เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

 พฤติกรรมของคู่สมรสไทยในเรื่องการทำหน้าที่ในครอบครัว

พรรณพิมล หล่อตระกูล พ.บ.*
จันทร์ชนก โยธินชัชวาลย์ สค.ม.**

* กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี

** ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคู่สมรสในการทำหน้าที่ในครอบครัว 7 ด้าน ได้แก่ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร บทบาท การตอบสนองทางอารมณ์ ความผูกพันทางอารมณ์ การควบคุมพฤติกรรม และการทำหน้าที่ทั่วไป ในครอบครัวปกติ

วิธีการศึกษา เก็บข้อมูลจากครอบครัวปกติที่เข้ารับการอบรมโครงการโรงเรียนสำหรับพ่อแม่จำนวน 556 ราย โดยใช้แบบบันทึกการทำหน้าที่ของครอบครัว (Chulalongkorn Family Inventory: CFI)

ผลการศึกษา ผู้ตอบแบบบันทึกเป็นชาย 198 คน (ร้อยละ 35.6) เป็นหญิง 358 คน (ร้อยละ 64.4) อายุเฉลี่ย 41.9 ปี (SD=10.3) แต่งงานมานาน 14.8 ปี (SD=9.6) เป็นครอบครัวเดี่ยว 371 ครอบครัว (ร้อยละ 66.7) ครอบครัวขยาย 147 ครอบครัว (ร้อยละ 26.4) ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียว 34 ครอบครัว (ร้อยละ 6.1) มีค่าความสัมพันธ์ระหว่างข้อคำถามเท่ากับ 0.88 ค่าคะแนนเฉลี่ยด้านการควบคุมพฤติกรรมต่ำสุด ลักษณะโครงสร้างของครอบครัวมีผลต่อคะแนนรวมของแบบบันทึก (p=0.034) ความผูกพันทางอารมณ์ (p=0.014) และการสื่อสาร (p=0.028) จำนวนปีที่แต่งงานไม่มีผลต่อลักษณะครอบครัวขยาย ในครอบครัวเดี่ยวจำนวนปีที่แต่งงานมีผลต่อการแก้ไขปัญหา (p=0.032) และการควบคุมพฤติกรรม (p=0.045) ครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะดีมีผลต่อการทำหน้าที่ของครอบครัวดีในทุกด้านแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ครอบครัวที่ระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปมีการทำหน้าที่ในด้านการสื่อสาร (p=0.018) และการทำหน้าที่ทั่วๆ ไป (p=0.008) ดีกว่าครอบครัวที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

สรุป จากการสำรวจครอบครัวปกติในการทำหน้าที่ของครอบครัว ซึ่งส่วนมากเป็นครอบครัวเดี่ยว ปัจจัยที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของครอบครัวได้แก่ ปัจจัยด้านการศึกษา ลักษณะโครงสร้างของครอบครัว และจำนวนปีที่แต่งงานในครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542; 44(4):320-328.

คำสำคัญ การทำหน้าที่ของครอบครัว คู่สมรส

Family Function in Thai Married-Couple

Panpimol Lotrakul, M.D.*
Janchanok Yotinchatchawan, M.A.**

* Department of Mental Health, Ministry of Public Health, Nonthaburi

** Child Mental Healh Center, Rama VI Road, Bangkok 10400.

Objective To examine family function in Thai married-couple in 7 areas : problem solving, communication, roles, affective responsiveness, affective involement, behavior control and total general function.

Methods Each couple who attended parent education program were asked to complete the Chulalongkorn Family Inventory (CFI).

Results There were 198 male (35.6 %) and 358 female (64.4%) in the study. Mean age was 41.9 years (SD=10.3). They were married for 14.8 years (SD=9.6). Sixty-seven per cent of the families were nuclear family and 26 per cent were extended family (26.4%). The correlation between each item of the CFI was 0.88. The behavior control was the area that had lowest score. The structure of the family affected the total score (p=0.034), affective involvement (p=0.014) and communication (p=0.028). Years of marriage were not correlated with family function in extended family but correlated with nuclear family in problem solving (p=0.032) and behavior control (p=0.045). High educated families had better family function than low educated families in communication (p=0.018) and total score (p=0.008).

