เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(3): 226-39.

ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว 

ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ พ.บ.*
กวี สุวรรณกิจ พ.บ.*
วัจนินทร์ โรหิตสุข ปรด.(การศึกษาพฤติกรรมประยุกต์)*
สมร อริยานุชิตกุล วทม.(สุขภาพจิต, พยาบาล)*

*ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

การเจ็บป่วยทางจิตเวชของคนคนหนึ่งในครอบครัว (ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย)1 อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจ็บป่วยของอีกคนหนึ่งหรือหลายคนในครอบครัว ในบางครั้งผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวอาจไม่รู้ตัวว่าป่วย หรือคนในครอบครัวไม่ได้คิดว่าป่วย จึงไม่ได้ให้ความสนใจในการแก้ไขความเจ็บป่วยหรือปัญหานั้น หรือปัญหาความเจ็บป่วยของคนๆ หนึ่งในครอบครัวอาจส่งผลกระทบให้สมาชิกในครอบครัวมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ เช่น ทำให้เกิดความเครียด นอนไม่หลับ ปรับตัวไม่ได้ เป็นต้น

สุขภาพจิตหรือความเจ็บป่วยของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว มีความสัมพันธ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตหรือความเจ็บป่วยของสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว

ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา หรือการรักษาแบบจิตบำบัดชนิดตัวต่อตัว (individual therapy) แล้วอาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร อาจมีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวไม่ได้รับการรักษาร่วมด้วย

การวิจัยนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้รักษาทั่วไปได้นึกถึงว่า การที่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหลังจากที่ได้รับการรักษาเป็นอย่างดีแล้ว หรือผู้ป่วยมีอาการกลับเป็นซ้ำขึ้นอีกบ่อยๆ นั้น อาจเป็นเพราะมีบุคคลอื่นในครอบครัวป่วย และควรได้รับการประเมินและการรักษาร่วมด้วย ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีในกรณีเช่นนี้วิธีหนึ่งคือ ครอบครัวบำบัด

ในการศึกษานี้ผู้วิจัยต้องการศึกษาว่า ในครอบครัวของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่คลินิกครอบครัว มีสมาชิกในครอบครัวจำนวนเท่าใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยมาด้วยตนเองหรือญาติพามา) หลังจากได้รับการประเมินโดยทีมผู้รักษาของคลินิกครอบครัวแล้ว มีจำนวนร้อยละเท่าใดที่เป็นผู้ป่วยเพียงคนเดียวในครอบครัว และเปรียบเทียบความแตกต่างของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว

วิธีการศึกษา:

ประชากรที่ศึกษา ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยทุกคนจากคลินิกครอบครัว ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2540

วิธีการ - ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (identified psychiatric patients, I.P.) ได้จากชื่อผู้ป่วยที่อยู่บนแฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์เจ้าของไข้ จากแบบฟอร์มที่ส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่คลินิกครอบครัว โดยผู้วิจัยเป็นผู้สร้างขึ้นเอง

- ผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว (other psychiatric patients in a family, O.P.) ได้จากการประเมินและวิเคราะห์โดยทีมผู้รักษาของคลินิกครอบครัว โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th edition)2

- ให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนตอบแบบสอบถามที่ถามว่า บุคคลใดในครอบครัวที่น่าจะได้รับการช่วยเหลือ โดยให้สมาชิกแต่ละคนตอบแบบสอบถามด้วยตนเองตามลำพัง เมื่อตอบเสร็จแล้วก็ส่งให้ทีมผู้รักษา ซึ่งจะทำให้สมาชิกแต่ละคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แล้วคำนวณว่ามีร้อยละเท่าใดที่มีสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปมีความเห็นตรงกับทีมผู้รักษาในเรื่องที่ว่า ใครคือผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว และร้อยละเท่าใดของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชเป็นผู้ที่ป่วยเพียงคนเดียวในครอบครัว

การวิเคราะห์ทางสถิติ การเปรียบเทียบข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การทดสอบ Chi-square และถ้าค่า p < 0.05 ถือว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการศึกษา:

ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (identified psychiatric patients) เป็นชาย 16 คน หญิง 9 คน รวม 25 คน อัตราส่วนระหว่างหญิงต่อชายเท่ากับ 1 ต่อ 1.78 อายุระหว่าง 6 - 67 ปี อายุเฉลี่ย 24.92 ปี ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 14.02 ปี

ผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว (other psychiatric patients) เป็นชาย 12 คน หญิง 15 คน รวม 27 คน อัตราส่วนระหว่างหญิงต่อชายเท่ากับ 1 ต่อ 0.8 อายุระหว่าง 13 - 60 ปี อายุเฉลี่ย 41.67 ปี ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 15.35 ปี

ในแต่ละครอบครัวมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวป่วยทางจิตเวชโดยเฉลี่ยร้อยละ 47.77 ค่าพิสัยเท่ากับ 9.09 - 100 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 21.32

จำนวนครอบครัวที่มีคนในครอบครัวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปมีความเห็นตรงกับทีมผู้รักษาในเรื่องที่ว่า ใครคือผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวเท่ากับ 20 ครอบครัว จากทั้งหมด 25 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 80

มากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรที่ศึกษามีเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ และมากกว่า 3 ใน 4 มีเศรษฐฐานะปานกลาง

จากแผนภูมิที่ 1 ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (identified psychiatric patients) (I.P.) มีอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาว (21-40 ปี) มากที่สุด รองลงไปเป็นวัยรุ่น (13-20 ปี) จากตารางที่ 1 ร้อยละ 48 ของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยเป็นนักเรียน นักศึกษา, ร้อยละ 32 ว่างงาน, ร้อยละ 60 มีระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาและประถมศึกษา, ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสเป็นโสด, ร้อยละ 80 มีสถานภาพในครอบครัวเป็นลูก

ส่วนผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว (other psychiatric patients, O.P.) มีอายุอยู่ในวัยกลางคน (41-60 ปี) มากที่สุด, ร้อยละ 44 มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย, 2 ใน 3 มีสถานภาพสมรสเป็นแบบคู่และมีสถานภาพในครอบครัวเป็นพ่อ แม่ หรือสามี ภรรยา, ส่วนใหญ่มีงานทำ ว่างงานเพียงร้อยละ 3.7

จากตารางที่ 2 แสดงจำนวนครอบครัวที่มีผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช เป็นผู้ป่วยเพียงคนเดียวในครอบครัว มีจำนวน 6 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 24 และครอบครัวที่มีผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวมีจำนวน 19 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 76 ซึ่งครอบครัวที่มีผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวจำนวน 1 คน มีจำนวนมากที่สุด (คิดเป็นร้อยละ 52)

จากตารางที่ 3 ร้อยละ 84 ของครอบครัวที่ศึกษาเป็นครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 60 มีจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4-5 คน

จากตารางที่ 4.1 การวินิจฉัยโรคหลักของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชที่พบบ่อย 4 โรค คือ major depressive disorders, bipolar disorders, schizophrenia, และ adjustment disorders ส่วนการวินิจฉัยโรคหลักของผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัวที่พบมากที่สุดคือ personality disorders (ร้อยละ 37) รองลงไปเป็น adjustment disorders, psychological factors affecting medical condition (tension headache), alcohol abuse และ dependence

เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว พบว่าช่วงอายุ (วัย) อาชีพ สถานภาพสมรส สถานภาพในครอบครัว และการวินิจฉัยโรคหลักที่แบ่งเป็น axis I และ axis II ของ DSM-IV มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < 0.05

 วิจารณ์

การรักษาแบบครอบครัวบำบัดโดยทั่วไปจะให้การวินิจฉัยเป็นภาพรวมหรือพลวัตของครอบครัว (family dynamic) และเน้นที่สัมพันธภาพและปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยความเจ็บป่วยเฉพาะรายบุคคลหรือพยาธิสภาพทางจิตเฉพาะรายบุคคล อาการป่วยของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยมักถูกมองว่า ทำหน้าที่อะไรบางอย่างในครอบครัว เพื่อทำให้ครอบครัวอยู่ในสมดุล ถึงแม้ว่าจะเป็นสมดุลที่เป็นพยาธิสภาพก็ตาม2-7 การวินิจฉัยตามการจัดแบ่งประเภทของความเจ็บป่วยทางจิตเวชของ DSM-IV ไม่มีการจัดแบ่งประเภทความผิดปกติทางจิตใจในด้านของครอบครัวโดยตรง มีการจัดแบ่งประเภทในเชิงของสัมพันธภาพบ้าง ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก (parent-child relational problem), ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เป็นต้น ซึ่งจัดอยู่ใน V code2

