เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

download in pdf format

ผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าที่รับไว้ในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา*

Patients with Amphetamine Psychosis Admitted at Somdet Chaopraya Hospital*

วสุ จันทรศักดิ์ พ.บ.**

* นำเสนอในที่ประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ.2542 ของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

** โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน กรุงเทพฯ 10600

 บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาข้อมูลในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า (amphetamine psychosis) ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในปีพ.ศ.2541 เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน และเพื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาที่เคยทำมาก่อนในต่างประเทศ

วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาย้อนหลังจากรายงานและเวชระเบียนของผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า ซึ่งรับไว้ในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในปีพ.ศ.2541

ผลการศึกษา ผู้ป่วยที่เข้าได้กับข้อกำหนดในการศึกษาครั้งนี้รวม 209 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุอยู่ในช่วง 20-29 ปี ถูกรับไว้รักษาเนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยมีระยะการเกิดอาการของโรคจิตค่อนข้างเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนมากเสพยาบ้าโดยการสูบในปริมาณ 3-5 เม็ดต่อวันเป็นระยะเวลา 1-3 ปี อาการที่พบบ่อยที่สุดคือความหลงผิดชนิดหวาดระแวงร่วมกับอาการประสาทหลอน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวงเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตโดยทั่วไปได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระยะเวลาในการรับไว้รักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มาติดตามการรักษาพบว่ามีอาการกำเริบประมาณ 1 ใน 3

สรุป การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าส่วนใหญ่มีอาการของโรคจิตชนิดหวาดระแวงแบบเฉียบพลัน คล้ายกับโรคจิตเภท เข้ารับการรักษาเนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ผลของการศึกษาใกล้เคียงกับที่เคยมีรายงานในต่างประเทศ ปริมาณของผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะการแพร่ระบาดของยาบ้า จึงน่าจะมีการวางแผนดำเนินการรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทั้งในด้านการป้องกัน การดูแลรักษา การติดตามการรักษา ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(1): 17-31.

คำสำคัญ ยาบ้า (แอมเฟตามีน) โรคจิตจากยาบ้า (โรคจิตจากแอมเฟตามีน) การเสพติด

 Vasu Chantarasak, M.D.**

* Presented in The Royal College of Psychiatrists of Thailand Annual Meeting 1999.

**Somdet Chaopraya Hospital, Bangkok 10600, Thailand.

Abstract

Objective To study various aspects and characteristics of amphetamine psychosis in order to gain basic information and to compare the results with previous studies from other countries.

Method This retrospective survey was conducted by reviewing the patient records of Somdet Chaopraya Hospital diagnosed as amphetamine psychosis with admission in 1998.

Results Two hundred and nine patients with complete criteria were included in the study. Majority of them were male in their 20's. Most were admitted for their violent behavior with relatively acute symptoms. The patients mostly abused amphetamine by smoking 3 - 5 tablets per day for about 1- 3 years. Most of the patients exhibited paranoid delusions and hallucinations resembling paranoid schizophrenia. Almost all of the patients were treated with conventional antipsychotics with favorable outcomes. Admission periods were about 2 weeks and 1/3 of those who continued to follow up relapsed later on.

Conclusions This study revealed that most of the patients showed symptoms of acute paranoid psychosis resembling schizophrenia and were admitted for their violent behavior. Results of this study were similar to earlier reports from other countries. Number of patients tend to rise steadily following rapid epidemic of amphetamine. There should be plans and strategies to cope with this group of patients in prevention, treatment & follow up and also for future research and study.

J Psychiatr Assoc Thailand 2000; 45(1): 17-31.

Key words : amphetamine, amphetamine psychosis, substance dependence

 บทนำ

“ยาบ้า” เป็นสารเสพย์ติดที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมากในประเทศไทย จากการวิเคราะห์ทางเคมีของยาบ้าจำนวน 335 ตัวอย่าง ซึ่งยึดได้จากแหล่งต่างๆทั่วประเทศ พบว่า 247 ตัวอย่าง (ร้อยละ 73.7) ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) และคาเฟอีน (caffeine) 20.4 ? 4.3 และ 51.3 ? 9.2 มก.% ตามลำดับ ส่วนตัวอย่างที่เหลือพบสารอื่นๆในปริมาณที่แตกต่างกันเช่น เอฟีดรีน (ephedrine) แอมเฟตามีน (amphetamine) และ เฮโรอีน1

ในปัจจุบันพบว่ามีสารอีกหลายชนิดที่สามารถทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น ยาอี (MDMA) โคเคน ยาเค และ hallucinogen ประเภทต่างๆ ซึ่งนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต่อไปอาจถูกเรียกรวมว่าเป็น “ยาบ้า” ด้วยก็ได้ เพื่อลดความสับสนในการอ้างอิงถึงบทความนี้ต่อไปในอนาคต ในบทความนี้ส่วนใหญ่จึงจะใช้คำทับศัพท์ว่า “แอมเฟตามีน” และ ”โรคจิตจากแอมเฟตามีน” ยกเว้นในกรณีที่กล่าวถึงผู้ป่วยในการศึกษานี้จึงจะใช้คำว่า “ยาบ้า” อันหมายถึงยาที่ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบทางเคมีดังที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้นเท่านั้น

การระบาดของยาบ้าหรือแอมเฟตามีน ในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เริ่มมีอัตราเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 และขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 จนปัจจุบัน การสำรวจในปีพ.ศ.2540 พบว่าผู้เสพติดแอมเฟตามีนรายใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนและนักเรียนนักศึกษาถึงร้อยละ 42.82

การเสพติดแอมเฟตามีน (amphetamine dependence) หรือการใช้แอมเฟตามีนในทางที่ผิด (amphetamine abuse) สามารถก่อให้เกิดความแปรปรวนทางจิตใจได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการเป็นพิษ อาการขาดยา ภาวะเพ้อสับสนจากอาการเป็นพิษ (intoxication delirium) โรคอารมณ์แปรปรวน (mood disorder) โรควิตกกังวล ความผิดปกติทางเพศ (sexual dysfunction), ความผิดปกติทางการนอน และที่ร้ายแรงที่สุดคือ โรคจิตจากแอมเฟตามีน (amphetamine-induced psychotic disorder) ซึ่งมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการหลงผิดและประสาทหลอน3

Young และ Scoville4 ได้รายงานผู้ป่วยที่มีอาการของโรคจิตซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรักษา narcolepsy ด้วย benzedrine เป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1938 หลังจากนั้นมีรายงานถึงโรคจิตที่เป็นผลจากการใช้แอมเฟตามีน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อมาเรื่อยๆ ในทศวรรษ 1940–19505,6 แต่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือบทความของ Connell7 เกี่ยวกับโรคจิตจากแอมเฟตามีน ใน Maudsley monograph เมื่อปีค.ศ.1958 ซึ่งได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าอาการของโรคจิตที่เกิดขึ้น เป็นผลเนื่องจากแอมเฟตามีนโดยตรง ไม่ใช่เป็นเพียงการกระตุ้นของโรคจิตที่แอบแฝงอยู่ (latent psychotic state)8,9 หรือการกำเริบของโรคจิตเภท (schizophrenia)10 ดังที่เชื่อกันมาแต่เดิม

รายงานผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าอาการของโรคจิตจากแอมเฟตามีนมีความคล้ายคลึงกับโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง (paranoid schizophrenia) เป็นอย่างมากจนแทบจะแยกกันไม่ออก11-13 Griffith และคณะ14 ได้ทำการศึกษาพบว่าสามารถก่อให้เกิดโรคจิตจากการทดลอง(experimental psychosis) ขึ้นได้ โดยให้อาสาสมัครรับประทานแอมเฟตามีนครั้งละ 10 มก. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกหนึ่งชั่วโมง พบว่าอาสาสมัครทุกรายจะเกิดอาการโรคจิต (psychosis) เมื่อได้รับแอมเฟตามีน ในขนาดตั้งแต่ 120–700 มก. ภายในระยะเวลา 2-5 วัน อาการที่เกิดขึ้นเริ่มต้นด้วย อารมณ์ครื้นเครง (euphoria) และมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยอาการซึมเศร้า แยกตัวเอง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ก่อนที่จะเริ่มมีอาการหวาดระแวง (paranoid) และพัฒนาไปเป็น well organized paranoid delusion ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นร่วมกับประสาทหลอนทางตา และ/หรือทางหู อาการที่เกิดขึ้นคล้ายกับโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง แต่ไม่พบว่ามี " formal " schizophrenic thought disorder ร่วมด้วย อาการทั้งหมดหายไปภายใน 8 ชั่วโมงจนถึง 3 วัน หลังจากหยุดแอมเฟตามีน ต่อมา Angrist และคณะ15 ได้ทำการทดลองที่คล้ายคลึงกัน และสรุปว่าอาการของโรคจิตที่หายไปมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการขับถ่ายของแอมเฟตามีนออกทางปัสสาวะ

อาการของโรคจิตจากแอมเฟตามีนมักปรากฏในรูปแบบของโรคจิตชนิดระแวงแบบเฉียบพลัน (acute paranoid psychosis) โดยมี idea of reference และ influence ซึ่งเริ่มต้นทีละน้อยและพัฒนาอย่างรวดเร็วไปเป็น well-formed paranoid delusion ซึ่งส่วนมากมักมีประสาทหลอนทางตา และ/หรือทางหู เกิดขึ้นร่วมด้วย โดยที่ผู้ป่วยมักมี clear sensorium และ correct orientation6,14-16 นอกจากนั้นยังมีรายงานอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเช่น ประสาทหลอนทางผิวสัมผัส (โดยเฉพาะในรูปแบบของ delusional parasitosis)17, change in body image, มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น กระวนกระวาย แพนิค18 บางรายอาจจะพบประสาทหลอนทางจมูก ความต้องการทางเพศเพิ่ม16 มีพฤติกรรมย้ำทำ ทำซ้ำๆ (repetitious) และ stereotyped behavior19 อาการของโรคจิตจากแอมเฟตามีนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าว และก่อให้เกิดความรุนแรงรวมถึงการทำร้ายร่างกายบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาชญากรรม และเป็นอันตรายต่อผู้อื่นรวมทั้งสังคมโดยส่วนรวม20, 21

การรักษาผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน คล้ายคลึงกับการรักษาผู้ป่วยโรคจิตโดยทั่วไป ถ้ามีอาการรุนแรงอาจต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจสภาพจิต เพื่อแยกโรคทางกายและทางจิต รวมทั้งสารเสพย์ติดอื่นๆ ที่ผู้ป่วยอาจจะใช้ร่วมด้วย การใช้ยารักษาโรคจิต (antipsychotic) เช่น haloperidol, phenothiazine, trifluoperazine หรือ thioridazine ซึ่งเป็น dopamine antagonist ในขนาดปานกลาง มักจะช่วยลดอาการของโรคจิตได้ผลดีพอๆ กัน18 โดยมากผู้ป่วยมักจะต้องการใช้ยาในระยะสั้นเพียง 3–5 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่แอมเฟตามีนจะถูกขับออกจากร่างกายจนหมด22,23 บางตำราแนะนำให้ใช้ ammonium chloride ในการทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดเพื่อเร่งการขับถ่ายของแอมเฟตามีน ซึ่งอาจช่วยลดระยะของอาการโรคจิตลงได้ด้วย17 ผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีนส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 24–48 ชั่วโมง หลังจากหยุดใช้แอมเฟตามีน โดยที่อาการประสาทหลอนจะเริ่มหายไปก่อน จากนั้นอาการหลงผิดจึงค่อยๆ ลดลงตามมาภายใน 7–10 วัน แต่บางครั้งอาการหลงผิดอาจจะยังคงอยู่ต่อไปได้นานนับปี18

Robinson และคณะ24 พบว่าแอมเฟตามีนสามารถกระตุ้นให้เกิด hypersensitivity ของ dopamine receptor ในระยะยาว ซึ่งทำให้มีแนวโน้มในการเกิดกำเริบของโรคจิตชนิดหวาดระแวงขึ้นได้ง่ายเมื่อกลับมาเสพแอมเฟตามีนอีก แม้ในขนาดต่ำๆ25 หรืออาจมีอาการของโรคจิตกำเริบขึ้นได้เมื่อมีความกดดันทางจิตใจ แม้จะไม่ได้ใช้แอมเฟตามีนอีกก็ตาม26

เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของยาบ้าเพิ่มขึ้นมากในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบัน2 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาได้รับผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในปีพ.ศ.2537 ทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าไว้รักษาเพียง 1 ราย; ปีพ.ศ.2538 รับไว้จำนวน 7 ราย; ปีพ.ศ.2539 จำนวน 69 ราย; ปีพ.ศ.2540 จำนวน 118 ราย และในปีพ.ศ.2541 ได้รับผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าไว้รักษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเป็น 280 ราย (แผนภูมิที่1)

เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงมากจนน่าเป็นห่วง ผู้ทำการวิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล และเพื่อศึกษาถึงลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อประโยชน์สำหรับการวางแผนในการให้การวินิจฉัย การรักษา การติดตามการรักษา ตลอดจนการเฝ้าระวังป้องกันในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า และเพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้กับผลการศึกษาที่เคยมีรายงานจากต่างประเทศ

วัสดุและวิธีการศึกษา

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง (retrospective study) จากรายงาน และเวชระเบียนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม พ.ศ.2541 ซึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตจากยาบ้า (amphetamine psychosis) ตาม ICD-1027 ในกลุ่มของ F15.5 Mental and behavioral disorders due to the use of other stimulants; including caffeine with psychotic disorder ซึ่งมีประวัติการใช้ยาบ้าอย่างชัดเจนก่อนเข้ารับการรักษาโดยมีเกณฑ์เพิ่มเติมในการเลือกผู้ป่วยเพื่อการศึกษา ดังนี้

