เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

การให้บริการสุขภาพจิตในประเทศญี่ปุ่น

เกษม ตันติผลาชีวะ พ.บ.*

บทคัดย่อ

ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 126 ล้านคน มีจิตแพทย์ประมาณ 8,400 คน มีโรงพยาบาลจิตเวช 1,672 แห่ง มีจำนวนเตียง 362,692 เตียง ซึ่งร้อยละ 88 เป็นของเอกชน รัฐบาลมีระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมประชาชนได้ทั่วถึง ทำให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยสูงอายุที่สมองเสื่อมทำได้ดี ผู้เขียนได้เปรียบเทียบกับระบบบริการสุขภาพจิตของประเทศไทย พร้อมทั้งให้ความคิดเห็นต่อการพัฒนาระบบบริการในด้านต่างๆ

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542;44(3): 273-279.

คำสำคัญ ระบบบริการสุขภาพจิต การให้บริการสุขภาพจิต ระบบประกันสุขภาพ ประเทศญี่ปุ่น

* โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600

Mental Health Services in Japan

Kasem Tantiphlachiva M.D.*

* Somdet Chaopraya Hospital, Bangkok 10600

Abstract

The population of Japan is 126 million. It has approximately 8,400 psychiatrists, 1,672 psychiatric hospitals and 362,692 beds. Eighty-eight per cent are private hospital beds. The efficient health insurance system with universal coverage enhances good mental health care for all psychiatric patients as well as demented elderly. Comparison with the mental health care system of Thailand is made and suggestions are given for improving the mental health care system in Thailand.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999;44(3): 273-279.

Key words : mental health care system, mental health service, health insurance, Japan

ระหว่างวันที่ 25 มกราคม 2542 ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2542 ผู้เขียนได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ไปสัมมนาหลักสูตร Senior Officers in Mental Health Care ณ ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เข้าสัมมนาเป็นจิตแพทย์ 10 คน จากประเทศในเอเชีย 8 ประเทศ คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย

ผู้จัดหลักสูตรการสัมมนาและดูงานคือ สมาคมโรงพยาบาลจิตเวชญี่ปุ่น (Japanese Association of Psychiatric Hospitals) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีความสำคัญมากในการประสานงานกับภาครัฐบาล ผ่านกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการ ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการให้บริการสุขภาพจิตของประเทศญี่ปุ่น

การประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายและทิศทางที่แน่นอนในการให้บริการสุขภาพจิต มีการกำหนดจำนวนสถานบริการ เตียง พื้นที่ต่อเตียงผู้ป่วย จำนวนบุคลากร อัตราค่าบริการ ตลอดจนเรื่องอื่นที่จำเป็น เพื่อให้บริการสุขภาพจิตของประเทศดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานสุขภาพจิต

ประเทศญี่ปุ่นมีการบังคับใช้กฎหมายชื่อว่า Law for the Care and Custody of the Insane มาตั้งแต่ พ.ศ.2443 และ Insane Asylum Law ตั้งแต่ พ.ศ.2462 มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคจิต แต่บริการทางจิตเวชยังมีไม่เพียงพอในระยะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และสหรัฐอเมริกายึดครอง ได้เริ่มมี Mental Hygiene Law ใน พ.ศ.2493 ซึ่งห้ามมิให้มีการกักขังผู้ป่วยโรคจิตไว้ที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการนำไปรักษา มีการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชอย่างน้อย 1 แห่ง ในแต่ละจังหวัด (prefecture) กฎหมายนี้ได้รับการแก้ไขเป็นบางส่วนใน พ.ศ. 2508 เพื่อส่งเสริมให้มีการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและในชุมชน โดยการจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตชุมชนในทุกจังหวัด มีการแก้ไขกฎหมายและเรียกชื่อใหม่ว่า Mental Health Law ใน พ.ศ.2530 เพื่อให้มีเนื้อหาคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยโรคจิต ต่อมามีการบังคับใช้กฎหมายบุคคลพิการ Basic Law for the Disabled ใน พ.ศ. 2536 จึงมีการแก้ไขกฎหมายสุขภาพจิต และเปลี่ยนชื่อเป็น Law Concerning Mental Health and Welfare for the Mentally Disabled ใน พ.ศ.2538 2

