เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(3): 226-39.

ลักษณะของเด็กในครอบครัวไทย

 จรรจา สุวรรณทัต ปร.ด. (จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว) *


 * ประธานคณะดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทย สภาวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ 10900 

เมื่อปี พ.ศ.2506 ถึง 2512 สถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก ได้ทำการวิจัยเรื่อง อิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการเด็ก ที่ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี อิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการเด็กที่หมู่บ้านพรานเหมือน จังหวัดอุดรธานี และอิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการเด็กที่หมู่บ้านอุเม็ง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผลการวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในหมู่บ้านต่างๆ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ และวิธีการอบรมเลี้ยงดูที่ปฏิบัติในท้องถิ่นนั้นๆ คือ พบว่าแบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูของสังคมชนบทไทยตามภาคต่างๆ มีลักษณะอะลุ้มอล่วย เน้นการอบรมเลี้ยงดูที่อยู่ในกรอบของคุณธรรมไว้ 5-6 ประการ ได้แก่ คุณธรรมแห่งความไม่ก้าวร้าวรุกราน ความกตัญญูรู้คุณ ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเคารพผู้อาวุโสและผู้มีอำนาจ และความเหมาะสมในด้านกิริยามารยาท และยังมีค่านิยมสำคัญอีก 2 ประการ ซึ่งได้แก่ ความเกรงใจ และความอ่อนน้อมถ่อมตน อีกทั้งยังมีการให้ความสำคัญต่อการอบรมเด็กให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเพศ ลักษณะหรือวิธีการอบรมดังกล่าวประกอบกับสังคมแต่ละระดับในขณะนั้นมีความสอดคล้องกันในการปฏิบัติ โดยเฉพาะสังคมทางบ้านและสังคมทางโรงเรียน จึงผลิตให้เด็กในสังคมไทยในอดีตมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเด็กในปัจจุบัน นั่นก็คือ เด็กไทยแต่อดีตจะมีบุคลิกภาพแบบไม่ก้าวร้าวรุกราน อ่อนน้อม ซื่อสัตย์สุจริต กตัญญูรู้คุณ ให้ความเคารพความเกรงใจต่อผู้อาวุโสและผู้มีอำนาจ และมีกิริยามรรยาทที่เหมาะสมกับกาลเทศะ1,2

ต่อมาอีกสามทศวรรษ สังคมไทยค่อยเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรม ยังให้เกิดข้อคำถามว่า เด็กไทยขณะปัจจุบันยังคงเหลือเค้าเดิมของเด็กไทยในอดีตหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมที่สำคัญใดบ้าง และจะถือได้หรือไม่ว่าลักษณะที่เปลี่ยนแปลงนี้จะมีความเหมาะสมดีแล้ว เพราะจำเป็นต้องพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของยุคสมัยโลกาภิวัฒน์

การวิจัยค้นคว้าต่อมาของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปี พ.ศ. 2524 เรื่องแบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่กำลังเปลี่ยนแปลงของครอบครัวรายได้น้อยในตัวเมือง3-5 ซึ่งมีการค้นคว้าแบบการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งอยู่ในตัวเมืองของกรุงเทพมหานคร ครอบครัวเหล่านี้ประกอบด้วยบิดามารดาที่มาจากส่วนต่างๆ ของประเทศและอพยพเข้ามาแสวงหางานทำในตัวเมืองหลวง ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะไม่มีการเปรียบเทียบโดยตรงกับงานค้นคว้าที่กระทำก่อนหน้านั้นเกือบสองทศวรรษ แต่ก็มีหลายจุดที่อาจจะนำมาเทียบเคียงกันได้ กล่าวคือ ดูในลักษณะกว้าง แบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยภายในช่วงเวลาที่ผ่านไปร่วมยี่สิบปีจากการค้นคว้าของสถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก ยังคงมีลักษณะเดิม คือ มีความอะลุ้มอล่วยในการอบรมเลี้ยงดูเกือบทุกด้าน ในอดีตจะมีการยืดหยุ่นในการอบรมเด็กในด้านต่างๆ แต่จะ เข้มงวดในการควบคุมดูแลพฤติกรรมทางเพศ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศของเด็กหญิง แต่ในการค้นคว้าวิจัยของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ครั้งนี้พบว่า การเน้นในพฤติกรรมตามบทบาททางเพศค่อยเปลี่ยนไป มีการอะลุ้มอล่วยมากขึ้นในด้านนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน กรอบคุณธรรมและค่านิยมที่เคยใช้ในการอบรมเลี้ยงดูยังคงมีอยู่ แต่การเน้นความสำคัญของแต่ละคุณธรรมเจือจางลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจากสังคมภายนอกและบทบาทสำคัญของสื่อต่างๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นต่อวิธีดำเนินชีวิตของครอบครัว วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยที่ต้องปรับไป กับยุคสมัยเช่นนี้ทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีการพัฒนาจิตลักษณะและพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเด็กไทยในอดีต เช่น มีบุคลิกภาพแบบรุกและพึ่งตนเอง ชอบการแข่งขัน ให้ความสำคัญต่อวัตถุมากกว่าจิตใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง และคำนึงถึงเรื่องกิริยามรรยาทน้อยลง ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือ ในอดีตพ่อแม่และปู่ย่าตายายในครอบครัวเป็นตัวหลักหรือรูปแบบสำคัญในการพัฒนาเด็ก เด็กสามารถเลียนแบบในการพัฒนาลักษณะ ทั้งทางจิตใจและพฤติกรรมจากตัวแบบซึ่งเป็นผู้ให้การอบรมเลี้ยงดูได้อย่างไม่สับสน หากในเวลาต่อมา ครอบครัวในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลง โดยมารดาของเด็กก้าวไปสู่โลกของการทำงานภายนอกกันมากขึ้น ทำให้บทบาทของพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อการปฏิบัติตนของพ่อแม่ที่มีต่อลูกของตน และเปิดโอกาสให้สื่อต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในกระบวนการอบรมเลี้ยงดู และเด็กเกิดการเรียนรู้โดยกระบวนการ อื่นๆ มากขึ้น

