เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(3): 266-91

ฺพุทธศาสนาและจิตเวชศาสตร

จำลอง ดิษยวณิช M.S., พ.บ.**


 ไม่ว่ายุคใดสมัยใดสิ่งที่มนุษย์ปรารถนามากที่สุดคือความสุข มนุษย์ทุกคนต่างดิ้นรนและไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ อย่างน้อยที่สุดในแต่ละวันต่างคนต่างก็แสวงหาวิธีการที่ทำให้ร่างกายมีความสุข นับตั้งแต่การรับประทานอาหารเพื่อบำบัดความหิว จนกระทั่งการออกไปนอกบ้านเพื่อประกอบอาชีพการงาน และให้ได้เงินมาเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข แม้แต่ทารกที่เพิ่งคลอดออกมาดูโลกอันกว้างใหญ่ สิ่งที่เด็กต้องการคือความสุขจากการที่มีอะไร บางอย่างไปกระตุ้นริมฝีปาก เช่น การดูดนม Freud1,2 เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ทุกคนมีแรงขับ (drives) ซึ่งเป็นความต้องการสำหรับความอยู่รอดคอยผลักดันอยู่เบื้องหลัง แรงขับเช่นนี้มีลักษณะเป็นพลังงานอย่างหนึ่งเรียกว่า “libido” ซึ่งคอยผลักดันให้มนุษย์แสวงหาความสุขตามหลักแห่งความพอใจ (pleasure principle)

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่สามารถตอบสนองแรงขับเพื่อก่อให้เกิดความสุขได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่ตรงกันข้ามคือความทุกข์จึงเกิดตามมา ตัวอย่างเช่น ความอิ่ม เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดความพอใจ (satisfaction) ซึ่งจะทรงสภาพเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นความหิว ถ้าเด็กทารกไม่ได้รับการตอบสนองความพอใจทางปากอย่างที่ต้องการก็จะเกิดความข้องขัดใจ (frustration) ตามมา ความหิวคือลักษณะอย่างหนึ่งของความทุกข์ทางกาย นอกจากนั้นสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการคือ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทาและทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ สภาพที่เรียกว่าเดี๋ยวดีและเดี๋ยวร้ายจะหมุนเวียนสลับไปสลับมาอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด

แรงขับ (drives) แรงจูงใจ (motives) หรือความต้องการ (needs) มีลักษณะเป็นวัฏจักรเช่นเดียวกัน ความหิว (hunger) ซึ่งเป็นแรงขับอย่างหนึ่งจะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม (instrumental behavior) ในการแสวงหาอาหาร พฤติกรรมเช่นนี้จะมุ่งไปสู่เป้าประสงค์ (goal) คืออาหาร เมื่อรับประทานอาหารแล้วความหิว (ความทุกข์) หมดไป และความอิ่ม (ความสุข) จะเข้ามาแทนที่ ร่างกายจะอยู่ในภาวะสมดุล (homeostasis)3 เมื่อเวลาผ่านไป อาหารถูกย่อยและดูดซึมไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความหิวก็จะเกิดขึ้นอีก ทำให้วัฏจักรของการจูงใจ (cycle of motivation) หมุนอยู่อย่างนี้ตราบใดที่มนุษย์ยังมีลมหายใจอยู่ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่า ความสุขและความทุกข์เป็นของคู่กัน และไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง มีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของความสุขและความทุกข์คือ การเกิดขึ้น (arising moment) การตั้งอยู่ (static moment) และการดับไป (dissolving or waning moment) หรืออาจจะเรียกสั้นๆ ว่า การเกิดและการดับ ถ้ามองในทรรศนะของการเกิดและการดับแล้ว ทั้งความสุขและความทุกข์จึงมีสภาพเหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งความสุขก็คือความทุกข์ในลักษณะหนึ่งนั่นเอง กล่าวคือความสุขนอกจากจะมีทุกขลักษณะอันเป็นเครื่องหมายที่กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ได้แก่การเกิดและการดับติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสายแล้ว ความสุขยังมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นความทุกข์เมื่อใดก็ได้4

หลักคำสอนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในพุทธศาสนาคือ “อริยสัจสี่ (The Four Noble Truths)” ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร5,6 พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศแก่พระเบญจวัคคีย์ว่า เมื่อใดพระองค์มีความเห็นด้วยญาณตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 อย่างบริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้นพระองค์ทรงยืนยันว่าเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก อริยสัจแปลว่าของจริงหรือความจริงอย่างประเสริฐ ของจริงของพระอริยเจ้า ความจริงที่ทำให้คนกลายเป็นพระอริยเจ้า อริยสัจสี่หรือความจริงอันประเสริฐสี่ประการนี้ได้แก่

1. ทุกข์ หมายถึงความทุกข์ (suffering) หรือความไม่พึงพอใจ (unsatisfactoriness) ทุกข์ ตามศัพท์แปลว่าสภาพที่ทนได้ยาก หรือสิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ นอกจากนั้นยังหมายถึงสภาวะที่บีบคั้นทำให้ลำบาก

2. ทุกขสมุทัย หมายถึงเหตุให้ทุกข์เกิด (the cause of suffering) ได้แก่ ตัณหา (cravings) 3 อย่าง คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

3. ทุกขนิโรธ หมายถึงความดับทุกข์ (the extinction of suffering) ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไปหรือนิพพาน (nibbana or Nirvana) คือความดับสิ้นไปแห่งกิเลส (the extinction of all defilements)

4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หมายถึงทางที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์ (the path leading to the cessation of suffering) ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 หรืออัฏฐังคิกมรรค (the noble eightfold path) บางทีเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งแปลว่า ทางสายกลาง (the middle way) มรรคมีองค์ 8 นี้เมื่อสรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

อริยสัจ 4 นี้เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นธรรมะที่ทำให้ผู้ค้นพบคนแรกถูกขนานนามว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สามุกกังสิกะ” ซึ่งแปลว่า “ธรรมะที่พุทธเจ้าทรงเปิดหงายขึ้นด้วยพระองค์เอง”7 เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เองและไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น อริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา เป็นทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบใหม่ โดยไม่ได้เลียนแบบหรือดัดแปลงมาจากคำสอนใครอื่นเลย ถ้าหากมีคำถามว่า “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?” ก็ตอบว่า “พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4”

จะเห็นได้ว่าทุกสมัยทฤษฎีอริยสัจนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวิชาการทางโลกแขนงต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิต สังคม บ้านเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ทางการแพทย์ทุกสาขา ในทางการแพทย์ ความเจ็บป่วย (illness) หรือโรค (disease) คือลักษณะของทุกข์อย่างหนึ่ง สาเหตุของโรค (the cause or etiology of disease) คือสมุทัย การหายจากโรค (the cure of disease) คือนิโรธ และวิธีการรักษาโรค (the method of treatment) คือ มรรค

ความทุกข

คำว่า “ทุกข” แม้จะเป็นภาษาบาลี แต่ถูกนำมาใช้เป็นภาษาไทยจนเคยชินแล้ว ตามศัพท์ “ทุกข์” แปลว่า ทนได้ยาก ไปยาก น่าเกลียด ว่างเปล่า สูญ โดยความหมาย ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ความบีบคั้นให้ลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นของถูกปรุงแต่งขึ้นจากเหตุ จึงต้องแตกสลายพินาศไปเป็นธรรมดา ความเป็นของเผาลนให้เดือดร้อน ว่างเปล่าและสูญสลายไปในที่สุด

ทุกข์เป็นอริยสัจข้อแรกที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และเป็นเหตุให้ทรงแสวงหาทางดับทุกข์ในที่สุด ความทุกข์ในที่นี้คือ ความทุกข์ของสิ่งที่มีชีวิตหรือที่มีใจครอง ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร5,8 พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทุกข์ในอริยสัจมี 11 อย่าง ได้แก่

1. ความเกิด (ชาติ, Birth)

2. ความแก่ (ชรา, Aging)

3. ความตาย (มรณะ, Death)

4. ความเศร้าโศก (โสกะ, Sorrow)

5. ความคร่ำครวญ (ปริเทวะ, Lamentation)

6. ความทุกข์กาย (ทุกขะ, Physical pain)

7. ความทุกข์ใจ (โทมนัส, Grief)

8. ความคับแค้นใจ (อุปายาส, Despair)

9. การประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิยสัมโยค, Association with the unloved)

10. การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิยวิปปโยค, Separation from the loved)

11. การปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น (อิจฉิตาลาภ, Not getting what one wants)

ในคัมภีร์อรรถกถา และฏีกาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กล่าวว่า ทุกข์ทั้งหมดมี 12 อย่างคือ เพิ่มความเจ็บป่วย (พยาธิ, disease) เป็นทุกข์เข้ามาอีกข้อหนึ่ง แต่ความทุกข์ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสรวมลงในทุกข์กายเสียแล้ว จึงมีทุกข์เพียง 11 อย่างดังกล่าว ต่อจากนั้นได้ตรัสสรุปโดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 (รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ) เป็นทุกข์

ความเกิด ความแก่ และความตาย จัดเป็นสภาวทุกข์ คือทุกข์โดยสภาพหรือทุกข์ประจำ ส่วนที่เหลืออีก 8 อย่าง จัดเป็น ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์เบ็ดเตล็ดหรือทุกข์จร6

ชาติ คือความเกิด จัดว่าเป็นทุกข์เพราะทำให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่

สังสารวัฏ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชรา คือความแก่ จัดว่าเป็นทุกข์เพราะมีความเสื่อมโทรมของร่างกายเป็น

ลักษณะ เช่น ความผุพัง ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว หลังโกง อายุสั้น หูตึง ตามัว เป็นต้น

มรณะ คือความตาย จัดว่าเป็นทุกข์เพราะมีการจุติเป็นลักษณะ มีความตายและการแตกสลายของขันธ์ หรือรูปนามเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่มนุษย์กลัวมากที่สุดคือความตาย

โสกะ เป็นความทุกข์ที่ต้องเผชิญกับความเสียดายอาลัย เกิดขึ้นเมื่อมีการสูญเสียของรัก (loss of loved objects) ได้แก่ คนที่เคารพรักและเสน่หา เช่น บิดามารดา ญาติพี่น้อง ลูกเมีย ทรัพย์สิน เงินทอง รวมทั้งชื่อเสียง เกียรติยศ และการถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เช่นการถูกตัดแขนขาหรืออวัยวะบางส่วนออกไป อาการของความเสียใจทั้งภายในและภายนอกคือ ความโศกเศร้า โสกะมีการแผดเผาทำให้เร่าร้อนภายในกายเป็นลักษณะ โสกะได้แก่ โทมนัสเวทนาที่ประกอบกับโทสะมูลจิต กล่าวคือเป็นความเสียใจที่ประกอบด้วยความโกรธ9,10

เรื่องของความโกรธที่เกิดร่วมกับความเสียใจนี้น่าสนใจมาก Freud และ Abraham11 ต่างมีทรรศนะว่าคนส่วนมากเมื่อมีการสูญเสียคนที่รักและผูกพัน จะมีความรู้สึกสองฝักสองฝ่าย (ambivalent feeling) คือความรักและความโกรธเกิดขึ้น แต่ความรู้สึกไม่เป็นมิตรหรือความก้าวร้าวที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกมักถูกกระตุ้นให้ปรากฎออกมา บางครั้งอาจมีการพุ่งเข้าหาตนเอง (introjection) จนทำให้เกิดมีความรู้สึกสำนึกผิด (guilt feeling) คุณค่าแห่งตนที่ลดลง (lowered self-esteem) และอาการซึมเศร้า (depression)

ปริเทวะ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากโสกะหรือการสูญเสียคนรักและของรัก มีการร้องไห้รำพันถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของบุคคลหรือสิ่งของที่สูญเสียไปแล้ว จิตใจวุ่นวายไม่ตั้งมั่น เป็นทุกข์ที่มีการร้องไห้คร่ำครวญหรือการรำพันร่ำไห้เป็นลักษณะ เช่นเดียวกับความโศกเศร้าปริเทวะก็มีโทสะจิตหรือความโกรธร่วมด้วย

ทุกขะ เป็นความทุกข์ของร่างกาย (physical pain) ได้แก่ ความเจ็บ ความปวด ความอ่อนเพลีย ความตึงเครียด อาการชา คัน เสียวแปลบปลาบหรืออาการทางร่างกายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เป็นความทุกข์ที่เข้าใจได้ง่าย ความทุกข์กายนี้เป็นความทุกข์พิเศษ เพราะเมื่อเบียดเบียนร่างกายแล้วยังสามารถเบียดเบียนทางใจอีกด้วย คือทำให้เกิดความเสียใจ กลุ้มใจ และวิตกกังวลได้ ทางการแพทย์เรียกว่าความผิดปกติทางจิตใจที่มีสาเหตุจากร่างกาย (mental disorder due to a general medical condition)12 เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษธัยรอยด์ (thyrotoxicosis) มักมีอาการวิตกกังวล เครียด หงุดหงิด โกรธง่าย เป็นต้น