สถานบริการทางจิตเวช 3

ข้อมูล พ.ศ.2537 ประเทศญี่ปุ่นมีโรงพยาบาลจิตเวชทั้งสิ้น 1,672 แห่ง มีจำนวนเตียง 362,692 เตียง เป็นของเอกชน 1,367 แห่ง มีจำนวนเตียง 321,967 เตียง (คิดเป็นร้อยละ 88.8) เป็นของรัฐบาล 305 แห่ง มีจำนวนเตียง 40,725 เตียง (คิดเป็นร้อยละ 11.2) จำนวนสถานบริการและเตียงที่กล่าวนี้ รวมสถานบำบัดผู้ติดสุราและสารเสพย์ติด และสถานพยาบาลสำหรับคนชราด้วย เมื่อคิดค่าเฉลี่ยทั้งประเทศแล้ว มีเตียงจิตเวช 29.2 เตียง ต่อประชากร 10,000 คน ส่วนคลินิกผู้ป่วยนอกจิตเวช ใน พ.ศ.2539 มีทั้งสิ้น 3,918 แห่ง เฉลี่ย 2.5 แห่ง อประชากร 100,000 คน

บุคลากรทางจิตเวช 4

ปัจจุบันจำนวนจิตแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นมีประมาณ 8,400 คน ส่วนบุคลากรทางจิตเวชในสายวิชาชีพอื่น จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2533 มีพยาบาลจิตเวช 24,520 คน ผู้ช่วยพยาบาล 23,606 คน พนักงานผู้ช่วย 15,857 คน นักอาชีวบำบัด 819 คน

การฝึกอบรมจิตแพทย์

การฝึกอบรมแพทย์สาขาจิตเวชศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นใช้เวลา 5 ปี ผู้รับการฝึกอบรมต้องเขียนรายงานผู้ป่วยโดยละเอียดตามจำนวนที่กำหนด โดยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชประเภทต่าง ๆ ตามที่ระบุไวั เมื่อส่งรายงานผู้ป่วยและได้รับการยอมรับแล้วจึงมีสิทธิเข้าสอบ

การรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล 3

การรับผู้ป่วยจิตเวชไว้รักษาในโรงพยาบาล มี 3 แบบคือ

1. การรับผู้ป่วยโดยสมัครใจเข้ารับการรักษา คิดเป็นร้อยละ 69.4 ของผู้ป่วยในทั้งหมด การรับผู้ป่วยแม้จะเป็นไปโดยสมัครใจ แต่ถ้าจิตแพทย์ตรวจพบว่ามีความจำเป็นต้องให้อยู่โรงพยาบาลเพื่อการรักษาต่อ ก็ไม่สามารถจำหน่ายผู้ป่วยก่อน 72 ชั่วโมง หลังจากรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

2. การรับผู้ป่วยเพื่อการรักษาและการคุ้มครองทางจิตเวช คิดเป็นร้อยละ 29 ของผู้ป่วยในทั้งหมด การรับผู้ป่วยแบบนี้เป็นไปโดยความยินยอมของผู้อนุบาลผู้ป่วย ร่วมกับความเห็นชอบของจิตแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องรายงานการรับผู้ป่วยต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 10 วัน

3. การรับผู้ป่วยโดยอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของผู้ป่วยในทั้งหมด ในกรณีที่ผู้ป่วยทางจิตเวชอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้อำนวยการสถานคุมประพฤติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวช ฯลฯ อาจร้องขอให้จิตแพทย์จำนวน 2 คน ประเมินผู้ป่วยเพื่อรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ในกรณีเร่งด่วนจิตแพทย์คนเดียวมีอำนาจรับผู้ป่วยไว้รักษาโดยไม่สมัครใจเป็นเวลา 72 ชั่วโมง

ระยะเวลาของการรักษาในโรงพยาบาล 3

ประเทศญี่ปุ่นจัดว่ามีระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาลจิตเวชค่อนข้างนานกว่าประเทศอื่นๆ ใน พ.ศ.2523 มีระยะเวลาเฉลี่ยของการอยู่โรงพยาบาลจิตเวช 535 วัน ใน พ.ศ.2533 ลดลงมาเหลือ 490 วัน และใน พ.ศ.2536 เหลือ 441 วัน แม้ว่าจำนวนวันของการอยู่โรงพยาบาลมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังจัดว่ายาวนานกว่าประเทศอื่น ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง และผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ๆ ทางจิตเวช มักได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน

การจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยจิตเวช 3

ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ครอบคลุมประชากรได้ทั่วทั้งประเทศ

ผู้ป่วยในทางจิตเวช ได้รับการชำระค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 70-80 โดยบริษัทประ-กันภัย ส่วนที่เหลือร้อยละ 20-30 ชำระโดยรัฐบาลกลาง 3 ใน 4 และรัฐบาลท้องถิ่น 1 ใน 4

ผู้ป่วยนอกทางจิตเวช ได้รับการชำระค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 70-80 โดยบริษัทประ-กันภัย ผู้ป่วยจ่ายเองร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นจ่ายคนละครึ่ง

ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาทางจิตเวช 3

ใน พ.ศ.2539 ประเทศญี่ปุ่นมีรายจ่ายสำหรับผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 14,000 ล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 5 ของรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ทั้งหมด ตัวเลขนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แต่กลับมีแนวโน้มเป็นอัตราส่วนลดลง เมื่อเทียบกับรายจ่ายทางการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี รายจ่ายสำหรับผู้ป่วยในทางจิตเวชก็มีตัวเลขลดลง แต่ไปเพิ่มที่รายจ่ายสำหรับผู้ป่วยนอก

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4

กฎหมายญี่ปุ่นมีบทบัญญัติให้มีการรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลโดยไม่สมัครใจได้ ดังนั้นจึงมีข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลทุกแห่งที่รับผู้ป่วยไว้ จะมีหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่รับคำร้องเรียนของผู้ป่วย หากเห็นว่าได้รับการรักษาไม่เหมาะสม และมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า Psychiatric Review Board เป็นผู้ทำหน้าที่สอบสวน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

วิจารณ์

การสัมมนาและดูงานบริการสุขภาพจิตในประเทศญี่ปุ่น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันมากกว่าประเทศทางตะวันตก

ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาในการพัฒนาจากประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งมีความขัดสนจนกลายมาเป็นประเทศที่มั่งคั่ง และมีสวัสดิการแก่ประชาชนดีเยี่ยม 5-6

พลเมืองญี่ปุ่นมีประมาณ 126 ล้านคน มีเตียงสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชกว่า 360,000 เตียง ประเทศไทยมีพลเมือง 61 ล้านคน แต่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชเพียง 8,000 เตียง 7 มีโรงพยาบาลจิตเวชอยู่ใน 10 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด และกำลังก่อสร้างในอีก 2 จังหวัด

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เข้าสัมมนาทั้งหมด ประเทศญี่ปุ่นมีระบบบริการสุขภาพจิตที่เน้นสวัสดิการของประชาชนมากกว่าประเทศอื่น 8-15 ผู้ป่วยทางจิตเวชเรื้อรังที่ไร้ญาติขาดมิตร หรือญาติไม่อาจให้การดูแลได้ สามารถรับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งมีอยู่เพียงพอและมีการกระจายอย่างทั่วถึง จึงไม่พบว่ามีผู้ป่วยโรคจิตนอนอยู่ตามถนนหรือในที่สาธารณะ และไม่เกิดปัญหาเตียงเต็มหรือผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล อัตราการครองเตียงเฉลี่ยประมาณร้อยละ 94 มีการปรับแผนโครงสร้างบริการให้เป็นไปตามการคาดการณ์ปริมาณผู้ป่วย เช่น ประชากรญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี มีอยู่ร้อยละ 14.5 มีผู้ป่วย Senile dementia ประมาณ 1 ล้านคน แนวโน้มของผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น จึงมีการปรับเตรียมบริการเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงตามแก้ไข

ในปัจจุบัน บริการสุขภาพจิตในประเทศญี่ปุ่นหันมาให้ความนิยมโรงพยาบาลกลางวันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถจำหน่ายจากโรงพยาบาลได้ มีโรงพยาบาลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ และมีรถบริการรับส่งถึงบ้าน เป็นการลดภาระการดูแลของครอบครัวได้มาก

