เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

download in pdf format

ความเครียดและรูปแบบการแก้ปัญหาของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Stress and Problem Solving Styles of the Third-Year Medical Students at Faculty of Medicine ,Siriraj Hospital

 เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา พบ.*
สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์ ปร.ด.*
มาลัย เฉลิมชัยนุกูล สค.บ*

*ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภาวะความเครียดและความสัมพันธ์ระหว่างภาวะความเครียดกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและกับรูปแบบการแก้ปัญหาของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

วิธีการศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2542 จำนวน 207 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบประเมินความเครียดสำหรับคนไทย และแบบสำรวจการแก้ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบไคสแควร์ และทดการทดสอบทีเทส

ผลการศึกษา พบว่าภาวะความเครียดของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนั้นมีดังนี้คือ ภาวะสุขภาพจิตในระดับดีมาก ปกติ มีความเครียดเล็กน้อย และมีความเครียดมากพบร้อยละ 1.93, 80.17, 10.63 และ 7.25 ตามลำดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีความสัมพันธ์กับภาวะความเครียด กล่าวคือพบภาวะความเครียดมากในนักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีผลการเรียนอ่อนมากที่สุด รองลงมาคือผู้ที่มีผลการเรียนพอใช้ ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการแก้ปัญหาและการใช้รูปแบบการแก้ปัญหา สำหรับภาวะความเครียดและวิธีการแก้ปัญหาพบว่ามีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ พบว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะสุขภาพจิตดีมากและดีรับรู้และตระหนักว่าตนมีความสามารถในการแก้ปัญหาดีกว่ากลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะความเครียดเล็กน้อยและเครียดมาก และเมื่อทำการวิเคราะห์ถึงรูปแบบของการแก้ปัญหาพบว่า นักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีภาวะความเครียดจะมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา (problem solving confidence) และการมองว่าปัญหานั้นเกิดจากปัจจัยภายในตนเอง (personal control) มากกว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะความเครียด

สรุป ความเครียดมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีความเครียด จะมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา และมองว่าปัญหานั้นเกิดจากปัจจัยภายในตนเองมากกว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะความเครียด

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(1): 59-69.

คำสำคัญ ความเครียด รูปแบบการแก้ปัญหา นักศึกษาแพทย์

Thienchai Ngamthipwattana, M.D.*
Sucheera Phattharayuttawat, Ph.D*
Malai Chalermchainukul, B.A.*

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand.

 Abstract

Objective The purposes of this research were to study the prevalence of stress, the relationship between the stress and achievement, and the stress and the problem solvings capabilities of the third-year medical students at Faculty of Medicine, Siriraj Hospital.

Method Subjects consisted of 207 third-year medical students. The Thai Stress Test and the Problem Solving Inventories were used for data collecting. Descriptive statistics, chi-square test and Independent t-test were used in this study .

Results The prevalence of medical students who have excellent mentally condition, normal mentally condition, slightly stress, and stressful were 1.93, 80.17, 10.63, and 7.25 percent consecutively.

There were no significant difference between achievement and problem-solving. However, there were significant relationship between stress level and achievement, and also significant relationship between stress level and perception of problem-solving behaviors and attitudes.

Conclusions The nonstress medical students (excellent mentally condition and normal mentally condition) have greater perceived problem-solving abilities and tend to have problem solving confidence and personal control more than the stressful medical students.

J Psychiatr Assoc Thailand 2000; 45(1): 59-69.

Key words: stress, problem solving styles, medical students

 บทนำ

ความเครียดเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ความเครียดที่เกิดขึ้นบางครั้งอาจเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งของคนเรา ทำให้รู้จักขวนขวาย กระตือรือร้น และจัดการภาวะต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้ แต่ถ้าเมื่อใดความเครียดมีระดับรุนแรงมากขึ้น เกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ย่อมมีผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ในอีกด้านหนึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ในบุคคลนั้นเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงภาวะสุขภาพจิตของบุคคลนั้น ดังที่ Boyle1 ได้กล่าวไว้ว่า คุณสมบัติประการหนึ่งของการมีสุขภาพจิตดีก็คือ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้หลุดพ้นจากความกดดันของชีวิตได้

