เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


passo.jpg (6405 bytes)

บทบรรณาธิการ

ผีปอบ, ผีเข้าในทรรศนะของจิตแพทย์ *

 สงัน สุวรรณเลิศ

ในปัจจุบันนี้เรื่องของ “ผีเข้า” ได้มีนักมานุษยวิทยา จิตแพทย์และนักจิตวิทยาชาวตะวันตก ให้ความสนใจและวิจัยเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน แต่ความสนใจนี้มุ่งไปในแง่ของความเชื่อถือเรื่องผีเข้า ว่ามีส่วนสัมพันธ์กันกับการเจ็บป่วยทางจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตประจำถิ่นนั้น ๆ มากกว่าจะไปพิสูจน์ว่าผีมีจริงหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันนี้แล้วในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลีย ปรากฏว่าได้มีคนญวน ลาว เขมร อพยพเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และพวกอพยพเหล่านี้ได้ไปสร้างความงุนงงสงสัยให้แก่ฝรั่ง เนื่องจากไปเกิดมีอาการ ”ผีเข้า” หรือ “ถูกของ” ให้จิตแพทย์ฝรั่งได้เห็น ซึ่งพวกแพทย์เหล่านั้นไม่คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้มาก่อนในปัจจุบันนี้จึงทำให้เกิดมีการศึกษาอย่างกว้างขวางดังกล่าวมาแล้ว อนึ่งในปัจจุบันนี้ในทางจิตเวชศาสตร์ถือว่าเป็นยุคของจิตเวชชุมชน ถ้าได้หันมาสนใจเรื่องของพื้นบ้านพื้นเมือง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในแนวทรรศนะของจิตเวชชุมชนแล้ว ก็อาจจะเกิดประโยชน์ได้มากกว่าการที่จะนำเอาเรื่องของจิตเวชสากลมาใช้ ซึ่งในเรื่องศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ได้เน้นเรื่องวัฒนธรรมกับจิตเวชไว้เสมอมา

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ผีเข้ามีอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน ชาวบ้านมักจะมีความเชื่อว่าผีเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ในทางร่างกายถ้าผีเข้าแล้วไม่ออกก็เชื่อกันว่าคน ๆ นั้น จะต้องตายไปหรือในทางจิตใจก็จะกลายเป็นคนที่สติไม่สมประกอบ และเป็นคนวิกลจริตในที่สุด ซึ่งอาการวิกล จริตดังกล่าวแล้วนี้ ในปัจจุบันเราเรียกว่าเป็นการเจ็บป่วยทางจิตเวชศาสตร์อย่างหนึ่ง

จากการได้ศึกษาและรักษาผู้ป่วยที่ญาติผู้ป่วยคิดว่าผีเข้าที่เข้ามารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลฝ่ายจิต ได้มีความคิดเห็นในเรื่องผีเข้านี้อยู่หลายประการด้วยกันคือ

1. ผีเข้าโดยสมัครใจจากผู้ให้เข้าเช่น การทรงเจ้า การทรงผีบรรพบุรุษหรือผีเชื้อเข้าสู่ตัว เพื่อผลของการรักษา เพื่อทำนายหรือเพื่อทราบข่าวสาร

2. ผีเข้าโดยผู้ถูกเข้าไม่สมัครใจจะให้เข้าเช่น ผีตายโหง ผีพราย ผีปอบหรือผีกะเจ้า ฯลฯ ผีเหล่านี้เป็นที่หวาดกลัวของคน เพราะเชื่อว่าทำให้เกิดการเจ็บป่วยทั้งกายและจิตใจหรือถึงแก่ชีวิตได้

ลักษณะของผีเข้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของผู้ป่วย แบ่งออกได้ 3 ประการคือ

1. คนที่ถูกผีเข้าเพียงครั้งเดียวและไม่เคยเข้าอีกเลย ในชนบทที่อยู่ห่างไกลหรือในตัวเมืองก็ตาม มีชาวบ้านเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ถูกผีเข้าหรือชาวบ้านคิดว่าผีปอบเข้า กลุ่มอาการที่แสดงออกมานั้น เกิดขึ้นกับคนที่ไม่เคยเป็นอะไรมาก่อนหรืออาจจะมีการเจ็บป่วยทางกายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมีอาการผีเข้ามาแทรกแซงขึ้นทีหลัง ชาวบ้านเหล่านี้อาจจะถูกผีเข้าเพียงครั้งเดียวในชีวิตของเขาและหลังจากนั้นก็ไม่เคยถูกผีเข้าอีกเลย ในกรณีเช่นนี้จะกล่าวว่าเขาป่วยเจ็บทางจิตเวชศาสตร์ยังไม่ได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ถูกผีปอบเข้านี้ มีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจกับบรรดาญาติมิตรหรือขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดียวกัน บางทีก็คิดเอาเองตามความนึกคิดที่จะเป็นไปได้ตามความเชื่อถือดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา การหาทางออกโดยจงใจหรือไม่จงใจว่ามีผีปอบเข้า ก็เป็นทางหนึ่งที่จะระบายความรู้สึกนึกคิดออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านยอมรับ เพราะเรื่องผีเข้าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในท้องถิ่นที่อยู่ไกล ๆ การถูกผีเข้าไม่ใช่ของเสียหาย ถ้าหากว่าเกิดขึ้นแบบที่ทำให้เกิดมีภวังค์ จะทำให้จิตใจได้มีโอกาสพักผ่อน ตามหลักทางสรีรวิทยาทางจิต ผลทำให้ปัญหานั้น ๆ ผ่อนคลายลงไปได้เอง

