เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

download in pdf format

บทบรรณาธิการ

ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว *

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว **

* ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2499 .

** บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตของไทย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(1): 1-10.

 โดยคำ FAMILY TIE ข้าพเจ้าหมายถึงความผูกพันของครอบครัว และคำว่าครอบครัว หมายส่วนใหญ่ ถึงบิดามารดา และบุตร แต่ความผูกพันของครอบครัวเฉยๆ โดยเพียงแต่อยู่ร่วมกัน แต่ไม่มีความรักใคร่ต่อกันและกันนั้น มีความหมายไม่สมบูรณ์ตามความหมายเดิม ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่เรียกให้ยาวออกไปอีกหน่อยว่า "ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว" ซึ่งภายหลังที่พูดไปแล้วนี้ ถ้าท่านผู้ใดที่สนใจ และคิดค้นได้ศัพท์ที่กระทัดรัดกว่านี้ ข้าพเจ้าจะยินดี

ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว เป็นรากฐานของความสุขแห่งชีวิต, เป็นรากฐานของความเป็นปึกแผ่นแห่งสังคม, ของประเทศชาติบ้านเมือง และของโลกในที่สุด ชีวิตสังคมย่อมตั้งต้นมาจากครอบครัว, ถ้าครอบครัวแตกแยก หรือครอบครัวขาดความรักใคร่ต่อกัน ชีวิตในสังคมจะแตกแยกประดุจเงาตามตัว ผลตามของสังคมแตกแยกนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น เรื่องของโรคจิตโรคประสาทและเรื่องของอาชญากรรม เรื่องของเด็กเกเรต่างๆ เป็นต้น ในทางวิชาการของการศึกษาในปัจจุบันนี้ ได้พิจารณาเรื่องความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ของทุกๆ สาขาแห่งวิทยาการแพทย์ เพราะเกี่ยวกับเรื่องสมุฏฐานแห่งโรคภัยไข้เจ็บทุกประเภท, ถ้าครอบครัวเป็นสุข ความอบอุ่นในบ้านก็ต้องมี, ความเข้าใจระหว่างสมาชิกในครอบครัวก็ต้องดี การเชื่อฟัง, การศึกษาและการร่วมมือในการป้องกันโรคตลอดการส่งเสริมสุขภาพแห่งบุคคลในครอบครัวก็ต้องดี ในทางตรงข้าม ถ้าหากครอบครัวไม่สงบสุขและอารมณ์ของตนในครอบครัวก็ไม่เป็นสุขแล้ว ณ ที่นั้นความอบอุ่นและความพอใจในชีวิตจะไม่มี จะมีแต่ความหงุดหงิดฉุนเฉียว ไม่พึงใจในการรักษาตัวและรักษาอนามัยของตน ถึงจะรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ก็หาพอใจกระทำไม่, ดังนี้ สุขภาพของบุคคลทุกด้านทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการงานต่างๆ ที่ตามมาจะปรวนแปรไปในทางไม่ดีไม่มีปัญหา ในวิชาการทางสุขภาพจิตนั้น ได้ถือว่าปัญหานี้ยิ่งใหญ่ต่อการศึกษามานานแล้ว โดยเฉพาะในแง่การป้องกันโรคจิตแก่ประชาชน

ตัวอย่างที่จะนำมาศึกษาประกอบนั้นมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตัวอย่างจากคำบรรยายของเราในตอนเช้าวันนี้ก็มีมากราย เช่น ของนายแพทย์ขจร และของแพทย์หญิงสุภาร่วมกับคุณสมทรงเป็นต้น เรื่องของนายแพทย์ขจรนั้นแสดงคนไข้โรคจิต พร้อมด้วยประวัติละเอียด 15 ราย จากจำนวน 15 รายนั้น ได้ประวัติชัดแจ้งว่าจำนวนถึง 14 รายที่กล่าวถึงแยกต่อไปได้ว่า 5 รายมีพ่อแม่แตกแยกกัน ไม่มีความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว จากจำนวน 14 รายที่กล่าวถึงแยกต่อไปได้ว่า 5 ราย มีพ่อแม่ซึ่งตายจากกันและ 9 รายพ่อแม่แยก

