เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


โรคแพนิคในเด็กและวัยรุ่น: ทบทวนวรรณกรรมและรายงานผู้ป่วย 2 ราย

ศุภรัตน์ เอกอัศวิน พ.บ.*

Panic Disorder in Children and Adolescents: a Review and Case Report

Suparat Ekasawin, M.D.*

บทคัดย่อ

แพทย์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าโรคแพนิคเป็นโรคของผู้ใหญ่เท่านั้น หลังจากทบทวนวรรณกรรม มีหลักฐานยืนยันว่าโรคแพนิคนั้นพบได้ในเด็กและวัยรุ่น การให้การวินิจฉัยแต่แรกเริ่มจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและป้องกันปัญหาที่ตามมา สุดท้ายผู้รายงานได้นำเสนอตัวอย่างผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นไทยจำนวน 2 ราย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542; 44(1): 65-72.

 คำสำคัญ โรคแพนิค เด็กและวัยรุ่น

 * ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400

  Abstract

The diagnosis of panic disorder in children has been controversial, less so in adolescents. The author reviews the literature supporting the occurrence of panic attacks in children and adolescents and reports 2 cases of such condition. This report also highlights the importance of early identification and intervention in patients with panic and raises the possibility of reducing long-term morbidity in patients with childhood onset panic.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999; 44(1): 65-72.

Key words : panic disorder, child and adolescents

 * Child Mental Health Center, Rama VI Road, Bangkok 10400, Thailand.

 โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น แต่เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกา ฉบับที่ 4 (DSM-IV)1 ได้จำแนกโรควิตกกังวลในเด็กไว้เพียง 3 โรคเท่านั้นคือ separation anxiety disorder, generalized anxiety disorder และ social phobia โดยไม่มีการกล่าวถึงโรคแพนิค จิตแพทย์ส่วนมากมักคิดว่าโรคแพนิคเป็นโรคที่พบในผู้ใหญ่เท่านั้น ดูได้จาก DSM-IV ที่ไม่ระบุโรคแพนิคไว้ในส่วนของเด็กและวัยรุ่น หรือแม้แต่ให้ปรับใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเดียวกับผู้ใหญ่เหมือนในโรคซึมเศร้า ทำให้การวินิจฉัยโรคแพนิคในเด็กจึงอยู่ในวงจำกัด2,3

การวินิจฉัยโรคแพนิคในเด็กและวัยรุ่นนั้นมีผลช่วยลดอัตราป่วยในวัยผู้ใหญ่ลง ด้วยพบว่าผู้ที่เป็นโรคแพนิคก่อนอายุ 17 ปีจะมีความเสี่ยงต่อการใช้สุรา การฆ่าตัวตายและมีประวัติการมาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินบ่อยกว่าผู้ที่เป็นโรคแพนิคหลังอายุ 17 ปี การวินิจฉัยโรคแพนิคได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในวัยผู้ใหญ่ได้มาก4 ในประเทศไทยยังไม่มีการรายงานโรคแพนิคในเด็กและวัยรุ่นมาก่อน แพทย์โดยเฉพาะกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กควรรู้จักและคำนึงถึงโรคนี้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กมาด้วยอาการหายใจลำบาก เวียนศีรษะ ใจสั่น ไม่อยากไปโรงเรียนโดยไม่พบสาเหตุทางกาย

อุบัติการณ์โรคแพนิคในเด็กและวัยรุ่น

โรคแพนิคมีอุบัติการณ์ตลอดชีพร้อยละ 1.55 โดยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มเกิดอาการประมาณ 15-19 ปี และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคแพนิคร้อยละ18 รายงานว่ามีอาการก่อนอายุ 10 ปี 6 โรคแพนิคทั้งในผู้ใหญ่ เด็กและวัยรุ่นมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 2:1 7

ในปี ค.ศ.1981 National Institute of Mental Health10 ของสหรัฐอเมริกาได้ทำการสำรวจทางระบาดวิทยาโดยมีประชากรอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 18,000 คน โดยใช้ Diagnostic Interview Schedule พบว่าอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มมีอาการ 15-19 ปี แม้ว่าผลการศึกษาจะชี้ให้เห็นว่าโรคแพนิคพบได้ตั้งแต่เด็กและวัยรุ่นก็ตาม แต่การศึกษาดังกล่าวนี้มีความจำกัดเพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนของความจำเมื่อนึกย้อนช่วงอายุที่มีอาการครั้งแรกรวมทั้งลักษณะอาการที่เกิดขึ้น2

