เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

การศึกษาพฤติกรรมของเด็กวัยก่อนเรียนในชุมชนทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ*

วรุณา กลกิจโกวินท์ พ.บ.**

* นำเสนอในการประชุม the 6 th Congress of ASEAN Federation of Psychiatry Mental Health and the 10th ASEAN Forum on Child and Adolescent Psychiatry , กรุงเทพฯ , 4-7 พฤศจิกายน 2539

** ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกของปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของเด็กในวัย 1-5 ปี

วิธีการศึกษา ได้ทำการศึกษาปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของเด็กวัยก่อนเรียนที่มาตรวจสุขภาพและได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่คลินิกสุขภาพเด็กสบาย ศูนย์บริการสาธารณสุขทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ 6 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2538 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 โดยสร้างแบบสำรวจพฤติกรรมอารมณ์เด็ก และคัดเลือกพยาบาลที่ศูนย์บริการสาธารณสุขดังกล่าวเป็นผู้ทำแบบสอบถาม โดยพยาบาลเหล่านี้ได้รับการอบรมวิธีทำจากผู้วิจัยจนมีความสามารถในการสัมภาษณ์ ผู้ปกครอง

ผลการศึกษา จำนวนเด็กที่ผู้ปกครองเข้าสัมภาษณ์มีจำนวน 600 คน เป็นชาย 286 คน และหญิง 314 คน อายุระหว่าง 1-5 ปี พบว่าปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กที่ผู้ปกครองตอบ 5 อันดับแรกได้แก่ 1) ปัญหาการกิน ร้อยละ 35.3 2) ปัญหาอารมณ์ของเด็ก ร้อยละ 27.7 3) ปัญหาร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ร้อยละ 25.8 4) ปัญหาซนมากอยู่ไม่นิ่ง ร้อยละ 24.7 5) ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ร้อยละ 21.7 ร้อยละ 80.3 ของผู้ปกครอง มีความกังวลห่วงใยในปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของเด็ก

สรุป การศึกษานี้สะท้อนให้เข้าใจถึงความชุกของพฤติกรรมอารมณ์ในเด็กวัย 1 - 5 ปี ที่ผู้ปกครองเห็นเป็นปัญหาและกังวล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการที่จะวางแผนช่วยเหลือและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของเด็กต่อไป

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542;44(3): 228-238.

คำสำคัญ พฤติกรรม เด็กวัยก่อนเรียน

Common Behavioral Problems in Preschool Children : A Study of a Community in the Northern Bangkok*

Varuna Kolkijkovin, M.D. **

* Presented at the 6th Congress of ASEAN Federation of Psychiatry Mental Health and the 10th ASEAN  Forum on Child and Adolescent Psychiatry, Bangkok, Thailand, 4-7 November, 1996.

** Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok, Thailand.

Abstract

Objective : This study is primarily reflect the prevalence of behavioral problems in preschool children.

Methods : Preschool children aged 1-5 years attending well baby clinics at Health Center in the northern part of Bangkok were studied during October, 1995 to Febru

ary, 1996. Six hundred children (286 boys and 314 girls) were included. Parents or the caretakers were interviewed by well baby clinic nurses who were trained for using behavioral questionnaires by the researcher.

Results : The result showed that the common behavioral problems were eating problems (35.3%), emotional problems (27.7%), temper tantrums (25.8%), hyperactivity (24.7%), and aggressive behavior (21.7%). Of all parents and caretakers, the percentage of their concerns about behavioral problems of preschool children was 80.3%.

Conclusions : It would be beneficial for guideline to offer proper management and prevention for child mental problems and promote mental health in Thailand.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999;44(3):228-238.

Key words : behavior, preschool children

บทนำ

การตรวจดูแลสุขภาพเด็กโดยทั่วไป แพทย์ กุมารแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขจะดูแลเด็กในรูปการ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และให้วัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น1 ไม่ค่อยมีเวลาคำนึงถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต ปัญหาพฤติ-กรรมหรืออารมณ์ของเด็ก ซึ่งในความเป็นจริงนั้น พบปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ ๆ และพ่อแม่จะมีคำถามแสดงถึงความห่วงใยในการเจริญเติบโตพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้านั้น การพัฒนาของเด็กจะต้องเติบโตดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กันไปเสมอ

ในระยะแรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นระยะพื้นฐานของพัฒนาการทุก ๆ ด้าน ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจและสังคม2 ถ้าเราสามารถส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากจะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ ลดลงแล้ว ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มที่ เพื่อในอนาคตเด็กจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาที่รุนแรง เช่น ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน การต่อต้านสังคม ประพฤติผิดทางเพศและปัญหาการเรียน เป็นต้น ฉะนั้นถ้าแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขให้ความสนใจในเรื่องปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์และการเรียนร่วมไปด้วยในระหว่างการตรวจสุขภาพเด็ก จะทำให้เด็กได้รับการวินิจฉัย ดูแล และผู้ปกครองได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมก่อนที่จะเกิดเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น

ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตรนี้ ปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กต่าง ๆ มีมากขึ้น แต่การศึกษาวิจัยในประเทศไทยที่จะบอกความชุกของปัญหาเหล่านี้ยังมีน้อย ฉะนั้นผู้วิจัยจึงได้ทดลองศึกษาวิจัยเด็กกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างที่จะชี้แนะถึงปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ในเด็กวัยนี้

การศึกษาปัญหาในเด็กวัย 1-5 ปี ต้องอาศัยข้อมูลจากผู้ปกครองอย่างมาก เพราะเด็กไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหา3 และไม่สามารถพูดบอกได้ด้วยตัวเอง แต่เด็กจะแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งผู้ปกครองจะเป็นผู้ที่มองเห็นปัญหา ดังนั้นการสัมภาษณ์ผู้ปกครองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำแบบสำรวจพฤติกรรมเด็กวัยนี้

วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ ได้แก่

1. เพื่อศึกษาความชุกของปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของเด็กในวัยอายุระหว่าง 1-5 ปี

2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็ก ในช่วงอายุ 1-3 ปี และช่วงอายุ 3-5 ปี

3. เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กต่อไป

4. เพื่อใช้ผลการศึกษาเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนทำการศึกษาขั้นต่อไป

วัสดุและวิธีการ

ทำการศึกษาในกลุ่มเด็กวัย 1-5 ปี ที่มาตรวจสุขภาพและได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่คลินิกสุขภาพเด็กสบาย ศูนย์บริการสาธารณสุขทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 ประชาชื่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน และศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ทุ่งสองห้อง ตั้งแต่เดือน ตุลาคม พ.ศ.2538 ถึงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 จำนวนเด็กที่ทำการศึกษาแห่งละ 100 คน รวมเป็น 600 คน โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเด็กดังนี้

1. เป็นเด็กปกติที่มาตรวจที่คลินิกสุขภาพเด็กสบาย อายุ 1 - 5 ปี

2. ไม่มีโรคทางกาย

3. ผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามและสัมภาษณ์

ผู้วิจัยได้พัฒนาแบบสำรวจพฤติกรรมอารมณ์เด็ก ซึ่งดัดแปลงมาจาก Preschool Children’s Behavior Checklist (Willoughby และ Haggerty )4 ร่วมกับการแนะนำจาก ศาสตราจารย์แพทย์หญิงวัณเพ็ญ บุญประกอบ เกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้

แบบสำรวจเป็นแบบสัมภาษณ์ชนิด semi-structure ประกอบด้วย 2 หัวข้อใหญ่ คือ

1. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพ่อแม่และเด็ก 17 ข้อ

2. ปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กที่ผู้ปกครองกล่าวถึง 25 ข้อ

โดยมีพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุขที่ได้รับการอบรมเรื่องสัมภาษณ์และดูแลคลินิกสุขภาพเด็กสบายอยู่แล้วเป็นผู้สัมภาษณ์ผู้ปกครองและเขียนลงในแบบสำรวจ แต่ละศูนย์บริการสาธารณสุขมีพยาบาลที่รับผิดชอบการทำแบบสำรวจนี้ จำนวน 2 คน ทำครั้งละ 1-3 ชุด/คน/วัน สัปดาห์ละ 2 วัน ใช้เวลาเก็บข้อมูล 5 เดือน โดยมีระบบตรวจสอบไม่ให้เด็กซ้ำคนกัน

พยาบาลเหล่านี้ได้รับการอบรมวิธีทำแบบสอบถามจากผู้วิจัยให้อยู่ในแนวเดียวกันและอยู่ในความควบคุมของผู้วิจัยตลอด ผู้วิจัยได้ไปตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ โดยตลอดทุก 2 สัปดาห์

ผลการศึกษา

จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 80.3 (482 คน) ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลห่วงใยในปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ของเด็ก

ผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นแม่ 499 คน (ร้อยละ 83.2) พ่อ 32 คน (ร้อยละ 5.3) พ่อและแม่ 7 คน (ร้อยละ 1.2) และ อื่น ๆ 62 คน (ร้อยละ 10.3)

จำนวนเด็กที่ทำการศึกษามีทั้งหมด 600 คน แบ่งตามเพศเป็นเด็กชาย 286 คน (ร้อยละ 47.7) และเด็กหญิง 314 คน (ร้อยละ 52.3) และแบ่งตามอายุได้ดังนี้ อายุ 1-2 ปี 278 คน (ร้อยละ 46.3) อายุ 2-3 ปี 157 คน (ร้อยละ 26.2) อายุ 3-4 ปี 67 คน (ร้อยละ 11.2) และอายุ 4-5 ปี 98 คน (ร้อยละ 16.3)