กันอยู่ เช่น ในกรณีทะเลาะวิวาท หรือหย่าร้างเป็นต้น ทั้งหมดนี้ เด็กจะขาดความอบอุ่นในบ้าน ขาดเพื่อน จะไม่พอใจตนเองและไม่พอใจในสิ่งแวดล้อมเที่ยวไขว่คว้าหาความอบอุ่นและความพอใจจากที่อื่นๆ เรื่อยๆ ไป ไม่มีจุดจบ จะหงุดหงิดฉุนเฉียว และอยากทำลาย ซึ่งเป็นขั้นต้นของการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพในทางที่ไม่เป็นสุขต่อไป นายแพทย์ขจรได้สรุปว่า เด็กเหล่านั้นลงเอยชีวิตด้วยการเป็นโรคจิต, สำหรับอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นคนไข้เด็ก ซึ่งผู้บรรยายคนหลังนำมาแสดงให้ประวัติน่าสนใจว่า เป็นลูกที่พ่อแม่ไม่ต้องการ บอกว่าเป็นลูกอัปมงคล ไม่ต้องการให้เกิด ดังนี้ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวไม่เกิดขึ้น เด็กถูกละเลยทอดทิ้ง ขาดเพื่อน ขาดความรัก ความสนใจ ขาดอารมณ์ ต่อมาเด็กมีอาการหงุดหงิด, แยกตัวเอง, ไม่นำพาต่อผู้ใดทั้งสิ้น และนั่งโยกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องของผู้พยายามปลอบใจตัวเองโดยหนีออกไปจากโลกอันเศร้าที่เขาเผชิญอยู่นี้

สปิตซ์ ได้ศึกษาค้นคว้า เรื่องสภาพของเด็กที่ขาดแม่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในอเมริกาอยู่ 12 ปี และได้นำผลเสนอต่อที่ประชุมสุขภาพจิตระหว่างชาติ ผลนั้นแสดงว่า เด็กที่ขาดแม่นั้น ขาดความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว ขาดความอบอุ่น จะไม่สบายคล้ายกับและยิ่งกว่าเด็กขาดไวตามิน เด็กที่ขาดแม่ขาดความรักนั้น ไม่มีอะไรจะได้กำไร มีแต่เสมอตัวและขาดทุน ในสถานเด็กกำพร้านั้น ได้ให้การดูแลที่ดีที่สุด และมีอาหารที่ดีที่สุด, แต่เด็กก็ไม่มีความสุข และมีอาการของความไม่สบายแห่งอารมณ์, อารมณ์ของเด็กถูกกระทบกระเทือน ซึ่งมีผลเทียบได้เช่นเดียวกับร่างกายถูกทำร้ายแล้วมีอาการ ของความไม่สบายต่างๆ เช่นเดียวกัน, อาการของเด็กที่ขาดแม่ ซึ่งสปิตซ์นำมาแสดงนั้นจะมีทั้งอาการของร่างกาย และจิตใจเริ่มด้วย ร้องไห้ กวน จู้จี้, ต่อไปไม่กินอาหาร, น้ำหนักลด, ไม่นอนต่อไปไม่ร่วมมือ, ดื้อ, แยกตัวเอง, บางคนนั่งตัวแข็งทื่อเฉย ไม่ยินดียินร้าย บางรายนั่งโยกตัวเอง ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม, หน้าจะซีดเซียว และผ่ายผอมมากขึ้นทุกที ซึ่งตอนนี้จะมีความคุ้มโรคน้อยเป็นเหยื่อของโรคภัยอื่นตามมา ถ้าอาการมากขึ้นเด็กจะขาดความชำนาญในการเคลื่อนไหวและติดต่อกับบุคคลภายนอก แม้แต่การนั่งและยืนก็ทำไม่ได้ ได้แต่นอนอยู่ท่าเดียว, และถ้าอาการของความเสื่อมนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ นานถึง 5 เดือน เขาจะไม่มีโอกาสคืนดีดังเดิมได้ และผลที่สุดถึงแก่ความตายในจำนวนเด็ก 91 ราย ของสปิตซ์ปรากฎว่า ถึงแก่ความตาย 27 รายในปีแรก และ 7 รายในปีที่ 2 มีรอดและเลี้ยงต่อไปได้เพียง 27 รายเท่านั้น ไม่มีการรักษา "โรคขาดแม่" วิธีใดที่ดีนอกจากให้เด็กอยู่กับแม่ หรืออยู่กับผู้มีลักษณะเป็นแม่ ซึ่งจะให้ความรักความเห็นใจกับเขาได้

