เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

download in pdf format

บทบรรณาธิการ

ความรักความผูกพันของครอบครัวในยุค 2000

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวัณเพ็ญ บุญประกอบ*

* ที่ปรึกษาหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10700

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(1): 11-6.

 ความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการสร้างบุคลิกภาพของเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ความมั่นคงของครอบครัวเป็นฐานสำคัญของความมั่นคงของสังคมและของประเทศชาติ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ปรมาจารย์ของเหล่าจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เขียนไว้เมื่อพ.ศ. 2499 ในวารสารสมาคมจิตแพทย์ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ว่า “ความผูกพันรักใคร่ภายในครอบครัว เป็นรากฐานของความสุขแห่งชีวิต เป็นรากฐานของความเป็นปึกแผ่นของสังคม ของประเทศชาติบ้านเมือง และของโลกในที่สุด" ท่านได้กล่าวถึงตัวอย่างของวัฒนธรรมในประเทศตะวันตก วัฒนธรรมในประเทศเอเชีย และคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งล้วนกล่าวถึงความสำคัญของครอบครัว อันมีบิดามารดาเป็นบุคคลสำคัญ ฉะนั้นควรจะรักษาและควรดำรงไว้ซึ่งความรักความผูกพันระหว่างบุตรและบิดามารดา และตัองรีบหาทางแก้ไขได้ก่อนที่ครอบครัวจะแตกสลายไปตามกระแสของวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

บทความของท่านเขียนไว้เป็นเวลา 44 ปี มาแล้ว ท่านได้คาดการณ์ไว้อย่างแม่นยำ ได้อธิบายถึงวิธีการที่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและของการสร้างผลิตวัตถุทุกระดับอย่างมากมาย การเจริญทางอุตสาหกรรมและการให้ความสำคัญน้อยกับเกษตรกรรม ประกอบกับมีความมุ่งมั่นในความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญน้อยต่อระบบศีลธรรมจรรยา ทำให้ระบบครอบครัวระส่ำระสาย ระบบสังคมของชาติและของโลกเป็นปัญหาวุ่นวาย

ลักษณะครอบครัวไทยในปัจจุบัน

ในระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมานี้ ลักษณะครอบครัวไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในด้านโครงสร้าง ความเป็นอยู่ภายในครอบครัว จำนวน และบทบาทหน้าที่ของสมาชิกภายในครอบครัว เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงดูบุตรธิดาโดยตรง

ครอบครัวไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พ่อเป็นผู้นำทำงานหาเลี้ยงชีพ แม่เป็นแม่บ้านและเป็นผู้ดูแลลูกและผู้คนบริวารภายในบ้าน เด็กๆ เติบโตขึ้นมาด้วยประสบการณ์ของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้เรียนรู้บทบาทของการงานภายในบ้าน การดูแลน้อง มีความผูกพันใกล้ชิดกับพ่อแม่และครอบครัวของตน มีความสัมพันธ์ช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนบ้าน เด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากประสบการณ์ตรงและเป็นไปโดยธรรมชาติ เมื่อโลกเจริญก้าวหน้าขึ้น เด็กได้มีโอกาสในการศึกษามากขึ้นทั้งหญิงและชาย ผู้หญิงมีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถมีวิชาชีพ และอาชีพกันมากขึ้น

การที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้หญิงมีความจำเป็นต้องก้าวออกจากงานบ้านมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัวช่วยสามี ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบทหรือในทุกเศรษฐฐานะ จะพบว่าบทบาทของผู้หญิงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หญิงชนบทจะละทิ้งถิ่นเข้าสู่เมืองที่มีอุตสาหกรรม ถ้ามีลูกจะนิยมนำลูกไปให้ปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงมากกว่าที่จะเลี้ยงด้วยตนเอง ในที่สุดจะพบว่าเด็กๆ เติบโตขึ้นโดยผู้ใหญ่ที่เป็นญาติและมักเป็นผู้สูงอายุ ในครอบครัวเมืองผู้หญิงจะออกไปทำงานนอกบ้านปล่อยเด็กไว้กับคนเลี้ยง หรือตามสถานรับฝากเลี้ยงเด็ก แม้แต่ในผู้ที่มีเศรษฐฐานะดีเด็กๆ ก็มักจะตกอยู่ในมือของพี่เลี้ยงที่ไม่มีความชำนาญและเลี้ยงเด็กไม่ถูกต้อง

