขณะนั้นกำลังมีข่าวครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องการล่วงเกินทางเพศในเด็กชายโดยที่ผู้กระทำแอบอ้างตนเองเป็นนักการเมือง จึงทำให้ข่าวของครูสนามเป็นข่าวใหญ่โตขึ้น ทำให้เรื่องนี้ไม่สามารถกลบเกลื่อนลงได้ แม้ว่าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลืออยู่ระดับหนึ่งก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการที่เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสังคมและมีการผลักดันให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง เกิดมาจากความกดดันทางสังคมซึ่งสูงกว่าระดับท้องถิ่น จึงนำไปสู่การแก้ไขที่เป็นรูปธรรม โดยมูลนิธิคุ้มครองเด็กเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องทั้งหมด ร่วมกับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงมาใช้อำนาจกำชับข้าราชการที่รับผิดชอบเรื่องนี้ให้ดูแลเต็มที่ ทำให้อิทธิพลท้องถิ่นไม่สามารถกลบเกลื่อนเรื่องนี้อีกต่อไปได้

จะเห็นว่า การป้องกันปัญหาไม่ได้อยู่เพียงแค่การให้เด็กระวังระไวต่อการอาจถูกล่วงเกินทางเพศ หรือการให้ครูอาจารย์ดูแลใกล้ชิดเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับลักษณะของโรงเรียนและชุมชน แนวคิดเรื่อง “ประชาสังคม” หรือ “ชุมชนเข้มแข็ง”10 เป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้วิจัยเห็นว่าหากมีการส่งเสริมกันอย่างจริงจังแล้วจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีบทบาทในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชุมชน เนื่องจากอำนาจในการต่อรองมีเพิ่มขึ้น ในแง่ของบทบาทของชาวบ้านกับโรงเรียนแล้ว ชาวบ้านควรมีส่วนร่วมหรือรับรู้ในกิจกรรมของโรงเรียน อีกทั้งมีอำนาจในการร่วมตัดสินใจระดับหนึ่ง สภาพเช่นนี้จึงจะเป็นลักษณะโรงเรียนของชุมชนที่แท้จริง การเป็นคณะกรรมการเช่นนี้จะทำให้ผู้ประสบปัญหามีทางร้องเรียนหรือปรึกษาได้หลายๆ ทาง มิใช่ขึ้นอยู่กับเพียงอาจารย์ใหญ่กับส่วนกลางเท่านั้น

ในแง่มุมของการดูแลรักษานั้น จากการลงไปในพื้นที่ทำให้เห็นว่าไม่มีโอกาสเลยที่เด็กจะได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือบุคลากรทางสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกลตัวเมืองมากอีกทั้งในจังหวัดใกล้เคียงก็ไม่มีจิตแพทย์เลย ผู้ที่จะให้การช่วยเหลือได้ดีจึงควรเป็นผู้ใหญ่ที่คนในชุมชนให้ความนับถือ เด็กและครอบครัวมีความรู้สึกในทางบวก เช่น พระ ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน การช่วยเหลือกันเองเช่นนี้ยังมีข้อดีประการหนึ่งคือทำให้เด็กไม่ถูกมองในแง่ลบว่ามีปัญหาทางจิตเวช

ในด้านบุคลากรจากส่วนกลางนั้น เจ้าหน้าที่จากองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องจะมีความคล่องตัวมากกว่า และบุคคลเหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่ลงไปในพื้นที่พบปะกับเด็กโดยตรง เมื่อมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น จึงมีประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาค่อนข้างมาก การจัดจุดประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ น่าจะเป็นการให้บริการที่มีความเป็นไปได้

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่พบคือระบบการดำเนินคดีของศาล ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้ามาก ขณะที่ผู้วิจัยลงไปในพื้นที่เหตุการณ์ได้ผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว พบว่ามีการสืบพยานไปได้ไม่ถึงครึ่ง ครอบครัวที่เป็นโจทก์ต่างก็รู้สึกเดือดร้อนเพราะต้องเสียเวลา เสียเงินทองทุกครั้งที่ไปขึ้นศาล กลัวการให้ปากคำไม่แน่ใจว่าที่พูดไปจะถูกหรือผิด จะต้องแจ้งความจริงหรือปกปิด มีความรู้สึกว่าไม่มีใครที่สนใจช่วยพวกเขาอย่างจริงจังเหมือนกับช่วงแรกๆ ที่มีข่าว ถึงขณะนี้ทุกคนต่างก็ต้องการให้เรื่องนี้จบๆ กันไป

โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการที่ปัญหานี้สามารถคงอยู่ได้นานเป็นปีๆ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของโรงเรียน ความอ่อนแอของชุมชน ความเข้มแข็งของอำนาจ และอิทธิพลในท้องถิ่นตลอดจนสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน และแสดงถึงวัฒนธรรมของระบบราชการที่มีแนวโน้มจะปกปิด กลบเกลื่อนปัญหา โดยมุ่งรักษาสถานภาพของตนเอง เด็กที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับเป็นผู้ที่บุคลากรในระบบราชการที่มีส่วนรับผิดชอบคำนึงถึงน้อยกว่าการแก้ไขปัญหาในด้านการบริหาร

การป้องกันปัญหานั้น นอกจากการให้เด็กระวังการถูกลวนลามทางเพศ มีทักษะในการแก้ปัญหาแล้ว ยังควรมีช่องทางหลายๆ ระดับให้เด็กหรือผู้ปกครองร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีระบบที่สามารถส่งผ่านข้อมูลไปโดยตรงสู่ผู้บริหารระดับสูงซึ่งอยู่เหนืออิทธิพลท้องถิ่น จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถฝ่าด่านการประนีประนอม การกลบเกลื่อนปัญหา หรือการกลั่นแกล้งผู้ที่ร้องเรียนในระดับท้องที่ไปได้ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ไม่เสียเวลาจากการต้องผ่านเรื่องไปตามขั้นตอน หรือการถูกบิดเบือนปัญหาในระหว่างการส่งผ่านข้อมูล

งานวิจัยนี้มีอุปสรรคในการเก็บข้อมูลระดับหนึ่ง โดยไม่สามารถสัมภาษณ์พ่อแม่ของเด็กได้ เนื่องจากขณะเก็บข้อมูลชาวบ้านมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการดำเนินคดีกับครูสนามเนื่องจากยังมีความเกรงกลัวอิทธิพลของครูสนามและผู้ใหญ่บ้าน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ดำเนินคดี ซึ่งทั้งสองฝ่ายนี้ต่างก็ไม่ต้องการที่จะพูดเรื่องนี้กับบุคคลภายนอก เพราะการดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด จึงทำให้ข้อมูลขาดความครอบคลุมในแง่มุมมองของผู้ปกครองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณเด็กนักเรียนและคณะครูของโรงเรียนทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ยินดีให้ผู้วิจัยสัมภาษณ์ ผู้วิจัยขออภัยที่ไม่อาจแสดงความขอบคุณโดยการระบุชื่อผู้ให้ข้อมูลตลอดจนชื่อโรงเรียนได้ ขอขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิคุ้มครองเด็กเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความช่วยเหลือในด้านข้อมูลตลอดจนเสียสละเวลาลงพื้นที่ร่วมกับผู้วิจัย ขอขอบคุณคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้การสนับสนุนทุนการวิจัย และขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์นายแพทย์พิเชฐ อุดมรัตน์ ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงบทความ

เอกสารอ้างอิง

  1. World Health Organization. The ICD-10 classification of mental and behavioral disorders. Geneva:World Health Organization, 1992.
  2. Friedrich WN, Urquiza AJ, Beilke RL. Behavior problems in sexually abused young children. J Pediatr Psychol 1986; 11:47-57.
  3. Peters JJ. Children who are victims of sexual assault and the psychology of offenders. Am J Psychother 1976; 36:398-421.
  4. Adams-Tucker C . A socioclinical overview of 28 sex-abused children. Child Abuse Negl 1981; 5:361-7.
  5. Mannarino AP, Cohen JA. A clinical-demographic study of sexually abused children. Child Abuse Negl 1986; 10:17-23.
  6. Bess E, Janssen Y. Incest: a pilot study. J Clin Psychiatry 1982; 4:39-52.
  7. van der Mey BJ, Neff RL. Adult-child incest: a review of research and treatment. Adolescence 1982; 17:17-35.
  8. วัลลภ ตังคณานุรักษ์. เด็กที่ถูกลืมในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
  9. โยชิฟูมิ ทามาดา. "อิทธิพล" และ "อำนาจ": การเมืองไทยในด้านที่ไม่เป็นทางการ. ใน: อมรา พงศาพิชญ์, ปรีชา คุวินทร์พันธุ์, บรรณาธิการ. ระบบอุปถัมภ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539:313-52.
  10. ชูชัย ศุภวงศ์, ยุวดี คาดการณ์ไกล, บรรณาธิการ. ประชาสังคม: ทรรศนะนักคิดในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2540.
  11. อคิน รพีพัฒน์. ระบบอุปถัมภ์ และโครงสร้างชนชั้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. ใน: อมรา พงศาพิชญ์, ปรีชา คุวินทร์พันธุ์, บรรณาธิการ. ระบบอุปถัมภ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539:137-84.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us