Conclusions The family function was correlated to family structure, years of marriage, and educational level.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999; 44(4): 320-328.

Key words : family function, couple

บทนำ

ลักษณะครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สภาพครอบครัวที่มีการหย่าร้างมีมากขึ้นทุกปี จากสถิติซึ่งรวบรวมโดยโครงการเด็กเยาวชนและครอบครัว ปี พ.ศ. 2537 มี 15.83 ล้านครัวเรือน ขนาดของครอบครัวเล็กลง ร้อยละ 67 เป็นครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 29-35.9 พ่อแม่แยกกันอยู่1 จำนวนบุตรลดลงจาก 6 คนเมิ่อ 30 ปีที่แล้วมาเป็น 2 คน ในปัจจุบันขนาดของครอบครัวเฉลี่ยเล็กลงจาก 4.3 คนเหลือ 3.7 คน ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ถึงแสนบาท และเปลี่ยนจากการถือครองที่ดินทางการเกษตรมาเป็นลูกจ้างมากขึ้น ครอบครัวส่วนหนึ่งมีภาวะเรื่องหนี้สิน โดยเฉพาะจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ มีครอบครัวที่มีความเครียดจากภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของครอบครัว2

ครอบครัวไทยเพียง 3 ใน 4 ที่พ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกัน 1 ใน 4 อยู่ในภาวะเสี่ยงจากภาวะครอบครัวแยกกันอยู่ ระยะเวลาการอยู่ร่วมกันของครอบครัวสั้นลง การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้สถาบันครอบครัวลดบทบาทความสำคัญลง อัตราการหย่าร้างของครอบครัวสูงขึ้น ในครอบครัวที่แตกแยกมีปัญหาการเลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสม ในครอบครัวที่มีความเครียดจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่มีผลเสียต่อเด็กมากกว่าในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน

คู่สมรสส่วนมากไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อนมีลูก ภาระการเลี้ยงดูตกอยู่กับแม่ พ่อมีส่วนร่วมน้อยในการเลี้ยงดู การดูแลเด็กให้ความสำคัญที่การอบรมสั่งสอน เรื่องความรักเป็นเรื่องรอง ทัศนะการอบรมแบบเดิมๆ ยังคงอยู่ เช่น ว่านอนสอนง่าย กตัญญู โตขึ้นต้องเป็นเจ้าคนนายคน ลูกชายได้อิสระมากกว่าลูกหญิง เป็นต้น

การทำหน้าที่ของครอบครัว

ในทัศนะของทฤษฏีระบบจะไม่ตัดสินว่า ครอบครัวไหนเป็นครอบครัวปกติ หรือครอบครัวไหนผิดปกติ แต่จะดูว่าครอบครัวนั้นทำหน้าที่ของครอบครัวได้มีประสิทธิภาพ หรือหน้าที่ของครอบครัวบกพร่อง การประเมินการทำหน้าที่ของครอบครัว มีแนวทางหลายแนวทางที่ใช้ในการประเมิน แบบสอบถาม Family Assessment Device (FAD)3 สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรอง โดยออกแบบให้สามารถสืบหาปัญหาที่มักเกิดขึ้นในครอบครัว FAD มีแนวความคิดพื้นฐานมาจากแบบจำลองการทำหน้าที่ของครอบครัวของแมคแมสเตอร์ (McMaster Model of Family Functioning : MMFF) โดยแบ่งครอบครัวออกเป็นครอบครัวที่มีการทำหน้าที่ได้ดี และครอบครัวที่มีการทำหน้าที่ได้ไม่ดี

McMaster ได้กล่าวถึงการทำหน้าที่ของครอบครัวในด้านต่างๆ 6 ด้าน4 ดังนี้

การแก้ไขปัญหา หมายถึง ความสามารถของครอบครัวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับที่ทำให้ครอบครัวดำเนินไปได้ และปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางปฏิบัติ อาจแบ่งปัญหาเป็น 2 แบบ

