เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

download in pdf format

ยาบ้ากับคนงานในโรงงานประกอบแบตเตอรี่ : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข

Amphetamine Use in Workers in a Battery Factory : Assessment and Management

รณชัย คงสกนธ์ พ.บ. น.บ.*
สมบัติ ศาสตร์รุ่งภัค พ.บ.*
สิริวรรณ อนันตโชค ว.ท.บ.(พยาบาลศาสตร์)**
สิริกร สิริบูรณการ ว.ท.บ.(พยาบาลศาสตร์)**

* ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400

** แผนกป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงปัญหาการใช้ยาบ้าของกลุ่มคนงาน เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการใช้ยาบ้าของกลุ่มคนงานในโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

วิธีการศึกษา ขั้นตอนที่ 1 cross sectional study ในกลุ่มคนงานทั้งหมด โดยอาศัยแบบสอบถามข้อมูลพื้นฐาน แบบสอบถามความรู้และเจตคติเรื่องยาบ้า และแบบสอบถามสุขภาพจิตสำหรับคนไทย (Thai Mental Health Questionnaire) ทำการคัดกรองผู้ติดยาบ้าโดยวิธีการ immunochromatography ชนิด blocking test ในปัสสาวะ ขั้นตอนที่ 2 ทำการรักษา และติดตามผู้ติดยาบ้าเพื่อป้องกันการกลับมาเสพยาบ้าซ้ำ ด้วยวิธีการ monitoring และ กลุ่มบำบัดทุกเดือนนาน 6 เดือน

ผลการศึกษา คนงานทั้งสิ้น 185 ราย เป็นชาย 85 ราย หญิง 100 ราย อายุ 20-73 ปี เฉลี่ย 36.35 ปี จากแบบสอบถาม Thai Mental Health Questionnaire พบมีปัญหา anxiety ร้อยละ 29.5, aggression ร้อยละ 6.6, somatic ร้อยละ 18.6, psychosis ร้อยละ 3.8 และ social ร้อยละ 50.3 ตรวจพบสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะ 10 รายเป็นชายทั้งหมด และทุกรายยอมรับการติดยาบ้า ระยะเวลาที่ใช้ยาบ้าเฉลี่ย 34 เดือน โดยทั้งหมดใช้วิธีการเผาสูบ เฉลี่ยวันละครึ่งถึง 1 เม็ด สาเหตุของการใช้ส่วนใหญ่เพราะเข้าใจว่ายาบ้ามีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานมากขึ้น (ร้อยละ87.5) และเป็นเพราะเพื่อนชวน (ร้อยละ 75) พบมีการใช้สารเสพย์ติดอื่นร่วมด้วยร้อยละ 75 ระดับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มติดยาบ้าและกลุ่มไม่ได้ใช้ ระดับความรู้และเจตคติต่อยาบ้า ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มติดยาบ้าและกลุ่มไม่ได้ใช้ หลังการรักษาผู้ที่ติดยาบ้าเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ได้ติดตามการรักษา และป้องกันการกลับไปใช้อีกโดยวิธีการติดตามตรวจสอบโดยการตรวจปัสสาวะและกลุ่มบำบัดเป็นระยะเวลา 6 เดือน พบที่กลับไปใช้ซ้ำเพียง 1 ราย

สรุป การสุ่มตรวจปัสสาวะและกลุ่มบำบัดเป็นวิธีที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาบ้าในกลุ่มคนงานโรงงานนอกเหนือไปจากการให้ความรู้เกี่ยวกับยาบ้า

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(1): 33-43.

คำสำคัญ ยาบ้า คนงาน โรงงานประกอบแบตเตอรี่ การแก้ไข

Ronnachai Kongsakon, M.D.*
Sombat Zartrungpak, M.D.*
Siriwan Anantachok, B.Sc. (Nursing)**
Sirikorn Siriburanakarn, B.Sc. (Nursing)**

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University.

** Division of Disease Prevention and Health Promotion, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University.

Abstract

Objective To study problems due to amphetamine use in workers in a battery factory in Bangkok, related factors, and treatment approaches.

Methods Cross-sectional study in this sample was done with demographic questionnaires, knowledge about and attitude towards amphetamine questionnaires, Thai Mental Health Questionnaire and blocking test immunochromatography of urine sample. The medical treatment and self help group were started for amphetamine abusers after assessments. We had followed up the abusers by urine monitoring for 6 months.