ความเป็นครอบครัวใหญ่แตกสลายไปโดยความจำเป็นและตามกระแสสังคม ความจำเป็นทางเศรษฐกิจบังคับให้ครอบครัวใหม่ต้องพึ่งตนเองมากขึ้น มีความเป็นอิสสระมากขึ้น มีการย้ายถิ่นฐานกันมากขึ้นตามการศึกษา และอาชีพอีกทั้งการหารายได้ที่คล่องตัวกว่า ทำให้สังคมเมืองแออัด และมีครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผลกระทบต่อครอบครัว

ความสนใจมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีมีความสุข กลายเป็นความต้องการให้ลูกเป็นคนเก่งในทุกด้าน

บทบาทหน้าที่ของหญิงไทยได้ก้าวหน้าขึ้นมากในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าหญิงมีความสามารถ มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงานไม่แพ้ผู้ชาย อย่างไรก็ตาม การทำงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบและการมุ่งมั่นก้าวหน้าในการศึกษาหรืออาชีพของหญิง มีผลกระทบต่อบทบาทของความเป็นแม่ไปโดยปริยาย และส่งผลกระทบต่อบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ภายในครอบครัวโดยตรง

การอยู่ร่วมกันของหลายครอบครัวกลายเป็นปัญหา เราพบเสมอว่าสมาชิกในครอบครัวมักมีความตึงเครียด วุ่นวายสับสน และไม่สงบสุข ผู้เป็นแม่มีความเหน็ดเหนื่อยและความเครียดจากงานนอกบ้านร่วมกับการงานที่ต้องทำในบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีคนช่วยเหลือจะมีปัญหาอย่างมากในการดูแลลูก แม้ผู้ที่อยู่บ้านดูแลเลี้ยงลูกเองก็ยังพบว่าเป็นภาระอย่างหนัก ช่วงที่จะเป็นปัญหากันได้มาก คือช่วงวัยเด็กเล็กอายุระหว่าง 0-3 ปี ดังที่ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราพบแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น และปัญหานี้ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของลูกในระยะสำคัญนี้

ปัจจุบันสถิติการหย่าร้างพบเพิ่มขึ้นในสังคมไทย ยิ่งไปกว่านั้น การนอกใจ การแยกกันอยู่ยังพบเป็นปัญหามากกว่าหย่าร้างจริงๆ ครอบครัวมีความผูกพันกันน้อยลง ความห่วงใยอาทร ความเสียสละ พึ่งพาต่อกัน อดทนต่อกันลดน้อยลง การนอกใจครอบครัวพบมีมากขึ้น ทั้งนี้มิใช่เป็นจากการเปลี่ยนแปลงในบทบาทและหน้าที่ของภรรยาและความเป็นแม่ หากแต่เป็นเพราะศีลธรรมจรรยาที่เสื่อมลง ผู้หญิงมีอิสระในเรื่องเพศและการเป็นตัวเองมากขึ้น ร่วมกับสังคมเปิดโอกาสให้หญิงชายตั้งแต่เด็กวัยเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ใหญ่ประพฤติผิดทางเพศกันง่ายขึ้นและมากขึ้น อันเป็นต้นเหตุอันสำคัญประการหนึ่งของการล่มสลายของครอบครัว

จากระบบเศรษฐกิจที่คลอนแคลน ความเป็นอยู่ที่ฝืดเคือง และการยั่วยุของวัตถุภายนอกในปัจจุบันที่มีมากมาย ทำให้มนุษย์เกิดความอยากเพิ่มสูงขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างอันไม่ใช่ความจำเป็นของชีวิตกลายมาเป็นสิ่งที่มีหน้ามีตาและมีความสำคัญไปโดยปริยาย ทำให้คนเราต้องขวนขวายแสวงหาเงินและวัตถุกันมากขึ้น เพื่อปรนเปรอตนเองและครอบครัว สิ่งเหล่านี้ทำให้การสร้างครอบครัวจะเป็นปึกแผ่นได้ยาก เช่น เมื่อหาเงินมาได้ ก็นำมาซื้อรถ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ จับจ่ายของเล่นและสิ่งของเกินความต้องการ พระธรรมปิฏกเคยกล่าวว่า “คนไทยเป็นนักเสพ นักบริโภค” และเราก็ได้ติดหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้จนลืมตน นำไปสู่ความสูงเฟ้อ และในที่สุดตามมาด้วยหายนะต่อครอบครัว ยิ่งขวนขวายหามามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียด ความไม่เข้าใจ เกิดความเหินห่างระหว่างกันของคนในครอบครัวและทอดทิ้งเด็กกันมากขึ้นเท่านั้น

