เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

บทบรรณาธิการ

pdf format

ลูกรักจงเป็นเด็กดี
สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา *

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543;45(3):215-219.

* ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “ที่ระลึก 2513-2515 สมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีในพระบรมราชูปถัมภ์”

เมื่อคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือขอให้เขียนเรื่องทำนองจิตวิทยาเด็ก ผู้เขียนก็แย้งว่าเป็นเรื่องกว้างมาก คงจะลงในเนื้อที่จำกัดเช่นนี้ไม่ได้ คุณแม่ซึ่งเป็นศิษย์เก่าหลายท่านจึงเสนอเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าอย่างนั้นเอาเรื่องทำอย่างไรลูกจึงจะเรียนดี” ทำให้ผู้เขียนสะดุดใจ เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่า คุณแม่ส่วนมากเพ่งเล็งเรื่องการเรียนเป็นปัญหาสำคัญเหนืออื่นใดในการอบรมลูก

จึงอยากขอให้คุณแม่ทั้งหลายยอมรับความเป็นจริงขั้นพื้นฐานไว้ประการหนึ่งว่า เด็กไม่สามารถเรียนดีทุกวิชาได้ทุกคนไป หรือเด็กบางคนอาจเรียนวิชาหลักไม่ได้เลยสักวิชา แต่เขามีความสามารถพิเศษ (talent) ทางดนตรี หรือ ศิลปอย่างอื่น

ฉะนั้น ถ้าลูกรักของท่านสอบตก ก็อย่าเพิ่งด่วนโกรธ, ดุว่า หรือสิ้นหวัง จงพยายามเข้าใจเขา, หยั่งความสามารถ, และหาสาเหตุด้วยอารมณ์หนักแน่นและมีเหตุผล

เขาอาจไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามที่ท่านหวังไว้ แต่เขาอาจเป็นนักเปียโนชื่อเสียงกระฉ่อนโลก

ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาที่สำคัญกว่าและเป็นหน้าที่สำคัญสุดของผู้เป็นแม่คือจะเลี้ยงลูกอย่างไรเพื่อให้เขามีความสุข เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่บุคลิกภาพสมบูรณ์ เพื่ออยู่ในสังคมอย่างที่ใครๆ ชื่นชอบและต้อนรับ ท่านอาจเคยเห็นหรือเคยทราบว่านักเรียนเหรียญทอง หรือบัณฑิตเกียรตินิยมบางคนเข้ากับใครไม่ได้เพราะมนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพที่บกพร่อง เข้าทำนอง “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” แต่ท่านก็คงเคยพบนักเรียนหลายคนที่ไม่เคยมีชื่อเสียงในการเรียนเลย ที่ออกไปทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติจนมีชื่อเสียงเช่นกัน

ท่านอยากให้ลูกเป็นบุคคลประเภทไหน ?

ถ้าอยากได้อย่างแรก ก็จงเร่งรัด, ผลักดัน และเคี่ยวเข็ญเข้าไปเถิด ถ้าอยากได้ลูกประเภทหลังก็อย่าทำเช่นนั้นเลย แต่จงหยั่งสติปัญญาความสามารถของเขาโดยปรึกษาครูประจำชั้น เพื่อทราบว่าลูกรักของท่านสนใจและมีความสามารถในวิชาใดแล้วสนับสนุนวิชานั้นๆ เป็นพิเศษ

อย่าใช้ความทะเยอทะยานของท่านแต่ฝ่ายเดียว บีบบังคับ หรือ “ปั้น” ลูกเลย เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลสมความมุ่งหวังแล้ว ยังอาจทำลายอนาคตของลูกด้วย

เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาฉลาดเท่ากัน อย่าเอาลูกของท่านไปเปรียบกับลูกของคนอื่น ซึ่งไม่ให้ผลดีเลย รังแต่จะสร้างความต่ำต้อยและน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะแม้แต่ตัวท่านเองเมื่ออยู่ในวัยเรียน ก็ยังมีเพื่อนที่ฉลาดกว่า เก่งกว่า

