เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


การช่วยเหลือผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่

สเปญ อุ่นอนงค์ พ.บ.

 การติดบุหรี่เป็นการเสพติด 2 ทาง คือ การติดทางร่างกายและการติดทางจิตใจ การเลิกสูบบุหรี่จึงต้องพยายามเอาชนะการเสพติดทั้ง 2 ทางนี้ การเสพติดทางร่างกายจะหายไปได้เองถ้าหยุดสูบบุหรี่ให้ได้สัก 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าทนไม่ได้ควรใช้นิโคตินทดแทนแล้วค่อยๆ หยุด ส่วนการเอาชนะการเสพติดทางจิตใจนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุที่จะทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(2): 190-4.

   คำสำคัญ: บุหรี่, การเสพติด, นิโคติน, การเลิกสูบบุหรี่

 

Helping a Smoker to Quit Smoking

*  Spain Uneanong, MD.

 

Cigarette addiction has two components: physical or nictine addiction and ยsychological addiction. The first one can be overcome by a few weeks of abstinence or by using nicotine replacement therapy. The second one may be defeated by several techniques but the most effective method is avoiding cues and temptations to smoke.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(2): 190-4.

 Key words: cigarette, nicotine, smoking, cessation

 เป็นที่ตระหนักกันทั่วไปว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีผู้สูบบุหรี่จำนวนมากขึ้นเรื่อยที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ บทความต่อไปนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่แพทย์สามารถใช้ในการแนะนำผู้พยายามเลิกสูบบุหร ี่เพื่อช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้น

 การติดบุหรี่เป็นการติด 2 ทางร่วมกัน(1), (2)

1. การติดทางร่างกาย

2. การติดทางจิตใจ

1. การติดทางร่างกาย (Physical or pharmacological dependence) คือการที่ร่างกายเกิด

การปรับตัว (neuroadaptation)ต่อการใช้นิโคตินทำให้ร่างกายเกิดทำงานได้อย่างปกติโดยมี

นิโคตินเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อขาดนิโคตินร่างกายจะเสียสมดุล (equilibrium) ทำให้เกิดอาการขาดนิโคติน (withdrawal symptoms) เมื่อสูบบุหรี่ร่างกายได้รับนิโคตินอาการขาดนิโคตินก็จะหายไป

ตารางที่ 1 อาการขาดนิโคติน (nicotine withdrawal symptoms) ที่พบบ่อย(3)

หงุดหงิด, กระสับกระส่าย

ปวดหัว, นอนไม่หลับ, วิงเวียนศีรษะ

สมาธิไม่ดี, คิดอะไรไม่ค่อยออก

อารมณ์ซึมเศร้า หดหู่

 ผู้สูบบุหรี่แต่ละรายจะมีการติดทางร่างกายไม่เท่ากัน มีผู้พยายามสร้างเกณฑ์ในการวินิจฉัย ผู้ที่มีการติดทางร่างกายมากๆ อยู่หลายรายแต่เกณฑ์ที่ง่ายและมีประโยชน์ในทางปฏิบัติคือเกณฑ์ของ Center for Tobacco Research and Intervention, University of Wisconsin

ตารางที่ 2 เกณฑ์การวินิจฉัยผู้ที่มีการติดทางร่างกาย *

  1. สูบบุหรี่วันละ 1 ซองขึ้นไป
  2. สูบบุหรี่มวนแรกภายในเวลา ครึ่ง ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน
  3. มีอาการอยากสูบบุหรี่อย่างรุนแรงในสัปดาห์แรกของการอดบุหรี่

* Center for Tobacco Research and Intervention, U. of Wisconsin

 วิธีรักษาการติดทางร่างกาย (detoxification)

1. การ"หักดิบ"(cold turkey) โดยทั่วไปอาการขาดนิโคตินจะหายไปได้เองภายในระยะเวลา ประมาณ 2-3 สัปดาห์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเกิด readaptation ทำให้เกิด equilibrium ใหม่ได้โดยไม่ต้องมีนิโคติน ดังนั้นการหยุดสูบให้ได้อย่างน้อยสัก 2-3 สัปดาห์ร่างกายก็จะพ้นจากภาวะติดนิโคติน

2. ใช้ยาช่วย (pharmacological therapy) ในรายที่มีการติดทางร่างกายมากๆ การขาดนิโคตินอาจรุนแรงจนทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกล้มความตั้งใจที่จะเลิกสูบได้ การใช้ยาบางอย่างอาจช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ง่ายขึ้น

ตารางที่ 3 ยาที่มีการนำมาใช้ช่วยอดบุหรี่(2), (4), (5)

