เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(3): 207-16.

สาเหตุการมีเมียน้อยในชายไทย 20 ราย

Causes of Having Mistresses in 20 Thai Men

นงพงา ลิ้มสุวรรณ พ.บ.
รณชัย คงสกนธ์ พ.บ.

บทนำ

ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้คำว่า เมียน้อย ไม่ได้ใช้คำว่า ภรรยาน้อย ดังเช่นในการศึกษาเรื่องสาเหตุการเป็นภรรยาน้อย1 ของผู้วิจัยที่ได้ศึกษาและรายงานไปก่อนการศึกษานี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า คำว่าภรรยาน้อยไม่มีในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แต่มีคำว่า เมียน้อย ฉะนั้นเพื่อความถูกต้องด้านภาษา ผู้ศึกษาจึงขอใช้คำว่า เมียน้อย โดยไม่มีเจตนาจะดูแคลนหญิง ที่เป็นเมียน้อยแต่อย่างใด และคำจำกัดความของคำว่าเมียน้อยในการศึกษานี้คือ ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอย่างสามีภรรยา หรือมีความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาต่อเนื่อง ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวแล้วเลิกกันไป กับผู้ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว

ดังที่ตระหนักกันดีโดยทั่วไปว่า ปัญหาสามีมีเมียน้อย เป็นต้นเหตุของปัญหาครอบครัว ที่พบบ่อยมากในคลินิกจิตเวชโดยมากแล้วผู้ที่มาปรึกษาจิตแพทย์หรือบุคลากรทางสุขภาพจิตจะเป็นภรรยา หรือเมียหลวง แม้ในการตอบปัญหาสุขภาพจิตในสถานีวิทยุต่างๆ ในขณะที่รายงานการศึกษานี้ (พ.ศ.2540) หลายรายการมาก ที่ผู้โทรเข้ามาปรึกษาจะมีปัญหาสามีมีเมียน้อย หรือสามีไปมีความสัมพันธ์ กับผู้หญิงอื่นเกือบทุกวัน นอกจากนั้น ปัญหานี้ยังสะท้อนออกมาอีกหลายทางในสังคมไทย เช่น ละครในโทรทัศน์บ่อยครั้งมากที่เป็นเรื่องของ "เมียน้อยเมียหลวง" เช่น เรื่องยุทธการปราบเมียน้อย ฉะนั้นจากการประเมินจึงค่อนข้างมั่นใจว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากในสังคมไทย

สำหรับสถิติที่แท้จริงว่ามีชายไทยจำนวนเท่าใดที่มีเมียน้อยนั้นหาได้ยาก เพราะมักเป็นเรื่องที่ปิดบังกันอยู่แล้ว แต่ก็มีการศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพ2 ซึ่งได้ทำการสำรวจ โดยการส่งคนออกทำการสัมภาษณ์ประชากรในกรุงเทพฯ 160 คน โดยเป็นชาย 80 คน หญิง 80 คน พบว่ามีผู้ชาย 19 คน ร้อยละ 23.75 ได้ยอมรับว่าตนเคยมีเมียน้อย และมีถึง 44 คน ร้อยละ 55 ที่ยอมรับว่าเคยคิดจะมีเมียน้อย ซึ่งผู้ศึกษามีความเห็นว่าจำนวนผู้ชายที่มีเมียน้อยที่รายงาน น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะบางคนอาจจะปิดบังผู้สัมภาษณ์เพราะความอาย

ในต่างประเทศไม่พบมีการศึกษาเรื่องเมียน้อย (mistress) โดยตรง แต่มีการศึกษา ถึงปัญหาความสัมพันธ์นอกสมรส (extramarital affairs) ซึ่งอาจหมายความรวมกันถึงสองอย่างคือ การมีเมียน้อยและการมีความสัมพันธ์ทางเพศชั่วคราวแล้วเลิกกันไป ซึ่งพบได้มากในวัฒนธรรมตะวันตกอยู่แล้ว เช่นการสำรวจของ Psychology Today พบว่า มีผู้ชายร้อยละ 40 และมีผู้หญิงร้อยละ 31 เคยมีความสัมพันธ์นอกสมรส การศึกษาของ Blumstein และ Schwarty พบว่ามีสามีร้อยละ 26 และมีภรรยาร้อยละ 21 เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สมรสของตนเอง ส่วนใหญ่ของงานวิจัยในต่างประเทศ จะพบว่าเพศชายมีความสัมพันธ์นอกสมรสมากกว่าเพศหญิง และในบางรายงานพบว่า ผู้ชายเคยมีความสัมพันธ์นอกสมรสสูงถึงร้อยละ 504 การศึกษาด้านนี้ในต่างประเทศ ยังได้ศึกษาลักษณะของความสัมพันธ์นอกสมรส เช่น Thompson ได้รายงานความสัมพันธ์นอกสมรสว่า แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ

