เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาบ้าของนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดราชบุรี

วาสนา พัฒนกำจร พ.บ.*

บทคัดย่อ

จุดประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ยาบ้าและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล

วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลราชบุรี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2540-เดือนมิถุนายน 2541

ผลการศึกษา ผู้ป่วย 100 คน เป็นชาย 95 คน หญิง 5 คน อายุตั้งแต่ 14-23 ปี มีทุกระดับการศึกษา เริ่มใช้ยาบ้าอายุเฉลี่ย 17 ปี โดยวิธีสูบร้อยละ 95 ใช้เฉลี่ยวันละ 2 เม็ดและเฉลี่ยนาน 1 ปี 4 เดือน สาเหตุใช้ครั้งแรกเพราะอยากลองร้อยละ 49 และเพื่อนชวนร้อยละ 37 แต่เมื่อใช้ยาครั้งที่ 2 เนื่องจากความพึงพอใจยาร้อยละ 30 จากเพื่อนชวนร้อยละ 24 นอกนั้นใช้เพื่อความสนุก ทำงานหรือเครียด. ส่วนใหญ่ซื้อจากเพื่อนในโรงเรียนราคาประมาณเม็ดละ 100 บาท ใช้ตามห้องน้ำโรงเรียน บ้านเพื่อน หรือหอพัก พฤติกรรมที่พบร่วมกับการใช้ยา ได้แก่ การหนีโรงเรียนพบร้อยละ 66 ขายยาร้อยละ 12 และขโมยเงินหรือของในบ้านร้อยละ 6. สภาพครอบครัวมีเรื่องให้ไม่สบายใจร้อยละ 27 และกลุ่มตัวอย่างไม่พอใจครอบครัวร้อยละ 11 มีบิดามารดาและญาติติดสุราร้อยละ 30 พบที่พักอยู่ใกล้แหล่งขายยาร้อยละ 35 และมีเพื่อนติดยาบ้าตั้งแต่ 1-50 คน พบภาวะซึมเศร้าร้อยละ 17 และโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยาร้อยละ 15

การเปรียบเทียบกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยาพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในเรื่องของปริมาณยาที่ใช้ ระยะเวลาการใช้ยา ความถี่ในการใช้ยา พฤติกรรมการเสพ จำนวนเพื่อนที่เสพยา การใช้จ่ายเงิน ที่พักใกล้แหล่งขายยา ผลการเรียน พฤติกรรมการขายยา ภาวะซึมเศร้า และภาวะสุขภาพจิต ส่วนสภาพครอบครัวที่ทำให้ไม่สบายใจ และการที่บุคคลในครอบครัวติดยาเสพย์ติดพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(4): 345-57.

  คำสำคัญ : การใช้ยาบ้า นักเรียนนักศึกษา

  *กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลราชบุรี ราชบุรี 70000

Factors Associated with Amphetamine Use in Students

Wasana Pattanakamjorn, M.D. *

 Abstract

Objective To investigate the characteristics of amphetamine users who were treated in Ratchaburi Hospital.

Method A retrospective study in which 100 patients, aged 14 -23 years old, attended the hospital during June 1997-June 1998 were drawn into the study. Interviews were conducted and psychological tests were administered.

Results The mean age when the samples first used amphetamine was 17 years. Ninety-five per cent of the subjects’ method of drug taking was smoking. The mean dose was 2 tablets, addictive duration mean was 16 months, and the drug cost them an average of 100 Bath/tablet. Curiosity (49.0%) and peer pressure (37.0%) led to the first use of drug. While second use was likely to be motivated by satisfaction on psychological property of drug (30%). Some behavioral problems related to drug use were skipping school (66%), selling drug (12%), and stealing (6%). Eleven percent of the subjects were not happy with their families, 35% of them lived close to the drug cartels, and 30% of them had a history of alcohol dependence among the family members. According to the HRSR scale, 17% of them were depressed, while 15% of them showed symptoms of psychotic disorders. Comparisons were made between the amphetamine dependent group (N=45) and the amphetamine use group (N=55). The results showed a statistical difference between the groups in terms of dosage, duration, frequency of using, method of using, peer groups, area of residence learning problem, selling drug, depression, and psychotic disorders.

Conclusion : The study showed characteristics of amphetamine users. Predisposing factors such as family backgrounds, peer influence, environment exposing to drug, attitude, and psychiatric problems were explored. The appropriate prevention measures should be adopted promptly among the high-risk groups.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(4): 345-57.

 Key words : amphetamine dependence, student

* Department of Psychiatry, Ratchaburi Hospital, Ratchaburi 70000.

บทนำ

ยาบ้าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและปัจจุบันจัดเป็นยาเสพย์ติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งประกอบด้วยแอมเฟตามีนซัลเฟตหรือเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งมีจุดหลอมละลายต่ำ ไหม้ไฟโดยใช้อุณหภูมิไม่สูงมากนัก ตัวอย่างยาบ้าที่พบในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด (ปปส.) ได้พบว่ามีส่วนประกอบของสารเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ 9.9-22.1 มก. และคาเฟอีน 41.7 -54.4 มก. 1 และสารประกอบอื่นๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิตยา สารแอมเฟตามีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทจะมีผลทำให้เกิดอาการตื่นตัว มีกำลังเพิ่มขึ้น มีความมั่นใจ ไม่เหนื่อยล้า ไม่หิว พูดมากขึ้น กระวนกระวาย ทำให้อารมณ์สนุกสนาน ร่าเริง2 ฤทธิ์ต่ออารมณ์จะกระตุ้นให้เกิดความพอใจสูงสุด (high) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องให้ออกฤทธิ์หลังเสพน้อยกว่า 10 วินาที วิธีเสพจึงต้องเป็นแบบสูบ และจะกระตุ้นอารมณ์เพศในบางราย3 มีผลต่ออารมณ์ทำให้หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมรุนแรง ตลอดจนทำให้เกิดอาการระแวง หลงผิด หรือโรคจิต และมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด4,5