ในการศึกษานี้ ผู้วิจัยได้ใช้การวินิจฉัยตามระบบ DSM-IV ให้การวินิจฉัยเฉพาะรายบุคคลแก่ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชและผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว ผู้วิจัยไม่ได้ตั้งใจศึกษาเรื่องการวินิจฉัยครอบครัวในเชิงของครอบครัวบำบัด (family dynamic diagnosis) ในการศึกษานี้

1. ความแตกต่างของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (I.P.) กับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว (O.P.) ที่พบจากการศึกษานี้ มีดังนี้

ก. ความแตกต่างด้านอายุและสถานภาพในครอบครัว ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (I.P.) มีอายุเฉลี่ย 24.92 ปี น้อยกว่าอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว (O.P.) ซึ่งเท่ากับ 41.67 ปี สถานภาพในครอบครัวของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว ที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 66.67) เป็นพ่อ แม่ หรือสามี ภรรยา ส่วนผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) มีสถานภาพในครอบครัวเป็นลูก ซึ่งมีโครงสร้างตามลำดับชั้น (hierarchy) ต่ำกว่าพ่อแม่ อาจทำให้คนในครอบครัวรวมทั้งตัวผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยเองระบุให้เป็นผู้ป่วยของครอบครัว เพื่อทำให้ครอบครัวอยู่ในสมดุลหรือทำให้ปัญหาครอบครัวลดลง และ/หรืออีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เมื่อลูกป่วยก็มักจะทำให้พ่อแม่ พี่น้องเครียดตามไปด้วย และอาจเกิดปัญหาการปรับตัวตามมาได้

จากการวิเคราะห์ทางสถิติก็พบว่า ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่องอายุและสถานภาพในครอบครัว

ข. ความแตกต่างทางเพศ การศึกษานี้พบว่า ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง (หญิงต่อชายเท่ากับ 1 ต่อ 1.78) แต่ผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวกลับเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (หญิงต่อชายเท่ากับ 1 ต่อ 0.8) อาจเป็นไปได้ว่า ในครอบครัวไทยทั่วไป เพศหญิงเป็นผู้นำหรือตัวหลักในการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะในเรื่องการเลี้ยงดูและดูแลลูกและการดูแลผู้ป่วยในครอบครัว โดยทั่วไปเพศหญิงมักเป็นเพศที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู (nurturing) การดูแล (caretaking) และการพึ่งพาผู้อื่น (dependence) ส่วนเพศชายมักเกี่ยวข้องกับการเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) การควบคุม (control) และการพึ่งตนเอง (independence)6 รุจิรา จงสกุลและคณะ (พ.ศ.2540) ศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่บ้านพบว่า ญาติที่ดูแลผู้ป่วยที่เคยและไม่เคยอยู่รักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ประมาณร้อยละ 60) และมีอายุอยู่ในช่วง 41-50 ปี และ 51-60 ปีตามลำดับ8 ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกับการศึกษานี้ทั้งเรื่องอายุและเพศ ในกรณีที่เราคิดว่าผู้ดูแลผู้ป่วย (ในการศึกษานี้ผู้ป่วยคือผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช) จะป่วยหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตจนกลายเป็นผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว และสถานภาพในครอบครัวของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวเป็นแม่ถึงร้อยละ 37 และการวินิจฉัยโรคหลักของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวร้อยละ 19 ก็เป็น adjustment disorders และร้อยละ 37 เป็น personality disorders