การเรียนในโรงเรียนแพทย์เป็นการเรียนที่มีความเครียดสูง2,3 จากสถิติของหน่วยบริการให้คำปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล4 พบว่าในปีการศึกษา 2532 มีนักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปีมาใช้บริการ ส่วนใหญ่มาขอปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการปรับตัวทางด้านการเรียนมากกว่าปัญหาอื่น ๆ ลักษณะที่นำมาได้แก่ ได้คะแนนต่ำจนน่าวิตก ปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ส่งรายงาน ขาดเรียน ต้องสอบแก้ตัว หรือต้องเรียนซ้ำชั้น นอกจากนี้สุนันทา ฉันทรุจิกพงศ์ และคณะ5 ได้ทำการศึกษานักศึกษาแพทย์ที่มารับบริการให้คำปรึกษาของหน่วยบริการให้คำปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปีการศึกษา 2533 พบว่ามีนักศึกษาแพทย์ที่มาขอรับบริการจำนวน 45 ราย จากจำนวนนักศึกษาแพทย์ทั้งหมด 922 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 4.88 เรื่องที่นักศึกษามาปรึกษาสามารถจำแนกได้ 2 ประเด็นคือ ปัญหาทั่ว ๆ ไปที่เกิดจากการปรับตัวและปัญหาที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งปัญหาการปรับตัวของนักศึกษาแพทย์ที่พบมากได้แก่ ปัญหาการปรับตัวต่อการเรียน การปรับตัวกับเพื่อน ส่วนโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดคือ โรคซึมเศร้า (major depression)

การศึกษาในครั้งนี้เป็นการสำรวจความชุกของภาวะความเครียดในนักศึกษาแพทย์ศิริราช โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างจากนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นปรีคลินิกซึ่งมีเนื้อหาวิชาค่อนข้างมาก และเป็นปีสุดท้ายก่อนการขึ้นเรียนในชั้นคลินิก ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการจัดการกับปัญหา เนื่องจากปัญหาและภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น รวมถึงทักษะและความสามารถในการจัดการปัญหานั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการในช่วงหนึ่งของชีวิต (series of adaptive and developmental tasks)6 ถ้าหากนักศึกษาแพทย์เลือกใช้รูปแบบการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และเมื่อใช้แล้วสามารถแก้ปัญหาหรือลดความเครียดได้สำเร็จก็จะส่งผลให้นักศึกษาสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการออกไปประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคต วัตถุประสงค์ในการศึกษานี้ ได้แก่ เพื่อสำรวจภาวะความเครียดของนักศึกษาแพทย์ ภาวะความเครียดที่สัมพันธ์กับระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียดกับความสามารถในการแก้ปัญหา

วัสดุและวิธีการ

กลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เข้าเรียนในวิชาจิตเวชศาสตร์ 3 (SIPC 311)ช่วงต้นของภาคเรียนที่สอง ประจำปีการศึกษา 2542 จำนวน 207 คน โดยผู้ทำการศึกษาได้แจกแบบประเมินทั้งสองฉบับให้นักศึกษาในชั้นทำและเก็บคืนในช่วงต้นของชั่วโมงการสอน

เครื่องมือการวิจัย

ประกอบด้วยแบบประเมิน 2 ฉบับดังนี้

1.แบบประเมินความเครียดสำหรับคนไทยฉบับที่ 1 ซึ่งพัฒนาโดย ผศ.ดร. สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์ และคณะ โดยมีค่าความตรงเชิงโครงสร้าง (construct validity) ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 องค์ประกอบคือ positive factor และ negative factor โดยมีค่าความตรงเชิงจำแนก (discriminance analysis) ระหว่างกลุ่มผู้ที่มีและไม่มีความเครียด และมีค่าความตรงเชิงความสอดคล้องภายใน (internal reliability coefficient) แบบ

