เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

การกินยา olanzapine เกินขนาด: รายงานผู้ป่วย 1 ราย

พ.ท.พงศธร เนตราคม พ.บ.*

*กองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 315 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยหญิงไทย โสด อายุ 28 ปี ป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง ได้กินยา olanzapine เกินขนาด โดยกินไป 210 มก. ภายในครั้งเดียว พบว่ามีอาการ สับสน ง่วงซึม พูดไม่ชัด และ akathisia เพียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถหายได้เอง ใน 12 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้ยารักษาใด ๆ และไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดในระบบเลือด ตับ ไต และหัวใจ จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542;44(3): 269-272.

คำสำคัญ olanzapine กินยาเกินขนาด ฆ่าตัวตาย

Olanzapine Overdose : A Case Report.

LTC. Pongsatorn Netrakom, M.D.*

* Department of Psychiatry and Neurology, Phramongkutklao Hospital, 315 Ratvithi Road, Bangkok 10400. E-mail: pongsato@health.moph.go.th

A single, 28-year-old female, who was diagnosed schizophrenia, paranoid type took olanzapine overdose, 210 mg at once. After that she had confusion, drowsiness, slurred speech and mild symptom of akathisia that spontaneously recovered without using any medication in 12 hours. No hematological, liver function, renal function and cardiac function changes revealed from laboratory investigation.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999;44(3): 269-272.

Key words : olanzapine, overdose, suicide

Olanzapine เป็น atypical antipsychotic drug ชนิดใหม่ที่เพิ่งมีใช้ในประเทศไทยได้ 1 ปี โดยมีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท ทั้งที่มีอาการ positive และ negative ขนาดรักษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ 5 – 20 มก. /วัน จุดเด่นของยาคือมีสูตรโครงสร้างคล้าย clozapine ทำให้มีผลข้างเคียงที่จะทำให้เกิดอาการ extrapyramidal น้อย แต่ไม่พบว่าทำให้เกิด agranulocytosis1 บทความนี้ รายงานผู้ป่วย 1 ราย ที่เกิดการกินยา olanzapine เกินขนาด

รายงานผู้ป่วย

ผู้ป่วยหญิงไทย โสด อายุ 28 ปี มีประวัติป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง มา 5 ปี โดยเริ่มป่วยขณะเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้ ผู้ป่วยออกมาอยู่บ้านเฉย ๆ ช่วยแม่ทำงานบ้าน มาติดตามการรักษาสม่ำเสมอ ในระหว่างการรักษาได้มีการเปลี่ยนยาหลายขนาน ที่เคยใช้ได้แก่ impromen decanoas, thioridazine, perphenazine และ haloperidol ผู้ป่วยยังคงมีหูแว่วบางครั้ง เหมือนมีคนมาพยายามติดต่อผู้ป่วยผ่านทางโทรทัศน์ นอนหลับไม่ค่อยดี และ รู้สึกตัวเกร็ง ๆ เป็นครั้งคราว ช่วง 1 ปีหลังผู้ป่วยเริ่มมีความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า เสียใจที่เรียนไม่จบ กังวลเรื่องต่าง ๆ กลัวแม่ไม่รัก มีความคิดจะฆ่าตัวตาย

4 เดือนก่อนมาโรงพยาบาล ทางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าผู้ป่วยยังมีเวลาเรียนเหลืออีก 1 ปี ผู้ป่วยจึงกลับไปเรียนต่อที่สถาบันเดิม ไปได้แค่ 2 วัน รู้สึกเครียด กังวล กลัวเรียนตามไม่ทัน นอนไม่หลับ มีหูแว่วอีก ผู้ป่วยจึงพยายามฆ่าตัวตาย โดยการกินยาเกินขนาด ญาติได้นำส่งโรงพยาบาล หลังจากรักษาภาวะยาเกินขนาดแล้ว ได้เปลี่ยนยาโรคจิตมาเป็น olanzapine 10 มก. /วัน อาการผู้ป่วยดีขึ้น นอนหลับได้ดี ไม่มีหูแว่ว ไม่หวาดระแวง ไม่กลัวอะไร และไม่มีอาการเกร็ง ผู้ป่วยกลับไปเรียนหนังสือได้ 2 สัปดาห์ ก็เลิกเรียน โดยบอกว่าไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง ขอยอมแพ้อยู่บ้านเฉย ๆ โดยที่ผู้ป่วยสบายดี ไม่มีอาการทางจิต นอนหลับได้