ตารางที่ 1 แสดงปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กที่ผู้ปกครองกล่าวถึง พบเรียงลำดับจากมากไปน้อย

ตารางที่ 1 ปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็ก อายุ 1-5 ปี*

ปัญหา

จำนวน

ร้อยละ

การกิน (กินยาก กินนาน อมข้าว ดูดขวดนม)

212

35.3

อารมณ์ (ขี้อาย ขี้กลัว ร้องไห้มาก โกรธง่าย ใจร้อน)

166

27.7

ร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ

155

25.8

ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง

148

24.7

พฤติกรรมก้าวร้าว (ด่า ว่า ทำลายของ ทำร้ายคน)

130

21.7

ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย

128

21.3

ดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง

106

17.7

การแยกจากผู้เลี้ยงดู (เมื่อผู้เลี้ยงเดินไปเด็กร้องไห้มาก)

100

16.7

การถ่ายปัสสาวะ (ปัสสาวะรดที่นอน ไม่บอกเวลาถ่าย)

88

14.7

พฤติกรรมซ้ำ ๆ จนติดเป็นนิสัย (ดูดนิ้ว กัดเล็บ)

87

14.5

อิจฉากันระหว่างพี่น้อง

76

12.7

ความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู (ผูกพันกับผู้เลี้ยงดูมากเกินไป)

74

12.3

การพูด (พูดช้า พูดไม่ชัด)

64

10.7

การถ่ายอุจจาระ (ท้องผูก ไม่ยอมนั่งกระโถน)

62

10.3

การนอน (หลับยาก ตื่นบ่อย นอนละเมอ)

59

9.8

การดูโทรทัศน์ (ดูทั้งวัน ติดจนไม่ทำอย่างอื่น,ดูขณะกิน)

37

6.2

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น (เล่นคนเดียว เข้ากับคนอื่นไม่ได้)

34

5.7

การช่วยงานบ้าน (ไม่ยอมช่วย ต้องบอกจึงจะทำ)

34

5.7

การเล่น (เล่นกลางแจ้งมากเกินไป)

32

5.3

การช่วยเหลือตัวเอง (ไม่ยอมช่วยตัวเอง ให้คนอื่นทำให้)

29

4.8

ปัญหาอื่นๆ

23

3.8

พัฒนาการการเคลื่อนไหว (เริ่มเดินช้า)

21

3.5

ร้องกลั้นหายใจจนเขียว

19

3.2

การเรียน (ไม่ยอมไปโรงเรียน ร้องไห้มากเมื่อแยกจาก)

10

1.7

การได้ยิน (ไม่ได้ยินเสียง ได้ยินแต่ไม่ตอบสนอง)

4

0.7

* หมายเหตุ จำนวนเด็กที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน 528 คน (ร้อยละ 88)

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กอายุ 1-3 ปี และอายุ 3-5 ปี

อายุ 1-3 ปี (n =435) อายุ 3-5 ปี (n=165)
จำนวน ร้อยละ จำนวน ร้อยละ
การกิน

ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง

ร้อง อาละวาดเมื่อถูกขัดใจ

อารมณ์

ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย

พฤติกรรมก้าวร้าว

การแยกจากผู้เลี้ยงดู

ดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง

การถ่ายปัสสาวะ

พฤติกรรมซ้ำ ๆ จนติดเป็นนิสัย

ความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู

การถ่ายอุจจาระ

อิจฉากันระหว่างพี่น้อง

การพูด

การนอน

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น

การช่วยเหลือตัวเอง

การช่วยงานบ้าน

ปัญหาอื่น ๆ

การดูโทรทัศน์

การเล่น

ร้องกลั้นหายใจจนเขียว

พัฒนาการ การเคลื่อนไหว

การได้ยิน

การเรียน

145

121

117

112

101

95

82

73

64

59

53

52

47

45

45

25

21

18

18

17

17

16

15

4

1

33.3

27.8

26.9

25.8

23.2

21.8

18.9

16.8

14.7

13.6

12.2

12.0

10.8

10.3

10.3

5.8

4.8

4.1

4.1

3.9

3.9

3.7

3.5

0.9

0.2

67

27

38

54

27

35

18

33

24

28

21

10

29

19

14

9

8

16

5

20

15

3

6

0

9

40.6

16.4

23.0

32.9

16.4

21.2

10.9

20.0

14.6

17.0

12.7

6.1

17.6

11.5

8.5

5.5

4.9

9.7

3.0

12.1

9.1

1.8

3.6

0.0

5.5

P=0.054

P<0.05

NS

P=0.077

P=0.074

NS

P=0.058

NS

NS

NS

NS

NS

P<0.05

NS

NS

NS

NS

P<0.05

NS

P<0.0001

P<0.05

NS

NS

NS

P<0.0001

หมายเหตุ จำนวนเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว 72 คน (ร้อยละ 12.0)