โทมนัส เป็นความทุกข์ของจิตใจ (mental pain or grief) ได้แก่ ความไม่พอใจ ความวิตกกังวล ความเครียด ความเสียใจ ความกลุ้มใจ และความกลัว ความทุกข์ทางจิตใจ สามารถทำให้ร่างกายแปรปรวนได้เช่นกัน ทางการแพทย์เรียกว่า โรคทางกายสาเหตุจากจิตใจ (psychosomatic disorder or psychological factors affecting medical condition) เช่น ความเครียด มีส่วนทำให้เกิดเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ (coronary heart disease)12,13 โทมนัสมักมีสาเหตุจากการสูญเสียคนรักและของรัก รวมทั้งทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ ฐานะ และชื่อเสียงดังกล่าวแล้ว มีการเบียดเบียนทางใจเป็นลักษณะ ในรายที่มีโทมนัสรุนแรงจะเกิด โรคซึมเศร้า (depressive disorder) ได้

อุปายาส เป็นความคับแค้นใจหรือความสิ้นหวัง (despair) ที่เกี่ยวข้องกับโสกะ (sorrow) และปริเทวะ (lamentation) อันมีสาเหตุมาจากการสูญเสียคนรักและของรักอย่างใดอย่างหนึ่ง อุปายาสยังหมายถึงความลำบากใจอย่างหนัก สภาพของอุปายาสก็คือ ความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวงที่สืบเนื่องมาจากโสกะ เมื่อโสกะมีกำลังมากขึ้นก็ถึงขั้นปริเทวะ ต่อจากปริเทวะก็ถึงขั้นอุปายาส ซึ่งเป็นยอดแห่งความเศร้าโศก ทำให้ผู้ที่ได้รับนั้นจิตใจแห้งผากลงทันที ไม่สามารถจะต่อต้านกับความรู้สึกชนิดนี้ได้ รู้สึกสิ้นความหวังและความช่วยเหลือ (hopelessness and helplessness) มีอาการนั่งซึม ไม่ยอมพูด ร้องไห้ไม่ออก บางทีถึงกับสลบหรือหมดสติไป กลายเป็นคนเสียสติหรืออาจทำลายชีวิตตนเองได้10

โดยมากมักเกิดจากการสูญเสียโดยมิได้คาดฝันมาก่อน เช่น บิดา มารดา สามี ภริยา บุตร ตายไปโดยปัจจุบันหรือทรัพย์สมบัติต้องสูญหายล้มละลายไปด้วยอัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย ถูกฉ้อโกง ถูกออกจากงาน หรือเป็นโรคที่หมดหนทางจะรักษาได้ เป็นต้น ในทางจิตเวชศาสตร์ โสกะ ปริเทวะและอุปายาสมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปฏิกิริยาต่อการตายของคนที่รัก (bereavement) การสูญเสียคนรักและของรัก (grief) การไว้อาลัย (mourning) และภาวะซึมเศร้า (depression)11

 ความแตกต่างกันระหว่างโสกะ ปริเทวะ และอุปายาส

โสกะคือความเศร้าโศก ปริเทวะคือการร้องไห้รำพันและอุปายาสคือความลำบากใจอย่างหนัก ความคับแค้นใจ หรือความแห้งใจ ถ้าจะเปรียบเทียบถึงความแตกต่างกันแล้วก็เปรียบเหมือนน้ำมันในกะทะที่ตั้งอยู่บนเตาไฟ เมื่อถูกความร้อนเผาน้ำมันก็เริ่มร้อนขึ้นตามลำดับ เมื่อความร้อนนั้นมีอุณหภูมิถึงจุดเดือดแล้ว น้ำมันก็เดือดพล่าน เมื่อเดือดไปนาน ๆ ความร้อน ก็จัดมากขึ้น ๆ จนมีควันปรากฏออกมา ต่อจากนั้นน้ำมันจะค่อยๆ งวดลง ๆ จนกระทั่งแห้งหมดไป

ข้อนี้ฉันใด โสกะก็เปรียบได้กับความร้อนของน้ำมันที่เริ่มร้อนขึ้น ปริเทวะเปรียบได้กับน้ำมันที่กำลังเดือดพล่าน อุปายาสเปรียบได้กับน้ำมันที่ร้อนจนสุดขีดแล้วค่อยงวดลงจนแห้ง สมดังที่พระพุทธโฆษาจารย์ ได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า “โสกะ ปริเทวะ อุปายาส ทั้ง 3 นี้ เปรียบเหมือนกับความเป็นไปของน้ำมัน 3 ระยะดังนี้ คือ น้ำมันที่ร้อนขึ้นในภาชนะระยะหนึ่ง น้ำมันที่เดือดพล่านขึ้นแล้วระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นน้ำมันที่เหลือก็ร้อนจัดจนงวดแห้งไปอีกระยะหนึ่ง”9,10

การประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก จัดว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง เมื่อคนเราประสบกับการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรสและการถูกต้องสัมผัสที่ไม่น่าปรารถนาจะเกิดความรู้สึกไม่ชอบ หงุดหงิด ขัดเคืองและไม่สบายใจ อยากจะให้สิ่งที่ไม่ชอบเหล่านี้หมดไปและคงเหลือไว้แต่สิ่งที่ชอบเท่านั้น เช่น การพบกับคนที่เราไม่ชอบหรือศัตรู เราก็เป็นทุกข์

การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จัดว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง เมื่อคนเราพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักและหวงแหนย่อมเกิดความเสียใจและความเศร้าโศก เคยยินดีอยู่กับการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และการถูกต้องสัมผัสที่น่าปรารถนา เมื่อถึงคราวจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ก็เกิดความทุกข์ เช่น การพลัดพรากจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทมิตรสหายที่คุ้นเคยก็เป็นทุกข์

การปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น จัดว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง โดยทั่วไปสิ่งที่ทุกคนต้องการคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็จะมีความทุกข์เกิดขึ้น บางคนตั้งเป้าประสงค์ (goal) ของตัวเองไว้สูง เมื่อไม่ถึงดวงดาวก็เกิดความทุกข์ใจ เช่น อยากได้เงิน บ้าน รถ หรือชื่อเสียงเกียรติยศ เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์

ขันธ์ห้าที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นทุกข์ ความทุกข์ทั้ง 11 อย่าง นับตั้งแต่ความเกิด (ชาติ) จนกระทั่งถึง การปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น (อิจฉิตาลาภ) จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเมื่อมีขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทาน (อุปาทานขันธ์) เป็นต้นเหตุ ฉะนั้นจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า “ขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทาน (the five aggregates of attachment) คือ ทุกขสัจ หรือความจริงแห่งทุกข์”5,6,8

ขันธ์ห้าที่ประกอบด้วยอุปาทาน (ปัญจุปาทานักขันธ์)

ขันธ์ แปลว่า หมู่ หมวด กอง หรือประเภท ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์คือองค์ประกอบ 5 ส่วน ที่ประชุมรวมกันเป็นหน่วยรวม ซึ่งสมมุติเรียกว่า บุคคล (a human being) หรือตัวเรา (a person) นั่นเอง ขันธ์ 5 (the five aggregates) ประกอบด้วย7,14,15

1. รูปขันธ์ (Corporeality) คือกองรูป ได้แก่ส่วนที่เป็นร่างกาย รวมทั้งพฤติกรรม อาการ และคุณสมบัติต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปอด ตับ กระเพาะ ลำไส้ ไต การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การยิ้ม การร้องไห้ การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ อาการพองและอาการยุบ (ของท้อง) อาการยก อาการย่างและอาการเหยียบ (ของเท้า) เป็นต้น

2. เวทนาขันธ์ (Feeling) คือกองเวทนา ได้แก่ส่วนที่เป็นความรู้สึกจากการเสวยอารมณ์ แบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ 1) สุขเวทนา (pleasant feeling) ความรู้สึกเป็นสุข 2) ทุกขเวทนา (unpleasant feeling) ความรู้สึกเป็นทุกข์ และ 3) อุเบกขาเวทนา (neutral feeling) ความรู้สึกเฉย ๆ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ในทางอภิธรรม เวทนาเป็นเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิกทั้งหมด 52 ดวง16

3. สัญญาขันธ์ (Perception) คือ กองสัญญา ได้แก่ส่วนที่เป็นการกำหนดรู้หรือสัญชาน (perception) และการจำได้หมายรู้ (recognition) คือ หมายรู้ในอารมณ์ทั้ง 6 เกี่ยวกับ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสและการนึกคิด เช่น เขียว ดำ แดง เสียงสุนัข กลิ่นหอม กลิ่นทุเรียน รสเปรี้ยว รสมะนาว เย็นจัด อ่อนนุ่ม เป็นต้น

ในทางอภิธรรม สัญญามี 6 อย่างคือ 1) การจำรูป 2) การจำเสียง 3) การจำกลิ่น 4) การจำรส 5) การจำสิ่งที่สัมผัสถูกต้องกาย (โผฏฐัพพะ) และ 6) การจำสิ่งที่ใจนึกคิด (ธรรมารมณ์) สัญญาเป็นเจตสิกดวงหนึ่งในบรรดาเจตสิกทั้งหมด 52 ดวง16

นอกจากนั้นสัญญายังมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับความรู้สึกจากการสัมผัสหรืออินทรียสัมผัส (sensation) และสัญชานหรือการกำหนดรู้ (perception) ในทางจิตวิทยา ความรู้สึกจากการสัมผัสคือการเปลี่ยนรูปของสิ่งเร้า (อารมณ์) ที่มากระทบกับอวัยวะสัมผัส (sense organs) เช่น ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ไปเป็นกระแสประสาท (neural impulses) ที่ถูกส่งมาเป็นข้อมูลทางสรีรวิทยาให้เป็นข้อมูลทางจิตใจที่สามารถจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร หรืออีกนัยหนึ่ง การกำหนดรู้เป็นกระบวนการซึ่งคนเราจะจัดระเบียบและแปลความหมายข้อมูลที่ได้จากอินทรียสัมผัส สัญชานต้องอาศัยการผสมผสานกันระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันกับประสบการณ์ในอดีต17

ตัวอย่าง การเห็นโต๊ะ ภาพโต๊ะ (คลื่นสี) จะผ่านเข้าสู่กระจกตา รูม่านตา แก้วตา (lens) จอตา (retina) เซลล์ประสาทตา (rods and cones) เส้นประสาทตา (optic nerve and optic chiasm) จนสุดท้ายไปสู่สมองที่เกี่ยวกับการเห็น (visual cortex) การเห็นตอนแรกเป็นเพียง รูปร่าง สัณฐาน ทรวดทรง เช่น กว้าง ยาว ลึก มีขาสี่ขา เป็นต้น การรับรู้ในปัจจุบันร่วมกับประสบการณ์หรือความจำในอดีต ทำให้รู้ว่าลักษณะอย่างนี้เรียกว่า “โต๊ะ”

4. สังขาร (Mental formations or Volitional activities) คือกองสังขาร ได้แก่ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง หรือสภาพที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิตให้เป็นกุศล อกุศลหรืออัพยากฤต คือเป็นส่วนกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว (wholesome, unwholesome or neutral volitional activities) สังขารยังหมายถึงความดี ความชั่ว ซึ่งเรียกว่า คุณธรรมและอธรรม หรือบุญและบาป ทั้งบุญและบาปเป็นตัวการสำคัญที่จะปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ชีวิตของคนให้สูงหรือต่ำ ให้ไปเกิดในสวรรค์หรืออบาย

ในทางอภิธรรม สังขารได้แก่ เจตสิก (mental factors or concomitants) คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ เจตสิกทั้งหมดมี 52 ดวง สังขารได้แก่ เจตสิก 50 ดวง ยกเว้น เวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิกดังกล่าวแล้ว ในสังขาร 50 ดวงนี้เป็นฝ่ายบุญเสีย 25 ดวง และเป็นฝ่ายบาปเสีย 14 ดวง นอกนั้นเป็นกลาง ๆ สังขารจะต้องเกิดอยู่ที่จิตเสมอ ตัวอย่าง เจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศล เช่น ศรัทธา (ความเชื่อ) สติ (ความระลึกได้) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่อยากได้อารมณ์) อโทสะ (ความไม่ประทุษร้าย) และปัญญินทรีย์ (ปัญญา) เป็นต้น เจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นอกุศล เช่น โมหะ (ความหลง) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) โลภะ (ความอยากได้อารมณ์) โทษะ (ความประทุษร้าย) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) มานะ (ความถือตัว) อิสสา (ความริษยา) เป็นต้น16

ในทางจิตวิทยาสังขารหมายถึงตัวกำหนดหรือสิ่งที่กำหนด (determinants) การกระทำของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ สิ่งที่เรียกว่าแรงจูงใจ (motives) หรือแรงขับ (drives) ก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของสังขารนั่นเอง สังขารเป็นเจตสิกที่มีลักษณะว่องไวและไม่หยุดนิ่ง (active and dynamic mental factors) ซึ่งแตกต่างจากเวทนาและสัญญาซึ่งเป็นเจตสิกที่มีลักษณะไม่ว่องไว (passive mental factors)18 อีกนัยหนึ่งสังขารคือ ความคิด (thoughts) หรือเจตนา (volition) ความคิดดีและไม่ดีหรือกลาง ๆ ย่อมก่อให้เกิดการกระทำทางกาย วาจาและใจ ที่เป็นบุญ บาป หรือกลาง ๆ ดังนั้นกิเลสที่แท้จริงก็คือตัวสังขารหรือกิเลสอยู่ที่สังขารนี่เอง