แต่เดิมยาบ้าจะเป็นที่นิยมใช้กันไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงานต่างๆ คนขับรถบรรทุก หรือลูกเรือประมง ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีการแพร่ระบาดของยาบ้าในกลุ่มเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา ในปีพ.ศ. 2536 พบกลุ่มนักเรียนมีการใช้ยาบ้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.89 ผู้ใช้ยาบ้าในกลุ่มอายุ 13-18 ปีมีจำนวนสูงขึ้นถึงร้อยละ 33 ของผู้เสพยาบ้า6 ซึ่งสัมพันธ์กับการสำรวจการแพร่ระบาดของยาบ้าในสถานศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้ทำการตรวจปัสสาวะของนักเรียนนักศึกษาในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2538-กุมภาพันธ์ 2539 รวม 69 จังหวัด พบว่ามีการแพร่ระบาดของยาบ้าในสถานศึกษา 55 จังหวัด และไม่พบ 14 จังหวัด จากจำนวนตัวอย่างที่สำรวจ 118,375 ราย ได้พบว่านักเรียนอาชีวศึกษามีการใช้ยาบ้ามากกว่าระดับการศึกษาชั้นอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 2.4 และภาคกลางมีปัญหาสูงสุดร้อยละ 2.087 ผู้รายงานจึงสนใจที่จะศึกษาพฤติกรรมการใช้ยาบ้าในนักเรียนนักศึกษาและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ยาบ้าและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาล และเพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้ติดยาและกลุ่มผู้ใช้ยา โดยมีตัวแปรอิสระคือสภาพครอบครัว สภาวะส่งเสริมให้มีการใช้ยา และภาวะสุขภาพจิต

วัสดุและวิธีการ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง (retrospective study) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน นักศึกษาจากสถานศึกษาในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ที่เข้ามารับการรักษาการใช้ยาบ้าที่โรงพยาบาลราชบุรีจำนวน 100 คน นำส่งโดยครูร้อยละ 66 บิดามารดาหรือผู้ปกครองร้อยละ 18 หรือสมัครใจรับการรักษาเองร้อยละ 16 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่มิถุนายน 2540-มิถุนายน 2541

เครื่องมือในการศึกษา

1. เวชระเบียนผู้ป่วย

2. แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการใช้ยาบ้า และการเลิกใช้ยาบ้า สภาวะครอบครัว และความสัมพันธ์ในครอบครัว การใช้จ่ายเงิน การเรียน และผลจากการใช้ยา

3. แบบวัดภาวะสุขภาพจิต Symptom Check List 90 (SCL-90) เป็น self report scale ประกอบด้วยข้อความ 90 ข้อ เกี่ยวกับอาการต่างๆ 9 ด้าน คือ somatization, obsession compulsion, interpersonal sensitivity, depression, anxiety, hostility, phobic anxiety, paranoid ideation และ psychoticism มีตัวเลือก 5 ระดับ.ตั้งแต่ 0 ถึง 4 ตามความรุนแรงของอาการ การศึกษาพบว่าอาการทางจิตของคนทั่วไปอยู่ระหว่าง ระดับ 1-3 และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2 การศึกษาคุณสมบัติทางสถิติพบว่า SCL-90 มีค่า alpha เท่ากับ 0.95 และสามารถแยกระหว่างบุคคลธรรมดากับผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.018

4. แบบวัดโรคซึมเศร้าในประชากรไทยแบบตอบด้วยตนเองของดวงใจ กสานติกุล และคณะ ซึ่งมีคำถาม 20 ข้อ การแปลผลโดยถือคะแนนที่ได้ 25-30 มีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าอย่างอ่อน คะแนนมากกว่า 30 บ่งถึงเป็นโรคซึมเศร้า โดยคะแนนที่ 30 มีค่า specificity ร้อยละ 90.2 ค่า sensitivity ร้อยละ 83.5 และคะแนนที่ 25 มีค่า specificity ร้อยละ 93.49

วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า chi-square, t-test

รายงานผล

ตอนที่ 1

1.1 ข้อมูลทั่วไป

กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 14-23 ปี (อายุเฉลี่ย 18 ปี) เป็นชายร้อยละ 95 และหญิงร้อยละ 5 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 99 ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดร้อยละ 73 และจังหวัดใกล้เคียงร้อยละ 27 การศึกษาส่วนใหญ่กำลังศึกษาระดับอาชีวศึกษาร้อยละ 64 มัธยมปลายร้อยละ 29 มัธยมต้นร้อยละ 6 และมหาวิทยาลัยร้อยละ 1 อาชีพของบิดาเป็นข้าราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 27 อาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 22 ส่วนน้อยมีอาชีพค้าขายและรับจ้าง ส่วนมารดามีอาชีพค้าขายร้อยละ 28 เกษตรกรรมร้อยละ 25 รายได้ของครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 10,000- 50,000 บาท

1.2 พฤติกรรมการใช้ยาบ้า

กลุ่มตัวอย่างเริ่มใช้ยาบ้าตั้งแต่อายุ 14-20 ปี (อายุเฉลี่ย 17 ) ปริมาณการใช้ยาตั้งแต่วันละ 1/4 เม็ด - 15 เม็ด (เฉลี่ยวันละ 2 เม็ด) ส่วนใหญ่จะเสพโดยการสูบโดยวิธีใส่เม็ดยาลงไปในกระดาษตะกั่วซึ่งทำเป็นรูปกะทะใช้ไฟลน แล้วใช้กระดาษม้วนเป็นหลอดสูดเอาควันเข้าปอดพบร้อยละ 93, ใช้ดองยากับเครื่องดื่มชูกำลังมีร้อยละ 5, โดยวิธีกินและสูบผ่านน้ำร้อยละ 1 เท่ากัน สาเหตุที่ใช้ครั้งแรกเพราะความอยากลองร้อยละ 49, เพื่อนชวนร้อยละ 37, นอกนั้นเพื่อเที่ยว ทำงานหรือเพื่อลดความอ้วน หลังจากได้ลองแล้วได้ใช้ยาเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากชอบกลิ่นหอมของยาและพอใจในตัวยามีร้อยละ 30, ส่วนเพื่อนชวนมีร้อยละ 24, เพื่อสนุกและเที่ยวกลางคืน มีร้อยละ 19, ส่วนที่เหลือใช้เพื่อทำงานและแก้เครียด กิจกรรมที่ร่วมกันทำหลังเสพยาส่วนใหญ่จะหนีโรงเรียนร้อยละ 38, เที่ยวกลางคืนในสถานเริงรมย์ร้อยละ 15, เล่นกีฬาและทำงานร้อยละ 10 นอกนั้นเพื่อขายยาหรือเล่นการพนัน