แบบที่ 1 มีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่มีความรัก พบว่ามีร้อยละ 21 แบบที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันและมีความรักด้วย พบว่ามีร้อยละ 19 แบบที่ 3 มีความรัก แต่ไม่มีเพศสัมพันธ์ พบว่ามีร้อยละ 18

ในประเทศไทยแม้จะเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า ปัญหาการมีเมียน้อยของชายไทย เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของทุกคนที่เกี่ยวข้องสำหรับปัจจุบัน เพราะหญิงไทยส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ยอมรับการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนในขณะเดียวกันเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งจากการศึกษา เรื่องสาเหตุการเป็นภรรยาน้อยก็ได้ยืนยันในค่านิยมข้อนี้ของหญิงไทย ทั้งนี้น่าจะด้วยอิทธิพลทางตะวันตก ที่เข้ามาทีละน้อยในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านการปกครองที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 และปี พ.ศ.2476 ได้มีกฎหมายเรื่องผู้ชายจะมีภรรยาได้คนเดียว เกิดขึ้นตามวัฒนธรรมตะวันตก

ฉะนั้นครอบครัวใดถ้าเกิดปัญหาเมียน้อยจะกระทบจิตใจสมาชิกในครอบครัวทุกคน โดยเฉพาะภรรยาและลูกๆแต่ก็ไม่มีการศึกษาว่าเหตุใดชายไทยจำนวนไม่น้อยจึงยังต้องมีเมียน้อย มีปัจจัยอะไรบ้างที่ชักนำเกี่ยวข้องจะได้ใช้ในการป้องกันเพื่อลดปัญหานี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตครอบครัว ซึ่งโยงใยไปถึงปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่เกิดจากครอบครัวแตกแยกได้ เช่น ปัญหายาเสพย์ติด หนีออกจากบ้าน ไม่ประสบผลสำเร็จในการศึกษาและอื่นๆ การศึกษาของรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุชาติ พหลภาคย์6 เกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาในชีวิตสมรส 115 คู่ พบว่าปัญหาที่สำคัญ 3 อันดับแรก ที่ทำให้ชีวิตสมรสไม่มีความสุข คือ การที่คู่สมรสมีชู้ การขาดความรู้สึกใกล้ชิดและความรู้สึกไม่รักคู่สมรส ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เพศสัมพันธ์นอกสมรสที่ต่อเนื่องเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตของคู่สมรส หรือครอบครัวนั่นเอง ผู้วิจัยจึงสนใจถึงปัญหานี้ เพราะต้องการศึกษาถึงปัจจัยหรือสาเหตุ ของการมีเมียน้อยในสังคมไทย แต่เป็นการศึกษาที่ทำได้ยากมาก เพราะไม่สามารถใช้วิธีทั่วไป ในการหาประชากรชายไทยจำนวนมากๆ ที่มีเมียน้อยแล้วยินดีให้การศึกษาเพราะส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง ผู้ศึกษาจึงต้องใช้ประชากรที่ตัวเขาเอง หรือภรรยาคนแรก หรือเมียน้อยเข้ามาปรึกษาหรือรักษาโรคทางจิตเวช แล้วพบว่ามีปัญหาเมียน้อย อีกทั้งยินยอมให้ข้อมูลเพื่อการศึกษาครั้งนี้ด้วย

วิธีการศึกษา

ผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ที่มาปรึกษาหรือรักษาที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 20 รายที่มีเมียน้อย โดยเริ่มตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2530 จนถึง 18 สิงหาคม 2537 เป็นเวลาเกือบ 7 ปี ด้วยเหตุผลว่า หาประชากรที่มีเมียน้อยสำหรับการศึกษาได้ยาก เพราะการมีเมียน้อยผู้ที่มีมักไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง ข้อมูลที่เก็บ ครอบคลุมปัจจัยพื้นฐานสาเหตุมีเมียน้อย ความคิดเห็นและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการมีเมียน้อย และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามที่แสดงในผลการศึกษา