มีรายงานโรคแพนิคในเด็กครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1987 โดย Casat และคณะ8 เป็นผู้ป่วยเด็กหญิง 12 ปีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น separation anxiety with mitral valve prolapse โดยมีอาการใจสั่น เหงื่อออก หายใจลำบาก ไม่มีแรง แน่นท้องขณะเรียนหนังสือ ต่อมามีอาการกลัวโรงเรียน กลัวที่มีคนหนาแน่น กลัวการอยู่ลำพังซึ่งคล้ายโรคแพนิคในผู้ใหญ่

นอกจากนั้นยังมีรายงานถึงโรคแพนิคในเด็กและวัยรุ่น ดังตารางที่ 1

 ตารางที่ 1 รายงานการศึกษาโรคแพนิคในเด็กและวัยรุ่น

อายุ (ปี) โรคที่พบร่วม (คน)

-------------------------------- ----------------------------------------

การศึกษา จำนวนผู้ป่วย ขณะรายงาน เริ่มมีอาการ separation mitral valve anxiety prolapse

Vitiello และคณะ11 2 8-10 1-5 2 1

Biederman12 3 8-11 4-8 1 -

Ballenger13 3 8-13 - - 1

Black และ Robbins5 6 14-28 4-15 3 -

Vitiello และคณะ14 6 8-12 5-11 4 2

Black และคณะ15 2 8-12 8-9 1 -

 การศึกษาโรคแพนิคในกลุ่มประชากรวัยรุ่น7 อายุ 13-18 ปี พบโรคแพนิคร้อยละ 4.7-5.4 อาการที่พบบ่อยในเด็กคล้ายกับอาการที่พบในผู้ใหญ่คือ อาการทางสรีระ เช่น ใจสั่นตัวสั่น คลื่นไส้ หายใจลำบาก จะเป็นลม มึนงง และอาการทาง cognitive เช่น กลัวตาย กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ เด็กหญิงมีโอกาสเกิดโรคแพนิคมากกว่าเด็กชาย 3 เท่า พบอารมณ์เศร้าร่วมด้วย และเหตุการณ์ที่เกิดร่วมบ่อยที่สุดขณะมีอาการโรคคือ ขณะเดินคนเดียว ขณะเครียดมาก และขณะพูดหรือแสดงต่อหน้าชุมชน

นอกจากนั้นยังพบความสัมพันธ์ของโรคแพนิคกับ sexual maturity index17 คือ sexual maturity index เพิ่มขึ้น 1 คะแนนจะมีโอกาสเกิดโรคแพนิคเพิ่มขึ้น 2 เท่า จึงพบว่าเด็กหญิงมีโอกาสเกิดโรคแพนิคสูงกว่าเด็กชายเพราะพัฒนาการทางเพศเร็วกว่า

ในเรื่องการวินิจฉัยแยกโรคทั้ง Vitiello และคณะ14 และ Abelson และ Alessi18เห็นตรงกันว่า separation anxiety disorder, school refusal, agoraphobia และ overanxious disorder นั้น แท้จริงคืออาการแสดงในวัยเด็กของโรคแพนิคนั่นเอง เขาได้สรุปว่า “การมีวินิจฉัยโรค separation anxiety disorder, school refusal และ agoraphobia ทำให้โรคแพนิคในเด็กถูกมองข้าม”