ใกล้ๆ กับยุคปัจจุบันหรือยุคโลกาภิวัฒน์ คือประมาณปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการให้ความสำคัญต่อเรื่องการให้เด็กไทยมีชีวิตการเรียนรู้ที่ทัดเทียมกันมากขึ้น กล่าวคือ ต้องการเห็นเด็กไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะสังคม-เศรษฐกิจระดับใดได้รับการดูแลช่วยเหลือให้เขามีโอกาสเรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ในชีวิตให้มากที่สุด ตลอดจนสอนให้เด็กๆ ได้มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายใกล้กับธรรมชาติ สามารถเรียนรู้ร่วมกัน และรู้จักเรียนรู้ความต้องการของตนเองด้วย6 พ่อแม่และครูจึงถูกบังคับให้ต้องเริ่มปรับบทบาทจากการอบรมปลูกฝังที่เคยแต่เป็นผู้สั่งและให้เนื้อหาอย่างเดียว มาเป็นการใช้วิธีการแนะแนวทางให้เด็กได้เห็นปัญหาและหาทางเลือกหรือช่องทางต่างๆ ในการแก้ปัญหาให้กับเด็ก พ่อแม่จากหลายครอบครัวอาจมองไม่เห็นแนวทางการปรับเปลี่ยนวิธีการอบมเลี้ยงดูเด็กในลักษณะดังกล่าวนี้ เพราะอาจเนื่องมาจากตัวเองก็ไม่ได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสำคัญนี้มาก่อน พ่อแม่จากครอบครัวประเภทเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแนะแนวที่ถูกต้องจากผู้รู้หรือกลุ่มผู้รู้ในการถ่ายทอดเนื้อหาและวิธีการเพื่อการสร้างครอบครัวแนวใหม่ ซึ่งจะสามารถพัฒนาเด็กให้เกิดลักษณะที่เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นและความเหมาะสม ในปัจจุบันได้

อนึ่ง ในการอบรมปลูกฝังให้เด็กมีลักษณะอย่างใดตามที่บิดามารดาและสังคมพึงปรารถนานั้น ตัวกำหนดวิธีการอบรมปลูกฝังเพื่อให้เด็กเกิดลักษณะนั้นๆ อาจมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ก็คือ ความคาดหวังของพ่อแม่ในตัวเด็ก ในอดีตพ่อแม่ในสังคมไทยให้ความสำคัญต่อการศึกษาและมุ่งหวังอย่างมากที่จะเห็นเด็กเรียนสูงเพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่การมีอาชีพที่สบายมีโอกาสเป็นเจ้าคนนายคน จบสูงแล้วลูกจะได้มีโอกาสทำงานแบบนั่งโต๊ะ แทนการทำงานหนักในท้องทุ่งไร่นาแบบเกษตรกรที่ตัวเองเคยประสบมา ความคาดหวังของพ่อแม่บ่อยครั้งจึงไม่สอดคล้องกับความถนัดตามธรรมชาติและความสามารถที่แท้จริงของเด็ก ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อย่างไรก็ตามความมุ่งหวังเช่นนี้ดูจะไม่หมดไปจากสังคมไทยง่ายๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญต่อการศึกษา แต่ความหมายของการศึกษาที่แท้จริงอาจมีขอบข่ายกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่าความเข้าใจของผู้ปกครองและพ่อแม่ ซึ่งมักนึกถึงเฉพาะการบังคับให้เด็กได้เรียนสิ่งที่พ่อแม่ต้องการแต่ไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการ และเด็กต้องประสบความล้มเหลวในการเรียน แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ความคิดเห็นของพ่อแม่ที่มีต่อความสำคัญของการศึกษาที่อยู่ในรูปของการเป็นบันไดพาดไปสู่การมีอาชีพที่ได้รับการยกย่องจากสังคมแต่อดีตนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างพอสมควร เช่น มีผลงานวิจัยที่แสดงการยอมรับในการประกอบอาชีพอิสระ และเด็กได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่และครอบครัวในระดับหนึ่ง