ฉะนั้น ถ้าลูกของท่านได้พยายามอย่างเต็มความสามารถแล้ว จงพอใจและยอมรับ

ไม่มีวิธีใดทำให้เด็กทุกคนฉลาดได้หมด แต่มีวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข, มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของสังคม (socially accepted) วิธีนั้นคือ การเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดี ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ทุกคน

คำขวัญทางสุขภาพจิตกล่าวว่า “เด็กเกเรไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่เกเร” เป็นความจริงที่สุด เพราะพ่อแม่คือผู้อบรมเลี้ยงดูลูกมาแต่เกิด สุขภาพจิตของลูกจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติ (attitude) ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สุดนับแต่เขาเกิดมา แม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นและสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (basic needs) ของเขาเพียงใด ได้ปรนนิบัติและฟูมฟักให้เขาหายหิว, หายร้อน, หายหนาว, หายกลัว, หายเจ็บปวด ฯลฯ ด้วยท่าทีเช่นไร

ในวิชาจิตเวชศาสตร์เด็ก (Child Psychiatry) จึงถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร (parent–child relationship) เป็นหัวใจของการป้องกันและรักษาความผิดปกติทางจิตเวช (psychiatric disorders)

การเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพบริบูรณ์ (well–integrated personality) ต้อง การสิ่งต่อไปนี้อย่างเพียงพอ คือ :-

1. ความรักความอบอุ่น (affection)

2.ความเข้าใจ (understanding)

3. ความมั่นคงทางใจ (security)

4. ระเบียบวินัย (discipline)

5. ความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของสังคม (achievement and social acceptance)

และผู้ที่จะให้เขาเป็นคนแรกก็คือแม่นั่นเอง

ท่านได้ให้เขาเพียงพอแล้วหรือยัง ?

ในการอบรมลูก ท่านมีความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา (consistency) หรือเปล่า ถ้าท่านเป็นคนเจ้าอารมณ์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ก็ควรพิจารณาตนเองและหาทางปรับปรุงแก้ไขเสียแต่บัดนี้เถิด เพื่อเห็นแก่สุขภาพจิตของลูก (และแน่นอนเพื่อสุขภาพจิตของสามีของท่านด้วย) เพราะความสม่ำเสมอ, ความรักความอบอุ่น, ความเป็นที่พึ่ง และความปกป้องคุ้มครองที่พอเหมาะที่ได้รับจากพ่อแม่ จะสร้างความรู้สึกมั่นคงทางใจ (security) และความเชื่อมั่นในตนเอง (self-confidence) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของบุคลิกภาพที่ดี และความสำเร็จในชีวิตของลูก

พ่อแม่ที่เข้มงวด, ดุ, ชอบตำหนิหรือลงโทษเสมอๆ ลูกจะเป็นลูกขี้กลัว, ขี้กังวล แต่ขณะเดียวกันก็เกลียดชังพ่อแม่อย่างเงียบๆ อยู่ในใจ ส่วนเด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย หรือถูกพ่อแม่ผลักดันด้วยแรงทะเยอทะยานของพ่อแม่เอง จะรู้สึกว่าโลกนี้โหดร้ายไร้ความยุติธรรม และจะมีปมด้อย (inferiority complex) เด็กทั้งสองประเภทนี้จะเสียความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น (interpersonal relationship) อาจแสดงความก้าวร้าว (aggression) หรือความไม่เป็นมิตร (hostility) ต่อบุคคลอื่นออกมาโดยตรง กลายเป็นเด็กไม่น่ารัก ไม่น่าคบ และโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมลงใครแม้แต่ผู้บังคับบัญชา หรือมิฉะนั้นก็ออกมาในรูปตรงกันข้าม กลายเป็นคนแหย, จ๋อง, ยอมคนทั่วไปหมด (submissive) ยอมให้เขาเอารัดเอาเปรียบ เพื่อใฝ่หาความรัก (seek for love) ที่ไม่รู้จักพอ ขณะเดียวกันก็ขาดความมั่นคงทางใจ และขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

พ่อแม่ที่แสดงความรักลูกไม่เท่ากัน จะทำให้เด็กเกิดความอิจฉาและแก่งแย่งชิงดีระหว่างพี่น้อง (sibling rivalry) ซึ่งอาจเกิดผลร้ายคือ อาจทำให้เด็กดื้อ, เจ้าอารมณ์, หรืออาจกลายเป็นเด็กเกเร ประพฤติชั่วได้

เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักจะเป็นคนขี้กังวล, อารมณ์หวั่นไหวง่าย, สมาธิเสื่อม, และเต็มไปด้วยความรู้สึกชิงชัง การตำหนิน้องและยกย่องพี่ เพื่อหวังให้น้องเกิดความมานะเอาชนะพี่โดยตั้งใจประพฤติให้ดีขึ้น อย่างที่หลายๆ คนชอบทำ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติอย่างยิ่ง บางทีไม่ใช่คุณแม่หรอก แต่เป็นคุณยายหรือคุณป้าที่พูดกับแขกหรือญาติต่อหน้าเด็กว่า “ยายนิดไม่เอาไหนเลย วันๆ เอาแต่เล่น หนังสือหนังหาไม่สนใจสู้ยายหน่อยไม่ได้ ขยันเหลือเกิน สอบได้ที่หนึ่งที่สองทุกเทอม”

จึงเห็นได้ว่า บุคคลอื่นในครอบครัวที่มิใช่พ่อแม่ ก็อาจมีอิทธิพลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กด้วย

ฝ่ายพ่อแม่ที่ห่วงใยลูกและตามใจลูกเกินขอบเขต วุ่นวายปรนนิบัติและคอยระมัดระวังมากเกินไป เด็กจะไม่เป็นตัวของตัวเองจะไม่รู้จักรับผิดชอบตนเองเท่าที่ควร และบุคลิกภาพไม่เจริญสมวัยหรือมีวุฒิภาวะต่ำ (immature)

เหตุการณ์ธรรมดาที่พบบ่อยๆ ในครอบครัวไทยๆ เราก็คือ เมื่อเด็กหกล้มแม้จะไม่รุนแรง คุณแม่หรือคุณยายจะแสดงท่าทางตกใจ ทิ้งงานที่กำลังทำอยู่ทันใดแล้วรีบวิ่งเข้าไปโอ๋ มิหนำซ้ำผู้ใหญ่บางท่านตบพื้นกระดานแล้วพูดว่า “นี่แน่ะ มาทำหลานยายได้ โถ…..แม่คุณ…….ขวัญมานะลูกนะ” นอกจากจะทำให้เด็กไม่เรียนรู้การรับผิดชอบตนเองและไม่รู้จักอดทนแล้ว ยังเป็นการหัดให้เด็กมีนิสัยโทษผู้อื่นหรือสิ่งอื่นด้วย ซึ่งเป็นความไม่น่ารักและไม่น่าคบอย่างยิ่ง

วิธีที่ถูกคือ ไม่ควรแสดงท่าทางตกใจหรือกระตือรือร้นจนเกินไป ไม่ต้องถึงกับทิ้งของรีบวิ่งเข้าไปโอ๋ แต่แสดงความเห็นใจด้วยท่าทีสงบ ช่วยปัดเป่าหรือหายาใส่ตามโอกาสอันควร ปลอบโยนด้วยถ้อยคำที่สมควรแก่เหตุ เช่น “เจ็บนิดหน่อยไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ทีหลังลูกระวังนะคะ”

เด็กที่ถูกพ่อแม่โอบอุ้มคุ้มครองมากเกินไป (overprotected) จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฟ่อ เป็นคนเปราะและไม่มีน้ำอดน้ำทน มีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิตประสาทได้ง่าย เพราะไม่เคยผิดหวังหรือถูกขัดใจ เปรียบเสมือนคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อนเลย ถ้าสัมผัสเชื้อโรคจะเกิดอาการรุนแรง

ความไม่สมหวังและความคับข้องใจ (frustration) ที่พอควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป จะช่วยกระตุ้นความทะเยอทะยาน และช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้แข็งแกร่ง เป็นการป้องันโรคจิตโรคประสาทอย่างดีที่สุด

สิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยสร้างบุคลิกภาพให้สมบูรณ์และสุขภาพจิตดีให้แก่เด็ก คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้าพ่อแม่รักใคร่กันดี ยกย่องนับถือกัน และทั้งพ่อและแม่ต่างก็รักลูก (ดังภาพสามเหลี่ยมแห่งความรัก) เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีความสุข ถ้าแม่รักลูกแต่ทว่าจู้จี้ขี้บ่น ชอบดุว่า หรือตำหนิสามีต่อหน้าลูก หรือพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ สามเหลี่ยมนั้นก็จะขาดฐานรองรับ ลูกจะขาดความมั่นคงทางใจ แล้วความบกพร่องของบุคลิกภาพหรือความผิดปกติอื่นๆ ก็อาจตามมา

ขอย้อนไปกล่าวถึงเรื่องที่คุณแม่ทั้งหลายสนใจคือ เรื่องการเรียนของลูก ดังได้ชี้แจงแล้วว่าเด็กไม่อาจเรียนดีได้ทุกคน แต่ถ้าลูกของท่านเรียนไม่ดี ควรพิจารณาอุปสรรคต่อการเรียนของเด็กซึ่งมีมากมาย แต่พอสรุปรวมได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่ดังนี้ :-

1. สุขภาพทางกายไม่ดี

เด็กบางคนเป็นไซนัสอักเสบ, ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ, โลหิตจาง สายตาผิดปกติ หรืออาจมีโรคทางกายเรื้อรังอย่างอื่นแอบแฝงอยู่ ทำให้ขาดเรียน, เรียนไม่ทันเพื่อน หรือทำให้สมาธิในการเรียนต่ำลง จึงควรให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกติทางกายเหล่านี้เพื่อรีบรักษา

2. ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าปกติ

ส่วนมากเด็กที่ระดับเชาวน์ปัญญา (I.Q.) ต่ำมักเจริญเติบโตช้า เช่น พูดช้า, เดินช้า และเรียนรู้ช้า เรียนได้เฉพาะชั้นต้นๆ ถ้าประมาณอย่างหยาบๆ เด็กที่เชาวน์ปัญญาระดับ moron จะเรียนได้ไม่เกินชั้นประถมปีที่ 7 แต่อย่าลืมว่าเด็กที่ระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติก็อาจด้อยความสามารถเฉพาะทาง เช่น ด้อยทางภาษา หรือด้อยทางคำนวณ

ไม่ควรลืมว่า กรรมพันธุ์มีอิทธิพลต่อระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กด้วย ถ้าคุณแม่เองเคยสอบได้ที่โหล่ ก็ไม่น่าหวังให้ลูกสอบได้ที่หนึ่ง แต่ก็มิได้หมายความว่าลูกซึ่งมีแม่ที่เคยสอบได้ที่โหล่จะต้องสอบได้ที่โหล่เสมอไป

ในแง่สิ่งแวดล้อม ได้มีการศึกษาในต่างประเทศปรากฏว่า เด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาสูง และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเสริมประสบการณ์ จะฉลาดกว่าเด็กพวกตรงกันข้ามไม่มากก็น้อย จึงควรสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาของลูกโดยวิธีต่อไปนี้คือ :-

2.1 จัดหาอุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวกในการศึกษาตามควรแก่ฐานะของพ่อแม่ เช่น จัดหาโต๊ะ, เก้าอี้, โคมไฟ, ตู้, หรือชั้นสำหรับเก็บหนังสือ, เครื่องเล่นเพื่อการศึกษา (educational toys) ฯลฯ จัดหาหนังสือที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินนอกจากตำราเรียนให้ เพื่อช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และการใฝ่หาความรู้