1 วันก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยโทรศัพท์คุยกับเพื่อน เพื่อนคุยให้ฟังว่าใครเรียนจบอะไร บางคนก็กำลังแต่งงาน บางคนก็มีงานดี ๆ ทำ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกน้อยใจตัวเอง กิน olanzapine 10 มก./เม็ด ไป 21 เม็ด หลังกินไปได้ 30 นาที รู้สึกกระสับกระส่าย อยากเดินไปมา ไม่สบายตัว รู้สึกมึนงง พุดคุยไม่ชัด มีอาการสับสนบางครั้ง รู้สึกเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น ญาติได้นำส่งโรงพยาบาล หลังกินยา 4 ชั่วโมง

ผลการตรวจที่ห้องฉุกเฉิน

สัญญาณชีพ: Pulse = 100/min, Respiratory rate = 20/min, Blood pressure = 110/70 mmHg

การตรวจร่างกาย: alert, good orientation to time, place and person, no abnormal neurological sign

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: CBC: WBC 8,300/cumm, PMN 74 % , Eos 1%, lymph 20%, Mono 5%

Hb 12.6 gm/dl, Hct 37%, platelet 199,000/cumm

BUN 5.0 mmol/l, Cr 89 umol/l

EKG within normal limit

ได้ให้สังเกตอาการต่อที่บ้าน ผู้ป่วยยังคงซึม นอนจนประมาณ 12 ชั่วโมงหลังกินยา จึงเริ่มรู้สึกตัว ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ

7 วัน หลังกินยาเกินขนาด ผู้ป่วยมาติดตามการรักษา ไม่พบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: CBC: WBC 6,900/cumm, PMN 56%, Eos 5%, lymph 33%, Mono 6%

Hb 13.1 gm/dl, Hct 39.6%, platelet 232,000/cumm

BUN 2.0 mmol/l, Cr 79 umol/l

LFT: T protein 72 g/l, Alb 45 g/l, T bilirubin 6 umol/l, D bilirubin 2 umol/l, SGOT 12 u/l, SGPT 11 u/l

EKG within normal limit

วิจารณ์

ผลข้างเคียงของ olanzapine ที่พบใน 5 รายงาน ได้แก่ ง่วงซึม น้ำหนักเพิ่ม asymptomatic transaminase elevation, minimal parkinsonism และ akathisia โดยไม่พบภาวะเป็นพิษต่อระบบเลือด หัวใจและไต2 ซึ่งภาวะง่วงซึมและน้ำหนักเพิ่มพบได้บ่อย เป็นผลจากการที่ยามีการออกฤทธิ์ยับยั้งต่อตัวรับของสารสื่อประสาท (neurotransmitter’s receptors) สูงที่ muscarinic m1 และ histamine H1 ตามลำดับ ส่วนอาการ parkinsonism และ akathisia ที่มีเล็กน้อยเป็นผลจากการยับยั้งต่อ dopamine D2 น้อยกว่ายารักษาโรคจิตทั่วไป3 และจากการศึกษาการใช้ olanzapine ในขนาดที่สูงกว่าปกติคือ 30-40 มก./วัน ก็ไม่พบผลข้างเคียงที่ต่างไปจากขนาดยาปกติ4

ผู้ป่วยรายนี้ได้กินยา olanzapine เกินขนาด โดยกินยาไปทั้งหมด 210 มก. ในครั้งเดียว ปกติขนาดในการรักษาเท่ากับ 5 – 20 มก./วัน ซึ่งเท่ากับว่าผู้ป่วยใช้ยามากกว่าปกติถึง 10 - 40 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม จากการตรวจร่ากาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า หลังกินยา 4 – 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีภาวะ สับสน ง่วงซึม พูดไม่ชัด และ akathisia เล็กน้อย ซึ่งสามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยาใด ๆ และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดในระบบเลือด ตับ ไต และหัวใจ

