เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


passo.jpg (6405 bytes)

ประวัติการรักษาด้วยไฟฟ้า

The Origins of Electroconvulsive Therapy

วรวัฒน์ จันทร์พัฒนะ พ.บ.* Worrawat Chanpattana, M.D.*

Abstract

Prior to the 1930s, the prime mode of treatment for psychiatric outpatients was psychoanalysis. Little could be done for inpatients, other than provide sedation and social support. In the 1930s, four major biological treatments, all interventionist in technique, were developed: insulin coma therapy, Metrazol convulsive therapy, lobotomy, and electroconvulsive therapy (ECT), the only one of these therapies still in use today. This paper reviews all available articles focusing on the origins of electroconvulsive therapy and its evolution.

J Psychiatr Assoc Thailand 2000; 45(4): 371-380.

Key words electroconvulsive therapy (ECT), history

* Department of Psychiatry, Srinakharinwirot University, 681 Samsen, Dusit, Bangkok 10300

บทคัดย่อ

ในช่วงก่อนทศวรรษ 1930 วิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชวิธีหลักสำหรับผู้ป่วยนอกคือการรักษาด้วยการทำจิตวิเคราะห์ สำหรับผู้ป่วยในมีแต่เพียงการควบคุมผู้ป่วยให้สงบลงและให้การรักษาทางจิตและสังคม ในช่วงทศวรรษ 1930 มีการรักษาทางชีวภาพเกิดขึ้น 4 ชนิด ได้แก่ insulin coma therapy, Metrazol convulsive therapy, lobotomy, และการรักษาด้วยไฟฟ้า รายงานนี้ทบทวนวารสารที่ได้ศึกษาต้นกำเนิดของการรักษาด้วยไฟฟ้าอย่างละเอียด และวิวัฒนาการของการรักษาจนถึงปัจจุบัน

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(4):371-380.

คำสำคัญ การรักษาด้วยไฟฟ้า ประวัติ

* ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถนนสามเสน ดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300

ความรู้พื้นฐาน

การรักษาด้วยไฟฟ้าถูกคิดค้นขึ้นมาในลักษณะเดียวกันกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวชวิธีอื่นๆทั้งหมด กล่าวคือวิธีการรักษาทุกชนิดถูกคิดค้นขึ้นมาจากการใช้การสังเกตเป็นหลัก ซึ่งตามความเป็นจริงแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชวิธีใดที่ถูกคิดค้นขึ้นมาจากความเข้าใจในสาเหตุของการเกิดโรคจิตเวชชนิดนั้นๆ1

มนุษย์รู้จักการนำไฟฟ้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมานานแล้วแต่วิธีการต่างๆเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นพื้นฐานหรือมีความสัมพันธ์กับการรักษาด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันแต่อย่างใด มีบันทึกทางการแพทย์ในสมัย Hippocrates กล่าวถึงการใช้ปลาไหลไฟฟ้า, ปลา electric torpedo, หรือปลา cramp ในการรักษาอาการปวดศีรษะ ในปี ค.ศ.46 Scribonius Largus ใช้ปลา torpedo รักษาอาการปวดศีรษะของจักรพรรดิ Claudius แห่งกรุงโรม Galen (ค.ศ.129-199) แพทย์ชาวกรีกใช้ปลานี้ในการรักษาโรคเกาต์และโรคอื่นๆ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในประเทศเอธิโอเปียมีการใช้ปลา electric catfish กระตุ้นผู้ป่วยจิตเวชเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้ายต่างๆ ในปี ค.ศ.1752 Wesley ประดิษฐ์เครื่องมือ electrostatic machine รักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยการใช้เทคนิคของ hypnotic suggestion ร่วมด้วย ในปี ค.ศ.1755 LeRoy แพทย์ชาวฝรั่งเศสใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นผู้ป่วย psychic blindness และในปี ค.ศ.1814 Hill แนะนำให้ใช้ไฟฟ้าในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย electromagnetic machine ซึ่งใช้วิธีการคล้ายคลึงกับเครื่องมือของ Wesley ตำแหน่งที่กระตุ้นผู้ป่วยมักกระทำที่บริเวณมือ คอ กลางหลังในตำแหน่งของไขสันหลัง บริเวณไต หรือสะโพก15

ความรู้พื้นฐานที่นำไปสู่การค้นพบวิธีการของการรักษาด้วยไฟฟ้าที่แท้จริงเกิดมาจากความเชื่อ 2 ประการ ความเชื่อประการแรกคือ ภาวะรุนแรงทางกายต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอาจทำให้อาการทางจิตทุเลาลงได้ ความเชื่อนี้เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากการสังเกตกลุ่มทหารในกองทัพรัสเซียที่ป่วยด้วยโรคจิตและโรคอื่นๆเช่นซิฟิลิส พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการทุเลาลงภายหลังการติดเชื้อจากโรคไข้รากสาดใหญ่ ความเชื่อนี้ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นพื้นฐานสำคัญของการทดลองให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การทำให้ผู้ป่วยมีไข้ (fever therapy) การทำให้ผู้ป่วยชัก (convulsive therapy) และการผ่าตัดสมอง (psychosurgery) เป็นต้น ความเชื่อประการที่สอง ได้แก่ โรคจิตเวชทุกชนิดเกิดมาจากความผิดปกติของสมอง มีแพทย์และนักวิจัยจำนวนมากทำการศึกษาและรายงานความสัมพันธ์ระหว่างอาการผิดปกติทางจิตกับพยาธิสภาพที่ส่วนต่างๆของสมอง ได้แก่ Westphal, Wernicke, Meynert และ Alzheimer เป็นต้น6-8