2.2 พาไปทัศนาจรสถานที่ต่างๆ และร่วมงานสังคมตามโอกาสและวัยอันสมควรสำหรับเด็ก เพื่อเพิ่มพูนความรู้รอบตัว, ประสบการณ์, และเพื่อฝึกการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เมื่อพาไปสวนสัตว์ก็มิใช่สักแต่ว่าเดินดูทั่วแล้วก็กลับ ควรถือโอกาสสอดแทรกความรู้เรื่องสัตว์ต่างๆ และปลูกฝังความรักความเมตตาสัตว์ไปในตัว เมื่อพาไปทะเลก็อาจแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรักธรรมชาติ โดยไม่ทำให้เด็กเบื่อหน่ายเหมือนเรียนวิทยาศาสตร์หรือภูมิศาสตร์อย่างจริงจังในชั้นเรียนเลย เช่น คุณพ่ออาจให้ลูกลองชิมน้ำทะเลว่ามีรสอย่างไร เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น, ของที่ลอยในน้ำจืดไม่ได้อาจลอยในน้ำทะเลได้เพราะอะไร, หรืออาจสอนเรื่องลมบกลมทะเล, ชี้ชมและแทรกความรู้เรื่องสัตว์ทะเล, พืชทะเล ฯลฯ

2.3 แสดงความสนใจ แต่ไม่แสดงความกังวลในการเรียนของลูก ให้กำลังใจ และเป็นที่พึ่งอย่างอบอุ่นเมื่อเขาต้องการ แต่มิใช่ช่วยทำการบ้านแทนลูก เมื่อเขาเรียนดีก็ยกย่องชมเชยหรือให้รางวัลตามสมควร แต่เมื่อเขาพลาด ก็ควรปรึกษากันหาสาเหตุและหาช่องทางแก้ไข

3. มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ

เด็กบางคนจิตใจได้รับความกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมในครอบครัวหรือที่โรงเรียน เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ, แสดงความไม่ลงรอยต่อหน้าลูก พ่อแม่เคี่ยวเข็ญเรื่องการเรียนมากไป เมื่อเรียนไม่ได้ดีเท่าที่พ่อแม่ตั้งความหวังไว้ก็ถูกพ่อแม่ดุ, เกรี้ยวกราด หรือตำหนิอย่างออกนอกหน้า หรือบางรายถูกพ่อแม่ผลักดันเพื่อให้เก่งหลายๆ ด้าน เช่น ต้องเรียนดนตรีเป็นพิเศษอย่างจริงจัง ทำให้กิจกรรมของเด็กเพิ่มมากขึ้นจนเด็กท้อถอย

เด็กอาจมีปมด้อย เพราะเสื้อผ้าเครื่องใช้ไม่เทียมหน้าเพื่อนฝูง จึงขาดความเชื่อมั่นในตนเองและรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งทำให้ขาดสมาธิในการเรียน การเลือกโรงเรียนให้ลูกจึงควรคำนึงถึงเศรษฐฐานะ และฐานะทางสังคมของพ่อแม่ด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการสร้างปมด้อยให้เด็ก

เด็กอาจไม่ชอบครูบางคน หรือถูกเพื่อนบางคนข่มขู่รังแก หรือหากเป็นระยะที่เพิ่งย้ายโรงเรียน อาจกำลังอยู่ในภาวะว้าวุ่น เพราะยังปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ไม่ได้ดีพอ

ถ้าเด็กมีอาการหงุดหงิด, เหม่อลอย, ตกใจง่าย, ปวดศีรษะบ่อยๆ, เหนื่อยง่าย, หมกมุ่น, ไม่ร่าเริง ฯลฯ ควรปรึกษาจิตแพทย์เด็ก (child psychiatrist) เพื่อหาสาเหตุและความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจเสียแต่เนิ่นๆ

มีเด็กจำนวนมากที่ระดับเชาวน์ปัญญาปกติ แต่เรียนไม่ดีเพราะมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ

ฉะนั้น อย่าเพิ่งด่วนตำหนิหรือซ้ำเติมลูกของท่าน จงพยายามหาสาเหตุทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนเสียก่อน โดยครูกับผู้ปกครองร่วมมือกัน

ขอย้ำอีกคำรบหนึ่งว่า

เราไม่อาจช่วยให้เด็กทุกคนฉลาดได้

แต่เราอาจช่วยให้เด็กทุกคนเป็นคนดี, น่ารัก, น่าคบ, เป็นที่ภูมิใจของพ่อแม่, และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้

ถ้าเราอบรมเลี้ยงดูเขาให้มีสุขภาพจิตดี

บทความนี้จึงมิใช่ “ลูกรักจงเรียนเก่ง”

แต่เป็น “ลูกรักจงเป็นเด็กดี”

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us