ครอนบัคแอลฟา (Cronbuch Alpha reliability) 0.84 ความเที่ยงแบบแบ่งครึ่ง (split half reliability coefficient) เป็น .82 และ .94 ในด้านความรู้สึกเชิงลบและบวกตามลำดับ ผลการวัดแปลผลได้ดังนี้คือ กลุ่มผู้ที่มีสุขภาพจิตในระดับดีมาก กลุ่มผู้ที่มีสุขภาพจิตปกติ กลุ่มผู้ที่มีความเครียดในระดับเล็กน้อย และกลุ่มผู้ที่มีความเครียดมาก ผลที่ได้บ่งถึงภาวะสุขภาพจิตในบุคคลนั้นในช่วงขณะนั้น

2. แบบสำรวจการแก้ปัญหา (Problem Solving Inventory-PSI) ของ Paul Heppner7 ซึ่งทำการแปลโดยผู้วิจัย แบบสำรวจการแก้ปัญหาฉบับนี้ได้หาค่าความตรงเชิงเนื้อหา (content validity) โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาและการวัดประเมินผล ค่าความตรงเชิงโครงสร้าง (construct validity) ความตรงเชิงอำนาจจำแนก (discriminance validity) โดยสามารถแยกระหว่างกลุ่มคนปกติและกลุ่มผู้ที่มีปัญหาการปรับตัว สำหรับค่าความเที่ยงนั้นพบว่าแบบสำรวจนี้มีค่าความเที่ยงเชิงความสอดคล้องภายใน (internal consistency) แบบแอลฟา (Alpha reliability coefficient) ระหว่าง .72 ถึง .85 ลักษณะแบบสำรวจเป็นแบบประเมินค่า (rating scale) 35 ข้อ จำนวน 6 มาตร แบ่งเป็นข้อคำถามเชิงบวก (positive items) และข้อคำถามเชิงลบ (negative items) โดยมีมาตรดังนี้ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบางส่วน ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กำหนดค่าการให้คะแนนเป็น 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ตามลำดับ ในกลุ่มข้อคำถามเชิงบวก และให้คะแนนตรงกันข้าม (convert score) ในกลุ่มข้อคำถามเชิงลบ การแปลผลนั้นคะแนนรวมที่ต่ำหมายถึงความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้คะแนนรวมสูง นอกจากนี้การแปลผลยังแยกออกเป็น 3 มาตรย่อย โดยวัดในส่วนของความมั่นใจในการแก้ปัญหา (problem solving confidence) ลักษณะการเผชิญหรือหลบเลี่ยงปัญหา (approach-avoidance style) และความเชื่อว่าที่มาของปัญหาเกิดจากตนเอง หรือปัจจัยภายนอก (personal control) โดยคะแนนในแต่ละมาตร (subscale) ที่ต่ำบ่งถึงความสามารถในส่วนนั้นมากกว่ามาตรที่ได้คะแนนสูง

การวิเคราะห์ข้อมูล

วิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างและภาวะความเครียดด้วยการแจกแจงจำนวน และร้อยละ

วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะความเครียดกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยสถิติไคว์สแควร์ (chi-square test) และทำการปรับแก้ด้วย Yate’s correction ในกรณีที่เซลมีจำนวนตัวอย่างต่ำกว่า 5 วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธ์ทางการเรียน ภาวะความเครียดกับการแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (one-way ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (mean difference) เมื่อการวิเคราะห์ ANOVA พบนัยสำคัญด้วยวิธีการเปรียบเทียบภายหลัง (post hoc comparision) รายคู่ด้วยวิธีการของ Scheffe

ผลการศึกษา

ตารางที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและระดับความเครียดของกลุ่มตัวอย่าง

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

จำนวน(ร้อยละ)

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (GPA)

การเรียนอ่อน (ต่ำกว่า 2.5)

การเรียนพอใช้ (2.5 – 2.99)

การเรียนดี (3.00 – 3.49)

การเรียนดีเยี่ยม (สูงกว่า 3.5)

ระดับความเครียด

สุขภาพจิตดีมาก

สุขภาพจิตปกติ

เครียดเล็กน้อย

เครียดมาก

17( 8.2)

51( 4.6)

100(48.3)

39(18.8)

4(1.9)

166(80.2)

22(10.6)

15(7.3)

หมายเหตุ การแปลผลของระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอาศัยเกณฑ์ของฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นผลการเรียนสะสมในชั้นปีที่ 1 และ 2

 