Results The sample of 185 cases consisted of 85 males and 100 females, age between 20 and 73 (mean 36.35 year). Mental problems in this sample assessed by Thai Mental Health Questionnaire consisted of anxiety 29.5%, depression 6.65, somatic 18.6%, psychosis 3.8% and social 50.35%. All of the 10 abusers were male and all of them accepted the urine amphetamine test results. Mean duration of amphetamine use was 34 months. All of the abusers used amphetamine by inhalation with a mean dosage of ? -1 tab per day. The reasons of amphetamine use were : increased working performance (87.5%), peer group (75%), and pleasure effect (25%), respectively . Seventy-five per cent of abuser group were multiple substance abusers. There were no significant differences between abuser and non abusers in mental problems, knowledge about amphetamine score, and attitude towards amphetamine score. After 2 weeks of medical treatment the abusers were followed up by urine monitoring for 6 months and 9 cases had no amphetamine use.

Conclusion Urine monitoring program and self help group are helpful for management of amphetamine problems of factory workers in addition to education.

J Psychiatr Assoc Thailand 2000; 45(1): 33-43.

Key words : amphetamine, worker, battery factory, prevention

 บทนำ

ปัญหาการเสพสารเสพย์ติดแอมเฟตามีนหรือยาบ้าในประชากรไทย เป็นปัญหาที่น่าวิตกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดมาตรการในการป้องกันและลงโทษอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลง ทำให้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาด้านอาชญากรรม

สถานการณ์การติดยาเสพย์ติดในประเทศไทยนับวันจะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น การรายงานสถานการณ์อัตราการติดยาเสพย์ติดพบสูงขึ้น คนไทยกว่า 3 ล้านคน ได้ตกเป็นทาสของยาเสพย์ติด ซึ่งคิดเทียบเป็นอัตราการติดยา ได้เท่ากับร้อยละ 5 เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับในประเทศสหรัฐอเมริกา1 จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตต่อปัญหาสุขภาพจิตของคนในกรุงเทพมหานครจำนวนประชากร 2,948 ราย เป็นชาย 950 ราย, หญิง 1,988 ราย พบการใช้ยาเสพย์ติดชนิดต่างๆ ร้อยละ 19.22 และการศึกษาโดยการสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญา ปี 2540 ซึ่งจำแนกเป็นผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าจำนวน 122 และ 128 ราย ตามลำดับ พบว่าทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่า ส่วนใหญ่มีการใช้ยาเสพย์ติดเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น โดยตัวยาที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยใหม่ครึ่งหนึ่งเป็นการใช้ยาบ้า รองลงมาได้แก่ กัญชา เฮโรอีน และสารระเหยตามลำดับ3

การศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาบ้าของนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดราชบุรี4 พบว่ากลุ่มติดยาบ้าและกลุ่มใช้ยาบ้านั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับปริมาณยาที่ใช้ ระยะเวลาการใช้ยา ความถี่ในการใช้ยา พฤติกรรมการเสพ จำนวนเพื่อนที่เสพยา และการใช้จ่ายเงิน อีกการศึกษาหนึ่งคือ การศึกษา ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาบ้าของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดกาญจนบุรี 5 พบว่าปัจจัยด้านทัศนคติต่อยาบ้า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง การเข้าร่วมโปรแกรมป้องกันยาเสพย์ติดในโรงเรียนและการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเสพยาบ้าของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ในกลุ่มประชากรอื่น ยังไม่พบมีการศึกษากันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างสูงของชาติ และมีกลุ่มประชากรในส่วนนี้ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากมีสถานประกอบการทางอุตสาหกรรมที่มากขึ้นตามความเติบโตทางอุตสาหกรรมของชาติ ขณะนี้จำนวนผู้ใช้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมทั้งสิ้น 5,650,787 คน มีสถานประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ถึง 98,007 แห่ง (ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม 2543) แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงการระบาดของยาบ้าในกลุ่มประชากรกลุ่มนี้อย่างชัดเจน ที่เทียบเคียงได้คือ การศึกษาปัญหาสังคมและสาธารณสุขของคนงานก่อสร้าง 400 คนในเขตกรุงเทพมหานคร6 พบความเครียดร้อยละ 53.2 พบผู้ดื่มสุราร้อยละ 42.2 ดื่มเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท ร้อยละ 69.2 ใช้ยากล่อมประสาทร้อยละ 1.3 ติดเฮโรอีน ร้อยละ 2.2 มีเพียง 2 รายที่ใช้ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน

ตราบจนปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาการติดยาบ้าในกลุ่มคนงาน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาถึง ปัญหาขนาดของปัญหา สาเหตุและแนวทางการแก้ไข เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการติดยาบ้าในกลุ่มคนงานอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบาดวิทยาของผู้เสพยาบ้า ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ปัจจัยที่มีผลต่อการเสพยาบ้าในโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และศึกษาแนวทางป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ

วัสดุและวิธีการ

การศึกษาครั้งนี้ ใช้กระบวนการ multidisciplinary approach ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาล พยาธิแพทย์ โดยความร่วมมือจากเจ้าของโรงงาน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

  1. ติดต่อโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางเพื่อเป็นตัวแทนของการศึกษาปัญหายาบ้าของโรงงานใน กรุงเทพมหานคร
  2. ศึกษาโดยรูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนาชนิดตัดขวาง (cross sectional descriptive design) โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative) ร่วมกับวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative) ถึงการระบาดของยาบ้าในกลุ่มคนงานทั้งหมดในโรงงาน โดยการตรวจปัสสาวะ7ของคนงานทั้งหมดเพื่อตรวจหาสารแอมเฟตามีน โดยวิธี immunochromatography ชนิด blocking test8 จากนั้นจิตแพทย์จะสัมภาษณ์คนงานที่ตรวจพบสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะทุกคน
  3. ศึกษาปัญหาทางสุขภาพจิต โดยใช้แบบสอบถาม Thai Mental Health Questionnaire9
  4. ศึกษาทัศนคติ และความรู้เกี่ยวกับยาบ้า โดยใช้ข้อคำถามสร้างขึ้นที่เหมาะสมสำหรับคนงานไทย
  5. ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยาบ้าแก่คนงานเพื่อนำไปสู่การยอมรับการรักษาและทำชุมชนบำบัด
  6. ประเมินอาการขาดยา และทำการรักษาตามอาการ
  7. ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ โดยใช้วิธี urine monitoring program10-12 ทุกเดือน และกลุ่มบำบัดทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน แล้วติดตามผลการรักษา
  • Urine monitoring program เป็นกระบวนการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารแอมเฟตามีนทุกเดือน โดยไม่แจ้งให้ผู้ถูกตรวจทราบล่วงหน้า ตลอดระยะ 6 เดือน โดยตั้งเงื่อนไขให้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตรวจพบสารแอมเฟตามีน ติดต่อกัน 3 ครั้ง จะมีมาตรการให้ออกจากงาน

    กลุ่มบำบัด เป็นกระบวนการ self help group โดยสมาชิกที่ติดยาบ้าทั้งหมด ได้ทำการประชุมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มที่ยังติดยาบ้า โดยมีขึ้นในช่วงเวลาเที่ยงทุกวันพุธ ครั้งละ 30 นาที โดยมีจิตแพทย์เข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งคราว

  • กลุ่มประชากรที่ศึกษา

    การศึกษาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถยนต์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นโรงงานที่มีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วยคนงานทั้งสิ้น 185 ราย เป็นชาย 85 ราย หญิง 100 ราย อายุ 20-73 ปี ( อายุเฉลี่ย 36.35 ปี) ดังรายละเอียดในตารางที่ 1

    ผลการศึกษา

    จากการตรวจปัสสาวะของคนงานทั้งหมด 170 คน พบมีสารแอมเฟตามีน และเฮโรอิน ดังในตารางที่ 2

    จากการประเมินโดยใช้แบบสอบถาม Thai Mental Health Questionnaire ในคนงานทั้งหมด พบว่าคนงานมีปัญหาทางด้านวิตกกังวล ร้อยละ 29.5 ปัญหาอารมณ์ซึมเศร้าเพียง ร้อยละ 6.6 อาการโรคจิต ร้อยละ 3.8 อาการผิดปกติทางกาย ร้อยละ 18.6 และที่พบมากคือ ปัญหาการปรับตัวทางสังคม พบถึง ร้อยละ 50.3

    การเปรียบเทียบปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ของกลุ่มที่ติดยาบ้ากับกลุ่มที่ไม่ติดยาบ้า ไม่พบมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในแต่ละด้านของปัญหาสุขภาพจิต ดังแสดงในตารางที่ 3

    จากการสัมภาษณ์ผู้ใช้ยาบ้าซึ่งเป็นชายทั้งหมด พบว่าระยะเวลาที่ใช้ยาบ้าเฉลี่ย 34 เดือน ทุกคนใช้ยาบ้าโดยวิธีการเผาสูด เฉลี่ยวันละครึ่งถึง 1 เม็ด