ความเชื่อเกี่ยวกับบทบาททางเพศ (ชาย, หญิง) ในครอบครัวต่างกัน เชื่อว่าเพศชายเป็นผู้ก่อให้เกิดบุตร เพศหญิงเป็นผู้เลี้ยงดูและดูแลบุตร มีหลักฐานแสดงให้เห็นเสมอมาว่า เด็กๆ ส่งผลกระทบในทางลบ (negative effect) ต่อสุขภาพจิตของผู้หญิงในครอบครัว ภายหลังการให้กำเนิดบุตรแต่ละคน อำนาจของแม่ (mother’s power) ในครอบครัวก็ลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับอำนาจของพ่อ พ่อมักเป็นบุคคลที่ลูกรู้สึกว่าห่างออกไป ไม่ค่อยสนิทด้วยเหมือนกับแม่ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และรู้สึกกลัวเนื่องจากพ่อตัวใหญ่และเสียงดัง แม่ที่เป็นผู้นำในครอบครัว (dominant-mother) และพ่อที่ไม่ค่อยมีบทบาทในครอบครัว (ineffectual-father) มักจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต6,9 ผู้ที่เป็นลูกในคลินิกครอบครัวที่ศึกษานี้ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง มักจะรู้สึกสนิทกับแม่มากกว่าพ่อ จะปรึกษาหรือพูดคุยกับแม่ได้แทบทุกเรื่อง แต่มักจะคุยกับพ่อเฉพาะบางเรื่อง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับรถยนต์ หรือกีฬา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากจำนวนประชากรของการศึกษานี้มีจำนวนน้อย และจากการวิเคราะห์ทางสถิติในเรื่องเพศนี้ก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ค. ความแตกต่างด้านการวินิจฉัยโรคหลัก จากตารางที่ 4 พบว่า การวินิจฉัยโรคหลักของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชที่พบมากเป็น 4 โรคใหญ่ๆ คือ major depressive disorder, bipolar disorders, schizophrenia และ adjustment disorders ซึ่งการรักษาและการวิจัยในลักษณะครอบครัวบำบัดในระยะแรกๆ (ช่วงทศวรรษที่ 1950) ก็เริ่มจากการให้การรักษาครอบครัวบำบัดในผู้ป่วยโรคจิตเภท6 ต่อมาภายหลังมีการใช้ครอบครัวบำบัดรักษาผู้ป่วยและครอบครัวในโรคต่างๆ ขยายกว้างออกไป ได้แก่ mood disorders, การใช้ยาอย่างผิดแผนและการใช้สารเสพย์ติด โรควิตกกังวล (anxiety disorders) บุคลิกภาพผิดปกติ (personality disorders) ปัญหาความขัดแย้งในชีวิตสมรส และโรคทางกาย เป็นต้น2,4,6,7,10

จะเห็นว่าผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช ร้อยละ 44 ป่วยเป็นโรคในกลุ่ม mood disorders ผู้ป่วยและครอบครัวถูกส่งต่อมารับการรักษาแบบครอบครัวบำบัด โดยผู้รักษาหรือแพทย์เจ้าของไข้เห็นว่า มีปัญหาครอบครัว และสมาชิกในครอบครัวให้ความร่วมมือดีในการมารับการรักษา อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาครอบครัวและโรคความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorders) มีความสัมพันธ์กัน หรือทัศนคติของคนในครอบครัวหรือคนในสังคมไทย ยอมรับในความเจ็บป่วยของโรค mood disorders โดยเฉพาะโรคหรือภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่าหรือยอมรับได้มากกว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือติดสารเสพย์ติด ซึ่งต่างจากประเทศในยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ คนในสังคมยอมรับว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่ค่อยได้ (มองว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคจิต) แต่จะยอมรับว่าป่วยเป็นโรคแพนิค (panic disorder) หรือ anorexia nervosa ซึ่งมองว่าไม่ใช่โรคจิต ได้มากกว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า11

การวินิจฉัยโรคหลักของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว ที่พบมากที่สุดในการศึกษานี้ได้แก่ กลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติ (personality disorders) ถึงร้อยละ 37 (โดยแบ่งเป็นกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติ cluster C ได้แก่ บุคลิกภาพชนิด obsessive-compulsive และ dependent ร้อยละ 18.5, กลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติ cluster B ได้แก่ บุคลิกภาพชนิด borderline และ antisocial ร้อยละ 11.1 และกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติ cluster A (ร้อยละ 7.4) รองลงไปเป็น adjustment disorders (ร้อยละ 18.5) และ alcohol abuse, alcohol dependence (ร้อยละ 11.1) และกลุ่มโรค psychological factors affecting medical condition ได้แก่ tension headache (ร้อยละ 11.1) ทำให้เห็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) ปัญหาการปรับตัวต่อความเครียดจากภายนอก และโรคปวดศีรษะจากความเครียดจากภายนอก (รวมกันประมาณร้อยละ 30) ซึ่งอาจจะเครียดจากการที่มีผู้ป่วยในครอบครัวก็ได้ (2) กลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติ (ร้อยละ 37) และ (3) กลุ่มผู้ติดสุรา (ร้อยละ 11) ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้มักส่งผลกระทบต่อบุคคลที่อยู่รอบข้างบ่อยๆ จากการวิเคราะห์ทางสถิติเปรียบเทียบความแตกต่างก็พบว่า ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่องการวินิจฉัยโรคหลักที่แบ่งเป็น axis I และ axis II ของ DSM-IV

ง. ความแตกต่างด้านสถานภาพสมรส อาชีพ และระดับการศึกษา ส่วนใหญ่ของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชมีสถานภาพสมรสเป็นโสด, ร้อยละ 48 เป็นนักเรียน นักศึกษา รองลงไปคือว่างงาน (ร้อยละ 32) ในเรื่องของระดับการศึกษาร้อยละ 60 ของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยมีระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้คงเนื่องมาจาก ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยส่วนใหญ่ของการศึกษานี้อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวและวัยรุ่นมากที่สุด และอาจเนื่องจากความเจ็บป่วยจึงไม่แต่งงาน และในสังคมไทยในปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มแต่งงานในอายุที่สูงกว่าประชากรในสมัยก่อน และอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น

ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษา (ร้อยละ 44 มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย) มีสถานภาพสมรสเป็นแบบคู่ มีงานทำ และอยู่ในช่วงวัยกลางคน มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 41-60 ปีมากที่สุด ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน

จากความแตกต่างในด้านอาชีพจะเห็นว่า ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยว่างงานถึงร้อยละ 32 ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวที่ว่างงานเพียงร้อยละ 3.7 คงเนื่องจากความเจ็บป่วยของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย ได้แก่ major depressive disorder, bipolar disorders, schizophrenia มีพยาธิสภาพมากกว่า และทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงมากกว่า ความเจ็บป่วยของผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว ซึ่งได้แก่ adjustment disorders และบุคลิกภาพผิดปกติชนิดต่างๆ และทั้ง 2 เรื่องนี้ (การว่างงาน และความเจ็บป่วย ที่มีพยาธิสภาพมากกว่า ซึ่งทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงมากกว่า) อาจเป็นสาเหตุให้คนในครอบครัวระบุให้เป็นคนป่วยทางจิตเวชหรือมองว่าเป็นตัวปัญหาในครอบครัว

จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่องสถานภาพสมรสและอาชีพ แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่องระดับการศึกษา

2. ครอบครัวของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช (identified psychiatric patients’ families) จากตารางที่ 2 ครอบครัวที่มีแต่ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช เป็นผู้ป่วยเพียงคนเดียวในครอบครัวมี 6 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 24 ที่เหลือประมาณ 3 ใน 4 ของครอบครัวที่ศึกษาทั้งหมดนี้มีผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัวจำนวนตั้งแต่ 1 ถึง 3 คน ตัวเลขที่สูงนี้ (ร้อยละ 76) อาจเนื่องมาจากประชากรของการศึกษานี้ได้รับการคัดเลือกเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหาครอบครัว และยอมรับ มีแรงจูงใจที่ดี มีความตั้งใจดี และให้ความร่วมมือดีในการมารับการรักษาแบบครอบครัวบำบัด แต่อย่างไรก็ตามการตั้งใจสังเกตและหาผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวก็ทำให้ตัวเลขที่ได้นี้สูงด้วย

ในแต่ละครอบครัวมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวป่วยทางจิตเวชโดยเฉลี่ยร้อยละ 47.77 ค่าพิสัยเท่ากับ 9.09 ถึง 100 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 21.32 จะเห็นว่าในแต่ละครอบครัวของผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีปัญหาครอบครัว มีสมาชิกในครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่เข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV ดังนั้นการค้นหาผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว แล้วให้การช่วยเหลือหรือรักษา เพื่อช่วยให้คนในครอบครัวมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสัมพันธ์ต่อกันดี มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันดี มีความสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยหรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย และทำให้ครอบครัวมีความเป็นปกติสุข (functional family) คนในครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

