เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

ครอบครัวบำบัด : มุมมองของทีมผู้รักษาและสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาครอบครัว

วัจนินทร์   โรหิตสุข ปรด.(การศึกษาพฤติกรรมประยุกต์)*
ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ พ.บ.*
สมร อริยานุชิตกุล วทม. (สุขภาพจิต, พยาบาล)*

* ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

บทคัดย่อ

ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2540 มีครอบครัวที่เข้ามารับการรักษาจำนวนทั้งสิ้น 25 ครอบครัว จากคำตอบของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวจำนวนทั้งหมด 104 คน พบว่าไม่มีผู้ใดที่เข้าใจความหมายของคำว่า “ครอบครัวบำบัด” ได้อย่างถูกต้อง ร้อยละ 55 เข้าใจความหมายถูกบ้างเป็นบางส่วน การศึกษามุมมองระหว่างผู้ป่วยกับสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาครอบครัว พบว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงร้อยละ 72 ในขณะที่มุมมองระหว่างทีมผู้รักษากับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาครอบครัว มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันถึงร้อยละ 68 มีปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กร้อยละ 46 ปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสหรือคู่ครองร้อยละ 25 ปัญหาปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับภาวะการเจ็บป่วยร้อยละ 16 และปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องร้อยละ 13

ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเตรียมความพร้อมของครอบครัวก่อนการรักษาแบบครอบครัวบำบัดเป็นสิ่งที่จำเป็น ความหลากหลายของมุมมองปัญหาครอบครัวระหว่างผู้ป่วยกับสมาชิกในครอบครัว เป็นการย้ำเตือนให้ทีมผู้รักษาเห็นความสำคัญของการได้รับข้อมูลจากบุคคลอื่นในครอบครัวเพื่อความเข้าใจปัญหาและหาทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ภายในระบบย่อยของครอบครัว ดังนั้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542;44(3): 258-268.

คำสัาคัญ ทีมผู้รักษา สมาชิกในครอบครัว ปัญหาครอบครัว

Family Therapy : The Perspective of Family Therapists and Family Members Toward Family Problems

Wajjanin Rohitsuk, Ph.D.(applied behavioral studies)*
Sirirat Kooptiwoot, M.D.*
Samorn Ariyanuchitkul, M.Sc.(mental health, nurse)*

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700.

Abstract

From January to December 1997 the total of 25 family in “Families Therapy Clinic” were studied. The responds of 104 show that none of the patients and their family members knew the actual meaning of “Family therapy” 57 responds (55%) partly understand the meaning. The patients and their members of 7 families (28%) have concurrence perspectives toward the family problem. While 17 families (68%) – the patients and their members – and therapists have concurrence perspectives. The family problems are parent-child relationships (46%), spouse relationships (25%), mental disorder or other medical conditions matters (16%) and siblings relationships (13%)

The result of the study revealed that readiness of patients and their family members before attending “Family Therapy Clinic” is necessary. It is also confirmed that to understand the actual problems and get appropriate solutions needed additional informations from family members beside the patients themselves. Mental health problems mostly involved with relationships in family subsystems, thus to improve the relationship among family members is very important.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999;44(3):258-268.

Key words : family therapists, family members, family problem

บทนำ

ครอบครัวบำบัด (family therapy) เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด ที่คำนึงถึงระบบของครอบครัวเป็นสำคัญในการรักษา ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่นำเอาสมาชิกของครอบครัวมาพบทีมผู้รักษาและขอความร่วมมือในการหาแนวทางเพื่อบรรเทา หรือรักษาความเจ็บป่วยของผู้ป่วยพร้อมทั้งปรับปรุงบทบาทหน้าที่และปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัวให้ดีขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเพื่อให้เกิดสภาวะใหม่ที่สมดุล แต่มิได้ปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ 1,2,3 ซึ่งในระยะหลังนี้การรักษาแบบครอบครัวบำบัดได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชกันอย่างกว้างขวางควบคู่ไปกับการรักษาโดยการใช้ยาหรือการใช้ยาร่วมกับการให้คำปรึกษารายบุคคล พบว่ามีผลดีเป็นที่น่าพอใจ 4 ด้วยเหตุนี้จึงได้เปิด “คลินิกครอบครัว” ขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2540 เพื่อให้บริการการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชที่ต้องได้รับการช่วยเหลือแบบครอบครัวบำบัด และเนื่องด้วยเป็นโครงการใหม่ การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจนความคิดเห็นของผู้ป่วย และสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาครอบครัวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาวิจัย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงแผนการดำเนินการ วิธีการให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการรักษาของผู้ป่วยจิตเวช และครอบครัวให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถนำข้อมูลหรือผลการศึกษาไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อไป