1. ในกรณีที่มีการรับผู้ป่วยรายนั้นไว้รักษามากกว่า 1 ครั้งภายในปีพ.ศ.2541 จะเลือกเก็บข้อมูลศึกษาเฉพาะการรับไว้รักษาครั้งแรก ต่อจากนั้นจะถือเป็นข้อมูลในระยะของการติดตามการรักษา

2. ผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคทางจิตเวชประเภทอื่นร่วมด้วย เช่น โรคจิตเภท หรือโรคอารมณ์แปรปรวน จะถูกคัดออกจากการศึกษา (ยกเว้นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็น acute and unspecified psychosis หรือ substance abuse ยังสามารถนำมาศึกษาได้)

การรวบรวมข้อมูลใช้แบบสำรวจที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วย ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเสพย์ติด ลักษณะการมารับการรักษา อาการของผู้ป่วย (ดัดแปลงจาก BPRS28 รวม 24 อาการ) วิธีการรักษา ผลการรักษา และการติดตามการรักษา นอกจากนั้นยังได้ทำการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตจากแอมเฟตามีนจากตำราและวารสารทางวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ

ผลการศึกษา

ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาด้วยการวินิจฉัยเป็นโรคจิตจากยาบ้าระหว่าง 1 มกราคม–31 ธันวาคม พ.ศ.2541 รวม 280 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าได้กับเกณฑ์คัดเลือกในการศึกษาครั้งนี้รวม 209 ราย (ตารางที่ 1) เป็นผู้ป่วยเพศชาย 180 ราย (ร้อยละ 86.1) เพศหญิง 29 ราย (ร้อยละ13.9) คิดเป็นอัตราส่วน เพศชาย : เพศหญิง = 6.2:1 อายุของผู้ป่วยมากที่สุด 46 ปี อายุน้อยที่สุด 14 ปี (โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาไม่รับผู้ป่วยเด็ก) อายุเฉลี่ย 24.3 ปี ช่วงอายุของผู้ป่วยที่พบมากที่สุดคือ 20-29 ปี (ร้อยละ 53.6) รองลงมาเป็นช่วงอายุ ? 19 ปี (ร้อยละ 26.3) สถานภาพสมรส ส่วนใหญ่เป็นโสด (ร้อยละ 59.3) ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 56.4) และร้อยละ 1 เป็นชาวต่างชาติ การศึกษาระดับประถมและมัธยมพบพอๆ กัน เศรษฐฐานะส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 76.6) พบว่ามีผู้ที่ว่างงาน หรือไม่มีอาชีพชัดเจนถึงร้อยละ 41.2 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างร้อยละ 32.5

ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (ตารางที่ 2) ส่วนใหญ่บิดามารดา และญาติเป็นผู้นำส่งถึงร้อยละ 70.8 รองลงมาเป็นตำรวจนำส่งร้อยละ 15.3 อาการสำคัญที่นำมาสู่การรักษาในโรงพยาบาลที่พบมากที่สุดคือ อาการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งรวมถึงอาการเอะอะอาละวาด วุ่นวาย คลุ้มคลั่ง พบถึงร้อยละ 49.3 รองลงมาเป็นอาการเพ้อเจ้อ (ร้อยละ 22.5) อาการหวาดระแวง (ร้อยละ 18.2) ส่วนใหญ่เป็นการรับไว้รักษาครั้งแรกถึงร้อยละ 81.8 นอกนั้นเป็นการรับไว้รักษาหลายครั้ง จำนวนครั้งของการรับไว้รักษามากที่สุดคือ 6 ครั้ง ระยะเวลาที่มีอาการทางจิตก่อนมารับการรักษา ส่วนใหญ่มีอาการเป็นแบบเฉียบพลัน มีอาการทางจิต ? 7 วัน ร้อยละ 57.4 รองลงมาคือระยะ > 7 วัน–1 เดือน ร้อยละ 25.4 ผู้ป่วยเคยมีประวัติได้รับการรักษาทางจิตเวช รวมทั้งการรักษาเกี่ยวกับสารเสพย์ติดมาก่อนถึงร้อยละ 42.1

ประวัติการใช้สารเสพย์ติด (ตารางที่ 3) เท่าที่ได้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือนัก เนื่องจากมีความขัดแย้งกันระหว่างการให้ประวัติของญาติและตัวผู้ป่วยเองค่อนข้างมาก จากที่พอสรุปได้พบว่าการใช้ยาบ้ามีปริมาณที่ใช้ไม่แน่นอนร้อยละ 46.4 รองลงมาเป็นการใช้ในขนาด 3–5 เม็ดต่อวัน (บางรายใช้ไม่ถึง 1 เม็ดต่อวัน) ระยะเวลาที่ใช้ยาบ้า ส่วนใหญ่ใช้มานาน > 1–3 ปี คิดเป็นร้อยละ 33.5 รองลงมาเป็นระยะเวลา > 6–12 เดือน วิธีเสพยาบ้า ผู้ป่วยใช้วิธีสูบมากที่สุดถึงร้อยละ 68.9 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการใช้ หรือเคยใช้สารเสพย์ติดอื่นๆ ร่วมด้วย ที่พบมากที่สุดคือบุหรี่ พบถึงร้อยละ 84.2 รองลงมาเป็นสุราร้อยละ 43.1 กัญชาร้อยละ 25.8 นอกจากนั้นยังมีการใช้เฮโรอีน สารระเหย และยานอนหลับร่วมด้วย

ผลการตรวจหาแอมเฟตามีนในปัสสาวะ ซึ่งได้ทำการตรวจในผู้ป่วย 124 ราย (ร้อยละ 59.3 ของผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด) พบว่ามีสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะร้อยละ 55.7 และไม่พบสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะร้อยละ 44.3 (ของตัวอย่างที่ส่งตรวจ) ผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการตรวจ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรุนแรงมากจนไม่สามารถเก็บตัวอย่างปัสสาวะได้ และอีกส่วนหนึ่งอาจยังไม่ทราบประวัติการใช้ยาบ้าขณะรับไว้รักษา แพทย์จึงไม่ได้สั่งตรวจ

อาการและอาการแสดงของผู้ป่วย (ตารางที่ 4) ประเมินตามแบบสำรวจที่ดัดแปลงมาจากBrief Psychiatric Rating Scale (BPRS)28 พบว่าผู้ป่วยมีอาการระแวง (paranoid) ถึงระดับของความหลงผิดมากที่สุดถึงร้อยละ 85.6 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดกลัวคนกลั่นแกล้งทำร้าย รองลงมาเป็นชนิดระแวงว่าคู่ครองนอกใจ และรูปแบบอื่นๆ อาการที่พบรองลงมาคืออาการประสาทหลอนพบร้อยละ 77.0 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหลอน พบเป็นประสาทหลอนทางหูอย่างเดียวร้อยละ 59.6 พบทั้งประสาทหลอนทางหูและประสาทหลอนทางตาร่วมกันร้อยละ 29.8 และประสาทหลอนทางตาอย่างเดียวร้อยละ 10.6 อาการที่พบบ่อยถัดมาคือ hostility ร้อยละ 65.0 และ uncooperativeness ร้อยละ 56.9 นอกจากนั้นยังมีอาการอื่นๆ เช่น unusual thought content, self neglect, bizarre behavior, excitement รองลงมาตามลำดับ พบว่าผู้ป่วยมี disorientation ร้อยละ 12.0 ผู้ป่วยที่มีอาการ mannerisms และ posturing รวมถึง stereotype behavior เช่น การรื้อค้นข้าวของ รื้อสายไฟ เปิดๆ ปิดๆ น้ำ แกะงัดบ้าน โดยเป็นการกระทำซ้ำๆ กันอย่างไร้เหตุผล พบเพียงร้อยละ 5.3