เด็กจะมีความสุขและอบอุ่นได้เมื่อมีโอกาสได้อยู่กับแม่หรืออยู่พร้อมพ่อพร้อมแม่ที่รักเขา และเข้าใจเขาเท่านั้น การส่งลูกให้คนอื่นเลี้ยงเป็นปัญหาที่ควรต้องใคร่ครวญให้ถี่ถ้วนก่อน

ในเรื่องการศึกษาของสปิตซ์ น่าจะย้ำอีกข้อหนึ่งว่า สปิตซ์ได้ให้การเลี้ยงดูเด็กในความดูแลเขาทุกๆ อย่างเท่าที่จะให้ได้นอกจากความรักของมารดา และดังนั้นอาการป่วยของเด็กจะเป็นผลของอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากขาดความรักของมารดา หรือของครอบครัว ถ้าเป็นเด็กโตซึ่งเบื่อหน่ายชีวิต ก็อาจหนีออกจากบ้าน ออกไปหาความรักและความเข้าใจนอกบ้าน ออกไปหาเพื่อน เพราะที่บ้านนั้นไม่มีใครเป็นเพื่อนและไม่มีใครเข้าใจเขา มีตัวอย่างอยู่ประจำวันของเด็กหนีบ้านไปประกอบอาชญากรรมข้างนอกซึ่งเด็กนั้นๆ เป็นบุตรของครอบครัวที่มีอันจะกิน ได้รับอาหารการกิน เครื่องใช้ สร้อยและสมบัติทุกอย่างที่ควรจะได้ แต่เขาขาดสิ่งสำคัญที่สุดคือความรักความเข้าใจความเป็นเพื่อนของบิดามารดา

เบนเด้อร์ เป็นแพทย์หญิงอีกผู้หนึ่งซึ่งศึกษาเด็กจากเด็กต่างๆ จำนวน 1,000 ราย เบนเด้อร์รับว่าโรคจิตประเภทจิตเภทนั้นมีในเด็กได้แน่ และให้ความรู้ว่าก่อนที่จะมีอาการโรคจิตอย่างชัดแจ้งนั้น เด็กจะมีอาการเริ่มแสดงมาแต่ยังเป็นทารก มีอาการแยกตัวเอง, ไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อม, หงุดหงิด, หวาดกลัว, ไม่อดทนต่อการฝึกชีวิตประจำวัน เช่น การขับถ่าย หรือการหย่านมเป็นต้น และอาจมีอาการของมือเท้ากระตุกและอ่อนเปลี้ยของอวัยวะต่างๆ มาแต่เริ่มแรกผิดกับทารกอื่น, เมื่ออาการนำเหล่านี้มีอยู่ก่อน อาการของโรคจิตอาจแสดงเมื่ออายุโตขึ้น เช่น เมื่อ ระยะ 3-6 ขวบ, 9 ขวบ และเมื่อเริ่มแตกเนื้อหนุ่มสาวได้ ความที่เด็กเริ่มมีอาการมาแต่เป็นทารกนั้น อาจมีมาพร้อมกับตนแต่เกิด และอาจพาดพิงร่วมไปกับเรื่องของการขาดความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวด้วย

ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวเป็นรากฐานของความสุขในเด็ก และการรักษาเด็กไม่สบายนั้น มิใช่รักษาแต่เด็กอย่างเดียว ต้องรักษาพ่อแม่ด้วย อย่างน้อยที่สุด พ่อแม่ต้องร่วมมือและเข้าใจเด็กของเขาไม่มากก็น้อย

เด็กที่โตขึ้นมาเป็นโรคจิตนั้น มีสาเหตุหลายประการ สาเหตุที่แน่นอนสิ่งหนึ่งคือ การขาดความรักจากแม่ หรือจากทั้งพ่อและแม่ ผู้ที่อยู่พร้อมพ่อแม่ มีความรักและความนับถือพ่อแม่อยู่เสมอนั้น ย่อมเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมีความสุขไม่เป็นโรคจิต ความจริงหลักของความจริงอันนี้ ได้ศึกษาและปฏิบัติกันมานานแล้วในประเทศตะวันออก ส่วนประเทศตะวันตกได้รื้อฟื้นศึกษาอย่างจริงจังในระยะหลังนี้ สำหรับประเทศตะวันออกนั้นได้มีสถาบันวัฒนธรรมเก่าแก่เป็นเวลานับพันปี ซึ่งควรแก่การศึกษาและส่งเสริมเช่น ขนบธรรมเนียมของจีน ซึ่งยกย่องปรัชญาของขงจู๊ เป็นต้น ท่านศาสดาขงจู๊ได้ให้หลักปรัชญาของการครองชีวิตไว้สี่ประการว่า ตง, เห่า, ยิ่ง, หวี