วัตถุประสงค์การศึกษา

1. สำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว ต่อคำว่า “ครอบครัวบำบัด”

2. ศึกษามุมมองของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวเดียวกันต่อการมองปัญหาครอบครัว

3. ศึกษามุมมองของทีมผู้รักษาต่อปัญหาของครอบครัว

4. ศึกษามุมมองระหว่างทีมผู้รักษา ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาภายในครอบครัว

5. ศึกษาลักษณะปัญหาครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวช

วัสดุและวิธีการ

ประชากร คือผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่เข้ามารับการรักษาซึ่งแพทย์เจ้าของไข้ผู้ดูแลรักษาพิจารณาเห็นสมควรส่งผู้ป่วยต่อเพื่อมารับการรักษาที่คลินิกครอบครัว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกทุกราย ซึ่งทางทีมผู้รักษาพิจารณาเลือกและเห็นสมควรว่าต้องเข้ามารับการรักษาแบบครอบครัวในคลินิกครอบครัว ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง ธันวาคม 2540

แบบสอบถาม เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นต่อคำว่า “ครอบครัวบำบัด” และปัญหาครอบครัวซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ตรวจสอบและนำมาปรับปรุงก่อนนำไปใช้

วิธีการ - ในการพบครั้งแรกก่อนการรักษาผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องกรอกแบบสอบถามด้วยตนเอง โดยไม่มีการปรึกษาหารือกัน และจะต้องไม่ได้รับคำอธิบายหรือชี้แจงใด ๆ ถึงการรักษาแบบครอบครัวบำบัด

- ศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวจากแฟ้มประวัติคลินิกครอบครัว ซึ่งทีมผู้รักษาได้ทำการวินิจฉัยสรุปประเด็นเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวไว้

- นำข้อมูลที่ได้มาคำนวณ จำนวนและร้อยละ

ผลการศึกษา

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 25 ราย พบว่าเป็นเพศชาย ร้อยละ 64 เพศหญิง ร้อยละ 36 มีอายุระหว่าง 21-30 ปี ร้อยละ 44 รองลงมาคือ ช่วงอายุระหว่าง 11-20 ปีร้อยละ 28 ขนาดของครอบครัวมีจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน และ 5 คนร้อยละ 36 และร้อยละ 24 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) ผลของการศึกษานำเสนอดังนี้คือ

1. การสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว ต่อคำว่า “ครอบครัวบำบัด” จากจำนวนสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 119 คน ได้รับคำตอบกลับคืน 104 คน ร้อยละ 87 ติดตามไม่ได้ 15 คน ร้อยละ 13 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเข้าใจคำนิยามถูกต้องเป็นบางส่วน ร้อยละ 55 รองลงมาคือ ไม่ตอบ ร้อยละ 20 ตอบแต่เข้าใจไม่ถูกต้อง ร้อยละ 10 และเข้าใจถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 14 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

2. ศึกษามุมมองของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาครอบครัว พบว่าเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ภายในระบบย่อยของครอบครัว ร้อยละ 57 ซึ่งแยกเป็น 3 ประเภท ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก ร้อยละ 33 ความสัมพันธ์ของคนภายในครอบครัว ร้อยละ 16 และความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ (สามีภรรยา) ร้อยละ 8 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับลักษณะส่วนบุคคล ร้อยละ 56 จำแนกเป็น 5 ประเภท ดังต่อไปนี้คือ ความห่วงใยเรื่องความเจ็บป่วย ร้อยละ 24 ปัญหาการดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 13 ปัญหาพฤติกรรมและการควบคุมอารมณ์ ร้อยละ 8 และ 6 ตามลำดับ อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 5 (ตารางที่ 3)