ก. ปัญหาด้านวัตถุ ได้แก่ปัญหาที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาการเงิน เป็นต้น

ข. ปัญหาด้านอารมณ์ ได้แก่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว เช่น ความไว้วางใจของสามีและภรรยา เป็นต้น

การสื่อสาร หมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและกัน โดยเพ่งเล็งที่การสื่อสารทางวาจา เนื่องจากสามารถประเมินได้ชัดเจนกว่าการสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูด การสื่อสารแบ่งได้ เป็น 2 ด้าน

ก. ด้านเนื้อหา การสื่อสารที่ดีเนื้อหาต้องมีความชัดเจน

ข. จุดหมายปลายทาง เนื้อหาที่สื่อต้องตรงไปสู่ผู้ที่ต้องการจะสื่อด้วย

บทบาท บทบาทในครอบครัวหมายถึงแบบแผนพฤติกรรมที่สมาชิกประพฤติต่อกันและกันซ้ำๆ เป็นประจำ เพื่อทำให้ครอบครัวปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ บทบาทแบ่งออกตามลักษณะหน้าที่ได้ ดังนี้

การตอบสนองทางอารมณ์ หมายถึงความสามารถที่จะตอบสนองทางอารมณ์ต่อสิ่งกระตุ้นอย่างเหมาะสมทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ การตอบสนองทางอารมณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของบุคคล การประเมินจะประเมินในแง่ความเหมาะสม คุณภาพ และปริมาณของอารมณ์ที่แสดงออก ครอบครัวปกติควรจะสามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้หลายรูปแบบ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม

ความผูกพันทางอารมณ์ หมายถึง ระดับการแสดงออกซึ่งความสนใจ เห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆที่สมาชิกในแต่ละคนทำ รวมทั้งระดับความรู้สึกผูกพันห่วงใยที่แต่ละคนมีต่อกัน ความผูกพันทางอารมณ์มีหลายระดับ คือ ปราศจากความผูกพัน ผูกพันแบบไม่มีความรู้สึก ผูกพันเพื่อตนเอง ผูกพันอย่างมีความเข้าอกเข้าใจ ผูกพันมากเกินไป และผูกพันจนเหมือนเป็นบุคคลคนเดียวกัน

การควบคุมพฤติกรรม หมายถึง แบบแผนที่ครอบครัวปฏิบัติในการควบคุมหรือจัดการกับพฤติกรรมของสมาชิกในสถานการณ์ต่างๆ การควบคุมพฤติกรรมไม่ใช่เป็นเพียงการฝึกระเบียบวินัยในครอบครัวเท่านั้น ยังรวมถึงการจัดการกับพฤติกรรมหลากหลายที่เกิดขึ้น ลักษณะการควบคุมพฤติกรรมในครอบครัวแบ่งได้เป็น การควบคุมพฤติกรรมแบบเข้มงวด การควบคุมพฤติกรรมแบบยืดหยุ่น การควบคุมพฤติกรรมแบบอะไรก็ได้ การควบคุมพฤติกรรมแบบยุ่งเหยิง

ครอบครัวมีหน้าที่ในหลายด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา อบรมปลูกฝังคนรุ่นใหม่ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมและอุดมการณ์ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติปัจจุบัน หลายครอบครัวไม่สามารถปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ของครอบครัวให้ดีต่อไปได้ ทำให้เกิดผลทางลบกับสังคมโดยรวม ที่ต้องการการสนับสนุน เกื้อหนุนจากครอบครัวให้ทุกคนในสังคมสามารถประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ในทางกลับกันถ้าครอบครัวโดยรวมยังคงสามารถทำหน้าที่ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ก็จะส่งผลในทางบวกกับสังคมโดยรวม การช่วยเหลือครอบครัวให้มีการทำหน้าที่ได้ดี ต้องการข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะครอบครัวไทย โดยเฉพาะรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามวิถีแห่งสังคมวัฒนธรรมไทย การหาข้อมูลพื้นฐานเพื่อกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงรูปแบบความสัมพันธ์ในครอบครัว ในแง่ของพฤติกรรมของคู่สมรสในการทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ในครอบครัวทั้งในทางบวกและในทางลบ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านครอบครัวในอันที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของครอบครัวไทย นำไปสู่การบำบัดปัญหาในครอบครัวที่เป็นรากเหง้าของปัญหาต่างๆ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมของคู่สมรสไทยในแง่การทำหน้าที่ในครอบครัว 7 ด้าน ได้แก่ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร บทบาท การตอบสนองทางอารมณ์ ความผูกพันทางอารมณ์ การควบคุมพฤติกรรม และการทำหน้าที่ทั่วไป ในครอบครัวปกติ 2) ศึกษาเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของครอบครัวในด้านต่างๆ กับลักษณะโครงสร้างของครอบครัว การศึกษา เศรษฐานะ จำนวนปีของการแต่งงานอยู่ด้วยกัน

