เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(3): 258-65.

บทบาทของผู้ชายกับปัญหาครอบครัวไทยในปัจจุบัน

 

ภัสสร ลิมานนท์ ปร.ด. (สังคมวิทยา-ประชากรศาสตร์)*

บทคัดย่อ

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทางลบหลายประการที่ทำให้เกิดปัญหาและสร้างความเปราะบางต่อสถาบันครอบครัวไทย โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทยปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมและการประพฤติปฏิบัติบางประการที่มีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ค่านิยมที่เห็นชัดเจนก็คือการยกให้ชายเป็นใหญ่กว่าหญิง ยอมรับให้ชายสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ และมีบทบาทส่วนร่วมในกิจกรรมประจำวันของครอบครัวน้อยเกินไป เหล่านี้ทำให้ชายสร้างปัญหาครอบครัวในรูปแบบต่างๆ อาทิ การดื่มเหล้า เจ้าชู้ การเที่ยวโสเภณี มีภรรยาน้อย การทุบตีหรือทำร้ายสมาชิกครอบครัว การหย่าร้าง หรือทอดทิ้งครอบครัว

แนวทางและมาตรการที่จะทำให้ชายได้มีบทบาทและความรับผิดชอบต่อครอบครัวมากขึ้น เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในการประชุมระดับนานาชาติ ทุกฝ่ายยอมรับว่าการที่จะทำให้ค่านิยมที่ไม่พึงปรารถนาหลายประการ มีการเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นที่จะต้องเริ่มแก้ไขจากภายในครอบครัวก่อน ควรมีการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการเรียนการอบรมในทุกระดับที่ไม่เน้น การแบ่งแยกความรับผิดชอบหลายๆ ด้านระหว่างชายและหญิง กิจกรรมในชุมชนจะต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อเสริมการอบรมที่เกิดขึ้นในบ้านและในโรงเรียน การปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติระดับชาติที่แสดงให้เห็นว่าชายและหญิงสำคัญทัดเทียมกันเพราะขึ้นอยู่กับความสามารถ มิใช่ขึ้นอยู่กับเพศ สุดท้ายก็คือ ควรให้มีการทำวิจัยศึกษาทั้งทัศนคติและพฤติกรรมของชายที่มีต่อครอบครัวและชีวิตสมรสเพื่อวางแนวทางจัดกิจกรรมที่เหมาะสมให้ชายมีส่วนร่วมในครอบครัวมากขึ้น

 คำสำคัญ ครอบครัว บทบาทชายไทย

 * สถาบันประชากรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาคารวิศิษฐ์ประจวบเหมาะ, พญาไท, กรุงเทพฯ 10330 

บทนำ

ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจของมนุษย์ เพราะเป็นแหล่งให้กำเนิด ให้การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน แบ่งปันความรัก ความอบอุ่น และเป็นแหล่งพักพิงทางใจของสมาชิกครอบครัวเมื่อประสบปัญหาครอบครัว ตามความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปมักจะประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก หรืออาจจะมีสมาชิกประกอบด้วยคนสามรุ่น คือ ปู่ย่า-ตายาย พ่อแม่ และลูก นอกจากนี้อาจมีญาติพี่น้องอื่น ๆ อาศัยรวมอยู่ด้วย เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่พบได้มากในสังคมแบบดั้งเดิม หรือสังคมเกษตรกรรม