เด็กอายุ 1-3 ปี เข้าโรงเรียน 6 คน (ร้อยละ 1.4)

เด็กอายุ 3-5 ปี เข้าโรงเรียน 66 คน (ร้อยละ 40)

ตารางที่ 3 เปรียบเทียบปัญหาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

Chi – Square Test
ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง c 2 (1) = 8.17 , P = 0.004 , Odds = 0.51
อิจฉากันระหว่างพี่น้อง c 2 (1) = 5.13 , P = 0.023 , Odds = 1.78
การดูโทรทัศน์ c 2 (1) = 14.18 , P = 0.000 , Odds = 3.42
การเล่น c 2 (1) = 6.50 , P = 0.011 , Odds = 2.48
การช่วยงานบ้าน c 2 (1) = 7.06 , P = 0.008 , Odds = 2.51
การเรียน c 2 (1) =20.11 , P=0.000 , Odds=25.26

 

วิจารณ์

พฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กอาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้เสมอ ๆ ทำให้พ่อแม่มีความกังวลห่วงใย จากการศึกษาของ Hickson และคณะ5,6 รายงานว่าร้อยละ 70 ของพ่อแม่ที่พาเด็กมาตรวจรักษากับกุมารแพทย์พบว่ามีความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาด้านจิตสังคมหรือปัญหาพฤติกรรมของเด็กมากที่สุด และเพียงร้อยละ 30 ของแม่เท่านั้นที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของเด็กโดยตรง และจากการศึกษาของ Riem และ Adam5,7 พบว่าครึ่งหนึ่งของแม่ที่พวกเขาสัมภาษณ์มีความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กวัยก่อนเรียน และร้อยละ 25 มีความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับทักษะการเข้าสังคมหรือสมาธิความสนใจของเด็ก แม่มักจะกังวลโดยไม่จำเป็น จากการที่แพทย์ไม่รู้ว่าเขากังวลจริง ๆ เกี่ยวกับอะไร ไม่สนใจความกลัวกังวลของเขา หรือไม่อธิบายให้คำปรึกษาที่เพียงพอ ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม8

จากการศึกษานี้ พบว่าร้อยละ 80.3 ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีความกังวลห่วงใยในปัญหาพฤติ-กรรมและอารมณ์ของเด็กเช่นกัน ซึ่งมีค่าที่ค่อนข้างสูง เมื่อแยกปัญหาต่าง ๆ ออกเป็นข้อ ๆ พบว่าปัญหาที่พบมากที่สุดของเด็กอายุ 1-5 ปี 3 อันดับแรกคือ 1) ปัญหาการกิน ร้อยละ 35.3 2) ปัญหาอารมณ์ของเด็ก ร้อยละ 27.7 3) ปัญหาร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ร้อยละ 25.8 เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาของ Triggs และ Perrin5 พบว่า ความกังวลห่วงใยของพ่อแม่เกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กที่พบมากที่สุด อายุ 1-6 ปี คือ 1) ปัญหาดื้อ ต่อต้าน ร้อยละ 29 2) ปัญหาการกิน ร้อยละ 23 3) ปัญหาการเข้านอน ร้อยละ 22 ความแตกต่างที่พบนี้อาจเนื่องมาจากแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเพื่อการวิจัยครั้งนี้ได้ให้รายละเอียดของแต่ละปัญหา ทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถมองเห็นเป็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น จึงได้ค่าที่มากกว่า และอาจเนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญต่อการกินอาหารค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาการกินมากที่สุด

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาปัญหาพฤติกรรมของเด็กวัยก่อนเรียนใน North London9 พบว่าความกังวลห่วงใยของแม่เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกสูงสุดตอนอายุ 3 ปี ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดของเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ที่พ่อแม่กล่าวถึงคือ 1) ปัญหาการพึ่งพิง ร้อยละ 38.4 (ได้แก่ เรียกร้องความสนใจบางครั้ง เรียกร้องความสนใจมาก) 2) ปัญหาร้องอาละวาด เมื่อถูกขัดใจ ร้อยละ 34.9 3) ปัญหาความยากลำบากในการจัดการ ร้อยละ 30.8 โดย Jenkins และคณะ9 ได้กำหนดความรุนแรงมากน้อยของแต่ละปัญหาไว้ ตัวเลขที่ได้คิดจากจำนวนคนที่มีปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะมีความรุนแรงมากหรือน้อย ทำให้ค่าที่ได้ค่อนข้างสูงกว่าการศึกษาในครั้งนี้ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดแตกต่างกัน อาจเนื่องมาจากทัศนคติในการมองปัญหาของพ่อแม่หรือผู้ปกครองของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน

ในการวิเคราะห์ได้แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามอายุ คือ กลุ่มที่ 1 อายุ 1-3 ปี และกลุ่มที่ 2 อายุ 3-5 ปี เนื่องจากแต่ละช่วงอายุนี้มีลักษณะพัฒนาการในหลาย ๆ ด้านแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาของแต่ละกลุ่มได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาพบว่าปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองกล่าวถึงในกลุ่มอายุ 1-3 ปี ได้แก่ 1) ปัญหาการกิน ร้อยละ 33.3 2) ปัญหาซนมากอยู่ไม่นิ่ง ร้อยละ 27.8 3) ปัญหาร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ร้อยละ 26.9 ส่วนในกลุ่มอายุ 3-5 ปี ได้แก่ 1) ปัญหาการกิน ร้อยละ 40.6 2) ปัญหาอารมณ์ของเด็ก ร้อยละ 32.9 3) ปัญหาร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับการศึกษาของอรพรรณ เมฆสุภะ และคณะ10 ซึ่งได้ทำการศึกษาประชากรใน 5 เขตของกรุงเทพฯ พบว่าปัญหาจิตเวชในเด็กอายุ 0-3 ปี ได้แก่1) ปัญหาพฤติกรรมการกินการนอน ร้อยละ13.1 2) ปัญหาการเจ็บป่วยทางกาย ร้อยละ12.2 3) ปัญหาอารมณ์-นิสัย ร้อยละ 10 ส่วนปัญหาจิตเวชในเด็กอายุ 4-6 ปี ได้แก่ 1) ปัญหาอารมณ์-นิสัย ร้อยละ 34.9 2) ปัญหาพัฒนาการ ร้อยละ 21.3 3) ปัญหาระบบประสาทสมอง ร้อยละ 10.7

ความแตกต่างที่พบนี้ อาจเนื่องมาจากแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเพื่อการวิจัยครั้งนี้มีรายละเอียดของแต่ละปัญหามากขึ้น และจำนวนของปัญหามีมากกว่า ทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตในช่วงอายุ 1-3 ปี มีความแตกต่างกันคือ จากการศึกษานี้มีปัญหาการซนมาก อยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้นมา อาจเนื่องจากการศึกษานี้มีการถามเกี่ยวกับปัญหานี้ด้วย หรือในปัจจุบันอาจมีปัญหานี้มากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนในช่วงอายุ 3-5 ปี มีความแตกต่างกันคือ จากการศึกษานี้พบว่าปัญหาการกินยังเป็นปัญหาพบมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจเนื่องมาจากปัญหาในช่วงอายุก่อนยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม จึงทำให้ปัญหานั้นดำเนินต่อมาในช่วงอายุนี้ และอาจเนื่องจากสังคมปัจจุบันเน้นเรื่องสุขภาพและการกินอาหารที่ดีมากขึ้น

ปัญหาที่สำคัญที่น่าสนใจของ 2 กลุ่มอายุ มีดังต่อไปนี้ โดยแม้บางปัญหาอาจไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เป็นปัญหาที่พ่อแม่มีความกังวลค่อนข้างมาก

1. ปัญหาการกิน - ปัญหาที่พบส่วนมากคือ กินยาก ปฏิเสธอาหาร กินนาน อมข้าว และยังดูดขวดนมอยู่

จะเห็นได้ว่า ช่วงอายุ 3-5 ปี พบปัญหานี้เพิ่มขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเด็กได้รับการฝึกหัดนิสัยการกินที่ถูกต้องน่าจะมีปัญหานี้น้อยลง ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากปัญหาการกินในช่วงอายุ 1-3 ปี ไม่ได้ถูกแก้ไขหรือแก้ไขผิดวิธี เช่น พ่อแม่กังวลห่วงเรื่องสุขภาพลูก ไม่เข้าใจพัฒนาการปกติของเด็กที่แสดงความเป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่พี่เลี้ยงทำให้มากจนเด็กไม่ได้รับการฝึกหัด เด็กไม่ได้รับผิดชอบเองเรื่องนี้ มีความต้องการในการพึ่งพานานและขัดขวางความเป็นตัวเอง พ่อแม่พยายามป้อนบังคับให้เด็กกิน ซึ่งเป็นปัญหาการกินเกิดขึ้น เด็กยิ่งต่อต้าน เกิดปัญหาอารมณ์ต่อกันได้มาก เมื่อเด็กไม่ได้ช่วยตนเองในเวลากินอาหาร และพ่อแม่ให้กินอาหารอื่นแทนอาหารหลัก ทำให้เด็กไม่รู้จักหิวและขวนขวายกระตือรือร้นอยากกิน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่พบปัญหาการกินเพิ่มขึ้น

2. ปัญหาอารมณ์ของเด็ก - ปัญหาที่พบส่วนมากคือ ขี้อาย ขี้กลัว เสียใจง่าย ร้องไห้มาก ชอบโต้เถียง และใจร้อน