การที่เคยถูกผีเข้าเพียงครั้งเดียวนี้ มักจะพบว่าผู้ที่ถูกผีเข้าแบบนี้มักจะมีปัญหาตื้น ๆ ไม่สลับซับซ้อนและพอที่จะแก้ไขปัดเป่าไปได้ง่าย ดังนั้นผีจึงไม่มาเข้าอีก ข้าพเจ้าเคยเดินไปตามหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ถามชาวบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงวัยกลางคนหลายคนที่เคยถูกผีปอบมาเข้าแล้วและไม่เคยมาเข้าซ้ำอีกเลย ส่วนมากมักจะเล่าว่าหมอที่ไล่ผีเป็นคนเก่ง แทนที่จะบอกถึงปัญหาทางใจได้แก้ไขไปได้แล้ว เช่น ตัวอย่าง นาง ช อายุ 48 ปี (2517) ขณะที่ผีปอบเข้าอายุ 18 ปี ยังเป็นโสด ขณะนี้สามีได้ถึงแก่กรรม นาง ช เคยถูกผีปอบเข้าเพียงครั้งเดียวเข้าตอนกลางคืน อาการเริ่มต้นของผีเข้ามีอาการมึนชาตามตัว มือหงิกงอ บางครั้งรู้สึกอยากจะหัวเราะ และหลังจากนั้นก็จำอะไรไม่ได้ อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ญาติได้ไปตามหมอผีมาไล่ออก เข้าใจว่าผีออกไปตามปลายมือ ผีที่เข้าเป็นผีปอบเป็นปอบชนิดปอบเชื้อ เมื่อผีออกไปแล้วรู้สึกสบายดี แต่บางทีก็มีใจสั่นอยู่บ้าง ได้ถามถึงปัญหาก่อนที่ผีจะเข้าก็ได้ความว่า เนื่องจากถูกพ่อแม่ดุที่นาง ช ออกไปเที่ยวนอกบ้านกับเพื่อน ๆ และกลับค่ำพอตกกลางคืนผีปอบจึงมาเข้าดังกล่าวแล้ว นาง ช เล่าว่าการไล่ผีปอบของตนไม่ค่อยยากนัก และหมอได้ทำพิธี “กัน” ให้ (หมายถึงการป้องกันไม่ให้ผีมาเข้าอีก) จนบัดนี้นางก็ไม่เคยถูกผีปอบเข้าอีกเลย ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านอื่น ๆ ก็ถูกผีปอบเข้าตามปกติ สำหรับอาการอย่างที่นาง ช เล่ามานี้มักจะไม่ค่อยมารับการรักษาจากแพทย์สมัยใหม่หรือจิตแพทย์ มักจะอยู่ในมือของหมอผีหรือหมอธรรม ในโรงพยาบาลจะไม่พบผู้ป่วยแบบนี้

2. คนที่ถูกผีปอบหรือผีอย่างอื่นเข้า และผีอย่างอื่นมักจะมาเข้าอยู่บ่อย ๆ บางที 2-3 วันก็มาเข้าครั้งหนึ่ง หรือทอดระยะไปบ้างและวนเวียนอยู่แบบนี้เรื่อย ๆ ไป เปลี่ยนหน้าหมอผีมาทำการรักษาหลายคน ในกรณีเช่นนี้ในจิตเวชศาสตร์อาจกล่าวได้ว่า คน ๆ นั้น ต้องมีบางสิ่งบางอย่างในจิตใจ จากการศึกษาพบว่าคนที่ถูกผีปอบเข้าบ่อย ๆ มักจะมีอาการเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า โรคอุปาทาน (ฮีสทีเรีย) แม้ว่าชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ในทรรศนะของชาวบ้านการรักษาจะต้องค้นหาคนที่เป็นต้นตอของคนที่เป็นตัวผีปอบให้ได้ ถ้าพิจารณาในแง่จิตเวชศาสตร์แล้วจะเห็นว่า บุคลิกภาพของคนที่ถูกผีปอบเข้าเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งความเชื่อถือเดิมอย่างเหนียวแน่นส่วนมากพวกนี้จะมีบุคลิกภาพแบบอุปาทานอยู่แล้ว รวมทั้งมีปัญหาทางใจอย่างท่วมท้นและยากที่จะแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การรักษาในรายเช่นที่กล่าวมาแล้วนี้ ในตอนแรกจะตกอยู่ในมือหมอผีหรือหมอธรรมมาก่อน เมื่อรักษาแล้วหลายหนไม่หาย ญาติอาจจะนำส่งโรงพยาบาลทั่วไปตามต่างจังหวัด มักจะไม่ค่อยเห็นในโรงพยาบาลทางจิต คนที่ถูกผีเข้าบ่อย ๆ นี้จะมาพบแพทย์ เมื่อผีได้ออกไปแล้วโดยมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ดีทุกอย่าง การมาพบแพทย์นี้มาในรูปของอาการใจสั่น ตกใจง่าย นอนไม่หลับ ใจคอหงุดหงิด ฯลฯ ข้าพเจ้าได้พบคนที่ถูกผีปอบเข้าถึง 10 ครั้ง ที่บ้านนาไร่ใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหญิงชื่อ นาง ค อายุ 33 ปี ผีปอบที่มาเข้าส่วนใหญ่จะไม่ซ้ำตัวกัน บางครั้งก็เป็นผีปอบตัวเดียวกัน นาง ค ถูกผีปอบเข้ามารวม 7 ปีแล้ว วนเวียนอยู่เรื่อย ๆ ไป (นาง ค แต่งงานแล้ว มีบุตร 3 คน) นาง ค เล่าว่าครั้งสุดท้ายที่ถูกผีปอบเข้าเมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมานี้เอง อาการเริ่มต้นจะมีอาการอยากร้องไห้ หลังจากนั้นก็ว่าอะไรไม่ได้ ญาติเล่าว่าเวลาผีเข้ามักจะชอบขึ้นไปนอนบนเตียงและก็ลงมาร้องครวญคราง และหลังจากนั้นก็มีอาการอายและ “ออกปาก” คือพูดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมา ผีปอบที่มาเข้ามักจะเป็นทั้งเพศหญิงและเพศชายไม่แน่นอน เข้าครั้งสุดท้ายบอกว่าเกือบ 3 ชั่วโมงจึงออกได้ ผู้ที่เป็นผีปอบมาเข้าสืบได้ความว่า มักจะเรียนวิชาเกี่ยวกับทำให้ตนเองมีเสน่ห์ เพื่อให้เพศตรงข้ามหลงรัก นาง ค เล่าว่าผีปอบที่มาเข้านางทุกครั้งนางเคยได้ยินและรู้กิตติศัพท์ของคน ๆ นั้นมาก่อน นาง ค รู้สึกกลัวผีปอบเป็นอันมาก แต่ไม่ทราบจะทำอย่างไร จากการศึกษาเรื่องราวของนาง ค ในทางจิตเวชศาสตร์ การวินิจฉัยโรคก็ง่ายคือ นาง ค ป่วยเป็นโรคอุปาทาน หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า โรคประสาทอุปาทานก็ได้ ซึ่งนาง ค นี้มีปัญหาชีวิตสมรสมากในทรรศนะของจิตแพทย์