วิธีการศึกษา

ประชากรที่ศึกษาได้แก่ ครอบครัวปกติที่เข้ารับการอบรมโครงการโรงเรียนสำหรับพ่อแม่ โดยไม่เคยมารับบริการปรึกษาปัญหาจากศูนย์สุขวิทยาจิต สามารถอ่านออกเขียนได้ และทำแบบประเมินได้ด้วยตนเอง

เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา จำนวนสมาชิกในครอบครัว รายได้รวมของครอบครัว การศึกษา จำนวนปีที่แต่งงาน สถานภาพสมรสปัจจุบันและสถานภาพสมรสของบิดาและมารดา และแบบบันทึกการทำหน้าที่ของครอบครัว (Chulalongkorn Family Inventory : CFI ) ซึ่งดัดแปลงมาจากแบบสอบถามการทำหน้าที่ของครอบครัว (Family Assessment Device: FAD) ตาม McMaster model โดยศาสตราจารย์อุมาพร ตรังคสมบัติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพ.ศ. 2538 มีจำนวน 36 ข้อ ประกอบด้วยคำถาม 7 ด้าน ได้แก่ การทำหน้าที่ทั่วไป การแก้ปัญหา บทบาท การตอบสนองทางอารมณ์ ความผูกพันธ์ทางอารมณ์ การสื่อสาร การควบคุมพฤติกรรม

ดูความสอดคล้องภายในของแบบสอบถามโดยวิธี Cronbach's alpha ทดสอบความสัมพันธ์ทางสถิติประหว่างตัวแปรโดยวิธี analysis of variance

ผลการศึกษา

กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งหมด 556 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 41.9 ปี (SD=10.9) การศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐานะปานกลาง เป็นครอบครัวเดี่ยว สถานะภาพการสมรสอยู่ด้วยกัน และโดยเฉลี่ยอยู่ด้วยกันมานาน 14.78 ปี (SD=9.62) (ตารางที่ 1)

ค่า Cronbach's alpha ซึ่งบ่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละข้อคำถาม เท่ากับ 0.88 ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ค่า corrected item-total correlation มีตั้งแต่ 0.03 ถึง 0.64 โดยข้อที่มีความสัมพันธ์กับคะแนนรวมน้อยได้แก่ ข้อ "ในครอบครัวของคุณ ใครจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ"(-0.05) "คนในครอบครัวสามารถแสดงความผิดโดยไม่ต้องรับโทษ"(0.03) และ "ครอบครัวคุณมีลักษณะตามสบาย ไม่ยึดถือมาตรฐานและกฏเกณฑ์ใดๆ"(0.13) ข้อที่มีค่าความสัมพันธ์กับคะแนนรวมสูงได้แก่ "ทุกคนเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี"(0.64), "ครอบครัวของคุณรักใคร่ปรองดองกันดี"(0.61) และ "ครอบครัวของคุณให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของสมาชิก"(0.61)

ค่าคะแนนรวมของแบบสอบถามเท่ากับ 110.25 (SD=13.68) โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านตามตารางที่ 2

ในด้านลักษณะโครงสร้างของครอบครัวกับค่าคะแนนรวมและการทำหน้าที่ของครอบครัว พบว่าครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยายมีค่าคะแนนต่ำกว่าครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวพ่อแม่คนเดียวในแทบทุกด้าน โดยมีด้านที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามตารางที่ 3