ในช่วงระยะเวลาประมาณกว่า 30 ปีที่ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (ต่อมาคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม) จนถึงปัจจุบัน ประเทศได้พัฒนาเศรษฐกิจไปในทางที่ดีขึ้น รายได้ประชาชาติสูงขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว มาตรฐานความเป็นอยู่โดยรวมของประชากรดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเพิ่มรายได้เป็นหลักได้ส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม ต่อคุณภาพชีวิตหลายๆ ด้านของประชากร รวมทั้งชีวิตครอบครัวและความสัมพันธ์ของสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากถูกกระทบจากกิจกรรมนอกบ้าน การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งรายได้เป็นหลัก ทำให้ค่านิยมของคนส่วนใหญ่มุ่งเน้นวัตถุนิยม เลือกที่จะแสวงหาเงินทอง ผลประโยชน์ที่จะได้จากธุรกิจการงานเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ขณะที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวรองลงมา ผลพวงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหลายประการดังกล่าวแล้ว ทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาและมีแนวโน้มว่าปัญหาหลายอย่างมีความรุนแรงขึ้น อาทิ การหย่าร้าง ชายทอดทิ้งครอบครัว การทำร้ายทุบตีหญิงและเด็ก การทำร้ายทางเพศ ปัญหาวัยรุ่น การใช้ยาเสพย์ติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน การตั้งครรภ์โดยไม่พึงปรารถนาของวัยรุ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว มิได้เป็นผลกระทบจากแรงกดดันภายนอกที่กล่าวแล้วแต่เพียงประการเดียว ทั้งนี้เพราะผลจากการวิจัยเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวจำนวนไม่น้อยให้ข้อมูลที่ค่อนข้างสอดคล้องกันว่า ค่านิยมและการประพฤติปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของชาย-หญิงในครอบครัวไทย มีส่วนช่วยให้เกิดปัญหาในครอบครัวมากขึ้นหรือเร็วขึ้นในสังคมสมัยใหม่ที่สถานการณ์แวดล้อมรวมทั้งเงื่อนไขการใช้ชีวิตของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นได้มีโครงการวิจัยส่วนหนึ่งให้ข้อสรุปว่าชายไทย (ส่วนใหญ่หมายถึงหัวหน้าครอบครัวหรือสามี) จำนวนไม่น้อยมีส่วนก่อปัญหาให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว ดังจะได้กล่าวต่อไป

สังคมไทยนับว่าไม่แตกต่างจากหลายสังคมในภูมิภาคเอเซียที่ยึดถือประพฤติปฏิบัติตามค่านิยมการแบ่งบทบาทหน้าที่ชาย-หญิงโดยรวม และบทบาทหน้าที่การเป็นสามีและภรรยาในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะยกย่องให้ชายเป็นใหญ่ตามคำกล่าวที่มีมาแต่อดีต เช่น ‘ชาย-ช้างเท้าหน้า หญิง-ช้างเท้าหลัง’..... ‘เป็นสตรีสุดดีแต่เพียงผัว จะดีชั่วแต่ก็ยังกำลังสาว’ หรือ ‘ถ้าแม้นว่าภัสดา เข้าไสยาสน์ จงกราบบาทาทุกครั้ง อย่าพลั้งหลง’...... ‘จงรีบฟื้นตื่นก่อนภัสดา น้ำล้างหน้าหาไว้ให้เสร็จสรรพ.....’ สามีซึ่งถือกันว่าเป็นผู้นำครอบครัวก็จะทำหน้าที่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ทำงานหลักนอกบ้าน ขณะที่ภรรยาจะรับบทบาทการดูแลความเรียบร้อยในบ้าน ให้การเลี้ยงดูลูก ทำให้โอกาสที่จะยุ่งเกี่ยวหรือรับภาระนอกบ้านลดน้อยลง ผลจากการสำรวจโครงการครอบครัวไทย เมื่อปี พ.ศ.2537 ซึ่งมีผู้ตอบคำถามมากกว่า 3,000 ราย จากคำถามที่ว่า ปกติใครทำงานบ้าน? พบว่าร้อยละ 72 ของสตรีในเขตเมือง และร้อยละ 78 ของสตรีในเขตชนบท ตอบว่าตนเองเป็นผู้ทำงานบ้าน ขณะที่เพียงร้อยละ 16 ของชายในเขตเมือง และร้อยละ 18 ของชายในเขตชนบท ตอบว่าตนเองเป็นผู้ทำงานบ้าน ส่วนการทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรเล็ก (อายุ 0-3 ปี) และบุตรโต (อายุ 3-10 ปี) ส่วนใหญ่ก็จะตกเป็นภาระของผู้เป็นภรรยามากกว่าสามี 1