3. คนที่ถูกผีปอบเข้าอาจจะเป็นหลาย ๆ ครั้งหรือถูกเข้าเพียงครั้งเดียว หรือกำลังถูกเข้าเพียงครั้งเดียว ซึ่งผีปอบไม่ยอมออก จะไล่อย่างไรก็ไม่ยอมออก แม้ว่าในตอนแรก ๆ จะรู้ว่าเป็นผีปอบจริง ๆ ในตอนแรกเวลาที่ไล่ไม่ออกนี้จะใช้เวลาอยู่ราว ๆ 4-27 ชั่วโมง เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ หมอผีหรือหมอพื้นบ้านมักจะบอกว่ามีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น และอาจไม่ใช่ผีปอบอย่างแน่นอน อาการของคนที่ถูกผีเข้าไม่ออกนี้มักจะออกมาในรูปของคนที่ไม่รู้เรื่องอะไร พูดฟังไม่รู้เรื่อง เอะอะโวยวาย ด่าทอ มีลักษณะแบบวิกลจริต ผู้รักษาแบบพื้นบ้านมักจะบอกว่าเป็นการไม่สมดุลของเลือดลมหรือไม่ก็ให้รักษาแบบเลือดลม ไม่ใช่ผีปอบเข้าอย่างธรรมดา ผู้ป่วยประเภทนี้มักจะถูกส่งมารักษายังโรงพยาบาลทางจิต โรคที่วินิจฉัยก็แตกต่างกันออกไปสุดแท้แต่อาการจะออกมาในรูปใด อาจจะเป็นโรคจิตประเภทจิตเภท โรคจิตเกี่ยวกับอารมณ์ โรคจิตจากแพ้พิษต่าง ๆ ฯลฯ

เท่าที่ผู้เขียนได้สังเกตมาหลายปีเห็นว่ามีโรคจิตแบบหนึ่งเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่างหาก ซึ่งจิตแพทย์ฝรั่งเขาไม่ค่อยได้เขียนไว้ ลักษณะเป็นโรคจิตที่เกิดขึ้นประจำถิ่นอันเป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งข้าพเจ้าชอบเรียกว่าเป็น โรคจิตอุปาทานหรือโรคจิตผีเข้า ในเวลานี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันมากนักสำหรับคนที่ถูกผีปอบหรือผีอย่างอื่นเข้าและไล่ไม่ออก บางรายก็ไม่ส่งเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลทางจิตก็มีมากมาย เพราะญาติ ๆ ได้เก็บรักษาไว้เองที่บ้าน โดยใส่โซ่ผู้ป่วยไว้หรือกักขังอย่างหนึ่งอย่างใดก็แล้วแต่ แล้วไปเชิญหมอทางไสยศาสตร์มารักษาต่อไป โรคจิตผีเข้านี้เมื่อหายแล้วการคืนดีของสติจะสมบูรณ์กว่าโรคจิตเภท เขาจะทำงานได้อย่างดีเหมือนคนธรรมดา จากการศึกษาของข้าพเจ้าได้พบคนที่ถูกผีเข้าไม่ยอมออกในท้องที่บ้านคำพระ ตำบลคำพระ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อ นาง ส เป็นหญิงโสด อายุ 31 ปี ผีปอบนี้เข้าอยู่ประมาณ 3 เดือน บางทีก็เข้าวันเว้นวัน บางทีก็เข้าตลอดอาทิตย์ นาง ส จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ เริ่มแรกที่จะมีผีเข้ามาเมื่อสี่ปีก่อน นาง ส ได้ไปเกี่ยวหญ้าและถูกตะขาบกัดเอา แล้วได้รับการรักษายาพื้นบ้านอาการหายดีแล้ว แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีผีปอบมาเข้าอยู่เรื่อย ๆ ตอนที่ไปเชิญหมอมารักษาตะขาบต่อยนั้นเป็นหมอต่างถิ่นที่คนเล่าลือว่ารักษาเก่ง แต่อันที่จริงแล้วหมอต่างถิ่นคนนี้เป็นผีปอบและได้มาเข้านาง ส ในตอนหลัง ๆ นี้ ซึ่งเหตุผลก็ตอบไม่ได้เช่นเดียวกันว่าทำไมจึงมาเข้า ได้รับการรักษาอยู่ที่บ้าน 1-2 เดือนอาการจึงดีขึ้น ผู้ป่วยได้ปรึกษาข้าพเจ้าเรื่องอาการปวดเมื่อยตามร่างกายอยู่บ่อย ๆ ส่วนอาการทางจิตนั้นหายเป็นปกติแล้ว

ลักษณะผีเข้าทั้ง 3 ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นอาจจะเป็นแบบมีภวังค์ (ทรานส์) หรือไม่มีภวังค์ก็ได้ หรือเป็นไปตามแนวความเชื่อถือของชาวบ้านก็ได้ ในทางจิตเวชศาสตร์รวมลักษณะของผีเข้าทั้ง 3 ประการนี้เข้าด้วยกันเรียกว่า “กลุ่มอาการผีเข้า” ซึ่งอาการผีเข้านี้ในวรรณคดีไทยเราก็ยังได้กล่าวถึงเช่น ในเสภาขุนช้างขุนแผน ความว่า

“ออพิมเป็นไข้กระไรครัน มดหมอทั้งสุพรรณไม่เคลื่อนคลา

ไหลเล่อเพ้อพูดดังผีเข้า ผอมโศกซูบเศร้าลงหนักหนา”

และยังมีข้อความขยายเรื่องนี้ออกไปว่า

“นอนวันฝันเห็นให้เป็นไป หลงไหลพูดเพ้อดังผีลง

อยู่อยู่ก็จู่ออกนอกห้อง หัวเราะร้องเร่าเหร่อละเมอหลง”

เมื่อยายศรีประจันมาให้ขรัวตาจูจับยามดูนั้น แนะนำว่าให้เปลี่ยนชื่อจากพิมพิลาไลยเป็นวันทองเสีย โรคนี้ก็จะหายไปเองก็เป็นจริงอย่างน่าทึ่งเช่นกันคือ

“เอาด้ายดำผูกมือรื้อดับเทียน เปลี่ยนพิมพลัดชื่อวันทองพลัน

อยู่มาข้าวปลาก็กินได้ หลับไหลไม่เพ้อละเมอฝัน”

จะเห็นได้ว่าเป็นการรักษาแบบโบราณในเรื่องกลุ่มอาการผีเข้านี้ก็ได้ผลดังในเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนเช่นเดียวกัน