3. ศึกษามุมมองของทีมผู้รักษาต่อปัญหาครอบครัว พบว่าเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ร้อยละ 27 การสื่อสารภายในครอบครัว ร้อยละ 18 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ร้อยละ 15 การอบรมเลี้ยงดู ร้อยละ 11 ขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 9 ความสัมพันธ์ระหว่าง พี่ น้อง ร้อยละ 8 ความรุนแรงทางด้านอารมณ์ ร้อยละ 6 ความสับสนในบทบาทของคนในครอบครัว ร้อยละ 4 ความเชื่อของคนในครอบครัวและบุคลิกภาพแม่ที่ผิดปกติ ร้อยละ 1 (ตารางที่ 4)

4. ศึกษามุมมองระหว่างผู้ป่วยกับสมาชิกในครอบครัวที่มีต่อปัญหาครอบครัว พบว่าที่ไม่ตรงกันหรือไม่สอดคล้องกัน ร้อยละ 72 มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่ผู้ป่วยและคนในครอบครัวมีการมองปัญหาครอบครัวที่ตรงกันและสอดคล้องกัน สำหรับการศึกษา มุมมองระหว่างทีมผู้รักษากับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวพบว่ามีมุมมองในการมองปัญหาครอบครัวที่ไม่ตรงกันหรือไม่สอดคล้องกัน ร้อยละ 32 และร้อยละ 68 มีการมองปัญหาครอบครัวตรงกันและสอดคล้องกัน

5. ศึกษาลักษณะปัญหาครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวช ตามการวินิจฉัยจัดแบ่งประเภทในเชิงสัมพันธภาพตามระบบ DSM IV พบว่าเป็นปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก ร้อยละ 46 ปัญหาปฏิสัมพันธ์ ระหว่างคู่สมรส ร้อยละ 25 ปัญหาปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับภาวะความเจ็บป่วย ร้อยละ 16 และปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่ น้อง ร้อยละ 13 (ตารางที่ 5)

วิจารณ์

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดของการศึกษา พบว่าผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวไม่มีบุคคลใดที่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่า “ครอบครัวบำบัด” ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้มีจำนวนถึงร้อยละ 20 ที่ไม่ตอบ และตอบแต่เข้าใจไม่ถูกต้อง ร้อยละ 10 ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากการรักษาแบบครอบครัวบำบัดนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่พึ่งนำมาใช้และยอมรับกันอย่างกว้างขวางขึ้นเมื่อไม่นานมานี้4 จึงยังไม่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากลักษณะสังคมไทยเน้นและให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวมาเป็นเวลาช้านาน5,6 ความรักความผูกพัน การดูแลเอาใจใส่และการมีส่วนร่วมกันของสมาชิกแต่ละคนภายในครอบครัว เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงรู้และปฎิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เป็นการยากในการที่จะให้ผู้ป่วยและสมาชิกครอบครัว สามารถแสดงความคิดเห็นถึงความเข้าใจของคำว่า “ครอบครัวบำบัด” ได้บ้างเป็นอย่างดี ดังผลของการศึกษา พบว่ามีจำนวนถึงร้อยละ 55 ที่เข้าใจถูกบ้างเป็นบางส่วน ร้อยละ 14 เข้าใจถูกเป็นส่วนมาก แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของสังคมไทยที่มีความผูกพันและความพร้อมในการให้ความร่วมมือช่วยเหลือบุคคลในครอบครัว