คำว่า ตง หมายถึง ซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา เห่า หมายถึง กตัญญู ยิ่ง หมายถึง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และหงี หมายถึง สัตย์ซื่อต่อมิตร ขงจู๊ กล่าวอีกทางหนึ่งว่าหลักสี่ประการนี้ คือ เครื่องหมายของคน ได้กล่าวย้ำไว้ในที่หลายแห่งว่า "ผู้ใดไม่มีความกตัญญู ผู้นั้นหาใช่คนไม่" ซึ่งการย้ำปรัชญาในความซื่อสัตย์กตัญญู เหล่านี้ก็คือย้ำในความเคารพรักใคร่ของเด็กต่อผู้ใหญ่และต่อบิดามารดานั่นเอง, ที่ใดมีเด็กมีความซื่อสัตย์กตัญญูต่อผู้ใหญ่ และบิดามารดาที่นั่นเด็กจะมีความเจริญ, ที่นั่นจะมีบรรยากาศของความผูกพันรักใคร่ในครอบครัว ครอบครัวก็มีระเบียบครอบครัวก็อยู่เป็นปึกแผ่นรักใคร่กลมเกลียวกัน และเมื่อในครอบครัวมีความสุขเขาก้าวไปสู่โลกภายนอกเขาก็มีความสุขด้วย ในธรรมเนียมของไทยเราเองก็มีวัฒนธรรมเป็นของเรา อันสืบเนื่องมาจากพุทธศาสนา หลายโอกาสที่มีพิธีพระ เราได้ฟังพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์สวดมนต์ ซึ่งประกอบด้วยมงคลกถา และซึ่งเราฟังและเคารพในกถานั้นๆ จะต้องมีที่พร่ำสอนและพร่ำเตือนสิ่งที่เป็นมงคลไว้เสมอ เช่น

"การบำรุงมารดาและบิดาหนึ่ง, การสงเคราะห์บุตรและภรรยาหนึ่ง, การงานทั้งหลายไม่คั่งค้างหนึ่ง ข้อนี้เป็นมงคลอันประเสริฐ"

มงคลกถาที่อ้างนี้ คือวัฒนธรรมของไทยเดิมวัฒนธรรมที่ปฏิบัติและส่งเสริมให้มนุษย์มีความรักใคร่บิดามารดาและบุตรภรรยา นั่นคือ วัฒนธรรมนำมนุษย์เข้าสู่หลักของความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวอันดีนั่นเอง ผู้ใดเข้าใจหลักอันนี้ดีและปฏิบัติได้ ย่อมหมายถึงว่าจะมีความสุขและสามารถป้องกันโรคจิต และโรคประสาทในอนาคตได้ด้วย