จากตารางที่ 1 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 48.31 มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี รองลงมาคือร้อยละ 24.64 มีผลการเรียนในระดับพอใช้

ภาวะความเครียดในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 นี้ พบว่าส่วนใหญ่คือร้อยละ 80.17 มีสุขภาพจิตปกติ ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาความเครียด (รวมจำนวนระหว่างผู้ที่มีความเครียดเล็กน้อยและผู้ที่มีความเครียดมาก) มีอยู่ร้อยละ 17.88

 

ตารางที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะความเครียดกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

GPA

ระดับความเครียด

อ่อน

N

(%)

พอใช้

N

(%)

ดี

N

(%)

ดีเยี่ยม

N

(%)

รวม

N

(%)

c 2

(df=9)

P-value

สุขภาพจิตดีมาก

-

-

1

(0.48)

3

(1.45)

4

(1.93)

สุขภาพจิตปกติ

-

36

(17.39)

94

(45.41)

36

(16.91)

166

(80.19)

เครียดเล็กน้อย

8

(3.86)

10

(4.83)

4

(1.93)

-

22

(10.83)

เครียดมาก

9

(4.35)

5

(2.42)

1

(0.48)

-

15

(7.25)

รวม

17

(8.21)

51

(24.64)

100

(48.31)

39

(18.84)

207

(100)

หมายเหตุ ทำการปรับแก้ด้วย Yate’s correction ในกรณีที่เซลมีจำนวนตัวอย่างต่ำกว่า 5

จากตารางที่ 2 พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียดกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือจำนวนผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาก 4 รายนั้น พบว่า 3 รายเป็นผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับดีเยี่ยม และอีก 1 รายมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับดี ในขณะเดียวกันพบว่าผู้ที่มีความเครียดมากนั้นพบในกลุ่มผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอ่อน พอใช้ และดี จำนวน 9, 5, และ 1 รายตามลำดับ และผู้ที่มีความเครียดเล็กน้อยพบในกลุ่มผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอ่อน พอใช้ และดี จำนวน 8, 10, และ 4 รายตามลำดับ

ตารางที่ 3 เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการแก้ปัญหา

การแก้ปัญหา

F-ratio

P-value

Mean

S.D.

อ่อน

99.67

17.07

81.75,117.58

พอใช้

94.74

10.68

91.67,97.80

ดี

93.90

11.65

90.89,96.91

ดีมาก

93.00

10.56

90.59,97.09

จากตารางที่ 3 พบว่านักศึกษาแพทย์ที่มีผลสัมฤทธิ์ในระดับที่ต่างกันมีความสามารถในการแก้ปัญหา (problem solving) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยของการแก้ปัญหา พบว่ากลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีมีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า (คะแนนต่ำกว่าแสดงถึงการแก้ปัญหาที่ดีกว่า)

 ตารางที่ 4 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับ subscale ของ PSI

 

Problem solving

confidence

Approach-avoidance style

Personal control

Mean

SD

Mean

SD

Mean SD

อ่อน

29.07

7.89

49.17

8.33

22.00 1.55

พอใช้

29.06

5.15

47.02

6.44

18.95 .50

ดี

28.91

5.65

46.37

5.81

18.79 .51

ดีมาก

28.79

4.74

45.88

5.98

18.67 .62

F-ratio

.036

.700

.554

P-value

.991

.36

.257

จากตารางที่ 4 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบภาวะความเครียดกับ subscale ของ PSI พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทั้งสามรูปแบบของการแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยของวิธีการแก้ปัญหาในแต่ละรูปแบบแล้ว พบว่ากลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีมีแนวโน้มที่จะมีรูปแบบการแก้ปัญหาได้ดีกว่า (คะแนนต่ำกว่าแสดงถึงการแก้ปัญหาที่ดีกว่า)

 ตารางที่ 5 เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างภาวะความเครียดกับการแก้ปัญหา

การแก้ปัญหา

F-ratio

P-value

Mean

S.D.