1. ทฤษฎีของโรคแพนิค

เด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคแพนิคจะรายงานอาการทั้งทางสรีระและ cognitive คล้ายกับที่พบในผู้ใหญ่ Clark19 ได้อธิบายว่าโรคแพนิคนั้น เป็นการแปลความอาการทางกายของความวิตกกังวลแปลผิดเป็นภาวะอันตราย เช่น อาการใจสั่นแปลเป็นโรคหัวใจ หรือหายใจลำบากแปลเป็นกำลังจะตาย Nelles และ Barlow3 ตั้งคำถามว่าเด็กมีความเข้าใจมากพอที่จะรับรู้ความรู้สึกอันตรายได้แล้วหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่าเด็กไม่สามารถรับรู้ได้ โดยให้เหตุผลว่าคนที่สามารถรับรู้ได้นั้นต้องมีความพร้อมต่อไปนี้คือ สามารถรับรู้อาการทางกายที่เกิดขึ้นเช่น ใจสั่น หายใจลำบาก มึนงง และจะต้องมีความเข้าใจความหมายของความรู้สึกกำลังจะตายหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาจึงสรุปว่าเด็กก่อนเข้าวัยรุ่นนั้นไม่สามารถรับรู้อาการโรคแพนิคได้ แต่มีรายงาน12 แย้งข้อสรุปของ Nelles และ Barlow โดยพบเด็กที่แสดงออกถึงการแปลความหมายอาการทางกายของความวิตกกังวลผิดแม้จะมีอายุน้อย กล่าวคือ เด็กอายุ 8 ปีใช้คำว่า “out of control” เด็กอายุ 11 ปีใช้คำว่า “fear of going to die” และในเด็กอายุ 13 ปีใช้คำว่า “fear to lose control” นอกจากนั้น Garland และ Smith20 รายงานโรคแพนิคในเด็กอายุก่อน 10 ปีอีก 2 รายโดยมีอาการโรคแพนิคเต็มรูปแบบคือมีทั้งอาการทางสรีระและ cognitive ทำให้ Hayward และ Klien2,7 สรุปความเห็นพ้องว่าเด็กมีความสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกอันตรายได้ อย่างไรก็ตามเด็กมักเล่าถึงอาการ cognitive น้อยกว่าอาการทางสรีระ ทำให้การวินิจฉัยโรคแพนิคในเด็กต่ำกว่าความเป็นจริง

2. ความสัมพันธ์ของการพลัดพรากและโรควิตกกังวลในวัยเด็กกับโรคแพนิคในผู้ใหญ่

Thyer และคณะ9 พบว่า separation anxiety disorder ในวัยเด็กนั้นเป็นตัวเริ่มต้นของโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ ส่วน Pollack และคณะ21 รายงานความสัมพันธ์ของโรควิตกกังวลในวัยเด็กและโรคแพนิคในผู้ใหญ่ แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า separation anxiety disorder ในวัยเด็กจะพัฒนาต่อไปเป็นโรคแพนิคในผู้ใหญ่ได้22

3. การศึกษาครอบครัวของโรคแพนิค

Surman และคณะ23 รายงานฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน 2 คู่ที่ป่วยเป็นโรคแพนิคทั้งหมด สนับสนุนความเป็นไปได้ว่าโรคแพนิคนั้นสืบทอดทางพันธุกรรม และรายงานของ Last และ คณะ24 พบว่าญาติสายตรงของเด็กที่เป็นโรคแพนิคมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคแพนิค ส่วน Vitiello และคณะ11 รายงานครอบครัวของเด็กที่เป็นโรคแพนิคจะมีประวัติคนหลายรุ่นเป็นโรคแพนิคด้วย Crowe25 สันนิษฐานว่าโรคแพนิคอาจมีการสืบทอดทางพันธุกรรมแบบ autosomal dominant ในทางกลับกันเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคแพนิคจะเพิ่มโอกาสการเป็น separation anxiety disorder มากกว่าเด็กทั่วไปถึง 3 เท่า26

4. โรคแพนิคในเด็กกับอาการ hyperventilation

มีรายงานโรคแพนิคในเด็กที่นำมาด้วยอาการ hyperventilation syndrome ซึ่งมีอาการคล้ายโรคแพนิคมาก มีการทบทวนย้อนหลัง27-28 อาการ hyperventilation ในเด็กพบว่าเด็กมีอาการหายใจลำบาก มึนงง ตัวชา กลัวตัวเองตายหรือเพื่อนตาย ซึ่งอาการทั้งหมดเข้าได้กับโรคแพนิค การคำนึงไว้เสมอว่าโรคแพนิคพบได้ในเด็ก ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคแพนิคในเด็กได้แม่นยำขึ้น