ในด้านสวัสดิการ ก็มีการสร้างบ้านพักอาศัยในชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเช่าในราคาถูก โดยมีเจ้าหน้าที่ไปคอยดูแลเยี่ยมเยียน มีการสร้างสถานที่ให้ผู้ป่วยได้ฝึกทำงาน เช่น ร้านขายขนม ร้านขายกาแฟ ให้ผู้ป่วยมาทำงานและหัดบริหารกันเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยกำกับดูแล

ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถทำได้โดยมิให้ตกเป็นภาระแก่ครอบครัว และผู้ป่วยไม่ต้องไปเร่ร่อนหาที่อยู่เอง หรือถูกโยนไปมาระหว่างโรงพยาบาลจิตเวช

การที่ประเทศญี่ปุ่นสามารถให้บริการสุขภาพจิตเช่นนี้ได้ ก็เพราะมีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนได้ทั่วถึง และการประกันสุขภาพครอบคลุมถึงโรคทางจิตเวชด้วย ในส่วนของ สวัสดิการสังคมก็ใช้เงินจากภาษีอากรมาจ่าย

การมีระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สถานพยาบาลของภาคเอกชนดำเนินกิจการได้ เพราะแน่ใจได้ว่าสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ทุกราย จึงง่ายต่อการคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่าย

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสถานบริการทางจิตเวชทั้งหมด แต่อาจสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้ภาคเอกชน รัฐบาลคงไว้เพียงหน่วยงานที่จำเป็น เพื่อการวิจัยและการสนับสนุนวิชาการ เช่น ศูนย์ประสาทวิทยาและจิตเวชศาสตร์แห่งชาติ

การที่ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นยังดำเนินงานอยู่ได้โดยไม่ต้องขาดทุน หรือเปลี่ยนไปใช้ระบบ managed care เหมือนในประเทศทุนนิยมบางประเทศ ก็เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลทางจิตเวชถูกควบคุมไว้ค่อนข้างคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหา

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ควบคุมค่ารักษาพยาบาลมิให้เพิ่มขึ้นก็คือการใช้ยา ซึ่งวงการแพทย์ของญี่ปุ่นใช้เฉพาะยาที่สามารถผลิตเองในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยาทางจิตเวชชนิดใหม่ ๆ ซึ่งมีราคาสูงมิได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศญี่ปุ่นด้วยข้ออ้างของความปลอดภัย ซึ่งความจริงอาจเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐ ร่วมกับค่านิยมของคนญี่ปุ่น แพทย์ญี่ปุ่นเองก็เต็มใจและพร้อมใจกันใช้เฉพาะยาที่ประเทศเขาผลิตได้เอง แม้ว่าจะอ่านวารสารและตำราจนรู้จักยาที่ผลิตออกมาใหม่แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับยาทางจิตเวชไม่สูงขึ้นมากจนกลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ข้อโต้แย้งด้านเศรษฐศาสตร์การแพทย์ที่บริษัทผู้ผลิตยาใหม่ ๆ มักนำมาอ้างอิงเกี่ยวกับการลดรายจ่ายจากการที่ต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลหรือต้นทุนในการดูแลนั้น ประเทศญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผลการรักษามิได้ด้อยกว่าประเทศอื่นเลย แม้จะใช้เพียงแค่ยาที่ผลิตในประเทศของตนเอง

ในเรื่องต้นทุนค่ารักษาพยาบาลนั้น บริษัทยามักใช้เกณฑ์ของประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นตัวเลขอ้างอิง ทั้ง ๆ ที่ค่าใช้จ่ายในการอยู่โรงพยาบาลสำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้นต่ำกว่าที่กล่าวถึงมาก ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยในทางจิตเวชในประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 300,000 เยน หรือประมาณ 100,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกามาก

การรับผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังไว้รักษาในโรงพยาบาลและรับการฟื้นฟูดูแลเป็นกลุ่ม น่าจะเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากกว่าให้ครอบครัวแต่ละครอบครัวต้องเสียกำลังคนไปอย่างน้อย 1 คนเพื่อดูแลผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งผู้ดูแลอาจไปทำงานเพื่อสร้างผลผลิตให้สังคมหรือประเทศชาติได้คุ้มค่ากว่ามาดูแลผู้ป่วยที่บ้านเสียอีก