สุขภาพจิตดีมาก

80.20

18.87

56.77,103.63

สุขภาพจิตปกติ

93.92

11.02

92.29,95.54

เครียดเล็กน้อย

97.27

9.57

91.97,102.57

เครียดมาก

105.13

9.66

97.05,113.19

จากตารางที่ 5 พบว่านักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะความเครียดในระดับที่แตกต่างกันนั้นมีความสามารถในการแก้ปัญหา (problem solving) ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระดับ .001 ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของ Scheffe พบว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะสุขภาพจิตดีมากมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ไม่แตกต่างกับนักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะสุขภาพจิตปกติ แต่แตกต่างจากนักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีความเครียดเล็กน้อยและกลุ่มที่มีความเครียดมาก ส่วนนักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีสุขภาพจิตปกติมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ไม่แตกต่างจากกลุ่มผู้ที่มีภาวะความเครียดเล็กน้อย แต่แตกต่างจากกลุ่มผู้ที่มีภาวะความเครียดมาก และนักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีความเครียดเล็กน้อยและกลุ่มผู้ที่มีความเครียดมากนั้นพบว่าความสามารถการแก้ปัญหาไม่แตกต่างกัน

ตารางที่ 6 เปรียบเทียบภาวะความเครียดกับ subscale ของ PSI

 

Problem Solving

Confidence

Approach-Avoidance Style

Personal Control

Mean

SD

Mean

SD

Mean SD
สุขภาพจิตดีมาก

24.20

7.88

41.60

9.34

14.40 3.21
สุขภาพจิตปกติ

28.79

5.19

46.82

6.11

18.31 3.77
เครียดเล็กน้อย

31.27

4.71

45.40

5.41

20.60 2.99
เครียดมาก

33.25

4.83

50.13

4.94

21.75 5.44

F-ratio

4.24**

2.25

5.60***

P-value

.006

.084

.001

จากตารางที่ 6 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบภาวะความเครียดกับ subscale ของ PSI พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .001 ในส่วนของความมั่นใจในการแก้ปัญหา (problem solving confidence) และความเชื่อเกี่ยวกับที่มาของปัญหา (personal control) ตามลำดับ ในส่วนของการเผชิญและหลบเลี่ยงปัญหา ( approach-avoidance style) นั้นไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เมื่อทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (mean difference) ระหว่างภาวะความเครียดกับsubscale ของ PSI ด้วยวิธีการของ Scheffe พบว่าในส่วนของความมั่นใจในการแก้ปัญหานั้น (problem solving confidence) มีความแตกต่างกันเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะสุขภาพจิตดีมากกับกลุ่มผู้ที่มีความเครียดมาก ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน ส่วนการมองที่มาของปัญหานั้น (personal control) พบว่ามีความแตกต่างกันในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะสุขภาพจิตดีมากกับกลุ่มผู้ที่มีภาวะความเครียดเล็กน้อยและกลุ่มผู้ที่มีภาวะความเครียดมาก

วิจารณ์

จากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า อุบัติการณ์ของภาวะความเครียดในนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 พบร้อยละ 17.88 ประกอบด้วยนักศึกษาแพทย์ที่เริ่มมีภาวะความเครียดมีร้อยละ 10.63 และมีภาวะที่เครียดมากร้อยละ 7.25 ซึ่งอุบัติการณ์นี้ใกล้เคียงกับการศึกษาของ วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ18 โดยใช้แบบวัด GHQ 60 ในนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทุกชั้นปี จำนวน 341 พบว่าร้อยละ 24.6 มีความเครียดจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามตัวเลขจากงานศึกษานี้สูงกว่ารายงานการศึกษาอื่นๆ มาก เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของ สุนันทา ฉันทรุจิกพงศ์ และคณะ5 ซึ่งรายงานว่าในปีการศึกษา 2533 มีนักศึกษาแพทย์ทั้งหมดที่มารับบริการให้คำปรึกษาของหน่วยบริการให้คำปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 4.88 หรือจากการศึกษาของ สุวรรณา ศุภรัตน์ภิญโญ8 ได้ศึกษาปัญหาจิตเวชในนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าจำนวนนักศึกษาที่มีปัญหาทางจิตเวชเปรียบเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมดในแต่ละปีมีอุบัติการณ์ 1.9-9.0 ต่อพันต่อปี เฉลี่ย 4.64 ต่อพันต่อปี สาเหตุที่การศึกษานี้ได้ตัวเลขที่สูงกว่าน่าจะเนื่องจากการศึกษาในครั้งนี้เป็นการใช้แบบคัดกรองภาวะความเครียด ซึ่งทำให้ได้ผู้ที่เริ่มจะมีแนวโน้มของปัญหาและมีปัญหาแล้ว ในขณะที่งานการศึกษาสองชิ้นหลังเป็นการศึกษาจากนักศึกษาซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงมารับบริการ และอีกประการหนึ่งการใช้แบบคัดกรองภาวะความเครียดอาจช่วยลดความรู้สึกต่อต้านในส่วนของนักศึกษาทำให้นักศึกษาสามารถเปิดเผยความรู้สึกได้ดีขึ้น