5. วิญญาณ (Consciousness) คือกองวิญญาณ ได้แก่ส่วนที่เป็นการรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้า (cognitive faculty of stimuli) อารมณ์ในทางพุทธศาสนาแตกต่างจากอารมณ์หรืออาเวค (emotion) ในทางจิตวิทยา อารมณ์ในทรรศนะแรกหมายถึงสิ่งเร้าภายนอก (external stimuli) หรืออายตนะภายนอก 6 (6 external sense-fields) ซึ่งได้แก่รูป (form or visible objects), เสียง (sound), กลิ่น (odour or smell), รส (taste), สิ่งที่ถูกต้องกาย (touch or tangible object) และสิ่งที่ใจนึกคิด (mind-objects)

ในทางจิตวิทยา อารมณ์หรืออาเวคหมายถึง ความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายถูกยั่วยุโดยสถานการณ์บางอย่างจนเกิดมีการตอบสนองทางสรีรวิทยาอย่างซับซ้อน19 เช่น ความโกรธ ความกลัว ความสุข ความสิ้นหวัง ความเสียใจ ความอาย เป็นต้น ตัวอย่าง เวลาโกรธจะมีความรู้สึกโกรธ หน้าแดง ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น และเหงื่อออก ความจริงแล้วอารมณ์ในทางจิตวิทยาก็คือเวทนาในลักษณะหนึ่งนั่นเอง

วิญญาณ ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้าที่มากระทบกับอายตนะภายใน 6 (6 internal sense-fields) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังนี้

รูป กระทบกับตา เกิดการเห็น เรียกว่า จักขุวิญญาณ

เสียง กระทบกับหู เกิดการได้ยิน เรียกว่า โสตวิญญาณ

กลิ่น กระทบกับจมูก เกิดการได้กลิ่น เรียกว่า ฆานวิญญาณ

รส กระทบกับลิ้น เกิดการรู้รส เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ

สิ่งที่ถูกต้องกาย กระทบกับกาย เกิดการรู้สึกสัมผัส เรียกว่ากายวิญญาณ

สิ่งที่ใจนึกคิด (ธรรมารมณ์) กระทบกับใจ เกิดการนึกคิด เรียกว่า มโนวิญญาณ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนี้รวมกันเรียกว่า เบญจขันธ์ หรือขันธ์ 5 เมื่อย่อแล้วขันธ์ 5 ก็เหลือ 2 อย่างเท่านั้น คือ รูป (materiality or corporeality) กับนาม (mentality) หรือกาย (body) กับใจ (mind) รูปคือสิ่งที่รู้อะไรไม่ได้ รูปก็คือกองรูป ส่วนนามคือ สิ่งที่น้อมไปสู่อารมณ์เสมอ เป็นสิ่งที่รู้อารมณ์หรือสิ่งที่รู้อะไรต่าง ๆ ได้ นาม ก็คือกองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร และกองวิญญาณ เวทนา สัญญา และสังขาร ทั้งสามกองนี้เรียกรวมกันว่า เจตสิก (mental concomitants) ซึ่งมีทั้งหมด 52 ดวง และในเจตสิก 52 ดวงนี้ เป็นเวทนา 1 ดวง เป็นสัญญา 1 ดวง และสังขาร 50 ดวง ส่วนจิตหรือใจก็คือกองวิญญาณนั่นเอง

 ทุกข์ที่แท้จริงคืออุปาทานขันธ์

ความทุกข์ทั้ง 11 อย่างดังกล่าวแล้วนับตั้งแต่ ความเกิดจนกระทั่งถึงการปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากมีอุปาทานขันธ์ 5 คือขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานนั่นเอง ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เมื่อว่าโดยสรุปแล้ว อุปาทานขันธ์เป็นทุกขอริยสัจ” ขันธ์จึงเป็นตัวทุกข์ที่แท้จริง ความทุกข์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทานนี่เอง สิ่งที่สมมุติกันว่าเป็น บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็คืออุปาทานขันธ์ แม้แต่แนวคิดทางจิตวิทยาในเรื่องของบุคลิกภาพ (personality) ที่เกี่ยวกับตัวตน (self) หรืออัตตา (ego) หรือความหลงรักตัวเอง (narcissism) ก็สืบเนื่องมาจากอุปาทานขันธ์5 ในทางพุทธศาสนายังอธิบายว่า อหังการ (the concept of “I” or egotism) ซึ่งหมายถึงมโนทัศน์ว่าเป็น “ตัวเรา” มมังการ (the concept of “mine”) ซึ่งหมายถึงมโนทัศน์ว่าเป็น “ของเรา” และมานะ (conceit) ซึ่งหมายถึงความถือตัวหรือความเห็นว่าตัวสำคัญยิ่งกว่าผู้อื่น7 ล้วนแต่มีต้นตอมาจากอุปาทานขันธ์ทั้งสิ้น

สาเหตุของความทุกข์ (สมุทัย)

ความทุกข์จะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องมีสาเหตุ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าสาเหตุของความทุกข์คือ ตัณหา (desire, craving or thirst) ซึ่งหมายถึง ความทะยานอยาก ตัณหานี้แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่5,6,20

1. กามตัณหา (Craving for sensual pleasures) คือความทะยานอยากในกามคุณทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางร่างกายที่น่าพอใจ ตัวอย่าง ความอยากเห็นรูปที่สวย ได้ยินเสียงที่ไพเราะ รับประทานอาหารที่อร่อย เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากามตัณหา เป็นความอยากในกามคุณที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องของกามหรือเรื่องทางเพศเท่านั้น

2. ภวตัณหา (Craving for existence) คือความทะยานอยากในภพ ความทะยานอยากในความมีหรือความเป็น ความอยากเป็นเจ้าของ ตัวอย่าง ทุกคนมีความอยากในลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ อยากให้สังคมยอมรับ อยากมีอำนาจวาสนา อยากเกิดเป็นคน เป็นเทวดา เป็นพรหม อยากเกิดในภพภูมิที่ดี เป็นต้น ภวตัณหายังรวมถึงสัสสตทิฏฐิ (eternalism) คือความเห็นว่า อัตตา และโลกเที่ยงแท้ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไป

3. วิภวตัณหา (Craving for non-existence) คือความทะยานอยากในความไม่มีหรือความไม่เป็น ความอยากทำลาย ความอยากให้ดับสูญ ตัวอย่าง ทุกคนไม่อยากประสบกับความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา และทุกข์ ไม่อยากเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ไม่อยากสูญสิ้นอำนาจวาสนา เป็นต้น วิภวตัณหายังรวมถึงอุจเฉททิฏฐิ (annihilationism) คือความเห็นว่าอัตตาและโลกจักพินาศขาดสูญหมดสิ้นไป การฆ่าตัวตายหรือการฆ่าผู้อื่น คือลักษณะอย่างหนึ่งของวิภวตัณหา

ตัณหาหรือความทะยานอยากเป็นเหตุให้คนและสัตว์เกิดแล้วเกิดอีกไม่มีสิ้นสุด (โปโนพภวิกา) ทำให้คนมีความเพลิดเพลิน และความกำหนัดยินดีในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ทำให้คนเป็นปุถุชนคือผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส ตัณหาทำให้คนและสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏและเสวยทุกข์อื่น ๆ อีกต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

 การเปรียบเทียบระหว่างตัณหากับแรงขับทางสัญชาตญาณ

ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ถูกกำหนดโดยแรงขับทางสัญชาตญาณ (instinctual drive) ส่วนหนึ่งเรียกว่าสัญชาตญาณทางเพศ (libido or sexual instinct) ซึ่งเป็นพลังงานทางจิตที่สัมพันธ์กับแรงขับทางเพศ ตามทรรศนะของ Freud1,2 แรงขับทางเพศมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องทางเพศ (sexuality) อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อมองในบริบท (context) นี้แล้ว กามตัณหา (craving for sensual pleasures) ในพุทธศาสนาจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับสัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) ในจิตวิเคราะห์มาก นอกจากสัญชาตญาณทางเพศแล้ว Freud ยังได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับสัญชาตญาณแห่งอัตตา (ego instinct) ซึ่งเป็นแรงขับในการปกปักรักษาตน เป็นพลังงานสร้างสรรค์ (creative force) ที่รวบรวมหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกัน อัตตา (ego) เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างแรงขับทางสัญชาตญาณหรือ id กับความต้องการจากโลกภายนอก รวมทั้งอภิอัตตา (superego)21 เป็นส่วนที่ทำให้เกิดมโนทัศน์ว่ามีตัวเราและของเราทำหน้าที่ผลักดันให้มนุษย์เกิดความอยากมีและความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ตนต้องการ สัญชาตญาณแห่งอัตตายังเกี่ยวกับการสืบชาติพันธ์ (reproduction) อีกด้วย ดังนั้น ภวตัณหา (craving for existence) จึงสามารถเปรียบเทียบได้กับสัญชาตญาณแห่งอัตตา (ego instinct) หรือสัญชาตญาณแห่งชีวิต (life instinct or eros)

Freud ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับสัญชาตญาณแห่งความตาย (death instinct or thanatos) ว่าเป็นแรงขับทางก้าวร้าว (aggressive drive) และเป็นพลังงานทำลาย (destructive force) ที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแตกแยกออกจากกัน หรือถึงความพินาศสูญสิ้นโดยไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกเลย (annihilation) ด้วยเหตุนี้ วิภวตัณหา (craving for non-existence) จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับสัญชาตญาณแห่งความตาย (death instinct) อย่างมาก

 การเปรียบเทียบระหว่างอกุศลกับแรงขับทางสัญชาตญาณ

ได้กล่าวแล้วว่าสังขาร (mental formations or volitional activities) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 มีหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นบุญและบาป เป็นกุศลและอกุศล จิตวิทยาแนวพุทธยังอธิบายอย่างชัดเจนว่า อกุศลมูล (roots of bad actions or unwholesome roots) คือรากเหง้าของอกุศลมี 3 อย่าง ได้แก่ โลภะ (greed) ความอยากได้ โทสะ (hatred) ความคิดประทุษร้ายและโมหะ (delusion) ความหลง7

อกุศลมูลนี้มีลักษณะเป็นแรงขับเชิงลบ (negative drives) เช่นเดียวกับแรงขับทางสัญชาตญาณ (instinctual drive or id) ในจิตวิเคราะห์ แรงขับของ id แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ แรงขับทางเพศ (sexual drive) และแรงขับทางก้าวร้าว (aggressive drive)22 จะเห็นได้ว่าโลภะมีลักษณะคล้ายคลึงกับแรงขับทางเพศ ส่วนโทสะค่อนข้างเหมือนกับแรงขับทางก้าวร้าว สิ่งที่น่าสนใจคือ Freud ดูเหมือนจะไม่เข้าใจแนวคิดของโมหะในพุทธศาสนา จึงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย ความจริงแล้วโมหะเป็นต้นตอของโลภะและโทสะ เป็นแรงขับที่ละเอียดมากกว่าแรงขับทั้งสองอย่าง บางทีเรียกว่า อวิชชา (ignorance) คือความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจในเรื่องของอริยสัจ 4 นั่นเอง20

 การเปรียบเทียบระหว่างกุศลมูลกับอภิอัตตา

ส่วนของสังขารที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นบุญหรือกุศลเรียกว่า กุศลมูล (roots of good actions or wholesome roots) คือรากเหง้าของกุศลมี 3 อย่างได้แก่ อโลภะ (non-greed) ความไม่โลภ อโทสะ (non-hatred) ความไม่คิดประทุษร้ายและอโมหะ (non-delusion) ความไม่หลง7 ทั้งอโลภะ อโทสะ และอโมหะ เป็นปัจจัยให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (generosity) ความเมตตา (loving - kindness) และปัญญา (wisdom) ตามลำดับ

กุศลมูลพอจะเปรียบเทียบได้กับอภิอัตตา (superego) ในจิตวิเคราะห์ อภิอัตตาเป็นส่วนของจิตซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (right or wrong) ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและศาสนา อภิอัตตาแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ มโนธรรม (conscience) ซึ่งเกิดจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กว่าอะไรไม่ควรทำ อะไรคือค่านิยมที่ไม่ดี อะไรเป็นบาปหรืออกุศล และอุดมคติแห่งตน (ego-ideal) ซึ่งเกิดจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กเช่นกัน เป็นการสอนว่าอะไรควรทำ อะไรเป็นค่านิยมที่ดี อะไรเป็นบุญหรือกุศล22

มีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกุศลมูลในพุทธศาสนากับอภิอัตตาในจิต

วิเคราะห์ กุศลมูลมีมาตั้งแต่แรกเกิดแต่ Freud เชื่อว่าส่วนสำคัญของอภิอัตตาเกิดขึ้นในระยะเพศตอนต้น (phallic phase) เมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบ ในช่วงที่มีการสลายตัวของปมปิตุฆาต (Oedipus complex) เด็กจะพยายามเลียนแบบและรับเอามาตรฐานทางศีลธรรมจริยธรรมและอุดมคติจากพ่อหรือแม่เข้ามาไว้ในตน พยายามซึมซาบในสิ่งเหล่านี้เพื่อให้กลายเป็นคุณธรรมและอุดมคติของตัวเองต่อไป22