รายงานเกี่ยวกับการกินยา olanzapine เกินขนาดนั้น ช่วงที่มีการทดลองใช้ยาระยะที่ 3 ใน ผู้ป่วยจะพบการกินยา olanzapine เกินขนาด 67 ราย รายที่กินยามากที่สุด 300 มก. พบมีอาการคล้ายกันคือ มีอาการง่วงซึมและพูดไม่ชัดเท่านั้น ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบความผิดปกติที่หัวใจ ระบบเลือด ตับและไต นอกจากนั้นยังไม่มีรายงานผลเสียที่ตามมาที่รุนแรงหรือเป็นถาวรหลังกินยา olanzapine เกินขนาด5 แต่มีรายงานในเด็ก 2 รายที่กินยา olanzapine เกินขนาด ทำให้เกิดอาการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ รายแรกเป็นเด็กอายุ 9 ปี กินยาของแม่เข้าไปประมาณ 100 มก. หลังกินยา 36 ชั่วโมงเกิด acute extrapyramidal symptom (hyperreflexia, tremor of the extremities, cogwheel rigidity, stiff jaw, oculogyric sign and severe dystonia of the neck)6 อีกรายเป็นเด็กอายุ 2.5 ปี หลังกินยาของแม่เข้าไปประมาณ 15 มก. มีอาการกระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีน้ำลายมาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และ ataxia โดยมีอาการอยู่ 24 ชั่วโมง7 นอกจากนั้นการกินยา olanzapine เกินขนาด ในขนาดที่สูงมากทำให้เสียชีวิตได้ มีรายงานผู้ป่วยที่ตายจากการกินยา olanzapine เกินขนาด 2 ราย โดยเป็นชายอายุ 43 ปี และ หญิงอายุ 59 ปี ได้ยาประมาณ 600 มก. คาดว่าเสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมง 8,9

สรุป

Olanzapine เป็น atypical antipsychotic drug ชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ และมีความ ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งมีโอกาสสูงในการทำร้ายตัวเองโดยการกินยาเกินขนาด ในการกินยาเกินขนาดจากปกติ 10 - 40 เท่า พบว่ามีอาการสับสน ง่วงซึม พูดไม่ชัด และ akathisia เล็กน้อย ซึ่งสามารถหายได้เองใน 12 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้ยาใด ๆ และไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดในระบบเลือด ตับ ไต และหัวใจ จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่อย่างไรก็ตามในการดูแลผู้ป่วยกินยา olanzapine เกินขนาด ควรประเมินถึงยาอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยอาจกินร่วมกันด้วย เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยจิตเภทมักใช้ยาหลายชนิด เวลาทำร้ายตัวเองจะกินยาร่วมกันไปหมด ในการรักษาไม่มียาต้านพิษเฉพาะ คงให้เป็นการรักษาแบบระคับประคอง โดยอาจให้ charcoal เพื่อช่วยลดการดูดซึม1 นอกจากนั้นการรักษาโดยจิตบำบัดจะช่วยลดการเกิดการฆ่าตัวตายได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Kaplan HI, Sadock BJ. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry: behavioral science/clinical psychiatry. Baltimore: Williams & Wilkins, 1998: 953:1076-8.
  2. Beasley C, Tollefson G, Tran P. Safety of olanzapine. J Clin Psychiatry 1997; 58(Suppl 10):13-7.
  3. Richelson E. Preclinical pharmacology of neuroleptics: Focus on new generation compounds. J Clin Psychiatry 1996; 57(Suppl 11):4-11.
  4. Sheitman BB, Lindgren JC, Early J, Sved M. High dose olanzapine for treatment-refractory Schizophrenia (Letter). Am J Psychiatry 1997; 154:1626.
  5. Zyprexa. Product Monograph, Eli Lilly and Company. 1996.
  6. Chambers RA, Caracansi A, Weiss G. Olanzapine overdose cause of acute extrapyramidal symptoms. Am J Psychiatry 1998; 155:1630-1.
  7. Yip L, Dart RC, Graham K. Olanzapine toxicity in a toddler. Pediatrics 1998; 102:1494.
  8. Stephens BG, Coleman DE, Baselt RC. Olanzapine-related fatality. J Forensic Sol 1998; 43: 1252-3.
  9. Elian AA. Fatal overdose of Olanzapine. Forensic Sci Int 1998; 16:231-5.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us