ระบบไฮเทคที่ก้าวหน้ามาอย่างมากมายส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ร่วมกันภายในครอบครัวโดยตรง จริงอยู่ คุณประโยชน์ของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แสดงถึงสติปัญญาความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์ใช้สิ่งเหล่านี้อย่างเดียว โดยเป็นแต่ผู้บริโภค มิใช่ผู้ผลิต ความหายนะจะมาสู่ตนในที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์นั้นจะต้องมีการอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน มีการช่วยเหลือกัน เด็กจะต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตที่เขาเห็นอยู่ตลอดเวลาเพื่อจะได้ซึมซับ และเลียนแบบนำไปปฏิบัติได้ในที่สุด เด็กปัจจุบันจะไม่ได้เรียนรู้การทำงานช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น เช่น วิธีประกอบอาหาร หุงข้าว ซักผ้า ฯลฯ เพราะมีเครื่องช่วยผ่อนแรงและมีของสำเร็จรูปมากมาย พ่อบ้านแม่บ้านอาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องผ่อนแรง แต่เด็กๆ จะขาดการเรียนรู้และขาดประสบการณ์ ที่สำคัญคือเมื่อไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ เขาจะอยู่ได้อย่างลำบาก เมื่อถึงคราวทำงานเขาจะขาดความละเอียดรอบคอบ รู้จักการแก้ปัญหาน้อย มีความไม่คล่องตัวในทักษะการทำงาน และขาดสามัญสำนึก

สิ่งภายนอกมีอิทธิพลต่อครอบครัว

เหตุการณ์ภายนอกครอบครัวมีอิทธิพลต่อบทบาทหน้าที่ ค่านิยม และการเลี้ยงดูเด็กอย่างมาก ดังตัวอย่างในด้านการศึกษา ผู้ปกครองมักจะผลักดันการเรียนของลูก มีการแข่งขันกันสูง พ่อแม่คาดหวังอย่างมากที่จะให้เด็กเป็นคนเก่งโดยไม่ได้เน้นถึงคุณภาพความเป็นคนดีที่จะเป็นศรีแก่สังคมอย่างแต่ก่อน เมื่อต้องการให้ลูกเป็นคนเก่งมีชื่อเสียง ก็จำเป็นต้องผลักดันเด็กทุกอย่างในการเรียน เด็กต้องเข้าโรงเรียนที่มีชื่อ ถูกบังคับ และถูกจัดให้เรียนมากเกินไป เด็กบางคนมีการเรียนนอกหลักสูตรและมีกิจกรรมมากจนไม่มีเวลาว่างที่จะฝึกหัดทำ เวลาอิสระที่จะคิดเอง ศึกษาเอง หรือเรียนรู้สิ่งรอบตัวจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ลูกเครียดจากการเรียน พ่อแม่เครียดจากการทำงาน ลูกเครียดจากที่ทำไม่ได้อย่างที่พ่อแม่หวังที่พ่อแม่ชอบ พ่อแม่เครียดจากการที่ลูกไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ ฯลฯ เด็กๆ ถูกจัดการให้มีกิจกรรมและการเรียน จนความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวห่างเหินไป

สื่อต่างๆ โดยเฉพาะ โทรทัศน์ วิดีโอ เกมส์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและการพัฒนาเด็ก พ่อแม่หลายคนได้เลี้ยงลูกโดยโทรทัศน์และวิดีโอ ปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อเหล่านี้ตลอดเวลา และหลายคนสนับสนุนลูกในการเล่นเกมส์ เล่นคอมพิวเตอร์ ถ้าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาแทนบทบาทความเป็นพ่อแม่และการอยู่ร่วมกันแล้ว นอกจากจะทำให้เสียความสัมพันธ์ระหว่างกันในสมาชิกครอบครัว ขาดความเคารพนับถือต่อพ่อแม่แล้ว เด็กจะเสียในด้านความคิด ประสบการณ์การเรียนรู้จากของจริง ขาดการเรียนรู้ทักษะในชีวิตประจำวัน ภาวะผิดปกติที่พบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มีมากมาย เช่น โรคอ้วน เฉื่อยชา คิดไม่เป็น รับรู้สิ่งผิดๆ ขาดจินตนาการ มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง แก้ปัญหาผิดทาง เสียในระบบการเรียน ขาดสมาธิ และมีปัญหาระหว่างบุคคล เป็นต้น