มีงานศึกษาหลายชิ้นได้พยายามศึกษาถึงปัญหาสุขภาพจิตในหมู่นักศึกษาแพทย์ เช่น Lloyd9 ได้ศึกษาและรายงานไว้ในปี ค.ศ.1984 ว่าปัญหาทางจิตเวชพบในนักศึกษาแพทย์มากกว่านักศึกษาอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Bjorksten และคณะ10 ซึ่งได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบปัญหาของนักศึกษาแพทย์จำนวน 585 คน กับนักศึกษาอื่น ๆ ทางด้านสุขภาพที่มหาวิทยาลัย Medical University of South Carolina (MUSC) พบว่านักศึกษาแพทย์มีปัญหามากกว่านักศึกษาอื่น ๆ ในแง่ของสภาพการศึกษา เช่น มีเวลาส่วนตัวน้อย การแข่งขันกับเพื่อนร่วมชั้น ความรู้สึกเกี่ยวกับความว้าเหว่ไม่มีเพื่อน มีปัญหาในด้านสัมพันธภาพกับคนอื่น ไม่มั่นใจตนเอง รู้สึกไม่พอใจในความสามารถของตนเอง ปัญหาการวางตัว และปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อนักศึกษามีความเครียดแล้วมักจะเก็บกดไว้ไม่แสดงออก เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาสาขาอื่น ๆ นักศึกษาแพทย์มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อย่างรู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยมีเพื่อน ทำให้มีความเครียดในด้านการปรับตัวกับผู้อื่น ส่วน Linn และ Zeppa11 ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดในนักศึกษาแพทย์พบว่ามี 7 ด้านด้วยกันคือ ด้านการเรียน การมีมนุษยสัมพันธ์ การทำงานมากเกินไป ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต ความกดดันจากผู้อื่น ความกดดันจากสมาชิกในครอบครัว และความกดดันภายในตนเอง สุวรรณา ศุภรัตน์ภิญโญ8 ได้ศึกษาปัญหาจิตเวชในนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 29.5 แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์นั้นอาจมีส่วนทำให้นักศึกษาแพทย์มีความเครียดสูง12 ปัญหาจากการเรียนที่พบได้บ่อยนั้นประกอบด้วยการสอบตก การเผชิญกับความยากลำบากในการเรียน หรือการแข่งขันกันในหมู่นักศึกษาที่มีความสามารถสูง13

นอกจากนั้นยังพบว่าภาวะความเครียดในนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 นี้ยังมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กล่าวคือพบภาวะความเครียดมากในนักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีผลการเรียนอ่อนมากที่สุด (9 รายจากทั้งหมด 15 ราย) รองลงมาคือผู้ที่มีผลการเรียนพอใช้ (5 รายจาก 15 ราย) ในขณะที่จำนวนผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาก 4 รายนั้น พบว่า 3 รายเป็นผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับดีเยี่ยมและอีก 1 รายมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับดี ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ Rospenda, Halpert และ Richman14 ซึ่งพบว่าความเครียดในหมู่นักศึกษาแพทย์มีความเกี่ยวข้องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ไม่ดี