การรักษา (ตารางที่ 5) ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตถึงร้อยละ 98.6 ยาที่ใช้บ่อยที่สุดคือ haloperidol ใช้ในผู้ป่วยร้อยละ 58 รองลงมาเป็น chlorpromazine และ perphenazine สำหรับยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ (atypical antipsychotic) มีการใช้ risperidone ในผู้ป่วยเพียง 1 ราย และมีการใช้ antiparkinsonian drug ร่วมด้วยถึงร้อยละ 91.9 นอกจากนั้นยังมีการใช้ antidepressants, anxiolytics, mood stabilizer และยาอื่นๆ ร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive treatment: ECT) รวม 16 ราย (ร้อยละ 7.7) และกลุ่มผู้ป่วยวัยรุ่นได้รับการทำจิตบำบัดแบบกลุ่มในฝ่ายจิตเวชวัยรุ่น รวม 20 ราย (ร้อยละ 9.6)

ระยะเวลาที่รับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาระหว่าง 10-31 วัน คิดเป็นร้อยละ 49.3 รองลงมาใช้ระยะเวลา < 10 วัน คิดเป็นร้อยละ 34.9 ระยะเวลาที่อยู่โรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 16.3 วัน ผู้ที่อยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่า 1 เดือนคิดเป็นร้อยละ 15.8 สำหรับอาการของผู้ป่วยขณะจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ได้รับการประเมินว่ามีอาการดีขึ้นมากร้อยละ 54.6 รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีอาการดีขึ้นปานกลางร้อยละ 33 การติดตามการรักษาของผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาที่ทำการวิจัย พบว่ามีผู้ป่วยที่ขาดการติดตามการรักษา 88 ราย (ร้อยละ 42.1) ส่วนที่มาติดตามการรักษาในปีพ.ศ.2541 รวม 121 ราย (ร้อยละ 57.9) พบว่าอาการดีขึ้น และหยุดใช้ยาบ้าได้ร้อยละ 38.8 ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบ และจำเป็นต้องรับไว้รักษาอีกร้อยละ 31.4 อาการดีขึ้นแต่ยังใช้ยาบ้าอยู่ร้อยละ 18.2 (ของผู้ที่มาติดตามการรักษาทั้งหมด) นอกจากนั้นเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ และผู้ป่วยที่ถูกจับด้วยความผิดทางกฎหมาย หรือถูกส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนิติจิตเวช

วิจารณ์

การศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า (amphetamine psychosis) ในประเทศไทยมีการรายงานเป็นครั้งแรกโดย สมภพ เรืองตระกูล และคณะ29 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2522 โดยเป็นการรายงานผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีนจำนวน 2 รายซึ่งมารับการรักษาด้วยอาการของโรคจิตชนิดหวาดระแวงร่วมกับอาการประสาทหลอนทางหูและทางตา ส่วนการศึกษาในต่างประเทศเมื่อปีค.ศ.1954 Herman และ Nagler6 ได้รายงานผู้ป่วยโรคจิตที่เกิดจากการใช้ benzedrine จำนวน 8 ราย ซึ่งมีอาการหวาดระแวงร่วมกับประสาทหลอนทางหูและทางตา รวมทั้งอาการเอะอะอาละวาด ปีค.ศ.1967 Ellinwood16 รายงานผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีนจำนวน 10 ราย ทั้งหมดมีอาการหวาดระแวงหลงผิดว่าจะมีผู้มาทำร้ายร่วมกับประสาทหลอนทางหูและทางตา แต่การศึกษาที่ได้กระทำในผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีนจำนวนมากในระยะเวลาที่ต่อเนื่องคือ การศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการแพร่ระบาดของแอมเฟตามีนเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่ปีค.ศ.1946 จนถึงปัจจุบัน การศึกษาของ Sato23 ในผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีนที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวชของประเทศญี่ปุ่นรวม 21 แห่ง ระหว่างปีค.ศ.1983-1984 จำนวน 246 ราย ผลที่ได้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาครั้งนี้ได้หลายประการ (ตารางที่ 6)

การศึกษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา พบว่ามีอัตราส่วนของผู้ป่วยเพศชาย : เพศหญิง = 6.2 : 1 ในขณะที่การศึกษาของ Sato พบอัตราส่วน เพศชาย : เพศหญิง = 7.5 : 1 สำหรับช่วงอายุของผู้ป่วย การศึกษาของ Sato พบว่าผู้ป่วยมีช่วงอายุ 30–39 ปี มากที่สุด รองลงมาเป็นช่วงอายุ 20–29 ปี น้อยกว่า 19 ปี และช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ตามลำดับ ในขณะที่การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ป่วยมีช่วงอายุ 20–29 ปี มากที่สุด รองลงมาเป็นช่วงอายุน้อยกว่า 19 ปี 30–39 ปี และช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะผู้ป่วยของเรามีช่วงอายุน้อยกว่าผลการศึกษาของ Sato ในญี่ปุ่น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว และวัยรุ่น ยืนยันถึงการแพร่ระบาดของยาบ้าในกลุ่มเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานระยะต้น ซึ่งคนเหล่านี้คืออนาคตของประเทศชาติ ระดับการศึกษาของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมและระดับประถม เศรษฐฐานะค่อนข้างต่ำ และผู้ป่วยส่วนมากว่างงาน หรือมีอาชีพรับจ้าง มีรายได้ไม่แน่นอน บางรายมีอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจการค้ายาบ้าเสียเอง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาต่อญาติพี่น้องและสังคมโดยรวม เนื่องจากมีรายได้ต่ำแต่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อสารเสพย์ติด จึงอาจจะเป็นสาเหตุให้ก่ออาชญากรรมได้อีกทางหนึ่ง