5. ทฤษฎีทางชีวภาพของโรคแพนิค

ข้อมูลทางชีวภาพของโรคแพนิคในเด็กมีการศึกษาน้อย เท่าที่มีรายงานเป็นการศึกษาในผู้ใหญ่ พบว่าปัจจัยทางชีวภาพต่อไปนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการแพนิค เช่น mitral valve prolapse และสารบางชนิด อาทิ lactate, carbon dioxide, isoproterenol hydrochloride, yohimbine hydrochloride และ caffein นอกจากนั้นยังมีรายงาน29 ที่กล่าวถึงปัจจัยทางชีวภาพอื่นที่มีความสัมพันธ์กับโรคแพนิคและโรควิตกกังวล อาทิเช่น ความผิดปกติของ noradrenergic และ central nervous system cholecystokinin

เท่าที่มีการศึกษาในเด็กเรื่องของ mitral valve prolapse นั้น Arkfan และคณะ29 ได้ศึกษาเด็กที่มี mitral valve prolapse เปรียบเทียบกับเด็กปกติพบว่า anxiety score ไม่แตกต่างกัน และ Reicher และคณะ29 ศึกษาปัจจัยทางชีวภาพในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีพ่อแม่เป็นโรคแพนิค โดยตรวจแยกเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็น mitral valve prolapse และกลุ่มควบคุม หลังการออกกำลังกายอย่างหนักได้ตรวจหาระดับ lactate, cathecholamine ในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง รวมทั้ง platelet monoamine oxidase activity พบว่าในทั้งสองกลุ่มผลไม่แตกต่างกัน

6. การรักษาโรคแพนิคในเด็ก

การรักษาโรคในผู้ใหญ่ประกอบด้วย behavioral therapy, cognitive therapy, exposure และ pharmacotherapy สำหรับเด็กนั้นยังไม่มี clinical trial เป็นเพียงการรายงานการรักษาด้วยยาในผู้ป่วย 13 ราย5,12,13,30 พอสรุปได้ว่ายาที่ใช้ได้ผลดีในโรคแพนิคผู้ใหญ่เช่น tricyclic antidepressants, fluoxetine, alprazolam, lorazepam และ clonazepam ได้ผลดีในเด็กเช่นกัน อย่างไรก็ตามการใช้ยามากกว่าหนึ่งชนิดต้องระวังปฏิกิริยาระหว่างกันของยาด้วย และอาการ agoraphobia จะไม่หายไปเองหลังการรักษาโรคแพนิคด้วยยา ควรได้รับการรักษาหลายๆ ด้านร่วมกัน (multimodal approach) ด้วย เช่น supportive psychotherapy, behavior-cognitive therapy

เด็กมักจะเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างเด็กและครอบครัว ส่งผลให้อาการโรคแพนิคแย่ลง จึงควรช่วยเรื่องปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวโดยการทำครอบครัวบำบัดด้วย ส่วนยา momoamine oxidase inhibitors ไม่ควรใช้ในเด็กเพราะการควบคุมอาหารทำได้ยากและพบ orthostatic hypotension บ่อย ดังนั้นยาที่แนะนำให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นมี 3 กลุ่มคือ SSRIs, tricyclic antidepressants และ benzodiazepines โดยเฉพาะ clonazepam

 รายงานผู้ป่วยรายที่ 1

เด็กหญิงอายุ 8 ปีมาด้วยปัญหา repeated hyperventilation นาน 2 สัปดาห์ (3 ครั้ง) เริ่มต้นขณะรับประทานอาหารโดยมารดาป้อนหมูชิ้นใหญ่ให้ เด็กเกิดอาการติดคอ หายใจไม่ออก เด็กตกใจ ไม่มีอาการตัวเขียว ไม่ไอ หลังจากนั้น 7 วันเด็กมีอาการหายใจไม่ออก รู้สึกคล้ายมีคนตีกลองอยู่ในอก เหงื่อออก มือสั่น หน้าซีด เป็นนาน 10-30 นาที ทุกครั้งจะร้องไห้เอามือแม่ไปวางไว้ที่หน้าอกของตนเอง แม่ว่าเมื่อสัมผัสหน้าอกเด็กคล้ายมีใจสั่น เด็กร้องไห้เสียงดัง ขอร้องให้รีบพาไปพบแพทย์ บอกว่ากำลังจะตาย หลังจากนั้นมีอาการเช่นนี้อีก 2-3 ครั้ง ขณะมีอาการไม่พบว่ามีภาวะเครียดหรือขัดใจเป็นทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน กุมารแพทย์ได้ตรวจร่างกายโดยละเอียด ไม่พบความผิดปกติ ผล echocardiogram ปกติ ให้การวินิจฉัยว่าเป็น hyperventilation syndrome มารดามีอาการโรคแพนิคเช่นกัน