    ในด้านความรู้และเจตคติระหว่างกลุ่มที่ติดยาบ้าและไม่ติดยาบ้า ไม่พบมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังแสดงในตารางที่ 4

    ผู้ที่ตรวจพบสารแอมเฟตามีน ทั้งหมด 10 ราย ยอมรับในการเข้าสู่กระบวนการรักษา และป้องกันการกลับไปติดซ้ำ โดยได้รับการสัมภาษณ์จากจิตแพทย์ เพื่อประมวลผลถึงสาเหตุที่ใช้ รวมทั้งการประเมินทางด้านบุคลิก-ภาพ เพื่อสรุปเป็นลักษณะบุคลิกภาพที่พบในกลุ่มที่ติดยาบ้า และลักษณะวิธีการปรับตัวเมื่อพบปัญหาแรงจูงใจในการที่จะเลิกยาบ้า ดังในตารางที่ 5

    ภายหลังการสัมภาษณ์ได้เริ่มให้การรักษาตามอาการที่ผู้ติดยาบ้าเกิดอาการหลังจากหยุดยาบ้า ทั้งหมดไม่พบมีอาการขาดยาอย่างชัดเจน มีเพียง 2 รายที่ขอยาลดอาการกังวลในช่วง 4 สัปดาห์แรก ภายหลังหยุดใช้ยาทั้งหมด

    จากการติดตามผลการรักษา โดยตรวจปัสสาวะทุกเดือน โดยไม่แจ้งเวลาการตรวจล่วงหน้าแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 คน ปรากฏผลดังตารางที่ 6 ซึ่งตามข้อตกลงก่อนเข้าร่วมการศึกษาคนงานรายที่ 3 และ 9 ต้องถูกออกจากงาน แต่เนื่องด้วยคนงานรายที่ 9 มีความสำคัญต่อการทำงานในโรงงานอย่างมาก อีกทั้งคนงานรายนี้ได้ตกลงกับเจ้าของโรงงานว่าจะไม่กลับไปเสพยาบ้าอีก จึงได้รับการผ่อนผันให้ทำงานและเข้าร่วมการศึกษาต่อไปได้

    ประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ ภายหลังการทำกลุ่มบำบัด 6 เดือน พบว่าร้อยละ 90 (9 ใน 10 ราย) รู้สึกพึงพอใจกับการทำกลุ่มบำบัด

    วิจารณ์

    โรงงานที่ทำการศึกษาจัดว่าเป็นสถานประกอบการขนาดกลางที่มีคนงานประมาณ 185 ราย ผู้วิจัยได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยมีคนงานตอบแบบสอบถามได้ครบถ้วน และให้ความร่วมมือในการตรวจปัสสาวะถึง 170 ราย

    อัตราการใช้ยาบ้าของคนงานที่ให้ความร่วมมือในการตรวจปัสสาวะ พบร้อยละ 5.88 ขนาดของปัญหานี้เชื่อว่าน่าจะยังต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะการตรวจปัสสาวะโดยวิธีการ immunochromatography ชนิด blocking test8 จะตรวจพบผู้ที่ใช้ในช่วง 5-7 วัน ซึ่งแบบแผนการใช้ของผู้ที่เสพยาบ้านั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นครั้งคราว ทำให้ตัวเลขที่ได้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ก็ยังพบสูงกว่าในกลุ่มคนงานก่อสร้าง6 ที่พบเพียงร้อยละ 0.5 เทียบกับปัญหาการใช้สารเสพย์ติดทุกชนิดที่เคยทำการสำรวจในประชากรกรุงเทพมหานครที่พบร้อยละ 19.2 จัดว่าปัญหายาบ้าเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะสนใจศึกษาต่อไป

    ผู้ที่ใช้ยาบ้าพบว่าเป็นผู้ชายทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาการใช้ยาบ้าของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดกาญจนบุรี 5 พบเป็นผู้ชายทั้งหมด ดังนั้นเพศชายจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงของการติดยาบ้า ส่วนปัจจัยอื่น ไม่พบความสัมพันธ์ชัดเจนจากการวิเคราะห์ทางสถิติ เป็นเพราะมีจำนวนผู้ที่ติดยาบ้า ไม่สูงพอที่จะเห็นถึงความแตกต่างในปัจจัยต่างๆ