ผลการศึกษา


ตารางที่ 1 ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้มีเมียน้อย

ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป จำนวนทั้งหมด 20 ราย
จำนวน ร้อยละ
1. เชื้อชาติ
ไทย
จีน
ลาว


12
7
1


60
35
5

2. ศาสนา
พุทธ
อิสลาม


19
1


95
5

3. อายุ (ปี)
20-30
31-40
41-50
>50


2
7
8
3


10
35
40
15

4. การศึกษา
ไม่เคยเข้าโรงเรียน
ระดับประถมศึกษา
ระดับมัธยมศึกษา
อนุปริญญา
ปริญญา (ตรี, โท, เอก)


0
3
6
5
6


0
15
30
25
30

5. สถานที่เกิด
กรุงเทพฯ
ต่างจังหวัด


6
14


30
70

6. ปัจจุบันอยู่ที่
กรุงเทพฯ
ต่างจังหวัด


12
8


60
40

7. อาชีพ
นักธุรกิจ
ตำรวจ
วิศวกร
รับราชการ
(ด้านเศรษฐศาสตร์)
แพทย์
สถาปนิก
พนักงานขับรถ

พนักงานต้อนรับบน
เครื่องบิน

พนักงานขาย


10
2
2
1

1
1
1

1
1


50
10
10
5

5
5
5

5
5

8. รายได้ (ต่อเดือน)
<10,000
10,000-50,000
50,000-100,000
>100,000
ไม่ตอบ


3
7
3
5
2


15
35
15
25
10

9. เป็นลูกอันดับที่
1
2
3
4
5
6


1
8
4
5
1
1


5
40
20
25
5
5


ตารางที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับบิดามารดา

ชีวิตสมรสของบิดามารดา จำนวนทั้งหมด
จำนวน ร้อยละ

บิดา มีจำนวนภรรยาสูงสุด
ในขณะเดียว

1 คน
มากกว่า 1 คน
ไม่ตอบคำถาม



15
2
3



75
10
15

มารดา เป็นภรรยา
คนเดียวของบิดา
ภรรยาคนแรก
เมียน้อย
อื่นๆ (ผู้ตอบไม่ทราบประวัติ
มารดาตนเอง ไม่ตอบ)


12
3
2
3


60
15
10
15


ตารางที่ 3 บุคลิกภาพของผู้มีเมียน้อย

ลักษณะบุคลิกภาพ จำนวนผู้ตอบทั้งหมด 20 ราย
จำนวนบุคลิกภาพ ร้อยละ
เจ้าระเบียบ
ไม่ชอบตัดสินใจเอง
ชอบแสดงออก
อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย
ชอบให้คนช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ
มีความสามารถมากกว่าผู้อื่น
ไม่ชอบคิดมากปล่อยตามสบาย
ใจร้อน หุนหัน

6
5
2
2
1
1
1
1

30
25
10
10
5
5
5
5

จากในตารางที่ 3 จำนวนบุคลิกภาพจะเกิน 20 อย่าง เพราะบางคนตอบเกินกว่าหนึ่งลักษณะของบุคลิกภาพ ระยะเวลาในการใช้ชีวิตคู่พบตั้งแต่ 4-30 ปี


ตารางที่ 4 ความคิดเห็นของผู้มีเมียน้อย

ความคิดเห็นของผู้มีเมียน้อย จำนวนทั้งหมด 20 ราย
จำนวน ร้อยละ
1. ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตคู่หรือชีวิตแต่งงานที่อยู่
มีความสุข
มีสุขมากกว่าทุกข์
มีทั้งสุขและทุกข์พอๆ กัน
ไม่สุขแต่ก็ไม่ทุกข์
มีปัญหามีทุกข์


8
4
5
2
1


40
20
25
10
5

2. แต่งงานด้วยเหตุผล
มีความรัก
โดยความใกล้ชิด
อื่นๆ เช่น ประชดชีวิต ผู้ใหญ่จัดให้


12
2
6


60
10
30

3. คิดว่าผู้ชายควรจะมีคู่
หนึ่งคน
มากกว่าหนึ่งคนพร้อมๆ กัน
ครั้งละ 1 คน แต่มากกว่า 1 ครั้ง
ไม่แน่ใจ