ครอบครัวบำบัดนั้นมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ในการศึกษาปฏิสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัว ดังนั้นสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว จึงเป็นหน่วยหนึ่งในระบบของครอบครัวที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในการรับรู้และรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว การนำเอาสมาชิกทุกคนในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษา1,3,4 ทำให้ทราบถึงมุมมองของการรับรู้ปัญหาแตกต่างกัน เป็นตัวสะท้อนให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว นักจิตวิทยาแนวคิดมนุษยนิยม (humanistic) ให้ความสำคัญถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual difference) โดยเน้นว่า คนเรานั้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม ซึ่งมีผลทำให้มนุษย์นั้นมีการรับรู้ มีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนการแสดงออกของพฤติกรรมต่อสิ่งเร้า ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ บุคคล หรือปัญหาเกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน7 ด้วยเหตุนี้จึงพบว่า การศึกษาความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว มีมุมมองในการมองปัญหาครอบครัวของตนเองนั้นหลากหลายแตกต่างกัน คิดเป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 72 การที่คนเรามีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงความแตกต่าง รู้จักนำเอาผลดีของความแตกต่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในครอบครัว กล่าวคือหากสมาชิกแต่ละคนเปิดโอกาสและรับรู้ถึงมุมมองความคิดเห็นของสมาชิกผู้อื่น ก็จะได้มีความเข้าใจในต้นเหตุของปัญหานั้น ๆในแนวที่กว้างขึ้นว่าเกิดขึ้นเนื่องจากอะไร ความหลากหลายในการรับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวเป็นสิ่งที่ดี และถ้ามีสมาชิกคนหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งที่มีมุมมองความคิดเห็นสอดคล้องหรือเหมือนกับทีมผู้รักษาได้ ยิ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ดีต่อการช่วยเหลือรักษาและแก้ไขปัญหาครอบครัว ความสำเร็จของการรักษาขึ้นอยู่กับความร่วมมือของสมาชิกในครอบครัว 1,2, 3 ซึ่งจากการวิจัยครั้งนี้พบว่าทั้งสองกลุ่มนี้มีการมองปัญหาที่สอดคล้องกันหรือเห็นตรงกันสูงถึงร้อยละ 68

จากการรวบรวมข้อมูลดังสรุปในตารางที่ 3 พบว่า ปัญหาที่ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวรับรู้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบย่อยของครอบครัว (subsystem) และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลักษณะส่วนบุคคล ที่เป็นเช่นนี้อาจอธิบายได้ดังนี้ โดยปกติบุคคลจะมีการมองสาเหตุของปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุและผลในลักษณะการมองแบบเส้นตรง (linear causality) 2,3,4 กล่าวคือ เหตุการณ์ ก ทำให้เกิดเหตุการณ์ เช่น แม่ป่วยเพราะพ่อมีเมียน้อย เป็นต้น และนอกจากนี้โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น บุคคลจะใช้กลไกทางจิตที่เกิดขึ้นเองจากจิตใต้สำนึกโดยอัตโนมัติที่เรียกว่า กลวิธานแห่งการป้องกัน (defense mechanism) เพื่อปกป้องตัวเองให้คงความรู้สึกที่ดีหรือมีคุณค่าไว้ (self-esteem) ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้กลไกทางจิตแบบโยนความผิดไปให้ผู้อื่น (projection)8,9 ว่าสมาชิกในครอบครัวเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะยอมรับและมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงนั้น สาเหตุของปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นเป็นการเกิดปัญหาในระบบของความสัมพันธ์ ที่ปฎิกิริยาของคนหนึ่งก่อให้เกิดการตอบสนองกลับจากอีกคนหนึ่ง และเกิดการสะท้อนไปมาของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการมองปัญหาแบบวงจร (circular causality)2,3,4

แนวทางการปฎิบัติก่อนที่จะดำเนินการรักษาครอบครัวที่แพทย์ผู้รักษาส่งต่อมายังคลินิกครอบครัวนั้นทีมผู้รักษาจำเป็นต้องมีการประเมินการปฎิบัติหน้าที่ของครอบครัว เพื่อเป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูล ทำให้เกิดความเข้าใจถึงปัญหาหรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และในวิจัยครั้งนี้ ทีมผู้รักษาได้ทำการประเมินและวินิจฉัยปัญหาครอบครัวแต่ละขั้นตอน สามารถสรุปปัญหาครอบครัวที่พบได้ดังนี้คือ