ในครอบครัวเดี่ยวพบว่าจำนวนปีที่สมรสมีผลต่อหน้าที่ของครอบครัวในด้านการแก้ปัญหาในครอบครัว (p=0.010) ด้านการควบคุมพฤติกรรม (p=0.026) และคะแนนรวม (p=0.030) โดยยิ่งอยู่ด้วยกันนานยิ่งมีค่าคะแนนเพิ่มขึ้น ส่วนในครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยวจำนวนปีที่สมรสไม่มีผลต่อหน้าที่ของครอบครัวและคะแนนรวม

ด้านระดับการศึกษาพบว่าครอบครัวที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีค่าคะแนนสูงกว่าครอบครัวที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีในด้านการสื่อสาร (p=0.018) และด้านการทำหน้าที่ทั่วๆ ไป (p=0.008)

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐานะกับการทำหน้าที่ของครอบครัว พบว่าครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะดีจะมีค่าคะแนนสูงกว่าครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะต่ำกว่า แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

การแยกกันอยู่ของพ่อแม่ไม่พบว่ามีผลต่อการทำหน้าที่ของครอบครัว การตายของพ่อแม่ทั้งก่อนอายุ 12 ปีและหลัง 12 ปีไม่มีผลต่อการทำหน้าที่ของครอบครัว

วิจารณ์

แบบบันทึกการทำหน้าที่ของครอบครัวที่นำมาใช้ในการศึกษา มีค่าความสัมพันธ์ของข้อคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีด้านที่การทำหน้าที่ต่ำสุดในด้านการควบคุมพฤติกรรม ด้านที่มีคะแนนต่ำรองลงมาคือด้านความผูกพันธ์ทางอารมณ์ ส่วนด้านอื่นๆ มีค่าคะแนนใกล้เคียงกัน การควบคุมพฤติกรรมเริ่มตั้งแต่การที่ครอบครัวมีข้อกำหนดว่าสมาชิกจะต้องทำอะไร มีการติดตามว่ามีการกระทำตามที่ตกลงกันหรือไม่ และหากไม่ทำจะลงโทษอย่างไร ในวัฒนธรรมตะวันออกมีปัญหาเรื่องการควบคุมพฤติกรรมอย่างสุดขั้วทั้งเข้มงวดมากและหย่อนยาน5 ในครอบครัวเดียวกันอาจมีทั้งสองลักษณะในเรื่องหรือในกรณีที่ต่างกัน เช่น ในเพศที่ต่างกัน ในการเลี้ยงดูลูกมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดเรื่องพฤติกรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีการตอบสนองเด็กหรือยินยอมในบางพฤติกรรมของเด็กอย่างมาก6,7 ในด้านความผูกพันธ์ทางอารมณ์ในแบบบันทึกนี้อิงตาม McMaster model ซึ่งจะเน้นความมีอิสระเป็นตัวของตัวเองในครอบครัว ทำให้ด้านนี้ได้คะแนนต่ำ เนื่องจากครอบครัวตะวันออกจะเน้นความเป็นอิสระในตัวเองน้อยลงหลังการแต่งงาน และมักเข้าไปผูกพันธ์ทางอารมณ์อย่างใกล้ชิดกับคู่สมรสหรือสมาชิกในครอบครัว

ลักษณะโครงสร้างของครอบครัวไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวในช่วงแรกหลังการแต่งงาน หลังจากมีลูกคนแรกมักจะกลับเข้ามาอยู่แบบครอบครัวขยาย เมื่อจำนวนลูกมากขึ้น หรือมีครอบครัวของลูกคนอื่นที่มีลูกย้ายกลับเข้ามาในครอบครัวใหญ่ ครอบครัวแรกจะเริ่มแยกตัวออกไปเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง8 จากการศึกษาครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว รองลงไปเป็นครอบครัวขยาย และครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียว ซึ่งเป็นลักษณะครอบครัวที่สำคัญในแง่ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครอบครัวปัจจุบันที่มีอัตราการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น9