ข้าพเจ้าได้ศึกษาเรื่องลักษณะของผีเข้าทั้ง 3 ลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 จนกระทั่งบัดนี้ (2528) สำหรับผีเข้าประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สองนั้น เป็นแบบซึ่งตรงไปตรงมาดังได้อธิบายได้แล้ว ส่วนลักษณะที่สามนั้นเป็นลักษณะที่ค่อนข้างจะซับซ้อนและออกมาในรูปของอาการทางจิตซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นโรคจิตอุปาทาน โดยมีคำจำกัดความดังนี้คือ “โรคจิตอุปาทานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและน่าสนใจ อาการเริ่มต้นมักจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่พึงปรารถนาอย่างมาก ในรูปลักษณะเป็นแบบปฏิกิริยาอาการต่าง ๆ ที่เห็นได้ มักจะมาในรูปของประสาทหลอน หลงผิด บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติให้เห็นได้อย่างชัดเจน ปกติแล้วอารมณ์ไม่ค่อยเปลี่ยน มักจะไม่มีอารมณ์แบบเฉยเมย ความผิดปกติของความคิดที่เกิดขึ้นเป็นแบบธรรมดา ๆ แล้วก็หาย” ฮอลแลนด์เดอร์และเฮริส์ (1969) ได้พิจารณาแนวความคิดของโรคนี้ว่าเกิดจาก

1. พฤติกรรมที่ถูกประชาทัณฑ์ทางวัฒนธรรม

2. พฤติกรรมที่คล้ายโรคจิต

3. โรคจิตแท้ ๆ

ทั้ง 3 ประการนี้รวมเป็นโรคจิตอุปาทาน เมื่อศึกษาดูอันที่ 1 แล้ว เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเป็นโรคจิตอุปาทานในตอนแรก ๆ ควรจะแยกออกไปเป็นโรคจิตผีเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มของความเชื่อของท้องถิ่น

สำหรับเรื่องโรคจิตอุปาทานนี้ ได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนกระทั่งบัดนี้ (2528) ทั้งนี้เนื่องจากได้พบว่าผู้ป่วยที่ถูกผีเข้าแล้วไม่ยอมออกมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้คัดเลือกเอารายที่น่าศึกษาอย่างละเอียดไว้ 16 รายด้วยกัน ผู้ป่วยทั้งหมดที่ศึกษานี้เป็นผู้ป่วยหญิง จากแผนกหญิงของโรงพยาบาลศรีธัญญา มีอายุตั้งแต่ 14-49 ปี สมรสแล้ว 10 ราย โสด 5 รายและเป็นหม้าย 1 ราย เป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด การศึกษาส่วนใหญ่จบ ป. 4 มีเพียงรายเดียวจบ ม. 6 อาชีพทำนา 7 ราย ค้าขาย 4 ราย และเป็นแม่บ้าน 5 ราย ฐานะยากจน 10 ราย ปานกลาง 6 ราย อยู่นอกเมือง 13 ราย และในเมือง 3 ราย ได้ศึกษาประวัติละเอียด ตรวจจิต ตรวจร่างกาย ตรวจทางจิตวิทยาและตรวจคลื่นสมองเป็นบางราย

ผลจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยถูกผีปอบเข้า 10 ราย (62.5%) เจ้าพ่อ (ผี) 3 ราย (18.7%) ผีบรรพบุรุษ 2 ราย (12.5%) ผีตายโหง 1 ราย (6.2%) ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นโดยกระทันหัน เมื่อมีปัญหาทางจิตใจ บางรายมีผีเข้า 2 ชนิด แต่เข้าคนละเวลา ส่วนผีปอบเข้าส่วนใหญ่จะเป็นผีปอบตัวเดียวกัน อาการที่เกิดขึ้นในตอนแรกมักจะเริ่มด้วยอาการเอะอะ มีลักษณะเปลี่ยนไปจากบุคลิกภาพเดิม เอาอย่างผีตลอดจนท่าทางและคำพูด เวลาถูกซักถามโดยหมอผีมักจะบอกว่าตนเป็นผีอะไรมาเข้า ระยะแรก ๆ เข้ามาอยู่นานถึง 10-30 นาทีก็ออก ต่อมาก็มีอาการสับสนมากขึ้น เอะอะโวยวาย แบบคนวิกลจริต มักจะมีอาการอยู่บ้านไม่เกิน 7 วัน ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลหลังจากที่หมอพื้นบ้านได้พยายามอย่างเต็มที่ เหตุส่งเสริมที่ทำให้เกิดอาการ เนื่องจากครอบครัวของผู้ป่วยเอง

ตรวจจิตที่พบได้ มักจะมีลักษณะที่แตกต่างกับจิตเภท ถ้าได้ตรวจโดยรอบคอบ บางทีอาจพลาดไปว่าเป็นจิตเภทถ้าไม่คุ้นเคยกับอาการ ลักษณะทั่วไปมักจะแสดงอาการออกทางอุปาทานบุคลิกภาพ เช่น ท่าทางเจ้าชู้ เสแสร้ง มีบทบาทเหมือนเล่นลิเกหรือละคร ชอบโกหก อารมณ์หวั่นไหว อารมณ์มักจะไม่ค่อยด้านเหมือนจิตเภท มักจะพูดพาดพิงไปถึงเรื่องผีเข้าหรือแสดงท่าผีเข้า เจ้าเข้า อยู่ตลอดเวลามีอาการยังไม่สงบ เมื่อสงบลงแล้วมักจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเรื่องผีเข้าได้ จากการตรวจทางจิตวิทยา 6 ราย พบว่าสติปัญญาไม่ค่อยสูง บุคลิกภาพมักจะออกมาจาก MMPI แบบ neurotic-extraversion มีอาการทางจิตขณะที่ทดสอบทุกรายนอกจากนี้ได้ตรวจ EEG 4 ราย การตรวจร่างกายและตรวจเลือด ปัสสาวะ X-ray ปอด ไม่พบสิ่งที่ผิดปกติ

ตัวอย่างผู้ป่วย 1 ราย รับไว้รักษาในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ถึง 30 ธันวาคม 2517

นาง ล. อายุ 31 ปี คู่ ไทย ศาสนาพุทธ การศึกษา ป.4 อาชีพทำนา ฐานะปานกลาง บ้านอยู่ตำบลน้ำชุม อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มาโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญคือพูดไม่รู้เรื่อง ใจน้อย ร้องไห้บ่อย ๆ ปวดศีรษะ มีผีปอบเข้า เป็นมา10 วัน อาการที่กล่าวมานี้ได้รุนแรงขึ้นเมื่อประมาณ 3-4 วัน ก่อนมาโรงพยาบาลผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ เรียบร้อย แต่งตัวสุภาพ ตามตัวเขียวช้ำไปทั้งตัวทั้งในและนอกร่มผ้า ได้ความว่าหมอผีได้ไล่ผีปอบออกจากผู้ป่วย ที่ข้อมือและที่คอมีด้ายสายสิญจน์ผูกไว้เรียบร้อยเพื่อกันผี อารมณ์ค่อนข้างเศร้า มีประสาทหลอนและหลงผิดระแวงว่ามีคนจะมาฆ่า ขณะเล่ามีบทบาท และบางขณะควบคุมตัวเองไม่ได้