สถานที่ซื้อยาบ้าส่วนใหญ่จะซื้อจากเพื่อนนักเรียนหรือฝากเพื่อนซื้อ ตอนแรกจะรวมเงินหุ้นกับเพื่อน 2-3 คน ซื้อยาบ้า 1 เม็ดในราคา 100 บาทแล้วแบ่งกันสูบ มักซื้อขายกันบริเวณห้องน้ำของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมหรืออาชีวศึกษามีการซื้อยาบ้าในโรงเรียนร้อยละ 34 โดยการฝากเพื่อนซื้อร้อยละ 19 ส่วนที่ซื้อเองมีร้อยละ 12 โดยจะไปซื้อในแหล่งขายนอกโรงเรียนซึ่งจะได้ราคาถูกกว่า โดยอาจจะรวมเงินกับเพื่อนหลายคนซื้อครั้งละ 10 เม็ดจะมาแบ่งกันได้ราคาเม็ดละ 70-80 บาท ซึ่งมักพบในระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษาที่ใช้ยาในปริมาณที่สูง และรู้แหล่งขาย สถานที่เสพยามักจะสูบที่โรงเรียนพบร้อยละ 29, ที่บ้านเพื่อนหรือที่โรงเรียนร้อยละ 27, ที่บ้านเพื่อนแห่งเดียวมีร้อยละ 7, นอกนั้นจะมีการเสพในหอพัก,บ้านตนเอง ในเด็กมัธยมส่วนใหญ่จะใช้ตอนพักเที่ยงที่โรงเรียนหรือตอนเย็นหลังเลิกเรียน ส่วนนักเรียนอาชีวศึกษามักจะหนีเรียนไปใช้ยาตามบ้านเพื่อน หอพัก หรือสถานที่เล่นสนุกเกอร์ ซึ่งจะมีการขายยาบ้าอยู่ด้วย

พฤติกรรมการเสพ มีการเสพเป็นครั้งคราวหรือเสพประจำร้อยละ 34, คิดว่าตนเองติดยาบ้าร้อยละ 32, คิดว่าตนเองไม่ติดร้อยละ 35, จะใช้เป็นครั้งคราว ความถี่ในการเสพตั้งแต่เดือนละมากกว่า 20 วัน, 16- 20 วัน, น้อยกว่า 12-15 วันมีจำนวนร้อยละ 29, 24 และ 47 ตามลำดับ เงินส่วนใหญ่ที่ได้รับจะเป็นเงินที่ได้ไปโรงเรียนจากผู้ปกครอง โดยในระดับมัธยมต้นจะได้ประมาณ 30 - 50 บาท, มัธยมปลายและระดับอาชีวศึกษาจะได้รับประมาณ 70 - 100 บาท, ที่ไม่พอใช้พบร้อยละ 28, และจะแก้ปัญหาโดยการขอผู้ปกครองเพิ่ม และยืมเพื่อนร้อยละ 11, ขโมยของในบ้านร้อยละ 6, หรือขายยาร้อยละ 6 โดยขายให้กับเพื่อนนักเรียน

การใช้สารเสพย์ติดชนิดอื่น มีการใช้บุหรี่เป็นยาชนิดแรกร้อยละ 87 โดยเริ่มใช้อายุเฉลี่ย 14 ปี 5 เดือน เคยดื่มสุราร้อยละ 78, อายุที่เริ่มใช้เฉลี่ย 15 ปี เคยสูบกัญชาร้อยละ 11, เคยเสพเฮโรอีนร้อยละ 5, เคยเสพสารระเหยร้อยละ 4, และเริ่มมีการลองใช้ยาเคตามีนร้อยละ 1 ซึ่งได้ลองเพียงหนึ่งครั้งรู้สึกมึนและหนักศีรษะมากเลยไม่ได้ใช้ต่อ เพื่อนที่เรียนที่กรุงเทพฯ เป็นผู้นำมาให้ลอง พบว่ามีการใช้ยาบ้าแทนการเสพเฮโรอีน 2 ราย

การเลิกใช้ยา กลุ่มตัวอย่างเคยมีการเลิกยาชั่วคราวร้อยละ 76, ไม่เคยเลิกใช้ยาเลยร้อยละ 24, ส่วนใหญ่เลิกด้วยตนเองร้อยละ 79, เลิกโดยการเข้ารับการบำบัดรักษาและพบแพทย์ร้อยละ 18, และรักษาที่วัดร้อยละ 3, สาเหตุเพราะอยากเลิกเองร้อยละ 65.8, ทำเพื่อพ่อแม่หรือคนรักร้อยละ 26.3, ที่เบื่อร้อยละ 9.2, ที่เหลือเป็นเพราะไม่มีเงินจะซื้อยา ระยะเวลาที่สามารถหยุดใช้ยาได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 2 ปี โดยเฉลี่ยเลิกได้ประมาณ 2 เดือน

การศึกษาทัศนคติของยาบ้า ร้อยละ 88 มีความเห็นว่ายาบ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี จะให้โทษต่อร่างกาย เป็นยาเสพย์ติดและสังคมไม่ยอมรับ, ร้อยละ 12 บอกว่าไม่แน่ใจ

1.3 สภาวะส่งเสริมให้มีการใช้ยาบ้า

1.3.1 สภาพครอบครัว

ครอบครัวส่วนใหญ่บิดามารดาอยู่ด้วยกันร้อยละ 82, หย่าร้างหรือแยกกันอยู่ร้อยละ 8, ถูกเลี้ยงดูจากบิดามารดาทั้งคู่ร้อยละ 67, บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งร้อยละ 20, ที่เหลือถูกเลี้ยงดูโดยญาติร้อยละ 12, ความรู้สึกไม่พอใจคนในครอบครัวมีร้อยละ 20, และรู้สึกไม่พอใจบิดาและญาติมีจำนวนร้อยละ 30 เท่ากัน ส่วนไม่พอใจมารดามีร้อยละ 20, ที่เหลือเป็นมารดาเลี้ยงและพี่น้อง กลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกว่าครอบครัวอบอุ่นและมีความสุขมีสูงถึงร้อยละ 58, รู้สึกเฉยๆ ไม่มีปัญหาร้อยละ 20, ส่วนที่รู้สึกไม่พอใจและคิดว่าครอบครัวไม่เข้าใจตนมีร้อยละ 11, นักเรียนมีเรื่องไม่สบายใจในครอบครัวร้อยละ 27, ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่บิดามารดา ไม่ปรองดองกันร้อยละ 33.3, บิดาดื่มเหล้าและบ่นว่าร้อยละ 17.4, ในกลุ่มที่ครอบครัวมีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจจะอยู่กับบิดามารดาเพียงร้อยละ 59.3, และเกือบครึ่งจะไม่ชอบคนในครอบครัวและจะมีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ซึ่งมีความรู้สึกว่าครอบครัวอบอุ่น

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เมื่อมีปัญหาจะปรึกษาเพื่อนร้อยละ 39, ปรึกษาบิดามารดา ญาติพี่น้องและครูรวมกันร้อยละ 51, ไม่ปรึกษาใครเลยร้อยละ 9

1.3.2 สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดยาเสพย์ติด

ที่พักใกล้แหล่งขายยา 1-3 แห่งมีร้อยละ 29, และมากกว่า 3 แห่งมีร้อยละ 6, ส่วนที่ไม่ทราบว่ามีพบร้อยละ 65, และที่อยู่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดมีเพียงร้อยละ 3