ในการศึกษานี้ยังพบว่าพฤติกรรมการแก้ปัญหาของนักศึกษาแพทย์เมื่อเกิดภาวะความเครียดนั้นมีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต กล่าวคือนักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะสุขภาพจิตดีมากและปกติมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านักศึกษาแพทย์ที่มีความเครียด ในการศึกษานี้พบว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่ไม่มีภาวะความเครียดมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา และความเชื่อมั่นในการควบคุมปัญหา (problem solving confidence และ personal control) สูงกว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีความเครียด ในขณะเดียวกันความรู้สึกในการเผชิญ หรือหลบเลี่ยงปัญหาแบบ approach-avoidance style นั้นพบว่าไม่แตกต่างกันทั้งในสองกลุ่ม การมีความมั่นใจในการแก้ปัญหานั้น หมายความว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มนั้นมีวิธีในการเผชิญปัญหา ซึ่งเข้าได้กับวิธีการแก้ปัญหาแบบ problem-oriented coping ตามที่ Lazarus และ Launier15 ได้เสนอไว้ว่าเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาโดยมีพฤติกรรมการค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ เพิ่มเติมตามวิธีต่าง ๆ ที่จัดการกับปัญหา การยอมรับปัญหาและพยายามแก้ไขที่สาเหตุให้ดีขึ้น ส่วน personal control นั้นตรงกับสิ่งที่ Rotter16 เสนอแนวคิดเรื่องlocus of control โดยบุคคลที่เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น เขาเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (internal locus of control) ซึ่งจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าบุคคลที่เชื่อในอำนาจ หรืออิทธิพลจากปัจจัยภายนอก (external locus of control) ในงานวิจัยนี้นักศึกษากลุ่มที่มีความเครียดเชื่อในเรื่องของ personal control น้อยกว่า ผลที่ได้นี้สอดคล้องกับการศึกษาของ Linn และ Zeppa11 คือ นักศึกษาแพทย์ที่มีคะแนนของ locus of control ในส่วนของ external in control จะประสบกับภาวะความเครียดมากกว่านักศึกษาแพทย์ทั่วไป

ส่วนรูปแบบการแก้ปัญหาแบบ approach-avoidance style นั้นหมายถึงความรู้สึกอยากที่จะเผชิญ หรือหลบเลี่ยงปัญหา ซึ่งการหลบเลี่ยงจากปัญหานั้นตรงกับที่ Lazarus และ Launier1ถ ได้เสนอไว้เป็นแบบของการแก้ปัญหาแบบหนึ่งที่เน้นการแก้ไขที่อารมณ์หรือความไม่สบายใจเป็นหลัก (affective oriented coping) ซึ่งเป็นการทำให้จิตใจเกิดความสมดุล ได้แก่ การปฏิเสธ การเลี่ยงปัญหา พยายามลืม การต่อต้าน การเฉยเมย เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่อาจใช้ได้ผลในระยะสั้น ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีความแตกต่างกัน

ข้อเสนอแนะ

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ไม่ดีอาจเป็นได้ทั้งสาเหตุของการเกิดความเครียด หรือในแง่กลับการมีปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตที่ไม่ดีอาจเป็นสาเหตุให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ดีซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาแบบไปข้างหน้าเพื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวต่อไป จากการที่งานศึกษานี้พบว่านักศึกษาแพทย์ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอ่อน และนักศึกษาแพทย์ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่ไม่ดีนั้น ผู้เกี่ยวข้องจึงน่าจะให้ความสำคัญกับปัญหาการเรียนว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีประการหนึ่งถึงภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษาและความสามารถในการจัดการกับปัญหา ซึ่งควรจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และควรมีการพิจารณาถึงการคัดกรองนักศึกษาที่มีภาวะเสี่ยง และให้ความช่วยเหลือในแง่ของการจัดหลักสูตรเสริมสร้างทักษะในการจัดการและแก้ไขปัญหาความเครียด ซึ่ง Michie และ Sandhu17 รายงานว่าหลักสูตรดังกล่าวให้ประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์ที่ประสบปัญหา

สรุป

พบว่าภาวะความเครียดของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนั้นมีดังนี้คือ ภาวะสุขภาพจิตในระดับดีมาก ปกติ มีความเครียดเล็กน้อย และมีความเครียดมากมีร้อยละ 1.93, 80.17, 10.63 และ 7.25 ตามลำดับ

