เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


ความยินยอมในเวชปฏิบัติทางจิตเวช

ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง พ.บ., น.บ.*  

บทคัดย่อ

ความต้องการยินยอมของผู้ป่วยในการประกอบเวชปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์นั้น เป็นหลักกฎหมายต่างประเทศ (หลักกฎหมายไม่มีลายลักษณ์อักษรหรือหลักกฎหมายจารีตประเพณี) “ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว” นั้น มี 3 องค์ประกอบคือ

1. ข้อมูลการตรวจรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์

2. ความสมัครใจของผู้ป่วย

3. ความสามารถในการเลือกตัดสินใจของผู้ป่วย

ผู้เขียนได้บรรยายถึงประเด็นของความยินยอมในเวชปฏิบัติทางจิตเวชตามกฎหมายไทยพร้อมเสนอหนังสือให้ความยินยอมใหม่เป็นตัวอย่าง

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(4):368-77.

 คำสำคัญ ความยินยอม เวชปฏิบัติทางจิตเวช

Consent in Psychiatric Practice

Pratak Likitlersuang, M.D., LL.B.*

 Abstract

The requirement for the patient consent for medical practice is a common law principle. There are 3 components of “informed consent” :-

    1. Information
    2. Consent or voluntariness
    3. Competence

The author described problems of consent in psychiatric practice in Thailand and also suggested the new consent form.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(4): 368-77.

 Key words : consent, psychiatric practice

 * Department of Forensic Psychiatry, Somdet Choapreya Hospital, Klongsan, Bangkok 10600. 

 แต่เดิมนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์เป็นลักษณะที่ผู้ป่วยให้ความเชื่อถือไว้วางใจ โดยไม่สงสัยที่แพทย์กระทำต่อตนอย่างไรก็ได้ ในขณะที่แพทย์เองก็ทำการตรวจรักษาอย่างเต็มกำลัง ความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ต่อมาสังคมมีความซับซ้อนขึ้น การกระทบกระทั่งของคนในสังคมก็มีมากขึ้น มีการเคารพและปกป้องสิทธิส่วนบุคคล ผู้ป่วยมีสิทธิ ในการตัดสินใจว่าจะยอมให้ใครทำอะไรกับร่างกายและจิตใจของตนเอง ในขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในการกระทำต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ในเมื่อผู้ป่วยให้ความยินยอมในการตรวจรักษาหรือความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว

ในประเทศตะวันตกนั้นเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องความยินยอมในการตรวจรักษาของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถเลือกยอมรับและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยแพทย์เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลต่างๆ เท่านั้น และความยินยอมของผู้ป่วย มิได้ทำให้แพทย์ได้สิทธิพิเศษแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับต้องใช้ความรู้ความชำนาญที่ตนมีอยู่เป็นพิเศษ เพราะถ้าผู้ป่วยได้รับอันตรายเนื่องจากการกระทำโดยประมาทของแพทย์แล้ว ความยินยอมนั้นก็มิได้ช่วยให้แพทย์พ้นจากความรับผิด

ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว (informed consent) ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ได้ให้คำจำกัดความไว้ หมายถึง ความยินยอมของผู้ป่วยที่ยอมให้ผู้ป่วยประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ กระทำต่อร่างกายและจิตใจของตนตามกรรมวิธีในวิชาชีพนั้น โดยที่ผู้ป่วยได้รับการอธิบายหรือบอกกล่าวให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ รายละเอียด ผลที่อาจเกิดขึ้นทั้งผลดีและผลเสียจากการกระทำนั้น

หลักความยินยอมของต่างประเทศ ในประเทศที่ใช้หลักกฎหมายไม่มีลายลักษณ์อักษรหรือหลักกฎหมายจารีตประเพณีนั้น ความยินยอมของผู้ป่วยจะสมบูรณ์ได้ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

1. ข้อมูลทางการแพทย์ คือ ข้อมูลที่แพทย์จะต้องอธิบายหรือบอกกล่าวแก่ผู้ป่วย ได้แก่

1.1 การวินิจฉัยโรค คือ ป่วยเป็นโรคอะไร โรคนี้ทำให้เกิดอาการอย่างไรและรุนแรงเพียงใด