ผู้นำส่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นญาติสนิทโดยเฉพาะบิดามารดา ส่วนหนึ่งถูกนำส่งโดยตำรวจและอาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆ ด้วยอาการสำคัญคือ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และพฤติกรรมซึ่งมีสาเหตุมาจากความหวาดระแวง ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อคนรอบข้าง และบางครั้งอาจจะถึงกับเป็นอาชญากรรม ดังที่พบตามข่าวจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เป็นประจำ การศึกษาของ ไต้หวัน20 ในกลุ่มอาชญากร 34 รายที่เสพติดแอมเฟตามีน พบว่าผู้ที่ก่ออาชญากรรมรุนแรงต่อบุคคลอื่นมักจะมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย เช่นเดียวกับการศึกษาของ Ellinwood21 ซึ่งพบว่าการทำร้ายร่างกายและการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นขณะอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอมเฟตามีน มักจะมีความเกี่ยวพันกับความคิดหวาดระแวง แพนิค อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือควบคุมตนเองได้ต่ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากแอมเฟตามีน

ผู้ป่วยที่ศึกษาส่วนใหญ่ถูกรับไว้รักษาเป็นครั้งแรกประมาณร้อยละ 80 ที่เหลือถูกรับไว้รักษามากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งแสดงถึงการกำเริบของโรคขึ้นอีก จำนวนครั้งที่รับไว้มากที่สุดถึง 6 ครั้ง ระยะเวลาที่มีอาการก่อนรับไว้รักษาค่อนข้างเฉียบพลัน มากกว่าครึ่งหนึ่งมีอาการทางจิตเพียง 7 วันหรือน้อยกว่านั้น ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 40 เคยมีประวัติการรักษาทางจิตเวชหรือสารเสพย์ติดมาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งของผู้ป่วย ก่อนที่จะเกิดอาการของโรคจิต

ประวัติการใช้ยาบ้าค่อนข้างไม่น่าเชื่อถือ แต่พอสรุปได้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เสพยาบ้ามานานราว 1–3 ปี เทียบกับการศึกษาที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีประวัติการเสพแอมเฟตามีนมานาน 1–4 ปี ผู้ป่วยของเราใช้ยาบ้าประมาณ 3–5 เม็ดต่อวัน เทียบได้ประมาณ 60-100 มก.ของเมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) ในขณะที่ผู้ป่วยของญี่ปุ่นใช้เมทแอมเฟตามีนในขนาด 30-90 มก. ต่อการฉีดแต่ละครั้ง ซึ่งผู้เสพอาจจะฉีดแอมเฟตามีน วันละตั้งแต่ 1 ครั้ง จนถึงมากกว่า 10 ครั้ง วิธีการเสพของคนไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีสูบ แต่ที่ญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดใช้วิธีฉีด ทำให้ใช้ในขนาดที่สูงกว่าของเรามาก น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตอาจจะมีการใช้แอมเฟตามีนในรูปแบบการฉีดมากขึ้นในประเทศไทยทำให้มีการเพิ่มขนาดสูงขึ้นได้อีกมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นสาเหตุให้มีปัญหาโรคจิตจากยาบ้าเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ HIV อย่างรุนแรงอีกด้วย

ประวัติการใช้สารเสพย์ติดอื่นร่วมกับยาบ้า การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 มีการใช้สารเสพย์ติดอื่นร่วมด้วย (ส่วนใหญ่ใช้มากกว่า 1 ชนิด) โดยพบว่ามีการใช้บุหรี่มากที่สุด รองลงมาเป็น สุรา กัญชา เฮโรอีน และสารระเหย ตามลำดับ ในขณะที่การศึกษาของญี่ปุ่นพบว่า มีการใช้สารเสพย์ติดอื่นร่วมด้วยร้อยละ 66 โดยมีการใช้สุรามากที่สุด รองลงมาเป็นสารระเหย ยานอนหลับ และสารเสพย์ติดอื่นๆ (ไม่ได้รวมการใช้บุหรี่ไว้ด้วย) สันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ที่บุหรี่อาจจะเป็นสารเสพย์ติดพื้นฐานที่นำไปสู่การใช้สารเสพย์ติดอื่นๆ รวมทั้งการเสพยาบ้าด้วยการสูบ ผู้ใช้สารเสพย์ติดอาจจะใช้สารเสพย์ติดอื่นร่วมด้วยเพื่อเสริมฤทธิ์ทางจิตใจ หรือเพื่อลดอาการอันไม่พึงประสงค์ ตลอดจนเป็นการทดแทนเมื่อขาดแคลนสารที่ใช้เป็นประจำ

การตรวจหาแอมเฟตามีนในปัสสาวะ พบว่ามีผลเป็นบวกประมาณครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะแอมเฟตามีนถูกขับถ่ายทางไต และสามารถตรวจพบในปัสสาวะได้เพียงประมาณ 3-5 วันหลังจากหยุดเสพ ในขณะที่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการของโรคจิตต่อไปได้อีกเป็นเวลานานหลังจากนั้น26 อย่างไรก็ตาม การตรวจหาแอมเฟตามีนในปัสสาวะเป็นประจำ (urine amphetamine screening) ในผู้ป่วยโรคจิตที่มีอาการเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยที่ไม่ทราบประวัติชัดเจน ตลอดจนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้สารเสพย์ติด น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยในการวินิจฉัยและการเฝ้าระวัง เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการแพร่ระบาดของแอมเฟตามีน

อาการของโรคจิตจากแอมเฟตามีน มักจะมีลักษณะของโรคจิตชนิดระแวงแบบเฉียบพลัน โดยมีความหลงผิดชนิดหวาดระแวง ร่วมกับอาการประสาทหลอนทางหู และ/หรือทางตา และมักจะไม่พบ disorientation ร่วมด้วย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง (paranoid schizophrenia) จนแทบจะแยกกันไม่ออก11,12,13 แต่มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า โรคจิตจากแอมเฟตามีน มีอาการบางอย่างแตกต่างจากโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง เช่นการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งแทนที่จะเป็นอารมณ์เฉยชา หรืออารมณ์ไม่เหมาะสมเหมือนในโรคจิตเภท กลับมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย (labile) ค่อนข้างไปทางวิตกกังวล และบางรายมีอารมณ์ครื้นเครง (euphoria, elation) ร่วมด้วย14,29 นอกจากนั้นยังพบว่าโรคจิตจากแอมเฟตามีน มักไม่ค่อยพบ formal schizophrenic thought disorder แต่มักจะพบประสาทหลอนทางตาและทางสัมผัส รวมทั้ง compulsive, stereotyped behavior บ่อยกว่าที่พบในโรคจิตเภท14,19 การศึกษาของ Sato23 เกี่ยวกับอาการทางจิตในผู้ป่วย โรคจิตจากแอมเฟตามีน 21 ราย พบว่าผู้ป่วยมีความหลงผิดแบบหวาดระแวงทุกราย มีประสาทหลอนทางหูร้อยละ 76.2 ประสาทหลอนทางตาร้อยละ 38.1 อาการหลงผิดชนิดแปลกประหลาด (bizarre delusion) ร้อยละ 23.8 พูดจาวกวนสับสน (incoherence and loosening of association) ร้อยละ 19.0