Replacement therapy Nicotine:

nicotine polacrilex(chewing gum)

transdermal nicotine patch

nicotine nasal spray

Reduction of withdrawal symptoms Clonidine

Fluoxetine

Doxepine

Buspirone

Lobeline

ยาต่างที่มีการนำมาใช้ช่วยในการอดบุหรี่มักไม่ค่อยได้ประโยชน์นอกจากการใช้ยาแก้ซึมเศร้าในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย(2)การใช้ยาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในการเลิกสูบบุหรี่คือ การให้นิโคตินทดแทนในรูปของ หมากฝรั่งอดบุหรี่ (nicotine polacrilex or nicotine chewing gum) และแผ่นปะอดบุหรี่ (transdermal nicotine patch) โดยใช้ในระยะแรกๆร่วมกับการปฏิบัติตามคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่ไปด้วย แล้วค่อยๆเลิกใช้ไป

ตารางที่ 4 การใช้นิโคตินทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่(1)

หมากฝรั่งอดบุหรี่(Nicorette)

 

แผ่นปะอดบุหรี่(Nicotinell-TTS)
มี 2 ขนาดคือ 2 มก. และ 4 มก.

 

มี 3 ขนาดคือ 10 มก. 20 มก. และ 30 มก.
ใช้เคี้ยว 2-3 ครั้งแล้วอมไว้ข้างแก้มจนจืดแล้วค่อยเริ่มเคี้ยวใหม่

 

ใช้ปะที่ผิวหนัง
1 ชิ้นใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง

 

1 แผ่นใช้ได้ 24 ชั่วโมง
เริ่มใช้ขนาด 2 มก. ผู้ที่สูบไม่เกินวันละ 1 ซองให้เริ่มใช้ขนาด 20 มก. ถ้าสูบเกินกว่านั้นให้ใช้ขนาด 30 มก.

การติดทางจิตใจ (psychological dependence)

การติดทางจิตใจเป็นการเสพติดชนิดหนึ่งโดยเกิดจากการเรียนรู้แล้วปฏิบัติจนเคยชิน การเรียนรู้จนเกิดการติดบุหรี่เป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อนโดยเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทั้งแบบ classical learning และแบบ operant learning

ตารางที่ 5 ตัวอย่างการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการติดบุหรี่ทางจิตใจ

สูบบุหรี่แล้วสมองแล่น ทำงานที่น่าเบื่อแล้ว อยากสูบบุหรี่

 

operant learning
สูบบุหรี่แล้วความเครียดลดลง เวลาเครียดก็อยาก

สูบบุหรี่

 

operant learning
สูบบุหรี่แล้วอาการขาดนิโคตินหายไป เวลาเกิดอาการขาดนิโคตินก็อยากสูบบุหรี่

 

operant learning
กินกาแฟไปด้วยสูบบุหรี่ไปด้วย กินกาแฟแล้วอยาก

สูบบุหรี่

 

classical learning
ดื่มเหล้าหร้อมกับสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าแล้วอยาก

สูบบุหรี่

 

classical learning
สูบบุหรี่ในห้องทำงาน เมื่อเข้ามาในห้องทำงานจะเกิดความอยาก

สูบบุหรี่

classical learning

การรักษาการติดทางจิตใจ

ในทางปฏิบัติเราจะแนะนำผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่ในแนวทางต่อไปนี้(2), (6)

1. กำหนดวันที่จะเลิกสูบบุหรี่ (quit date) การคุยกับผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่ถึงการกำหนดวันที่จะเลิกสูบบุหรี่มีความสำคัญ 2 ประการคือ

1) ช่วยประเมินความตั้งใจในการเลิกสูบบุหรี่ ผู้ที่กำหนดวันที่จะหยุดสูบไว้แล้ว หรือสามารถกำหนดวันที่จะหยุดสูบร่วมกับผู้รักษามักเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริงที่จะหยุดสูบบุหรี่

2) เป็นการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน เป็นกรอบให้ผู้พยายามเลิกสูบ

บุหรี่ยึดถือปฏิบัติได้ดีกว่าการ "ค่อยๆเลิก" หรือ "ลองดู"

การกำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ที่ดีควรจะไม่นานจนเกินไปเพราะผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่จะเลิกล้มความตั้งใจเสียก่อน โดยทั่วไปแนะนำกันว่าไม่ควรเกิน อีก 2 สัปดาห์ และถ้าเลือกวันที่มีความหมายกับผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่ด้วยเช่น วันเกิดลูก วันครบรอบแต่งงาน ฯลฯ ก็จะยิ่งดี

2. การหลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุ (cues avoidance) คือการหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆที่จะมากระตุ้นความอยากสูบบุหรี่ โดยเริ่มตั้งแต่ ทิ้งอุปกรณ์สูบบุหรี่ทั้งหมดเพราะเพียงการเห็นที่เขี่ยบุหรี่ก็อาจทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ได้แล้ว (classical learning) ไม่พกบุหรี่ไม้ขีดหรือไฟแช็ก หยุดดื่มเหล้าหรือกาแฟถ้าดื่มแล้วทำให้อยากสูบบุหรี่ ไม่เข้ากลุ่มเพื่อนที่กำลังสูบบุหรี่ ฯลฯ การเผชิญกับสิ่งยั่วยุโดยพยายามหักห้ามใจไม่ให้สูบบุหรี่(cue exposure)เพื่อให้เกิดความชินชา(habituation)กับสิ่งยั่วยุนั้นใช้ได้กับบางคนที่มีความมุ่งมั่นสูงๆเท่านั้นไม่แนะนำให้ใช้ทั่วไป

3. การเบี่ยงเบนความสนใจ(distraction)เป็นวิธีที่ใช้เมื่อเกิดความอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาแล้ว โดยแนะนำให้ผู้พยายามอดบุหรี่ทำกิจกรรมอะไรก็ได้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งความอยากสูบบุหรี่ก็จะค่อยๆลดลง

4. การเสริมสร้างกำลังใจ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้การอดบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้น การสร้างกำลังใจอาจทำได้หลายวิธีเช่น

- แพทย์ผู้ดูแลหรือญาติๆอาจเป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจโดยตรง

- แนะนำให้ผู้ป่วยนึกถึงประโยชน์ที่จะได้จากการเลิกสูบบุหรี่

- แนะนำให้ผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่บอกเพื่อนฝูงว่าตนกำลังเลิกสูบบุหรี่เพราะเพื่อนๆ อาจช่วยให้กำลังใจและยังเป็นการผูกมัดตัวเองให้เลิกให้ได้ด้วย

- เก็บเงินค่าบุหรี่ใส่กระปุกไว้ซื้อของขวัญให้ตัวเองหรือลูก

- ให้รางวัลตัวเองถ้าเลิกได้สำเร็จ

- เสีย"ค่าปรับ"ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งถ้าอดไม่สำเร็จ

5. หาวิธีอื่นๆในการจัดการกับความเครียด คำตอบที่พบบ่อยที่สุดข้อหนึ่งที่เป็นเหตุผลในการสูบบุหรี่คือความเครียด การสูบบุหรี่อาจช่วยลดความเครียดได้จริงแต่วิธีอื่นๆอีกมากมายก็สามารถลดความเครียดได้เช่นกัน ให้ผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่คิดถึงประเด็นนี้และนึกถึงวิธีอื่นๆ หลายๆ วิธีในการจัดการกับความเครียดหรือลองคิดดูว่าเพื่อนๆ อาชีพเดียวกันที่ไม่สูบบุหรี่เขาทำอย่างไรเวลาเครียด แล้วเลือกวิธีที่เหมาะกับตนมาใช้เมื่อเกิดความเครียดขึ้น

การป้องกันการกลับไปสูบใหม่ (relapse prevention)

การป้องกันการกลับไปสูบใหม่เป็นปัญหาที่ยากที่สุดในการพยายามเลิกสูบบุหรี่ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่ได้ผลแน่นอน สิ่งที่ช่วยในการป้องกันการกลับไปสูบใหม่คือการนัดติดตามผลการรักษาต่อไป การเน้นการหยุดอย่างเด็ดขาด (total abstinence) และการแนะนำให้ผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่ปฏิบัติตัวตามหลักการต่อสู้กับการติดทางจิตใจต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Samet JM, Coultas DB, eds. Smoking Cessation, Clinics in Chest Medicine. Philadelphia: W.B. Saunders Company, 1991
  2. The 146th Annual Meeting of the American Psychiatric Association. Treating Smoking in Psychiatric Patients. California: American Psychiatric Association, 1993
  3. Fiore MC, ed. Cigarette Smoking, The Medical Clinics of North America. Philadelphia: W.B. Saunders Company, 1992
  4. Gold MS, ed. Tobacco. New York: Plenum Medical Book Company,1995
  5. Department of Health and Human Services. Monograph 5, Tobacco and the Clinician. NIH publication, 1994
  6. Fisher EB, Haire-Joshu D, Morgan GD, Rehberg H, Rost K. Smoking and Smoking Cessation. Am Rev Respir Dis 1990; 142: 702-720

 

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us