เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


passo.jpg (6405 bytes)

บรรณาธิการแถลง

มาโนช หล่อตระกูล

บทบรรณาธิการฉบับนี้ ได้แก่เรื่อง ผีปอบ ผีเข้าในทรรศนะของจิตแพทย์ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สงัน สุวรรณเลิศ อดีตบรรณาธิการวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2 สมัย ในปี พ.ศ.2511-2512 และ พ.ศ.2517-2518 ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ท่านได้กรุณาอนุญาตให้นำมาลงตีพิมพ์ในวารสารฯ ฉบับนี้

ศาสตราจารย์นายแพทย์สงัน สุวรรณเลิศ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เข้าสู่วงการจิตแพทย์โดยรับการอบรมวิชาโรคจิตและโรคประสาทจากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในรุ่นเดียวกันกับอาจารย์อาวุโสของพวกเราหลายๆ ท่าน รวมทั้งนายแพทย์บุญสวย เชิดเกียรติกุล อดีตบรรณาธิการของวารสารฯ เราอีกท่านหนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วในวารสารสมาคมปีที่ 45 ฉบับที่ 2

หลังจากนั้นท่านได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา เพื่อศึกษาวิชาจิตเวชศาสตร์ จนได้รับวุฒิบัตร D. Psych ทางจิตเวชศาสตร์ ในแง่คุณวุฒิทางวิชาการท่านยังสอบได้รับวุฒิบัตร MRANZCP ของราชวิทยาลัยจิตเวชศาสตร์แห่งประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากนั้นได้รับเกียรติบัตรชั้นสูง FRANZP จากราชวิทยาลัยจิตเวชศาสตร์แห่งประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ หลังจบการศึกษาท่านได้ปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และเป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา

ผลงานทางวิชาการที่โดดเด่นของท่านมีจุดเริ่มต้นจากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจคนไข้ในภาคอีสานอันเป็นแดนเกิดของท่านในปี พ.ศ.2510 การได้สัมผัสกับผู้ป่วยตามหมู่บ้านต่างๆ ในชนบท ทำให้ท่านได้พบสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านมักพูดถึงกันคือ การถูกผีเข้า โดยเฉพาะผีปอบ ท่านได้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการหาข้อมูลเรื่องผีปอบโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ถูกผีเข้า พระ หมอผี ตลอดจนข้าราชการในละแวกนั้น และอีกหนึ่งปีเศษต่อมาท่านก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ที่เป็นตัวผีปอบ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ปกติผู้ที่เป็นผีปอบจะไม่แสดงตัวเพราะมักถูกชาวบ้านประชาทัณฑ์ ทั้งนี้เป็นเพราะครั้งนี้ท่านได้ไปปฏิบัติงานที่อำเภอนครพนม ซึ่งมีพระธาตุนครพนมอันเป็นสิ่งศักสิทธิ์ที่ผู้เป็นผีปอบมักมารักษาตัว

การรายงานผลการศึกษาครั้งนี้ ตลอดจนการศึกษาเรื่องของผีปอบ ผีเข้าในเวลาต่อมาของศาสตราจารย์นายแพทย์สงัน สุวรรณเลิศ ทำให้ท่านได้รับทุนจากรัฐบาลอเมริกันให้ไปทำการค้นคว้าวิจัยต่อในเรื่องเดียวกันที่ศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก มหาวิทยาลัยฮาวายถึง 3 ครั้ง และได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสพิเศษของสถาบันสังคมศาสตร์ ศูนย์ตะวันออก-ตะวันตกและเป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยฮาวายในระหว่าง พ.ศ.2513-2515

