เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


ปัญหาพฤติกรรมทางสังคมและเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนสถานแรกรับในสถานพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชนภาคเหนือ

สมัย ศิริทองถาวร*

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัญหาพฤติกรรมทางสังคม เชาวน์ปัญญา และลักษณะคดีที่กระทำผิดของเด็กและเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในสถานแรกรับของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์

วิธีการศึกษา ศึกษาเด็กและเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในสถานแรกรับทุกคนในเดือนมกราคม พ.ศ.2540 (จำนวน 208 คน) โดยใช้แบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก Thai Youth Checklist (TYC) ชุดสำหรับครู ซึ่งการกรอกแบบสำรวจพฤติกรรมของเด็กกระทำโดยครูผู้ปกครองเด็ก และใช้แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา Standard Progressive Matrices Set A-E (SPM) เพื่อประเมินเชาวน์ปัญญาของเด็กโดยนักจิตวิทยา

ผลการศึกษา เด็กและเยาวชนดังกล่าวเป็นชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่อายุ 14–18 ปี บิดามารดาส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกร มีการกระทำผิดด้าน พ.ร.บ.ยาเสพย์ติดมากที่สุด รองลงมาเป็นคดีลักทรัพย์ ระดับเชาวน์ปัญญาส่วนใหญ่ระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.6) และฉลาด (ร้อยละ 20.2) ลักษณะปัญหาทางสังคมส่วนใหญ่มีอาการ withdrawn และ anxious/depressed พบว่ามีความสัมพันธ์ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเชาวน์ปัญญากับพฤติกรรมทางสังคมเฉพาะกลุ่ม other problem (CBCL) เท่านั้น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างระดับเชาวน์ปัญญากับลักษณะคดีและพฤติกรรมทางสังคมกับลักษณะคดี ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป การศึกษานี้บ่งชี้ว่าไม่สามารถทำนายลักษณะการกระทำความผิดโดยอาศัยระดับเชาวน์ปัญญา และพฤติกรรมทางสังคมที่แสดงออก แต่ก็พบผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มีระดับเชาวน์ปัญญาปานกลางและฉลาด ซึ่งสะท้อนภาพปัญหาทางสังคม และสังคมควรหันมาสนใจเพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(2): 120-9.

 คำสำคัญ ระดับเชาวน์ปัญญา ปัญหาพฤติกรรมทางสังคม แบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก (Thai Youth Checklist) แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา Standard Progressive Matrices สถานแรกรับ สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก

 * ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180

Social Behavior Problems and Intelligent Levels of Children and Adolescents at Remand Homes of Observation and Protection Centers in the Northern Part of Thailand

 Samai Sirithongthaworn, M.D. *

 Abstract

Objective: To study social behavior problems and intelligent levels of children and adolescents at three remand homes of observation and protection centers in the northern part of Thailand (including Chiangmai province, Pitsanulok province and Nakornsawan province).

Method: All 208 subjects admitted during January 1997 were evaluated using the Thai Youth Checklist (TYC) and the Standard Progressive Matrices Set A–E (SPM).

Results: Most of the children and adolescents were 14-18 years old (87.5%). Males were more than females. Most of their parents were employees and farmers. Most of the crimes committed were violating addiction act (44.76%) and stealing (38.9%). Most of the intelligent levels were at average (48.6%) and bright normal (20.2%). Most of social behavior problems were internalizing groups with withdrawn sign (70.7%) and anxious/depressed sign (58.2%). There was statistical significance (P=0.05) relation between intelligent and social behavior only in other problem group according to child behavior checklists (CBCL). There were neither statistical significance relation between intelligent levels and characteristics of crimes, nor between social behavior problems and characteristics of crimes.

Conclusions: Although there were no statistical significance relations between intelligent levels, social behavior problems and characteristics of crimes, there were evidences that children and adolescents in this study being average and bright normal intelligent. Appropriate strategy and further studies in all levels of society in helping the children and adolescents and preventing them from doing crimes are recommended.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(2): 120-9.

Key words: intelligent levels, social behavior problems , Thai Youth Checklists, Standard Progressive Matrices, remand homes, observation and protection centers

* Northern Child Development Center, Department of Mental Health, Ministry of Health, Chiangmai 50180.

 บทนำ

เด็กและเยาวชนที่ต้องหาคดีอาญาซึ่งศาลยังมิได้มีคำพิพากษาจะถูกนำส่งฝากควบคุมในสถานแรกรับของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยแยกไว้ต่างหากจากเด็กถูกตัดสินจากศาลว่ามีความผิดจริง ในภาคเหนือมีอยู่ 3 แห่ง คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์

รายงานประจำปี พ.ศ.2539 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง1 พบว่าจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกจับส่งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วไปมีจำนวนมากขึ้นทุกปี จากจำนวน 8,948 คน ในปี พ.ศ.2535 เป็น 23,591 คน ในปี พ.ศ.2539

สุชา จันทร์เอม2 ศึกษาพบว่าสาเหตุที่เด็กและวัยรุ่นกระทำผิด ได้แก่ ปัญหาจากสภาพครอบครัว และสภาพทางอารมณ์ รองลงมาได้แก่ การคบเพื่อนเสเพลหรือถูกชักจูงจ้างวาน