จากประวัติ ผู้ป่วยผ่าตัดหมันมาเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว มีบุตร 3 คน มักจะมีอารมณ์หวั่นไหวอยู่บ่อย ๆ หลังจากนั้นถูกผีปอบเข้า 2 ครั้ง ครั้งแรกเข้าเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อนมาโรงพยาบาล น้องสาวคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน และเป็นคนที่ผู้ป่วยรักมากตาย ผีปอบเข้าอยู่ประมาณ 30 นาที หมอผีไล่ออกไปได้ ได้ความว่าผู้ที่เป็นผีปอบเป็นคนขอทาน มาขอทานแล้วผู้ป่วยให้ทานไปน้อย เลยมาเข้าเพราะเจ็บใจ และหลังจากนั้นมาอีกก็มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ มา และ 7-8 วันก่อนมาโรงพยาบาลผู้ป่วยถูกผีปอบเข้าอีก ก่อนเข้าผู้ป่วยมึนศีรษะ กลัวตกใจง่าย ผีปอบรายนี้นัยว่าเป็นคนที่ ๆ เอาที่ดินมาจำนอง แล้วผู้ป่วยปฏิเสธไม่ยอมรับ จึงเจ็บใจและมาเข้าเพราะไม่ช่วยเหลือเขา เป็นผีปอบผู้หญิง เข้าอยู่ 2-3 วัน ไม่ออก หมอผีพยายามไล่ก็ไม่ออก จึงต้องพาไปโรงพยาบาลสวนปรุง แต่ไม่รับไว้ ในวันต่อมาอาการไม่ดีขึ้นจึงต้องมาที่โรงพยาบาลศรีธัญญาอีก

รักษาผู้ป่วยอยู่ 14 วัน อาการดีขึ้นมากได้ให้ perphenazine ร่วมกับ tryptanol และจิตบำบัดแบบประคับประคอง หนักไปทางให้ระบายและจูงใจเกี่ยวกับเรื่องผีปอบกับปัญหาเรื่องผ่าตัดทำหมันและน้องตาย และการจำนองที่ดิน ผู้ป่วยไม่มีอาการทางจิตภายใน 10 วัน ตรวจร่างกายและคลื่นสมองไม่พบสิ่งที่ผิดปกติ การวินิจฉัยควรจะเป็นกลุ่มอาการโรคจิตผีเข้า psychosis (สงัน สุวรรณเลิศ 1976)

ัวอย่างผู้ป่วยที่เกี่ยวกับผีเข้า ที่ได้รับการตรวจทางจิตเวชอย่างละเอียด

ผู้ป่วย หญิงไทยคู่ อายุ 36 ปี ที่อยู่กรุงเทพฯ ภูมิลำเนาเดิมเชียงใหม่

รับไว้ในโรงพยาบาล เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2526

ประวัติได้จาก ญาติและผู้ป่วยเอง

อาการสำคัญ วุ่นวาย 2 สัปดาห์ ก่อนมาโรงพยาบาล

ประวัติปัจจุบัน 7 ปีก่อนมาโรงพยาบาล หลังจากที่ผู้ป่วยย้ายบ้านจากสวนสน มาอยู่ที่สวนแตง ผู้ป่วยไม่สบายเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยตามตัว ผู้ป่วยเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าถ้าได้ดื่มน้ำมนต์ มีสิ่งใดสิงอยู่ในตัวก็จะออกไปจากตัว เป็นไข้ก็จะหาย ผู้ป่วยได้เอาเหรียญพระใส่แก้วน้ำทำน้ำมนต์และดื่มน้ำมนต์เข้าไป หลังจากนั้นผู้ป่วยหัวเราะออกมาเป็นเสียงผู้ชายห้าว ผู้ป่วยคิดว่าผู้สูงศักดิ์มาทรงอยู่ในร่างของผู้ป่วยระหว่างทรงอยู่นั้นผู้ป่วยรู้ตัวตลอด หลังจากนั้นผู้ป่วยได้ไปรักษาตัวกับพระที่จังหวัด พระบอกผู้ป่วยว่าถูกผีเข้า ได้รดน้ำมนต์และเฆี่ยนตีผู้ป่วย แต่ไม่ได้ผลผู้ป่วยต่อสู้และถีบพระพูดว่าเป็นเพียงพระธรรมดาจะมาไล่ผู้สูงศักดิ์ได้อย่างไร ผู้ป่วยได้ไปพบคนทรงอื่น ๆ อีกหลายครั้ง โดยสงสัยว่าตัวเองเป็นร่างทรงหรือเป็นโรคจิต ทุกครั้งก่อนที่จะถูกผีเข้า จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัวและนั่งขัดสมาธิ หลังจากผีเข้าจะสูบซิการ์ดื่มเหล้านอก และผู้ป่วยก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวทางเพศกับสามีอีกเลย โดยบอกกับสามีว่าร่างทรงเป็นร่างที่บริสุทธิ์

5 ปี ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยทะเลาะกับสามี เพราะเรื่องสามีไปมีภรรยาน้อย ผู้ป่วยได้เอาไม้ตีศีรษะสามีแตกและแยกกันอยู่ตั้งแต่นั้นมา และในช่วงนี้ผู้ป่วยมีอาการถูกผีเข้าอีกหลายครั้ง ได้ถูกพามารักษาที่โรงพยาบาลทั่วไป ได้รับการรักษาด้วยยาและทำช๊อคไฟฟ้า 3 ครั้ง เมื่อกลับไปได้ยาไปทานและมาติดตามผลการรักษาอยู่ประมาณ 1 ปี แล้วขาดการติดต่อไป

3 ปี ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยถูกผีเข้าอีกคราวนี้นั่งทำบายศรีที่บ้านทั้งวัน ระหว่างเข้าทรงจะดูแข็งแรง พูดมาก ทางโรงพยาบาลทั่วไปได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทางจิต

2 ปี ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยไปลงทุนทำร้านตัดผม พอจะเปิดร้านก็ถูกผีเข้าอีกห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไปเปิดร้าน ได้ถูกนำมารักษาที่โรงพยาบาลทั่วไปอีก

2 สัปดาห์ ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยไปเชียงใหม่ เกิดถูกผีเข้าอีก ครั้งนี้เป็นร่างทรงของยักษ์ต้องการกินเลือดสด ญาติผู้ป่วยจับผู้ป่วยมัดและส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทางจิต 3-4 วัน อาการดีขึ้น ญาติจึงได้นำผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลนี้