ต่อมามีนักจิตวิเคราะห์บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับทรรศนะของ Freud กลุ่มนี้เชื่อว่าพัฒนาการของอภิอัตตา (superego development) เกิดขึ้นก่อนระยะปมปิตุฆาต (preoedipal phase)2,23 แนวคิดนี้ใกล้เคียงกับคำสอนในพุทธศาสนาที่ว่ากุศลมูลมีมาแล้วตั้งแต่แรกเกิด เพียงแต่ว่ายังไม่ได้แสดงตัวออกมาในระยะแรก ๆ เท่านั้น

ความดับทุกข์ (นิโรธ)

อริยสัจข้อที่ 3 คือ ความดับทุกข์ หรือนิโรธ (the cessation of suffering) นิโรธแปลว่า “ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ซึ่งหมายถึงการดับตัณหาที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ได้ขาด เสมือนหนึ่งการชักเชื้อไฟอันเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟออกไปเสียได้ ฉะนั้น จากจุดนี้จะเห็นว่าพุทธศาสนามิได้เป็นทุนิยม (pessimism) คือมีทรรศนะที่มองโลกและชีวิตในแง่ร้ายแต่อย่างเดียว หรือมองอะไรก็ล้วนแต่เป็นทุกข์ไปทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าพิจารณาดูเรื่องอริยสัจให้ดีจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงชี้แต่เพียงทุกข์เท่านั้น แต่ยังทรงอธิบายให้รู้ถึงสาเหตุของความทุกข์ ให้รู้ว่าความดับทุกข์มีอยู่ ตลอดจนทรงชี้หนทางที่จะดับทุกข์เหล่านี้ได้ หลักคำสอนในพุทธศาสนาจึงเป็นการมองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า

ในทรรศนะทางพุทธศาสนาสิ่งประเสริฐสุด (summum bonum)21 ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตคือ นิพพาน (Nirvana) คำว่านิพพานแปลว่า “ธรรมชาติที่ดับ” ซึ่งหมายถึงความดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์โดยสิ้นเชิง (the complete cessation of all mental defilements and suffering) เป็นธรรมชาติที่อิสระจากตัณหาเครื่องร้อยรัดทั้งปวง นอกจากนั้นนิพพานยังเป็นภาวะที่มีความสุขและความสงบอย่างยิ่งเพราะไม่มีสาเหตุของความทุกข์เจือปนอยู่เลย7,24

นิพพานเป็นปรมัตถสัจหรือความจริงขั้นสูงสุด (ultimate reality) เป็นสภาวะที่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือสังสารวัฏอันเป็นวงจรของความเวียนว่ายตายเกิด เป็นสภาวะที่อยู่เหนือทวินิยม (dualism) เช่น ความดีกับความชั่ว บุญกับบาป กุศลหรืออกุศล เพราะเป็นอสังขตธรรม (the unconditioned) คือเป็นธรรมชาติที่ไม่มีเหตุปัจจัยใด ๆ ปรุงแต่งทั้งสิ้น และนิพพานเป็นอิสรภาพสัมบูรณ์ (absolute freedom)

เนื่องจากนิพพานเป็นสภาวะที่ละเอียดอ่อน และเป็นสภาวะที่อยู่เหนือโลกหรือโลกุตตรธรรม (supramundane state) คนส่วนมากมักไม่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ แม้แต่ Freud ก็มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมโนทัศน์ของนิพพานอย่างมาก ในช่วงแรก Freud มีทรรศนะว่าหน้าที่หลักของอุปกรณ์ทางจิต (psychic apparatus) คือการกลับคืนสู่สภาวะเฉื่อย (an inert state) โดยการขจัดสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ออกไปให้หมด สภาวะดังกล่าว Freud ใช้คำว่า “Nirvana principle” ซึ่งมีหลักแห่งการทำงานตามสัญชาตญาณแห่งความตาย (death instinct) Freud ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง Beyond the Pleasure Principle (1920)25 โดยกล่าวว่า Nirvana principle เกือบเหมือนกันกับหลักแห่งความคงที่ (constancy principle) ซึ่งหมายความว่าเมื่ออุปกรณ์ทางจิตได้พยายามลดพลังงาน (energy) ลงจนถึงระดับศูนย์ (zero) แล้ว ก็จะเกิดสภาวะสมดุล (homeostasis) ของอินทรีย์ Freud มองว่าหลักแห่งสมดุลยภาพเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่ช่วยให้อินทรีย์เก็บสะสมพลังงานไว้พอเพียงสำหรับการกระทำที่จำเพาะอย่างหนึ่งอย่างใดที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่ามโนทัศน์ของนิพพานในพุทธศาสนาและในจิตวิเคราะห์แทบจะเป็นคนละเรื่องกันเลย

 การเปรียบเทียบตัณหากับความต้องการในจิตวิทยาแนวมนุษยนิยม

Maslow ซึ่งเป็นผู้นำที่สำคัญคนหนึ่งในจิตวิทยาแนวมนุษยนิยม (humanistic psychology) ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับความต้องการ (needs) ของมนุษย์ มีความเชื่อว่าความต้องการของคนมีลำดับขั้น โดยเริ่มจากความต้องการที่เป็นแรงขับทางชีวภาพที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งถึงแรงขับทางสังคมและทางจิตใจที่ซับซ้อนมากขึ้น ความต้องการพวกหลังจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองจนเป็นที่น่าพอใจ Maslow ได้แบ่งลำดับขั้นของความต้องการ (hierachy of needs) ไว้ดังนี้26

1. ความต้องการทางสรีรวิทยา (Physiological needs): ความหิว ความ

กระหาย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เพศ เป็นต้น

2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs): ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ปราศจากอันตรายที่จะเกิดขึ้น

3. ความต้องการความเป็นเจ้าของ และความรัก (Belongingness and love needs): การผูกพันกับคนอื่น การคบหาสมาคมและการได้รับความรักจากคนอื่น

4. ความต้องการการยกย่อง (Esteem needs): การได้รับการยอมรับ การยกย่อง การนับถือ และเกียรติยศจากผู้อื่น

5. ความต้องการการรู้ (Cognitive needs): ความอยากรู้อยากเห็น การสำรวจสิ่งที่ใหม่และแปลก การรู้จักตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม

6. ความต้องการทางสุนทรียภาพ (Aesthetic needs): ความงาม ความมี

ระเบียบ สมมาตร (symmetry) ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม

7. การกลายเป็นภาวะจริงแห่งตน (Self-actualization): การเข้าใจศักยภาพ หรือภาวะแฝง (potentiality) ของตนเอง การพบความสำเร็จสูงสุดตามที่ตนต้องการ

ถ้าพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า ความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของ Maslow มีส่วนคล้ายกับกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา ในพุทธศาสนาและยังอยู่ในขอบข่ายของตัณหาทั้งสามนี้ อย่างไรก็ตามจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมมีทรรศนะว่าเป้าประสงค์หรือจุดหมาย (goal) ที่สำคัญของมนุษย์คือการบรรลุถึงการกลายเป็นภาวะจริงแห่งตน (self-actualization)21 ซึ่งหมายถึงการประสบผลสำเร็จสูงสุดตามศักยภาพที่ตนมีอยู่ มนุษย์ทุกคนมีแรงจูงใจพื้นฐานซึ่งเป็นความโน้มเอียงหรือศักยภาพที่มีมาแต่กำเนิด (innate tendency or potentiality) คอยผลักดันให้ไปสู่เป้าประสงค์ดังกล่าว

ในทางตรงกันข้าม เป้าประสงค์สูงสุดในพุทธศาสนาคือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะของความดับของตัณหา หรือความต้องการทุกชนิดและทุกระดับโดยสิ้นเชิง ตราบใดที่ยังมีความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน (self) ตัวฉัน (I) หรือตัวเขา (he) อยู่ อุปาทานขันธ์ย่อมเกิดขึ้นและสิ่งนี้ก็คือตัวทุกข์ที่แท้จริง ดังนั้น เป้าประสงค์หรือจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนาจึงสูงกว่าในจิตวิทยามาก นิพพานเป็นโลกุตตรธรรม (supramundane state) ซึ่งเป็นธรรมอันมิใช่วิสัยของโลกหรือเป็นสภาวะพ้นโลก แต่จุดหมายสูงสุดในจิตวิทยาเป็นเพียงโลกิยธรรม (mundane state) ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของโลกหรือสภาวะที่ยังเนื่องอยู่ในโลกเท่านั้น20

ในเรื่องที่เกี่ยวกับตัณหานี้มีข้อความตอนหนึ่งที่พระอานนท์ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า “อาศัยตัณหาละตัณหา”27 ข้อความนี้หมายความว่าการที่คนเรามีความปรารถนาความอยากที่จะเข้าถึงนิพพาน ถือว่าเป็นตัณหาอย่างหนึ่งแต่เป็นตัณหาที่จะฆ่าตัณหาในระดับที่อยู่ต่ำกว่าให้หมดไป เมื่อตัณหาดับหมดแล้วก็เข้าถึงสภาวะนิพพานคือไม่มีตัณหาอะไรเหลืออยู่อีกที่จะต้องขจัดออกไป ดังนั้น ในระยะแรกจึงต้องอาศัยความปรารถนานิพพานซึ่งสำหรับบุคคลธรรมดาจัดว่าเป็นวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง28

อย่างไรก็ตามมีนักจิตวิทยาบางคนเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของความต้องการเกี่ยวกับอุตรภาพ (transcendence need) ซึ่งเป็นความต้องการที่อยู่พ้นขอบข่ายของโลกหรือธรรมชาติ เป็นภาวะที่พ้นจากโลกียวิสัย เป็นความต้องการทางจิตวิญญาณที่อยู่เหนือตัวตนหรืออัตตาและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจักรวาล (cosmic identification)26 จะเห็นได้ว่าแนวคิดเช่นนี้มีพัฒนาการสูงขึ้นและเริ่มมีส่วนคล้ายกับมโนทัศน์ของนิพพานในพุทธศาสนา

 การเปรียบเทียบระหว่างมโนทัศน์ของจิตในพุทธจิตวิทยากับจิตวิเคราะห์

จิต (mind) ในพระอภิธรรมหรือพุทธจิตวิทยา (Buddhist psychology) เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 ที่เรียกว่า กองวิญญาณ (conciousness) คำว่า “วิญญาณ” หมายถึงธรรมชาติที่รู้อารมณ์ (สิ่งเร้า) ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง 6 (ดูรายละเอียดเรื่องวิญญาณในขันธ์ 5)

จิตที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง 6 นี้มีชื่อเรียกว่าวิถีจิต (Vithi citta)29,30 เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่คนเราตื่นตัว หรือรู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ วิถีจิตนี้เมื่อเปรียบเทียบกับจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ก็คือ จิตสำนึก (the conscious) และจิตก่อนสำนึก (the preconscious) ความจริงจิตก่อนสำนึกซึ่งอาจเรียกว่าจิตกึ่งสำนึกคือส่วนของจิตที่รวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ที่คนเราสามารถจะรู้หรือระลึกได้เมื่อมีความตั้งใจ เช่น เมื่อมีคนถามว่า “คุณอายุเท่าไร?” หรือ “เบอร์โทรศัพท์ที่บ้านคุณหมายเลขอะไร?” เราก็ตอบได้ทันที1,22 ดังนั้นจิตก่อนสำนึกก็คือมโนวิญญาณ (mind consciousness) ซึ่งเป็นวิถีจิตอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทางใจ ส่วนจิตสำนึกจะตรงกับวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางตา เรียกว่าจักขุวิญญาณ (eye-consciousness) ทางหูเรียกว่าโสตวิญญาณ (ear-consciousness) ทางจมูกเรียกว่าฆานวิญญาณ (nose-consciousness) ทางลิ้นเรียกว่าชิวหาวิญญาณ (tongue-consciousness) และทางกายเรียกว่ากายวิญญาณ (body-consciousness)

ในพระอภิธรรมได้กล่าวถึงจิตอีกประเภทหนึ่งคือ ภวังคจิต (Bhavanga citta or life-continuum)29,30 ซึ่งหมายถึงจิตที่ไม่ขึ้นวิถีหรือไม่รับอารมณ์ (สิ่งเร้า) ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตัวอย่างเช่นในขณะที่คนเราหลับสนิทและไม่ฝันหรือคนที่อยู่ในภาวะสลบ (coma) จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ จิตหรือวิญญาณก็ยังคงทำงานอยู่ ถ้าจะเปรียบเทียบกับเครื่องผลิตไฟฟ้า (dynamo) ภวังคจิตคือเครื่องผลิตไฟฟ้าที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาและทำให้มีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น กระแสไฟฟ้าที่ปรากฎออกมาเป็นแสงสว่างในหลอดไฟก็เปรียบเสมือนวิถีจิตนั่นเอง

ภวังคจิต (life-continuum) สามารถเปรียบเทียบได้กับจิตไร้สำนึก (the unconscious) ตามแนวคิดของ Freud30 และจิตไร้สำนึกรวม (the collective unconscious) ตามทรรศนะของ Jung29 เพียงแต่ว่าภวังคจิตในพุทธศาสนามีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าในจิตวิทยาสมัยใหม่มาก อกุศลมูล (unwholesome roots) ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง รวมทั้งกุศลมูล (wholesome roots) ซึ่งได้แก่ความไม่โลภ (อโลภะ) ความไม่โกรธ (อโทสะ) และความไม่หลง (อโมหะ) จะถูกเก็บสั่งสมไว้ในภวังคจิต ทำนองเดียวกันกับแรงขับทางเพศ (sexual drives) แรงขับทางก้าวร้าว (aggressive drives) อภิอัตตา (superego) และบางส่วนของสัญชาตญาณแห่งอัตตา (ego-instinct) ซึ่งรวมกันเป็นเนื้อหาที่สำคัญของจิตไร้สำนึกในทฤษฎีจิตวิเคราะห์1,22

