เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


การแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของคนอีสาน

ศิริพร จิรวัฒน์กุล ปร.ด. (มานุษยวิทยาทางการแพทย์)*
ดารุณี จงอุดมการณ์ วท.ม. (สรีรวิทยา)**
นิภา อังศุภากร วท.ม. (เภสัชศาสตร์)***
รัชนี วีระสุขสวัสดิ์ คม. (จิตวิทยา)****
เกศินี สราญฤทธิชัย พย. บ.*****
ดารารัตน์ ตะกูลการ ป.พส.*****
สกาวรัตน์ ภูผา พย.บ.*****
สุมัฑนา แก้วมา ป.พส.*****
สุภาภรณ์ อุปลาบัติ ป.พส.*****

Emotional Expression of the Isan People

Siriporn Chirawatkul, Ph.D. (Medical Anthropology)*
Daroonee Chongudomkarn, **
Nipa Ungsupakorn, ***
Rachanee Weerasooksawat, ****
Kesinee Sranrittichai, *****
Dararatana Takoolkan, R.N*****
Skaorat Pupa, *****
Sumatana Kaewma, R.N.*****
Supaporn Upalabut, R.N.*****

บทคัดย่อ

บทความนี้มีเป้าหมายเพื่ออธิบายการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของคนอีสาน อันเป็นข้อมูลจากการศึกษาเชิงคุณภาพช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2541 ผลการวิเคราะห์เนื้อหาซึ่งได้จากข้อมูลการสังเกตในชุมชนอีสานแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นร่วมกับการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม พบว่าการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของคนอีสานเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์และความเชื่อเรื่องผี ความเชื่อทางพุทธศาสนา วิถีชีวิตและความเป็นหญิงเป็นชาย (gender) ส่วนคำพูดและพฤติกรรมการแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่ปรากฏจากการศึกษาแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้ คือ เมื่อดีใจ พึงพอใจ เมื่อทุกข์ใจ เมื่อโกรธ เมื่อกลัวตกใจ เมื่อเบื่อหน่าย เมื่อเห็นใจสงสาร และเมื่อรังเกียจ

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2542; 44(1): 38-45.

ความสำคัญ : การแสดงออกทางอารมณ์ คนอีสาน

 * ภาควิชาการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

** ภาควิชาการพยาบาลแม่และเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

*** ภาควิชาการพยาบาลแม่และเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

**** งานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี

*****นักศึกษาหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  Abstract

This paper aims to describe an emotional expression of the Isan people. The data drew from a qualitative study at an Isan community of Khon Kaen Province. A content analysis of data from observation, interviewing, and focus group discussion indicated that an Isan ideology, a belief of spirit, Buddhism, way of life, and gender are influencing on an expression of mood and feeling. An expression shown in the study included feeling of satisfaction, sad, anger, fear, boring, sympathy, and disgusting.

J Psychiatr Assoc Thailand 1999; 44(1):38-45.

Key words : emotional expression, Isan people

 *Department of Psychiatric Nursing, Khon Kaen University, Khon Kaen.

**Department of Maternal and Child Health Nursing, Khon Kaen University, Khon Kaen.

*** Department of Maternal and Child Health Nursing, Khon Kaen University, Khon Kaen.

****Department of Maternal Health and Psychiatry, Sapasitiprasong Hospital, Ubonrachathanee.

***** Graduate Students of Nursing, Khon Kaen University, Khon Kaen.

  ในระบบการทำงานใดๆ ก็ตาม หากมีปัจจัยนำเข้าที่ดีมีคุณภาพ เมื่อถูกนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม จะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับระบบบริการดูแลรักษาผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช การประเมินภาวะอารมณ์ของผู้รับบริการเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจัยนำเข้าที่มีคุณภาพอันจะส่งผลถึงความถูกต้องในการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาล

ภาวะอารมณ์ของบุคคลแสดงออกได้ทั้งภาษาพูด (verbal) และภาษาท่าทาง (non-verbal) และการแสดงออกเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย “พลังจารีต” ในวัฒนธรรมไทย มีกฏเกณฑ์กำหนดลักษณะการแสดงออก2 ดังนั้นการจะเข้าใจภาวะอารมณ์ของผู้คนก็จะต้องเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมและ “รู้” ภาษาและท่าทางที่ผู้คนในวัฒนธรรมนั้นๆ ใช้สื่อภาวะอารมณ์ ความรู้สึก

สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นแหล่งรวมของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม กล่าวเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน คนพื้นเมืองอีสานส่วนใหญ่ มีสายสัมพันธ์กับชนชาวลาวจึงมีจารีตประเพณีบางอย่างคล้ายคลึงกันรวมทั้งภาษาพูด อย่างไรก็ตามในกลุ่มคนพื้นเมืองอีสานเองก็มีวัฒนธรรมย่อยอีก เช่น ผู้ไทย ย้อ กะเลิง โซ่หรือกะโซ่ แสก โย้ย กระตาก ส่วย พวน กุลา ข่า ขมุ กะลอง เป็นต้น3 ความแตกต่างในวัฒนธรรมย่อยนี้รวมถึงความต่างของวิถีชีวิต ภาษาพูดและภาษาท่าทางด้วย

ในการรักษาพยาบาลผู้มีปัญหาด้านอารมณ์ ในส่วนของการประเมินภาวะทางอารมณ์นั้นมักพบเสมอว่า ถ้าผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินมีพื้นฐานวัฒนธรรมต่างกัน ก็จะมีปัญหาว่าทั้งคู่ไม่เข้าใจกันส่งผลเสียให้ผู้ประเมินวิเคราะห์ภาวะอารมณ์ของผู้ถูกประเมินไม่ชัดเจนหรืออาจจะผิดพลาดไปเลย นั่นก็คือผู้ถูกประเมินหรือผู้รับบริการเสียประโยชน์ที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงเป็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจะต้องทำความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของผู้รับบริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษาและท่าทางที่ผู้คนในสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ ใช้สื่อภาวะอารมณ์

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นบุคลากรด้านสุขภาพอนามัย ที่ปฏิบัติงานอยู่ในภาคอีสานและต้องใช้ข้อมูลภาวะทางอารมณ์ของผู้รับบริการเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญในอันที่จะกำหนดแผนการรักษาพยาบาล ดำเนินกิจกรรมการรักษาพยาบาลและประเมินผลการรักษาพยาบาล และพบว่าการประเมินมีปัญหาจากความไม่เข้าใจภาษาพูดและภาษาท่าทางของผู้รับบริการอยู่เนืองๆ และเมื่อพยายามหาข้อมูลจากงานวิจัยในประเด็นการแสดงออกทางอารมณ์ของคนอีสาน ไม่พบงานวิจัยใดๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาเรื่องการแสดงออกทางอารณ์และความรู้สึกของคนอีสานเพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเพื่อการวิจัยต่อ และเพื่อการนำไปใช้ในการประเมินหรือทำความเข้าใจการสื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึกของคนอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการสื่อสารภาวะอารมณ์และความรู้สึกชาวอีสานกลุ่มหนึ่ง

 วิธีดำเนินการศึกษา

เนื่องจากคำตอบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องนี้เกี่ยวกับภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม ข้อมูลและความหมายของสิ่งที่ศึกษาต้องเป็นข้อมูลและความหมายที่มองจากสายตาของผู้ถูกศึกษา (emic approach) ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงเลือกวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ (qualitative study) โดยเลือกชุมชนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลจังหวัดขอนแก่นเป็นสถานที่ศึกษา ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนในเขตเมือง ผู้อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่คือ ชาวอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่ต่างๆ และอาศัยอยู่ในชุมชนนี้เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วคน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่คือการค้าขายเบ็ดเตล็ดในตลาดสด และการรับจ้างต่างๆ ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในช่วง 20 ปี ซึ่งเกือบทั้งหมดก็เป็นชาวอีสาน นอกจากนั้นเพื่อให้ได้ภาพพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจน ผู้ศึกษาจึงเลือกบริเวณรอตรวจในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นสถานที่ศึกษาเพิ่มเติม