ค่านิยมรวมทั้งพฤติกรรมเช่นว่านี้ เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เด็กชาย เด็กหญิง เรียนรู้บทบาทและหน้าที่ของตนตั้งแต่เยาว์วัยจากพ่อแม่ และจากสังคมแวดล้อม ซึ่งการประพฤติปฏิบัติตามการแบ่งบทบาทเช่นว่าได้ก่อให้เกิดปัญหามิใช่น้อยในการดำเนินชีวิตครอบครัวในสังคมปัจจุบันที่มีเงื่อนไขใหม่เข้ามากำหนดบทบาทของชายและหญิงให้เปลี่ยนไปจากเดิม

นอกจากสังคมจะมีค่านิยมที่ยกย่องชายให้เป็นใหญ่ในครอบครัวแล้ว สังคมไทยยังมีค่านิยมที่ยอมรับให้ชายสามารถประพฤติตนหลายประการที่หญิงมิสามารถทำในลักษณะเดียวกันได้ พฤติกรรมหลายอย่างมีความไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ครอบครัวแตกร้าวได้ อาทิ การดื่มเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวโสเภณี มีภรรยาน้อย การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน นำโรคติดต่อหลายอย่างมาสู่ภรรยา เหล่านี้พบว่ามักทำให้ชายขาดความรับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูครอบครัวเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง การทำร้ายร่างกายทุบตีภรรยา ลูก และหลายกรณี นำไปสู่การที่ชายทอดทิ้งครอบครัวเดิมไปมีครอบครัวใหม่

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปจากทั้งการสังเกตการณ์ และจากข้อมูลที่บันทึกโดยการจดทะเบียนราษฎร์ว่า ปัจจุบันคู่สมรสไทยทั้งที่จดทะเบียน และไม่จดทะเบียนสมรส มีการแยกกันอยู่ หรือหย่าร้างกันในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพบว่าระยะเวลาที่คู่สมรสอยู่ร่วมกันตั้งแต่แต่งงานจนถึงการแยกคู่นั้นค่อนข้างสั้น 2,3 อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นเป็นดัชนีชี้ให้เห็นความไม่ปกติสุขของการใช้ชีวิตคู่ของชาย-หญิงภายในครอบครัวไทย ในสังคมปัจจุบันและมักมีต้นเหตุมาจากความประพฤติของชายผู้เป็นสามีมิใช่น้อย เนื่องจากการจดทะเบียนหย่าร้างในประเทศไทยมิได้มีการบันทึกสาเหตุการหย่าร้างโดยละเอียด นอกจากการระบุ ปัญหาหลัก ๆ เช่น ทัศนคติไม่ตรงกัน มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคู่อาจมีปัญหาที่ลึกซึ้งภายในครอบครัวที่ทั้งหญิงและชายไม่ประสงค์จะรายงาน หรือเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ 4

จากโครงการวิจัยครอบครัวไทย พ.ศ.2537 ได้มีการสอบถามผู้ตอบ (3,000 กว่าราย) ว่ามีความพอใจในชีวิตสมรสของตนมากน้อยเพียงใด ผู้ตอบชายร้อยละ 91 ผู้ตอบหญิงร้อยละ 81 ตอบว่าโดยทั่วไปพอใจกับชีวิตสมรส แต่มีผู้ตอบหญิงมากถึงร้อยละ 12 ที่ตอบว่ามีความรู้สึกเฉย ๆ และร้อยละ 7 ที่ตอบว่าไม่พอใจกับชีวิตสมรส ซึ่งโดยรวมแล้วพบว่าผู้ตอบหญิงมีความพอใจในชีวิตสมรสน้อยกว่าผู้ตอบชาย ทั้งนี้อาจเนื่องจากภาระที่หญิงต้องรับมากกว่าชายในการครองชีวิตคู่ ในโครงการเดียวกันนี้ ผู้ตอบหญิงมากถึงร้อยละ 6 (เปรียบเทียบกับชายร้อยละ 1) ตอบว่าตนเคยคิดถึงการหย่าร้างกับคู่สมรสบ่อยครั้ง และมีผู้ตอบหญิงจำนวนมากถึงร้อยละ 16 ที่ตอบว่า แม้จะไม่บ่อยครั้งนักแต่ก็เคยคิดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตนและคู่สมรส 1