Fever therapy

จากความเชื่อดังกล่าว Julius Wagner von Jauregg ได้พยายามทดลองทำให้ผู้ป่วยมีไข้ด้วยสารต่างๆหลายชนิด มีสารบางชนิดทำให้เกิดผลที่น่าพึงพอใจ ได้แก่ ทูเบอร์คูลิน และ วัคซีนไข้ไทฟัส เขาต้องการปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก ในปี ค.ศ.1917 เขาได้เลือกใช้เชื้อมาเลเรียชนิด plasmodium vivax ฉีดเข้ากล้ามของผู้ป่วย general paresis 9 ราย หลังเกิดภาวะติดเชื้อ 2-3 วัน ผู้ป่วยได้รับยาควินินเพื่อกำจัดเชื้อมาเลเรีย ภาวะติดเชื้อเช่นนี้ถูกทำให้เกิดขึ้นรวม 10-12 ครั้ง พบว่าผู้ป่วย 3 คนอาการทุเลาลงจนกลับไปทำงานได้ อีก 3 คนอาการทุเลาลงช่วงสั้นๆ และผู้ป่วยอีก 3 คนอาการไม่ดีขึ้น ผลการศึกษานี้ทำให้ fever therapy ได้รับความนิยมใช้รักษาผู้ป่วย neurosyphilis กันอย่างแพร่หลาย และ Wagner von Jauregg ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ.1927

Fever therapy เป็นการรักษาทางชีวภาพที่สำคัญในยุคนั้นที่ใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการทางจิตได้ นอกจากนี้ผลงานของ Wagner von Jauregg ยังเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของการคิดค้นการรักษาทางชีวภาพวิธีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ได้แก่ prolonged sleep treatment (Klaesi, 1922), insulin coma (Sakel, 1933), convulsive therapy (Meduna, 1934), leucotomy (Moniz, 1935), และการรักษาด้วยไฟฟ้า (Cerletti & Bini,1938)1,3,6-9

Prolonged sleep treatment

Klaesi จิตแพทย์ชาวสวิส (1922) ให้ผู้ป่วยโรคจิตกินบาร์บิทูเรทติดต่อกันไปเพื่อให้นอนหลับประมาณวันละ 20 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันราว 3 สัปดาห์ พบว่าทำให้อาการโรคจิตทุเลาลงในผู้ป่วยบางราย แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือโรคปอดบวม4-6

Insulin coma therapy

Manfred Joshua Sakel จิตแพทย์ออสเตรียนรายงานการรักษาผู้ป่วยจิตเภทด้วย insulin coma therapy ในที่ประชุมสมาคมแพทย์แห่งกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1933 เขารวบรวมผลการศึกษาที่ได้กระทำในช่วงปี ค.ศ.1927-1933 และได้สรุปว่า การให้อินสุลินเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเภทเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งมักมีอาการโคม่าหรืออาจมีอาการชักร่วมด้วย ทำให้พฤติกรรมผู้ป่วยดีขึ้นได้นานพอควร10 การรักษาวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในช่วงนั้น แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ อันตรายของวิธีการ ประสิทธิภาพของการรักษาที่ไม่แน่นอน ความต้องการผู้ดูแลเฝ้าผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และมีวิธีการรักษาอื่นๆที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ทำให้การรักษาวิธีนี้ได้ถูกเลิกใช้ไปในปีค.ศ. 19606

Convulsive therapy

Ladislas Joseph von Meduna จิตแพทย์ฮังกาเรียนเป็นผู้คิดค้นวิธีการรักษานี้ใน

ปี ค.ศ.193411 Meduna เริ่มต้นศึกษาประสาทพยาธิวิทยาของผู้ป่วยจิตเภทและเขาได้สังเกตพบลักษณะ glial hyperplasia อย่างมากในผู้ป่วยโรคลมชัก ขณะที่มักพบลักษณะตรงข้ามกันคือ glial hypoplasia ในผู้ป่วยจิตเภท ทำให้เขาตั้งสมมุติฐานว่ามีภาวะที่ตรงข้ามกัน (antagonism) ของ glia cells ของผู้ป่วยโรคลมชักกับผู้ป่วยจิตเภท การศึกษาของ Nyiro และ Jablonsky (1929) ก็มีบทบาทสำคัญต่อความคิดของ Meduna กล่าวคือ Nyiro และ Jablonsky เชื่อว่ามี biological antagonism กันระหว่างผู้ป่วยจิตเภทกับผู้ป่วยโรคลมชัก และได้ทดลองฉีดเลือดของผู้ป่วยจิตเภทเข้าสู่ผู้ป่วยโรคลมชักเพื่อรักษาอาการโรคลมชัก ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่การศึกษานี้กลับทำให้ Meduna เกิดความเชื่อว่าน่าจะมี biological antagonism กันระหว่างกระบวนการที่ทำให้เกิดการชักกับกระบวนการที่ทำให้เกิดโรคจิตเภท กล่าวคือ การชักทำให้อาการโรคจิตของผู้ป่วยจิตเภททุเลาลง1,3,5,6,12,13