ผู้ให้ข้อมูล (key informants) มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวบ้านในชุมชนและกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านการใช้ภาษาอีสาน กลุ่มชาวบ้าน คือ ผู้ที่ใช้ภาษาอีสานสื่อสารในชีวิตประจำวันรวมทั้งในการทำงาน ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้มีสตรีอายุระหว่าง 35–59 ปีจำนวน 12 คน สตรีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 4 คน และบุรุษอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 4 คน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านการใช้ภาษาอีสานมี 2 คน

วิธีการเก็บข้อมูลใช้ 3 วิธีคือ การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ การสังเกตพฤติกรรมที่แผนกฉุกเฉิน และการสนทนากลุ่มกับผู้ให้ข้อมูลหลัก ข้อมูลจากการสังเกตเก็บบันทึกด้วยการทำข้อมูลภาคสนาม (field note) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มได้บันทึกเทปมาถอดความคำต่อคำ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2541

การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาโดยการจัดกลุ่ม (categorization) สร้างดัชนี (index) แล้วนำมาตีความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่างการวิเคราะห์ได้ตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีการสามเส้า (triangulation) ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อมูลโดยการใช้แหล่งข้อมูลที่ต่างกัน เปลี่ยนสถานที่ที่ได้รับข้อมูลเรื่องเดียวกัน เปลี่ยนเวลาที่ได้รับข้อมูล และใช้ผู้เก็บข้อมูลที่ต่างกัน

 ผลการศึกษาและอภิปราย

1. บริบทเชิงสังคมและวัฒนธรรมของผู้ให้ข้อมูล

เนื่องจากภาษาพูดและภาษาท่าทางสืบทอด และเกี่ยวพันกับบริบทเชิงสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นบริบทดังกล่าวจึงมีความสำคัญต้องกล่าวถึง จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูลอยู่ในชุมชนที่มีรากฐานดั้งเดิมเป็นพวกลาวพวนอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แขวงเชียงขวางซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเวียงจันทร์ มาอาศัยในชุมชนแห่งนี้กว่า 100 ปีแล้ว ภาษาพูดในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังสืบทอดต่อเนื่องมาจากชุมชนดังกล่าว มีบางส่วนได้รับอิทธิพลจากภาษากลางและภาษาราชการ ส่วนเรื่องภาษาท่าทาง พฤติกรรมต่างๆ นั้นได้รับอิทธิพลจากคติธรรมคำสอนที่เป็นลักษณะปฏิบัติตามฮีต-คอง (จารีตประเพณี การปฏิบัติตัว) อันเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่สำคัญ นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลการใช้ภาษาจากสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ ที่ใช้ภาษากลาง เป็นต้น อิทธิพลดังกล่าวได้ทำให้ลักษณะการสื่อสารอารมณ์ของกลุ่มคนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ และประสบการณ์ส่วนบุคคล

เพื่อให้ได้ภาพบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก ต่อไปนี้เป็นข้อมูลสังเขปของชุมชนที่กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักอาศัยอยู่

1.1 ข้อมูลทั่วไป

ชุมชนนี้เป็นชุมชนในเขตเมืองจังหวัดขอนแก่น ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ ส่วนใหญ่เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย มีส่วนน้อยที่เป็นเชื้อชาติจีน ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาไทยกลางและพื้นบ้านอีสาน ชุมชนนี้มีจำนวนทั้งหมด 140 หลังคาเรือน 181 ครอบครัว และประชากรทั้งหมด 796 คน เป็นเพศชาย 395 คน และเพศหญิง 401 คน ประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงานมากที่สุด คือ มีช่วงอายุ 25–49 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 20–24 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เช่น ถีบสามล้อ หาบเร่ รถเข็น เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม นอกนั้นจะมีอาชีพค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับราชการ ขณะเดียวกันก็ยังพบผู้ที่ไม่มีอาชีพด้วย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ว่างงาน นักเรียน นักศึกษา ประชากรส่วนใหญ่ฐานะปานกลาง ส่วนน้อยยากจนแบบหาเช้ากินค่ำ ส่วนการศึกษานั้นส่วนใหญ่คือ มัธยมศึกษา รองลงมาคือ ประถมศึกษา และระดับปริญญา มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชน มีความเชื่อในเรื่องของบาปบุญคุณโทษ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งปาฏิหารย์ต่างๆ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องโชคลาง เรื่องผี เชื่อในคำพยากรณ์ชีวิต นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่เป็นงานประจำในชุมชน คือการทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันขึ้นปีใหม่ แห่บุญบั้งไฟ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แห่เทียนเข้าพรรษา ลอยกระทง ประเพณีดอกคูณเสียงแคน และประเพณีอื่นๆ นอกจากงานประจำปีก็มีงานอื่นๆ อาทิ การทำขวัญ งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความร่วมมือและดำเนินงานโดยกลุ่มประชาชนที่อาศัยในชุมชนมานาน การแต่งกายแต่งตามสมัยนิยม ยกเว้นในงานทำบุญนิยมใช้ชุดผ้าไหม ผ้าทออีสาน