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีส่วนทำให้ครอบครัวไทยแตกแยก และพบว่าชายมีส่วนสำคัญในปัญหานี้ก็คือ การทุบตี ทำร้ายร่างกายกันในครอบครัว (domestic violence) ซึ่งผู้ถูกทำร้ายส่วนใหญ่จะเป็นหญิงผู้เป็นภรรยา หรือลูกสาว ทั้งนี้เพราะสังคมไทยซึ่งก็ไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ นัก ยังมีค่านิยมยกให้ชายเป็นใหญ่ (male dominant) ทำให้คนส่วนหนึ่งยอมรับว่าชายยังมีสิทธิที่จะ ‘ควบคุม’ สมาชิกในครอบครัวโดยการใช้อำนาจหรือการใช้กำลังได้ และยอมรับการทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งเลยเถิดไปถึงการทุบตีภรรยาว่า “เป็นเรื่องภายในครอบครัว... เป็นเรื่องลิ้นกระทบฟัน ไม่นานก็จะดีกันเอง” บุคคลอื่นไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว และไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้ผู้ถูกทำร้ายในครอบครัวไม่ได้มีการรายงาน เล่าสู่ญาติพี่น้องหรือแจ้งความฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพื่อให้ลงโทษชายผู้กระทำผิด เพราะอาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ทำให้ขาดข้อมูลที่สามารถนำมาศึกษาเพื่อวางนโยบายและสร้างแนวทางแก้ไขได้ในระดับประเทศแม้จะพบว่าปัญหาดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ในต่างประเทศที่มีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวพบว่า ผลพวงจากการที่หญิงถูกทำร้าย โดยสามีก็คือการที่หญิงพยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายมากขึ้นในกลุ่มหญิงที่ประสบปัญหาดังกล่าว และหาทางออกให้ตนพ้นจากภาวะดังกล่าวไม่ได้ 5 หรือมักจะมีปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน อยู่บ่อยครั้งที่หญิงมักจะใช้วิธีรุนแรงในการตัดต้นตอปัญหา เช่น การฆาตกรรมผู้เป็นสามี เนื่องจากถูกกดดันทางจิตใจ และการถูกทำร้ายร่างกายมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหญิงขาดที่พึ่งในการแก้ปัญหาจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการบ้านพักฉุกเฉินตามที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสตรีที่ถูกสามีทำร้าย ก็อาจใช้เป็นตัวบ่งชี้อีกทางหนึ่งถึงความไม่ปกติสุขของครอบครัวไทย โครงการศึกษาสถานภาพสตรีและภาวะเจริญพันธุ์ในประเทศไทยที่สัมภาษณ์สตรีวัย 15-44 ปี จำนวน 2,800 ราย เมื่อปี พ.ศ. 25366 พบว่าสตรีจำนวน 1 ใน 5 (ประมาณ 600 ราย) ที่ถูกสัมภาษณ์รายงานว่าเคยถูกสามีทุบตี ขณะที่สตรีเพียงร้อยละ 1 รายงานว่าตนเป็นฝ่ายทุบตีสามี สตรีในกรุงเทพมหานครที่รายงานว่าเคยถูกสามีทุบตี มีอัตราส่วนที่สูงกว่าสตรีในเขตอื่นๆ และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มสตรีที่เคยถูกสามีทุบตี พบว่าร้อยละ 13 รายงานว่าถูกทุบตีบ่อย ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) ของผู้ถูกทุบตี ยอมรับการกระทำนั้นหรือไม่ก็พยายามวิ่งหนีเอาตัวรอด นอกนั้นรายงานว่าตนต่อสู้กลับทำให้เกิดการทุบตีกัน อย่างไรก็ตาม สตรีที่ถูกสัมภาษณ์ในโครงการนี้ประมาณร้อยละ 81 เห็นว่าหญิงควรเลิกกับสามีหากถูกทุบตีบ่อยครั้ง ส่วนผลที่ได้จากการสำรวจโครงการครอบครัวไทยปี พ.ศ.2537 พบว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของสตรีผู้ตอบรายงานว่าเคยทะเลาะกับคู่สมรสจนถึงขั้นทุบตี ทำร้ายร่างกาย แต่คาดว่าตัวเลขที่รายงานเหล่านี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้ เพราะผู้ถูกทำร้ายไม่ต้องการรายงาน1