    การศึกษานี้ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านความรู้ และด้านเจตคติต่อยาบ้าของผู้ใช้และไม่ใช้ยาบ้า และทั้ง 2 กลุ่มก็มีคะแนนทั้ง 2 ด้านอยู่ในเกณฑ์ดี จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่าความรู้และเจตคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาบ้าอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันการเสพยาบ้าของกลุ่มคนงานในโรงงาน ดังนั้นความเข้าใจว่าผู้ที่ติดยาบ้าเกิดจากสาเหตุจากการขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาบ้าอันนำไปสู่การรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจ อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุดในกลุ่มคนงาน ระดับการศึกษาของคนงานกลุ่มนี้ อยู่ในระดับประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีระดับคะแนนเกี่ยวกับความรู้เรื่องยาบ้าถึง 11 คะแนน (คะแนนเต็ม 15) รวมทั้งเจตคติที่ดี ถึง 14 คะแนน (คะแนนเต็ม 20) ฉะนั้นการมุ่งให้ความรู้และเปลี่ยนแปลงเจตคติเกี่ยวกับยาบ้าแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาในประชากรกลุ่มนี้

    สาเหตุใหญ่ของการใช้ยาบ้าในคนงานนั้นเป็นเพราะเข้าใจว่ายาบ้ามีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานมากขึ้น (ร้อยละ 87.5) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนงานที่ใช้ยาบ้า คงเป็นไปตามความจำเป็นในวิชาชีพที่อยากมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น และโรงงานที่ศึกษามีระยะเวลาในการทำงานมากเมื่อเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ทำให้คนงานบางคนอยากหารายได้มากขึ้น จึงหันมาใช้ยาบ้า เพื่อทำให้ตนมีความสามารถในการหารายได้ได้มากขึ้น สาเหตุอื่นที่รองลงมาคือ เพื่อนชวน (ร้อยละ 75) อิทธิพลเพื่อนนี้จะสอดคล้องกับสาเหตุการติดสารเสพย์ติดในประชากรทั่วไปที่มีอิทธิพลจากเพื่อน ส่วนสาเหตุเพราะชอบสนุกพบเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงเท่าที่ควร แตกต่างจากสาเหตุของการติดของวัยรุ่นที่เป็นการใช้เพื่อความสนุกเป็นส่วนมาก

    ระดับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตจากการประเมินด้วยแบบสอบถาม Thai Mental Health Questionnaire9 ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันของคะแนนเฉลี่ยในแต่ละ sub scale ระหว่างกลุ่มใช้และกลุ่มไม่ได้ใช้ยาบ้า ซึ่งจากการทบทวนรายงานการวิจัยยังไม่พบว่ามีการศึกษากลุ่มคนงานในประเด็นนี้ แต่ก็มีการศึกษากลุ่มผู้ใช้ยาบ้า 301 คนในประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้ใช้ยาบ้าโดย Hall และคณะ13 ซึ่งใช้แบบประเมิน General Health Questionnaire พบว่าจำนวนสัดส่วนของผู้ใช้ยาบ้าที่มีอาการ ของกลุ่มซึมเศร้า กลุ่มอาการวิตกกังวล กลุ่มอาการโรคจิต และพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงสูงถึงร้อยละ 79, 76, 46 และ 44 ตามลำดับ และจำนวนสัดส่วนของผู้ใช้ยาบ้าที่มีอาการทางจิตเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเริ่มเสพยาบ้า แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่พบว่าสัดส่วนของผู้มีอาการกลุ่มซึมเศร้า กลุ่มอาการวิตกกังวล กลุ่มอาการโรคจิตสูงเท่ากับการศึกษาของ Hall และคณะ13 ซึ่งอาจเนื่องมาจากจำนวนผู้ที่ใช้ยาบ้าในการศึกษานี้มีน้อยมาก แต่การศึกษานี้ก็พบว่าผู้ใช้ยาบ้ามีปัญหาด้านการปรับตัวทางสังคมในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 71.4 ผลการศึกษาที่ได้ในจุดนี้แม้ว่าจะไม่สามารถนำไปเป็นตัวแทนของสภาพปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มคนงานในโรงงาน แต่ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาบ้าของกลุ่มคนงานในโรงงานได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งประชากรกลุ่มนี้น่าที่จะเป็นประชากรเป้าหมายที่ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพจิตต่อไป