1.2 ปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารในชุมชน

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชนจะมีลักษณะการติดต่อสื่อสารเป็นกลุ่มบุคคลตามระดับฐานะและความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน แต่โดยทั่วไปจะต่างคนต่างอยู่ โดยมีปฏิสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเฉพาะบุคคลในครอบครัว สำหรับคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่บ้านเช่า หรืออยู่ในอาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการย้ายเข้าย้ายออกตลอดเวลา มักไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่เก่า หรือถ้ารู้จักกันก็มีการพูดคุยกันแค่ผิวเผินเท่านั้น บางคนอยู่เฉพาะในบ้าน ไม่ได้ออกมาพบปะ พูดคุยหรือออกมามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเลย

ด้านความผูกพันกับองค์กรในชุมชนพบว่า ชาวบ้านมีสัมพันธภาพกับวัดค่อนข้างน้อย ซึ่งต่างกับชุมชนอื่นปกติ โดยทั่วไปแล้วในชุมชนอีสานวัดจะเป็นศูนย์รวมของชุมชน แต่ในชุมชนแห่งนี้ประชาชนจะใช้วัดเพื่อมาประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากวัดในชุมชนนี้เป็นวัดป่า อันมีลักษณะดำรงไว้ซึ่งความสงบเป็นสำคัญ ดังนั้นกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกิจกรรมทางศาสนาจึงมักจัดที่โรงเรียน โดยโรงเรียนจะมีส่วนช่วยเหลือในด้านต่างๆ ซึ่งทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียนค่อนข้างดี

ส่วนการสื่อสารสาธารณะภายในชุมชน ส่วนใหญ่ใช้หอกระจายข่าวที่มีอยู่ในชุมชนจำนวน 2 หอ ประชาชนได้รับข่าวสารทั่วถึงทั้งในด้านข่าวสารสาธารณสุขและการนัดหมายต่างๆ ในชุมชน

ด้วยบริบทดังกล่าวกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักกลุ่มนี้ซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนมาตลอดชีวิต จึงใช้วิธีการสื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งส่วนหนึ่งสืบทอดมาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิม อีกส่วนหนึ่งได้มาจากการเรียนรู้ในวิถีชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน 

2. อุดมการณ์ ความเชื่อ

ชุมชนที่กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักอาศัยอยู่นี้ก็เช่นเดียวกับชุมชนชาวอีสานอื่นๆ คือมีความเชื่อ

อุดมการณ์ เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติต่างๆ โดยแนวทางความเชื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ ความเชื่อเรื่องผี ความเชื่อทางพุทธศาสนา และความเชื่อมโยงของชีวิตกับธรรมชาติ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางด้านอารมณ์เท่านั้น

2.1 ความเชื่อเรื่องผี

ผี คือ ขวัญ หรือวิญญาณของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว ชาวอีสานเชื่อว่า ผีมีอำนาจ มีอิทธิฤทธิ์ให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ จึงต้องมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้ผีปกป้องดูแลให้คุณ แต่ถ้าเมื่อใดขาดการปฏิบัติที่ควร ผีก็จะมาทำความเดือดร้อนให้ในรูปแบบต่างๆ ผีที่ชาวอีสานนับถือ เช่น ผีแถน (พญาแถน) หรือผีฟ้า ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ผีเชื้อ ผีเฮือน ผีป่าผีภู ผีย่าง่าม ผีตาแฮก4 เป็นต้น ตัวอย่างของความเชื่อเรื่องผีที่มีผลต่อการแสดงทางอารมณ์ของคนอีสานโดยสังเขป คือ