Meduna ได้พยายามค้นหายาที่กระตุ้นให้เกิดอาการชักที่สามารถใช้ในคนได้อย่างปลอดภัย เขาได้เลือกใช้การฉีดการบูรผสมในน้ำมันเข้ากล้ามสัตว์ทดลองซึ่งได้ผลดี เขาได้ให้การรักษาครั้งแรกในผู้ป่วยจิตเภทเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1934 และอีก 1 ปีต่อมาได้รายงานผลการรักษาผู้ป่วยรวม 26 ราย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยจิตเภท 13 รายอาการทุเลาลงหรือดีขึ้นมาก11 ในปี ค.ศ.1936 เขาได้เปลี่ยนมาใช้ pentylenetetrazol (Metrazol, Cardiazol) แทนการบูรเนื่องจากออกฤทธิ์ได้ดีกว่า และควบคุมขนาดยาได้ ในปี ค.ศ.1976 สมาคมการรักษาด้วยไฟฟ้านานาชาติ (Association for Convulsive Therapy) นับการศึกษาของ Meduna เป็นต้นกำเนิดของการรักษาด้วยไฟฟ้า7

ในบันทึกทางการแพทย์พบว่ามีการใช้การบูรทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก เพื่อรักษาอาการโรคจิตมานานแล้วโดยที่ Meduna ไม่ได้ทราบมาก่อน14 ได้แก่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 Paracelsus แพทย์ชาวสวิสให้ผู้ป่วยโรคจิตกินการบูรจนเกิดการชักเพื่อรักษาอาการโรคจิต ในปี ค.ศ.1764 Auenbrugger ให้ผู้ป่วย ‘mania vivorum’ กินการบูรทุก 2 ชั่วโมง จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้น15 ในปี ค.ศ.1785 Oliver รายงานการรักษาผู้ป่วยแมเนียที่อาการสงบลงหลังการชักที่เกิดขึ้นจากการให้กินการบูร 20 เกรนเพียงครั้งเดียว ในปี ค.ศ.1798 Weickhardt รายงานการรักษาผู้ป่วยแมเนียด้วยการให้กินการบูรกระตุ้นให้เกิดการชัก พบว่าผู้ป่วย 8 ใน 10 รายอาการสงบลง5,16 และ Burrows (1828) แนะนำให้ใช้การบูรในปริมาณมากพอที่ทำให้ผู้ป่วยชัก

Psychosurgery

ในปี ค.ศ.1935 Egas Moniz ศัลยแพทย์ชาวโปรตุเกสรายงานเทคนิคการผ่าตัดสมอง prefrontal lobotomy เพื่อรักษาผู้ป่วยจิตเภทและผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ โดยได้ดัดแปลงจากวิธีการของ Burckhardt (1888) จิตแพทย์ชาวสวิส พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับผลดีจาก leucotomy มักมีลักษณะทางคลินิกหลายอย่างคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อ convulsive therapy17 วิธีการรักษาของเขาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และ Moniz ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ.19495,6

การรักษาด้วยไฟฟ้า

Ugo Cerletti แพทย์ประสาทพยาธิวิทยา และ Lucio Bini จิตแพทย์อิตาเลียนได้ศึกษางานของ Wagner von Jauregg, Klaesi, Sakel, และ Meduna อย่างมาก เขาต้องการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นผู้ป่วยให้เกิดการชักแทนการใช้ pentylenetetrazol เนื่องจากต้องการให้การกระตุ้นทำได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ และต้องการหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงของ pentylenetetrazol ซึ่งมีมากมาย เขาได้เริ่มให้การรักษาด้วยไฟฟ้าครั้งแรกในเดือนเมษายน ค.ศ.1938 ในผู้ป่วยจิตเภท1,5,6

ได้มีผู้เริ่มทำการทดลองใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสัตว์ทดลองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1870 ต่อมา

ในปี ค.ศ.1898 Leduc สังเกตพบภาวะ ‘การยับยั้งการทำงานของสมอง’ (cerebral inhibition) ในสุนัข Zimmern และ Dimier (1903) ได้ค้นพบต่อมาว่าภาวะนี้คือการชัก Battelli (1903) ประสบความสำเร็จในการใช้ไฟฟ้า 120 volts กระตุ้นให้สุนัขชัก โดยเขาวางอีเลคโทรดไว้ในปากสุนัขกับที่ด้านหลังของต้นคอ5,18