1.2 วิธีการที่แพทย์ตรวจรักษา รวมทั้งอธิบายรายละเอียดของวิธีการเหล่านั้น

1.3 อัตราเสี่ยงหรืออันตรายหรือผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจรักษา โดยอย่างน้อยต้องอธิบายหรือบอกกล่าวถึงอันที่มีความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสพิการหรือตายหรือที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

1.4 ความคาดหวังในความสำเร็จในการตรวจรักษานั้นมีโอกาสมากน้อยเพียงใด

1.5 การพยากรณ์โรค คือ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจรักษาตามวิธีการของแพทย์ที่บอกกล่าวไว้ ต่อไปภาวะของผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร

1.6 ถ้าไม่ตรวจรักษาโดยวิธีของแพทย์ที่บอกกล่าวไว้นั้น จะมีวิธีอื่นที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วย อีกหรือไม่ และมีอัตราเสี่ยงหรือผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม อาจมีบางกรณีที่แพทย์สามารถทำการตรวจรักษาได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย

ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องบอกกล่าว มี 4 กรณี คือ

ก. กรณีฉุกเฉินรีบด่วน เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือป้องกันอันตรายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

ข. กรณีเป็นสิทธิพิเศษในการรักษา เมื่อแพทย์เห็นว่าการบอกกล่าวถึงอัตราเสี่ยงในการตรวจรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก หรือลังเลใจในการตัดสินใจ จนเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์อาจไม่ต้องอธิบายเปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมด แต่อาจบอกกล่าวแก่ญาติของผู้ป่วยแทน (therapeutic privilege)

ค. กรณีผู้ป่วยทางจิตเวชหรือระบบประสาทที่หย่อนความสามารถในการรับรู้เรื่องราวและการตัดสินใจ

ง. กรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการข้อมูลหรือคำอธิบายจากแพทย์ (waiver)

2. ผู้ป่วยยินยอมอย่างสมัครใจ โดยมีลักษณะดังนี้

2.1 มีการแสดงออกซึ่งความยินยอมโดยเปิดเผยหรือโดยปริยาย

2.2 ความยินยอมนั้นต้องปราศจากการข่มขู่ บังคับ หลอกลวงหรือสำคัญผิด

2.3 ผู้ยินยอมสามารถรับผิดชอบตนเองได้

2.4 ความยินยอมต่อสิ่งหนึ่งไม่รวมถึงสิ่งอื่นที่เพิ่มเติมหรือแตกต่างออกไป

2.5 ความยินยอมต้องมีการแสดงออกก่อน และคงมีอยู่ตลอดเวลาที่มีการกระทำ

2.6 ความยินยอมนั้น ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

3. ผู้ป่วยมีความสามารถให้ความยินยอมได้ ผู้ให้ความยินยอมต้องมีความสามารถที่จะรับรู้ข้อมูล เข้าใจในเหตุและผล เลือกและตัดสินใจอย่างเหมาะสม

 ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สิทธิของผู้ป่วยเฟื่องฟูมาก ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะยินยอมหรือไม่ยินยอมในการตรวจรักษาแทบทุกขั้นตอน ดังนั้น เวชปฏิบัติทางจิตเวชตั้งแต่การใช้ยาทางจิตเวช การทำจิตบำบัด การรักษาด้วยไฟฟ้า การบังคับรักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนการรักษาความลับของผู้ป่วย หรือหน้าที่ในการเตือนหรือป้องกันอันตรายต่อบุคคลภายนอก เป็นต้น กฎหมายกำหนดให้จิตแพทย์ต้องให้ข้อมูลหรือบอกกล่าว หากจิตแพทย์ละเว้นแล้วเกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย จิตแพทย์ย่อมต้องรับผิด

ความรับผิดชอบของแพทย์หากไม่บอกกล่าว ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ

1. แพทย์มีหน้าที่ต้องอธิบายหรือบอกกล่าว

2. การไม่บอกกล่าวถือว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

3. เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ผู้ป่วยจากการกระทำของแพทย์

4. อันตรายหรือความเสียหายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการไม่อธิบายบอกกล่าวของแพทย์ กล่าวคือ หากแพทย์ได้บอกถึงอัตราเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ป่วยคงจะปฏิเสธการตรวจรักษานั้นตั้งแต่ต้น

หลักความยินยอมตามกฎหมายและแบบธรรมเนียมไทย

สำหรับประเทศไทยนั้นมิได้กำหนดหลักกฎหมายเกี่ยวกับความยินยอมไว้โดยเฉพาะ คงมีกล่าวถึงอย่างทั่วๆ ไป ในกฎหมายอาญาและแพ่งบ้าง ซึ่งหากเกิดกรณีพิพาท ซึ่งมีแนวโน้มจะมากขึ้นเป็นลำดับ ย่อมเกิดความยุ่งยากในการพิจารณาหาข้อยุติ เพื่อเกิดความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ป่วยและผู้รักษา อย่างไรก็ตามอาจพออนุโลมว่า มีอยู่ 5 หลักที่ใช้ร่วมกันอยู่ คือ

1. หลักขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยอมรับกันมาจนถือได้ว่า เป็นหลักกฎหมายทั่วไป ทั้งๆ ที่มิได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ การตรวจรักษาของแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรืออาการทนทุกข์ทรมาน แพทย์ไม่มีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา เช่น ชกมวย หากผู้แข่งขันปฏิบัติตามกติกาของกีฬาประเภทนั้นๆ อย่างถูกต้องแล้ว ฝ่ายหนึ่งเกิดบาดเจ็บหรือตาย อีกฝ่ายไม่ต้องรับผิด

2. หลักประเพณีปฏิบัติของแพทย์ในชุมชน (locality rule) กล่าวคือ อันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจรักษาโดยวิธีนั้นๆ ถ้าแนวทางปฏิบัติของแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพอยู่ในชุมชนนั้น ไม่มีคนใดบอกหรืออธิบายให้ผู้ป่วยทราบ แพทย์ผู้รักษาก็ไม่จำเป็นต้องบอกถึงอันตรายดังกล่าวแก่ผู้ป่วย

3. หลักกระทำความผิดด้วยความจำเป็นของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง (ป.อ.67)

4. หลักความยินยอมของผู้เสียหายไม่เป็นความผิด

5. หลักไม่มีเจตนาร้าย

ความรับผิดของแพทย์ไทย อาจเกี่ยวข้องกับหลักกฎหมาย 3 ประเภท คือ

1. กฎหมายควบคุมวิชาชีพ กล่าวคือ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 ไม่ได้กำหนดเป็นหน้าที่ของแพทย์อย่างชัดเจนที่ต้องอธิบายหรือบอกกล่าวเกี่ยวกับการตรวจรักษา หากแต่ระบุไว้กว้างๆ ว่า แพทย์ต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุด ดังนั้นการไม่อธิบายหรือบอกกล่าวของแพทย์จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดในการประกอบเวชปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

2. กฎหมายอาญา แพทย์อาจถูกกล่าวหาใน 2 ประเด็น คือ

2.1 ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย โดยกล่าวหาแพทย์ทำร้ายร่างกายผู้ป่วย (ป.อ.295)

2.2 ความผิดต่อเสรีภาพ โดยกล่าวหาแพทย์ข่มขืนใจผู้ป่วยให้จำยอมในการตรวจรักษาโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย หากปล่อยทิ้งไว้ (ป.อ.309) หรือกล่าวหาแพทย์หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้ป่วยปราศจากเสรีภาพในร่างกาย (ป.อ.310)

3. กฎหมายเพ่ง ศาลฎีกาเคยพิพากษาตีความลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอนุโลมเหมือนทำ “สัญญา” ต่อกัน กล่าวคือ โรงพยาบาลเปิดบริการตรวจรักษาแก่คนทั่วไป ผู้ป่วยเสนอขอรับบริการ แพทย์ก็สนองโดยรับตรวจรักษา และแพทย์ได้รับค่าตอบแทนจากผู้ป่วยจึงถือว่าเป็น “สัญญาต่างตอบแทน” ชนิด “สัญญาจ้างทำของ” โดยผู้รับจ้างหรือแพทย์ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการตรวจรักษาจนสำเร็จ ให้แก่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ป่วย และผู้ว่าจ้างหรือผู้ป่วยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น (ป.พ.พ.587)