ความไม่มั่นใจในการดูแลลูก ความไม่มั่นคงในจิตใจในความเป็นพ่อแม่เป็นที่พบเห็นทั่วไป พ่อแม่พยายามแสวงหาความรู้ในการดูแลเด็กเนื่องจากตนขาดประสบการณ์เหล่านี้มาตั้งแต่ต้น จึงอาศัยการศึกษาหาความรู้จากแหล่งข่าวต่างๆ จากแพทย์กุมารแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อนฝูง หนังสือนิตยสาร ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน หนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับการดูแลเด็กได้ตีพิมพ์ออกมามากมาย ซึ่งก็มีทั้งที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพ ถึงกระนั้นก็ยังไม่พอเพียงกับความต้องการและไม่สามารถแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยที่มีอยู่ได้เสมอไป

ผลกระทบต่อเด็กที่กำลังพัฒนา

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติ แต่ที่สำคัญกว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจคือวิกฤติทางสังคม วิกฤติทางเศรษฐกิจจะแก้ไขฟื้นฟูไปได้ถ้าประชาชนมีคุณภาพ มีศีลธรรม มีความรักชาติ รักพวกพ้อง มีความภูมิใจในความเป็นคนไทยที่จะร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค แต่สิ่งเหล่านี้จะต้องการคุณสมบัติที่สำคัญคือ ความสามัคคี ความไว้วางใจกัน การร่วมมือช่วยเหลือกัน ความอดทนรอคอย ความขยัน ประหยัด มีความเสียสละ รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา และกระทำต่อไปไม่หยุดยั้ง คุณสมบัติเหล่านี้จะต้องสร้างหล่อหลอมมาแล้วตั้งแต่วัยเด็ก ตลอดมาถึงผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย (ถ้าสภาพสังคมเสื่อมถอยไร้ความมั่นคง ยุ่งเหยิงระส่ำระสายดังเช่นทุกวันนี้ ครอบครัวก็จะอยู่รอดและดีไม่ได้ แม้ว่าครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญ แต่สังคมซึ่งประกอบด้วยคนทุกหมู่เหล่าทุกชนชั้นวรรณะจะต้องร่วมมือไปโดยความพร้อมเพรียงกันด้วย)

ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรมจากครอบครัวและสังคมทั่วไปปัจจุบันพบมากขึ้น ครอบครัวหลายครอบครัวทอดทิ้งเด็กโดยไม่ตั้งใจ เช่น ปล่อยให้ผู้อื่นดูแลเด็ก ปล่อยเด็กไว้ตามลำพังให้ดูแลกันเอง ขาดผู้ใหญ่ให้คำแนะนำและควบคุม เด็กอาจตกเป็นเหยื่อต่อผู้มุ่งร้าย กระทำร้ายต่อเด็ก หลอกลวงเด็ก หรือนำเอาเด็กไปใช้เป็นประโยชน์ในทางแรงงานหรือเสียหายทางอื่นเช่น เรื่องสารเสพย์ติด และเรื่องถูกทำร้ายทางเพศ

ในทางตรงข้าม พ่อแม่บางกลุ่มให้ความรักลูกผิดทาง กล่าวคือให้วัตถุกับเด็กมากเกินไป ตามใจ ยอมตามมากเกินไป แต่ละเลยการวางขอบเขตพฤติกรรม ไม่ฝึกอบรมวินัยให้กับลูก เด็กจะขาดการฝึกฝนอบรมในความอดทนรอคอย การยับยั้งชั่งใจและการควบคุมตน ไม่คำนึงถึงจิตใจผู้อื่น มีปัญหาในด้านมนุษยสัมพันธ์