จากลักษณะโครงสร้างของครอบครัวและการประเมินการทำหน้าที่ของครอบครัวพบว่าครอบครัวขยายมีการทำหน้าที่ของครอบครัวต่ำสุดในทุกด้าน ยกเว้นด้านการควบคุมพฤติกรรม ต่ำกว่าครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียว และครอบครัวเดี่ยวจะมีคะแนนการทำหน้าที่ของครอบครัวสูงที่สุด แต่ด้านที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ คะแนนรวม ความผูกพันธ์ทางอารมณ์ และด้านการสื่อสาร

จะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวไทยที่เป็นครอบครัวขยายมักมีความเกี่ยวข้องกันในเกือบทุกด้านของสมาชิกที่อยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย การอยู่ร่วมกันไม่ใช้เพียงอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน การจัดหาความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า มีความรับผิดชอบร่วมกัน รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุ การจัดหาคนรับใช้ในบ้าน เป็นต้น ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ในครอบครัวแยกเป็นครอบครัวใหม่ที่ชัดเจน ปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับครอบครัวขยาย รวมทั้งความรู้สึกผูกพันธ์ทางอารมณ์ของสมาชิกครอบครัวใหม่ ถูกแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันกับสมาชิกของครอบครัวเดิม เด็กในครอบครัวมักได้รับการดูแลจากทั้งพ่อและแม่ และสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ในขณะที่การควบคุมพฤติกรรมเป็นเรื่องที่จำเป็นของการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ซึ่งมักมีกติกาของครอบครัวชัดเจน อีกทั้งลักษณะค่านิยมของวัฒนธรรมไทย เด็กและลูกหลานต้องให้ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในครอบครัวมักเป็นผู้ดูแลมีอำนาจในครอบครัว10

ส่วนในครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียว เมื่อดูจากสมาชิกของครอบครัวพบว่าส่วนน้อยที่อยู่แบบครอบครัวเดี่ยว ส่วนมากจะอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ซึ่งครอบครัวที่มีพ่อแม่คนเดียวแต่อาศัยอยู่ร่วมกับปู่ย่าหรือตายาย จะได้รับการช่วยเหลือทั้งทางด้านพื้นฐานและทางด้านจิตใจ ทำให้มีปัญหาไม่แตกต่างจากครอบครัวเดี่ยวทั่วไป11 และถ้าครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียวมีลักษณะครอบครัวที่มั่นคงไม่เปลี่ยนคู่ครองหลายครั้งมักไม่ค่อยมีผลกระทบต่อครอบครัวมากนัก12 อีกทั้งลักษณะครอบครัวที่ศึกษาเป็นครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐฐานะมีผลต่อการปรับตัวที่ดีของครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียว13

ในครอบครัวเดี่ยวจำนวนปีที่สมรสมีผลต่อหน้าที่ของครอบครัวในด้านการแก้ปัญหาในครอบครัว การควบคุมพฤติกรรม และคะแนนรวม โดยยิ่งแต่งงานนานยิ่งมีค่าคะแนนเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าระยะเวลาของการแต่งงานที่นานขึ้นช่วยให้คู่สมรสมีความสามารถในการแก้ปัญหาในครอบครัวดีขึ้น สามารถควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวด้วยวิธีการที่ดีขึ้นทำให้ครอบครัวสามารถรักษาสถานภาพการสมรสไว้ได้ แต่ในครอบครัวขยายและครอบครัวที่มีพ่อแม่คนเดียวจำนวนปีไม่มีความสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ของครอบครัว ทั้งนี้อาจเนื่องจากการทำหน้าที่ของครอบครัวได้รับอิทธิพลจากครอบครัวเดิมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

ครอบครัวที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีการทำหน้าที่ของครอบครัวดีกว่าครอบครัวที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยเฉพาะในด้านการสื่อสาร และการทำหน้าที่ทั่วไป ระดับการศึกษามีผลต่อสถานภาพการสมรสและทั้งระดับการศึกษาและสถานภาพการสมรสเป็นตัวชี้บอกความสามารถของการทำหน้าที่ของครอบครัว14,15