ประวัติอดีต

- ไม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงใด ๆ

- เคยผ่าตัดมดลูกไปเมื่อ 4 ปี

ประวัติส่วนตัว

- ประวัติการเจริญเติบโต คลอดปกติที่โรงพยาบาลหญิง พ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดูมาตลอด

- ชีวิตวัยเด็ก ไม่มีประวัติกัดเล็บ นอนละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน

เหตุการณ์ประทับใจ เคยพาน้องไปเที่ยวงานวัด น้องถูกเด็กนักเรียนอื่นรังแก ผู้ป่วยเอาไม้ตีศีรษะนักเรียนรายนั้นจนหูฉีก

- การศึกษา จบประถมปีที่ 4 เหตุที่ไม่เรียนต่อ เพราะคิดว่าบิดามารดาค้าขายก็อยู่ได้และคิดว่าตนเองก็สามารถค้าขายเลี้ยงตนเองได้ ความสัมพันธ์กับครูและเพื่อนนักเรียนเข้ากันได้

- อาชีพ ผู้ป่วยมีความสามารถเกี่ยวกับช่างทำผม มีร้านทำผมเป็นของตนเองและยังทำงานพิเศษเกี่ยวกับอาหารที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ตอนหลังย้ายไปทำอาหารหวานที่อีกแห่งหนึ่ง

- สังคม ไม่ค่อยชอบสังคมกับใครมากนัก ไม่ชอบการนินทา ไม่เที่ยว นอกจากไปงานกับสามี ระยะหลังที่แยกกับสามี เคยไปเที่ยวบาร์กับเพื่อนบ้าง

- ประวัติการสมรส สามีรับราชการ ผู้ป่วยพบกับสามีที่บ้านเกิดที่เชียงใหม่ ขณะที่สามีไปราชการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชอบพอกัน อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ตามกันมาอยู่กรุงเทพฯ ปกติสามีเป็นคนใจดี ไม่ค่อยมีปากเสียง เรื่องทางเพศก็เข้ากันได้ แต่หลังจากที่ผู้ป่วยเป็นร่างทรงไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสามีให้เหตุผลว่าร่างทรงเป็นร่างที่สะอาด ต่อมาสามีไปมีภรรยาน้อยและมีปากเสียงกับผู้ป่วย ผู้ป่วยได้เอาไม้ตีศีรษะสามีแตกและแยกกันอยู่

- สิ่งเสพติด ปฏิเสธยาเสพติด

- บุคลิกลักษณะ ใครดีก็ดีด้วย ใครไม่ดีก็เลิกคบ ไม่ชอบการจู้จี้ โมโหง่าย ไม่ชอบสังคม ไม่พอใจถ้าไม่มีใครสนใจตัวเอง

ประวัติครอบครัว

บิดาเสียชีวิตมาได้ 10 ปี เมื่ออายุได้ 65 ปี เป็นอัมพาต ปกติบิดาเป็นคนดุลูกทุกคนกลัวพ่อมาก

มารดา อายุ 57 ปี ยังแข็งแรง ใจดี

พี่น้อง ผู้ป่วยเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 9 คน ปัจจุบันเหลือ 5 คน ระหว่างพี่น้องรักใคร่กันดี บิดามารดาผู้ป่วยรักลูกเท่ากัน

ผู้ป่วย มีบุตร 3 คน ชาย 2 คน หญิง 1 คน ยังเรียนหนังสือทุกคน ผู้ป่วยไม่เคยตีลูก

การตรวจสภาพจิต

รูปร่างท่าทาง ผู้ป่วยเป็นหญิงวัยกลางคน รูปร่างสันทัดแต่งกายเหมาะสม หน้าตาเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมแปลก ท่าทีเป็นมิตร ร่วมมือในการตรวจ มีรอยถูกมัดอยู่ที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง

กระแสคำพูด โต้ตอบได้เรื่องราว

อารมณ์ เหมาะสม

ความคิด เชื่อว่าตัวเองเป็นร่างทรงของผู้สูงศักดิ์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคจิตหรือไม่ ไม่มีประสาทหลอน

การรู้สึกตัว - การรู้จักเวลา สถานที่ บุคคล ปกติ

- ความจำ อดีต และความจำใหม่ปกติ

- ความจำเฉพาะหน้า ทวนตามได้เลข 7 หลัก ทวนกลับได้เลข 4 หลัก

- ความสนใจและสมาธิ คำนวณเลข 100-7 ได้ 93 ผู้ป่วยตอบว่าคิดเลขไม่เก่ง

- เชาวน์ปัญญา – ตอบชื่อนายกรัฐมนตรีได้

- ทราบเหตุการณ์ในปัจจุบัน

เปรียบเทียบว่าต่างกันอย่างไร

กลางวัน - กลางคืน ต่างกันที่ความมืด สะดวกสบายเป็นเวลาพักผ่อน

ต้นโพธิ์ - ต้นมะเขือ ต้นใหญ่กว่ากัน

เด็ก - คนแคระ อายุมาก – อายุน้อย

เปรียบเทียบว่าเหมือนกันอย่างไร

ส้ม - กล้วย ทานแล้วระบายเหมือนกัน

แม่น้ำ - ทะเล มีปลาเหมือนกัน

รถยนต์ - เกวียน บรรทุกของได้

ความหมายสุภาษิต

น้ำขึ้นให้รีบตัก กำลังจะได้อะไร ค้าขายให้รีบทำ

เข็นครกขึ้นภูเขา ทำอะไรด้วยความยากลำบาก

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จะแต่งงานไม่ควรเชิญแขกมาก

การตัดสินใจ

พบจดหมายตกอยู่ ใส่ตู้ไปรษณีย์

ไฟไหม้โรงหนัง วิ่งไปบอกเด็กเดินตั๋ว

ลืมกุญแจในรถ ทุบหน้าต่างบานรถที่แพงน้อยที่สุดและเปิดประตู

การรู้จักตนเอง - คิดว่าเป็นร่างทรง ไม่ได้เป็นโรคจิต

การตรวจร่างกาย - พบ dry skin of dorsum of hand and feet

การตรวจทางระบบประสาท ปกติ

การตรวจพิเศษ - ผลเลือดและ X-ray ปกติ

- การตรวจคลื่นสมอง

- การตรวจทางจิตวิทยา

จากรายงานตัวอย่างในการประชุมพิจารณาตัดสินโรคนี้จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยนั้นมีลักษณะของการเป็นโรคจิตอย่างชัดเจน และมีเรื่องของวัฒนธรรมเข้าไปพัวพันอยู่ด้วย การวินิจฉัยที่ควรจะเป็นคือ โรคจิตอุปาทาน (hysterical psychosis) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยโดยตรงหรือบางคนก็เรียกว่าเป็นโรคจิตผีเข้า (spirit possession psychosis) เพราะต้องการที่จะหลีกเลี่ยงคำว่า hysteria ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่า hysteria หรือโรคอุปาทานนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ โดยมีความรู้สึกทางเพศสูง จึงไม่อยากใช้คำนี้ในเรื่องของผีเข้า