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์คือ ทางสายกลางที่ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป ทางสายกลางที่อยู่ในระหว่างสุดโต่งทั้งสองที่ทุกคนควรดำเนินคือ มรรค 8 หรืออัฏฐังคิกมรรค (The Noble Eightfold Path) ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ (Right understanding) คือ ความเห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ (Right thought) คือ ความดำริชอบ

3. สัมมาวาจา (Right speech) คือ การเจรจาชอบ

4. สัมมากัมมันตะ (Right action) คือ การกระทำชอบ

5. สัมมาอาชีวะ (Right livelihood) คือ การเลี้ยงชีพชอบ

6. สัมมาวายามะ (Right effort) คือ ความเพียรชอบ

7. สัมมาสติ (Right mindfulness) คือ ความระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ (Right concentration) คือ ความตั้งจิตมั่นชอบ

มรรค 8 นี้คือ ไตรสิกขา (The Threefold Training) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับการศึกษาเพื่ออบรมกาย วาจา และใจ และพัฒนาให้เกิดปัญญายิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดคือนิพพาน ไตรสิกขาคือศีล (morality) สมาธิ (concentration) และปัญญา (wisdom) สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ 2 ข้อนี้เป็นปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 3 ข้อนี้เป็นศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ 3 ข้อนี้เป็นสมาธิ6,7

กิเลสสามอย่าง

กิเลส (defilements) หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง แบ่งออกได้เป็นสามประเภทดังนี้29,31

1. อนุสัยกิเลส (Latent defilements) คือกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมอยู่ใน

ภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึกของคนเรา ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบแล้ว กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ ไม่แสดงอาการปรากฏออกมาให้เห็น เป็นกิเลสที่ละเอียดอย่างยิ่งและนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของทุกคน จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนงูที่นอนหลับอยู่ ขณะที่ยังไม่มีสิ่งใดมากระทบ งูนั้นก็จะหลับเรื่อยไปโดยไม่ปรากฎอาการใด ๆ เลย ต่อเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ งูนั้นก็จะยกหัวขึ้นตวัดฉกทันที

อนุสัยกิเลสมีอยู่ 7 ประการคือ 1) กามราคะ คือความกำหนัดในกาม (lust for sensual pleasure) 2) ปฏิฆะ คือ ความขัดเคืองหรือโทสะ (ill-will) 3) ทิฏฐิ คือความเห็นผิด (wrong view) 4) วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย (doubt) 5) มานะ คือความถือตัว (conceit) 6) ภวราคะ คือความกำหนัดในภพ (lust for becoming) และ 7) อวิชชาคือ ความไม่รู้หรือโมหะ (ignorance)7 อนุสัยกิเลสทั้ง 7 ประเภทนี้เมื่อสรุปจะมีอยู่เพียง 3 ประเภทคือ 1) ราคานุสัย (sexual latent defilements) คือ กิเลสสายโลภะ (greed) ซึ่งได้แก่กามราคะและภวราคะ 2) ปฏิฆานุสัย (aggressive latent defilements) คือกิเลสสายโทสะ (hatred) ซึ่งได้แก่ ปฏิฆะ และ 3) อวิชชานุสัย (delusional latent defilements) คือกิเลสสายโมหะ (delusion) ซึ่งได้แก่ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะและอวิชชา อนุสัยกิเลสหรือกิเลสอย่างละเอียดนี้สามารถขจัดและทำลายได้ด้วยปัญญา (wisdom) ซึ่งได้แก่ วิปัสสนากรรมฐาน (insight meditation) เท่านั้น

2. ปฏิยุฏฐานกิเลส (Internally active defilements) คือกิเลสอย่างกลาง เมื่อมีอารมณ์มากระทบ อนุสัยกิเลสที่นอนสงบอยู่ในภวังคจิตจะฟุ้งกระจาย ทำให้จิตใจขุ่นมัวและฟุ้งซ่าน ในสภาวะเช่นนี้อนุสัยกิเลสจะเปลี่ยนฐานะกลายเป็นปริยุฏฐานกิเลสในวิถีจิตทันที เช่นเดียวกันกับเมื่อมีสิ่งใดมากระทบกับงู ๆ ตัวนั้นจะยกหัวขึ้นตวัดฉกหรือส่ายไปมา ในจิตวิเคราะห์ปริยุฏฐานกิเลสหรือกิเลสอย่างกลางจะปรากฎขึ้นในระดับจิตสำนึก (the conscious) และจิตก่อนสำนึก (the preconscious)

กิเลสอย่างกลางนี้คือ กิเลสประเภทนิวรณ์ (hindrances)7 ซึ่งหมายถึงสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรมหรือสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ได้แก่ 1) กามฉันทะ คือความพอใจในกามคุณ (sensual desire) 2) พยาบาทคือ ความคิดร้าย (ill-will) 3) ถีนมิทธะคือ ความหดหู่และเซื่องซึม (sloth and torpor) 4) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและความกังวล (restlesssness anxiety or worry) และ 5) วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย (doubt) กิเลสอย่างกลางหรือนิวรณ์ 5 นี้ สามารถทำลายได้ด้วยอำนาจของสมาธิ (concentration) แต่สมาธิเป็นเพียงแต่ข่มกิเลสไว้เท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสได้โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามการที่กิเลสสงบลงได้ด้วยอำนาจของสมาธิ ย่อมทำให้คนเราประสบความสงบสุขได้ในระดับหนึ่ง

3. วีติกกมกิเลส (Externally active defilements) คือกิเลสอย่างหยาบ เป็นกิเลสที่ฟุ้งมากจนปรากฎออกมาทางกายและทางวาจา ทำให้ตัวเราเองและสังคมวุ่นวายเดือดร้อน ความจริงแล้วกิเลสอย่างหยาบก็สืบเนื่องมาจากกิเลสอย่างกลางที่เปลี่ยนสภาพไปนั่นเอง ทำนองเดียวกันกับงูที่กำลังชูหัวส่ายไปมา พอได้โอกาสก็ตวัดฉกกัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่ขวางหน้า เป็นกิเลสที่ล่วงอกุศลกรรมบถ หรือทางแห่งการกระทำความชั่ว กล่าวคือ ถ้าฟุ้งออกมาทางกายก็เป็นกายทุจริต 3 คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม ถ้าฟุ้งออกมาทางวาจาก็เป็นวจีทุจริต 4 คือ การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ กิเลสอย่างหยาบสามารถระงับลงได้ด้วยอำนาจของศีล (morality) เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 เป็นต้น

วิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่

ได้กล่าวมาแล้วว่าสิ่งที่สามารถทำลายอนุสัยกิเลสหรือกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึกโดยสิ้นเชิงมีอยู่วิธีเดียวคือ ปัญญา ซึ่งได้แก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ แต่ในจิตวิเคราะห์หรือจิตวิทยาสมัยใหม่ยังไม่มีวิธีการที่มีประสิทธิผลในการทำลายล้างกิเลสประเภทนี้หรือแม้แต่แรงขับทางสัญชาติญาณ (the id drives) ได้อย่างถอนรากถอนโคน สติปัฏฐาน แปลว่าที่ตั้งของสติ ซึ่งได้แก่ กาย (body) เวทนา (feelings) จิต (mind) และธรรม (mind-objects) สติปัฏฐาน 4 จึงหมายถึงการมีสติกำหนดรู้ที่กาย เวทนา จิต และธรรม สติปัฏฐานแบ่งออกได้เป็น 4 หมวด ดังนี้15,32

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติกำหนดที่กาย เน้นการกำหนดที่อิริยาบถใหญ่ ได้แก่ อาการนั่ง อาการยืน อาการเดิน และอาการนอน อิริยาบถย่อยได้แก่ การทำความรู้ตัวอยู่เสมอ (สัมปชัญญะ) ในการก้าวไปข้างหน้า การก้าวกลับหลัง การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การนุ่งห่มเสื้อผ้า การกิน การดื่ม การเคี้ยว การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ การยืน การเดิน การนอน การตื่น การพูด และการนิ่ง

เมื่อเริ่มการปฏิบัติในขณะนั่งขัดสมาธิให้เอาสติไปกำหนดที่ท้องบริเวณสะดือ สังเกตแต่เพียงอาการคือ การเคลื่อนไหวของท้อง (movement of abdomen) ขณะที่ต้องพองออกให้กำหนดในใจว่า “พองหนอ ๆ” ขณะที่ท้องยุบลงให้กำหนดในใจว่า “ยุบหนอ ๆ” การกำหนดอาการพองและอาการยุบ คือ การกำหนดธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม ธาตุที่เห็นได้ชัดคือ ธาตุลม ซึ่งมีสภาวะลักษณะคือ การเคลื่อนไหวและการค้ำจุน อาการพองและอาการยุบคือ รูปที่เกิดจากการกระทบของธาตุลม เรียกว่า วาโยโผฏฐัพพะรูป การที่ร่างกายเคลื่อนไหวหรือทรงตัวอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ ได้ก็เพราะการค้ำจุ้นจากอำนาจของธาตุลม

2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติกำหนดที่เวทนา เวทนาหมายถึงความรู้สึกหรือการเสวยอารมณ์ ได้แก่ 1) สุขเวทนา ความรู้สึกสบาย เป็นสุข 2) ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย เป็นทุกข์ และ 3) อุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

สำหรับการปฏิบัติให้ตั้งสติกำหนดรู้อาการของเวทนาต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางใจเช่น เจ็บ ปวด ชา เมื่อย ตึง คัน วิงเวียน คลื่นไส้ สบาย พอใจ เฉย เป็นต้น ตัวอย่าง เมื่อมีอาการปวดเกิดขึ้นชัดเจน ให้เปลี่ยนจากการกำหนด “พองหนอ ๆ” “ยุบหนอ ๆ” มาเป็น “ปวดหนอ ๆ” จนอาการปวดหายไป จึงค่อยกลับไปกำหนดที่อารมณ์หลักหรืออารมณ์เดิมคือ อาการพอง และอาการยุบ

3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติกำหนดที่จิต เป็นการกำหนดรู้จิตและเจตสิก (สิ่งที่ประกอบกับจิต) เช่น กำหนดรู้ว่า จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น เป็นต้น

สำหรับการปฏิบัติให้ตั้งสติกำหนดรู้จิต และอาการของจิต เช่น เมื่อจิตมีอารมณ์โกรธ ให้กำหนดว่า “โกรธหนอ ๆ” เมื่อจิตมีอารมณ์หงุดหงิด ให้กำหนดว่า “หงุดหงิดหนอ ๆ” เมื่อจิตมีอารมณ์เศร้า ให้กำหนดว่า “เศร้าใจหนอ ๆ” เมื่อจิตอยากเดิน ให้กำหนดว่า “อยากเดินหนอ ๆ” เป็นต้น

4. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติกำหนดที่ธรรม ซึ่งหมายถึงอารมณ์หรือสภาวธรรมที่ปรากฎอยู่ในใจ ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงศ์ 7 และอริยสัจ 4

ขอยกตัวอย่างวิธีปฏิบัติสำหรับการกำหนดอายตนะ 12 ซึ่งได้แก่ อายตนะภายนอก 6 (รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ถูกต้องกายหรือโผฏฐัพพะ และสิ่งที่ใจนึกคิด หรือธรรมารมณ์) และอายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ) เช่น เมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้องสัมผัส หรือการคิดเกิดขึ้น ให้กำหนดในใจว่า “เห็นหนอ ๆ” “ได้ยินหนอ ๆ” “ได้กลิ่นหนอ ๆ” “รู้รสหนอ ๆ” “ถูกต้องหนอ ๆ” และ “คิดหนอ ๆ” เป็นต้น

 ทรรศนะทางจิตวิทยาของวิปัสสนากรรมฐาน

การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ เมื่อพิจารณาในทรรศนะทางจิตวิทยาแล้วมีกระบวนการที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. การกำหนดรู้เฉย ๆ (Bare attention) ตามปกติเมื่อคนเรามองดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะต้องมีความรู้สึก อารมณ์ และความคิด เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย มีการสร้างความเกี่ยวโยง (association) ให้เกิดขึ้นระหว่างตัวเรากับวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์ที่กำลังรับรู้อยู่ สัมพันธภาพเช่นนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสังเกตของเรา เป็นการกำหนดรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบจิตวิสัย (subjective perception) กล่าวคือ เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องและพัวพันกับเหตุการณ์นั้น ทางจิตวิเคราะห์เรียกว่า อัตตาที่กำลังเผชิญปัญหา (experiencing ego)