การใช้สารเสพย์ติดของบุคคลในครอบครัวและเพื่อน พบว่าบิดามารดาและญาติติดสุราร้อยละ 22, 3 และ 5 ตามลำดับ บิดาติดบุหรี่ร้อยละ 6 และมีการใช้ยาบ้าในพี่น้องร้อยละ 3 ทุกคนมีเพื่อนที่ใช้ยาบ้าตั้งแต่ 1-50 คน (เฉลี่ย 10 คน) โดยในกลุ่มผู้ติดยาจะมีมากกว่ากลุ่มใช้ยา

1.4 ผลกระทบจากการใช้ยา

1.4.1 การเรียน พบกลุ่มตัวอย่างมีประวัติการเรียนซ้ำชั้นร้อยละ 24, คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2 ร้อยละ 54, มากกว่า 2 ร้อยละ 46, หลังการใช้ยาพบว่าผลการเรียนเลวลงร้อยละ 37, คงเดิมร้อยละ 43, ดีขึ้น ร้อยละ 20, สาเหตุที่เรียนเลวลงเพราะไม่สนใจเรียนร้อยละ 51.4, และรู้สึกว่าสมองแย่ลงทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง และเพราะติดยามีจำนวนเท่ากันคือร้อยละ 21.6, ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมหนีเรียนร้อยละ 66, สาเหตุของการหนีเรียนเนื่องจากการใช้ยา ไปเที่ยวตามเพื่อนและเบื่อเรียนโดยมีอัตราร้อยละ 11, 30 และ 23 ตามลำดับ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าหลังการใช้ยาบ้าจะไม่อยากเรียน อยากจะทำอะไรที่สนุก เช่น ขี่รถจักรยานยนต์ เล่นสนุกเกอร์ หรือไปจีบผู้หญิง ที่เรียนดีขึ้นจะพบว่าลอกเพื่อนและบางรายที่พึ่งเริ่มใช้ยา และใช้น้อยกว่า 1 เม็ดจะรู้สึกว่ามีสมาธิในการเรียนดีขึ้น และทำงานส่งครูได้มากขึ้น มีประวัติการถูกทัณฑ์บนจากโรงเรียนร้อยละ 20

1.4.2 พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ขโมยของที่ทราบจากผู้ปกครองพบร้อยละ 6,พฤติกรรมการขายยาร้อยละ 12, มีประวัติถูกจับกุมร้อยละ 13, หนีออกจากบ้านร้อยละ 3

1.4.3 ภาวะทางสุขภาพจิต พบโรคจิตที่เกิดร่วมกับยาเสพย์ติด 15 ราย ซึ่งมักเป็นชนิดระแวง พบภาวะซึมเศร้าระดับน้อย 8 ราย และโรคซึมเศร้า 9 ราย

ตอนที่ 2 การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยา

กลุ่มตัวอย่างถูกแบ่งเป็นกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยาจำนวน 45 คน และ 55 คนตามลำดับโดยกลุ่มติดยาได้รับการวินิจฉัยเป็น amphetamine dependence ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือจะเป็นผู้ที่ใช้ยาเป็นครั้งคราวและทดลองเสพถูกจัดเป็นกลุ่มใช้ยา โดยศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้ยา สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีการใช้ยา และภาวะสุขภาพจิต ซึมเศร้าและโรคจิตที่เกิดร่วมกับการใช้ยา

กลุ่มติดยามีอายุเฉลี่ย 18 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มใช้ยา อายุที่เริ่มใช้ยาบ้าในกลุ่มติดยาเฉลี่ย 16 ปี แต่กลุ่มใช้ยาอายุเฉลี่ย 17.0 ปี ระยะเวลาการใช้ยาของกลุ่มติดยาเฉลี่ย 20 เดือน ส่วนกลุ่มใช้ยาเฉลี่ย 11 เดือน ปริมาณการใช้ยาบ้าในกลุ่มติดยาเฉลี่ยวันละ 3 เม็ด ส่วนกลุ่มใช้ยาเฉลี่ยวันละ 1 เม็ด

พบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยาได้แก่ ปริมาณการใช้ยาบ้า ระยะเวลาการใช้ยาบ้า ความถี่ของการใช้ยา พฤติกรรมการเสพยา ที่พักใกล้แหล่งยา จำนวนเพื่อนที่ใช้ยา การใช้จ่ายเงิน การเรียน พฤติกรรมการขายยา ภาวะสุขภาพจิต และภาวะซึมเศร้า ส่วนสภาพครอบครัว อาชีพและรายได้บิดามารดา และความไม่สบายใจในครอบครัวพบว่าไม่แตกต่างกัน ดังตารางที่ 2 ที่น่าสนใจคือสาเหตุการใช้ยาครั้งที่ 2 พบว่ามีสาเหตุจากความพึงพอใจในตัวยาของกลุ่มติดยามีอัตราส่วนสูงกว่าสาเหตุจากเพื่อนชวน หรือเพื่อเที่ยวสนุกกับเพื่อน ต่างจากกลุ่มใช้ยาซึ่งจะมีสาเหตุจากเพื่อนชวนและเที่ยวสนุกมากกว่าดังตารางที่ 1 การใช้จ่ายเงินในกลุ่มติดยาจะไม่พอใช้สูงกว่า กลุ่มใช้ยาอย่างชัดเจน เพราะมีการใช้ยาในปริมาณสูงขึ้น จนต้องหาเงินโดยขอจากบิดามารดา ญาติ ยืมเพื่อน จำนำ หรือขโมยของ ดังแสดงในตารางที่ 2 และทั้ง 2 กลุ่ม จะปรึกษาเพื่อนเวลาไม่สบายใจมากกว่าบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ ไม่ต่างกัน

การวัดภาวะสุขภาพจิตโดย SCL-90 พบว่ากลุ่มติดยามีคะแนนเฉลี่ยของอาการต่างๆ สูงกว่ากลุ่มใช้ยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อาการในกลุ่มของ somatization, interpersonal sensitivity, hostility, phobic anxiety, depression, psychoticism ดังตารางที่ 4

การเกิดอาการทางจิตร่วมกับการเสพยาบ้าโดยวินิจฉัยตามเกณฑ์ของ DSM-IV พบว่ากลุ่มติดยาเกิดโรคจิตจากการเสพยาบ้าสูงกว่ากลุ่มใช้ยาดังตารางที่ 5 และพบเป็นโรคจิตระแวง ซึ่งเป็นผลจาก intoxication ทั้งหมด ส่วนกลุ่มใช้ยาพบเป็นภาวะ amphetamine intoxication with perceptual disturbances ซึ่งผู้ป่วยรู้ตัวดีและรู้ว่าอาการประสาทหลอนหรือระแวงว่าเป็นผลจากใช้ยา

วิจารณ์

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้นักเรียน นักศึกษาไปใช้ยาบ้า ได้แก่ ตัวของวัยรุ่นเองสภาวะทางจิตใจ ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม

  1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา

สภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับยาบ้า ซึ่งมีการระบาดทั่วไปทั้งชุมชนและโรงเรียน อิทธิพลของเพื่อน ค่านิยมที่ว่าใช้ยาบ้าแล้วทันสมัย ความเชื่อที่คิดว่าเสพยาบ้าแล้วไม่ติด ตลอดจนการแสวงหาประสบการณ์ในสิ่งใหม่ๆ ของวัยรุ่น ทำให้นักเรียนได้มีการลองใช้ยาบ้า ในระดับอาชีวศึกษาจะพบมากในนักเรียนชั้นปีที่ 1 ส่วนเด็กมัธยมจะพบในชั้นเรียนที่มีเพื่อนใช้หรือขายยา เมื่อมีการใช้ยาครั้งแรกแล้วไม่เห็นว่ามีพิษภัย กลับทำให้พอใจฤทธิ์ของยาบ้าที่ทำให้สนุก เพลิน มีความสุข กล้า และกลิ่นหอมของยาที่คล้ายช็อกโกแลตหรือน้ำตาลไหม้ จึงทำให้ใช้ยาในครั้งต่อมา เนื่องจากยาบ้ามี reinforcing property จะไปมีผลต่อสมองส่วน mesolimbic system หรือ brain rewarding circuit ให้มีการหลั่งสาร dopamine ออกมามาก ทำให้ผู้เสพจะต้องการเสพซ้ำ10,11 เมื่อหาซื้อได้ง่ายจากเพื่อนหรือในโรงเรียน จะทำให้เกิดการเสพยาต่อเนื่องได้ ในการศึกษาครั้งนี้พบปัจจัยอื่นได้แก่ ตัวอย่างการใช้ยาเสพย์ติดในครอบครัว พบการติดสุราของสมาชิกในครอบครัวร้อยละ 30, และมีพี่น้องใช้ยาบ้าร้อยละ 3, การมองคุณค่าในตัวเองต่ำที่พบในเด็กที่ผลการเรียนไม่ดี โดยมีผู้ที่เคยเรียนซ้ำชั้นร้อยละ 24, และส่วนใหญ่จะได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2 มีการใช้บุหรี่มาก่อนร้อยละ 87 อายุที่เริ่มใช้เฉลี่ย 14 ปี 5 เดือน ส่วนครอบครัวที่ทำให้นักเรียนไม่สบายใจขาดความอบอุ่น จะแยกตัวออกและหันไปหาเพื่อน จากการศึกษาของลาดทองใบ ภูอภิรมย์12 พบว่าครอบครัวที่รักสนับสนุนและใช้เหตุผลมากเด็กจะปฏิเสธการชักจูงจากเพื่อนได้มากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดู แบบรักสนับสนุนน้อย ซึ่งเป็นภูมิต้านทานยาเสพย์ติด

การศึกษาครั้งนี้จะคล้ายกับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดย Newcomb13 ได้ศึกษาในนักเรียนมัธยมปลายพบว่าปัจจัยเสี่ยงในการใช้ยาเสพย์ติดได้แก่ การมีผู้ใหญ่ในบ้านใช้ยาเสพย์ติด สัมพันธภาพกับบิดามารดาไม่ดี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ความรู้สึกการมีคุณค่าในตนเองต่ำ อารมณ์เศร้า พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากปกติ ความต้องการที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ การไม่สนใจศาสนา และการดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อย พบอารมณ์ซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17 แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดก่อนหรือหลังการใช้ยา มีผู้ป่วยหนึ่งรายรู้สึกมีอารมณ์ซึมเศร้าทุกครั้งหลังจากการใช้ยา

2. พฤติกรรมการใช้ยาบ้า ส่วนใหญ่จะใช้วิธีสูบยาบ้าซึ่งพบว่ายาจะเข้าสู่ร่างกายได้เร็วทำให้เกิดภาวะ high ส่วนพวกที่ใช้เพื่อทำงานจะดองกับกระทิงแดงหรือกิน การใช้เฉลี่ยวันละ 3 เม็ด บางรายสูงถึง 10-15 เม็ด จะซื้อจากเพื่อนที่โรงเรียนหรือฝากเพื่อนซื้อ รายที่ติดยามักจะซื้อเองเพราะได้ราคาถูกกว่า จะเสพที่ห้องน้ำโรงเรียน บ้านเพื่อน หรือหอพัก แหล่งจูงใจที่เสพยาในกลุ่มใช้ยาจะเพื่อต้องการความสนุกกับเพื่อนหรือทดลอง รายที่ติดยาจะเสพเพื่อความพอใจ และจะใช้ในปริมาณที่มากกว่า กิจกรรมที่ทำร่วมกับการเสพได้แก่ การเที่ยวกลางคืน ขับรถแข่ง เล่นสนุกเกอร์

การเลิกใช้ยา มากกว่าครึ่งหนึ่งเคยเลิกใช้ยาและจะเลิกด้วยตนเองแต่เลิกได้ไม่นาน เมื่อได้เห็นได้ยินอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับยาบ้าก็จะนึกถึงและเกิดความอยากเสพจึงทำให้กลับไปเสพยาซ้ำ เช่นเดียวกับงานวิจัยซึ่งพบว่าสภาพจิตใจที่อ่อนแอไม่เข้มแข็งพอที่จะลืมรสชาติของยาเสพย์ติด สภาพแวดล้อมใกล้แหล่งยาและเพื่อนจะมีผลทำให้วัยรุ่นไปเสพยาซ้ำ14 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของสารเสพย์ติดที่มีผลต่อสมองที่เกี่ยวกับความทรงจำบริเวณ amygdala จึงทำให้ผู้เสพยาลืมยาไม่ลง10 มีความอยากยาอย่างรุนแรง (craving) ทำให้กลับมาใช้ยาใหม่และในปริมาณที่มากกว่าเดิม3