ในเรื่องความคาดหวังของพ่อแม่ซึ่งเป็นตัวกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งในทิศทางของการอบรมนั้น มีโครงการวิจัยสำคัญมากโครงการหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นโครงการระหว่างประเทศแบบระยะยาว โครงการเดียวของประเทศ ซึ่งเริ่มทำการวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 และติดตามศึกษาจนถึง ปี พ.ศ.2540 มีประเทศ 11 ประเทศเข้าร่วมในการวิจัย ผู้ประสานงานวิจัยร่วม ได้แก่ สมาคมระหว่างชาติว่าด้วยการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ที่เรียกสั้นๆ ว่าสมาคม ไอ อี เอ (International Association for the Evaluation of Educational Achievement) ส่วนที่ทำในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีรองศาสตราจารย์ ดร.นิตยา ภัสสรศิริ และคณะ เป็นคณะวิจัย โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจสอบบริการที่จัดให้แก่การศึกษาเด็กเล็ก ประสบการณ์วัยเด็กเล็กที่มีต่อการพัฒนาการของเด็กในขณะปัจจุบันและระยะเวลาต่อไปของเด็ก คณะผู้วิจัยกำลังดำเนินงานขั้นสุดท้ายในการประมวลข้อมูลและดำเนินการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในไม่ช้า จึงขออนุญาตผู้วิจัยนำผลสำคัญบางประการมากล่าวไว้ในบทความนี้ด้วย7

ผลที่น่าสนใจประการหนึ่งของโครงการระยะยาวระหว่างประเทศที่กล่าวถึงนี้ บ่งชัดว่าพ่อแม่ในกลุ่มตัวอย่างซึ่งได้มาจากการสุ่มทั่วประเทศคาดหวังหรือมุ่งหวังจากเด็กมากที่สุดในเรื่องความเชื่อมั่นเพียงพอในตนเอง (self-sufficiency) ต่อมาคือความสามารถทางภาษา (language ability) และทักษะการเตรียมตัวทางวิชาการ (pre-academic skill) แต่คาดหวังหรือให้ความสำคัญน้อยที่สุดในเรื่องการประเมินตนเอง (self-assessment) การคาดหวังน้อยของพ่อแม่ในส่วนนี้สอดคล้องกับครู ซึ่งให้ความสำคัญน้อยมากเช่นกันต่อเรื่องความสามารถของเด็กในการประเมินตนเอง เรื่องของความคาดหวังนี้จัดเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดวิธีการและแนวทางการอบรมและการดูแลเด็ก

การที่ทั้งพ่อแม่และครูให้ความสำคัญน้อยที่สุดในความสามารถของเด็กที่จะประเมินตนเองนั้น เป็นประเด็นที่ใคร่ยกมากล่าวไว้ในที่นี้ เพราะความสามารถในการประเมินตนเองอย่างเที่ยงตรงได้นั้น ต้องอาศัยคุณสมบัติหลายอย่างที่ส่งผลให้บุคคลเกิดคุณภาพ และในสังคมไทยของเราดูจะขาดการให้ความสำคัญและการดูแลส่งเสริมให้คนของสังคมไทยพัฒนาลักษณะสำคัญนี้ ลักษณะสำคัญที่ใกล้ชิดตัวเองที่สุดนี้ ถูกละเลย แต่มักไปให้ความสำคัญต่อเรื่องที่ไกลตัวมากกว่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น การไม่รู้จักประมาณ การตัดสินใจอย่างผิดๆ และอย่างลวกๆ การประมาทเลินเล่อ การคิดที่มองข้ามความสำคัญในบางเรื่องบางสิ่ง เป็นต้น