11
7
1
1


55
35
5
5

4. คิดว่าถ้าภรรยาทราบว่ามีผู้หญิงอื่นจะหย่าแน่นอน
ท่านคิดว่ากล้าทำหรือไม่
กล้า
ไม่กล้า
ไม่ตอบ



6
10
4



30
50
20

5. มีคู่มากกว่าหนึ่งคน มีปัญหาหรือไม่
ไม่มี
มี


0
0


20
100

6. ปัญหาคือ
คู่คนแรกไม่สบายใจมากไม่มีความสุข
ต้องทะเลาะกับคู่คนแรก
ต้องทะเลาะกับคู่คนที่สอง
มีอาการนอนไม่หลับ
เงินไม่พอใช้


13
3
2
1
1


65
15
10
5
5


ตารางที่ 5 เหตุผลการมีเมียน้อย

เหตุผลการมีเมียน้อย
ตามความเข้าใจของผู้ตอบ
จำนวนเหตุผลทั้งหมด 27 เหตุผล
จำนวน ร้อยละ
ด้วยความใกล้ชิด ความบังเอิญ
ด้วยความรัก
ได้รับผลประโยชน์
พบคนที่ถูกใจ
ไม่มีความสุขกับคู่ของตน
เป็นการหาความสุขอย่างหนึ่งเท่านั้น
เป็นความสามารถของผู้ชาย
ด้วยความสงสาร


10
4
4
3
2
2
1
1


37.04
14.81
14.81
11.1
7.40
7.40
3.70
3.70


อภิปราย

จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลการศึกษาครั้งนี้พบว่ามีปัจจัยหลายอย่าง (multiple factors) ที่เป็นสาเหตุการมีเมียน้อย ของประชากรกลุ่มที่ศึกษานี้ (ตารางที่ 5) โดยเฉพาะที่ตอบว่า มีเมียน้อยด้วยความใกล้ชิด ความบังเอิญถึงร้อยละ 37.04 ของเหตุผลทั้งหมดที่มีเมียน้อย เหตุผลที่มาเป็นที่สองคือ ด้วยความรักร้อยละ 14.81 พบคนที่ถูกใจร้อยละ 11.1 และด้วยความสงสารอีกร้อยละ 3.70 ซึ่งเป็นความเห็นของผู้วิจัยว่าเหตุผล 4 ข้อนี้มาจากรากฐานเดียวกัน คือจะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด สนิทสนมจนทำให้เกิดความรัก ความถูกใจและความสงสาร เมื่อรวมเหตุผลทั้ง 4 ข้อนี้เข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้การมีเมียน้อยของผู้ชายไทยเกิดจากสาเหตุเรื่องความใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งสูงขึ้นมาก (ร้อยละ 66.67 ของเหตุผลทั้งหมด) คำอภิปรายว่า ทำไมเมื่อชายเหล่านี้ได้ใกล้ชิดหญิงอื่นแล้ว (ตารางที่ 3) จึงขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง น่าจะเพราะผู้ชายเหล่านี้มีปัญหาบุคลิกภาพ พื้นฐานที่บกพร่องหลายด้านอยู่แล้ว เช่น เป็นคนไม่ชอบตัดสินใจ ไม่ชอบแสดงออก อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย ใจร้อน หุนหัน จึงอาจทำให้ปล่อยตัวปล่อยใจไปเรื่อยๆ แล้วแต่เหตุการณ์จะพาไป ไม่ควบคุมตัวเอง ไม่ตัดสินใจทำอะไรที่ควรจะทำ เช่นการยุติความสัมพันธ์เสียก่อนที่จะมีปัญหา เหตุผลเรื่องบุคลิกภาพของคู่สมรสนั้น

ในต่างประเทศได้มีการศึกษาไว้ คือ Thompson พบว่าปัจจัยทางบุคลิกภาพของคู่สมรสมีอิทธิพล มากกว่าคุณภาพชีวิตสมรสในการตัดสินใจมีความสัมพันธ์นอกสมรส แต่ของ Thompson พบว่าบุคลิกภาพส่วนใหญ่เป็นแบบไม่มั่นใจตนเอง คิดว่าตนเองด้อยกว่าคู่สมรสจึงต้องการหา ความสัมพันธ์กับบุคลอื่นเพื่อมาเสริมความมั่นใจของตนเอง หรืออีกบุคลิกภาพหนึ่งที่ Thompson พบบ่อยคือ หลงตัวเองคิดว่าตนเก่งมีเสน่ห์ ฉะนั้นการมีความสัมพันธ์นอกสมรสเท่ากับการยืนยันว่า ตนมีเสน่ห์จริง เป็นคนเก่งจริง