การตรวจสภาพจิตพบว่าผู้ป่วยเป็นเด็กหญิง รูปร่างสมวัย สีหน้ากังวล พูดน้อย โต้ตอบตรงเรื่อง ยอมแยกจากพ่อแม่เพื่อคุยกับแพทย์ตามลำพัง ผู้ป่วยเข้าใจว่าตนเองป่วย อยากรีบมาพบแพทย์ทุกครั้งที่มีอาการ รับรู้ว่าพ่อแม่รักตนเองมาก ที่โรงเรียนผู้ป่วยเข้ากับเพื่อนได้ดี ขอพร 3 ประการคือ ให้หายจากอาการป่วย อยากได้บ้านตุ๊กตาหลังใหญ่ และอยากได้จักรยาน

เด็กรายนี้ได้รับการรักษาด้วย fluoxetine 20 มก./วัน และ clonazepam 0.5 มก./วัน ภายใน 1 เดือนเด็กมีอาการลดลงเหลือ 1-2 ครั้ง/เดือนและไม่รุนแรง ได้ค่อยๆ หยุด clonazepam ไปและเด็กไม่มีอาการเลยหลังได้ยานาน 3 เดือน ขณะนี้ยังคงกินยา fluoxetine

รายงานผู้ป่วยรายที่ 2

วัยรุ่นหญิงอายุ 14 ปี มีสุขภาพดีตลอดมาจนเมื่อ 3 เดือนก่อนขณะกำลังเตรียมตัวไปค้างบ้านยายเพราะบิดามารดาจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศพร้อมกันนาน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยเกิดอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น มือสั่น ซึ่งผู้ป่วยเคยไปค้างบ้านยายหลายครั้งด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติโรควิตกกังวลจากการพลัดพรากมาก่อนเลย หลังจากมีอาการครั้งแรกแล้วสัปดาห์ต่อมามีอาการคล้ายเดิมอีก 2 ครั้งในสัปดาห์นั้น แพทย์ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ 3 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์ผู้ป่วยมีอาการมึนศีรษะ อึดอัดหน้าอก หายใจไม่ออก อาการเกิดทันทีทันใด และ 1 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์มีอาการรุนแรงกว่าเดิม ได้แก่ เหงื่อออก กลัวจะตาย รู้สึกคล้ายจะเป็นลม ผู้ป่วยวิตกกังวลกับอาการนี้มาก ครั้งหนึ่งมีอาการขณะกำลังกินอาหารในโรงอาหารของโรงเรียน ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปกินอาหารที่โรงอาหารอีกเลย ต่อมามีความกลัวว่าจะมีอาการขณะอยู่บนรถเมล์ ทุกครั้งที่ออกนอกบ้านต้องมีคนในบ้านไปด้วย สุดท้ายเริ่มกลัวการไปโรงเรียนและไม่ยอมไปโรงเรียน ประวัติครอบครัวมีลุงเป็น obsessive-compulsive disorder

การตรวจสภาพจิตพบว่าผู้ป่วยเป็นวัยรุ่นหญิง รูปร่างท้วม ร่วมมือดี พูดเสียงเบา สีหน้ากังวลเมื่อเล่าถึงอาการป่วยโดยเฉพาะความกังวลที่ไม่รู้ว่าอาการจะเกิดอีกครั้งเมื่อใดและจะรุนแรงเพียงใด กลัวเป็นบ้าเหมือนคนที่นอนตามป้ายรถเมล์ สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง มีอารมณ์เศร้า ขาดสมาธิ ต้องการให้แพทย์ช่วยเหลือ

ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย imipramine 150 มก./วัน, alprazolam 2 มก./วัน ร่วมกับ behavioral-cognitive technique ใน 6 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็น fluoxetine 40 มก./วัน พบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยมีอาการประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์และไม่รุนแรง