การที่เด็กจะสามารถประเมินตนเองได้อย่างถูกต้องนั้น จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอบรมเลี้ยงดูมาด้วยวิธีการที่ส่งเสริมเด็กในเรื่องนี้ และอาจต้องเริ่มด้วยโดยพ่อแม่วางแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กได้ซึมซับลักษณะดังกล่าวนี้ ซึ่งได้แก่การเริ่มรู้จักเรียนรู้สิ่งที่เป็นข้อจำกัดและข้อดีในตัวของบุคคล เพราะเป็นการยากที่ผู้ใดจะเกิดมาสมบูรณ์ไปทุกสิ่งทุกอย่าง การค่อยๆ สอนบ่มเพาะนิสัยให้เด็กได้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในตนทั้งที่เป็นข้อดีและข้อเสียหรือข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงให้เด็กได้รู้จักชื่นชมในสิ่งที่เขามีและไม่ขมขื่นในสิ่งที่เขาขาดหรือมีอย่างผิดปกติ โดยไม่พยายามเปรียบเทียบกับคนอื่นจนเกิดความทุกข์หรือเคียดแค้น กระบวนการฝึกอบรมจิตใจและสติปัญญาให้รู้จักพินิจพิเคราะห์เพื่อรู้จักตนเองอย่างเที่ยงตรงจัดเป็นขั้นสำคัญยิ่งของการปูทางไปสู่การพัฒนาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ โลกทุกวันนี้มีปัญหายุ่งเหยิงสับสนอันเกิดจากบุคคลขาดคุณสมบัติที่ไม่สามารถมองและประเมินตนเองได้อย่างเที่ยงตรง ยังให้เกิดพฤติกรรมที่พัดเพไปตามกระแสสังคม โดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ที่ถูกต้องรอบคอบ เด็กและเยาวชนโดยธรรมชาติมีความต้องการในสิ่งต่างๆ ตามวัย โดยเฉพาะต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนและเพื่อนร่วมวัย ตลอดจนสังคมในวงกว้าง แต่ลักษณะจิตใจและพฤติกรรมที่จะนำเด็กและเยาวชนไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่ถูกที่ควรนั้น ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการประคับประคองดูแลจากสังคมแวดล้อม โดยเฉพาะพ่อแม่และครูผู้รับผิดชอบในตัวเยาวชนเหล่านี้อยู่มาก การอบรมดูแลเด็กด้วยการปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงปรารถนา โดยเฉพาะคุณลักษณะแห่งการรู้จักประเมินตนเองนั้น เป็นจุดหนึ่งที่ควรเน้นและทั้งพ่อแม่และครูไม่เคยเพิกเฉยได้ คุณสมบัติข้อนี้จำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับคุณสมบัติของการรู้จักมุ่งอนาคต เพราะลักษณะการมุ่งอนาคตที่ปราศจากความสามารถในการประเมินตนเองอย่างเที่ยงตรงและต่อเนื่องนั้น เปรียบเสมือนกับการพยายามเดินทางไปสู่ดวงดาว โดยปราศจากความสามารถในการสร้างเครื่องมือที่จะนำเขาทะยานไปสู่จุดสุกสว่างนั้น พ่อแม่และสมาชิกทุกคนในสถาบันครอบครัวจึงจำเป็นต้องพยายามเรียนรู้ร่วมกันที่จะพัฒนาลักษณะความสามารถในการรู้จักตนเองด้วยการประเมินตนเอง ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนในการพัฒนาคุณสมบัติอันสำคัญนี้ เพื่อช่วยกันสร้างและทนุบำรุงรักษาคุณภาพของคนที่กำลังขาดแคลนยิ่งในสังคมไทยปัจจุบัน

 เอกสารอ้างอิง

  1. สถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก. อิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการเด็กที่ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี. เล่ม 2. 2510.
  2. สถาบันระหว่างชาติสำหรับการค้นคว้าเรื่องเด็ก. อิทธิพลของสังคมต่อพัฒนาการเด็กที่หมู่บ้านพรายเหมือน จังหวัดอุดรธานี และหมู่บ้านอุเม็ง จังหวัดเชียงใหม่. เล่ม 3. 2512.
  3. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. แบบฉบับการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่กำลังเปลี่ยนแปลงของครอบครัวรายได้น้อยในตัวเมือง. รายงานการวิจัยฉบับที่ 24. 2524.
  4. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. ประมวลสงเคราะห์ผลงานวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กไทย เล่ม 2. โดยการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 2533.
  5. สมศรี กิจชนะพานิชย์, ทองทิพย์ สุนทรชัย, จรัญญา วงษ์พรหม, ธนะจักร เย็นบำรุง. รายงานการวิจัยเรื่องบทบาทสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก (แรกเกิดถึง 6 ปี) : บนเส้นทางแรงงานอพยพจากอีสานสู่กรุงเทพฯ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 2540.
  6. จดหมายข่าวการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ 2541; 2(4): 1-3.
  7. Passornsiri N. Monograph I : Teacher/Caregiver and Parent/Guardian Expectation: Thailand, August, 1993. In: Early Childhood Care and Education in 11 Countries. Ypsilanti : Hight Scope Press, 1994.

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us