การผลักดันผู้ป่วยจิตเวชออกจากโรงพยาบาลเข้าสู่ชุมชน กำลังได้รับการทบทวนในหลายประเทศว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และคุ้มค่ากับผลกระทบทางสังคมหรือไม่ จากการที่ผู้ป่วยบางรายไปก่ออาชญากรรมที่รุนแรง เช่น ลอบสังหารบุคคลสำคัญ หรือฆ่าหมู่บุคคลที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ผู้ป่วยเลย

ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่น จัดได้ว่ามีความเข้มแข็ง เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 5 คือ

ทรัพยากร (resources)

การจัดองค์การ (organization)

การบริหารจัดการ (management)

การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ (economic support)

การให้บริการ (delivery of services)

บริการสุขภาพจิตในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียทั้งหลาย เป็นเสมือนว่าระบบของญี่ปุ่นเป็นการ overprotection ต่อผู้ป่วยทางจิตเวชและครอบครัว ในขณะที่ประเทศอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการละเลยต่อการดูแลผู้ป่วย โดยให้บริการที่ไม่เพียงพอและไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน จุดที่พอดีน่าจะอยู่ในระหว่าง 2 ขั้วนี้ตรงจุดใดจุดหนึ่ง

ข้อเสนอแนะ

ประเทศไทยเรามิได้ด้อยกว่าญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช หรือองค์ความรู้ทางด้านจิตเวชศาสตร์ ในส่วนของโรงพยาบาลจิตเวชเรามีความได้เปรียบกว่า เพราะเรามีบริเวณกว้างขวางและมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ซึ่งเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากกว่าโครงสร้างที่เป็นอาคารสูงโดยไม่มีสวน

บริการสุขภาพจิตของประเทศไทยสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในภูมิภาคหรือในโลกได้ โดยการวางแผนและดำเนินตามนโยบายที่เหมาะสม ใช้งบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรต่าง ๆ ในทิศทางที่ถูกต้อง งานหลัก ๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการพัฒนาไปพร้อมกันคือ

1. ออกกฎหมายสุขภาพจิต1 เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ผู้ให้การบำบัดรักษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิต

2. พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามภูมิศาสตร์และประชากรที่กระจายอยู่ เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยให้เพียงพอกับความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

3. จัดอันดับความสำคัญของงานบริการสุขภาพจิตเป็นงานหลัก ใช้งบประมาณและบุคลากรเพื่องานบริการเป็นลำดับต้น

4. พัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยให้โรคทางจิตเวชรวมอยู่ในการประกันสุขภาพด้วย

5. ส่งเสริมให้งานบริการสุขภาพจิตเข้าสู่ภาคเอกชนมากขึ้น โดยมีกฎหมายและระบบประกันสุขภาพเป็นตัวรองรับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอสำหรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนประชากร

เอกสารอ้างอิง

  1. ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง. แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายสุขภาพจิตของไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2540; 42:156-73.
  2. Inoue S, ed. Mental health and welfare law. Japanese Association of Psychiatric Hospitals 1996.
  3. Shingai N. Unpublished document. Japanese Association of Psychiatric Hospitals 1999.
  4. Abe H. Mental health. Unpublished document, 1999.
  5. Bowring R, Kornicki P. The Cambridge Encyclopedia of Japan. Cambridege University Press, 1993.
  6. Sheldon G. Molding Japanese minds : The state in everyday life. Princeton University Press, 1997.
  7. เกษม ตันติผลาชีวะ. Psychiatry in Thailand : Country Report 1996. วารสารสมาคมจิต แพทย์แห่งประเทศไทย 2540; 42:142-9.
  8. Ding L. The present situation of psychiatry in China. Country Report 1999.
  9. Gupta AK. Mental health care in India : Country Report 1999.
  10. Setiawan P. The development of psychiatry in Indonesia : Country Report, Jan 1999.
  11. Chang AK. Present situation of mental health service system in Korea : Country Report 1999.
  12. Yaacob MJ. Psychiatric services in Malaysia : Country Report 1999.
  13. Perez VC. The Philippine Country Report 1997.
  14. Fernando N. Sri Lanka Country Report 1999.
  15. Kuasirikul S. Mental health in Thailand : Country Report 1999.
  16. Roemer MI. National health systems of the world. New York : Oxford University Press, 1991.
  17. Ellencweig AY. Analysing health systems : A molecular approach. New York : Oxford University Press, 1992.

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us