ด้านเศรษฐฐานะของครอบครัว ครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะสูงกว่าจะทำหน้าที่ของครอบครัวได้ดีกว่าในทุกด้านแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ครอบครัวที่ยากจนมักมีปัญหาในการจัดหาความต้องการพื้นฐานในครอบครัว มีความยุ่งยากในการวางแผนเรื่องการหาเงินและการใช้เงิน16 ปัญหาความยากจนมักสัมพันธ์กับระดับการศึกษาที่ต่ำ และสัมพันธ์กับความไม่ราบรื่นในครอบครัว17

ข้อเสนอแนะ

แบบบันทึกการทำหน้าที่ของครอบครัวเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาลักษณะของครอบครัวไทยที่มากไปกว่าการศึกษาเพียงเรื่องโครงสร้างของครอบครัว บางข้อคำถามอาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่ต่างกันบ้างโดยเฉพาะในครอบครัวขยาย อย่างไรก็ตามในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ได้เน้นความสำคัญหลัก 2 ประการ เกี่ยวกับครอบครัว โดยมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงและความอบอุ่นของสถาบันครอบครัว

สรุป

จากการศึกษาการทำหน้าที่ของครอบครัวโดยใช้แบบบันทึกการทำหน้าที่ของครอบครัวในครอบครัวปกติ 556 ครอบครัว เป็นครอบครัวเดี่ยวร้อยละ 66.7 ครอบครัวขยายร้อยละ 26.4 และครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนเดียวร้อยละ 6.1 แต่งงานมานานเฉลี่ย 14.8 ปี ลักษณะโครงสร้างของครอบครัวมีผลต่อคะแนนรวมของแบบบันทึก ความผูกพันทางอารมณ์ และการสื่อสาร จำนวนปีที่แต่งงานไม่มีผลต่อลักษณะครอบครัวขยาย ในครอบครัวเดี่ยวจำนวนปีที่แต่งงานมีผลต่อการแก้ไขปัญหา และการควบคุมพฤติกรรม ครอบครัวที่ระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปมีการทำหน้าที่ในด้านการสื่อสาร และการทำหน้าที่ทั่วๆ ไป ดีกว่าครอบครัวที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะดีมีผลต่อการทำหน้าที่ของครอบครัวดีในทุกด้านแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบคุณศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้ใช้แบบประเมินการทำหน้าที่ของครอบครัว ขอขอบคุณแพทย์หญิงอินทิรา พัวสกุล ผู้อำนวยศูนย์สุขวิทยาจิต และบุคลากรของศูนย์ที่สนับสนุนการเก็บข้อมูล และขอขอบคุณมูลนิธิจิตเวชศาสตร์ที่สนับสนุนทุนในการวิจัย