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีความสัมพันธ์กับภาวะความเครียด กล่าวคือนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ที่ไม่มีภาวะเครียดเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มีผลการเรียนดี

สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการแก้ปัญหารวมทั้งการเลือกรูปแบบในการแก้ปัญหานั้นพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนภาวะความเครียดและความสามารถในการแก้ปัญหาพบว่ามีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ พบว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะสุขภาพจิตดีรับรู้และตระหนักว่าตนมีความสามารถในการแก้ปัญหาดีกว่ากลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีภาวะความเครียด และเมื่อทำการวิเคราะห์ถึงรูปแบบของการแก้ปัญหาพบว่า นักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีภาวะความเครียดจะมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา (problem solving confidence) และการมองว่าปัญหานั้นเกิดจากปัจจัยภายในตนเอง (personal control) มากกว่านักศึกษาแพทย์กลุ่มที่มีภาวะความเครียด

 กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบคุณนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2541 นักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตวิทยาคลินิก ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2542 และคุณจริยา จันตระ ที่มีส่วนทำให้งานวิจัยนี้สำเร็จลงได้ และขอบคุณกัลยาณมิตรที่ไม่ได้เอ่ยนามในที่นี้ ซึ่งหากปราศจากบุคคลทั้งหมดนี้งานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่คงไม่มีการแปรสภาพเป็นงานทางวิชาการที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Boyle BP, Coombs RH. Personality profile related to emotional stress in the initial year of medical training. Med Educ 1971; 46:882-7.

2. Bloom SW. The medical school as a social system. Milbank Mem Fund Q 1971; 49:196.

3. Funkiinstein DH. The learning and personality development of medical students and the recent changes in university and medical schools. J Med Educ 1986; 43:883-97.

4. Monat A, Lazarus RS. Stress and coping. New York : Columbia University Press, 1977:360.

5. หน่วยบริการให้คำปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. สถิติการมารับบริการให้คำปรึกษาของนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลประจำปีการศึกษา 2531. (เอกสารอัดสำเนา)

6. สุนันทา ฉันทรุจิกพงศ์, รติยา ลอยแสงอรุณ, ชลิดา รัตนาประภาพันธุ์. นักศึกษาแพทย์ที่มารับบริการให้คำปรึกษาของหน่วยให้บริการคำปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปีการศึกษา 2533. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2534; 36:145-55.

7. Gaensbauer TJ, Mizner GL. Developmental stresses in Medical education. Psychiatry 1980; 43:60- 70.

8. Fischer J, Corcoran K. Measures for clinical practice : A sourcebook vol.2. The Free Press,1994:442-3.

9. สุวรรณา ศุภรัตน์ภิญโญ. การป่วยทางจิตใจในนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2529; 31:53-9.

10. Lloyd C, Gartrell NK. Psychiatric symptoms in medical students. Comp Psychiatry 1984; 25: 552-65.

11. Bjorksten O, Sutherland S, Miller C, Stewart T. Identification of medical students problems and comparison with those of other students. J Med Educ 1983; 58:759-63.

12. Linn BS, Zeppa R. Stress in junior medical students : relationship to personality and performance. J Med Educ 1984; 59:7-42.

13. โสภา ชูพิกุลชัย, วไลพร ภวภูตานนท์. การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาส่วนตัว ปัญหาการเรียน และปัญหาสวัสดิการของนักศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, 2520 : 68.

14. Grover PL, Tessier KE. Diagnosis and treatment of academic frustration syndrome. J Med Educ 1978 ; 53:736-40.

15. Rospenda KM, Halpert J, richman JA. Effect of social support on medical students’ performances. Acad Med 1994; 69:496-500.

16. Lazarus RS, Lanmier R. Stress related transactions between person and environment.Perspective in interactional psychology. New York : Pieram Publishing Corp, 1978.

17. Bernard LC, Krupat E. Health psychology : biopsychosocial factors in health and illness. Fort Worth:Harcourt Brace College Publishers, 1994;263.

18. Michie S, Sandhu S. Stress management for clinical medical students. Med Educ 1994; 28:528-33.

19. วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ. การสำรวรจสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2540; 42: 88-99.

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us