Bini พร้อมทั้งผู้ช่วยอีก 3 คน คือ Lothar Kalinowsky, Ferdinando Accornero, และ Mario Felici ได้เริ่มต้นทำการศึกษาเพื่อหาเทคนิคที่ปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นผู้ป่วยตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.1936 ในช่วงแรกของการศึกษาพบว่าการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นทำให้สุนัขมีการชักเกิดขึ้นแต่ก็ทำให้สุนัขตายไปราวครึ่งหนึ่ง Bini ได้ลงความเห็นว่าสุนัขตายจากกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านหัวใจเนื่องจากการวางอีเลคโทรดไว้ในปากสุนัขกับที่ rectum เขาเชื่อว่าต้องวางอีเลคโทรดไว้ที่บริเวณศีรษะเท่านั้นจึงจะมีความปลอดภัย Bini จึงได้ทดสอบตำแหน่งของการวางอีเลคโทรดหลายตำแหน่งและพบว่าการวางที่บริเวณขมับทั้ง 2 ข้างมีความเหมาะสมมากที่สุดและไม่ทำให้สุนัขตายอีกเลย ต่อมา Bini และผู้ร่วมงานได้ไปสังเกตการณ์ที่โรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในกรุงโรมเพื่อดูวิธีการฆ่าสุกรของสถานที่นั้น ซึ่งใช้ไฟฟ้ากระตุ้นให้มึนงงก่อนทำให้ไม่กลัวและไม่ร้องส่งเสียงดัง แล้วค่อยทำการฆ่าสุกรภายหลัง เขาได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสุกรให้เกิดการชัก เขายังได้ทดลองหาระยะเวลาของการกระตุ้นที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดการชัก (ไม่ถึง 1 วินาที) และระยะเวลานานที่สุดที่ทำให้สุกรตาย (ราว 60-150 วินาที) ซึ่งเห็นได้ว่ามีช่วงปลอดภัยของระยะเวลาการกระตุ้นที่กว้างมาก และยังพบต่อไปว่าปริมาณไฟฟ้า (voltage) ก่อให้เกิดอันตรายได้น้อยกว่าระยะเวลาที่ใช้กระตุ้นมาก การทดลองได้ถูกกระทำซ้ำๆกันหลายครั้งจนได้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนและถูกต้อง ในช่วงระหว่างนี้ Bini ได้ปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ให้เหมาะสมมากขึ้น ให้ปรับกระแสไฟฟ้าได้ทั้งปริมาณ (80-110 โวลท์) และระยะเวลาที่ใช้ (เศษส่วนของวินาที) ปัญหาสำคัญในขณะนั้นมี 2 ประการ คือ การรักษาด้วยไฟฟ้าในคนมีความปลอดภัยหรือไม่ และการรักษามีประสิทธิภาพเพียงใด1,9,12,16,18,19

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยไฟฟ้ารายแรกถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลช่วงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ.1938 ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้ มีความผิดปกติอย่างมากในการพูด มีภาษาพูดที่ไม่มีผู้ใดเข้าใจ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง และไม่สนใจการดูแลตนเอง ภายหลังการสังเกตอาการจนแน่ใจในการวินิจฉัยโรคและได้รับการตรวจที่เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยถูกเลือกให้รับการรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาครั้งแรกได้กระทำขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน ค.ศ.1938 อีเลคโทรดซึ่งถูกพันไว้ด้วยผ้าที่เปียกชุ่มด้วยน้ำเกลือได้ถูกวางที่บริเวณขมับทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย การกระตุ้นครั้งแรกใช้ไฟ 80 โวลท์ 0.1 วินาที ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเล็กน้อยเท่านั้น การกระตุ้นครั้งที่ 2 ใช้ไฟ 90 โวลท์ 0.1 วินาที ผู้ป่วยมีอาการเกร็งชัดเจนแต่ยังไม่มีการชักเกิดขึ้น การกระตุ้นครั้งที่ 3 ด้วยไฟ 110 โวลท์ 0.2 วินาที ทำให้ผู้ป่วยมีการชักเกิดขึ้นนานราว 40 วินาที ภายหลังการรักษาครั้งแรกอาการของผู้ป่วยดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยไฟฟ้ารวม 11 ครั้ง จนอาการต่างๆหายไปทั้งหมด จึงได้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยกลับไปเริ่มทำงานได้ และได้ประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติมในภายหลังว่าอาการเช่นนี้ได้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 6 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ป่วยตอบสนองดีต่อการกระตุ้นให้ชักด้วย pentylenetetrazol รวม 8 ครั้ง ทำให้อาการโรคจิตสงบลง จึงอาจกล่าวได้ว่าการรักษาด้วยไฟฟ้าได้ใช้ในคนเป็นครั้งแรกอย่างปลอดภัยและประสบความสำเร็จอย่างมาก กล่าวคือทำให้อาการโรคจิตของผู้ป่วยจิตเภทสงบลงได้1,3,5-7,9,12,16,18,20,21