การศึกษาในครั้งนี้ได้ใช้อาการที่ดัดแปลงจาก Brief Psychiatric Rating Scale (BPRS)28 รวม 24 อาการ เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วย ปรากฏว่าอาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการระเแวง (paranoid delusion) พบถึงร้อยละ 85.6 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือ อาการประสาทหลอน พบถึงร้อยละ 77 ในจำนวนนี้เป็นประสาทหลอนทางหูมากที่สุด นอกจากนั้นเป็นประสาทหลอนทางตาหรือทั้งสองชนิดร่วมกัน ซึ่งคล้ายกับที่พบในการศึกษาอื่นๆ16,23,26 แต่ไม่พบประสาทหลอนทางสัมผัสในผู้ป่วยที่ศึกษาเลย อาการที่พบมากเช่นกันคือ hostility และ uncooperativeness พบประมาณร้อยละ 60 ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษา เนื่องจากอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยมีเนื้อหาความคิดต่างไปจากปกติ (unusual thought content) ไม่สนใจดูแลตนเอง และพฤติกรรมแปลกๆร่วมด้วยราวๆ ร้อยละ 35-40 ซึ่งคล้ายกับอาการที่พบในโรคจิตเภท ในส่วนของอาการทางด้านอารมณ์ในผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน พบว่ามีอาการวิตกกังวล ตึงเครียด และซึมเศร้าปริมาณพอๆ กันประมาณร้อยละ 20 และมีความคิดอยากตายร่วมด้วยในปริมาณใกล้เคียงกัน ส่วนอาการรู้สึกว่ามีความสามารถเกินจริง อารมณ์ครื้นเครง และอาการวอกแวก (distractibility) พบได้น้อยกว่า การศึกษาครั้งนี้พบผู้ป่วยที่มี disorientation ร้อยละ 12 ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากแอมเฟตามีนโดยตรงหรือมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น การใช้สารเสพย์ติดหลายชนิด หรือความเจ็บป่วยทางกายของผู้ป่วยเอง นอกจากนั้นยังพบมีพฤติกรรมซ้ำๆ (mannerism, posturing, stereotype behavior) แต่พบไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะอาการเหล่านี้มักสังเกตได้ชัดเจนในระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะมีอาการของโรคจิต แต่ก็เป็นการสนับสนุน behavioral toxicity ของแอมเฟตามีนได้ส่วนหนึ่ง19,30,31

การรักษาผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน ใช้หลักในการรักษาโรคจิตโดยทั่วไป ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดได้รับยารักษาโรคจิตโดยทั่วไป ร่วมกับการให้ antiparkinsonian drug ซึ่งพบว่าได้ผลดีในการลดอาการหลงผิดและประสาทหลอนรวมทั้งอาการอื่นๆ ของโรคจิต ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วย อาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้เศร้าหรือ mood stabilizer ร่วมด้วย การตอบสนองต่อการรักษาโดยทั่วไปค่อนข้างดี มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่จำเป็นต้องทำการรักษาด้วยไฟฟ้า

การศึกษาของ Sato และคณะ26 ในประเทศญี่ปุ่นได้จัดแบ่งการดำเนินโรคของโรคจิตจากแอมเฟตามีนไว้เป็น 3 แบบ แบบแรกอาการของโรคจิตหายไปภายใน 10 วัน เรียกว่า transient type พบร้อยละ 64 ของผู้ป่วย แบบที่สองผู้ป่วยมีอาการของโรคจิตระหว่าง 10–31 วัน เรียกว่า prolonged type พบร้อยละ 18 ของผู้ป่วย และแบบสุดท้าย ผู้ป่วยมีอาการของโรคจิตอยู่เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เรียกว่า persistent type พบร้อยละ 18 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคจิตคงอยู่เป็นเวลานานหลายเดือน หรือหลายปี แม้ว่าการขับถ่ายของแอมเฟตามีนทางปัสสาวะจะหมดสิ้นไปภายใน 3–5 วัน

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ พบผู้ป่วย transient type เพียงร้อยละ 34.9 ผู้ป่วย prolonged type พบร้อยละ 49.3 และผู้ป่วย persistent type มีเพียงร้อยละ 15.8 ความแตกต่างที่เกิดขึ้นอาจจะเนื่องมาจากกระบวนการในการจำหน่ายผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังจากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว ก่อนที่แพทย์จะสั่งจำหน่ายผู้ป่วย และติดตามญาติมารับ ทำให้ผู้ป่วยมีระยะการอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น แต่เมื่อรวมผู้ป่วยทั้งหมดที่จำหน่ายได้ภายใน 1 เดือน ร้อยละ 84.2 พบว่าใกล้เคียงกับการศึกษาของ Sato และคณะ26 ซึ่งพบว่าอาการของโรคจิตชนิดหวาดระแวงในผู้ป่วยร้อยละ 82 หายไปภายใน 1 เดือน

ผู้ป่วยที่มาติดตามการรักษามีเพียงร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด พบว่าผู้ป่วยที่มาติดตามการรักษาประมาณ 2 ใน 3 มีอาการดีขึ้น แม้ว่าบางรายยังไม่สามารถหยุดเสพยาบ้าได้ก็ตาม ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 กลับมีอาการกำเริบและต้องรับไว้รักษาซ้ำอีก ซึ่งน้อยกว่าการศึกษาในญี่ปุ่นที่พบมีอาการกำเริบมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด (ร้อยละ 65) ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะระยะเวลาในการติดตามการรักษาของการศึกษานี้ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับการที่มีผู้ป่วยขาดการติดตามการรักษาจำนวนมากทำให้สรุปผลได้ยาก การศึกษาของ Sato23 ยังพบอีกว่ายารักษาโรคจิตขนาดต่ำๆ สามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้แม้ผู้ป่วยจะกลับไปใช้แอมเฟตามีนอีก การติดตามการรักษาจึงมีความสำคัญ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมากแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกลับไปใช้ยาบ้าอีก

การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากเป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง ทำให้การควบคุมตัวแปรต่างๆ ค่อนข้างยาก อคติหรือความผิดพลาดเกี่ยวกับข้อมูลอาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะเช่น การที่ข้อมูลบางอย่างไม่ได้ถูกถามหรือประเมิน และข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ได้ระบุไว้ในเวชระเบียน เป็นต้น นอกจากนั้น การที่ไม่มีกลุ่มควบคุม (control group) ทำให้การเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคจิตชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะโรคจิตเภทยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้น่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐาน และเป็นแนวทางให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

สรุป

การศึกษาผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าที่รับไว้ในปีพ.ศ.2541 พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุค่อนข้างน้อยมาโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญคือ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง มีประวัติการเสพยาบ้านาน 1-3 ปี โดยใช้วิธีสูบวันละ 3-5 เม็ด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการใช้สารเสพย์ติดอื่นร่วมด้วย และเคยได้รับการรักษาทางจิตเวชหรือสารเสพย์ติดมาก่อน อาการที่พบเป็นลักษณะของโรคจิตชนิดระแวงแบบเฉียบพลัน ร่วมกับอาการประสาทหลอนทางหู และ/หรือทางตา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโรคจิตเภทชนิดระแวงเป็นอย่างมาก การรักษาผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคจิตทั่วไปได้ผลค่อนข้างดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ภายในสองสัปดาห์ การติดตามการรักษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น และพบว่ามีอาการกำเริบประมาณ 1 ใน 3 การศึกษาในครั้งนี้มีผลใกล้เคียงกับการศึกษาที่เคยทำในประเทศญี่ปุ่นหลายรายงาน ทั้งข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับสารเสพย์ติด อาการ และผลการรักษา

การแพร่ระบาดของยาบ้าในประเทศไทยอย่างรุนแรงในปัจจุบัน น่าจะก่อให้เกิดปัญหาของโรคจิตจากยาบ้าเพิ่มขึ้นอีก จึงควรจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม และเผยแพร่ความรู้ที่ได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1. Palanuvej C, Issaravanich S, Rungphitackchai B, et al. Chemical analysis of illicit amphetamines. Thai Journal of Health Research 1997; 11: 73-80.