จากแนวความคิดของ System and Structural Family Therapy ซึ่งให้ความสำคัญเน้นที่ระบบโครงสร้างของครอบครัว3,10,11 ด้วยเหตุที่โครงสร้างครอบครัวประกอบไปด้วยระบบย่อยหลายระบบ เช่น สามี-ภรรยา, พ่อ-แม่, พี่-น้อง, แม่-ลูก เป็นต้น ซึ่งในการประเมินแต่ละระบบย่อยนั้นต้องศึกษาถึงรายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ประการแรกคือบทบาทหน้าที่ (role) ของคนในครอบครัวว่ามีความชัดเจนและปฎิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมสอดคล้องกันหรือไม่ ประการที่สองขอบเขต (boundary) ในแต่ละระบบโดยตัวของมันเองจะมีเรื่องขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ขอบเขตส่วนบุคคล ขอบเขตระหว่างระบบย่อยภายในครอบครัว และขอบเขตระหว่างครอบครัวกับระบบภายนอกว่ามีขอบเขตที่ชัดเจนหรือขอบเขตที่สับสน ประการที่สาม การจัดลำดับอำนาจและความสำคัญ (hierarchy) ของบุคคลในครอบครัวว่ามีความถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ประการสุดท้าย ศึกษากฎและระเบียบ (discipline) ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวที่สมาชิกต้องถือปฎิบัติร้อยละ 27ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่าเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ร้อยละ 15 เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา ร้อยละ8 เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และร้อยละ 4 เป็นปัญหาในเรื่องการสลับบทบาทของคนในครอบครัว

ตามแนวคิดของ Strategic Family Therapy 3,10,11 ซึ่งให้ความสนใจในเรื่อง การปรับตัวของครอบครัว(adaptation) ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นปกติตามขั้นตอนต่าง ๆในวงจรชีวิต (family life cycle) ซึ่งมีอยู่ 8 ระยะด้วยกันคือ ระยะผู้ใหญ่เต็มตัว แต่งงานและสร้างครอบครัวใหม่ ครอบครัวที่มีลูกเล็ก ครอบครัวที่มีลูกวัยเรียน ครอบครัวที่มีลูกโตเป็นวัยรุ่น ลูกแยกไปจากครอบครัว ครอบครัวในระยะกลาง และระยะบั้นปลายของชีวิต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยามวิกฤตหรือภาวะฉุกเฉิน (crisis task) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ลูกป่วย แม่เสียชีวิต พ่อมีเมียน้อย ครอบครัวตกงาน เป็นต้น ทุกคนภายในครอบครัวจะได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วครอบครัวพยายามปรับให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล โดยเกิดการจัดระบบใหม่ภายในครอบครัว การปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ และระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวขึ้น เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลและพัฒนาต่อไปอย่างเหมาะสม และยังให้ความสนใจกับเรื่องการติดต่อสื่อสารภายในครอบครัว เช่น ปฎิกิริยาที่สมาชิกมีต่อกัน วิธีการแสดงออกในการสื่อสาร การสื่อสารที่ให้ความหมายได้หลายอย่างในครั้งเดียวกัน (double message) ซึ่งจากการวิจัยครั้งนี้พบว่า มีจำนวนร้อยละ 11 เป็นปัญหาในเรื่องการเลี้ยงดู และร้อยละ 9 เป็นเรื่องขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย ส่วนในเรื่องการสื่อสารคิดเป็นร้อยละ 18 และการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง มีร้อยละ 6

เมื่อนำปัญหาครอบครัวจากตารางที่ 4 มารวบรวม และนำมาแบ่งประเภทการวินิจฉัยตามระบบ DSM-VI (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th Edition) ซึ่งสมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันจัดทำขี้น และจัดแบ่งประเภทความผิดปกติของครอบครัวเป็นเพียงปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์อยู่ใน V code10 ดังตารางที่ 4 พบว่า ปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 46 และร้อยละ 25 ตามลำดับ นอกจากนั้น จะเป็นปัญหาปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับภาวะความเจ็บป่วย และความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง จากการสรุปปัญหาครอบครัวดังกล่าวข้างต้นนี้ พบว่าเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐานกลุ่มตัวอย่าง ที่ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวเดี่ยว มีสมาชิกในครอบครัว 4 คน (พ่อ แม่ ลูก) และมีช่วงอายุระหว่าง 10 - 20 ปี และ 20 – 30 ปี ซึ่งเป็นระยะของการพัฒนาวงจรชีวิตครอบครัว ระยะลูกโตเป็นวัยรุ่น และระยะผู้ใหญ่เต็มตัว ซึ่งควรจะเป็นวัยที่เป็นตัวของตัวเอง มีความรับผิดชอบ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีความเป็นอิสระ ตลอดจนสามารถแยกจากครอบครัวเดิมหรือสร้างครอบครัวใหม่ได้ 3,11 จากปัญหาครอบครัวที่กลุ่มตัวอย่างประสบ น่าจะเป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวของครอบครัว ในการปฎิบัติภาระกิจให้บรรลุผลต่อการพัฒนาเด็กที่สำคัญ 6 ประการคือ การเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับวัย ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพ่อแม่ การรักษาขอบเขต การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง การพัฒนาบทบาทชายหญิง การสื่อสารที่เป็นการถ่ายทอดเจตคติ ค่านิยม และวิธีการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ12