วิวัฒนาการของการรักษาด้วยไฟฟ้า

หลังจากการรักษาด้วยไฟฟ้าครั้งแรกประสบความสำเร็จ ก็เป็นช่วงเวลาที่ยุโรปเริ่มเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้จิตแพทย์จำนวนมากอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ Lothar Kalinowsky จิตแพทย์เยอรมันได้นำเครื่องมือไปสาธิตวิธีการรักษาที่ ลอนดอน ปารีส และอัมสเตอร์ดัม ต่อมาเขาก็ได้อพยพไปอยู่เมืองนิวยอร์ค วันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1940 Victor Gonda จิตแพทย์ฮังกาเรียนได้ใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในเมืองชิคาโก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปีนั้น Renato Almansi จิตแพทย์อิตาเลียนและ David Impastato เริ่มใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าที่โรงพยาบาล Columbus เมืองนิวยอร์ค ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน Douglas Goldman ทำการสาธิตวิธีใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันที่เมืองซินซินนาติ และในเดือนกันยายนปีนั้น Kalinowsky ได้สร้างเครื่องมือใช้รักษาผู้ป่วยที่ New York State Psychiatric Institute จากนั้นการรักษาด้วยไฟฟ้าจึงได้รับความนิยมใช้รักษาผู้ป่วยจิตเภททั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว1,9,16,22 มีผู้ทดลองใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วย depressive psychosis23-25, involutional และ endogenous depression23,26-31, และ mania23,24,32 ซึ่งพบว่ายิ่งได้ผลการรักษาดีมากไปกว่าในผู้ป่วยจิตเภท จึงส่งผลให้จิตแพทย์ได้ทดลองใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค และทุกกลุ่มอายุ ซึ่งกลับทำให้เกิดผลเสียอย่างมากในเวลาต่อมา5,6

แพทย์ผู้ให้การรักษาด้วยไฟฟ้าต่างก็ตระหนักดีถึงอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาซึ่งพบได้หลายอย่าง ได้แก่ ภาวะกระดูกหักของกระดูกสันหลังและบริเวณอื่นๆ ภาวะสูญเสียความจำที่เกิดขึ้นชั่วคราว อาการสับสนที่เกิดขึ้นหลังการชัก ภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด การตายที่เกิดขึ้นภายหลังการรักษา และอาการกลัวการรักษา จึงได้มีการศึกษามากมายเกิดขึ้นเพื่อกำจัดหรือลดอาการข้างเคียงต่างๆดังกล่าว6,9

ในปี ค.ศ.1940 Arthur Bennett จิตแพทย์อเมริกันได้นำ curare ซึ่งสังเคราะห์จากยางไม้ chondodendron tomentosum ที่พวกนายพรานในอเมริกาใต้ใช้ยิงสัตว์ทำให้ไม่มีแรงวิ่งหนี มาใช้ในการรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรกเพื่อลดความรุนแรงของการชัก หลีกเลี่ยงภาวะกระดูกหัก23 แต่ก็ไม่สะดวกในการใช้และยังคงมีผู้ป่วยตายหลังการรักษาโดยไม่ทราบสาเหตุ มีผู้นำ gallamine trimethiodide มาใช้แทนแต่ก็ยังได้ผลไม่ดี ในปี ค.ศ.1951 Arnold และ Bock-Greissau จิตแพทย์ออสเตรียได้นำ succinylcholine มาใช้แทน curare ซึ่งได้ผลดีมาก และก็ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน1,6,33

เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยไฟฟ้ายังคงอยู่ในภาวะรู้ตัวตลอดจนถึงขณะที่ไฟฟ้าผ่านเข้าสู่สมอง ผู้ป่วยจำนวนมากจึงมีอาการกลัวอย่างมากและมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธหรือขอหยุดการรักษาไป ในปี ค.ศ.1945 Challiol แนะนำให้ใช้บาร์บิทูเรทชนิดออกฤทธิ์เร็วเป็นยา premedication ฉีดก่อนให้การรักษาด้วยไฟฟ้าเพื่อลดอาการกลัวและยังช่วยลดความรุนแรงของการชักได้ด้วย ซึ่งได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในปี ค.ศ.1952 Holmberg และ Thesleff ได้นำ thiopental มาใช้ร่วมกับ succinylcholine ในการให้การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า ‘modified ECT’ จึงช่วยป้องกันภาวะกระดูกหักและลดอาการกลัวของผู้ป่วยได้ ต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้ methohexital ร่วมกับ succinylcholine แทนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนระบบหัวใจและหลอดเลือด การใช้ modified ECT ได้รับความนิยมใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน การให้ออกซิเจนร่วมด้วยทั้งก่อนให้การรักษา ขณะรักษา และหลังการรักษาทำให้อัตราตายของผู้ป่วยหลังการรักษาลดลงอย่างมากในปัจจุบัน แม้เมื่อนับรวมผู้ป่วยที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคทางกายอื่นๆด้วยแล้ว อัตราตายก็ยังมีเพียง 1 ต่อ 80,000 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับอัตราตายจากการคลอดบุตร หรือการผ่าตัดเล็ก6,9,33-35