 ส่วนสัญญาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะสมบูรณ์ได้ต้องประกอบด้วยความยินยอมที่สมัครใจของผู้ป่วยดังที่กล่าวมาแล้ว และ

1. ผู้ป่วยเข้าใจใน “สาระสำคัญของการกระทำของแพทย์” ได้แก่ วิธีการ เหตุผล และผลโดยตรงจากการตรวจรักษา (ป.พ.พ.119)

2. แพทย์ต้อง “ไขข้อความจริง” ของการตรวจรักษา ได้แก่ อัตราเสี่ยง ความคาดหวังในผลสำเร็จ วิธีการอื่นที่อาจใช้แทน การพยากรณ์โรค และ “ข้อคุณสมบัติ” ของแพทย์ กล่าวคือ ความรู้ความเชี่ยวชาญตลอดจนปริญญาบัตรของแพทย์ผู้รักษา (ป.พ.พ.124)

หากแพทย์นิ่งเฉยไม่บอกกล่าวแก่ผู้ป่วยแล้วเกิดความเสียหายในภายหลัง อาจถือได้ว่าเป็น “กลฉ้อฉล” ของแพทย์ ผู้ป่วยย่อมเรียก “ค่าเสียหายชดใช้” ได้ (ป.พ.พ.138)

วิวัฒนาการของความยินยอมในการตรวจรักษาของผู้ป่วยจิตเวชของไทย

สังคมไทยแต่เดิม ผู้ป่วยยินยอมให้แพทย์ตรวจรักษาตามที่เห็นสมควรและโรงพยาบาลจะมีหนังสือรับรองให้ผู้ป่วยหรือญาติลงนามเพื่อคุ้มครองการกระทำของแพทย์หรือโรงพยาบาล ให้พ้นผิดดังเช่น หนังสือสัญญารับรองการรักษาพยาบาลคนไข้ (ร.พ.จ.23) ดังภาพที่ 1 ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะใช้มาตั้งแต่สมัย ศ.นพ.อรุณ ภาคสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมากระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแบบฟอร์มของหนังสือยินยอมสำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหมือนกันทั่วประเทศ ดังภาพที่ 2 หนังสือคำยินยอมให้ทำการรักษา และภาพที่ 3 หนังสือคำไม่ยินยอมให้ทำการรักษา ซึ่งในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่าเป็นหนังสือยินยอมที่ใช้โดยทั่วไปทั้งโรงพยาบาลฝ่ายกายและฝ่ายจิต โดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิตมักมีปัญหาในเรื่องความสามารถที่จะให้ความยินยอมได้

ปัญหาของหนังสือยินยอมที่ใช้ในโรงพยาบาลฝ่ายจิตนั้น มีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ความยินยอมของผู้ป่วยในการเข้าตรวจรักษาในโรงพยาบาล

2. ข้อความในหนังสือยินยอมบางตอนไม่ค่อยรัดกุม เนื่องจากไม่ใช้ภาษาที่บัญญัติในกฎหมาย ซึ่งหากเกิดข้อพิพาทขึ้นอาจยุ่งยากในการตีความหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริง

3. ขาดการเน้นความสำคัญของการตรวจรักษาด้วยวิธีพิเศษกับผู้ป่วย ซึ่งมักเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ได้บ่อย เนื่องจากเป็นเทคนิกใหม่ หรือมีอัตราเสี่ยงสูง หรือประชาชนทั่วไปยังไม่มีความรู้หรือมีทัศนคติที่ไม่ดี เช่น E.C.T โดยเฉพาะแบบ unmodified ซึ่งยังทำกันแพร่หลายในโรงพยาบาลจิตเวช

4. บุคคลผู้มีอำนาจยินยอมแทนผู้ป่วยตามกฎหมายมิได้ระบุในหลายกรณี ซึ่งพบได้ไม่น้อยในทางปฏิบัติ เช่น ในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ไม่อาจติดต่อญาติได้ทันท่วงที หรือผู้นำส่งมิใช่บุคคลผู้มีอำนาจทำการแทน เป็นต้น

 ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวตัวอย่างหนังสือยินยอมเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นระยะหนึ่ง (ภาพที่ 4) และเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานในระดับกรมสุขภาพจิตหรือกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาให้เกิดแบบฟอร์มหนังสือยินยอมสำหรับโรงพยาบาลจิตเวชโดยเฉพาะในโอกาสอันรวดเร็วต่อไป

บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนผู้ป่วย

ในทางปฏิบัติมักพบเสมอว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชที่ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลนั้น มักมีอาการทางจิตมากจนไม่สามารถรับรู้ข้อเท็จจริงเลือกตัดสินใจและรับผิดชอบกับตัวเองได้ (incompetence to inform) กล่าวคือ ไม่สามารถให้ความยินยอมด้วยตนเองได้ จำต้องมีบุคคลอื่นให้ความยินยอมในการตรวจรักษาหรือลงนามแทนผู้ป่วย (proxy consent) ซึ่งในกฎหมายไทยก็ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้มีอำนาจทำการแทนผู้ป่วยไว้หลายกรณี แต่ก็มีบางกรณีที่อนุโลมทำกันโดยเข้าใจเอาเอง

1. กรณีเด็กหรือผู้เยาว์ ทำแทนโดย พ่อแม่หรือผู้ปกครอง

2. กรณีโสด ทำแทนโดย พ่อแม่

3. กรณีสมรสตามกฎหมาย ทำแทนโดย สามีหรือภรรยา

4. กรณีคนไร้ความสามารถ ทำแทนโดย ผู้อนุบาล

5. กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถ ทำแทนโดย ผู้พิทักษ์

6. กรณีฉุกเฉินติดต่อญาติไม่ได้ในขณะนั้น เพื่อความจำเป็นในการป้องกันอันตรายที่มีต่อผู้ป่วยหรือผู้อื่น แพทย์น่าจะทำการตรวจรักษาได้เลย แล้วจึงขอความยินยอมจากญาติหรือผู้ป่วยเมื่ออาการทางจิตทุเลาในภายหลัง

7. กรณีผู้ป่วยถูกนำส่งโดยผู้พบเห็นหรือญาติพี่น้องอื่น โรงพยาบาลมักให้ลงนามแทนผู้ป่วยไปก่อน ซึ่งไม่มีผลทางนิตินัยอย่างแท้จริง หากเป็นไปได้โรงพยาบาลน่าจะติดตามบุคคลตามกฎหมายที่ระบุข้างต้นมาลงนามแทน หรือให้ผู้ป่วยลงนามเมื่ออาการทางจิตทุเลาในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม แม้หนังสือยินยอมจะมีความสมบูรณ์มากเพียงใด แพทย์หรือโรงพยาบาลพึงตระหนักไว้เสมอว่า การที่ผู้ป่วยยินยอมให้แพทย์ทำการตรวจรักษา มิได้หมายความว่าผู้ป่วยยินยอมให้แพทย์กระทำการโดยประมาทได้ด้วย ข้อความในหนังสือยินยอมเพิ่มเติมว่า หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ป่วยจะไม่ทำการฟ้องร้อง จึงไม่มีผลในทางกฎหมายและขัดกับกฎหมายโดยชัดแจ้งด้วย เพราะใน ป.พ.พ. มาตรา 373 บัญญัติไว้ว่า “ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้น มิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ เพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ”

 เอกสารอ้างอิง

  1. Gutheil TG. Forensic psychiatry. In: Kaplan HI, Sadock BJ, eds. Comprehensive textbook of psychiatry. 5th ed, Baltimore : Williams & Wilkins, 1989 : 2111-2.
  2. Schwartz HI, Roth LH. Informed consent and competency in psychiatric practice. In : Tasman A, Hales RE, Frances AJ, eds. Review of psychiatry. Vol. 8, Washington DC : American Psychiatric Press, 1989 : 409-31.
  3. Roth LH. Informed consent and its applicability for psychiatry. In : Michels R, Carenar JO, Brodie HK, et al, eds. Psychiatry. Philadelphia : J.B. Lippincott, 1991: 1-14.
  4. วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์. ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าวในเวชปฏิบัติ ใน : นิติเวชสาธกฉบับกฎหมายกับเวชปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : โครงการตำราศิริราช 2530 : 104-25.
  5. ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง. การรักษาด้วยไฟฟ้า : มุมมองในแง่จรรยาบรรณและในเชิงกฎหมาย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2532; 34 : 25-9.