2. วิชัย โปษยะจินดา, วิภา ด่านธำรงกุล, อุษณีย์ พึ่งปาน. การเปลี่ยนแปลงการใช้สารเสพย์ติดใน ทศวรรษ1990 ในกลุ่มประเทศอาเซียน. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43: 136-49.

3. Kaplan HI, Sadock BJ. Synopsis of psychiatry : behavioral sciences, clinical psychiatry. 8th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1998: 407-12.

4. Young D, Scoville WB. Paranoid psychosis in narcolepsy and possible dangers of benzedrine treatment. Med Clin North Am 1938; 22: 637-43.

5. Carr RB. Acute psychotic reaction after inhaling methylamphetamine. Br Med J 1954; 1: 1476.

6. Herman M, Nagler SH. Psychosis due to amphetamine. J Nerv Ment Dis 1954; 120: 268-72.

7. Conell PH. Amphetamine psychosis. Maudsley monograph # 5. London: Oxford University Press, 1958.

8. Breamish P, Kiloh L. Psychosis due to amphetamine consumption. J Ment Sci 1960; 106: 337-44.

9. Hampton WH. Observed psychiatric reactions following use of amphetamine-like substances. Bull NY Acad Med 1961; 37: 167-75.

10. Chapman AH. Paranoid psychosis associated with amphetamine usage: A clinical note. Am J Psychiatry 1954; 111: 43-5.

11. Ellinwood EH. Amphetamine psychosis: A multi-dimensional process. Semin Psychiatry 1969; 1: 208-26.

12. Bell DS. Comparison of amphetamine psychosis and schizophrenia. Br J Psychiatry 1965; 111: 701-7.

13. Snyder SH. Catecholamines in the brain as mediators of amphetamine psychosis. Arch Gen Psychiatry 1972; 27: 169-79.

14. Griffith JD, Cavanaugh JH, Held J, et al. Experimental psychosis induced by the administration of d-amphetamine. In: Costa E, Garattini S, eds. Amphetamine and related compounds. New York: Raven Press, 1970: 897-904.

15. Angrist BM, Gershon S. The phenomenology of experimentally induced amphetamine psychosis: Preliminary observations. Biol Psychiatry 1970; 2: 95-107.

16. Ellinwood EH. Amphetamine psychosis: I. Description of the individuals and process. J Nerv Ment Dis 1967; 144: 273-83.

17. Tinklenberg JR. The treatment of amphetamine psychosis. In: Bourne PG, ed. A treatment manual for acute drug abuse emergencies. Washington DC: U.S. Government Printing Office, 1976: 123-30.

18. Ellinwood EH Jr. Emergency treatment of adverse reaction to CNS stimulants. In: Bourne PG, ed. A treatment manual for acute drug abuse emergencies. Washington DC: U.S. Government Printing Office, 1976: 115-22.

19. Ellinwood EH, Sudilovsky A, Nelson L. Evolving behavior in the clinical and experimental amphetamine (model) psychosis. Am J Psychiatry 1973; 130: 1088-93.

20. Yeh TW, Chou JY, Yu JM, Yang TW, Chen CC, Hu WH. Forensic study of 34 cases with amphetamine use disorder. Taiwanese Journal of Psychiatry 1998; 12: 320-31.

21. Ellinwood EH. Assualt and homicide associated with amphetamine abuse. Am J Psychiatry 1971; 127: 1170-5.

22. Schuckit MA. Stimulants. In: Schuckit MA, ed. Drug and alcohol abuse, a clinical guide to diagnosis and treatment. New York: Plenum Medical Book Company, 1979: 66-81.

23. Sato M. Psychotoxic manifestations in amphetamine abuse. Psychopharmacol Bulletin 1986; 22: 751-6.

24. Robinson TE, Jurson PA, Bennett JA, Bentgen KM. Persistent sensitization of dopamine neurotransmission in ventral striatum (nucleus accumbens) produced by prior experience with (+)-amphetamine: A microdialysis study in freely moving rats. Brain Res 1988; 462: 211-22.

25. Sato M, Chen CC, Akiyama K, Otsuki S. Acute exacerbation of paranoid psychotic state after longterm abstinence in patients with previous methamphetamine psychosis. Biol Psychiatry 1983; 18: 429-40.

26. Sato M, Numachi Y, Hamamura T. Relapse of paranoid psychotic state in methamphetamine model of schizophrenia. Schizophr Bull 1992; 18: 115-22.

27. World Health Organization. The ICD-10 Classification of mental and behavioural disorders: clinical description and diagnostic guidelines. Geneva: World Health Organization, 1992: 70-83.

28. Ventura MA, Green MF, Shaner A, Liberman RP. Training and quality assurance with the brief psychiatric rating scale: "the drift buster". International Journal of Methods in Psychiatric Research 1993; 3: 221-44.

29 สมภพ เรืองตระกูล, อรพรรณ ทองแตง, แสงจันทร์ วุฒิกานนท์, รวิวรรณ เถลิงโชค, สุชาติ พหลภาคย์. โรคจิตจากแอ็มเฟ็ททะมิน รายงานผู้ป่วย 2 รายและทบทวนลักษณะทางคลินิคที่สำคัญของโรค. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2522; 24: 339-47.

30. Randrup A, Scheel-kruger J. Diethyldithiocarbonnate and amphetamine stereotyped behavior. J Pharm Pharmacol 1966; 18: 752-60.

31. Fog RL, Randrup A, Pakkenberg H. Adrenergic mechanisms in corpus striatum and amphetamine-induced stereotyped behavior. Psychopharmacologia 1967; 11: 179-83.