ปัญหาของการรักษาที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผู้ทำการศึกษากันมาก ได้แก่ การ พยายามลดอาการข้างเคียงของการสูญเสียความจำที่เกิดขึ้นชั่วคราวและอาการสับสนที่เกิดขึ้นหลังการรักษา ในปี ค.ศ.1942 Friedman และ Wilcox ได้ทดลองวางอีเลคโทรดทั้ง 2 แบบ แบบแรก คือการวางที่ทั้ง 2 ข้างของศีรษะ (bilateral ECT) ซึ่งเขาได้ดัดแปลงให้เป็นการวางในลักษณะเดียวกับที่ใช้กันในปัจจุบัน ที่เรียก ‘standard bifrontotemporal technique’ กับการวางอีเลคโทรดทั้ง 2 อันไว้ข้างเดียวกันที่ซีกซ้ายของศีรษะที่บริเวณ vertex กับ temporal ซึ่งเรียก ‘Friedman-Wilcox-Reiter technique’ การวางอีเลคโทรดแบบนี้เป็นต้นแบบของ ‘unilateral ECT’ ที่ใช้กันในเวลาต่อมา ซึ่งเขารายงานว่าใช้ปริมาณไฟฟ้าในการกระตุ้นผู้ป่วยน้อยกว่า bilateral ECT แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดของผลการรักษา36 ในปี ค.ศ.1949 Goldman รายงานการใช้ unilateral ECT โดยวางอีเลคโทรดไว้ที่ nondominant hemisphere ทำให้อาการสับสนและสูญเสียความจำเกิดขึ้นน้อยลง และได้สรุปว่าอาจมีประสิทธิภาพการรักษาเท่ากับ bilateral ECT37 ในปี ค.ศ.1958 Lancaster ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงของการรักษาระหว่าง unilateral และ bilateral ECT ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยได้บรรยายเทคนิคการวางอีเลคโทรดไว้ชัดเจน และได้ผลการศึกษาตรงกับความเห็นของ Goldman การศึกษาทั้ง 3 รายงานนี้นับเป็นต้นแบบสำคัญของการรักษาด้วย unilateral ECT อีกมากมายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ในปัจจุบัน unilateral ECT มีประโยชน์มากในการรักษาทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องในการทำงานของสมอง18,33,38

ความพยายามในการหาสารอื่นที่กระตุ้นผู้ป่วยให้ชักแทนการรักษาด้วยไฟฟ้ายังคงมีอยู่ต่อมา ในปี ค.ศ.1956 Krantz เภสัชกรชาวอเมริกันได้ศึกษาการนำอีเทอร์มาใช้เป็นยาสลบ เขาพบว่า hexafluorinated diethylether ทำให้ผู้ป่วยชักได้ จึงได้ผลิตออกมาใช้ชื่อการค้าว่า Indoklon พบว่ามีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยไฟฟ้าและยังช่วยลดอาการกลัวของผู้ป่วยได้มาก39 แต่เนื่องจากมีราคาแพงมาก และความไม่สะดวกในการใช้ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมใช้กันมากเท่าที่ควร บริษัทจึงเลิกผลิตในเวลาต่อมาไม่นาน1,6,9

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่มีการรักษาทางชีวภาพ วิธีใดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชได้ดีพอ การรักษาด้วยไฟฟ้าจึงได้ถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค ทุกกลุ่มอายุ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้ทำให้เกิดทัศนคติในแง่ลบอย่างมากต่อการรักษาด้วยไฟฟ้าทั้งในบรรดาจิตแพทย์ และแพทย์ทั่วไป ในปี ค.ศ.1946 และ 1947 Group for the Advancement of Psychiatry กลุ่มจิตแพทย์อเมริกันจากเมืองโทปิกา รัฐแคนซัส ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าในทางที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวและให้ข้อเสนอแนะจำนวน 11 ข้อ ซึ่งมีสาระที่สำคัญ ได้แก่ การรักษาด้วยไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงแต่การนำเอาไปใช้โดยไม่มีหลักเกณฑ์และในทางที่ผิดก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แพทย์ผู้ให้การรักษาต้องได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีและให้การรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์การรักษาพร้อม ควรทราบข้อบ่งชี้ของการรักษาและข้อจำกัดในการใช้ และควรทราบว่าโรคใดบ้างที่ตอบสนองต่อการรักษา การรักษาควรใช้ modified ECT ในผู้ป่วยทุกราย และควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากเพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องมากเพียงพอ6,9,16,33