โรงพยาบาล …………………………………

วันที่ ………….. เดือน ………………...พ.ศ. ……….

ข้าพเจ้า ……………………………….….. อายุ …….ปี เชื้อชาติ……. สัญชาติ …….. ที่อยู่บ้านเลขที่………..

ถนน…………………ตำบล ……………. อำเภอ ……………. จังหวัด ………………. เกี่ยวข้องเป็น…………

คนไข้ชื่อ ……………………………… อายุ …………….. ปี

ได้นำคนไข้รายนี้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ เมื่อวันที่ ……… เดือน ……………… พ.ศ. …………..

ข้าพเจ้าขอให้คำรับรองไว้แก่โรงพยาบาล………………………………ตามหัวข้อต่างๆ ต่อไปนี้.-

  1. หากคนไข้ได้รับอันตรายจากการกระทำใดๆ ในระหว่างคนไข้ด้วยกัน หรือจากเหตุสุดวิสัยใด ข้าพเจ้าจะไม่ถือว่าเป็นความผิดของโรงพยาบาลแต่ประการใด
  2. หากคนไข้กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโรงพยาบาลหรือบุคคลอื่น ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องรับผิดชอบ ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โรงพยาบาลทั้งสิ้น ในทันที ที่ได้รับแจ้งจากทางโรงพยาบาล
  3. เมื่อแพทย์ทราบว่าอาการคนไข้สมควรที่จะกลับบ้านได้แล้ว และได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ หากข้าพเจ้าละเลยไม่มารับกลับตามกำหนดนัด ข้าพเจ้ายินยอมให้แพทย์หรือโรงพยาบาลปล่อยตัวคนไข้กลับเองได้ตามลำพัง และถือว่าคนไข้อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าทันทีที่คนไข้ออกจากโรงพยาบาล
  4. หากแพทย์หรือโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องรักษาคนไข้ด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายแก่คนไข้ได้แล้ว ข้าพเจ้าอนุญาตให้แพทย์ทำการรักษาด้วยวิธีนั้นๆ ได้ หากเกิดอันตรายแก่คนไข้ประการใดๆ ข้าพเจ้า จะไม่ถือว่าเป็นความผิดของแพทย์แต่ประการใด และค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าบริการต่างๆ ในการนี้ ข้าพเจ้ารับรองว่าจะเป็นผู้ชดใช้ให้แก่โรงพยาบาลทั้งสิ้น
  5. ในกรณีที่คนไข้ถึงแก่กรรมด้วยประการใดๆ ในระหว่างรับการรักษาพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาล เมื่อทางโรงพยาบาลเห็นความจำเป็นจะทำการผ่าตัดร่างกายและสมอง เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้าทางวิชาการแล้ว ข้าพเจ้ายินยอมให้กระทำการผ่าตัดเพื่อการศึกษาได้ โดยแพทย์จะกระทำอย่างประณีต และรักษาส่วนต่างๆ ของร่างกายไว้ในสภาพเดิมเท่าที่จะทำได้

 

(ลงชื่อ) ………………………………. ผู้ให้สัญญา

(ลงชื่อ) ………………………………. พยาน

(ลงชื่อ) ………………………………. พยาน

 

ภาพที่ 1 หนังสือสัญญารับรองการรักษาพยาบาล รพจ.23 ของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

คำยินยอมให้ทำการรักษา

 

เขียนที่ โรงพยาบาล …………………………………………..

วันที่ ………… เดือน ………………….. พ.ศ……………..