3. การที่มีสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีความเห็นตรงกับทีมผู้รักษาในเรื่องที่ว่าใครคือผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 80 ทำให้ได้แนวความคิดว่า วิธีการง่ายๆ อย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้รักษาทั่วไปได้ทราบว่า น่าจะมีสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวป่วยด้วย และน่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือรักษาก็คือ การให้ผู้ป่วย (หรือผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย) และญาติของผู้ป่วยตอบคำถามหรือ ตอบแบบสอบถามที่ถามว่า ท่านคิดว่าบุคคลในครอบครัวที่น่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขมีใครบ้าง โดยให้สมาชิกแต่ละคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับหรือควบคุมหรือเกรงใจของคนอื่น โดยการให้ตอบแบบสอบถามตามลำพังแล้วส่งคำตอบให้กับทีมผู้รักษาโดยตรง

ข้อเสนอแนะ

ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึง ผู้ป่วยและครอบครัวที่มีปัญหาครอบครัว มักจะมีผู้ป่วยหลายคนในครอบครัว ถ้าผู้ป่วยทุกคนในครอบครัวได้รับการรักษาร่วมด้วย ก็จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามการรักษาแบบครอบครัวบำบัดมีความจำเป็นต้องให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวถึงแม้ว่าจะไม่ป่วยก็ตาม มาร่วมมือกันในการช่วยกันแก้ไขปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นด้วย 2-7

ผู้วิจัยขอเสนอแนะว่า วิธีการหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างดีและได้ผลเร็วในการที่จะช่วยบอกให้ผู้รักษาทราบว่า น่าจะมีผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวที่น่าจะได้รับการรักษาหรือช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชมีอาการดีขึ้นมาก หรือไม่กลับป่วยซ้ำอีกบ่อยๆ หรือเพื่อให้ผู้ป่วยที่ดูเหมือนว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยทั่วไป หรืออาการไม่ค่อยดีขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการรักษาโดยทั่วไปอย่างเต็มที่แล้วก็คือ การถามญาติหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชว่า “ท่านคิดว่าน่าจะมีสมาชิกในครอบครัวคนใดบ้างที่น่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไข” เพื่อที่ผู้รักษาจะได้ให้การรักษาหรือช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัวร่วมด้วย และทุกคนในครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

สรุป

ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยรวมทั้งหมด 25 ครอบครัว มีจำนวนสมาชิกในแต่ละครอบครัวเฉลี่ยร้อยละ 48 ที่มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-IV

ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช ที่เป็นผู้ป่วยเพียงคนเดียวในครอบครัว มีจำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 24

จำนวนครอบครัวที่มีคนในครอบครัวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปมีความเห็นตรงกับทีมผู้รักษาในเรื่องที่ว่า ใครคือผู้ป่วยอื่นๆ ทางจิตเวชในครอบครัวเท่ากับ 20 ครอบครัว จากทั้งหมด 25 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 80

ในการศึกษานี้ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชและผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < 0.05 ใน 5 เรื่องคือ อายุ อาชีพ สถานภาพสมรส สถานภาพ ในครอบครัว และการวินิจฉัยโรคหลักใน axis I และ II ของ DSM-IV ส่วนในด้านอื่นๆ เช่น ระดับการศึกษา เพศ เศรษฐฐานะ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 กิตติกรรมประกาศ

การวิจัยนี้ได้รับทุนจากทุนอุดหนุนการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2540

ผู้วิจัยขอขอบพระคุณอาจารย์สถานส่งเสริมการวิจัย และขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ได้ให้ทุนวิจัยและคำปรึกษา คำแนะนำและความช่วยเหลือต่างๆ ผู้วิจัยขอขอบคุณอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคลินิกครอบครัว ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดี

ผู้วิจัยขอขอบคุณ ผศ.ดร. สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์ ที่ช่วยให้คำแนะนำและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