ปัจจัยเรื่องอายุของชายที่มีเมียน้อย (ตามตารางที่ 1 หัวข้อที่ 3) คือ พบว่าชายเหล่านี้จะเริ่มมีเมียน้อย ในช่วงอายุ 31-50 ปีมากที่สุด คือมีมากถึงร้อยละ 75 น่าจะด้วยเหตุผลว่าชายในวัยนี้ได้ทำงาน สร้างตัวมาพอสมควรหรือกำลังมีความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ก็อาจต้องการให้คนอื่นเอาใจมากกว่าคอยเอาใจผู้อื่น หรือชายวัยนี้บางคนเริ่มเกิดปัญหาเกี่ยวกับการสูญเสีย ปัญหาความเจ็บป่วย หรือขาดความมั่นใจในตนเอง จึงแสวงหาความสัมพันธ์นอกสมรส สำหรับเมืองไทยยังมาสอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องสาเหตุการเป็นภรรยาน้อย ที่พบว่าหญิงที่เป็นเมียน้อยส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากมีความต้องการความรักความอบอุ่น อยากมีที่พักพิงทางใจ ต้องการเงินหรือมีผู้อุปการะซึ่งผู้ชายในช่วงวัยนี้สามารถให้ได้พอดี จึงเป็นความต้องการที่ตรงกัน ของสองฝ่ายทั้งชายและหญิง ฉะนั้นโอกาสการมีเมียน้อยและการเป็นเมียน้อยจึงเกิดได้ง่ายขึ้นแน่นอน

ปัจจัยด้านคุณภาพของชีวิตสมรสของสามีที่มีเมียน้อย (ตามตารางที่ 4) จะเห็นได้ว่า ไม่เป็นไปตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่า สามีมีเมียน้อยเพราะไม่มีความสุขกับภรรยาคนแรก เพราะจากข้อมูลที่ได้ แรกเริ่มก็แต่งงานกันด้วยความรักเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 ขณะที่มีเมียน้อยแล้วร้อยละ 60 ก็ยังมีความสุขในชีวิตสมรส คนที่มีปัญหาจริงๆ มีเพียงร้อยละ 5 และทัศนคติของชายที่มีเมียน้อยถึงร้อยละ 55 ยืนยันว่า ควรจะมีคู่หนึ่งคน จากข้อมูลนี้ทำให้สรุปได้ว่า การมีเมียน้อยของชายไทยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจาก คุณภาพชีวิตสมรสเดิมมีปัญหาและการมีทัศนคติว่า ควรมีภรรยาคนเดียวก็ไม่สามารถป้องกันการมีเมียน้อยได้ ความรู้ข้อนี้สามารถประยุกต์มาใช้รักษาผู้เป็นภรรยาที่สามีมีเมียน้อยแล้วรู้สึกว่าตนเองอาจจะผิด หรือบกพร่องในการเป็นภรรยาที่ดี ทำให้สามีไม่มีความสุขจนต้องมีเมียน้อย ภรรยาเหล่านี้จะได้หยุดลงโทษตัวเองอย่างผิดๆ

ที่น่าสนใจมากอีกอย่างของผลการศึกษา (ตามตารางที่ 4 หัวข้อที่ 4) คือ พบผู้ชายที่มีเมียน้อยเหล่านี้ตอบว่า จะไม่กล้ามีเมียน้อยถึงร้อยละ 50 ถ้าภรรยาตนจะหย่าตนอย่างแน่นอนถ้าพบว่าตนมีเมียน้อย ตอบว่ากล้าเพียงร้อยละ 30 และไม่ตอบคำถามนี้ร้อยละ 20 (ซึ่งอาจจากความไม่แน่ใจ) ซึ่งหมายความว่าชายเหล่านี้ แม้จะมีเมียน้อย แต่ก็ไม่ต้องการสูญเสียภรรยาตนไป คือต้องการทั้ง 2 คน ซึ่งตรงกับประสบการณ์ทางคลินิกของผู้วิจัย ที่สามีเกือบทั้งหมดไม่ต้องการเลิกกับภรรยาตน มีน้อยรายมากที่ต้องการเลิกไปอยู่กับเมียน้อยเลย ซ้ำเวลาถูกภรรยาบังคับให้เลือกว่าต้องเลือกที่จะอยู่กับคนใดคนหนึ่ง ก็ไม่ยอมเลือกหรือขอต่อรองกับภรรยาว่า ขอเวลาให้ตนได้ค่อยๆ เลิกกับเมียน้อย ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นการซื้อเวลามากกว่าจะเลิกกับเมียน้อยจริงๆ