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นการกำหนดรู้แบบวัตถุวิสัย (objective perception) เราจะต้องแยกปรากฏการณ์ทางจิตของเราออกจากวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์นั้น ๆ ไม่ให้จิตของเราเข้าไปมีอิทธิพลต่อสิ่งที่กำลังสังเกตดูอยู่ การมองในลักษณะเช่นนี้คือการกำหนดรู้เฉย ๆ (bare attention)29 ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมากกับอัตตาที่กำลังสังเกตดู (observing ego) ในจิตวิเคราะห์ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำจิตบำบัดแบบอิงจิตวิเคราะห์ (psychoanalytically-oriented psychotherapy) คือ ผู้รักษาจะต้องช่วยให้ผู้ป่วยมีการแบ่งแยกของอัตตา (ego splitting)33 ออกเป็นอัตตาทั้งสองอย่างดังกล่าว

การกำหนดรู้เฉย ๆ หรือการกำหนดสักแต่ว่ารู้เป็นรากฐานอันสำคัญของการฝึกจิตโดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการสังเกตสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริงโดยไม่มีการคัดเลือก ไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีการประเมิน ไม่มีการมองไปข้างหน้าหรือข้างหลังหรือการคาดหวังต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่เป็นการอยู่กับขณะปัจจุบัน (the present moment) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ (here and now) จิตใจของคนเรามักจะหมกมุ่นอยู่กับอดีตซึ่งเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว และชอบกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง การกำหนดรู้เช่นนี้จะช่วยให้คนเราอยู่กับปัจจุบันธรรมได้อย่างตื่นตัวและมีชีวิตชีวา

ในคัมภีร์มโนรถปูรณี34 พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติการกำหนดรู้ อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางอายตนะทั้งหกแก่พาหิย ทารุจีริยะว่า “ดูก่อนพาหิย ถ้าเธอเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรสสักแต่ว่าลิ้มรส สัมผัสสักแต่ว่าสัมผัส นึกคิดสักแต่ว่านึกคิด นี่แหละคือที่สุดแห่งทุกข์” พอจบพระธรรมเทศนาอย่างย่นย่อเช่นนี้ พาหิยก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันที การที่คนทั่วไปจะปฏิบัติอย่างพาหิยได้เช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจขั้นตอนในการปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อน การกำหนดรู้เฉย ๆ ตามแนวสติปัฏฐานสี่ประกอบด้วยองค์ 3 คือ15,29

1.1 อาตาปี ได้แก่วิริยะหรือ ความเพียร (effort) ในการเผากิเลสให้เหือดแห้งไป ความเพียรนี้คือมรรคข้อที่ 6 ในมรรค 8 ที่เรียกว่า สัมมาวายามะ (right effort) ซึ่งหมายถึงความเพียรระวังอกุศลกรรมมิให้เกิดขึ้น ความเพียรในการละอกุศลกรรมที่เกิดขึ้น ความเพียรในการทำกุศลกรรมให้เกิดขึ้น และความเพียรในการรักษากุศลกรรมให้เจริญยิ่งขึ้น โดยย่อได้แก่ความเพียรในการกำหนดอารมณ์ของกรรมฐานหรือรูปนามที่เกิดขึ้น

1.2 สติมา ได้แก่ สติ (mindfulness) หมายถึงความระลึกได้ (recollection) ในการกำหนดรูปนามที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ สติยังหมายถึงความแนบชิด (non- superficiality) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยทำให้จิตแนบแน่นอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง จิตจะได้ไม่ล่องลอยและไม่ฟุ้งซ่าน ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า สติคือสุนัขเฝ้ายามผู้ซื่อสัตย์ (Mindfulness is a faithful watch dog.) การเฝ้ายามหรือการเฝ้าระวังเช่นนี้มีลักษณะคล้ายอัตตาที่กำลังสังเกตดู (observing ego) ดังกล่าวแล้ว เมื่อสติมีพลังมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ สมาธิ (concentration) ซึ่งทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่งได้นาน

1.3 สัมปชาโน ได้แก่ สัมปชัญญะ (clear comprehension or awareness)

หมายถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมในรูปนามที่กำลังเกิดขึ้นทางทวารทั้ง 6 รู้แจ้งชัดว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม โดยองค์ธรรมสัมปชัญญะได้แก่ ปัญญา (wisdom or insight knowledge) ในการเห็นรูปนามว่าไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และไม่ใช่ตัวตน หรือบังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา)

ตัวอย่าง ในขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้นรูปารมณ์คือรูปที่เป็นสีต่าง ๆ จะกระทบกับจักขุประสาทคือ ประสาทตา อาการเห็นรูปนั้นเรียกว่าจักขุวิญญาณผัสสะ คือความกระทบหรือความประจวบกันของรูป (อายตนะภายนอก) ตา (อายตนะภายใน) และการเห็น (จักขุวิญญาณ) ผัสสะทางตา หรือจักขุสัมผัส (eye contact) ที่เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาหรือความรู้สึก (feeling) เช่น ถ้าเป็นภาพที่สวยงามก็จะเกิดความชอบ (สุขเวทนา) ถ้าเป็นภาพที่ไม่สวยงามหรือน่ารังเกียจก็จะเกิดความไม่ชอบ (ทุกขเวทนา) บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกเฉย ๆ (อุเบกขาเวทนา) ต่อภาพที่เห็น เวทนาจะเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา (ความทะยานอยาก) ๆ เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) จนทำให้วงจรของความทุกข์หมุนเวียนต่อไปไม่สิ้นสุด

นอกจากนั้น สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา เมื่อสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นรากเหง้าของโลภะ โทสะ และโมหะ ตามลำดับ จนสุดท้ายกิเลสเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นกิเลสอย่างละเอียดคือ อนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึก ดังนั้นทุกครั้งที่มีการเห็นเกิดขึ้น ถ้ามีการกำหนดในใจว่า “เห็นหนอ ๆ” พร้อมด้วยวิริยะ สติและสัมปชัญญะ จะมีแต่เพียงรูปและนามเท่านั้นที่เกิดขึ้น รูปคือตากับคลื่นสีที่มากระทบ ส่วนนามคือการเห็นหรือจักขุวิญญาณ ในขณะนั้นจะไม่มีคำว่า ฉันเห็น สิ่งที่ถูกเห็น หรือสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เกิดขึ้น ไม่มีแม้แต่ความรู้สึกว่าชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ ความจริงจักขุประสาทก็ดี รูปารมณ์ก็ดี เมื่อกระทบกันเกิดเป็นจักขุวิญญาณก็ดี ล้วนแต่เกิดขึ้นมาชั่วขณะนิดหนึ่งแล้วก็ดับ มีการเกิดและการดับอยู่ตลอดเวลาอย่างถี่ยิบ เหมือนหินกับเหล็กไฟกระทบกัน แสงไฟเกิดขึ้นชั่วแวบเดียวแล้วก็ดับหายไปทันที35

ในทางจิตวิทยาสำหรับผู้ที่กำหนดรู้เฉย ๆ เมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบกับอวัยวะสัมผัส (sense organs) จะมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีความระลึกได้ และมีความรู้ตัวทั่วพร้อม มองดูความรู้สึกสภาพจิตและความคิดอย่างชัดเจนเหมือนการดูตัวละครที่กำลังแสดงลีลาบนเวที ไม่มีการใช้กลวิธานทางจิต (defense mechanisms) อย่างใดอย่างหนึ่งเลย ขณะเดียวกับก็ทำให้กลวิธานทางจิตที่มีอยู่แล้วอ่อนกำลังลง ตัวอย่าง เมื่อมีคนมาดูถูกเหยียดหยามเราอย่างแรง เรารู้สึกโกรธมาก เราอาจด่าโต้ตอบไป ถ้าไม่อยากมีเรื่องก็พยายามใช้กลวิธานทางจิตอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น การกดระงับ (suppression) การเก็บกด (repression) การระบายไปที่อื่น (displacement) การทดแทน (sublimation) การปฏิเสธ (denial) เป็นต้น ความโกรธยังคงมีอยู่แต่ถูกบิดเบือนหรือเปลี่ยนสภาพไปโดยกลวิธานทางจิตดังกล่าว

แต่เมื่อเราโกรธ เราก็รู้ว่าโกรธและกำหนดในใจว่า “โกรธหนอ ๆ” ไปเรื่อย ๆ วิริยะ สติ และสัมปชัญญะ จะค่อย ๆ มีพลังเพิ่มขึ้น ความโกรธเป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล แต่สติเป็นเจตสิกฝ่ายกุศล เจตสิกทั้งสองอย่างนี้จะเกิดร่วมกัน ในขณะจิตหนึ่งหรือในจิตดวงเดียวกันไม่ได้ ดังนั้นทุกครั้งที่กำหนดในใจว่า “โกรธหนอ ๆ” สติพร้อมด้วยเจตสิกฝ่ายกุศลอื่น ๆ เช่น วิริยะ ศรัทธา สมาธิ และปัญญา จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ความโกรธหรือเจตสิกฝ่ายอกุศลค่อย ๆลดลงจนหายไปในที่สุด นั่นคือจิตโกรธจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นจิตไม่โกรธ ดังนั้นการกำหนดรู้เฉย ๆ แต่ละครั้งจะต้องมีอย่างน้อยวิริยะ สติ และสัมปชัญญะเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ มิใช่ว่าเป็นการกำหนดแบบเลื่อนลอย หรือไม่มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน

2. การขจัด-การเก็บกด (De-repression) กลไกทางจิตขั้นพื้นฐาน คือ การเก็บกด (repression) ซึ่งหมายถึงการกดทับความคิด แรงผลักดัน แรงขับ หรือความจำ ที่ขัดแย้งและก่อให้เกิดความปวดร้าวทางใจอย่างรุนแรง ไม่ให้ผุดขึ้นมาในระดับจิตสำนึก ถือว่าเป็นกลไกดั้งเดิมที่สุดอย่างหนึ่งในการจัดการกับสิ่งที่คุกคามภายใน (internal threat) ซึ่งมักได้แก่ ความวิตกกังวล (anxiety) อันเนื่องจากความขัดแย้งภายในจิตใจ (intrapsychic conflict) และความข้องขัดใจ (frustration)22 ตัวอย่าง การลืมงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ แต่เป็นงานที่ไม่ชอบหรือไม่ได้รับผลประโยชน์ หญิงสาวผู้หนึ่งลืมเหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เธอขับรถชนเสาไฟฟ้าจนน้องสาวที่นั่งไปด้วยเสียชีวิต

วิปัสสนากรรมฐานมีส่วนคล้ายกับจิตวิเคราะห์อย่างหนึ่งคือ การขจัด-การเก็บกด (de-repression) ในมโนทัศน์ของ Freud การขจัด-การเก็บกด หมายถึงการทำให้สิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกออกมาสู่จิตสำนึก (to make unconscious conscious) อย่างไรก็ตาม Freud เน้นแต่เฉพาะการขจัดการเก็บกดของความต้องการหรือแรงขับทางสัญชาตญาณในจิตไร้สำนึกที่เข้ากันไม่ได้กับอภิอัตตาและกฎเกณฑ์ทางสังคม หรืออีกนัยหนึ่ง Freud เน้นสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกเชิงลบ เช่น แรงขับทางเพศ (sexual drive) และแรงขับทางก้าวร้าว (aggressive drive) มากเกินไป ในขณะที่ Jung ให้ความสนใจมากเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกเชิงบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญา (wisdom)36

ในขณะที่จิตเป็นสมาธิสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกจะค่อย ๆ ลอยตัวขึ้นมาสู่จิตสำนึก คล้าย ๆ กับความเกี่ยวโยงอิสระ (free association) ในจิตวิเคราะห์1 สิ่งที่ปรากฏออกมาในจิตสำนึกอาจจะเป็นความคิด จินตนาการ ความโลภ ความโกรธและความหลง ตลอดจนภาพและนิมิตต่าง ๆ เมื่อมีสภาวะใดเกิดขึ้นก็ต้องกำหนดในใจจนสภาวะดังกล่าวหายไป เช่น คิดหนอ ๆ ราคะหนอ ๆ ฟุ้งซ่านหนอๆ เห็นหนอ ๆ หงุดหงิดหนอ ๆ พอใจหนอ ๆ สุขหนอ ๆ รวมความว่าจะต้องกำหนดในใจทุกอย่างไม่ว่าสภาวะทางจิตจะดีหรือเลว การกำหนดรู้เฉย ๆ ด้วยวิริยะ สติ และสัมปชัญญะที่ว่องไวและมีพลังแรงพอจะทำให้สิ่งที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกปรากฏออกมาสู่จิตสำนึกและหายไปในที่สุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือ การเกิด และการดับของจิต รวมทั้งองค์ประกอบของจิต (เจตสิก)

3. การขจัด-การวางเงื่อนไข (De-conditioning) ในจิตวิทยาการวางเงื่อนไขเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนอง จากการทดสอบของ Pavlov เกี่ยวกับการวางเงื่อนไขตามแบบฉบับ (classical conditioning) สิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข (unconditioned stimulus) เช่น อาหาร จะก่อให้เกิดการตอบสนองที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข (unconditioned response) เช่น น้ำลายไหล และสิ่งเร้าที่ถูกวางเงื่อนไข (conditioned stimulus) เช่น กระดิ่ง จะก่อให้เกิดการตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไข (conditioned responsed)37 โดยนัยเดียวกัน สิ่งที่มนุษย์ทุกรูปนามถูกวางเงื่อนไขมาตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งถึงการดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันคือ ความสุขหรือความพอใจจะเกิดขึ้นเมื่อได้ประสบกับสิ่งที่ตนคิดว่ามีลักษณะของความงาม (beauty) ความสุข (happiness) ความเที่ยง (permanence) และความมีตัวตน (ego) ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนพยายามดิ้นรนแสวงหาคือสิ่งที่มีลักษณะสี่ประการดังกล่าวนี้