3. ผลกระทบต่อการใช้ยา จากผลของการเสพยา ได้แก่ พฤติกรรมหนีโรงเรียน โดยสาเหตุจากไปเที่ยวตามเพื่อน เบื่อเรียนและใช้ยาบ้า ดังเช่นงานวิจัยของปนัดดา เพ็ชรสิงห์14 เรื่องอบายมุขที่มีความสัมพันธ์กับการหนีโรงเรียนของวัยรุ่น พบว่าในกลุ่มที่หนีโรงเรียนมีการเสพยาเสพย์ติดอยู่เป็นประจำร้อยละ 12.7 ผลการเรียนของกลุ่มผู้ติดยาส่วนใหญ่จะเลวลง มีดีขึ้นเพราะให้เหตุผลว่าลอกเพื่อนเวลาสอบกับมีสมาธิดีขึ้นตอนเรียนหนังสือ ซึ่งพบในกลุ่มที่ใช้ยาน้อยกว่า 1 เม็ด และเริ่มใช้ยา พฤติกรรมขโมยพบร้อยละ 6 ที่ผู้ปกครองบอก จากการศึกษาของชำนาญ สุวรรณรักษา14 เรื่องปัญหายาเสพย์ติดกับอาชญากรรม พบการประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ของผู้ติดยาเสพย์ติดประมาณร้อยละ 7-10 กลุ่มตัวอย่างที่พบบางรายจะขโมยเงิน 1,000 - 20,000 บาท หนีออกจากบ้าน ไปเสพยาบ้ากับเพื่อน หรือบางรายจะขโมยของที่มีค่าในบ้านไปจำนำหรือไปขาย เช่น วิทยุ พระเครื่อง สร้อยคอทองคำ การหนีออกจากบ้านจะไปอยู่กับเพื่อนระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาซึ่งมักพบในรายที่ติดยาและมีปัญหาในครอบครัว บางรายก็จะหนีออกจากบ้านไปมั่วสุมอยู่กับคนขายยาบ้า โดยช่วยขาย-ส่งยาเพื่อแลกกับการใช้ยาฟรี พฤติกรรมการขายยาพบในกลุ่มติดยาร้อยละ 11.0, ส่วนกลุ่มใช้ยามีร้อยละ 1.0 แรงจูงใจในการขายยาเพื่อนำเงินมาซื้อยาสูบ ส่วนใหญ่จะขายยาให้กับเพื่อนและคนใกล้ชิด ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดการแพร่ระบาดในสถานศึกษา จากคำบอกเล่าของนักศึกษารายหนึ่งบอกว่าในสถานศึกษาแห่งหนึ่งมีผู้ขายที่เป็นนักเรียนอยู่ 20 คน เฉพาะในชั้นเรียนเดียว และกว่าครึ่งห้องที่ใช้ยาบ้าทั้งหญิงและชาย ดังนั้นการหาซื้อยาได้ง่ายเป็นทางที่ทำให้ผู้ใช้ยาติดยาได้ง่ายขึ้น

ผู้ขายยาจะมีการใช้ยาในปริมาณที่มากกว่าเดิมตอนที่ยังไม่ได้ขาย เพราะมียาอยู่กับตนเองมาก ควบคุมตนเองในการใช้ไม่ได้ และมักขายได้ไม่นานเนื่องจากขาดทุนโดยมีสาเหตุจากการใช้ยาของตนเอง เก็บเงินที่ขายไม่ได้ แจกเพื่อน ทำให้เป็นหนี้ผู้ค้าส่ง

4. สาเหตุการติดยา จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยาพบว่ามีความแตกต่างกันหลายประเด็น ตั้งแต่อายุที่เริ่มใช้ยาบ้าในกลุ่มติดยาจะน้อยกว่า และจะมีประวัติการติดสารเสพย์ติดชนิดอื่นมาก่อน ปริมาณการใช้ยาและระยะเวลาการใช้ยาก็จะมากกว่า ปัจจัยอื่นที่สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังแสดงในตารางที่ 3 เป็นเรื่องความถี่ในการใช้ยา พฤติกรรมการเสพ จำนวนเพื่อนที่เสพยา การใช้จ่ายเงิน ที่พักใกล้แหล่งขายยา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับยาเสพย์ติดมากกว่ากลุ่มใช้ยา จะส่งเสริมให้หายาได้ง่าย จึงทำให้มีการใช้ยาต่อเนื่อง จากการศึกษาครั้งนี้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ติดยา เพราะในแต่ละบุคคลจะมีหลายปัจจัยร่วมกัน มีข้อสังเกตเรื่องการใช้ยาครั้งที่ 2 พบว่ากลุ่มติดยามีความพึงพอใจในตัวยาสูงถึงร้อยละ 42.3 มากกว่ากลุ่มใช้ยาที่จะมีความพึงพอใจในตัวยาร้อยละ 20 ซึ่งน่าจะเป็นผลของสารแอมเฟตามีนที่มีฤทธิ์เป็น reinforcing property ที่มีผลต่อการทำงานของสมองที่ mesolimbic dopamine system ที่ทำให้ผู้เสพเกิดความพอใจและมีความต้องการใช้ซ้ำอีก เมื่อใช้หลายครั้งจะทำให้เกิดความต้องการใช้สารเสพย์ติดที่รุนแรง (craving) ทำให้มีการเสพยาต่อเนื่องและควบคุมตนเองให้เลิกเสพได้ยาก ปัจจุบันได้มีการศึกษาเรื่องความบกพร่องของ gene ที่ควบคุมการทำงานของ dopamine ที่อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการเสพติดได้11 ดังนั้นอาจเป็นปัจจัยด้านบุคลที่อาจส่งเสริมให้เกิดการติดสารเสพย์ติดต่างกันดังเห็นในกลุ่มตัวอย่างบางรายมีการใช้ยามานานแต่ก็ไม่ติดยา

พบภาวะซึมเศร้าในกลุ่มติดยาสูงกว่ากลุ่มใช้ยา จากการศึกษาพบว่าภาวะซึมเศร้าในกลุ่มติดยาร้อยละ 35.6 จากรายงานอื่นซึ่งพบว่ามีอารมณ์ซึมเศร้ากับการเสพยาเสพย์ติดทุกชนิดประมาณร้อยละ 40 Kandel และ Davies ได้ศึกษาติดตามวัยรุ่นในเรื่องความคงอยู่ของอาการซึมเศร้าพบว่าอารมณ์เศร้ายังอยู่ แต่มีอัตราการสูบบุหรี่และสารเสพย์ติดสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่ป่วย และมีสัมพันธภาพกับเพศตรงข้ามไม่ดี เหินห่างครอบครัวและเพื่อน มีความภูมิใจในตนเองต่ำและผลสำเร็จทางการศึกษาต่ำ15 พบว่าปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มติดยามีมากกว่ากลุ่มใช้ยา จากการแปลผลของแบบทดสอบ SCL-90 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของอาการในกลุ่มของ somatization, interpersonal sensitivity, hostility, phobic anxiety, depression, psychoticism สูงกว่ากลุ่มใช้ยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างใช้ยาบ้าเมื่อเกิดภาวะเครียด