ความเจริญทางวัตถุ ความเจริญทางเทคโนโลยีและการแพทย์ การมีข้อมูลข่าวสารและวัตถุมากมายในสภาพแวดล้อม ทำให้เด็กฉลาดเพิ่มขึ้น แต่พ่อแม่และผู้ใหญ่มักไม่ได้เตรียมตนในการช่วยเหลือป้องกันและอบรมเด็กให้ถูกทาง เด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษภัยและมลพิษรอบตัว เช่น อุบัติเหตุ มลพิษทางเสียงแสง อากาศ ข้อมูลสื่อสารต่างๆ ฯลฯ มากมาย ปัจจุบันจึงพบเด็กที่เติบโตขึ้นมีปัญหาทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ฆ่าตัวตาย ติดสารเสพย์ติด ประพฤติผิดศีลธรรม เกเร และประพฤติผิดกฎหมาย มีความก้าวร้าวรุนแรง ประพฤติผิดทางเพศ หญิงชายคบหากันมีสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัย โรคเครียด และโรคไซโคโซมาติค พร้อมทั้งปัญหาการปรับตัวพบมีอยู่ทั่วไป บุคลิกภาพของเด็กและวัยรุ่นอ่อนแอกว่าแต่ก่อน แม้เด็กจะเรียนเก่ง ฉลาด สามารถทำคะแนนได้สูง แต่วุฒิภาวะอารมณ์ต่ำพบเห็นทั่วไปไม่น้อย ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์มาเป็นเรื่องราวที่กล่าวขวัญถึงพูดถึงและตระหนักกันในระยะ 2-3 ปีนี้ ทั้งๆ ที่วงการจิตเวชศาสตร์ตระหนักในเรื่องความสำคัญของวุฒิภาวะทางอารมณ์มานานมากแล้ว

ปัจจุบันนี้การแพทย์ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างมาก การแพทย์ทางด้านจิตเวชศาสตร์ได้ก้าวมาไกลสามารถอธิบายโรคต่างๆ ที่แต่ก่อนอธิบายในเชิงจิตวิเคราะห์และจิตสังคมเท่านั้น มาเป็นอธิบายทางบทบาทหน้าที่สมองและระบบสรีระ ชีวเคมีของสมองมากขึ้น ทำให้จิตแพทย์เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของใจและสมอง สามารถอธิบายในรูปแบบของรูปธรรมมากขึ้น ความรู้ทางหน้าที่สมองช่วยให้เราตระหนักชัดเจนว่าสมองส่วนต่างๆ สามารถทำงานทดแทนกันได้และมีการปรับสภาพได้ด้วย แต่ที่สำคัญคือในวัยเด็ก เด็กจะต้องได้เรียนรู้ ได้ฝึกทักษะ มีประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวสัมผัส การฝึกคิด ฝึกทำมาอย่างพอเหมาะ พอดีกับกาลเวลาของระยะพัฒนา เพราะถ้าละเลยไป เซลล์สมองและหน้าที่นั้นๆ จะไม่เจริญและไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ การพัฒนาเด็กมีระยะเวลาที่เด็กจะเรียนรู้เฉพาะช่วงนั้นได้อย่างดีและรวดเร็ว (sensitive period) และโดยมากจะเป็นช่วงอายุเล็กมากในระยะ 0-5 ปี แม้ว่าต่อๆ ไป เด็กจะพอรู้เรียนรู้ได้บ้าง ปรับได้บ้าง สร้างบุคลิกและสัมพันธ์ได้บ้าง แต่จะไม่ดีเท่าหรือสมบูรณ์เท่า หรืออาจจะไม่ได้เลยในบางเรื่องเมื่อพ้นวัยระยะนั้นมาแล้ว

ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปูพื้นฐานบุคลิกภาพให้เด็กอย่างเต็มที่ ให้เด็กรู้จักและเชื่อมั่นไว้วางใจคนได้ (trust) มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถยืนหยัด มีความกล้าเป็นตัวของตนได้ (autonomy) ในวัยอนุบาล (preschool–initiative และ phallic phase) มีความริเริ่ม รู้จักแสวงหา กระตือรือร้นในการเรียนรู้ รู้จักคิด รู้จักใช้จินตนาการสร้างสรรค์ มีพื้นฐานคุณธรรม และมีพื้นฐานเรื่องเพศที่ดีก่อนที่เด็กจะเข้าสู่สังคมภายนอกที่กว้างขึ้น ไปเป็นตัวเองได้มากขึ้น พื้นฐานเบื้องต้นสำคัญที่สุดเด็กจะต้องได้จากครอบครัว

จิตแพทย์มีบทบาทหน้าที่มิใช่เพียงรักษาแก้ไขผู้มีปัญหาโรคจิตเวช แต่หน้าที่อันสำคัญยิ่ง