ในทางตรงกันข้ามพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่ามนุษย์มีวิปัลลาส (illusion or distortion) คือ การหลอนตัวเองด้วยการมองผิดอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 1) สุภวิปัลลาส : ความเห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม 2) สุขวิปัลลาส : ความเห็นว่าสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ 3) นิจจวิปัลลาส ความเห็นว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง และ 4) อัตตวิปัลลาส : ความเห็นว่ามีตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน38,39 มโนทัศน์ทางพุทธศาสนาเช่นนี้เมื่ออธิบายตามทฤษฎีเกี่ยวกับการรู้ (cognitive theory) จะเห็นว่าความยึดมั่นในความงาม ความสุข ความเที่ยงและความมีตัวตน เป็นลักษณะของความคิดหรือการกำหนดรู้ที่บิดเบือนไปจากสภาพความเป็นจริง ความคิดทำนองนี้เรียกว่าความคิดอัตโนมัติ (automatic thoughts)4 การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 มีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือการขจัดวิปัลลาสหรือความคิดอัตโนมัติทั้งสี่นี้ให้หมดสิ้นไป ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดง

 กายานุปัสสนา เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคลที่มีสุภวิปัลลาส คือ ผู้มองเห็นว่างาม

ในสิ่งที่ไม่งามเกี่ยวกับร่างกาย

เวทนานุปัสสนา เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคลที่มีสุขวิปัลลาส คือผู้มองเห็นว่าสุขใน

สิ่งที่เป็นทุกข์เกี่ยวกับเวทนา

จิตตานุปัสสนา เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคลที่มีนิจจวิปัลลาส คือผู้มองเห็นว่า

เที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยงเกี่ยวกับจิต

ธรรมานุปัสสนา เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคลที่มีอัตตวิปัลลาส คือ ผู้มองเห็นว่ามี

ตัวตน ในสิ่งที่ไม่มีตัวตนเกี่ยวกับธรรม

ดังนั้น กระบวนการอย่างหนึ่งของวิปัสสนากรรมฐานคือ การขจัด-การวางเงื่อนไข (de-conditioning) ซึ่งแต่เดิมคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีลักษณะของความงาม ความสุข ความเที่ยง และความมีตัวตน

4. การเรียนรู้ใหม่ (New learning) การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นกระบวนการเรียนรู้ใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถทำลายวิปัลลาสทั้งสี่และเกิดปัญญา (wisdom) ที่จะเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาดังกล่าวมิได้เป็นแต่เพียงจินตามยปัญญา (wisdom resulting from reflection) คือปัญญาที่เกิดจากการคิด การพิจารณาหาเหตุผล หรือสุตมยปัญญา (wisdom resulting from study) คือปัญญาที่เกิดจากการสดับและการเล่าเรียน แต่เป็นภาวนามยปัญญา (wisdom resulting from mental development) คือปัญญาที่เกิดจากการฝึกอบรมและการลงมือปฏิบัติ7 ปัญญาประการหลังนี้จะก่อให้เกิดความรู้แจ้งแทงตลอด (penetrative insight) ในรูปนามและสรรพสิ่งทั้งหลายว่ามีความน่าเกลียด (ugliness) ความเป็นทุกข์ (suffering) ความไม่เที่ยง (impermanence) และความไม่มีตัวตน (egolessness)

ดังนั้น การเรียนรู้ใหม่คือการเกิดปัญญาที่เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ในทรรศนะของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปัญญาในที่นี้คือ วิปัสสนาญาณ (insight knowledges) ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

5. การพิจารณาซ้ำ (Working through) ประสบการณ์จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องเฉพาะตน โยคีหรือผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเพียรอย่างแรงกล้าในกำหนดอารมณ์ของกรรมฐาน คือรูปและนามอย่างต่อเนื่องตามที่วิปัสสนาจารย์ได้แนะนำ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างการปฏิบัติคือผู้ปฏิบัติต้องรายงานการปฏิบัติ รวมทั้งสภาวะหรือปรากฏการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และตรงไปตรงมาให้กับวิปัสสนาจารย์ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่าการสอบอารมณ์ถ้ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง มีปัญหาหรือความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น วิปัสสนาจารย์จะคอยให้คำแนะนำสั่งสอนและแก้ไขด้วยวิธีนี้ วิปัสสนาญาณ (insight knowledge) จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับขั้น เช่น ญาณกำหนดรู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปและนามเท่านั้น รู้เหตุปัจจัยของรูปและนาม รู้ว่ารูปนามมีลักษณะของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน รู้ว่ารูปนามเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา รู้ว่ารูปนามแตกสลายไปในที่สุด รู้ว่ารูปนามเป็นของน่ากลัว เป็นโทษและอันตราย เกิดความเบื่อหน่ายและความปรารถนาที่จะพ้นจากรูปนาม เป็นต้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวสภาวะของญาณมักขึ้น ๆ ลง ๆ เนื่องจากผู้ปฏิบัติยังมีความเคยชินอยู่กับการเรียนรู้เดิม คือการมองเห็นทุกสิ่งว่าเที่ยง เป็นสุข สวยงาม และเป็นตัวตน จึงอาจเกิดความขัดแย้ง (conflict) และความต้านทาน (resistance) ระหว่างการเรียนรู้เดิมและการเรียนรู้ใหม่ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของวิปัสสนาจารย์ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น มีการพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก (working through) จนกระทั่งผู้ปฏิบัติเกิดความหยั่งเห็น (insight) ในสภาวะของรูปนามตามความเป็นจริง และทำให้วิปัสสนาญาณสูงขึ้นตามลำดับ แม้ในระดับสูงก็ยังต้องมีการทบทวนเรื่องพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก อย่างเช่น วิปัสสนาญาณที่เรียกว่า “ปฏิสังขาญาณ” คือ ความรู้หรือปัญญาที่พิจารณารูปนามโดยอารมณ์พระไตรลักษณ์ (ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน) อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเห็นประจักษ์ชัดอย่างแน่วแน่ ผลที่ตามมาคือปัญญาอันแหลมคมที่สามารถตัดหรือทำลายอนุสัยกิเลสให้หมดสิ้นไปตามลำดับ

มโนทัศน์ของสุขภาพจิตหรือภาวะปกติ

Offer และ Sabshin (1974)ได้แบ่งภาวะปกติ (normality) ออกเป็นสี่ทัศนียภาพ (four perspectives) ดังนี้41

1. ภาวะปกติคือสุขภาพ (Normality as health) ภาวะปกติหมายถึงการมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เหมือนอย่างที่องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของสุขภาพ (health) ไว้ว่า “สุขภาพคือภาวะของความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ไม่เพียงแต่ความปราศจากโรคหรือทุพพลภาพเท่านั้น”

2. ภาวะปกติคือความสมบูรณ์ทุกประการ (Normality as Utopia) คำว่า “Utopia” หรือ อุตมรัฐ เป็นดินแดนหรือสังคมแห่งความสมบูรณ์พูนสุขทุกอย่างตามอุดมคติ เมื่อมองตามแนวนี้คนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ไม่มีความเครียดหรือความวิตกกังวลเลย มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถและปราศจากความเห็นแก่ตัว มีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมดี และมีความต้านทานต่อความกดดันต่าง ๆ

Freud มีความเชื่อว่าภาวะปกติเช่นนี้ไม่น่าจะมีได้ โดยกล่าวว่า “อัตตาที่ปกติเหมือนกับภาวะปกติทั่วไป เป็นแต่เพียงสิ่งสมมุติตามอุดมคติเท่านั้น (A normal ego is like normality in general, an ideal fiction)” ในพุทธศาสนา ภาวะปกติในฐานะที่เป็นอุตมรัฐนิยม (Utopianism) คือสิ่งที่เป็นไปได้จริง มิใช่เป็นแต่เพียงอุดมคติหรือความเพ้อฝันเท่านั้น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งบุคคลใดก็ตามที่สามารถทำลายรากเหง้าของกิเลสในจิตไร้สำนึกให้หมดสิ้นได้โดยสิ้นเชิง

3. ภาวะปกติคือเกณฑ์เฉลี่ย (Normality as average) ตามหลักสถิติเมื่อ

พิจารณาดูส่วนโค้งรูประฆัง (bell-shaped curve) พบว่าคนปกติหรือคนที่มีสุขภาพจิตดีจะอยู่ในช่วงตรงกลางซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ย (average) และมีจำนวนมากกว่าคนที่ผิดปกติ (abnormal individuals) หรือคนที่เหนือกว่าปกติ (supernormal individuals)

คนที่ผิดปกติคือคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดี กล่าวคือมีอาการของโรคประสาท โรคจิต บุคลิกภาพแปรปรวน โรคทางกายสาเหตุจากจิตใจ ปัญญาอ่อน โรคเกี่ยวกับสมอง และอื่น ๆ จุดมุ่งหมายของจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์คือช่วยเหลือคนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเหล่านี้ให้คืนสู่ภาวะปกติหรือมีสุขภาพจิตดีขึ้น

ส่วนคนที่เหนือกว่าปกติ ในพุทธศาสนาหมายถึงอริยบุคคล (noble individuals) คือบุคคลผู้ประเสริฐ หรือบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จุดมุ่งหมายที่สำคัญในพุทธศาสนาคือการช่วยให้คนที่อยู่ในภาวะปกติมีพัฒนาการทางจิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคนที่เหนือกว่าปกติหรืออริยบุคคล

4. ภาวะปกติคือระบบที่มีกิริยาข้ามกัน (Normality as transactional systems) ภาวะปกติเป็นระบบกิริยาระหว่างกัน (interacting systems) ของปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางจิตใจและปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม เป็นการผสมผสานของปัจจัยเหล่านี้เข้าเป็นระบบ ตัวอย่าง เกี่ยวกับสุขภาพจิตจะต้องพิจารณาในมุมมองของโครงสร้างทางระบบประสาท ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับทารก บทบาทของบิดามารดา ครอบครัว วิธีการเลี้ยงดูเด็ก อิทธิพลของเชื้อชาติและศาสนา เป็นต้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะมีกิริยาระหว่างกันอย่างใกล้ชิดจนไม่อาจแยกออกจากกันได้

นอกจากนั้นภาวะปกติในฐานะเป็นกระบวนการที่มีกิริยาระหว่างกันยังเน้นถึงการเปลี่ยนแปลง (changes) ในช่วงยาวของชีวิต อย่างเช่นขั้นพัฒนาการทางจิตใจและสังคม (stages of psychosocial development) ของ Erikson เป็นต้น

 ผู้ที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ที่สุด

Freud มีความเชื่อว่าภาวะปกติสัมบูรณ์ (absolute normality) เช่นเดียวกับความสุขสุดยอดหรือบรมสุข (supreme happiness) คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะมนุษย์ทุกคนยังต้องมีความขัดแย้งภายในจิตใจอยู่ไม่มากก็น้อย ดังนั้นเมื่อมองในทรรศนะของ Offer และ Sabshin ที่กล่าวว่าภาวะปกติคืออุตมรัฐนิยม (Utopianism)21 ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติตามอุดมคตินั้น จะเห็นได้ว่ามโนทัศน์ของภาวะปกติเช่นนี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้ยากหรือเกือบจะไม่ได้เลย จิตวิเคราะห์ตามแนวคิดของ Freud กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีอาการของโรคประสาทอย่างน้อยที่สุดเพียงบางส่วน41,42

โดยนัยเดียวกันจิตวิทยาสมัยใหม่ มีมโนทัศน์ว่า ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นสภาวะทางจิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์ทุกคนต้องมีความวิตกกังวลในระดับหนึ่งไม่มากก็น้อย บางครั้งความวิตกกังวลในระดับที่ต่ำและสามารถควบคุมได้อาจได้รับการยอมรับว่าเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งของคนเรา ทำให้การงานบางอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าขาดสิ่งนี้แล้วอาจกลายเป็นคนเฉื่อยแฉะแบบเช้าชามเย็นชาม

อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาเห็นด้วยกับ Freud ในเรื่องความเป็นสากลของโรคประสาทและความขัดแย้งในจิตไร้สำนึก (universality of neurosis and unconscious conflicts)29 แต่พุทธศาสนาไม่ได้มองว่าภาวะปกติสัมบูรณ์เป็นเรื่องเพ้อฝัน แม้ว่าภาวะปกติสัมบูรณ์จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากแต่พระพุทธองค์ได้ทรงเข้าถึงภาวะนี้แล้ว รวมทั้งพระอรหันต์ขีณาสพอีกเป็นจำนวนมาก

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย โรคมีอยู่ 2 ชนิดคือ โรคทางกาย โรคทางจิต สัตว์ทั้งหลายที่ยืนยันว่า ตนไม่มีโรคทางกายเลย ตลอดเวลาทั้งปี ก็มีปรากฎอยู่ ผู้ที่ยืนยันว่าตนไม่มีโรคทางกายเลย ตลอดเวลา 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี 10 ปี 20 ปี 30 ปี 40 ปี 50 ปี 60 ปี ก็ปรากฏมีอยู่ แต่สัตว์ที่ยืนยันว่าตนไม่มีโรคทางจิตเลย แม้ชั่วเวลาเพียงครู่หนึ่งเท่านั้น หาได้ยากในโลก ยกเว้นแต่พระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะกิเลส) ทั้งหลาย”43