พบโรคจิตที่เกิดจากการใช้ยาบ้า 15 ราย ซึ่งเกิดจากภาวะ intoxication ของยาทั้งหมดไม่พบจากภาวะ withdrawal รายละเอียดตามตารางที่ 5 อาการที่เกิดร่วมกับการใช้ยามักพบเป็นโรคจิตระแวง มีอาการหลงผิดหวาดระแวง คิดว่าคนอื่นจ้องจับผิดตน พูดถึงตนเอง ทำให้กลัวคนมาทำร้าย หรือมีประสาทหลอนร่วมด้วย แต่ไม่พบ disorientation และ confusion การเกิดไม่ขึ้นกับปริมาณของยาที่ใช้ จะแยกได้ยากจากโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง และอาการจะเกิดจากฤทธิ์ของสารแอมเฟตามีนเอง ไม่ได้เกิดจากการอดนอน16 เช่นเดียวกับการศึกษาของ Connell 17 พบอาการหวาดระแวงในผู้ป่วยโรคจิตที่เกิดจากยาบ้าร้อยละ 83 และอาการประสาทหลอนร้อยละ 63 ซึ่งพบทั้งประสาทหลอนทางตาหูและกายสัมผัส โดยที่ระดับความรู้สึกตัวปกติและ disorientation พบน้อยมาก Rickman และคณะ17 ได้รายงานผู้ป่วย 28 ราย ที่เป็น acute toxic psychotic reaction ที่เกี่ยวกับการใช้สารแอมเฟตามีน ได้พบว่า 18 ราย มีอารมณ์เศร้าแล้วตามด้วยความหวาดระแวงสงสัยอย่างชัดเจน การรักษาโดยใช้ยารักษาโรคจิตจะระงับอาการทางจิตได้ผลดี5 แต่ที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ยาบ้าอีก

สรุป

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาบ้าของนักเรียน นักศึกษา ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่

1. ผู้ใช้ยา

- ค่านิยมว่าใช้ยาบ้าแล้วทันสมัยโก้เก๋ และความคิดที่ว่าใช้ยาบ้าแล้วไม่ติด

- ต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อน และอยากมีประสบการณ์ใหม่ๆ

2. สภาพแวดล้อม

- การใกล้ชิดกับยาเสพย์ติด การหาความสะดวกในการซื้อหายาบ้าจากเพื่อน ในโรงเรียน และในชุมชนใกล้บ้าน

- อิทธิพลของกลุ่มเพื่อน

- สภาพครอบครัวที่มีการใช้ยาเสพย์ติด และที่ทำให้วัยรุ่นไม่สบายใจจนห่างเหินครอบครัว ไปใกล้ชิดกับกลุ่มเพื่อน

- สภาพจิตใจที่ทุกข์ใจและซึมเศร้า

3. ตัวยา

- คุณสมบัติของยาที่ทำให้รู้สึกสนุกพอใจ มีภาวะ high กล้า ไม่ง่วงนอน จึงทำให้วัยรุ่นนำไปใช้เพื่อสนองความต้องการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวกับเพื่อน แข่งรถ หรือทำงาน

ด้วยคุณสมบัติของสารแอมเฟตามีนที่ทำให้ผู้เสพเกิดความต้องการใช้ซ้ำอีก หรือใช้อย่างต่อเนื่องจนติดยา จึงมีผลกระทบทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น หนีเรียน ขโมย ขายยา ก้าวร้าว อาการทางจิต ทำให้เกิดปัญหาครอบครัว สังคมและตัวของผู้เสพเอง ดังนั้นควรรีบแก้ปัญหายาเสพย์ติดในสถานศึกษา

ข้อเสนอแนะ

เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาบ้าในสถานศึกษา ขอเสนอแนะบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    1. บทบาทของรัฐ

- ให้มีการปราบปรามยาเสพย์ติดอย่างจริงจัง

- พัฒนาเยาวชนของชาติให้มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์และมีระเบียบวินัย

- ดำเนินโครงการทดลองรูปแบบการป้องกันยาเสพย์ติดในโรงเรียน

    1. บทบาทของโรงเรียน

- ดำเนินมาตรการการป้องกันยาเสพย์ติดในโรงเรียน

- วางหลักเกณฑ์การป้องกันยาเสพย์ติดแก่นักเรียนทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มไม่เคยใช้ยา กลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและกลุ่มที่ได้ใช้ยาเสพย์ติดแล้ว โดยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

- พัฒนาวิธีการสอนของครูให้นักเรียนได้สนุกกับการเรียนไม่เบื่อหรือหนีเรียน ซึ่งเป็นทางนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงและการใช้ยาเสพย์ติด

- พัฒนาวิธีการสอนยาเสพย์ติดแก่นักเรียนโดยใช้ทักษะชีวิตโดยมุ่งทั้งความรู้ เจตคติและทักษะต่างๆ เช่น ทักษะในการปฏิเสธ ทักษะการแก้ปัญหา เป็นต้น

- จากสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการห่างไกลยาเสพย์ติด ปรับปรุงสถานที่ลับตา

- จัดกิจกรรมพัฒนาให้นักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนชอบ สนใจ มีความถนัดเพื่อสร้างความภูมิใจในกิจกรรมที่ทำได้สำเร็จ เช่น กิจกรรมการกีฬา ชมรมศิลปะ

    1. บทบาทของครอบครัว

- ศึกษาวิธีการเลี้ยงดูและเข้าใจความต้องการของบุตรแต่ละวัย นอกเหนือจากการให้ความรักความเข้าใจและใกล้ชิดบุตร การเลี้ยงดูอย่างมีเหตุผลและรักใคร่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพย์ติดให้เด็ก

- อบรมจริยธรรมและปลูกฝังการมีระเบียบวินัยและให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน

 กิตติกรรมประกาศ ผู้รายงานขอขอบพระคุณสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติดที่ให้ทุนในการศึกษา ศ.นพ. วิชัย โปษยะจินดา นพ.ภาณุพงศ์ จิตะสมบัติ ผศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ที่ให้ความรู้ และคำแนะนำในการศึกษาครั้งนี้

 เอกสารอ้างอิง

1. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด. การศึกษาระบบพัฒนาการการผลิตยาบ้าในประเทศไทย เล่มที่ 2 ส่วนการพัฒนาและแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด 2540 : 92

2. Ghodse H. Drugs and addictive behaviour. 2 nd ed. London: Blackwell Science, 1995: 89-92

3. ภาณุพงศ์ จิตะสมบัติ. สิ่งเสพติด 2000. เอกสารการบรรยาย สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด 2541.

4. Martin C. Donghoe MC. Amphetamine-type stimulants. Division of Mental Health and Prevention of Substance Abuse, World Health Organization: Geneva, 1997: 106.

5. Kaplan HI, Sadock BJ. Comprehensive textbook of psychiatry. 6th ed. Baltimore : Williams & Wilkins, 1995 : 793-8 .

6. สุรพล ปธานวนิช. ผลการป้องกันและปราบปรามยาบ้าในช่วงครึ่งแผน 7. วารสารสำนักงาน ป.ป.ส. 2540; 2: 28-39.

7. วรางค์ บุญช่วย. สถานการณ์และการดำเนินงานแก้ปัญหายาบ้าในประเทศไทย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2539.

8. ละเอียด ชูประยูร. การศึกษาแบบทดสอบ SCL-90 ในคนไข้ประสาท. วารสารจิตวิทยาคลินิก 2541; 9 : 9-16.