เอกสารอ้างอิง

  1. สุธีรา ธอมสัน, เมทินี พงษ์เวช. ผู้หญิงไทย: สถานภาพและบทบาทที่เปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเซียแปซิฟิค (เอสแคป), สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา,2538:19-21.
  2. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ, บรรณาธิการ. รายงานการทบทวนองค์ความรู้เรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวในประเทศไทย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการวิจัย.กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.), 2541: 6-12.
  3. ขัตติยา รัตนดิลก. ลักษณะทางสังคมจิตใจของเยาวชนผู้กระทำผิดซ้ำ ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง : วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล, 2539.
  4. อุมาพร ตรังคสมบัติ. จิตบำบัดและการให้คำปรึกษาครอบครัว.กรุงเทพมหานคร : บริษัทเฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง. 2540: 38-49.
  5. Seedonrasamee W. Parental control. In : Suvanatat C, Bhanthumnavin D, Bhuapirom L, Keats DM, eds. Handbook of asian child development and child rearing practices. Bangkok: Burapasilpa Press, 1985: 335-7.
  6. พรรณพิมล หล่อตระกูล, พรรณนิภา มีรสล้ำ, ศศกร วิชัย. ปัจจัยทางจิตสังคมในเด็กและวัยรุ่นที่มารับบริการที่ศูนย์สุขวิทยาจิต. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43: 226-39.
  7. ทิศนา แขมณี, อำไพ สุจริตกุล, สุมล อมรวิวัฒน์, และคณะ. หลักการและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536: 2-5.
  8. Bhassorn Limanonda. Families in Thailand : Beliefs and Realities. Journal of Comparative Families Studies 1995; xxvi: 67-81.
  9. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ. ตัวบ่งชี้การพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย. 2537: 212-3.
  10. Suvanatat C, Bhanthumnavin D, Bhuapirom L, Keats DM, eds. Handbook of asian child development and child rearing practices. Bangkok: Burapasilpa Press, 1985: 273-7.
  11. Kellam SG, Ensminger ME, Turner J. Effect of developmental disorder on parents. Psychiatr Clin North Am 1977; 34:1012-22.
  12. Andersen M, et al. Impact of family type and family quality on child behavior problems: a longitudinal study. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1997; 36: 1357-65.
  13. Velez CN, Johnson J, Cohen P. A longitudinal analysis of selected risk factors for childhood psychopathology. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1989; 28: 861-4.
  14. Dunn J. Family influences. In: Rutter M, Hay DF, eds. Development through life. Oxford: Bath Press, 1994:112-33.
  15. ประสิทธิ์ สวาสดิ์ญาติ.ระบบเครือญาติและการจัดระเบียบสังคม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539: 84-6.
  16. Lamanna MA, Riedmann A. Marriages and families: making choices and facing change. 5th ed. Belmont: Wadsworth Publishing Company, 1994: 468-70.
  17. Offord DR, Boyle MH, Racine Y. Ontario child health study: correates to disorder. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1989; 28:856-60.

ตารางที่ 1 ลักษณะของกลุ่มประชากรที่ศึกษา

  ลักษณะ จำนวน ร้อยละ
เพศ

การศึกษา

สถานภาพสมรส

ลักษณะครอบครัว

เศรษฐานะ

ชาย

หญิง

ปริญญาตรี

อนุปริญญา

มัธยม

อยู่ด้วยกัน

แยกกันอยู่

ครอบครัวเดี่ยว

ครอบครัวขยาย

พ่อแม่คนเดียว

ต่ำ (<5,000)

ปานกลาง

สูง (>100,000)

198

358

278

106

75

497

59

371

147

34

10

509

37

35.6

64.4

50.0

19.1

13.5

89.4

10.6

66.7

26.4

6.1

1.8

91.5

6.7

 

ตารางที่ 2 ค่าคะแนนเฉลี่ยของแต่ละด้านของการทำหน้าที่ของครอบครัว

 

ค่าคะแนนเฉลี่ย

(คะแนนเต็ม=4)

SD

ด้านการแก้ปัญหาในครอบครัว

ด้านบทบาท

ด้านการตอบสนองทางอารมณ์

ด้านความผูกพันทางอารมณ์

ด้านการควบคุมพฤติกรรม

ด้านการสื่อสาร

การทำหน้าที่ทั่วๆ ไป

3.08

3.07

3.06

2.91

2.86

3.02

3.22

0.62

0.48

0.51

0.57

0.43

0.52

0.48

ตารางที่ 3 ลักษณะของครอบครัวกับค่าคะแนนรวมและการทำหน้าที่ของครอบครัว

 

ลักษณะครอบครัว

mean

SD

p

คะแนนรวม ครอบครัวเดี่ยว

ครอบครัวขยาย

พ่อแม่คนเดียว

111.35

107.58

110.53

0.71

1.11

2.44

0.034
ด้านความผูกพันทางอารมณ์ ครอบครัวเดี่ยว

ครอบครัวขยาย

พ่อแม่คนเดียว

14.83

13.95

14.47

2.79

2.95

2.82

0.014
ด้านการสื่อสาร ครอบครัวเดี่ยว

ครอบครัวขยาย

พ่อแม่คนเดียว

15.34

14.60

15.21

2.55

2.70

2.44

0.028

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us