นอกจากนี้แล้วเรื่องของกลุ่มอาการผีเข้านี้ยังสอดแทรกเข้าไปในโรคต่าง ๆ ทางจิตเวชได้ เช่น โรคจิตเภท อันเป็นโรคจิตที่เกี่ยวกับความคิด โรคจิตอารมณ์โศรกเศร้า ซึ่งเป็นโรคจิตที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ แม้แต่โรคจิตที่เกิดจากการแพ้พิษสารต่าง ๆ ก็ยังมีเรื่องของผีเข้าไปสอดแทรกอยู่ทั้งสิ้นทั้งนี้เนื่องจากว่า เรื่องของผีนั้นเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ทางสื่อมวลชน ทางนิทาน ทางบทความ ทางภาพยนต์ ฯลฯ มาแล้วตั้งแต่เด็ก และได้ฝังแน่นอยู่ภายใต้จิตไร้สำนึกของแต่ละคนแล้ว

ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคต่าง ๆ ที่มีผีเข้าไปแสดงบทบาทสำคัญในเนื้อหา หรือในแนวความคิดของผู้ป่วยนั้น จากประสบการณ์ของผู้เขียนพอที่จะกล่าวเป็นแนวทางกว้าง ๆ ได้ดังนี้คือ

1. ผู้ป่วยเป็นโรคประสาท เนื่องจากผู้ป่วยโรคประสาทยังมีความรู้สึกนึกคิดดีตามสมควรไม่ผิดปกติเหมือนคนเป็นโรคจิต สิ่งที่ผู้ป่วยบอกมามักจะไม่เลื่อนลอย เขามักจะรู้เหตุของความเจ็บป่วยว่าอาจจะถูกผีทำหรือผีเข้า ทั้งนี้จะเป็นความรู้สึกของเขาเองโดยได้รับแนวความคิดต่าง ๆ มาจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด

หรือญาติหรือทางหมอดู หรืออีกทางหนึ่งที่สำคัญก็คือ จากคนทรงซึ่งการทรงเจ้านี้มีอยู่ดาษดื่นในชุมชนในปัจจุบันนี้ เนื่องจากโรคประสาทมีสาเหตุมาจากจิตใจโดยเฉพาะ เมื่ออธิบายให้ผู้ป่วยฟังแล้วผู้ป่วยมักจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจยาก ซึ่งแตกต่างกันจากคนทรงจะบอกให้ทราบว่า เป็นผีอะไรและทำไม่จึงมาเข้าพร้อมกันนี้ก็ได้บอกวิธีรักษาให้อย่างเรียบร้อย ผู้ป่วยโรคประสาทอาจจะไม่เชื่อหรืออาจจะเชื่อ เมื่อได้ทบทวนดูตามแนวความคิดทางวัฒนธรรม จึงมีส่วนโน้มเอียงไปได้โดยไม่รู้สึกตัว ในกรณีเช่นนี้การรักษาจำเป็นจะต้องให้ผู้ป่วยนั้นได้ระบายเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผี ให้ผู้รักษาฟังโดยไม่ได้ขัดแย้งผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้ระบายออกอย่างเต็มที่ สมัยก่อนนี้เรามักจะไม่ค่อยรับฟังเรื่องผีสางจากผู้ป่วยมากนัก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องค่อนข้างเหลวไหลในการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่การที่ให้ผู้ป่วยเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกนี้ จะทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่ฝังอยู่ในจิตไร้สำนึกของผู้ป่วยนั้น ได้ค่อย ๆ ออกมาสู่จิตสำนึก เมื่อออกมาสู่จิตสำนึกแล้วเป็นหน้าที่ของผู้รักษาเอง ที่จะต้องชี้ให้ผู้ป่วยเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรระหว่างอาการผีเข้ากับปัญหาที่เขามีอยู่ เขาจึงจะได้เรียนรู้และเข้าใจเหตุผลของการเจ็บป่วยของเขาเอง เมื่อถึงจุดนี้แล้วผู้ป่วยจะยอมรับและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอน การรักษาจึงจะได้ผล แทนที่จะห้ามไม่ให้ผู้ป่วยพูด ผู้ป่วยเลยไม่ยอมพูดหรือไม่ยอมเล่าสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งมหัศจรรย์ที่ผู้ป่วยหลงเชื่อมานาน

2. ผู้ป่วยเป็นโรคจิต ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าการที่เป็นโรคประสาทนั้น มักจะเป็นพวกที่ผีปอบเข้าบ่อย ๆ หรือผีอย่างอื่นก็ตาม เมื่อนำหมอผีมาไล่ก็ออกไปทุกครั้ง ส่วนใหญ่มักจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทั่วไปมากกว่า ถ้ามีสาเหตุแทรกซ้อนทางกายเกิดขึ้นหรือถ้าอาการทางประสาทรุนแรง ก็มักจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลฝ่ายจิตก็ได้ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคประสาทยังมีสติสัมปชัญญะอยู่