ประเทศตะวันตกได้ศึกษาและพยายามรักษาความผูกพันของครอบครัวนี้ไว้เสมอแต่มันก็คอยจะแยกร่ำไป เพราะการเศรษฐกิจลำบาก ลูกกับแม่ต้องแยกกันอยู่เพื่อการครองชีพ เขาจึงพยายามรักษาธรรมเนียมของความผูกพันรักใคร่ครอบครัวนี้ไว้ โดยอย่างน้อยถึงเวลาคริสต์มาสก็มีธรรมเนียมให้มากราบแม่ให้ได้ ถึงแม้จะอยู่ไกลแสนไกลก็พยายามมาให้ได้ แพทย์หญิงริออชได้ศึกษาถึงชีวิตครอบครัวของนิวยอร์ก ว่าชีวิตที่มีเครื่องวิทยาศาสตร์บริบูรณ์เช่นปัจจุบันนี้ ทำให้ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวแตกแยกออกไปมากพ่อแม่ไม่ต้องใช้ลูก ลูกไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ พ่อต้องการอะไรก็กดปุ่มวิทยาศาสตร์และแล้วจะมีอาหาร ของใช้ ของต้องการออกมาให้ ความสัมพันธ์ทางจิตใจไม่เกิดขึ้น และความรักความอบอุ่นก็น้อยลงไป ริออชได้ค้นคว้าว่าครอบครัวในนิวยอร์ก มีสมาชิกเฉลี่ยแล้วเพียง 4 คน และแม้เพียง 4 คนนั้นก็ต่างคนต่างอยู่ ลูกนั่งดูโทรทัศน์ พ่ออ่านหนังสือพิมพ์ แม่เย็บผ้า พอพ่อเข้านอนลูกหลับแล้ว พอตื่นมาลูกไปโรงเรียนแล้ว, ลูกต้องการกินอาหารที่มีเครื่องวิทยาศาสตร์ช่วยส่งอาหารมาให้เองไม่ต้องยุ่งกับใคร ลักษณะเช่นนี้มิใช่ดีเสมอไปในแง่ของอารมณ์ มนุษย์ซึ่งต้องการความรักใคร่และเห็นใจ มีตัวอย่างน่าเล่าประกอบเรื่องหนึ่งในนิวยอร์ก มีเด็กรุ่นอายุ 13-14 สี่คน เตร็ดเตร่ไปในสวนสาธารณะเจอคนขอทานผู้หนึ่ง เด็กทั้งสี่ได้ช่วยกันหากระสอบป่านเก่าได้ แล้วมาคลุมตัวขอทาน แล้วเอาน้ำมันราดและเอาไฟเผากระสอบ จนคนขอทานเกือบตาย พอดีตำรวจเห็นและวิ่งมาช่วยทัน และจับเด็กไปโรงพัก เมื่อสอบถามเด็กทั้งสี่ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น เด็กให้การว่า สนุกดีและแถมว่าอยากรู้ โทษที่เด็กมีนั้นมากเกินที่จะอภัยได้ เขาจึงส่งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุทางจิตวิทยา กรรมการได้สอบค้นทางบ้าน ได้ความว่า เด็กสามคนอยู่ในครอบครัวซึ่งพ่อแม่แตกแยกกัน เด็กไม่มีความสุขในบ้าน จึงไขว่คว้าหาความสุขข้างนอก ไม่มีจุดหมาย เมื่อเจอะเพื่อนที่มีจิตใจขุ่นมัวมาตะเภาเดียวกัน "เดือดดาลตนเอง" และแล้วเดือดดาลคนอื่นอยู่แล้ว ก็ช่วยกันหาทางทำลายคนอื่นเป็นการตอบแทน ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งปรากฏอยู่ในครอบครัวซึ่งมีทั้งพ่อและแม่ แต่เป็นครอบครัวแบบวิทยาศาสตร์ดังกล่าวแล้ว เด็กขาดความอบอุ่นในบ้านเช่นเดียวกัน รู้สึกว่ามีพ่อแม่ก็เสมือนไม่มี นั่นคือขาดความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวนั้น

การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ พร้อมพ่อพร้อมแม่ย่ายายแบบตะวันออก ซึ่งปฏิบัติมานานแล้ว ก็น่าศึกษาว่ามีสุขภาพจิตดีเพียงใด ถ้าหากการอยู่ร่วมกันนั้นมีความรักใคร่นับถือกันดีก็เป็นของดีแน่แต่ถ้าเพียงแต่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคประสาท, หงุดหงิด, เจ้าทุกข์ไม่เข้าใจกันและตึงเครียดต่อชีวิตเศรษฐกิจประจำวันอยู่เสมอก็จะลำบาก ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในยุคใหม่นี้ก็เกิดขึ้นจำนวนครอบครัวใหญ่นั้นเล็กลงไปบ้าง การค้นคว้าพบว่าในตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบล มีสมาชิกในครอบครัวหนึ่งเฉลี่ยแล้ว 6.6 คน ซึ่งไม่เล็กนักและโดยมากอยู่ร่วมในเรือนเดียวกัน การอยู่ร่วมกันพร้อมลูกหลานและเขยหรือสะใภ้นั้น วัฒนธรรมไทยโบราณบางภาคมีอยู่อย่างหนึ่งว่าผู้จะมาเป็นเขยนั้นมาอยู่ด้วยกันได้ เพื่อได้ช่วยทำมาหากินแต่ต้องปลูกเรือนหอขึ้นอีกหลังหนึ่งต่างหากในบริเวณบ้านเดียวกัน วิธีนี้ศึกษาว่าสุขภาพจิตของสมาชิกครอบครัวดีกว่าการร่วมอยู่ในหลังเดียวกันทั้งหมด เพราะการอยู่เรือนเดียวกันนั้นอารมณ์ของชีวิตประจำวันต้องกระทบกระเทือนอยู่เสมอ อาจทำให้ความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวแตกแยกไปได้ ดังนั้น จึงมีการศึกษาค้นคว้าหาวิธีหลายๆ อย่าง ซึ่งจะส่งเสริมความสุขอันเกิดจากความผูกพันรักใคร่ของครอบครัวได้