วิจารณ์

ในผู้ป่วยรายแรกนั้นมีอายุเพียง 8 ปี เด็กบอกเล่าอาการได้น้อยสังเกตว่าเด็กไม่เข้าใจคำถามว่ามีอาการใจสั่นหรือไม่ เด็กเล่าเพียงว่าที่ต้องให้แม่เอามือวางบนหน้าอกเพราะมีกลองตีอยู่ข้างใน ส่วนอาการหายใจไม่ออกเด็กเข้าใจได้ดี แม่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยพบว่ามีตัวสั่น มือสั่น หน้าซีดขาว เด็กเล่าว่าต้องรีบไปหาหมอไม่เช่นนั้นจะต้องตาย เด็กบอกความแตกต่างของอาการหมูติดคอกับอาการแพนิคว่าตอนกินอาหารมีเพียงความรู้สึกติดคอชั่วครู่และไม่มีอาการตีกลองในหน้าอก เด็กรายนี้มีอาการครบ 4 อาการ รวมทั้งมี cognitive symptom ด้วยจึงให้การวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนแม้จะมีอายุน้อย ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยค่อนข้างเร็วเพราะมารดามีอาการของโรคแพนิคซึ่งสนับสนุนรายงานที่เกี่ยวกับการพบโรคแพนิคในคนรุ่นอื่นๆ ของครอบครัวด้วย ในรายนี้แม่จึงยอมรับคำแนะนำของกุมารแพทย์ให้พาเด็กมารับการตรวจโรคกับจิตแพทย์โดยง่าย อาการแพนิคของแม่นั้นเริ่มเมื่ออายุ 24 ปี และตอบสนองดีกับ fluoxetine จึงพิจารณาใช้ยานี้ในลูกเช่นกัน ซึ่งเด็กตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

สำหรับผู้ป่วยรายที่ 2 จัดเป็นโรคแพนิคที่ชัดเจนเช่นกัน ช่วงแรกมีอาการน้อยดูคล้ายกับเป็นโรควิตกกังวลจากการพลัดพราก โดยแสดงออกเป็นการกลัวโรงเรียนแต่ผู้ป่วยมีประสบการณ์แยกจากพ่อแม่หลายครั้งและไม่มีอาการเช่นนี้มาก่อน เมื่อมีอาการซ้ำหลายครั้งอาการรุนแรงขึ้นครบ 4 อาการ ผู้ป่วยมีอาการเครียด วิตกกังวลสูงและอาการพัฒนาเป็น agoraphobia โดยเลี่ยงที่จะเดินทางคนเดียว กลัวการไปโรงเรียน จะเห็นว่าอาการกลัวโรงเรียนมีสาเหตุมาจากโรคแพนิคซึ่งสามารถแยกได้เพียงการนึกถึงและซักประวัติเท่านั้น ผู้ป่วยรายนี้เริ่มรักษาด้วย imipramine และ alprazolam และทำcognitive-behavior therapy แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนยาเป็น fluoxetine และ clonazepam ซึ่งได้ผลดีกว่าแต่ยังคงมีอาการอยู่แม้จะรุนแรงน้อยลงประมาณ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ ต่อมาผู้รักษาได้ลดยา clonazepam โดยให้ใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียนได้โดยพกยาติดตัวไว้แต่ยังคงใช้ fluoxetine เช่นเดิม ประวัติครอบครัวรายนี้มีลุงเป็น obsessive-compulsive disorder ซึ่งจัดเป็นโรควิตกกังวลในผู้ใหญ่ จากการทบทวนไม่พบการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของโรคนี้กับโรคแพนิค