การค้นพบยารักษาโรคจิต

ยารักษาโรคจิตขนานแรกถูกสังเคราะห์ขึ้นมาได้ในปี ค.ศ.1950 คือ chlorpromazine โดย Paul Charpentier จาก Rhone-Poulenc laboratories จากคำแนะนำของ Henri Laborit ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสและเขาเป็นคนแรกที่นำมาใช้ควบคุมอาการ agitation ของผู้ป่วยโรคจิตในโรงพยาบาลของเขา ในปี ค.ศ.1952 Delay และ Deniker จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสรายงานผลการรักษาผู้ป่วยจิตเภทด้วย chlorpromazine ต่อ Societe Medico-Psychologique เป็นครั้งแรก40 จึงทำให้ยารักษาโรคจิตได้รับความนิยมใช้รักษาผู้ป่วยจิตเภทกันอย่างแพร่หลายทั่วไป ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของยารักษาโรคจิตและยาจิตเวชชนิดอื่นๆที่ได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นใช้รักษาผู้ป่วยจิตเวช และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้การรักษาด้วยไฟฟ้าลดลงไปมากมายอย่างรวดเร็ว6

การรักษาด้วยไฟฟ้ากลับมาได้รับความนิยมใหม่

การศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาด้วยไฟฟ้ายังคงดำเนินต่อไปทั้งในยุโรปและอเมริกา Jan-Otto Ottosson จิตแพทย์ชาวสวีเดน, Lothar Kalinowsky, Arthur Bennett, William Karliner, Paul Blachly, Lelon Weaver, Richard Abrams, และ Max Fink จิตแพทย์อเมริกันนับเป็นบุคคลสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาด้วยไฟฟ้าในช่วงทศวรรษ 1960s และ 1970s นี้ ในช่วงเวลานี้เริ่มมีการศึกษามากมายรายงานถึงข้อจำกัดของประสิทธิภาพของยารักษาโรคจิตและยารักษาโรคซึมเศร้า ทำให้จิตแพทย์จำนวนหนึ่งเริ่มกลับมาทำการศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยจิตเภทและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และเป้าหมายของการทำวิจัยได้ถูกจำกัดลงไปที่การศึกษาในผู้ป่วยที่ดื้อยา6,41,42

ในปี ค.ศ.1975 สมาคมจิตแพทย์อเมริกันได้ตอบสนองต่อข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในเวชปฏิบัติของการรักษาด้วยไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยการตั้งคณะทำงานรายงานข้อบ่งชี้ของการรักษา ประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงของการรักษาด้วยไฟฟ้า โดยมี Fred Frankel เป็นหัวหน้าคณะทำงาน43 และจัดการสัมมนาระดับนานาชาติของการรักษาด้วยไฟฟ้า 2 ครั้งในปี ค.ศ.198544 และต้นปี ค.ศ.198645 หลังจากนั้นสมาคมจิตแพทย์อเมริกันได้ตั้งคณะทำงานรายงานความก้าวหน้าของการศึกษาของการรักษาด้วยไฟฟ้าอีก 2 ครั้ง โดยมี Richard Weiner เป็นหัวหน้าคณะทำงาน34,46 นับได้ว่าขณะนี้ความเข้าใจรายละเอียดสำคัญต่างๆ ของการรักษาด้วยไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

การรักษาด้วยไฟฟ้าในประเทศไทยได้เริ่มใช้กันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อรุณ ภาคสุวรรณ์ เป็นผู้นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก33 ในปัจจุบันการรักษาด้วยไฟฟ้าได้รับความนิยมใช้กันในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง ในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และในโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีจิตแพทย์ประจำอยู่ก็นิยมใช้รักษาผู้ป่วยกันทั่วไป

เอกสารอ้างอิง

1. Kalinowsky LB. History of convulsive therapy. Ann NY Acad Sci 1986; 462:1-4.

2. Abrams R. The treatment that will not die: electroconvulsive therapy. Psychiatr Clin North Am 1994; 17:525-30.

3. Abrams R. Electroconvulsive therapy. 3rd ed. Oxford: Oxford University Press, 1997:3-10.

4. Brandon S. The history of shock treatment. In: Palmer RL, ed. Electroconvulsive therapy: an appraisal. Oxford: Oxford University Press, 1981:3-10.

5. Endler NS. The origins of electroconvulsive therapy. Convulsive Ther 1988; 4:5-23.

6. Fink M. Convulsive therapy: theory and practice. New York: Raven Press, 1979:5-17.

7. Fink M. Meduna and the origins of convulsive therapy. Am J Psychiatry 1984; 141:1034-41.

8. Fink M. Electroshock: restoring the mind. Oxford: Oxford University Press, 1999:85-91.

9. Endler NS, Persad E. Electroconvulsive therapy: the myths and the realities. Toronto: Hans Huber Publishers, 1988:3-30.

10. Sakel MJ. Pharmacological treatment of schizophrenia. Nervous and mental diseases. New York: New York Publishing Company, 1938:136.

11. Meduna LJ. Versuche uber die biologische beeinflussung des abaufes der schizophrenia: camphor und cardiozolkramfe. Z Ges Neurol Psychiatr 1935; 152:235-62.

12. Accornero F. An eyewitness account of the discovery of electroshock. Convulsive Ther 1988; 4:40-9 (translate).

13. Meduna LJ. The convulsive treatment: a reappraisal. In: Marti-Ibanez F, Sackler AM, Sackler MD, Sackler RR, eds. The great physiodynamic therapies in psychiatry. New York: Hoeber-Harper, 1956:76-90.