ใหญ่ของจิตแพทย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ เด็ก วัยรุ่น รวมถึงจิตแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหาร คือ หน้าที่ในการให้ความสำคัญ ให้ความรู้ต่อประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ วิชาชีพ และทุกเศรษฐฐานะ ในด้านการป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพจิต

ในการนี้การทำงานร่วมกันเป็นทีมมีความจำเป็นมาก เพราะต้องรับตามความเป็นจริงว่าโดยลักษณะของการปฏิบัติงาน ต้องการความเข้าใจ ความรู้รอบทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ โรคทางกาย โรคทางใจ ภาวะผิดปกติของกายและใจ ในองค์ประกอบรวมของ กาย สมอง จิตใจ และสังคม อีกทั้งต้องการความเข้าใจลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ของกายและใจที่ประสานและมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา

ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ได้เขียนบทความไว้อย่างกระจ่างชัดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและครอบครัวตามวิวัฒนาการของเศรษฐกิจ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต ท่านยังได้กล่าวถึงความเสียหายที่รัฐจะต้องเสียงบประมาณปีละร้อยๆ ล้าน (ประมาณเมื่อ 40 ปีที่แล้ว) ให้กับคนไข้โรคจิตโรคประสาทและอาชญากรรม และท่านได้แนะนำวิธีการที่ประกอบด้วยบุคลากรหลายฝ่าย เช่น แพทย์ นักการศึกษา นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข นักเศรษฐศาสตร์ นักปกครอง ครูอาจารย์ รวมทั้งพ่อแม่ทั้งหลายที่จะช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีไว้ ท่านอาจารย์ได้แนะนำไว้อย่างมากทุกข้อตั้งแต่ ส่งเสริมให้ชาวชนบทรักที่อยู่เดิม กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมเกษตรกรรมชนบท สนับสนุนโรงเรียนอาชีพของชนบท ส่งเสริมอุปโภคและสวัสดิการ การศึกษาท้องถิ่น การอนามัย โรงพยาบาล สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ศิลปวัฒนธรรม และหน่วยแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ เคลื่อนที่ โดยการปฏิบัติทั้งหมดจะต้องให้ชาวชนบทรู้ลึกตนมีค่า และได้รับการยกย่อง

สรุป

ความผูกพันภายในครอบครัวของสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก จากครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเล็กที่อยู่กันตามลำพังมากขึ้น ครอบครัวที่มีการแยกกัน หรือหย่าร้างกันมีจำนวนเพิ่มขึ้น บางครอบครัวยังได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากครอบครัวเดิมหรือญาติพี่น้อง แต่หลายครอบครัวต้องเผชิญชีวิตตามลำพัง ความสัมพันธ์ต่อกันภายในครอบครัวห่างเหิน มีสภาพต่างคนต่างอยู่มากขึ้น โดยมีการทำงานของพ่อแม่ การเรียนหนักของลูก สื่อต่างๆ และวัตถุเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ในครอบครัวที่เป็นปัญหาจะพบเด็กถูกทอดทิ้งตามลำพังหรืออยู่กับผู้อื่น แม้ในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกัน เด็กก็จะถูกทอดทิ้งโดยไม่ตั้งใจได้มาก ในทางตรงข้าม บางครอบครัวที่พ่อแม่รักลูกมาก ห่วงใยมาก มีความคาดหวังมาก ก็มีส่วนทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจได้ ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดความผิดปกติในบทบาทหน้าที่และความเป็นอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว

ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่พบมาก ล้วนมาจากปัจจัยที่เกี่ยวกับปัญหาครอบครัวทั้งสิ้น องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้มี “ปีแห่งครอบครัว” ขึ้น ซึ่งทั้งรัฐบาล องค์กร บุคลากรหลายฝ่ายล้วนตระหนักในความสำคัญของครอบครัว ในปัจจุบันมีการตั้งมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวขึ้น ซึ่งต้องการบุคลากรเจ้าหน้าที่ทั้งของรัฐ เอกชน และพ่อแม่ผู้ปกครองทุกระดับเข้ามามีส่วนรับรู้ช่วยเหลือ จิตแพทย์ในฐานะบุคคลที่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในบุคคลและครอบครัวในองค์รวมมากกว่าผู้อื่น น่าจะมี

บทบาทสำคัญในการเข้าไปเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะแนว หรือร่วมกันทำงานป้องกัน แก้ไขให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งมวล ก่อนที่ครอบครัวไทยจะประสบปัญหามากไปกว่าที่เป็นอยู่

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us