 เอกสารอ้างอิง

  1. Miermont J. The dictionary of family therapy. Oxford: Blackwell Publishers Ltd., 1995: 198-200.
  2. Kaplan HI, Sadock BJ, Grebb JA. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry. Behavioral sciences, clinical psychiatry. 7th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1994: 309-35 , 844-50.
  3. ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ, กวี สุวรรณกิจ. ครอบครัวบำบัด: การรักษาอีกรูปแบบหนึ่ง. สารศิริราช 2540; 49: 708-11.
  4. สมพร บุษราทิจ, ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ. จิตเวชปฏิบัติ 41. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2540: 179-96.
  5. อุมาพร ตรังคสมบัติ. จิตบำบัดและการให้คำปรึกษาครอบครัว. กรุงเทพฯ: เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง, 2540:17-8.
  6. Goldenberg I, Goldenberg H. Family therapy: an overview. 4th ed. London: Brooks/Cole Publishing, 1996: 30-5, 46-50.
  7. Walsh WM, McGraw JA. Essentials of family therapy: a therapist’s guide to eight approaches. Denver: Love Publishing, 1996: 5-6.
  8. รุจิรา จงสกุล, สิวลี เปาโรหิตย์, วรรณภา แห้วดี, เพ็ญศิริ สมใจ, วัชนี หัตถพนม. ปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน. วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย 2540; 4: 21-36.
  9. Hare-Mustin RT. The problem of gender in family therapy theory. In: McGoldrick M, Anderson C, Walsh F, eds. Women in families: a framework for family therapy. New York: W.W. Norton & Company, 1991: 64-5.
  10. Bloch S, Hafner J, Harari E, Szmukler GI. The family in clinical psychiatry. Oxford: Oxford University Press, 1994: 92-272.
  11. Bhugra D, Buchnan A. Attitudes towards mental illness. In: Bhugra D, Leff J, eds. Principles of social psychiatry. London: Blackwell Scientific Publications, 1993 : 99-121, 286-97, 389.

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช กับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ในครอบครัว

ตัวแปร ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย (N=25) ผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว (N=27) Chi-square
  จำนวน (คน) ร้อยละ จำนวน (คน) ร้อยละ  
1.ระดับการศึกษา         6.99
- ไม่ได้เรียน 0 0 1 3.70  
- ประถม 6 24 5 18.52  
- มัธยม 9 36 3 11.11  
- อนุปริญญา,

ปวช., ปวส.

5 20 6 22.22  
- มหาวิทยาลัย 5 20 12 44.44  
2. สถานภาพสมรส         11.77*
- โสด 19 76 8 29.63  
- คู่ 5 20 18 66.67  
- หม้าย, หย่า 1 4 1 3.70  
3.เศรษฐฐานะ         0.34
- ยากจน 3 12 3 11.11  
- ปานกลาง 19 76 22 81.48  
- รวย 3 12 2 7.41  
4. อาชีพ         16.96*
- ว่างงาน 8 32 1 3.70  
- เรียน 12 48 6 22.22  
- ค้าขาย 2 8 4 14.81  
- รับราชการ,

รัฐวิสาหกิจ

2 8 10 37.04  

-เอกชน, ส่วนตัว, แม่บ้าน, รับจ้าง

1 4 6 22.22  
5. สถานภาพใน

ครอบครัว

        25.87*

- พ่อ, แม่, สามี, ภรรยา

5 20 18 66.67  
- ลูก 20 80 3 11.11  
- ป้า, น้า, อื่นๆ 0 0 6 22.22  

*p < 0.05

ตารางที่ 2 จำนวนครอบครัวของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย (I.P.) ว่ามีผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว (O.P.)จำนวนเท่าใดบ้าง

 

จำนวนครอบครัว (N=25)

ร้อยละ

1. I.P. ที่ไม่มี O.P. 6 24
2. I.P. ที่มี O.P. 19 76
- I.P. ที่มี O.P. 1 คน 13 52
- I.P. ที่มี O.P. 2 คน 4 16
- I.P. ที่มี O.P. 3 คน 2 8

 


 ตารางที่ 3 ลักษณะและขนาดของครอบครัว

ตัวแปร จำนวนครอบครัว (N=25)