14. Meduna LJ. Autobiography: Part 1. Convulsive Ther 1985; 1:43-57 (translate).

15. Mowbray RM. Historical aspects of electric convulsant therapy. Scott Med J 1959; 4:373-8.

16. Kalinowsky LB. The history of electroconvulsive therapy. In: Abrams R, Essman WB, eds. Electroconvulsive therapy: biological foundations and clinical applications. New York: Spectrum Publications, 1982:1-6.

17. Hemphill RE, Walter WG. The treatment of mental disorders by electrically induced convulsions. J Ment Sci 1941; 87:256-75.

18. Weiner RD. The first ECT devices. Convulsive Ther 1988; 4:50-61.

19. Impastato DJ. The story of the first electroshock treatment. Am J Psychiatry 1960; 116:1113-4.

20. Abrams R. Interview with Lothar Kalinowsky. Convulsive Ther 1988; 4:24-39.

21. Bini L. Professor Bini’s notes on the first electro-shock experiment. Convulsive Ther 1995; 11:260-2 (translate).

22. Kalinowsky LB. Electric-convulsive therapy in schizophrenia. Lancet 1939; 2:1232-3.

23. Bennett AE. Preventing traumatic complications in convulsive shock therapy by curare. JAMA 1940; 114:322-4.

24. Cerletti U. L’ Electroshock. J Exp Psychiatry 1940; 64:209-310.

25. Weigert E. Psychoanalytic notes on sleep and convulsion treatment in functional psychoses. Psychiatry 1940; 3:189-209.

26. Bennett AE. Convulsive shock therapy in involutional states after complete failure with previous estrogenic treatment. Am J Med Sci 1944; 208:170-6.

27. Hamilton DM, Ward GM. The hospital treatment of involutional psychosis. Am J Psychiatry 1948; 104:801-4.

28. Kalinowsky LB. Electric convulsive therapy, with emphasis on importance of adequate treatment. Arch Neurol Psychiatry 1943; 50:652-60.

29. Myerson A. Experience with electric-shock therapy in mental diseases. N Engl J

Med 1941; 224:1081-5.

30. Savitsky N, Tarachow S. The question of shorter courses of electroshock therapy in the depressions. J Nerv Ment Dis 1945; 101:115-20.

31. Savitsky N, Karliner W. Further studies on shorter courses of electric shock treatments. Am J Psychiatry 1947; 104:197-9.

32. Ziskind E, Somerfeld-Ziskind E, Ziskind L. Metrazol and electric convulsive therapy of the affective psychoses: controlled series of observations covering period of 5 years. Arch Neurol Psychiatry 1945; 53:212-7.

33. ชูทิตย์ ปานปรีชา, พิเชฐ อุดมรัตน์, วรลักษณา ธีราโมกข์. การรักษาด้วยไฟฟ้า: อดีตและปัจจุบัน ตอนที่ 1 ประวัติและวิวัฒนาการ. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2527; 29:225-37.

34. American Psychiatric Association Task Force Report on ECT: the practice of ECT: recommendations for treatment, training, and privileging. 2nd ed. Washington, DC: American Psychiatric Press, 2001.

35. Holmberg G, Thesleff S. Succinyl-choline-iodide as a muscular relaxant in electroshock therapy. Am J Psychiatry 1952; 108:842-6.

36. Friedman E, Wilcox PH. Electro-stimulated convulsive doses in intact humans by means of unidirectional currents. J Nerv Ment Dis 1942; 96:56-63.

37. Goldman D. Brief stimulus electric shock therapy. J Nerv Ment Dis 1949; 110:36-45.

38. Lancaster NS, Steinert RR, Frost I. Unilateral electroconvulsive therapy. J Ment Sci 1958; 104:221-7.

39. Krantz JC, Esquibel A, Truitt EG, et al. Hexafluorodiethyl ether (Indoklon)-an inhalant convulsant: its use in psychiatric treatment. JAMA 1958; 166:1555-6.

40. Marder SR. Antipsychotic medications. In: Schatzberg AF, Nemeroff CB, eds. Textbook of psychopharmacology. 2nd ed. Washington, DC: American Psychiatric Press, 1998:309-21.

41. Fink M, Sackeim HA. Convulsive therapy in schizophrenia? Schizophr Bull

1996; 22:27-39.

42. Krueger RB, Sackeim HA. Electroconvulsive therapy and schizophrenia. In: Hirsch SR, Weinberger D, eds. Schizophrenia. Oxford: Blackwell, 1995:503-45.

43. American Psychiatric Association Task Force Report on ECT: Electroconvulsive therapy. Washington, DC: American Psychiatric Association, 1978.

44. NIH. Consensus conference: electroconvulsive therapy. JAMA 1985; 254:2103-8.

45. New York Academy of Sciences. Electroconvulsive therapy: clinical and basic research issues. Ann NY Acad Sci 1986; 462:1-424.

46. American Psychiatric Association Task Force Report on ECT: the practice of ECT: recommendations for treatment, training, and privileging. Washington, DC: American Psychiatric Press, 1990.

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us