เนื่องจากระบบครอบครัวนี้ไม่จำกัดอยู่แค่ระบบภายในเท่านั้น แต่รวมไปถึงระบบภายนอกที่ครอบคลุมครอบครัวด้วย เช่น ชุมชน สังคม ประเทศ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ มีปัจจัยทางด้านสังคมที่มีส่วนสำคัญและน่ากล่าวถึง ดังนี้

1. ครอบครัวไทยแต่เดิมอยู่ในสังคมเกษตรกรรม ทำให้มีโครงสร้างครอบครัวเป็นแบบครอบครัวขยาย แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมุ่งไปสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม โครงสร้างของครอบครัวเกิดการปรับเปลี่ยนเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว6,13 ดังนั้นเมื่อใดก็ตามเมื่อครอบครัวต้องประสบกับปัญหาและมีวิกฤตการณ์เข้ามาในครอบครัวก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับสมาชิกในครอบครัวทันที ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสังคมต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับครอบครัวขยาย ที่ยังคงมีระบบของการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างญาติคอยช่วยเหลือประคับประคอง เมื่อยามที่ครอบครัวเกิดสภาวะตึงเครียดขึ้น14

2. . ครอบครัวไทยนั้นโดยวัฒนธรรมดั้งเดิม ผู้ที่เป็นสามีและพ่อทำหน้าที่ในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ในขณะที่ภรรยาและแม่รับผิดชอบในการดูแลลูกและจัดการเรื่องภายในบ้าน6,11 ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมปัจจุบัน ทั้งพ่อและแม่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ลูกจึงถูกทอดทิ้งให้อยู่ในความดูแลของบุคคลอื่น โดยความเป็นจริงแล้วนั้น ลูกควรได้รับความรักความอบอุ่นและการสนองตอบทางอารมณ์จากพ่อและแม่3,15 รวมไปถึงการอบรมเลี้ยงดู การกระตุ้นพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างลักษณะนิสัยให้เหมาะสมตามวัยและวุฒิภาวะ เช่น การสอนให้รู้จักการเป็นตัวของตัวเอง การช่วยเหลือตนเอง ความรับผิดชอบในเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมของครอบครัว การฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัย เป็นต้น การทอดทิ้งดังกล่าวจึงมีโอกาสก่อให้เกิดปัญหาต่อครอบครัว สังคม และบุคลิกภาพของตัวเด็กต่อไป

3. ความเจริญก้าวหน้าในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อระบบของครอบครัว สมาชิกแต่ละคนมักใช้เวลาส่วนตัวที่มีส่วนใหญ่ไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้เวลาที่ครอบครัวมีอยู่ร่วมกันลดน้อยลง เกิดความห่างเหิน มีผลทำให้ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวด้อยลงทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ3

สรุป

ครอบครัวเป็นระบบของความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากมาย การปรับเปลี่ยนใด ๆที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวนั้น จะต้องมาจากความเต็มใจในการให้ความร่วมมือและการช่วยเหลือจากทุกคนภายในครอบครัวต่อการปรับเปลี่ยนตนเอง เพื่อทำให้ครอบครัวมีสภาวะสมดุลย์ ดังนั้นจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้ข้อคิดหลายประการดังต่อไปนี้ คือ

