เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

pdf format

บรรณาธิการแถลง

ดังเคยกล่าวแล้วว่าในวาระครบรอบ 45 ปีของวารสารสมาคมฯ ผู้เขียนจะพยายามหาบทความดีๆ มาตีพิมพ์อีกครั้ง บทบรรณาธิการในวารสารฉบับนี้ทั้ง 2 เรื่อง ผู้นิพนธ์ได้แก่อาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อดีตบรรณาธิการวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

สำหรับบทความแรกผู้อ่านคงเห็นพ้องกับผู้เขียนว่าเป็นบทความที่เปี่ยมด้วยพลังเป็นอย่างยิ่ง สไตล์การเขียนมีทั้งความจริงจัง และอ่อนโยนอยู่ในที เนื้อหาแสดงถึงความเข้าใจและรู้ลึกถึงสภาวะจิตใจ ความเป็นไปในชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนความเอื้ออาทรที่ผู้นิพนธ์มีต่อผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งบอกถึงความภาคภูมิในศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพของตนเอง บทความนี้สะท้อนบุคลิกภาพของผู้นิพนธ์ในด้านวิชาชีพได้อย่างดียิ่ง

บทบรรณาธิการเรื่องที่สองกล่าวถึงแนวคิดในการเพาะบ่มอบรมให้เยาวชนของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งก็คือการเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่บ้านเราสนใจกันมากในปัจจุบันนี่เอง บทความนี้ได้เขียนเมื่อ 30 ปีก่อน และได้มีผู้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวาระต่างๆ รวมทั้งหมดถึง 102 ครั้ง ย่อมเป็นสิ่งชี้ถึงคุณค่าของบทความอย่างไม่ต้องขยายความใดๆ กันอีก

อาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการวารสารสมาคมจิตแพทย์ ในช่วง พ.ศ.2513-2516 ในวาระการเป็นบรรณาธิการของท่านนั้นได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวารสารในหลายๆ ด้านด้วยกัน เช่น การมีบทคัดย่อภาษาอังกฤษของทุกๆ เรื่องที่ลงตีพิมพ์ การมีบทบรรณาธิการ ย่อเอกสาร และจดหมายถึงบรรณาธิการ เป็นต้น เรียกว่าได้ทำให้วารสารสมาคมฯ มีรูปแบบตามที่วารสารทางวิชาการทั้งหลายพึงมี บทบรรณาธิการของท่านนั้นมีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านวรรณศิลป์ แนวคิด และข้อสังเกตต่างๆ ดังจะเห็นจากบทบรรณาธิการฉบับนี้ ซึ่งผู้เขียนได้พยายามคงให้ใกล้เคียงลักษณะเดิม ทั้งย่อหน้าและอักษรขนาดต่างๆ

อาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนาจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ.2504 โดยได้รับคะแนนรวมสูงสุด เข้าสู่วงการจิตเวชโดยเริ่มจากการเข้าอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมหลังปริญญา สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยาของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านจิตเวชที่ Kensus City General Hospital and Medical Center, Kensas City, Missouri ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นอาจารย์ก็ได้ปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามาตลอดจนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2540

ความเกี่ยวข้องกับงานด้านบรรณาธิกรของอาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนา ปรากฏมาตั้งแต่สมัยเรียน เช่น เป็นคณะบรรณาธิการหนังสือประจำปีของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คณะบรรณาธิการหนังสือประจำปีของคณะวิทยาศาสตร์ คณะบรรณาธิการ “เวชนิสิต” สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในระหว่างรับราชการความสนใจของอาจารย์มุ่งอยู่กับงานด้านวิชาการและการขีดเขียนอยู่ตลอด นอกจากการเป็นบรรณาธิการวารสารสมาคมจิตแพทย์แล้ว อาจารย์ยังเป็นบรรณาธิการวารสารกรมการแพทย์และอนามัย พ.ศ. 2516-2517 บรรณาธิการรองจดหมายเหตุทางการแพทย์ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2516-2520 บรรณาธิการตำราจิตเวชศาสตร์ของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับพ.ศ.2520 ตลอดจนเป็นคณะบรรณาธิการและที่ปรึกษาบรรณาธิการของวารสารต่างๆ อีกหลายฉบับ

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้รับเชิญให้เป็นผู้เขียนบท “จิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต” ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 10 (ฉบับแพทยศาสตร์) ในโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการบัญญัติศัพท์สาขาแพทยศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบัน

ภาพลักษณ์ที่สำคัญของอาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา คือ ความเป็น “นักวิชาการ” ที่มีคุณภาพสูง ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ล้วนแต่เป็นงานที่มีการค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ภาษาในการเขียนสละสลวย ง่ายแก่การเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ อาจารย์ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลกให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ ค.ศ.1984 ติดต่อกันมาเป็นเวลา 8 สมัย ความเป็น “จิตแพทย์” มีความภาคภูมิในวิชาชีพของตน ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ และรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ท่านแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง เห็นประโยชน์ของวงการจิตเวชเป็นที่ตั้ง ยังผลให้อาจารย์ได้รับรางวัลจิตแพทย์ดีเด่น สาขาการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่วงการจิตเวช ประจำปี พ.ศ. 2539-2540 จากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และความเป็น “ครู” ที่มีเอกลักษณ์ มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ควรแก่การเคารพนับถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ อาจารย์มีความตั้งใจในการสอนสูง ทุกครั้งที่สอนจะมีการเตรียมมาเป็นอย่างดี มีความจริงใจ ให้เกียรติ เอื้ออาทร และปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ สมกับคำที่ลูกศิษย์พร้อมใจกันยกย่องท่านเป็น “จริยาจารย์”

ในหนังสือแสงเงินแสงทองของชีวิต พระธรรมปิฎกท่านกล่าวถึง กัลยาณมิตร อันได้แก่พ่อแม่ และครูบาอาจารย์เป็นสำคัญ ไว้ว่า กัลยาณมิตรนั้นเปรียบเสมือนผู้ที่รู้ทาง เพราะเคยเดินทางนั้นมาแล้ว ทำให้สามารถไปพูดไปชี้แนะและชักนำบุคคลอื่นเข้ามาสู่ทางได้ เมื่อมีผู้ชี้แนะนำทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้บุคคลเริ่มรู้จัก เริ่มมีความเข้าใจหรือเห็นทางที่ถูกต้อง กัลยาณมิตรจึงเป็นหลักธรรมสำคัญข้อแรก เป็นเหมือนแสงเงินแสงทอง ซึ่งเมื่อฉายขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้บุคคลได้เริ่มเห็นทางที่จะเดินอย่างถูกต้อง

ผู้เขียนเชื่อว่าจิตแพทย์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านเช่นเดียวกับผู้เขียนตลอดจนผู้ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับอาจารย์ล้วนแต่เห็นคล้องกันว่า อาจารย์แพทย์หญิงสุพัฒนาเป็นกัลยาณมิตรอันประเสริฐของพวกเราเสมอมา ท่านเป็นอาจารย์ที่เป็นผู้เขียนเคารพยิ่งและเป็นแบบอย่างที่ผู้เขียนยึดถือในการปฎิบัติตนในทุกด้านที่กล่าวมา

มาโนช หล่อตระกูล

บรรณานุกรม

1.  เกษม ตันติผลาชีวะ, วรลักษณา ธีราโมกข์, ชัยฤทธิ์ กฤษณะ, ธีระ ลีลานันทกิจ. จริยาจารย์ : ชีวิตและผลงาน แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา. กรุงเทพฯ: บริษัทธัญนิจจำกัด, 2540.

2.  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต). แสงเงินแสงทองของชีวิต. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2536.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us