ร้อยละ

1. ลักษณะของครอบครัว    
- ครอบครัวเดี่ยว 21

84

- ครอบครัวขยาย 4

16

2. จำนวนสมาชิกในครอบครัว

( คน/ครอบครัว)

   
2 - 3 4

16

4 - 5 15

60

6 - 7 5

20

8 - 9 0

0

10 -11 1

4

 


ตารางที่ 4.1 การวินิจฉัยโรคหลักของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวชกับผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว

การวินิจฉัยโรคหลัก ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย (N=25) ร้อยละ ผู้ป่วยอื่นๆ ใน ครอบครัว (N=27) ร้อยละ
Schizophrenia

4

16

1

3.70

Major depressive disorder

5

20

2

7.41

Bipolar disorders

5

20

1

3.70

Adjustment disorders

4

16

5

18.52

Learning disorders

1

4

0

0

Attention-eficit/hyperactivity

Disorder

1

4

0

0

Alcohol abuse, dependence

1

4

3

11.11

Borderline, Antisocial

Personality disorders

1

4

3

11.11

Amphetamine dependence

1

4

0

0

Dysthymic disorder

1

4

1

3.70

Mental retardation

0

0

1

3.70

Obsessive-compulsive, Dependent personality

Disorders

0

0

5

18.52

Schizotypal personality

Disorder

0

0

2

7.41

Psychological factors affecting

Medical condition

1

4

3

11.11

หมายเหตุ - Psychological factors affecting medical condition ได้แก่ tension headache,

hyperventilation syndrome

ตารางที่ 4.2 การวินิจฉัยโรคแบ่งตาม axis I และ II ของ DSM-IV

การวินิจฉัยโรคหลัก ผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วย (N=25) ผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว (N=27) Chi-square
  จำนวน (คน) ร้อยละ จำนวน (คน) ร้อยละ  
DSM-IV        

7.42*

Axis I

23

92

16

59.26

 
Axis II

2

8

11

40.74

 

*p < 0.05

 แผนภูมิที่ 1 แสดงช่วงอายุของผู้ที่ครอบครัวระบุว่าป่วยทางจิตเวช กับผู้ป่วยอื่นๆ ในครอบครัว

หมายเหตุ - ค่า Chi-square ของช่วงอายุเท่ากับ 21.61 , ค่า p < 0.05

Identified Psychiatric Patients and Other Psychiatric Patients in Their Families*

Sirirat Kooptiwoot, M.D.*

Kavi Suvarnakich, M.D.**

Wajjanin Rohitsuk, Ph.D.(applied behavioral studies)**

Samorn Ariyanuchitkul, MSc.(mental health, nurse)**

Abstract: Twenty-five identified psychiatric patients and 27 other psychiatric patients in their families in this prospective and comparative study were part of those from the family therapy clinic, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, during January to December 1997. We found that in each family there were 48 per cent of family members having mental disorders according to the DSM-IV diagnostic criteria. Seventy-six per cent of these 25 families had more than one psychiatric patients in a family. Twenty families (80 per cent) had at least one family member having the same opinion as the therapist team having about who were other patients in their families.

Identified psychiatric patients were 16 men and 9 women. Most of them were young adult and adolescent, single and being sons or daughters. Half of them were studying in primary and secondary schools. Nearly one-third were unemployed. The four common diagnoses were major depressive disorder, bipolar disorders, schizophrenia and adjustment disorders.

Other psychiatric patients in the families were 12 men and 15 women. Most of them were in middle adulthood, married, working, educated, and being father, mother or husband, wife. The most common diagnoses were personality disorders (37 per cent) and other common diagnoses were adjustment disorders, psychological factors affecting medical condition (tension headache), alcohol abuse and dependence.

Identified psychiatric patients were different from other psychiatric patients in the families statistical significantly at p < 0.05 in 5 aspects which were age, occupation, marital status, family status and major diagnoses in axis I or axis II.

The result of this study showed that most of the families of psychiatric patients having family problems had more than one psychiatric patient in a family. If all of the patients receive treatment, the treatment outcome will be excellent.

 Key words: identified psychiatric patients, other patients in a family, family therapy


* supported by the grant from the Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, 1997.

**Department of Psychiatry, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us