จะเห็นได้ว่า ช่วงอายุ 3-5 ปี พบปัญหานี้เพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้น พ่อแม่เริ่มให้ความสำคัญกับการฝึกหัดเรื่องระเบียบวินัยต่าง ๆ จึงเริ่มเห็นว่าปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นปัญหา จึงให้ข้อมูลมากขึ้น และอาจเนื่องจากการเลี้ยงดูเด็กไม่ถูกวิธีตามวัยตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองน้อยลงไป นอกจากนี้อาจเนื่องจากพัฒนาการด้านความคิดของเด็กวัยนี้มีการพัฒนาขึ้นทำให้เด็กคิดสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ได้มากขึ้นด้วย

3. ปัญหาร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ

ปัญหานี้เริ่มพบมากเมื่อเด็กอายุพ้น 1 ปี เนื่องจากเป็นระยะเริ่มต้นของการแสดงความเป็นตัวเอง (autonomy) และความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อม เขาจะเข้าหาทุกสิ่งได้เสมอในสิ่งที่เขาอยากรู้อยากลอง พ่อแม่เริ่มเห็นว่าเด็กซนและเริ่มมีการห้าม ความขัดแย้งเกิดได้ระหว่างความต้องการของเด็กและผู้เลี้ยงดูทำให้เกิดเป็นอารมณ์โกรธ ขัดเคืองได้มาก ๆ อีกประการหนึ่งคือ ภาษายังเจริญไม่เต็มที่ เด็กไม่สามารถบอกความต้องการความคิดความรู้สึกของตนได้ จึงทำให้เกิดความขัดเคืองตนเองเป็นทวีคูณ11 และภาษาและคำพูดยังจำกัด เด็กยังพูดบอกอธิบายไม่ได้ จึงใช้ พฤติกรรมเป็นการแสดงออก เพราะฉะนั้นในช่วงอายุ 1-3 ปี ยังถือว่าปกติ แต่ในการศึกษานี้พบมีจำนวนค่อนข้างมาก อาจแสดงว่าพ่อแม่ยังไม่เข้าใจพัฒนาการตามปกติของเด็ก เมื่อเด็กเติบโตขึ้นปัญหานี้ควรจะน้อยลง จากการศึกษานี้จะเห็นได้ว่าในช่วงอายุ 3-5 ปี มีปัญหานี้ลดลงบ้าง แต่ยังคงมีจำนวนมากพอควร อาจเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังจัดการกับเด็กด้วยวิธีที่ยังไม่ถูกต้องเหมาะสมในวัยเล็ก ทำให้ปัญหามีต่อเนื่องตลอดมา

4. ปัญหาซนมากอยู่ไม่นิ่ง

จะเห็นได้ว่าปัญหานี้พบมากในช่วงอายุ 1-3 ปี อาจเนื่องจากวัยนี้เด็กเริ่มเดินได้ วิ่งได้ อยากรู้อยากเห็น เข้าหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาสนใจ พ่อแม่จึงเห็นเด็กซนมากขึ้น พอเด็กโตขึ้นเด็กเรียนรู้กฎระเบียบได้มากขึ้น รู้จักควบคุมตัวเองได้มากขึ้น มีสิ่งที่สนใจมากขึ้น ทำให้เด็กเล่นหรือทำได้นาน ปัญหานี้ลดลงในช่วงอายุ 3-5 ปี แต่ยังเป็นอาการที่พ่อแม่เห็นปัญหา ซึ่งอาจเกิดจากการที่เด็กมีความผิดปกติจริง เช่น เด็กอาจมีโรคทางสมอง เช่น โรคซนสมาธิสั้น ปัญญาอ่อน ที่มีการซนมากอยู่ไม่นิ่งร่วมด้วย หรือเด็กอาจถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ ขาดระเบียบวินัย ทำให้การควบคุมตัวเองมีน้อย หรือเป็นปกติธรรมดาของเด็กแต่ผู้ใหญ่เห็นเป็นปัญหาไปเอง

5. ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว พบทั้งเรื่องวาจาและเรื่องพฤติกรรม

จะเห็นได้ว่า พบปัญหานี้ในจำนวนที่พอ ๆ กันใน 2 กลุ่ม ในวัยนี้ แต่มีจำนวนค่อนข้างมาก อาจเนื่องจากปัญหานี้อาจเกิดจากระดับพัฒนาการที่เด็กวัยนี้แสดงความคับข้องใจ และความโกรธทางพฤติกรรมและ ผู้ใหญ่เข้าใจผิด ในปัจจุบันมีสื่อต่าง ๆ ที่แสดงความก้าวร้าวอยู่มาก เช่น โทรทัศน์ วีดีโอเกมส์ ทำให้เด็กเลียนแบบ พฤติกรรมก้าวร้าวนั้น หรือพ่อแม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรุนแรง ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เช่น เด็กถูกลงโทษโดยการถูกตีบ่อย ๆ หรือเด็กเกิดความรู้สึกว่าเป็นวิธีการที่เขาได้รับความสนใจ หรือถ้าการอาละวาดก้าวร้าวนั้น ผู้ใหญ่ได้ให้สิ่งที่เขาต้องการเพื่อให้เขาหยุดพฤติกรรม ทำให้เขาได้สิ่งตอบแทนที่ต้องการ พฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป

6. ปัญหาอิจฉากันระหว่างพี่น้อง

การที่พี่น้องแก่งแย่งแข่งขันกันจนมีเรื่องราวเกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการที่ต้องการความรักความสนใจจากพ่อแม่12 จากการศึกษานี้พบว่าปัญหานี้มีเพิ่มขึ้นในช่วงอายุ 3-5 ปีอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) อาจเนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มมีน้องใหม่ แต่เด็กยังไม่เข้าใจว่าพ่อแม่สามารถให้ความรักลูกคนอื่นได้เท่า ๆ กับที่รักตัวเด็กเอง เด็กเหล่านี้รู้สึกว่าตนสูญเสียความรักที่เคยได้รับจากพ่อแม่ และน้องเป็นผู้ที่ทำให้พ่อแม่รักตนน้อยลง นอกจากนี้อาจเกิดจากการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมของพ่อแม่หรือญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน เช่น การเปรียบเทียบเด็กกับน้องว่าน้องเก่งกว่า น่ารักกว่า เป็นต้น หรือการที่พ่อแม่แสดงให้เห็นว่ารักน้องมากกว่าไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูดหรือการกระทำก็ตาม

7. ปัญหาการดูทีวี - ปัญหาที่พบส่วนมากคือ ดูทีวีทั้งวัน ดูทีวีจนไม่ทำอย่างอื่น บางรายดูทีวีขณะกินอาหาร กล่าวคือเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอทีวี

จะเห็นได้ว่าปัญหานี้พบมากขึ้นในช่วงอายุ 3-5 ปี ประมาณ 3 เท่าของช่วงอายุ 1-3 ปี (P< 0.0001) อาจเกิดเนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเด็ก ปล่อยให้เด็กดูทีวีมากขึ้น เป็นการทำให้เด็กไม่ไปเล่นซุกซน เด็กวัยนี้กำลังเป็นวัยที่ลอกเลียนแบบจากสิ่งที่ได้พบเห็นได้สูง แต่เด็กไม่รู้จักแยกแยะข้อผิดข้อถูก เด็กไม่รู้จักเลือกว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี13 ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียตามมาอีกมากมาย และเมื่อเด็กไม่มีกิจกรรมอื่นทำ ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้จากประสบการณ์รอบข้างในสิ่งแวดล้อม เด็กที่ดูทีวีมากไปจะสนุกสบายจนไม่อยากทำอย่างอื่น

8. ปัญหาการเล่น - ปัญหาที่พบส่วนมากคือ เล่นกลางแจ้งมากเกินไป

จะเห็นได้ว่าในช่วงอายุ 3-5 ปี ปัญหานี้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) อาจเนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการมีการพัฒนาทางกล้ามเนื้อต่าง ๆ มากขึ้น และชอบเล่นกลางแจ้ง สังคมเจริญขึ้น จึงชอบเล่นกับเพื่อน ๆ ทำให้สามารถออกไปเล่นข้างนอกได้มากขึ้น ทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองมองว่าเด็กซน กลายเป็นปัญหาการเล่นกลางแจ้ง ซึ่งเป็นการมองปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และเมื่อนำข้อ 7. เรื่องการดูทีวีมากไปมาพิจารณา จะเห็นว่าปัจจุบันนี้พ่อแม่ไม่เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็กมากขึ้น แทนที่จะสนับสนุนพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว การผสมผสานของกล้ามเนื้อ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การแก้ปัญหา การเข้าสังคม ฯลฯ โดยการเล่น กลับมองว่าเป็นปัญหาซึ่งเป็นการขัดขวางพัฒนาการด้านนี้อย่างมาก จะทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้ออกกำลังกายผ่อนคลายความตึงเครียดและไม่ได้รับการส่งเสริมในสิ่งที่ดีเท่าที่ควร

สรุป

ปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ในเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบันและทำให้พ่อแม่มีความกังวลห่วงใยและทำให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างกันได้ง่าย จากการศึกษานี้พบว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีความกังวลห่วงใยในปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของเด็กถึง ร้อยละ 80.3 โดยแยกเป็นปัญหาในลักษณะต่าง ๆ กัน ส่วนหนึ่งเป็นพฤติกรรมอารมณ์ในช่วงวัยนั้น ๆ ที่ถือเป็นปกติแต่พ่อแม่มองเห็นเป็นปัญหาและไม่เข้าใจวิธีการที่จะจัดการดูแล ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดเป็นปัญหาที่แท้จริงมาได้จากการไม่เข้าใจ เกิดทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้มีการจัดการกับเด็กและการเลี้ยงดูผิดปกติไปและไม่เหมาะสม เป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะที่ผิดปกติทางจิตเวชต่อไปในภายภาคหน้าได้ แพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขที่ดูแลสุขภาพเด็กควรคำนึงถึงปัญหาพฤติกรรมอารมณ์เด็กและให้ความช่วยเหลือป้องกันไปด้วยพร้อมกันกับการดูแลทางร่างกาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่พร้อมสมบูรณ์ทั้งทางกายและจิตใจควบคู่กันไปด้วย เพื่อเด็กจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในวันข้างหน้าและเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติต่อไป