ข้าพเจ้า  …………………………………………………………………………………. ผู้ป่วย

(ชื่อผู้ป่วย)

 ………………………………………………………………..…. มีความเกี่ยวข้องเป็น ………………………….

(ชื่อผู้แทนผู้ป่วย)

ของ …………………………………………………………….………………………. ผู้ป่วย

(ชื่อผู้ป่วย)

ยินยอมให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล …………………… ทำการรักษา ……………………………..…… เพื่อวินิจฉัยบำบัดโรคส่งเสริม

(ชื่อผู้ป่วย)

สุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การผดุงครรภ์ และการพื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจทางการแพทย์ เช่น การให้ยาระงับความรู้สึก การฉีดยาหรือสารเข้าร่างกาย การผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีพิเศษทุกชนิด และข้าพเจ้ายอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการวินิจฉัย รักษาพยาบาลนั้นๆ รวมทั้งยินยอมให้ส่งผู้ป่วยไปเพื่อรับการตรวจรักษา ณ สถานพยาบาลอื่น เมื่อมีเหตุอันสมควร

 

หาก ……………………….………….. ได้รับอันตรายอันเนื่องจากการทำการรักษาตามวรรคแรก ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้อง

(ชื่อผู้ป่วย)

ดำเนินคดีในทางอาญาและแพ่งกับเจ้าหน้าที่และส่วนราชการเจ้าสังกัดของโรงพยาบาล……………………………………… แต่อย่างใด

 

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล………………………………………………ได้อธิบายและข้าพเจ้าได้อ่านข้อความเข้าใจโดยตลอดแล้ว จึงลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือไว้เป็นหลักฐาน

ลงชื่อ ………………………………………………….ผู้ให้ความยินยอม

(……………………………………………)

 

ลงชื่อ …………………………….………………… พยาน

(……………………………………………)

 

ลงชื่อ ……………………………..………………… พยาน

(……………………….……………………)

 

หมายเหตุ 1. ให้ชี้แจงทุกครั้งก่อนลงลายมือชื่อในหนังสือคำยินยอมให้ทำการรักษา ผู้ให้คำยินยอมได้แก่

1.1 ผู้ป่วย กรณีบรรลุนิติภาวะ และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

1.2 สามีหรือภรรยาตามกฎหมาย และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีสติสัมปชัญญะ (ไม่รู้สึกตัว)

1.3 ผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีผู้ป่วยยังไม่บรรลุนิติภาวะ

1.4 ผู้อนุบาล กรณีผู้ป่วยเป็นคนวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ

1.5 ผู้พิทักษ์ กรณีผู้ป่วยเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

2. กาเครื่องหมาย / ลงในช่อง  แล้วกรอกข้อความที่เว้นว่างไว้

3. ในกรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือ ต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมืออย่างน้อยสองคน

 

ภาพที่ 2 หนังสือคำยินยอมให้ทำการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข

 

คำไม่ยินยอมให้ทำการรักษา

 

เขียนที่ ………………………………………..

วันที่ …………. เดือน ……………………. พ.ศ. ………………..

 ……………………………….……………... ผู้ป่วย ไม่สมัครใจที่จะรับการบำบัดรักษา

(ชื่อผู้ป่วย)

ข้าพเจ้า / หรืออยู่เพื่อรับการบำบัดรักษาใน …………..………………………….………………………….

(ชื่อสถานพยาบาล)

 ………………………………………………………. มีความเกี่ยวข้องเป็น ………………………………………

(ชื่อผู้แทนผู้ป่วย)

ของ ………………………………………………… ผู้ป่วย ไม่ยินยอมให้ ……………………………………………………..

(ชื่อผู้ป่วย) (ชื่อผู้ป่วย)

รับการบำบัดรักษา หรืออยู่เพื่อรับการบำบัดรักษาใน …………………………………..………..……………………….