    ในแง่ของปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้ที่เสพยาบ้า จากการสัมภาษณ์พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความอ่อนแอในบุคลิกภาพโดยแสดงออกมาเป็นลักษณะขี้อาย ไม่มั่นใจตนเอง เป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 46.2 ร่วมกับลักษณะ เอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ ถือความเห็นตนเองเป็นที่ตั้งร้อยละ 30.8 ซึ่งความผิดปกติในบุคคลิกภาพเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการติดยาเสพย์ติด รวมทั้งเป็นตัวทำนายที่สำคัญของการรักษา14 การศึกษาครั้งนี้คนงานในโรงงานแห่งนี้มีปัญหาการปรับตัวทางสังคมในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 50.3 อาจสืบเนื่องจากมีระดับการศึกษาต่ำ (ระดับประถมศึกษาร้อยละ 57.1) และมาจากถิ่นฐานเดิมคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 67.1) ทำให้มีปัญหาการปรับตัวต่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร

    การป้องกันการกลับไปใช้ยาบ้าโดยวิธีการ urine monitoring program15-16 เดือนละ 1 ครั้งโดยสุ่มตรวจปัสสาวะ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเจ้าของกิจการในการตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าตรวจพบการใช้ยาบ้าติดต่อกัน 3 ครั้งจะลงโทษโดยการให้ออกจากงาน ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจและยอมรับเงื่อนไข และเข้าร่วมกลุ่มบำบัดทุกวันพุธต่อเนื่องทุกสัปดาห์ตลอด 6 เดือน เพื่อร่วมกันพูดคุยหาทางช่วยเหลือเพื่อนที่ยังใช้ยาบ้าให้หยุดใช้ พบว่าภายหลังเวลาผ่านไป 6 เดือน จำนวน 9 ราย สามารถหยุดใช้ยาบ้าได้ พบเพียง 1 รายที่ยังคงใช้อยู่ เทียบเป็นอัตราที่กลับไปใช้เพียงร้อยละ 10

    ข้อจำกัดของการศึกษา

    1. เนื่องจากการเสพยาบ้าถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการจึงอาจไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากผู้เสพ
    2. การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแนวทางการแก้ไข แบบ before and after treatment การไม่มีกลุ่มควบคุมอาจทำให้การศึกษาผลของการทำกลุ่มบำบัดยังไม่ชัดเจนพอถึงผลที่เกิดขึ้น
    3. ขนาดตัวอย่างที่เสพยังมีขนาดน้อย อาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มนี้ได้

    ข้อเสนอแนะ

    1. สมควรศึกษาในกลุ่มคนงานขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ได้ภาพของปัญหาการใช้ยาบ้าที่ชัดเจน และใช้เป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องขึ้น
    2. ควรทำการวิจัยโดยมีกลุ่มควบคุม เพื่อเปรียบเทียบผลการบำบัด
    3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ควรจะให้ความสนใจต่อปัญหานี้ เพื่อมีมาตรการในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
    4. ในข้อกฎหมายได้มีการบัญญัติว่า ผู้เสพยาบ้า ถือมีความผิดทางอาญา ทำให้การแก้ไขเป็นสิ่งที่ยากรวมทั้งการคุ้มครองในสิทธิประกันสังคมเพื่อการรักษาก็ไม่สามารถครอบคลุมถึงปัญหาการเสพยา ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตเวชอันหนึ่งที่ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิประกันสังคมในการแก้ไขปัญหานี้
    5. ควรรณรงค์ให้สถานประกอบการให้ความสนใจ และนำเอาแนวทางการแก้ไขที่ไม่สลับซับซ้อน สู่การแก้ไขและป้องกันปัญหานี้
    6. กลุ่มบำบัดเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหานี้

    สรุป

    ปัญหาการใช้สารเสพย์ติดในกลุ่มคนงานเป็นปํญหาที่ซ้อนเร้นที่ไม่ได้รับการรักษาป้องกัน ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะให้ความสนใจนำไปสู่การพิจารณาป้องกันและแก้ไข จากการศึกษาในครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้นำเสนอวิธีการ urine monitoring program ร่วมกับการจัดให้มีกลุ่มบำบัดอย่างต่อเนื่องนอกเหนือไปจากการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของยาบ้า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน บุคลากรในโรงงานต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติให้เหมาะสำหรับสถานการณ์ของโรงงานแต่ละแห่งเพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