ปัญหาความรุนแรง และการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาเท่านั้น หากแต่ความรุนแรงยังได้เกิดต่อเนื่องไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศที่ชายหัวหน้าครอบครัวในฐานะพ่อ กระทำต่อลูกสาวที่อยู่ในวัยเด็กหรือรุ่นสาว แต่ไม่มีการเปิดเผยฟ้องร้องให้สาธารณชนรับทราบ เพราะชายมักใช้การข่มขู่ หลอกล่อ และอ้างว่าเป็นเรื่องของความน่าอับอายที่จำต้องปกปิด ทำให้ในหลายกรณีพบว่าชายกล้ากระทำความผิดดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดปัญหาต่อเด็กหญิงที่ถูกล่วงเกิน หรือในภาคเหนือพบว่ามีครอบครัวจำนวนหนึ่งขายบุตรสาวเพื่อให้เข้าประกอบอาชีพในธุรกิจบริการทางเพศ เพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว หรือนำเงินไปใช้หนี้สินของครอบครัวที่เกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ ซึ่งรวมทั้งการก่อหนี้โดยชายหัวหน้าครอบครัว จากการดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน เป็นต้น

ครอบครัวที่แตกแยกโดยการหย่าร้าง ได้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมามากมาย เพราะไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อคู่ชาย-หญิงที่หย่าร้างเท่านั้น แต่ยังได้ส่งผลถึงบุตรอีกด้วย ที่มักจะมีปัญหามากหลังจากครอบครัวแตกแยก และพบว่าในสังคมไทยนั้นภาระเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่าร้างมักจะตกเป็นของฝ่ายหญิง ด้วยความคิดที่ว่าลูกมีความใกล้ชิดผูกพันกับแม่มากกว่าพ่อ หรือแม่สามารถเลี้ยงลูก (กรณีลูกเล็ก) ได้ดีกว่าพ่อ และแม้ว่าทางกฎหมายจะได้มีการบังคับว่าผู้เป็นสามีต้องรับภาระส่วนหนึ่งในการให้การเลี้ยงดูบุตรภายหลังการหย่าขาดกับภรรยา แต่บทบังคับดังกล่าวมักถูกละเลยเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลจากโครงการวิจัยครอบครัวไทย ปี พ.ศ.2537 ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงภาระที่ผู้หญิงต้องรับภายหลังการแยก/หย่าร้าง คือ ประมาณร้อยละ 54 ของชายที่หย่าร้างและอายุต่ำกว่า 45 ปี (ประมาณ 40 ราย) รายงานว่าอดีตภรรยารับลูกไปเลี้ยงดูเอง ส่วนหญิงที่แยก/หย่าร้างประมาณร้อยละ 80 (ประมาณ 150 ราย) รายงานว่าต้องรับภาระดูแลลูกเอง และร้อยละ 44 ของหญิงที่แยก/หย่าร้าง อายุ 24 ปีหรือต่ำกว่า ต้องผลักภาระเลี้ยงดูบุตรให้กับญาติผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพ่อแม่ของตนเอง ที่น่าสนใจก็คือ ในกลุ่มของผู้ที่แยกหรือหย่าร้างทั้งหญิงและชายประมาณร้อยละ 60-80 รายงานว่าเมื่อเลิกร้างกันแล้วก็มิได้มีการช่วยเหลือจุนเจือต่อกันในการเลี้ยงดูบุตรไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทองข้าวของหรือการดูแลทั่วไป แต่พบว่าในกรณีของผู้ที่ยังติดต่อช่วยเหลือกันบ้างในการดูแลลูก มีชายอายุ 25-45 ปี ถึงร้อยละ 36 เปรียบเทียบกับเพียงร้อยละ 11 ของหญิงวัยเดียวกันได้รับการจุนเจือจากคู่สมรสเดิม และจากจำนวนคู่สมรสที่ระบุว่ามีปัญหาภายหลังการหย่าร้าง พบว่าหญิงร้อยละ 27 เปรียบเทียบกับชายเพียงร้อยละ 6 มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านแต่ต้องเพิ่มภาระในการเลี้ยงดูลูกภายหลังการหย่าร้าง