ส่วนคนที่ถูกผีปอบหรือผีชนิดอื่นมาเข้าอาจจะเป็นหลาย ๆ ครั้ง หรือถูกเข้าเพียงครั้งเดียวแล้วผีไม่ยอมออก จะไล่อย่างไรก็ไม่ยอมออกนั้น เมื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตอุปาทานดังได้กล่าวมาแล้วนั้น การรักษาก็จะต้องดำเนินไปตามโรคต่าง ๆ ที่เป็นอยู่เพราะผีเข้านั้นเป็นกลุ่มอาการของโรค ซึ่งแทรกอยู่ในเรื่องความคิดของแต่ละโรคเช่น โรคจิตเภท โรคจิตอารมณ์สุข-เศร้า โรคจิตแพ้พิษสารต่าง ๆ รวมทั้งโรคจิตที่เกิดจากอุบัติเหตุด้วย จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า ส่วนใหญ่มักจะมีบุคลิกภาพเป็นแบบอุปาทานแต่ก็ไม่ใช่ทุกรายไป ดังนั้นยาที่ให้มักจะให้ขนาดต่ำกว่าการรักษาโรคจิตอย่างอื่น ๆ เช่น ยาสงบประสาทหรือยาแก้เศร้าก็ตาม พวกนี้อาการทางจิต จะหายไปเร็วประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวและตอบคำถามต่าง ๆ ได้ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงและงง ๆ มักจะกลัวผีปอบหรือผีอื่น ๆ มาเข้าอีก ในระยะนี้การรักษาโดยใช้จิตบำบัดแบบประคับประคองมีความสำคัญมาก จากประสบการณ์พบว่าตอนแรก ๆ ผู้ป่วยมักจะโยนความผิดไปให้ผีแทบทั้งนั้น ความผิดนี้หมายถึงเหตุของความเจ็บป่วยหรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของผีทำ หรือผีมีอิทธิพลต่อตัวผู้ป่วยเอง มาถึงตอนนี้ผู้รักษาจะต้องให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องผีและความเป็นมาของผีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาจจะเป็น 2-3 ครั้ง ซึ่งครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ที่เล่าโดยที่ผู้รักษาจะต้องตั้งใจฟังและมีความเข้าใจเรื่องผีตามสมควร เนื่องจากเรื่องความเชื่อเรื่องผีนี้ ฝังลึกอยู่ภายใต้จิตไร้สำนึก ก่อให้เกิดมีผีเข้าผู้ป่วยหรือผีมีอิทธิพลต่อผู้ป่วย ซึ่งการเจ็บป่วยเช่นนี้สังคมยอมรับ และผู้ป่วยก็ไม่อับอายเมื่อคิดว่าผีเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย ดังนั้นเมื่อพูดกับผู้รักษาบ่อย ๆ เข้า และผู้รักษาไม่ขัดแย้ง จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจกลไกของการเจ็บป่วยเกิดขึ้น และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสัญญลักษณ์นี้คือ ตัวปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเจ็บป่วยขึ้นอันต่อเนื่องทำให้เกิดผีเข้า ถ้าผู้ป่วยเข้าใจแบบนี้เป็นขั้นตอนในการรักษา อาการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ยังมีผู้ป่วยบางคนเกิดกลัวว่าจะมีผีมาเข้าอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้วญาติมักจะพาไปหาหมอผีอีก เพื่อทำพิธีกันหรือป้องกันให้อีกด้วย

ผีปอบหรือผีชนิดอื่นเข้า ในปัจจุบันนี้ทางหมู่บ้านต่าง ๆ ในประเทศไทยก็ยังมีอยู่อาจจะเข้าแบบเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่หรือเข้าเฉพาะตัว ดังจะเห็นได้จากหนังสือรายวันได้ลงข่าวอยู่เสมอ ๆ เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดมีข่าวว่ามีกลุ่มอาการอุปาทานระบาดขึ้นที่บ้านหนองโอ่งซึ่งดังอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากการเข้าทรงทราบว่า มีผีนางตะเคียนอยู่บนหลังคาโรงเรียนและมีนางไม้สิงอยู่ เสาไม้ต้นตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือและบ้างก็ว่าเจ้าที่แรง (รายงานของ นายแพทย์ธนู ชาติธนานนท์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2528 และทางโรงเรียนก็ได้จัดการทำพิธีเรียบร้อยแล้ว)

เมื่อข้าพเจ้าออกตรวจคนไข้นอกของโรงพยาบาล ก็พบอยู่ทุก ๆ วันเป็นประจำสำหรับเรื่องผีนี้ถ้าเขาไม่สนใจจะไถ่ถามญาติผู้ป่วยหรือตัวผู้ป่วยเองก็จะไม่ปริปากพูดเพราะส่วนใหญ่จะคิดว่า แพทย์คงจะไม่เชื่อ เพราะเป็นสมัยวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าหากว่าแพทย์มีความสนใจแล้ว เขาก็ยินดีเล่าให้ฟังอย่างเต็มอกเต็มใจเลยทีเดียว เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าเคยคุยกับจิตแพทย์อเมริกันเรื่องผีเข้า ได้ความว่าในปัจจุบันนี้เรื่องผีเข้าจะลดลงไปบ้าง เพราะความเจริญทางเทคโนโลยีมากขึ้น ถึงอย่างไรก็ตามเรื่องผีเข้าก็เป็นของดีในทัศนะของผู้เขียน เพราะเรื่องผีเข้าเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นโดยโทษไปที่ผี เมื่อผีออกไปแล้วทุกอย่างก็เรียบร้อยกลับเข้าสู่สังคมได้เรียบร้อย แต่ถ้าบอกว่าเป็นโรคจิต (วิกลจริต) แล้วสังคมไม่ค่อยยอมรับจะทำอะไรก็ต้องคอยจับตามองอยู่เรื่อย ๆ ไป อนึ่งการถูกผีเข้าหรือป่วยเจ็บเพราะถูกผียังดีกว่าชาวบ้านจะไปติดยาเสพติดซึ่งรักษาได้ไม่ง่ายนัก

ได้มีหลายคนชอบถามข้าพเจ้าว่า ฝรั่งเชื่อเรื่องผีเข้าหรือไม่ อันนี้ตอบยากเพราะขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคน ฝรั่งสนใจเรื่องผีนี้มีอยู่หลายประเภท บางประเภทก็จะพิสูจน์ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก แต่ประเภทที่ศึกษาว่าทำไมคนจึงเชื่อว่าผีเข้าได้นั้นมีอยู่มาก เพราะประการหลังนี้จะเชื่อมโยงไปสู่ความเชื่อถือของคนที่สืบต่อกันมาอันจะนำไปใช้ในการปกครองทางสังคมวิทยา จิตวิทยา มนุษยวิทยา และนำไปใช้ในการแพทย์เช่น เรื่องของจิตเวชศาสตร์และสุภาพจิต เรื่องเกี่ยวกับผีปอบนี้ข้าพเจ้าเคยไปพูดให้ฝรั่งฟังถึง 4 ครั้งด้วยกัน อเมริกา 2 ครั้ง ฮ่องกง 1 ครั้ง ออสเตรเลีย 1 ครั้ง มีผู้สนใจไต่ถามมากแต่ไม่เคยมีใครถามว่าเป็นจริงหรือไม่ นอกจากจะถามว่า ทำไมคนจึงมีความเชื่อเช่นนี้ และจะนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชได้อย่างไร

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543;45(4):301-310.

* จาก สงัน สุวรรณเลิศ. ผีปอบ, ผีเข้าในทรรศนะทางจิตเวชศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: บพิธการพิมพ์, 2529:247-67.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us