จากการศึกษานี้ พบปัญหาที่น่าสนใจอยู่ 3 ประการ คือ

1. ปัญหาการกิน เป็นปัญหาที่พ่อแม่ห่วงใยมากที่สุด

2. ปัญหาที่พ่อแม่ให้เด็กดูทีวีมาก และเห็นการเล่นกลางแจ้งเป็นปัญหา ทั้ง ๆ ที่ควรให้การสนับสนุน

3. ปัญหาพฤติกรรม มีแนวโน้มสูงขึ้นดังต่อไปนี้ พฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อต่อต้านไม่เชื่อฟัง ร้องอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ซึ่งอาจเป็นตามวัยพัฒนาหรือปฏิสัมพันธ์ด้านลบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ จนเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงวัณเพ็ญ บุญประกอบ ผู้ซึ่งได้กรุณาให้ข้อคิดเห็น ตรวจและแก้ไขรายงานการวิจัยมาโดยตลอด

ขอขอบพระคุณ แพทย์หญิงพัชรินทร์ อัศวนิก ผู้ตรวจการสาธารณสุข ภาค 4 สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่พยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 แห่ง ที่ได้ให้การสนับสนุนในการทำวิจัยครั้งนี้

ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์นายแพทย์กวี สุวรรณกิจ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่อนุญาตให้ทำการศึกษาและนำเสนอรายงานนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. ม.ร.ว. จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์. แนวคิดในการบริการดูแลสุขภาพเด็ก. ใน: จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์, ประสบศรี อึ้งถาวร, บรรณาธิการ. การดูแลสุขภาพเด็ก. กรุงเทพฯ:สหมิตรเมดิเพรส, 2536 :1-16.
  2. ม.ร.ว. จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์, เพ็ญศรี กาญจนัษฐิติ, นิตยา คชภักดี. การดูแลสุขภาพเด็ก. ใน:วันดี วราวิทย์, สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์, บรรณาธิการ. Ambulatory Pediatrics พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พิมพ์สวย, 2535 : 4-17.
  3. วัณเพ็ญ บุญประกอบ. การตรวจประเมินผู้ป่วย. จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น. กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์, 2534: 1-14.
  4. Willoughby J, Haggerty R. A simple behavior questionnaire for preschool children. Pediatrics 1964; 34:798-806.
  5. Triggs EG , Perrin EG. Listening carefully, improving communication about behavior and development, recognizing parental concerns. Clin Pediatr 1989; 28:185-92.
  6. Hickson GB, Altemeier WA , O’Connor S. Concerns of mothers seeking care in private pediatric offices opportunities for expanding services. Pediatrics1983; 72:619-24.
  7. Reim KF, Adams RE. Assessment of mothers’ concerns about infants, toddlers, and preschoolers. Infant Mental Health Journal 1980; 1:56-66.
  8. lllingworth CM, lllingworth RS. Mothers are easily worried. Arch Dis Child 1984; 59:380-4.
  9. Jenkins S, Bax M, Hart H. Behaviour problems in preschool children. J Child Psychol Psychiat 1980; 21:5-17.
  10. อรพรรณ เมฆสุภะ, อัมพร โอตระกูล, สุวัฒน์ ศรีสรฉัตร. ความชุกของปัญหาจิตเวชในประชาชนเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2530; 32:97-110.
  11. วัณเพ็ญ บุญประกอบ. ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กวัย 0-5 ปี. ใน: จันท์ฑิตา พฤกษา- นานนท์, ประสบศรี อึ้งถาวร, บรรณาธิการ. การดูแลสุขภาพเด็ก. กรุงเทพฯ::สหมิตรเมดิเพรส, 2536 : 125-39.
  12. วัณเพ็ญ บุญประกอบ. ปัญหาการอิจฉากันระหว่างพี่น้อง. ใน:วัณเพ็ญ บุญประกอบ, อัมพล สูอำพัน, นงพงา ลิ้มสุวรรณ, บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์. กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์, 2538:162-7.
  13. วัณเพ็ญ บุญประกอบ. เด็กติดวีดีโอ โทรทัศน์. ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก. กรุงเทพฯ:บริษัท แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด, 2538:51 - 61.
Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us