ผลการศึกษานี้ภรรยาน่าจะนำมาใช้ปรามสามีได้ โดยพูดกับสามีให้ชัดเจนก่อนหรือหลังแต่งงาน แต่ก่อนที่สามีมีเมียน้อยว่าตนจะหย่าสามีแน่นอนถ้าพบว่ามีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นหรือมีเมียน้อยเกิดขึ้น เพราะหมายถึงว่าสามีจะต้องสูญเสียครอบครัวเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งทำให้สามีต้องไตร่ตรองอย่างมาก ก่อนที่จะยอมให้เกิดปัญหาขึ้น ข้อนี้ในทางปฏิบัติผู้วิจัยคิดว่าอาจมีปัญหาบ้างตรงที่ว่าหญิงไทยจำนวนมาก ยังมีทัศนคติไม่ดีต่อการหย่าร้าง และเกรงกลัวทัศนคติที่ไม่ดีของผู้อื่นที่จะมีกับตนด้วยถ้าตนต้องหย่าร้างกับสามี จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของหญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถหย่ากับสามีเมื่อพบว่าสามีมีเมียน้อย คือ ผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองและลูกได้ต้องพึ่งสามีในด้านการเงิน

สำหรับในต่างประเทศจากการศึกษาของ Charny และ Parnass ในประเทศอิสราเอลพบว่าประมาณ 1/3 ของหญิงที่พบว่าสามีมีเมียน้อยสิ้นสุดชีวิตสมรส ด้วยการหย่าร้าง อีก 1/3 ไม่หย่าร้าง แต่อยู่อย่างมีปัญหา และมีความขัดแย้งในชีวิตสมรสต่อมาและ 1/3 สุดท้ายอยู่ในชีวิตสมรสต่อโดยมีปัญหาไม่มากนัก

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในการศึกษานี้ (ตามตารางที่ 4 หัวข้อที่ 5) คือพบว่า ร้อยละ 100 ของผู้ที่มีเมียน้อยมีปัญหาตามมาทั้งหมด ซึ่งตรงกับการศึกษาของผู้วิจัยในเรื่องสาเหตุการเป็นภรรยาน้อย ที่ว่าเมียน้อยทุกคน (ร้อยละ 100) ยอมรับว่าชีวิตแบบนี้มีปัญหาและสำหรับการศึกษาครั้งนี้พบว่า ปัญหาที่มากที่สุด (ตามตารางที่ 4 หัวข้อที่ 6) คือ คู่คนแรกไม่สบายใจมากและไม่มีความสุข ซึ่งพบถึงร้อยละ 65 ผลของการศึกษานี้นับว่า น่าจะเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญสำหรับผู้ชายที่จะตัดสินใจ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการมีเมียน้อย ข้อมูลนี้ชี้ชัดออกมาให้เห็นว่าคู่สมรสคนแรก เป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนมากที่สุด จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบไปในทางลบ เช่น ไม่สบายใจ ไม่มีความสุข พยายามฆ่าตัวตาย ดังนั้นปัญหาที่ตามมาของผู้ชาย คือ การต้องแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในชีวิตสมรส ในภายภาคหน้า ผลของการศึกษานี้ น่าจะเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมต่อสังคม หรืออาจจะเป็น "public health warning" ว่าการมีเมียน้อยจะนำปัญหาต่างๆ มากมายมาสู่ชีวิตสมรส