สเตรียร์แรต จิตแพทย์เด็กอีกผู้หนึ่งซึ่งยืนยันว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคจิตนั้น มีสมุฏฐานจากความไม่สัมพันธ์รักใคร่ในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เด็กต้องการความรักใคร่ของพ่อของแม่ตลอดเวลา สายโยงสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกจะต้องแน่น และสายโยงนั้นจะแน่นดีอยู่เสมอ ถ้าพ่อแม่ทำตัวเป็นหลักรักใคร่ผูกพันกันดี ความรักใคร่ผูกพันแน่นหนาของพ่อแม่นั้น จะมีผลสะท้อนไปผูกพันรักใคร่ต่อลูกให้แน่นต่อไปเองโดยปริยาย สเตรียร์แรตสร้างรูปสามเหลี่ยมไว้ดังรูปนี้

ความตึงเครียดของชีวิตและการหาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน ทำให้มนุษย์เอาตัวรอดตัวใครตัวใคร ลืมนึกถึงความผูกพันใกล้ชิดครอบครัว ขาดความเห็นใจคนอื่น คดีหย่าร้างมากขึ้น และจำนวนโรคจิตประสาทมากขึ้น บางคนหันเข้าปลอบตัวเองด้วยสุราและยาเสพติดอื่น ในตอนต้นก็อาจดีแต่บั้นปลายทำให้ครอบครัวแตกแยกเช่นเดียวกัน จึงน่าศึกษาหาทางป้องกันให้มากขึ้น ปัจจุบันนี้มีหลายครอบครัวที่ไม่ต้องการมีลูก ครั้นลูกเกิดมาจริงก็ลำบากและไม่รักใคร่ลูกเท่าที่ควร นอกจากนี้ชีวิตสังคมปัจจุบัน ทำให้บางรายมีลูกนอกกฎหมายซึ่งไม่ต้องการแล้วก็เดือดร้อนและไม่รักลูกเท่าที่ควรเช่นกัน ผลของความไม่ผาสุกของเด็กในอนาคตก็ตามมาอย่างไม่มีปัญหา ดังนั้น ถ้าประชาชนเข้าใจเรื่องของเรี่องดังที่เป็นอยู่เสมอแล้วก็พอแก้ไขปัญหาโรคประสาทได้บ้าง ความจริงคนไทยไม่ทิ้งลูกรักลูกเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรยกย่องและรักษาไว้ แต่มีบางรายซึ่งรักลูกมากจนบางครั้งเกินไปเสียด้วยซ้ำขนาดไม่ให้ลูกทำอะไรเลยยอมทำให้เองเสียหมดกีมี ความรักเกินไปเช่นนั้นไม่สมดุลย์เพราะอาจทำเพียงเพื่อชดเชยความไม่รู้อะไรเลย เพียงชดใช้อารมณ์ และเพื่อเรียกความสนใจจากลูกและคนอื่นแทนความรักซึ่งตนขาดไปเท่านั้นก็ได้ ความรักลูกจึงควรทำเป็นความรักมีดุลย์ถ่วงของมันเองคือไม่รักมากเกินไป และไม่น้อยเกินไป ดังนี้ความเยือกเย็นชื่นบานก็จะเกิดเป็นผลสะท้อนไปถึงความเยือกเย็นชื่นบานอบอุ่นในเด็กต่อไปด้วย

วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้เกิดลักษณะเป็นยุคอุตสาหกรรมเคลื่อนไหว, การอุตสาหกรรมและโรงงานเฟื่องฟูขึ้น เด็กบ้านนอกหนีพ่อแม่จากไร่นาในชนบทเข้ามาทำงานในกรุงมากขึ้น การที่เด็กหนีชนบทเข้ากรุงนี้ ทำให้เกิดความผูกพันครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ถูกทอดทิ้งอยู่กับไร่นา เด็กเข้าไปแออัดแย่งอาชีพกันอยู่ในเมืองใหญ่ เขาไม่แย่งแต่อาชีพแถมไปแย่งกันศึกษาเล่าเรียน แย่งกันอยู่ในที่พักยัดเยียด ไม่ได้อนามัยอีกด้วย ตกเป็นเหยื่อของโรคภัยไข้เจ็บต่อไปอีกโสดหนึ่ง การแย่งกันอยู่ แย่งกันกินและสุขภาพร่างกายทรุดโทรมทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวนอนไม่หลับ พาลเกะกะสังคมแตกแยก แล้วประกอบอาชญากรรม เมื่อก่อนมหาสงครามปรากฎว่าจำนวนเทียบส่วนของชาวกรุงต่อชาวชนบทมีน้อยต่อชาวชนบทมาก แต่ปัจจุบันนี้กลับตรงกันข้ามคลีนิคคนไข้ต้องรับตรวจรักษาคนโรคประสาท ตำรวจและศาลต้องยุ่งอยู่กับอาชญากรมากขึ้น รัฐต้องใช้จ่ายเงินปีละเป็นจำนวนร้อยๆ ล้าน เพื่อชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากคนโรคประสาทและอาชญากรเหล่านั้น เราไม่พิจารณาจะหมุนนาฬิกาให้เดินกลับฉันใด เรื่องของวิวัฒนาการแห่งสังคมก็ฉันนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าในทางสุขภาพจิตจึงได้แต่ศึกษาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะให้ครอบครัวคงมีความผูกพันรักใคร่กันอยู่ต่อไปได้เช่นไร จะให้เด็กทั้งผู้ใหญ่มีสุขภาพจิตดีได้ต่อไปอย่างไรบ้าง หรือพูดอีกทางหนึ่งว่าจะหาทางป้องกันโรคจิต และอาชญากรรมอันเกิดแต่การอุตสาหกรรมเคลื่อนไหวนี้ประการใดบ้าง ข้อคิดเห็นในการศึกษาปัญหานี้อาจจะมีหลายประการ

ขั้นต้นน่าจัดคณะหรือคณะกรรมการศึกษาปัญหานี้ให้ถี่ถ้วนเป็นชุด ประกอบด้วยแพทย์, นักจิตวิทยา, นักสาธารณสุข, นักสังคมสงเคราะห์, นักเศรษฐศาสตร์, นักปกครอง, ครูอาจารย์และผู้เป็นบิดามารดาทั้งหลายศึกษาว่าปัญหานี้เกิดมาอย่างไร มากน้อยเท่าใด ผลเป็นอย่างไร หาสถิติให้แน่นอน ถึงความเจริญและความเสื่อมของการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยเฉพาะทางจิตใจ

ขั้นต่อไปศึกษาหาทางส่งเสริมสุขภาพจิตโดยทางให้ชาวชนบทนั้นรักที่ให้อยู่กับที่เดิมมากที่สุด โดยมีความสุขความพอใจต่อไปตามเดิมในปัจจุบันนี้ อาจจะต้องขยายบริการมากขึ้นตามส่วนของความเจริญของบ้านเมือง เช่น

-การกระจายอำนาจในท้องถิ่น ให้มีการปกครองช่วยเหลือกันเอง ให้ความต้องการของท้องถิ่นนั้น เกิดมาจากชาวท้องถิ่นเอง แล้วทางการปกครองเพียงแต่ช่วยจัดเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านเท่านั้น

-มุ่งส่งเสริมการเกษตรกรรมของชนบทให้ยิ่งขึ้น เพราะทั่วโลกย่อมถือว่าการเกษตรกรรมตามไร่นา ให้เขาทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนของตนเอง เขาจะได้ไม่ว่างงานและมีสุขอยู่กับงานและรายได้ตามสมควร

-จัดหรือสนับสนุนโรงเรียนอาชีพของชนบทให้มากขึ้นแล้วแต่ท้องถิ่นใดมีความต้องการอาชีพใดเป็นใหญ่

-การคมนาคม การชลประทาน และส่งเสริมอุปโภคและสวัสดิการ, เป็นของจำเป็นที่สุดที่จะให้ชาวชนบทมีความพอใจในท้องถิ่นของตัว และถ้าต้องการไปติดต่อกับท้องถิ่นอื่นก็จะได้สะดวกสบายใจ ทุกแห่งต้องการ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ไปรษณีย์ถึง"