การศึกษาพบว่าไม่มีผู้ป่วยและสมาชิกคนใดในครอบครัวมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องครอบครัวบำบัด ดังนั้นก่อนเริ่มการรักษาจึงควรมีการเตรียมความพร้อมของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว เช่น การแจกแผ่นพับ การดูวิดิทัศน์ การแนะนำเรื่องครอบครัวบำบัด การอธิบายและการให้ความรู้จากบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น เป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดีและถูกต้องต่อการรักษาแบบครอบครัวบำบัด

เนื่องจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีความสำคัญและมีความหลากหลายต่อการมองปัญหาครอบครัว ด้วยเหตุนี้ในการรักษาแบบรายบุคคล จึงควรมีการหาข้อมูลจากสมาชิกคนอื่น ๆในครอบครัวที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ด้วยตนเองที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ การทำงาน เป็นต้น โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การกรอกแบบสอบถาม อาจเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพในสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง วิธีการหนึ่งก็คือการกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำกิจกรรมและการใช้เวลาของตนเองเพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์และการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวอย่างมีคุณภาพ

เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว ควรจัดโครงการส่งเสริมในลักษณะต่าง ๆที่ให้ความรู้และประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว เช่น โครงการให้การปรึกษาแก่คู่สมรส การฝึกทักษะการสื่อสารระหว่างคู่สมรสและสมาชิกในครอบครัว การฝึกทักษะในการเป็นพ่อ แม่ เป็นต้น

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2540 ผู้วิจัยขอขอบพระคุณสถานส่งเสริมการวิจัยและหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการให้คำปรึกษาและทุนสนับสนุนการวิจัย ขอขอบคุณอาจารย์และเจ้าหน้าที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คุณจิราภา เวคะวนิชย์ หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

1. ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ, กวี สุวรรณกิจ. ครอบครัวบำบัด : การรักษาอีกรูปแบบหนึ่ง. สารศิริราช 2540; 49:708-11.

2. สมพร บุษราทิจ, ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ. จิตเวชปฎิบัติ 41. บทครอบครัวบบำบัดในเวชปฎิบัติ. กรุงเทพฯ:เรือนแก้ว

การพิมพ์ , 2540:179-96.

3. อุมาพร ตรังสมบัติ. จิตบำบัดและการให้คำปรึกษาครอบครัว. กรุงเทพฯ:เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง, 2540.

4. อุมาพร ตรังสมบัติ. ครอบครัวบำบัด : อีกก้าวหนึ่งในการรักษาโรคทางจิตเวช. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่ง

ประเทศไทย 2534 ; 36:245-55.

5. สุพัตรา สุภาพ. ครอบครัวไทย : ครอบครัวจีน. สังคมและวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช, 2525:33-97.

6. อมรา พงศาพิชญ์, สุริยา วีรวงศ์. ลักษณะครอบครัวไทยในสังคมยุคใหม่. ประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 10 : ครอบ

ครัวกับการส่งเสริมสุขภาพจิตครบวงจร. สมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย 2536:11-37.

7. Zimbardo PG. Essentials of psychology and life. 10th ed. Illinois : Scott, Foresman and Company, 1978.

8. Ellenson A.Human relationship. New Jersy : Prentice-Hall Inc., 1982.

9. อินทิรา ปัทมินทร. คุณชอบแก้ปัญหาแบบไหน. วารสารสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ประจำปี 2540:21-3.

10. Kaplan HI, Sadock BJ, Grebb JA. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, behavioral sciences, clinical

psychiatry. 7th ed. Baltimore:Williams & Wilkins, 1994:844-50.

11. Glick ID, Clarkin JF, Kessler DR. Marital and family therapy. 3th ed. Orlando:Grunce & Stratton Inc., 1987.

12. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์. บทบาทของครอบครัวต่อการพัฒนาเด็กและการเกิดปัญหา. ใน : วัณเพ็ญ บุญประกอบ,

อัมพล สูอำพัน, นงพงา ลิ้มสุวรรณ, บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์. กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์, 2538:54-65.

13. นงลักษณ์ เทพสวัสดิ์. ปัญหาสำคัญ ๆ ในสังคมไทย : ปัญหาสังคมที่ติดตามมาเมื่อไทยเป็นนิกส์. คณะสังคม

สงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2538:12-7.