ผีปู่ตา ซึ่งเป็นผีรักษาบ้านรักษาเมือง ดูแลสังคมในชุมชนไม่ให้เอารัดเอาเปรียบทำร้ายกัน ผีปู่ตาได้วางแนวปฏิบัติทางสังคมไว้หลายประการ มีประการหนึ่งคือ เมื่อพ่อแม่ไม่พอใจ โกรธลูกจะใช้คำพูดด่าอย่างหยาบคายไม่ได้ ถือว่าผิดผีปู่ตา นั่นคือเป็นหลักปฏิบัติว่า พ่อแม่จะต้องแสดงออกทางอารมณ์กับลูกด้วยคำนุ่มนวล เอื้ออาทรทั้งด้วยวาจาและท่าทาง

ผีฟ้า คือ ผีที่อยู่บนฟ้าบนสวรรค์ เป็นเทพ เป็นผีแถน มักจะถูกเชิญมารักษาผู้มีอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ โดยผู้รักษาที่เรียกว่า หมอลำผีฟ้า หลักปฏิบัติที่ผีฟ้ากำหนดให้สมาชิกในครอบครัวของผู้เจ็บป่วยปฏิบัติต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตคือ ต้องพูดและปฏิบัติอย่างมีเมตตา ใช้คำพูดไพเราะต่อกัน

2.2 ความเชื่อทางพุทธศาสนา

ความเชื่อทางพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องผีของชาวอีสานจะควบคู่กันไปเสมอ เนื่อง

จากพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนอีสานพร้อมกับพิธีกรรมที่พัฒนามาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมักจะเกี่ยวโยงกับเทพ เทวดา นางฟ้า จึงไปพ้องกับความเชื่อเรื่องผีเข้าพอดี อย่างไรก็ตาม ธรรมในพระพุทธศาสนาได้มีส่วนอย่างสำคัญต่อการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของคนอีสาน เช่น การใช้คำที่สะท้อนความหมายจากนัยทางธรรม อาทิคำว่า “สูน” แปลว่าโกรธจัด เป็นคำที่ตีความหมายมาจากธรรมที่ว่า ความโกรธทำให้สูญเสีย ดังคำบอกเล่าว่า

“ถ้าโกรธ พระบอกไม่ให้โกรธ เพราะคนโกรธคือคนสูญสิ้นทุกอย่างแล้ว”

นอกจากนั้นคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาที่เน้นให้เคารพผู้ที่ควรเคารพได้ถูกตีความต่อว่าการแสดงความเคารพต้องออกมาทั้งด้วยคำพูดและท่าทาง การแสดงออกทางอารมณ์ในทางไม่ดีต่อหน้าผู้ที่ควรเคารพจึงไม่เป็นสิ่งพึงกระทำ เหล่านี้ เป็นต้น

2.3 ความเชื่อมโยงของชีวิตกับธรรมชาติ

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดคำพูด คำเปรียบเปรยต่างๆ ที่แสดงออกถึงภาวะทางอารมณ์ของคนอีสานเป็นอย่างมาก เช่น คำว่า “ ทาวยุ้ง ทาวใย” ซึ่งหมายถึงคนที่ยุ่งยากใจ ทำอะไรไม่ได้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือคนที่กำลังจะตายแล้วมีท่าทางตะเกียกตะกาย คำนี้มาจากลักษณะของใยแมงมุมที่พันกัน แมลงไปติด ยิ่งดิ้นยิ่งพันตัวแน่น จึงสะท้อนออกมาในรูปของพฤติกรรมวุ่นวาย หรือคำว่า “พ่างไฟ” (ผิงไฟในภาษากลาง) หมายถึงคนที่ใจร้อน ใครไปขัดใจหรือทำอะไรไม่ทันใจก็จะระเบิดอารมณ์ร้อนออกมาทันที