บทสรุป

ตามที่ได้อภิปรายในตอนต้นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทยปัจจุบันนี้มีสาเหตุ และที่มาของปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่ยากต่อการควบคุม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว นอกจากนี้ยังได้พบว่าปัญหาครอบครัวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากค่านิยม และการประพฤติปฏิบัติที่สืบทอดกันมาเพื่อให้ “ชายเป็นใหญ่ในสังคม....ในบ้าน มีอิสระเสรีที่จะทำสิ่งใดได้มากกว่าหญิง” ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นภายในครอบครัว ขณะที่สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ตัวอย่างของการดำรงค่านิยมเช่นว่านี้มีให้เห็นอยู่เสมอ อาทิ

1) พบว่าไม่มีความพยายามใดๆ ภายในครอบครัวที่จะปลูกฝังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทของลูกชาย-หญิงว่า ทั้งสองเพศจำเป็นต้องร่วมกันรับผิดชอบงานบ้าน และภาระต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน เช่น การกวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ซักเสื้อผ้า เป็นต้น ไม่มีงานใดที่เป็นของชายหรือหญิงโดยเฉพาะเท่าที่ปรากฏก็คือ ครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงมอบภาระงานบ้านให้กับเด็กหญิงขณะที่เด็กชายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก

2) ค่านิยมและการยอมรับที่ไม่ต้องการให้ชายยื่นมือเข้ามาช่วยรับผิดชอบทำงานบ้าน ยังได้รับการค้ำจุนสนับสนุนจากตัวฝ่ายหญิงเองด้วยทัศนคติที่ว่า “ชายทำงานนอกบ้านเหนื่อยมากแล้ว (ซึ่งในหลายกรณีหญิงเองอาจต้องทำงานนอกบ้านและรับภาระงานบ้านด้วย) หรือ “งานบ้านไม่ใช่งานของผู้ชาย” หรือ “ผู้ชายทำงานบ้านไม่ดีเท่าหญิง (ข้อมูลจากโครงการวิจัย ครอบครัวไทย พ.ศ.2537)

3) พฤติกรรมและค่านิยมที่ชายชอบดื่มเหล้า ออกไปสังสรรค์นอกบ้าน รวมทั้งการเที่ยวโสเภณีเหล่านี้บางครั้งสังคมโดยรวมหรือผู้หญิงก็เป็นฝ่ายให้ความเห็นใจและยอมรับต่อพฤติกรรมดังกล่าว เช่น “ชายทำงานมีความเครียดต้องมีทางออก (โดยการดื่ม)” “ชายต้องคบเพื่อนต้องมีการสังสรรค์ (เพื่อความก้าวหน้าในการงาน)” หรือ “ยอมให้สามีเที่ยวโสเภณีดีกว่ามีเมียน้อย (เพราะจะได้ไม่ต้องมีความสัมพันธ์ยืนยาว) 7