9. Kasantikul D, Karnjanathanalers N, Limsuwan N, et al. Health-Related Self-Report (HRSR) Scale: The diagnostic screening test for depression in Thai population. J Med Assoc Thai 1997 ; 80: 647-57.

10. ทรงเกียรติ ปิยะกะ. เวชศาสตร์โรคติดยา. คู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ตุลาคม 2540.

11. ภาณุพงศ์ จิตะสมบัติ. กลไกการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43 : 150-8.

12. ลาดทองใบ ภูอภิรมย์. บทบาทของครอบครัวในการป้องกันการติดยาเสพย์ติด สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. 2533: 175-198.

13. Gonet M. Counseling the adolescent substance abuser. London: SAGE Publications, 1994 : 33-51.

14. พรเพ็ญ เพชรสุขศิริ. แนวการวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหายาเสพย์ติดในประเทศไทย, 2540 : 56-67

15. ปราโมทย์ สุคนิชย์. โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2540 ; 42 : 35-49.

16. Synder SH. Catecholamine in brain as mediators of amphetamine psychosis. Arch Gen Psychiatry 1972 ; 27 : 169-79.

17. Kalant OJ. The amphetamine, toxicity and addiction. Brookside: University of Toronto Press, : 37-41.

ตารางที่ 1 สาเหตุการใช้ยาบ้าครั้งที่ 2

สาเหตุที่ใช้ยาครั้งที่ 2

กลุ่มติดยา (ร้อยละ)

กลุ่มใช้ยา (ร้อยละ)

ชอบพอใจตัวยา

เพื่อนชวน

เที่ยวสนุก

อยากใช้

เครียด

ทำงาน

ไม่ระบุ

19

10

7

4

4

1

-

(42.2)

(22.2)

(15.5)

(8.8)

(18.8)

(2.22)

-

11

14

12

7

2

5

4

(20.0)

(25.5)

(21.8)

(12.7)

(3.6)

(9.1)

(7.3)

 

 ตารางที่ 2 วิธีแก้ปัญหาเมื่อเงินไม่พอใช้ของกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยา

วิธีแก้ปัญหาเมื่อเงินไม่พอใช้

กลุ่มติดยา (ร้อยละ)

กลุ่มใช้ยา (ร้อยละ)

เงินพอใช้

ยืมเพื่อน

ขโมย

ขายยา

ขอพ่อแม่ ญาติ

จำนำ

ทำงานเพิ่ม

25

6

6

4

2

1

1

(55.5)

(13.3)

(13.3)

(8.8)

(4.4)

(2.2)

(2.2)

51

2

-

-

1

-

1

(92.7)

(3.6)

-

-

(1.8)

-

(1.8)

 ตารางที่ 3 ปัจจัยความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยาที่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ตัวแปร

กลุ่มติดยา

กลุ่มใช้ยา

P

 

จำนวน

ร้อยละ

จำนวน

ร้อยละ

 
ปริมาณการใช้ยาบ้าต่อวัน

= 2 เม็ด

> 2 เม็ด

ระยะเวลาที่ใช้ยาบ้า

= 1 ปี

> 1 ปี

จำนวนวันที่ใช้ยาบ้าใน 1 เดือน

> 16 วัน

12-16 วัน

< 12 วัน

พฤติกรรมการเสพยา

ติด

ไม่ติด

ใช้ครั้งคราว

จำนวนเพื่อนที่เสพยาบ้า

1-9 คน

10-19

20 ขึ้นไป

ที่พักใกล้แหล่งค้ายา

ไม่มี

1-3 แห่ง

> 3 แห่ง

การใช้จ่ายเงิน

พอใช้

ไม่พอใช้

พฤติกรรมการขายยา

เคย

ไม่เคย

การเรียน

เลวลง

คงเดิมหรือดีขึ้น

ภาวะซึมเศร้า

ไม่มีภาวะซึมเศร้า

มีภาวะซึมเศร้า

 

16

29

 

24

21

 

25

15

5

 

33

7

5

 

29

6

10

 

22

18

5

 

21

24

 

11

34

 

24

21

 

29

16

 

(35.6)

(64.4)

 

(53.3)

(46.7)

 

(56.6)

(33.3)

(11.1)

 

(73.3)

(15.6)

(11.1)

 

(64.4)

(13.3)

(22.2)

 

(48.8)

(40.0)

(11.2)

 

(46.7)

(35.3)

 

(24.4)

(75.6)

 

(53.3)

(46.7)

 

(64.4)

(35.6)

 

 

47

8

 

46

9

 

2

14

39

 

1

24

30

 

45

9

1

 

43

11

1

 

51

4

 

1

54

 

13

42

 

54

1

 

 

(85.5)

(14.5)

 

(83.6)

(16.4)

 

(3.6)

(25.5)

(70.9)

 

(1.8)

(43.6)

(54.6)

 

(81.8)

(16.4)

(1.8)

 

(78.2)

(20.0)

(1.8)

 

(92.7)

(7.3)

 

(1.8)

(98.2)

 

(23.6)

(76.4)

 

(98.2)

(5.4)

0.0001*

 

 

0.0001*

 

 

0.0001*

 

 

 

0.0001*

 

 

 

0.005*

 

 

 

0.007*

 

 

 

0.001*

 

 

0.02*

 

 

0.002

 

 

0.001*

 

 

 

 ตารางที่ 4 เปรียบเทียบปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยา

 

กลุ่มติดยา

กลุ่มใช้ยา

P

 

MEAN

SD

MEAN

SD

 
Somatization

Obsessive compulsive

Interpersonal sensitivity

Depression

Anxiety

Hostility

Phobic anxiety

Paranoid ideation

Psychoticism

1.13

1.38

1.34

1.42

1.26

1.12

0.86

1.22

1.22

0.82

0.81

0.94

0.9

0.77

0.85

0.60

0.81

0.68

0.70

1.06

0.89

0.89

0.80

0.67

0.58

0.93

0.82

0.64

0.62

0.68

0.60

0.90

0.55

0.48

0.79

0.59

0.005*

NS

0.01*

0.001*

NS

0.003*

0.013*

NS

0.003*

ตารางที่ 5 เปรียบเทียบภาวะโรคจิตในกลุ่มติดยาและกลุ่มใช้ยา

Mental disorder กลุ่มติดยา(ร้อยละ)

กลุ่มใช้ยา (ร้อยละ)

 
  1. Amphetamine intoxication with perceptual disturbances
  2. Amphetamine induced psychotic disorder with delusions
  3. Amphetamine induced psychotic disorder with hallucination
  4. Amphetamine induced with manic disorder

 

3

5

2

1

 

(6.6)

(11.1)

(4.4)

(2.2)

 

4

-

-

-

 

(7.3)

-

-

-

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us