    เอกสารอ้างอิง

    1 ทรงเกียรติ ปิยะกะ, ชาญวิทย์ เงินศรีตระกูล, อานนท์ วิทยานนท์. จากยาบ้าสู่ยาอีและยาเลิฟ. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43:184-8.
    2.    ธงชัย ทวิชาชาติ,นันทิกา ทวิชาชาติ. ข้อมูลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตต่อปัญหาสุขภาพจิตของคนใน ก.ท.ม. กรุงเทพมหานคร: กรมสุขภาพจิต, 2542.
    3.    ส่วนการพัฒนาระบบข้อมูล. ปัญหายาเสพติดกับปัญหาทางจิตเวช. กรุงเทพมหานคร: สำนักการพัฒนาและป้องกันปัญหายาเสพติด, 2541.
    4.    วาสนา พัฒนกำจร. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาบ้าของนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดราชบุรี. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43:345-57.
    5.    โสภณ เมฆธน, วรรณะ วีระผาสุก. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาบ้าของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงสาธารณสุข, 2539.
    6.    ภิรมย์ กมลรัตนกุล. โครงการศึกษาปัญหาสังคมและสาธารณสุขของคนงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
    7.    Mule SJ, Casella GA. Confirmation of marijuana, cocaine, morphine, codeine, amphetamine, methamphetamine, phencyclidine by GC/MS in urine following immunoassay screening. J Anal Toxicol 1988;12:102-7.
    8.    Gan BK, Baugh D, Liu RH, Walia AS. Simultaneous analysis of amphetamine, methamphetamine, and 3, 4- methylenedioxymethamphetamine (MDMA) in urine samples by solid-phase extraction, derivatization, and gas chromatography/mass spectrometry. J Forensic Sci 1991; 36:1331-41.
    9.    สุธีรา ภัทรายุตวรรตน์,เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา, กนกรัตน์ สุขะตุงคะ. การสร้างเกณฑ์ปกติ สำหรับวัดสุขภาพจิตในคนไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542; 44:285-97.
    10.    Frank H. Gawin MEK, Ellinwood E Jr. Stimulants and related drugs. In: Gabbard, GO,ed. Treatments of psychiatric disorders. 2nd ed. Washington, DC,: American Psychiatric Press, 1995.
    11.    Brewer C. Recent developments in maintenance prescribing and monitoring in the United Kingdom. Bull N Y Acad Med 1995; 72:359-70.
    12.    Hughes RO, Bronner WE, Smith ML. Detection of amphetamine and methamphetamine in urine by gas chromatography/mass spectrometry following derivatization with (-)- menthyl chloroformate. J Anal Toxicol 1991; 15:256-9.
    13.    Hall W HJ, Darke S,Ross. Morbidity and route of administration among amphetamine users in Sydney, Australia. J Psychological 1996; 91:81-7.
    14.    Pettinati HM, Pierce JD Jr, Belden PP, Meyers K. The relationship of Axis II personality disorders to other known predictors of addiction treatment outcome. Am J Addict 1999; 8:136-47.
    15.    McCarthy J. Quantitative urine drug monitoring in methadone programs: potential clinical uses. J Psychoactive Drugs 1994:26;199-206.
    16.    Chemical dependency program: monitoring & evaluation. QRC Advis 1990; 6:7-8.

     ตารางที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของคนงาน

    ตัวแปร

    จำนวน (ร้อยละ)

    การศึกษา ปริญญาตรี

    ป.ว.ช. / ป.ว.ส.

    มัธยมปลาย

    มัธยมต้น

    ประถมศึกษา

    อื่นๆ

    2 (1.2)

    7 (4.1)

    19 (11.2)

    35 (20.6)

    97 (57.1)

    10 (5.9)

    ภูมิลำเนา กรุงเทพมหานคร

    ภาคเหนือ

    ภาคกลาง

    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    อื่นๆ

    9 (5.3)

    16 (9.4)

    22 (12.9)

    114 (67.1)

    9 (5.3)

    สถานที่อยู่ บ้านเช่า

    บ้านตัวเอง

    บ้านพักโรงงาน

    118 (69.4)

    17 (10.0)

    35 (20.6)

    รายได้เฉลี่ยต่อเดือน น้อยกว่า 5,000 บาท

    5,001-10,000 บาท

    มากกว่า 10,000 บาท

    37 (23.1)

    112 (70.0)

    11 (6.9)

    ลักษณะงาน คุมเครื่อง

    บรรจุภัณฑ์

    พนักงาน

    ช่างเชื่อมและประกอบ

    ตรวจสอบ

    อื่นๆ

    39 (23.0)

    14 (8.2)

    23 (13.5)

    38 (22.3)

    11 (6.5)

    45 (26.5)

     