สรุป

โรคแพนิคพบได้ในวัยรุ่นและพบน้อยในเด็กโดยมีอาการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กทุกรายที่มีอาการหายใจลำบาก เวียนศีรษะ ใจสั่น ไม่อยากไปโรงเรียน และหาสาเหตุทางกายไม่ได้ควรคิดถึงโรคแพนิคทั้งเด็กและวัยรุ่น อาการโรคแพนิคในเด็กมีทั้งอาการทางสรีระและ cognitive แต่อาการทาง cognitive จะพบน้อยกว่า ความรู้เกี่ยวกับโรคแพนิคในเด็กยังต้องการการศึกษาในเรื่องธรรมชาติของโรค ความสัมพันธ์ของโรคแพนิคในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อการป้องกันและรักษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders. 4th ed. Washington DC: American Psychiatric Association,1994.
  2. Klein DF, Mannuza S, Chapman T, Fyer A. Child panic revisited. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1992; 31:112-3.
  3. Nelles WB, Barlow DH. Do children panic? Clin Psychol Rev 1988; 8:359-72.
  4. Weissman MM. Panic disorder :impact on quality of life. J Clin Psychiatry 1991; 52:6-9.
  5. Black B, Robbins DR. Panic disorder in children and adolescents. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1990; 29:36-44.
  6. Von Korff M, Eaton W, Keyl P. The epidemiology of panic attacks and panic disorder: results of three community surveys. Am J Epidemiol 1985;122:970-81.
  7. Hayward C, Killen JD, Taylor CB. Panic attack in young adolescents. Am J Psychiatry 1989; 146:1061-2.
  8. Casat C, Ross BA, Scardina R, et al. Separation anxiety and mitral valve prolapse in a 12-year-old girl. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1987; 26:444-6.
  9. Thyer BA, Parrish RT, Curtis GC, Nesse RM, Cameron OG. Ages of onset of DSM-III anxiety disorders. Compr Psychiatry 1985; 26:113-22.
  10. Robins LN, Croughan J, William JB, et al. The NIMH diagnostic interview schedule: version III. Washington DC: Public Health Service,1981.
  11. Vitiello B, Behar D, Wolfson S, et al. Panic disorder in prepubertal children (letter). Am J Psychiatry 1987; 144:525.
  12. Biederman J. Clonazepam in the treatment of prepubertal children with panic like symptoms. J Clin Psychiatry 1987; 48:38-41.
  13. Ballenger JC, Carek DJ, Steele JJ, Cornish-McTighe D. Three cases of panic disorder with agoraphobia in children. Am J Psychiatry 1989; 146:922-4 .
  14. Vitiello B, Behar D, Wolfson S, McLeer SV. Diagnosis of panic disorder in prepubertal children. J Am Acad Child Adolesc 1990; 29:782-4.
  15. Black B, Uhde TW, Robbins DR. Does panic disorder exist in children? The author reply. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1990; 29:834-5.
  16. Last CG, Strauss CC. Panic disorder in child and adolescents. J Anxiety Disord 1989; 3:87-95.
  17. Hayward C, Killen JD, Litt IF, Wilson DM, Simmonds B, Taylor CB. Pubertal stage and panic attack history in sixth- and seventh-grade girls. Am J Psychiatry 1992; 149:1239-43.
  18. Abelson JL, Alessi NE. Discussion of child panic revisited. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1992; 31:114-6.
  19. Clark DM. A cognitive approach to panic. Behav Res Ther1986; 24:461-70.
  20. Garland EJ, Smith DH. Simultaneous prepubertal onset of panic disorder, night terrors, and somnambulism. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1991; 30:553-5.
  21. Pollack MH, Otto MW, Sabatino S, Majcher D, Worthington JJ. Relationship of childhood anxiety to adult panic disorder: correlates and influence on course. Am J Psychiatry 1996; 153:376-81.
  22. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders. 3rd ed. Rev. Washington DC: American Psychiatric Press, 1987.
  23. Surman OS, Sheehan DV, Fuller TC, Gallo J. Panic disorder in genotypic HLA identical sibling pairs. Am J Psychiatry 1983; 140:237-8.
  24. Last CG, Herson M, Kazdin A, et al. Anxiety disorder and their families. Arch Gen Psychiatry 1991; 48:929-34.
  25. Crowe RR. Mitral valve prolapse and panic disorder. Psychiatr Clin North Am 1985; 8:63-71.
  26. Weissman MM, Leckman JF, Merikangas KR, et al. Depression and anxiety disorder in parents and children. Arch Gen Pshchiatry 1984; 41:845-52.
  27. Enzer NB, Walker PA. Hyperventilation syndrome in childhood: a review of 44 cases. J Pediatr 1967; 70:521-32.
  28. Herman SP, Stickler GB, Lucus AR. Hyperventilation syndrome in children and adolescents: long term follow up. Pediatrics 981; 67:183-7.
  29. Moreau D, Follett C. Panic disorder in children and adolescents. Child Adolesc Psychiatr Clin North Am 1993; 2:581-98.
  30. Bredley SJ, Hood J. Psychiatrically referred adolescents with panic attacks: presenting symptoms, stressors and comorbidity. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1993; 32:826-9.

 

 

 

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us