14. Grothaus KL. Family dynamics and family therapy with Mexico Americans. J Psy Nurs MH Serv 1996;34:31-7.

15. ดวงมาลย์ เริกสำราญ. ข้อเสนอแนะของลูกที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้าน. ประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 10 : ครอบครัว

กับการส่งเสริมสุขภาพจิตครบวงจร. สมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย, 2536:100-4.

ตารางที่ 1 ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง จำแนกตามเพศ อายุและขนาดครอบครัว

ตัวแปร จำนวนครอบครัว (n=25) ร้อยละ
 
เพศ
หญิง 9 36
ชาย 16 64
อายุ
1 ปี - 10 ปี 2 8
11 ปี - 20 ปี 7 28
21 ปี - 30 ปี 11 44
31 ปี - 40 ปี 2 8
41 ปี - 50 ปี 1 4
51 ปี - 60 ปี 1 4
61 ปี - 70 ปี 1 4
ขนาดครอบครัว
2 คน – 3 คน 4 16
4 คน – 5 คน 15 60
6 คน – 7 คน 5 20
8 คน – 9 คน - -
10 คน – 11 คน 1 4

 

ตารางที่ 2 จำนวนและค่าร้อยละของความคิดเห็นของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวต่อคำว่าครอบครัวบำบัด

ค่านิยามครอบครัวบำบัด จำนวนคน (n=104) ร้อยละ
 
ไม่ตอบ 21 20
เข้าใจไม่ถูกต้อง เช่น 11 11
โรงเรียนสำหรับพ่อแม่
วิธีผ่อนคลายความเครียด
ครอบครัวที่มีสภาพเป็นโรคจิต
เข้าใจถูกบางส่วน เช่น 57 55
ครอบครัวที่มีปัญหาและต้องการการแก้ไข
ทำให้ครอบครัวอยู่อย่างเข้าใจกัน
การแก้ไขปัญหาต่าง ๆในครอบครัว
เข้าใจถูกส่วนใหญ่ เช่น 15 14
การรักษาโดยให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม
เพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางในการแก้ไข
การรักษาโดยนำเอาความสัมพันธ์ในครอบครัว
มาเป็นเครื่องมือ

 

ตารางที่ 3 ความคิดเห็นมุมมองของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาครอบครัว

ปัญหาครอบครัว จำนวนปัญหา (n=143) ร้อยละ (n=123)
 
ปัญหาความสัมพันธ์ในระบบย่อยของครอบครัว 72 57
ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก 42 33
ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว 20 16
ความสัมพันธ์พ่อแม่ (สามี ภรรยา) 10 8
ปัญหาเกี่ยวกับลักษณะส่วนบุคคล 71 56
การเจ็บป่วย 31 24
ปัญหาในการดูแลผู้ป่วย 16 13
ปัญหาพฤติกรรม 10 8
การควบคุมอารมณ์ 8 6
อื่น ๆ 6 5

*หมายเหตุ ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว (N=128) แต่ละคนสามารถให้คำตอบได้มากกว่า 1 ปัญหา

ตารางที่ 4 ความคิดเห็นมุมมองของทีมผู้รักษาต่อปัญหาครอบครัว

ปัญหาครอบครัว จำนวนปัญหา (n=79) ร้อยละ
 
ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก 21 27
การสื่อสาร 14 18
ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส 12 15
การเลี้ยงดู 9 11
ขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย 7 9
ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 6 8
ความรุนแรงทางด้านอารมณ์ 5 6
การสลับบทบาทของคนในครอบครัว 3 4
ความเชื่อของคนในครอบครัว 1 1
บุคคลิกภาพที่ผิดปกติของแม่ 1 1

*หมายเหตุ จำนวน 25 ครอบครัว แต่ละครอบครัวมีปัญหามากกว่า 1 ปัญหา

ตารางที่ 5 ปัญหาความสัมพันธ์ในแง่จิตเวชศาสตร์ตามการวินิจฉัยระบบ DSM-IV

ปัญหาความสัมพันธ์ DSM-IV จำนวนปัญหา (n = 79) ร้อยละ
 
ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับภาวะความเครียดป่วย 21 27
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก 36 46
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสหรือคู่ครอง 20 25
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 10 13
ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ - -
Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us