 ตารางที่ 1 ลักษณะทางประชากรของกลุ่มตัวอย่าง (N=209)

ตัวแปร

จำนวน (ร้อยละ)

เพศ  
ชาย

180 (86.1)

หญิง

29 (13.9)

อายุ (ปี)

อายุน้อยที่สุด = 14 ปี อายุมากที่สุด = 46 ปี อายุเฉลี่ย = 24.3 ปี

? 19

55 (26.3)

20–29

112 (53.6)

30–39

36 (17.2)

40–49

6 (2.9)

เศรษฐฐานะ  
ต่ำ

160 (76.6)

ปานกลาง

45 (21.5)

สูง

4 (1.9)

อาชีพ  
รับจ้าง

68 (32.5)

ค้าขาย

22 (10.5)

รับราชการ

2 (1.0)

เกษตรกร

14 (6.7)

นักเรียน นักศึกษา

7 (8.1)

ว่างงาน

86 (41.2)

 ตารางที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย (N=209)

ตัวแปร

จำนวน (ร้อยละ)

ผู้นำส่งโรงพยาบาล  
พ่อ แม่

94 (45.0)

ญาติ

54 (25.8)

ตำรวจ

32 (15.3)

คู่สมรส

16 (7.7)

อาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆ

5 (2.4)

ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่น

4 (2.0)

เพื่อนบ้าน

2 (1.0)

สถานทูต

1 (0.4)

มาเอง

1 (0.4)

อาการสำคัญ (บางรายมีมากกว่า 1 อาการ)
อาละวาด วุ่นวาย คลุ้มคลั่ง

103 (49.3)

เพ้อเจ้อ

47 (22.5)

หวาดระแวง

38 (18.2)

พฤติกรรมผิดปกติ

17 (8.1)

ทำร้ายคนอื่น

13 (6.2)

ประสาทหลอน

9 (4.3)

ทำร้ายตนเอง

6 (2.9)

ระยะเวลาที่เกิดอาการ  
? 7 วัน

120 (57.4)

> 7 วัน–1 เดือน

53 (25.4)

> 1 เดือน–6 เดือน

33 (15.8)

> 6 เดือน

3 (1.4)

 ตารางที่ 3 ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเสพย์ติด (N=209)

ตัวแปร

จำนวน (ร้อยละ)

ปริมาณยาบ้าที่ใช้ต่อวัน (เม็ด)  
? 2

35 (16.8)

3- 5

42 (20.1)

> 5

14 (6.7)

ปริมาณที่ใช้ไม่แน่นอน

97 (46.4)

ไม่ทราบปริมาณที่ใช้

21 (10.0)

ระยะเวลาที่ใช้ยาบ้าก่อนเข้าโรงพยาบาล  
? 6 เดือน

33 (15.8)

> 6- 12 เดือน

56 (26.8)

> 1- 3 ปี

70 (33.5)

> 3- 5 ปี

24 (11.5)

> 5 ปี

6 (2.9)

ไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน

41 (9.5)

สารเสพย์ติดอื่นที่ใช้ร่วมด้วย (ส่วนใหญ่ใช้มากกว่า 1 ชนิด)  
บุหรี่

176 (84.2)

สุรา

90 (43.1)

กัญชา

54 (25.8)

เฮโรอีน

32 (15.1)

สารระเหย

30 (14.4)

ยานอนหลับ

2 (1.0)

ตารางที่ 4 อาการและอาการแสดง (เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย) ( N=209 )

อาการที่พบ

จำนวน (ร้อยละ)

Suspiciousness (paranoid) 179 (85.6)
Hallucinations

161* (77.0)

- Auditory hallucination

96 (59.6) N=161*

- Auditory & visual hallucination

48 (29.8) N=161*

- Visual hallucination

17 (10.6) N=161*
Hostility

136 (65.0)

Uncooperativeness

119 (56.9)

Unusual thought content

80 (38.3)

Self-neglect

79 (37.8)

Bizarre behavior

75 (35.9)

Excitement

71 (34.0)

Motor hyperactivity

55 (26.3)

Emotional withdrawal

52 (24.9)

Anxiety

45 (21.5)

Tension

37 (17.7)

Depression

37 (17.7)

Suicidality

37 (17.7)

Blunt affect

32 (15.3)

Conceptual disorganization

26 (12.4)

Grandiosity

26 (12.4)

Disorientation

25 (12.0)

Elated mood

20 (9.6)

Mannerisms and posturing

11 (5.3)

Motor retardation

8 (3.8)

Somatic concern

8 (3.8)

Distractibility

7 (3.5)

Guilt 7 (3.5)

* เฉพาะผู้ป่วยที่มี hallucination

 ตารางที่ 5 ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและผลการรักษา (N=209)

ตัวแปร

จำนวน (ร้อยละ)

การใช้ยาทางจิตเวช (ส่วนใหญ่ใช้มากกว่ารายละ 1 ชนิด)
ยารักษาโรคจิต (Antipsychotics)

206 (98.6)

Antiparkinsonian drug

192 (91.9)

ยาแก้เศร้า (Antidepressants)

23 (11.0)

ยาคลายกังวล (Anxiolytics)

32 (15.3)

Mood stabilizers

7 (3.4)

การรักษาแบบอื่น  
การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT)

16 (7.7)

จิตบำบัดแบบกลุ่ม (จิตเวชวัยรุ่น)

20 (9.6)

ระยะเวลาที่รักษาในโรงพยาบาล  

ระยะเวลาน้อยที่สุด = 1 วัน มากที่สุด = 104 วัน เฉลี่ย = 16.3 วัน

< 10 วัน (transient type)

73 (34.9)

10- 31 วัน (prolonged type)

103 (49.3)

> 1 เดือน (persistent type)

33 (15.8)

การติดตามการรักษา  
ขาดการติดตามการรักษา

88 (42.1)

มาติดตามการรักษา

121* (57.9)

- ดีขึ้น และหยุดยาบ้าได้

47 (38.8) N=121*

- ดีขึ้น แต่ยัง- ใช้ยาบ้า

22 (18.2) N=121*

- อาการกำเริบและรับไว้รักษา

38 (31.4) N=121*

- ส่ง- ไปรักษาโรง- พยาบาลอื่น

10 (8.3) N=121*

- ถูกจับส่ง- รักษานิติจิตเวช

4 (3.3) N=121*

* เฉพาะผู้ป่วยที่มาติดตามการรักษา

 ตารางที่ 6 เปรียบเทียบการศึกษาของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาและการศึกษาของญี่ปุ่น

การศึกษาของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา การศึกษาของญี่ปุ่น23,26

เพศ ชาย:หญิง = 6.2:1 ชาย:หญิง = 7.5:1

อายุ 20’s> 19 ปีลงไป > 30’s> 40 ปีขึ้นไป 30’s> 20’s> 19 ปีลงไป > 40 ปีขึ้นไป

ระยะเวลาที่ใช้ 1 – 3 ปี 1 – 4 ปี

ปริมาณที่ใช้ 60 – 100 มก./วัน 30 – 900 มก./วัน

วิธีเสพ สูบ ฉีดเข้าเส้นโลหิต

สารเสพติดอื่นที่ใช้ บุหรี่ >สุรา>กัญชา>เฮโรอีน>สารระเหย สุรา>สารระเหย>ยานอนหลับ

ระยะเวลาที่มีอาการ

< 10 days (transient type) 34.9% 64%

10 - 31days (prolonged type) 49.3% 18%

> 1 month (persistent type) 15.8% 18%

การกำเริบของโรค 31.4% 56.5%

 

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us