เรื่องทัศนคติของชายที่มีเมียน้อยที่เห็นว่าที่ทำไปนั้นเป็นเพียงวิธีหาความสุขอย่างหนึ่งเท่านั้นหรือที่คิดว่า เป็นความสามารถของตนและผู้ชายอีกร้อยละ 35 (จากตารางที่ 4 ข้อ 3) ยังเห็นว่าผู้ชายควรมีคู่ได้มากกว่า 1 คน ในขณะเดียวกันนั้นถึงแม้จะพบเป็นปัจจัยรองในการศึกษานี้ แต่ในความเป็นจริง ในสังคมไทยอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญพอสมควร เพราะสังคมของเราพัฒนามาจากผู้ชายสามารถมีภรรยามากคนได้ จึงน่าจะได้รับความสนใจแก้ไข โดยน่าจะช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติของชายไทยให้เป็นว่าคนที่เก่ง คนที่มีความสามารถควรจะเป็นคนที่ประคับประคอง ชีวิตสมรสของตนให้มีความสุขที่สุด โดยไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาแทรกแซง ซึ่งถ้าเปลี่ยนทัศนคติของชายไทยเราได้ เท่ากับเป็นการช่วยลดอัตราการหย่าร้าง และพร้อมกันนั้นเท่ากับได้ช่วยแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนของเราไปด้วย

ข้อจำกัด

ด้วยเหตุผลของความยากลำบากในการหาประชากรสำหรับการศึกษาดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จนต้องใช้เวลายาวนานเกือบ 7 ปี ก็ยังได้ประชากรจำนวนไม่มากเท่าที่ควรและได้จากคลินิกทางจิตเวชเท่านั้น แม้ตัวผู้ถูกวิจัยส่วนใหญ่จะไม่ใช่ผู้ป่วยเองทุกรายก็ตาม แต่ยังอยู่ในวงค่อนข้างแคบจึงอาจไม่ใช่ตัวแทน ของปัญหาทั้งประเทศ ในสังคมโดยรวมของไทยอาจเป็นไปได้แม้จะน่าเป็นส่วนที่น้อยของสังคมที่สามีมีเมียน้อย แล้วไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโอกาสน่าจะเป็นไปได้น้อย ดังเหตุผลที่ว่าโลกได้เปลี่ยนไป สังคมโลกเล็กลงมากจนวัฒนธรรมก็ปรับมาคล้ายกันใกล้เคียงกันหลายเรื่อง การมีคู่ครองมากกว่าหนึ่งคนของชาวไทยย่อมเป็นที่ยอมรับได้ยากมาก สำหรับผู้หญิงไทยยุคปัจจุบัน

อีกประการหนึ่งของจุดอ่อนคือ จะเห็นได้ว่าประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีการศึกษา มากกว่าระดับประถมศึกษา คือ ตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไปถึง 17 คน (ร้อยละ 85) มีระดับประถมศึกษาเพียง 3 คน (ร้อยละ 15) อาจทำให้ผลการศึกษาที่ได้ครั้งนี้เป็นของผู้มีการศึกษา ค่อนข้างดีเป็นส่วนใหญ่ก็ได้

ประโยชน์

จากการศึกษานี้ ได้ข้อเสนอแนะและการแก้ไขปัญหาตามต้นเหตุจากการศึกษา และจากการวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ดังต่อไปนี้

1. ควรเลี้ยงดูบุตรชายให้มีบุคลิกภาพที่ดีและเข้มแข็ง สามารถมีความยับยั้งชั่งใจ มีความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่มีอารมณ์อ่อนไหว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการมีเมียน้อย และบุคลิกภาพที่ดียังสามารถใช้ในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ในด้านอื่นๆ ได้อีกมาก ข้อนี้จะเป็นการป้องกันเบื้องต้นที่ดีที่สุดของปัญหา

2. ควรลดโอกาสของผู้ชายที่จะพัวพันใกล้ชิดกับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาเป็นมาตรการที่สอง ที่จะช่วยป้องกันได้ ถ้าบังเอิญผู้ชายมีจุดอ่อนของบุคลิกภาพของตนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วที่แก้ไขไม่ได้ หรือไม่ได้รับการแก้ไข นั่นคือไม่เปิดโอกาสให้เกิดปัญหานั่นเอง สามีภรรยาในสัคมไทยควรสนใจ ที่จะให้ความใกล้ชิดกันมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งสามีและภรรยามักมีกิจกรรมแยกกันค่อนข้างมาก

3. ควรมีการเผยแพร่หรือเรียนรู้ทักษะในการใช้ชีวิตคู่ให้มีความสุขให้มากขึ้นได้ หรือควรรีบแก้ไขปัญหาระหว่างคู่สมรสเสียแต่เนิ่นๆ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อแก้ไขเองไม่ได้ควรปรึกษาบุคลกรทางสุขภาพจิต ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังบานปลาย

4. สังคมไทยน่าจะได้ช่วยกันรณรงค์ให้ชายไทยมีค่านิยมและทัศนคติการมีภรรยาคนเดียวโดยชี้ให้เห็นว่า โอกาสที่จะเกิดปัญหาสูงกว่าการไม่เกิดปัญหามากๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจะกระทบทุกคน แม้ผู้มีเมียน้อยเองก็เครียด ความสุขที่ได้จากการมีเมียน้อยน่าจะไม่คุ้มกับผลเสียที่ตามมาภายหลัง จะเห็นจากข้อมูลที่ได้ว่าผู้ชายนั้นสามารถมีความรักเกิดขึ้นได้อีกกับหญิงอื่นถ้าใกล้ชิดและถูกใจมากพอ แต่รักแล้วไม่จำเป็นต้องครอบครองทุกครั้งไปต้องยับยั้งใจให้ได้ คงต้องรู้จักพอ เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ควรรณรงค์ให้ชายไทยมีคู่คนเดียว คือ ปัญหาโรคเอดส์ (AIDS) ในปัจจุบันการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสย่อมมีโอกาสติดโรคเอดส์และนำมาแพร่สู่ภรรยาและบุตรได้ สำหรับสังคมไทยหญิงไทยจึงไม่ควรยอมรับค่านิยมและพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้ชายอีกต่อไป

5. ถ้าสามารถป้องกันปัญหาการมีเมียน้อย จะส่งผลดีอย่างมากต่อสุขภาพจิตครอบครัว จะป้องกันปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เมื่อครอบครัวแข็งแรงสังคมประเทศย่อมแข็งแรงตามไปด้วยอย่างแน่นอน เป็นการลดความสูญเสียค่าใช้จ่ายในการตามแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสังคม จากพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและวัยรุ่น เช่น ปัญหายาเสพย์ติด หนีเรียน และอื่นๆ อีกมาก

ข้อเสนอแนะสำหรับงานวิจัยในอนาคต

การวิจัยในครั้งต่อไปควรลดจุดอ่อนของการศึกษาครั้งนี้ดังที่ได้กล่าวแล้ว โดยต้องหาวิธีหาจำนวนประชากรให้มากขึ้นและมีการกระจายของประชากรให้เป็นตัวแทน ของประชากรทั่วประเทศได้ยิ่งดีหรืออย่างน้อยก็ให้มีจำนวนประชากรที่มากกว่านี้ วิธีหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้แต่คงต้องใช้ทุนสูงมาก คือ การสุ่มตัวอย่างจากทุกๆ กลุ่มประชากร แต่ก็จะมีผู้ชายจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมรับว่าตนมีปัญหานี้ซึ่งก็จะเป็นจุดอ่อนของการศึกษาอีก ซึ่งจะคล้ายการศึกษาของ ศรีประภา ชัยสินธพ แต่น่าจะทำกว้างขวางกว่า เช่น ระดับภาค ระดับทั่วประเทศ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

1. นงพงา ลิ้มสุวรรณ. สาเหตุการเป็นภรรยาน้อย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2537;39:14-28 2. ศรีประภา ชัยสินธพ. ทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องภรรยาน้อย: กรณีศึกษา 160 ราย. การประชุมประจำปีสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2535. 3. Glick ID, Clarkin JF, Kessler DR. Marital and family therapy. 3 rd ed. New York: Grune & Stratton, 1987. 4. Argyle M, Henderson M. The anatomy of relationships. London: Penguin Books, 1985:149. 5. Thompson AP. Emotional and sexual components of extramarital relations. J Marr Fam 1984;46:35-42 6. Paholpak S. Marital problem: An analysis of causes among 115 clinical couples. J Med Assoc Thai 1991;74:311-6. 7. เกษม ตันติผลาชีวะ. เมื่อไหร่ผู้ชายจะมีเมียน้อย. ใกล้หมอ 2535;10:95-6. 8. Weiss SS.The two-women phenomenon. Psychoanalytic Quarter 1987;58:271-88. 9. Charny IW. Parnass S. The impact of extramarital. J Sex Marital Ther 1995;21:100-13. 10. Hurlbert DF. Factors influencing a women's decision to end an extramarital sexual relationship. J Sex Marital Ther 1992;18:104-13.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us