นอกจากเรื่องผีปอบ ผีเข้า ท่านยังได้เขียนผลงานเกี่ยวกับภาวะทางจิตเวชที่พบเฉพาะวัฒนธรรมไว้มากมาย เช่น กลุ่มอาการบ้าจี้ กลุ่มอาการอวัยวะหด (โคโร) ภาวะภวังค์ ผีเข้าแบบเป็นกลุ่ม หมอลำผีฟ้า เฒ่าจ้ำ สวดภาณยักษ์ใหญ่ และโรคอุปาทาน เป็นต้น เรียกได้ว่าอะไรที่มีในเมืองไทย ท่านล้วนแต่ได้ศึกษามาแล้วแทบทั้งสิ้น ผลงานของท่านได้รับการอ้างถึงในหนังสือเกี่ยวกับจิตเวชศาสตร์วัฒนธรรมของต่างประเทศหลายต่อหลายเล่ม นับเป็นโชคดีของจิตแพทย์ไทยรุ่นหลังๆ เพราะเรื่องแบบนี้พบได้ไม่น้อยในบ้านเรา และไม่มีในตำราจิตเวชทางตะวันตกที่มักใช้เป็นหลักในการศึกษาของจิตแพทย์

จากผลงานต่างๆ ของท่าน อันได้แก่บทความและงานวิจัยภาษาอังกฤษประมาณ 50 เรื่อง บทความและงานวิจัยภาษาไทยประมาณ 100 เรื่อง ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในสาขาจิตเวชศาสตร์ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก สาขาจิตเวชศาสตร์ ตลอดจนเป็นภาคีสมาชิกของราชบัณฑิตยสถาน

ตามวัฒนธรรมตะวันตกเรามักจะแสดงความรู้คุณต่อผู้ที่บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ๆ ฝ่าความยากลำบากในช่วงของการเริ่มต้น ซึ่งมักจะพบแรงต่อต้านในช่วงแรกๆ จนประสบความสำเร็จในที่สุด ทั้งยังประโยชน์ให้กับอนุชนรุ่นหลังๆ โดยการยกย่องให้บุคคลนั้นๆ เป็นบิดาแห่งศาสตร์แขนงนั้น ๆ ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าจิตแพทย์ทุกท่านจะเห็นด้วยหากจะขอยกย่องท่านศาสตราจารย์นายแพทย์สงัน สุวรรณเลิศ ว่าเป็น "บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์วัฒนธรรมของวงการจิตเวชศาสตร์ไทย"

บรรณานุกรม

  1. สงัน สุวรรณเลิศ. หมอลำผีฟ้า : ผู้รักษาแบบพื้นบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2514; 16:325-36.
  2. สงัน สุวรรณเลิศ. โรคผีเข้า. วารสารจิตวิทยาคลินิก 2519; 7:1-7.
  3. สงัน สุวรรณเลิศ, อานันท์ สุคนธาภิรมย์, สมจิตร พิมพะนิตย์, วันชัย ไชยสิทธิ์. โรคโคโรระบาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2521; 23:1-41.
  4. สงัน สุวรรณเลิศ. การศึกษาผีเข้าแบบกลุ่มในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2528; 24:16-24.
  5. สงัน สุวรรณเลิศ, ยุพา วิสุทธิโกศล, เครือวัลย์ เชาวนจินดา, สมบัติ ตาปัญญา, วันไชย ชัยสิทธิ์. อุปาทานระบาดที่ชอนไพร. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2528; 24:483-98.
  6. สงัน สุวรรณเลิศ. ผีปอบ ผีเข้า ในทรรศนะทางจิตเวชศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: บพิตรการพิมพ์, 2529.
  7. สงัน สุวรรณเลิศ. การศึกษาบ้าจี้ในประเทศไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2531; 33:129-34.
  8. Suwanlert S. Neurotic and psychotic states attributed to Thai "Phii Pob" spirit possession. Aust N Z J Psychiatry 1976; 10:119-23.
  9. Suwanlert S. Phii Pob : spirit possession in rural Thailand. In: Lebra WP, ed. Culture-bound syndrome, ethnopsychiatry, and alternate therapies. Honolulu: The University Press of Hawaii, 1976: 68-87.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us