-โดยเฉพาะประเทศเรานั้น การโจรผู้ร้ายยังเป็นที่หวาดหวั่นต่อชาวชนบทมาก ซึ่งต้องการกำลังผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่การป้องกันอาชญากรรมสำคัญกว่าตราบใดที่ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีงานทำ มีความพอใจในครอบครัวและความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวของตนแล้วอาชญากรรมจะเกือบไม่มี เด็กจะไม่หนีออกจากบ้าน ฯลฯ เพราะบ้านคือความสุขของเขา

-การศึกษาดีในท้องถิ่น แต่การศึกษาเคลื่อนที่จากส่วนกลางดังที่ได้จัดทำทั่วไปแล้วในยุโรป และอเมริกาเป็นของจำเป็น เช่น หน่วยให้การศึกษาเคลื่อนที่, ห้องสมุดเคลื่อนที่ และภาพยนตร์การศึกษาเคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งชาวชนบทจะได้รับการศึกษาและมีความสุขจากความรู้เหล่านั้น โดยมิต้องพะวงจะจากบ้านไปที่อื่น ถ้าเขาไม่สามารถจะได้รับที่ชนบทเขาจะดิ้นเข้ากรุงต่อไป

-การอนามัยดี, การมีโรงพยาบาลดี สถานีอนามัยดีและการอนามัยเคลื่อนที่ เพื่อสุขภาพของประชาชนเป็นของจำเป็นคู่กัน คำขวัญขององค์การอนามัยโลกมีว่า "สุขภาพคือความมั่นคั่ง" หรือ "อโรคยา ปรมา ลาภา" จะใช้ได้ตลอดกาล คนที่มีโรคจะทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ได้ การเศรษฐกิจจะตกต่ำรายได้จะขาดและจิตใจจะวุ่นวายขึ้นมาทันที

-นักสังคมสงเคราะห์เคลื่อนที่ สิ่งนี้เป็นของจำเป็นสำหรับโลกปัจจุบันนี้ ผู้ที่จะติดต่อชาวบ้านได้ดีที่สุดและเข้าใจปัญหาจิตใจของชาวบ้านแล้วช่วยนำมาถกเถียงแก้ไขให้สุขภาพจิตที่ดีที่สุด น่าจะได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์

-ส่งเสริมสวนสาธารณะ, วนอุทยาน, น้ำตกและที่พักผ่อนหย่อนใจให้มากที่สุด เพื่อเป็นทางระบายอารมณ์ของผู้มีทุกข์และเป็นปิติภาคภูมิใจของชนท้องถิ่นนั้นๆ

-ศิลปกรรมและวัฒนธรรม อันเป็นของเดิมและขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมซึ่งปฏิบัติกันมาหลายชั่วคนแล้ว เช่นพิธีทางศาสนาควรได้รับการสนับสนุนและรักษาไว้โดยทั่วไปตามชนบทนั้น วัดคือศูนย์กลางของการสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น วัดควรได้รับการส่งเสริมและบูรณะและรักษาให้คงเป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมต่อไป

เหนือสิ่งใดหมด คือการปฏิบัติใดๆ ซึ่งจะให้ชาวชนบทรู้สึกว่าตนมีค่าและได้รับการยกย่อง เช่น การยกย่องศิลปกรรม วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมเดิมของเขาโดยจริงใจ เป็นต้น ทั้งนี้ จะทำให้เขาภาคภูมิใจและมีความสุขมิใช่แต่ชาวชนบทจะเรียนรู้ชีวิตที่ดีจากชาวกรุงเพียงฝ่ายเดียว แต่ชาวกรุงจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่ดีและมีความสุขจากชาวชนบทอีกมาก เช่นเดียวกับที่ฝรั่งต่างชาติมายังประเทศของเรานั้น เขามิได้มา "ให้" แต่อย่างเดียว แต่เขามา "รับ" จากเราไปก็หาน้อยไม่ เรื่องของความผูกพันรักใคร่ในครอบครัวอันเป็นฐานของสุขภาพจิตแห่งสังคมนี้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งตะวันตกจะต้องได้ "รับ" ไปจากตะวันออกมิใช่น้อยและซึ่งตะวันออกควรภาคภูมิใจและรักษาไว้

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us