2.4 ความเป็นหญิงเป็นชาย (gender) และวัย

การแสดงออกทางอารมณ์เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับความเป็นหญิงเป็นชายในคนอีสาน

ขณะที่ผู้หญิงซึ่งถูกกล่อมเกลาทางสังคมให้มีความเป็นหญิงจะถูกยอมรับให้แสดงออกทางอารมณ์ในลักษณะเสียใจได้มากกว่าชาย ส่วนผู้ชายนั้นต้อง “อดทน” เพื่อแสดงความเป็นชายที่เข้มแข็ง ส่วนลักษณะพฤติกรรมพึงพอใจและไม่พอใจนั้นระดับความรุนแรงของการแสดงออกไม่จำกัด แต่จะมีความแตกต่างของลักษณะพฤติกรรม เช่น ผู้หญิงดีใจก็กอดกัน แต่ผู้ชายก็โอบไหล่ ลูบหลัง ส่วนอารมณ์โกรธนั้นมักจะเอนเอียงว่า ผู้ชายแสดงอารมณ์โกรธไปในทางรุนแรงก้าวร้าวกว่าผู้หญิง ผู้หญิงสูงอายุจะแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดมากกว่าผู้หญิงที่อายุน้อย เป็นต้น

ส่วนวัยก็เป็นอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอารมณ์ กล่าวคือ เมื่ออายุมากขึ้น สังคมก็คาดหวังว่าจะควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับบุคคล เวลา และสถานที่

3. คำพูดและพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก

ข้อสรุปจากการสังเกต สัมภาษณ์ และสนทนากลุ่ม ที่เกี่ยวกับคำพูดและพฤติกรรมการแสดง

ออกทางอารมณ์ของคนอีสาน ปัจจุบันมีดังนี้

3.1 เมื่อดีใจ พึงพอใจ  
คำพูด พฤติกรรม
ซืน, ม่วน, ม่วนซื่น (สุขใจ สนุก รื่นเริง) หัวเราะ ลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบๆ (ส่วนใหญ่ผู้หญิง)ชักชวนกันไปตั้งวงสุราอาหารร่วมกัน (ส่วนใหญ่ผู้ชาย)
สะออน (ชอบใจ ติดใจ) ยิ้ม กล่าวคำชมเชย
ออนซอน (น่าชื่นใจ สวยงาม) กล่าวคำชื่นชม
3.2 เมื่อทุกข์ใจ  
คำพูด พฤติกรรม
อุก, อุกใจ, อุกอั่ง (กลุ้มใจ คับแค้นใจ) เคร่งเครียด ร้องไห้ (ผู้หญิง)

ดื่มเหล้า โวยวายหรือเงียบขรึม (ผู้ชาย)

แป้วใจ (เสียใจ แต่ไม่รุนแรง) เงียบ ไม่อยากพูด พบปะกับใคร
ใจมอด (เสียใจอย่างมาก) ร้องไห้คร่ำครวญ (ผู้หญิง) น้ำตาซึม (ผู้ชาย)