    ตารางที่ 2 ชนิดของสารเสพย์ติดที่ตรวจพบในปัสสาวะคนงาน 170 ราย

    สารเสพย์ติดที่พบในปัสสาวะ

    จำนวน

    ชาย

    หญิง

    แอมเฟตามีน

    9

    9

    -

    แอมเฟตามีน และอนุพันธ์มอร์ฟีน

    1

    1

    -

    อนุพันธ์มอร์ฟีน

    4

    -

    4

    ไม่พบสารแอมเฟตามีน และอนุพันธ์มอร์ฟีน

    156

    70

    86

    รวม

    170

    80

    90

     ตารางที่ 3 ระดับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตจากการประเมินโดย Thai Mental Health Questionnaire แยกตามผู้ใช้และไม่ใช้ยาบ้า

    TMHQ Sub-scale

    กลุ่มคนงาน

    Mean TMHQ sub-score (SD)

    p-value

    ร้อยละ

    p-value

    Anxiety

    ผู้ใช้ยาบ้า

    0.82 (0.36)

    0.76

    28.6

    0.79

    ผู้ไม่ใช้ยาบ้า

    0.79 (0.38)

    32.1

    Depression

    ผู้ใช้ยาบ้า

    0.53 (0.51)

    0.38

    14.3

    0.27

    ผู้ไม่ใช้ยาบ้า

    0.40 (0.31)

    6.4

    Psychosis

    ผู้ใช้ยาบ้า

    0.44 (0.35)

    0.47

    7.1

    0.55

    ผู้ไม่ใช้ยาบ้า

    0.36 (0.31)

    3.8

    Social problem

    ผู้ใช้ยาบ้า

    1.15 (0.49)

    0.83

    71.4

    0.18

    ผู้ไม่ใช้ยาบ้า

    1.12 (0.50)

    52.6

    Somatic

    ผู้ใช้ยาบ้า

    0.74 (0.46)

    0.87

    14.3

    0.58

    ผู้ไม่ใช้ยาบ้า

    0.76 (0.44)

    20.5

     ตารางที่ 4 คะแนนความรู้และเจตคติเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มใช้ยาบ้ากับกลุ่มไม่ได้ใช้ยาบ้า

    คะแนน

    Attitude Score (SD)

    Knowledge Score (SD)

    p-value

    ผู้ใช้ยาบ้า (SD)

    14.36 (1.91)

    15.19 (2.46)

    0.22

    ผู้ไม่ใช้ยาบ้า (SD)

    10.79 (1.85)

    11.29 (0.22)

    0.41

     ตารางที่ 5 ผลการสัมภาษณ์ผู้ใช้ยาบ้าจำนวน 10 ราย

    ลักษณะผู้ใช้ยาบ้า

    ร้อยละ

    สาเหตุที่ใช้

    เพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น

    ชอบสนุก

    เพื่อนชวน

    87.5

    25

    75

    บุคลิกภาพ

    ขี้อาย ไม่มั่นใจตัวเอง

    ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์

    ติดเพื่อน

    ร่าเริง ชอบความสนุก

    46.2

    30.8

    7.7

    15.3

    ลักษณะการปรับตัวต่อปัญหา
  • ท้าทาย และกล้าเผชิญปัญหา

    ท้อถอยยอมจำนน

    ไม่อยากรับรู้

    ปฏิเสธ เก็บกดปัญหา

    หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาที่พบอยู่

    ขอกำลังใจ คำปลอบใจจากคนรอบข้าง

  •                     แก้ไขโดยวิธีลองผิดลองถูก

    12

    8

    16

    12

    12

    24

    16

    แรงจูงใจในการเลิกยาบ้า

    ยอมรับว่าตนเองติดยา

  • ให้ความร่วมมือในการรักษา
  • คิดว่าตนเองมีโอกาสกลับไปติดซ้ำ

    90

    80

    50

    สารเสพย์ติดที่ใช้ร่วมด้วย

    เหล้า

    บุหรี่

    กัญชา

    กระท่อม

    38.9

    38.9

    16.7

    5.5

     

    ตารางที่ 6 การติดตามผลตรวจปัสสาวะ

    เดือนที่ตรวจ

    1

    2

    3

    4

    5

    6

    คนที่ 1

    X

    X

           
    คนที่ 2

    X

     

    x

         
    คนที่ 3

    X

    X

     

    X

    X

    X

    คนที่ 4            
    คนที่ 5            
    คนที่ 6

    X

             
    คนที่ 7            
    คนที่ 8

    X

    X

           
    คนที่ 9

    X

    X

    x

    X

       
    คนที่ 10            

    X = ตรวจพบสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะ

     

     

    Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

    © Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

    Home page Site map Contact us