ค่านิยมเช่นกล่าวแล้วในตอนต้นมีหลายฝ่ายเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะค่านิยมเรื่องบทบาทของแต่ละเพศ ทำให้ชายมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในครอบครัวน้อยเกินไป และที่พฤติกรรมบางอย่างของชายสร้างความเปราะบางให้แก่ครอบครัว จนเกิดปัญหาได้ค่อนข้างมาก จากความรู้สึกที่เห็นว่าหญิงมีสถานภาพด้อยกว่าชายในหลาย ๆ ด้าน ทำให้งานวิจัยที่ดำเนินการในอดีตส่วนใหญ่มุ่งมองที่ตัวผู้หญิงเป็นเป้าหมายในการแก้ปัญหา มากกว่าที่จะให้ความสนใจศึกษาตัวผู้ชายว่ามีทัศนคติอย่างไร และควรมีบทบาทในครอบครัว และมากน้อยเพียงใด

ข้อเสนอแนะ

ในการประชุมนานาชาติ เรื่องประชากรกับการพัฒนา (International Conference on Population and Development หรือ ICPD) ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อเดือนกันยายน 2537 นั้น ได้มีการอภิปรายหยิบยกประเด็นที่จะหาแนวทางเพื่อให้ชายมีบทบาทและส่วนร่วมในครอบครัว และในด้านการอนามัยเจริญพันธุ์มากขึ้น (male participation and responsibilities in family and reproductive health) โดยที่ข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวมุ่งหวังที่จะให้เกิดประโยชน์ทั้งชายและหญิงในการพัฒนาตนเองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในฐานะสามีภรรยา และในฐานะสมาชิกครอบครัวที่มีสถานะที่ไม่แตกต่างกันจนเกินไป รวมทั้งได้เรียนรู้การมีบทบาทที่เอื้อต่อกันในชีวิตสมรสและภายในครอบครัว วิธีการและแนวทางเบื้องต้นที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวก็คือ เน้นการให้ข้อมูล ความรู้ และการสื่อสารกันในเรื่องเพศ (sexuality) ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง (gender relations) ให้มากกว่าที่ผ่านมาในอดีต8

ที่สำคัญยิ่งกว่าแนวทางแรกก็คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาย โดยเฉพาะเมื่อยังอยู่ในวัยที่อายุยังน้อย ควรได้รับการอบรมสั่งสอนปลูกฝังด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละสังคมให้เรียนรู้เกี่ยวกับความหมาย ความรับผิดชอบต่อชีวิตสมรส และการครองเรือน เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้สมกับวุฒิภาวะ รวมทั้งเรียนรู้ว่าหน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นพ่อแม่นั้นมีอะไรบ้าง การปลูกฝังให้เพศชายเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ทำได้โดยการริเริ่มมีรูปแบบตัวอย่างให้เห็นในครอบครัว การจัดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในทุกระดับชั้นเรียนสำหรับทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย จัดให้มีโครงการในชุมชนที่เน้นบทบาทการช่วยเหลือกันและกันของทั้งชายและหญิง และการปลูกฝังค่านิยมใหม่ผ่านสื่อมวลชนทุกรูปแบบ และข้อเสนอที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ โครงการใดๆ ก็ตามที่เคยเน้นการพัฒนาโดยใช้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง (woman-centered project) ก็น่าที่จะได้มีการปรับเปลี่ยนมาเน้นการมีส่วนร่วมของชาย (male participation) ให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรริเริ่มให้มีโครงการที่ชายได้เข้าไปมีส่วนรับรู้เกี่ยวกับหน้าที่ และความรับผิดชอบของหญิงในฐานะที่เป็นภรรยา หรือฐานะที่เป็นแม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชายค่อยซึมซับเกี่ยวกับความยากลำบากและความเสี่ยงที่หญิงต้องประสบ อาทิ การตั้งครรภ์ การให้กำเนิดบุตร การเลี้ยงทารก ความเสี่ยงที่ชายมีเพศสัมพันธ์สำส่อน และการประพฤติปฏิบัติที่จะนำอันตรายมาสู่ภรรยา เช่น การถ่ายทอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น 7