คำว่าโรคทางจิตในที่นี้หมายถึงโรคที่เกิดจากกิเลส หรือจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม คนที่ไม่เป็นโรคทางจิตคือคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์หมดจดปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีอยู่ประเภทเดียวเท่านั้นคือพระอรหันต์ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าคนที่มีสุขภาพจิตดีและสมบูรณ์ที่สุดคือ พระอรหันต์นั่นเอง ส่วนอริยบุคคลที่เหลืออีก 3 ประเภทคือ พระโสดาบัน พระสกทาคมีและพระอนาคามี ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสคือสังโยชน์เหลืออยู่บ้างตามลำดับขั้น

พระโสดาบัน (Stream-enterer) หมายถึง ผู้บรรลุกระแสพระนิพพานคือมีหวังได้นิพพานในที่สุด เป็นอริยบุคคลขั้นแรกในพุทธศาสนา พระโสดาบันดับกิเลสหรือตัดสังโยชน์ (fetters) ได้ 3 อย่างคือ 1) สักกายทิฏฐิ (personality-view) ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน 2) วิจิกิจฉา (doubt) ความลังเลสงสัย และ 3) สีลัพพตปรามาส (adherence to rules and rituals) ความยึดมั่นในศีลพรตอย่างผิด ๆ7 พระโสดาบันจะกลับมาเกิดอีกในโลกนี้ไม่เกินเจ็ดครั้ง

พระสกทาคามี (Once-returner) หมายถึงผู้ที่เป็นอริยบุคคลขั้นที่สอง จิตพัฒนาสูงขึ้นและบริสุทธิ์ยิ่งกว่าจิตของพระโสดาบัน เป็นผู้ที่ละสังโยชน์ 3 ประการเท่ากับพระโสดาบัน แต่ทำราคะ โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลง ที่มีชื่อว่าพระสกทาคามี (Once-returner) หมายความว่าอริยบุคคลขั้นนี้เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะกลับมาเกิดอีกในโลกนี้เพียงครั้งเดียว7

พระอนาคามี (Non-returner) หมายถึงผู้ที่เป็นอริยบุคคลขั้นที่สาม จิตจะพัฒนาสูงขึ้นและบริสุทธิ์ยิ่งกว่าจิตของพระสกทาคามี เป็นผู้ที่จะสังโยชน์เบื้องต้นได้ 5 อย่างคือ 1) สักกายทิฏฐิ 2) วิจิกิจฉา 3) สีลัพพตประมาส 4) กามราคะ (sensual lust) ความกำหนัดในกาม และ 5) ปฏิฆะ (irritation) ความโกรธหงุดหงิด พระอนาคามี (Non-returner) หมายถึงผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก7

พระอรหันต์ (The Worthy One) หมายถึงผู้ที่เป็นอริยบุคคลขั้นสูงสุด จิตจะพัฒนาถึงขั้นสูงสุดและมีความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่ละสังโยชน์เบื้องปลายอันเป็นกิเลสอย่างละเอียดอีก 5 อย่างคือ 6) รูปราคะ (attachment to realms of form) ความปรารถนาในรูปภพหรือรูปฌาน 7) อรูปราคะ (attachment of formless realms) ความปรารถนาในอรูปภพหรืออรูปฌาน 8) มานะ (conceit) ความถือตัว 9) อุทธัจจะ (restlessness) ความฟุ้งซ่าน และ 10) อวิชชา (ignorance) ความไม่รู้แจ้ง7

ในทรรศนะของพุทธศาสนา พระอรหันต์คือผู้ที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ที่สุด เพราะภาวะจิตของท่านเป็นอิสระจากแรงขับที่เป็นอกุศลคือ โลภะ โทสะ และโมหะ เป็นผู้ที่ปราศจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม จิตใจของท่านสงบ เยือกเย็น แจ่มใส เชื่อมั่น ปราศจากความกลัว (fear) และความกังวล (worry)44 กิเลสอย่างละเอียด (อนุสัยกิเลส) และกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ (อาสวะกิเลส) ในภวังคจิตหรือจิตไร้สำนึกถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง จะเห็นได้ชัดว่าจุดมุ่งหมายของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในพุทธศาสนาสูงกว่าการรักษาทางจิตในจิตวิเคราะห์มาก พุทธศาสนาเน้นการปฏิบัติทางจิตเพื่อช่วยให้คนที่มีภาวะจิตปกติอยู่แล้ว ให้มีพัฒนาการทางจิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากระดับโลกิยภูมิไปสู่ระดับโลกุตตรภูมิและจากปุถุชน (worldly persons) ไปสู่อริยบุคคล (noble persons) นับตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ในที่สุด

เอกสารอ้างอิง

1. Gabbard GO. Psychoanalysis. In : Harold IK, Benjamin JS, eds. Comprehensive textbook of psychiatry. 6th ed. Vol. 1 Baltimore: Williams & Wilkins, 1995: 431-78.

2. Moore BE, Fine BD. Psychoanalytic terms and concepts. London: American Psychiatric Association, 1990.

3. Morris CG. Psychology: an introduction. 7th ed. New Jersey: Prentice-Hall International, 1990: 407-31.

4. พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ. วิปัสสนาธุระ. กรุงเทพมหานคร: C 100 Design Co., 2536: 155-218.

5. Sayadaw M. The great discourse on the turning of the wheel of dhamma (Ihammacakkappavattana sutta). Bangkok: Buddhadhamma Foundation, 1996: 94-123.

6. สุขีโว ภิกขุ. อริยสัจคืออะไร? พิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2520: 46-85.

7. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์: ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538.

8. ฐิตวัณฺโณ ภิกขุ. วิปัสสนาภาวนา พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2535: 101-18.

9. พระเตชินท อภิธัมมกถิกาจารย์ ธัมมาจริยะ. พระอภิธัมมัตถสังคหทีปนี: จิตปรมัตถ์. กรุงเทพฯ: บริษัท ส.พยุงพงศ์ จำกัด, 2501: 223-52.

10. แผนกวิชาการแห่งกองการวิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุ. อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 8 ปัจจยสังคหวิภาค ภาค 1 ปฏิจจสมุปบาท. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ อาศรมอักษร, 2507: 161-89.

11. จำลอง ดิษยวณิช. การวินิจฉัยและการใช้ยาทางจิตเวช. โครงการตำรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่: เจริญการพิมพ์, 2531: 195-7.

12. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorder. 4th ed. Washington : American Psychiatric Association, 1994.

13. จำลอง ดิษยวณิช. โรคทางกายสาเหตุจากจิตใจ (Psychosomatic disorders). ใน : เกษม ตันติผลาชีวะ, บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เล่ม 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536: 652-94.

14. พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ. พระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (ฉบับสำหรับประชาชน) รวบรวมโดย พระมหาถวัลย์ ญาณจารี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2529: 49-66.

15. จำลอง ดิษยวณิช. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน. เอกสารการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน รุ่นที่ 2. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2539: 36-50.

16. พระศรีคัมภีรญาณ (ถวัลย์ ญาณจารี). อภิธัมมัตถสังคหะ 9 ปริจเฉท เล่มที่ 1 สำหรับประชาชนทั่วไป ฉบับกาญจนาภิเษก ฉลองศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กิจพานิชย์, 2540: 45-75.

17. Feldman RS. Essentials of understanding psychology. 2nd ed. New York: McGraw -Hill, 1994: 81-126.

18. Bullen LA. A technique of living: based on Buddhist psychological principles. Kandy: Buddhist Publication Society, 1982: 79-84.

19. กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ประมวลศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2518.

20. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์: ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538.

21. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2540.

22. จำลอง ดิษยวณิช. ปัจจัยด้าน psychodynamic ต่อการเกิดโรคทางจิตเวช. ใน : เกษม ตันติผลาชีวะ บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536: 267-87.

23. Tyson P, Tyson RL. Narcissism and superego development. JAPA 1984; 34:75-98.

24. พระศรีวิสุทธิกวี. จิตวิทยาในพระอภิธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528: 94-9.

25. Freud S. Beyond the pleasure principle (1920). In: Strachey J, ed. Standard edition of the complete psychological works of Sigmund Freud. London: Hogarth Press and the Institute of Psycho-Analysis, 1953 : -74.

26. Peterson C. Introduction to psychology. New York: Harper Collins Publishers, 1991: 223-4.

27. พุทธทาส อินทปัญโญ. สิ่งที่อาจเข้าใจเขว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสาสน์, 2506: 124-36.

28. พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ. ปรมัตถโชติกะ ปริเฉทที่ 1-2-6 จิต เจตสิก รูป นิพพาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วัฒนกิจพาณิชย์, 2535: 153-9.

29. จำลอง ดิษยวณิช. จิตวิเคราะห์แนวพุทธเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2535; 37: 170-81.

  1. de Silva MWP. Buddhist and Freudian psychology. 2nd ed. Colombo: Lake House Printers & Publishes, 1978: 34-71.

31. พระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ. แว่นธรรมปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย, 2534: 90-2.

32. Thera N. The heart of Buddhist meditation. York Beach: Samuel Weiser, Inc., 1988: 117-35.

33. Harrison SI, Carex DJ. A guide to psychotherapy. Boston: Little, Brown and Co, 1966: 52-4.

34. ประคม ชีวะประวัติ. คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคะบุคคล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ปรเมษฐ์การพิมพ์, 2524: 197-201.

35. พระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ. พระธรรมเทศนา ปฏิจจสมุปปาทสังเขปกถา. ชลบุรี: สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม, 2507: 1-33.

36. Suzuki DT, Fromm E, DeMartino R. Zen Buddhism and psychoanalysis. New York: Grove Press, 1963: 95-113.

37. Engler B. Personality theories: an introduction. 3rd ed. Boston: Houhgton Mifflin Com, 1991: 197-232.

38. Sayadaw L. The manual of insight: vipassana dipani. 2nd ed. Kandy: Buddhist Publication Society, 1986: 1-5.

39. ธนิต อยู่โพธิ์. สติปัฏฐานสำหรับทุกคน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535: 32-41.

40. Kaplan HI, Sadock BJ, Grebb JA. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry: behavioral sciences, clinical psychiatry. 7th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1994: 859-64.

41. Offer D, Sabshin M. Normality. In: Harold IK, Alfred MF, Benjamin JS, eds. Comprehensive textbook of psychiatry. 3rd ed. Vol. 1. Baltimore: Williams & Wilkins, 1980: 608-13.

42. Freud S. Analysis terminable and interminable (1937). In: Strachey J, ed. Standard edition of the complete psychological works of Sigmund Freud. London: Hogarth Press, 1964.

43. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538: 248-9.

44. Johanssen Rune EA. The psychology of Nirvana. New York: Anchor Books, 1970: 114-29

 

Buddhism and Psychiatry*

 

Chamlong Disayavanish, M.S., M.D.**

 Abstract

There are clearly both parallelisms and divergences between Abhidhamma which is Buddhist psychology and psychiatry, especially psychoanalysis. Both doctrinal systems have the concept that all mental phenomena including suffering and behaviors have specific antecedent causes, often operating on an unconscious level. However, the Bhavanga citta or the unconscious in Buddhism has a broader and more profound scope than the unconscious in psychoanalysis as the former is a reservoir of wholesome and unwholesome actions, mental intoxications and perfections, including cravings which are the origin of suffering. The three kinds of cravings, namely craving for sensual pleasures, craving for existence and craving for non-existence, can be compared with the concepts of sexual instinct, ego instinct and death instinct in psychoanalysis respectively.

Moreover, with regard to the unconscious unwholesome roots, namely greed (lobha), hatred (dosa), and delusion (moha), the concepts of greed and hatred are very similar in many aspects to sexual drive and aggressive drive but Freud did not seem to acknowledge the notion of delusion (moha) at all. As to the unconscious wholesome roots, namely non-greed or generosity, non-hatred or loving-kindness, and non-delusion or wisdom, they can be relatively compared with the concept of superego in psychoanalysis.

The aim in psychiatry is to help the patients with mental disorders return to normality with a better social adjustment and personality development. The goal in Buddhism is far superior to that in psychiatry in that it provides the normal individual with the doctrine that can be practiced to promote higher spiritual development from the mundane level to the supramundane one and finally to Nirvana. In psychoanalysis, there is no effective method to eradicate human instinctual drives and cravings completely but, according to the Buddhist doctrine, the deep-rooted unconscious impurities or latent defilements can be absolutely eradicated through the practice of insight meditation. The psychological aspects of insight meditation includes 1) bare attention, 2) de-repression, 3) de-conditioning, 4) new learning, and 5) working through.

Freud believed that the state of absolute mental health is an impossible ideal because anxiety which is a neurotic symptom still exists in every human being. On the contrary, Buddhism advocates the conception that absolute mental health can be attained in this very life if one can totally remove all mental defilements and intoxications. Such person is called an Arahant, the noble one who is fully enlightened and has given up all spiritual fetters that bind man to the endless round of rebirths and redeaths.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(3):

 Key Words: cravings (tanha), wholesome roots, unwholesome roots, insight meditation, instinctual drives, superego

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us