ท่าทีเหงาหงอย (ภาษาอีสาน คือ ง่วมเหงา) โศกเศร้า

เหลือใจ (น้อยใจ, แค้นใจ) ร้องไห้ บ่นด่าทอ (ผู้หญิง) ด่าทอฮึดฮัด (ผู้ชาย)
โซ่งโลง โซ่งเลง, โซงโลง เซงเลง (ใจหาย ว้าเหว่) เงียบขรึม เหม่อลอย
โซโร เซเร, ซึงลึง ซิงลิง เหม่อลอย ซึมเซา ทำอะไรไม่ถูก
3.3 เมื่อโกรธ  
คำพูด พฤติกรรม
เคียด, เคียดแฮงหลาย(โกรธเคือง, โกรธมาก) หน้าแดง กล้ามเนื้อหน้าเกร็ง ด่าทอบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ใคร่แสดงออกมาก
ซัง (เกลียด โกรธ) ไม่อยากเข้าใกล้บุคคลที่ตนไม่พอใจ
แค้นตึ๊ก (แค้นใจมาก) หน้า แขนเกร็ง ตีอกชกหัวตนเอง
สูน (โมโห) หน้าแดง บ่นด่า
สูนวืดๆ (โมโหมาก) ด่าทอ พร้อมที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง
ฮ่าย, ฆ่า(ไม่พอใจอย่างมาก) ด่าทอ ทำร้ายร่างกาย
3.4 เมื่อกลัว ตกใจ
คำพูด พฤติกรรม
ย่าน (กลัว) ตัวสั่น ไม่เข้าใกล้สิ่งที่กลัว
ตกขะมะ(ตกใจ) สะดุ้ง ถอยหนี
3.5 เมื่อเบื่อหน่าย
คำพูด พฤติกรรม
เบีย (เบื่อเล็กน้อย) เมินหน้า
หน่าย, เป็นตะหน่าย (น่าเบื่อมาก) ไม่อยากพูดด้วย
อิ่ม(เบื่อจนไม่อยากอีกแล้ว) เดินหนี
เปิด(เบื่อไม่อยากพบอยากเห็นอีก) หนีห่าง
เอี๋ยเผีย(เบื่อจนอยากจะอาเจียน ไม่ขอพบอีกต่อไป) ไม่อยากแม้จะพูดถึง ออกให้ห่างไกลสิ่งที่เบื่อมากที่สุด
3.6 เมื่อเห็นใจ สงสาร
คำพูด พฤติกรรม
เหลือโตน, อิโตน, อิโตนซาด (สงสาร, เวทนา) น้ำตาคลอ ลูบหลัง ลูบไหล่
ออนซอนซาด(เห็นใจ) พูดปลอบใจ ลูบหลัง ลูบไหล่
3.7 เมื่อรังเกียจ
คำพูด พฤติกรรม
ขี้เดียด (รังเกียจ) ถอยห่าง ไม่เข้าใกล้ ไม่พบปะด้วย
เหม็นขิว (เกลียดหน้า รังเกียจ) ไม่อยากพบปะพูดคุยด้วย

 สรุป

จากผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้ได้คำตอบว่า เพราะเหตุใดเมื่อใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะอารมณ์ไปประเมินคนอีสานทั่วไป มักจะเกิดปัญหากับทั้งผู้สอบถามและผู้ตอบ โดยที่แบบสอบถามหรือแบบทดสอบต่างๆ ใช้คำภาษากลาง ที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศแล้วมาใช้ประเมินคนในบริบทที่ต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดเหตุการณ์ดังตัวอย่างนี้

ผู้ประเมิน “ป้ารู้สึกเศร้าใจ เสียใจมากไหม”

คุณป้า “โอ๊ยมันก็เศร้าอยู่ เป็นโซงโลง เซงเลง จังได๋บ่ฮู้”

ผู้ประเมิน “มันเป็นยังไงคะ โซงโลงเซงเลงน่ะ”

คุณป้า “มันกะเมือยไปหมด จั๊กจะอยู่จั่งได๋”

ผู้ประเมิน “แล้วเสียใจมากไหมคะ”

คุณป้า “กะยังว่า โซงโลง เซงเลง นั่งโซโร เซเร”

ผู้ประเมิน !!!

จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจะต้องทำความเข้าใจต่อการแสดงออกทางด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนในสังคมวัฒนธรรมที่ตนเองทำงาน เพื่อนำไปสู่การดูแลสุขภาพจิตของผู้รับบริการได้อย่างมีคุณภาพ

 เอกสารอ้างอิง

1. Kleinman A. Patients and healers in the context of culture. Berkley: University of California Press, 1987 : 1 –15.

2. สุวรรณา สถาอนันท์, เนื่องน้อย บุญยเนตร. คำ : ร่องรอยความคิด ความเชื่อไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535:25.

3. บุญยงค์ เกศเทศ .วัฒนธรรมเผ่าพันธุ์มนุษย์. อุบลราชธานี : ยงสวัสดิ์การพิมพ์, 2536 : 111-31.

4. ประมวล พิมพ์เสน. ความเชื่อของสังคมอีสาน. ใน : กรมสุขภาพจิต. สุขภาพจิตกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น 1. ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์, 2539 : 30 – 40.

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us