ข้อเสนอแนะส่วนสุดท้ายก็คือ ในปัจจุบันพบว่ามีรายงานหรือการวิจัยจำนวนน้อย ที่ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของชายที่มีต่อครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มให้มีการวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลในหลายแง่ทั้งพฤติกรรมและทัศนคติของชายที่มีต่อชีวิตสมรสและครอบครัวเพื่อนำเสนอให้กับผู้เกี่ยวข้องวางแผนและกำหนดโครงการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชายในอีกส่วนหนึ่งด้วย 9

 เอกสารอ้างอิง

  1. ภัสสร ลิมานนท์, เกื้อ วงศ์บุญสิน, สุวัฒนา วิบูลย์เศรษฐ์, วิพรรณ ประจวบเหมาะ รูฟโพโล. สรุปผลงานการวิจัยเบื้องต้นโครงการศึกษาครอบครัวไทย. เอกสารสถาบันหมายเลข 227/38 .กรุงเทพมหานคร: สถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เมษายน 2538.
  2. สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. สมุดสถิติรายปีประเทศไทย 2539 (ฉบับย่อ).
  3. Smith, David P. Illustrative analysis: marriage dissolution and remarriage in Sri Lanka and Thailand. The Hague, Netherlands: International Statistical Institute, 1981.
  4. วันทนา กลิ่นงาม. ภาวะการหย่าร้างของประชากรไทยระหว่างปี พ.ศ.2512-2521: การศึกษาจากทะเบียนการหย่า. ประชากรและการพัฒนา 2528; 5(5): *
  5. UNFPA. The State of World Population 1997. The Right to Choose: Reproductive Rights and Reproductive Health. New York: UNFPA, 1997.
  6. นภาพร ชโยวรรณ, มาลินี วงษ์สิทธิ์, วิพรรณ ประจวบเหมาะ รูฟโพโล. รายงานการวิจัยโครงการศึกษาสถานภาพสตรี และภาวะเจริญพันธุ์ในประเทศไทย. เอกสารสถาบันหมายเลข 229/38. กรุงเทพมหานคร: สถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พฤษภาคม 2538.
  7. Van Landingham, Knodel JM. Saengtienchai C, Pramualratana A. Friends, wives and extramaital sex in Thailand: A qualitative study of peer and spousal influence on Thai male extramarital sexual behavior and attitudes. IPS Publication no.222/95. Bangkok: Institute of Population Studies, Chulalongkorn University.
  8. UN, Department of Public Information. Summary of the Programme of Action of the International Conference on Population and Development. New York: United Nations, 1994.
  9. Edmonson J. Socio-cultural and behavioral research interventions in RH/FP. UNFPA/CST for East and South-East Asia Newsletter. Vol.3, No.3, December, 1995.

 

 


Male’s Role and Family Problems in Modern Thai Society

 

Bhassorn Limanonda, Ph.D. (Sociology-Demography)

Abstract

For about 3 decades, socio-economic development in Thailand aiming toward industrialization and urbanization has brought about some negative impacts on the family including changes in lifestyle and weakening family relations.

However, it is evident that problems in the Thai family are party contributed by values and practices regarding gender relations. Values which place men in the more superior position and double standard practices in the Thai Society allow them to behave in such a way that family stability could be disrupted. Many of men’s behavior are considered to be major causes of family problems in modern Thai society. They include drinking, frequent prostituting, promiscuity, wife of child beating, family desertion. The breaking up of family has much implications for social and psychological problem which cannot be simply ignored.

Various approaches and measures are recommended at the international meetings to promote more male’s responsibilities and greater participation in marriage and family life. It is agreed that family should be the first and best place to make changes in gender inequality values and practices. Young boys and male adolescents and parenthood. These kinds of training could be integrated in school, out-school curriculum, and community activities. At the national level, programmes and policies directed at equal gender relations should be strengthened. Research on male’s attitudes and behavior regarding marriage and family life should be more often conducted for purpose of policy formulation.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(3):

 Key words: thai family, male’s roles

 * Institute of Population Studies, Visid Prachubmoh Building, Chulalongkorn University, Phaya Thai Road, Bangkok 10330

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us