(ชื่อสถานพยาบาล)

หากบังเกิดผลเสียหายหรืออันตรายอย่างใดขึ้นแก่ ……………………………….………………….ข้าพเจ้ารับว่าไม่อยู่

(ชื่อผู้ป่วย)

ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่และส่วนราชการเจ้าสังกัดของ …………………………..………………………แต่ประการใด

(ชื่อสถานพยาบาล)

จึงลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือไว้เป็นหลักฐาน

 

ลงชื่อ ………………………………….ผู้ป่วย/ผู้แทนผู้ป่วย

(…………………………………)

ลงชื่อ ………………………………… พยาน

(…………………………………)

ลงชื่อ ………………………………… พยาน

(…………………………………)

 

หมายเหตุ 1. ให้ชี้แจงทุกครั้งก่อนลงลายมือชื่อ ลายพิมพ์นิ้วมือ ในหนังสือคำไม่ยินยอมให้ทำการรักษา ผู้ให้คำยินยอม

ได้แก่

1.1 ผู้ป่วย กรณีบรรลุนิติภาวะ และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

1.2 สามี หรือภรรยา ตามกฎหมายและฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีสติสัมปชัญญะ

1.3 ผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีผู้ป่วยยังไม่บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่กรณีได้สมรสตามกฎหมาย

1.4 ผู้อนุบาล กรณีผู้ป่วยเป็นคนวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ

1.5 ผู้พิทักษ์ กรณีผู้ป่วยเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

2. กาเครื่องหมาย / ลงในช่อง  แล้วกรอกข้อความที่เว้นว่างให้

3. ในกรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือ ต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมืออย่างน้อยสองคน

 

ภาพที่ 3 หนังสือคำไม่ยินยอมให้ทำการรักษา ของกระทรวงสาธารณสุข

หนังสือยินยอม

 

เขียนที่โรงพยาบาล …………………………

วันที่ ………… เดือน ………………พ.ศ. …………..

Š ……………… (ชื่อผู้ป่วย) …………………………… ผู้ป่วย

ข้าพเจ้า

Š ……………… (ชื่อผู้แทนผู้ป่วย) ……………….. เกี่ยวข้องเป็น……………

……………….ของ ………………………. (ชื่อผู้ป่วย) …………………………………….. ผู้ป่วย

ยินยอมเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล …………………………………… และให้เจ้าหน้าที่ของ โรงพยาบาลดังกล่าวทำการตรวจรักษา …………………… (ชื่อผู้ป่วย) ………………………เพื่อตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษาโรค ส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การให้ยาทางจิตเวช การทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด และสังคมบำบัด เป็นต้น และยินยอมให้ส่งผู้ป่วยไปเพื่อรับการตรวจรักษา ณ สถานพยาบาลอื่น เมื่อมีเหตุอันสมควร ตลอดจนการตรวจรักษาด้วยวิธีพิเศษ ได้แก่ ………….. (การรักษาด้วยไฟฟ้า หรือ E.C.T.) ………………………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

โดยที่ข้าพเจ้าได้รับการอธิบายหรือบอกกล่าวจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดังกล่าว จนเป็นที่เข้าใจเป็นอย่างดีถึงวิธีการ เหตุผล ผลที่คาดหมาย ตลอดจนผลเสียหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจรักษานั้น ๆ แล้วทุกประการ

หาก …………… (ชื่อผู้ป่วย) ……………………….. ได้รับอันตรายหรือความเสียหายใดๆ ก็ตามจากการตรวจรักษา ข้าพเจ้าจะไม่ถือเป็นความผิดและดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในทางอาญาและทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่และส่วนราชการเจ้าสังกัดของโรงพยาบาล ……………………………… แต่อย่างใด

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ความยินยอมนี้เป็นไปโดยสมัครใจ มิได้ถูกบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ข้อเท็จจริง และคุณสมบัติของการตรวจรักษา รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยข้าพเจ้าได้อ่านข้อความและ/หรือได้รับการอธิบายจนเป็นที่เข้าใจโดยตลอดแล้ว จึงลงลายมือชื่อ หรือลายพิมพ์นิ้วมือไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน

 

ลงชื่อ ………………………………………. ผู้ให้ความยินยอม

(…………………………………….)

ลงชื่อ ……………………………………….. พยาน

(…………………………………….)

ลงชื่อ ………………………………………. พยาน

(……………………………………)

 

ภาพที่ 4 แนวตัวอย่างหนังสือยินยอม

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us