อัชฌา ลิมป์ไพฑูรย์3 ศึกษาพบว่าสภาพครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และความแตกแยกระหว่างบิดามารดา การคบเพื่อนไม่ดี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนกระทำผิด

ประณีต ปิยะสิรานนท์ และพัทนี เทียบสุวรรณ4 ศึกษาพบว่าเด็กที่ติดยาเสพย์ติดให้โทษชนิดเฮโรอีน มีสาเหตุที่สูบครั้งแรกเพราะเพื่อนชวน อยากลอง ถูกหลอกลวง และมีปัญหาคับข้องใจ

สรุปได้ว่าปัญหาของเด็กที่กระทำความผิดมักสัมพันธ์กับสภาพครอบครัวและการคบเพื่อน นอกจากนี้เด็กเหล่านี้มักมีผลการเรียนต่ำ และความมุ่งหวังในชีวิตต่ำกว่าปกติ5,6 ผู้วิจัยเห็นความสำคัญของการเพิ่มจำนวนเด็กที่กระทำความผิด จึงได้ทำการศึกษาปัจจัยด้านเชาวน์ปัญญา พฤติกรรมทางสังคม ที่สัมพันธ์กับลักษณะคดีที่กระทำผิด เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

 วัสดุและวิธีการ

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ เด็กและเยาวชนทุกคนที่อยู่ในสถานแรกรับของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในภาคเหนือ โดยมีหน่วยงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ และพิษณุโลก ในเดือนมกราคม 2540 ซึ่งเข้ามาอยู่ในสถานแรกรับอย่างน้อย 1 สัปดาห์ขึ้นไป

ผู้วิจัยใช้เครื่องมือในการวิจัย 2 ชุด ได้แก่

1) แบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก (Thai Youth Checklist (TYC)) ชุดสำหรับครู ซึ่งได้รับการพัฒนาและดัดแปลงจาก Child Behavior Checklist ของ Thomas M. Achenbach โดย สมทรง สุวรรณเลิศ และวันชัย ไชยสิทธิ์ 7

แบบสำรวจประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน คือ

1. ส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของเด็ก

    1. หัวข้อพฤติกรรมต่างๆ รวม 141 ข้อ ซึ่งแบ่งปัญหาพฤติกรรมทางสังคมออกเป็น 2

กลุ่มใหญ่ คือ แบบที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ขาดการควบคุม (externalizing problems) เช่น ชอบโต้เถียง ทำลายสิ่งของ และแบบเก็บกดปัญหาหรือแสดงออกในอาการฝ่ายกาย (internalizing problems) โดยได้แบ่งปัญหาทางพฤติกรรมดังกล่าวย่อยออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ withdrawn, somatic complaints, anxious/depressed, social problems, thought problems, attention problems, delinquent behavior, และ aggressive behavior

ครูผู้ปกครองเด็กเป็นผู้สำรวจ และให้คะแนน 0, 1, 2 ตามความมากน้อยของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้

คะแนน 0 ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว

คะแนน 1 มีพฤติกรรมดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือเป็นบางครั้ง

คะแนน 2 มีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างมาก หรือ บ่อยครั้งมาก

การคิดคะแนนได้จากการรวมคะแนนของทุกข้อที่ผู้ตอบประเมินพฤติกรรมและให้คะแนน ข้อเหล่านั้นเป็น 0, 1 และ 2 สำหรับการศึกษาครั้งนี้กำหนดให้กลุ่มพฤติกรรมทางสังคมที่อยู่ในระดับเสี่ยงสูงคือ กลุ่มพฤติกรรมทางสังคมที่ครูผู้ปกครองให้คะแนน 1 หรือ 2 ในรายข้อพฤติกรรมเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนข้อพฤติกรรมในกลุ่มนั้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มพฤติกรรม withdrawn ประกอบด้วย ข้อ 42 ชอบอยู่ลำพัง ข้อ 65 ไม่ยอมพูด ข้อ 69 หลบ ๆ ซ่อน ๆ ข้อ 75 ขี้อาย ข้อ 80 จ้องไร้จุดหมาย ข้อ 88 เฉย ไม่พูด ข้อ 102 ไม่ว่องไว ข้อ 103 เสียใจ เศร้า ข้อ 112 แยกตัวเอง รวม 9 ข้อ หากครูผู้ปกครองให้คะแนนข้อดังกล่าว เป็นคะแนน 1 หรือ 2 ก็ตามเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนข้อ ซึ่งในตัวอย่างนี้หมายถึง มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ข้อขึ้นไป ถือว่าเด็กคนนั้นมีกลุ่มพฤติกรรมทางสังคม withdrawn ระดับเสี่ยงสูง เป็นต้น

2) แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา Standard Progressive Matrices Set A-E (SPM) เพื่อใช้ในการวัดเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 178 คน โดยนักจิตวิทยาจะเป็นผู้วัดระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กทุกคน

การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการโดยขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูลจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ และพิษณุโลก เพื่อนำแบบสำรวจพฤติกรรมไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในสถานแรกรับ โดยให้ครูผู้ปกครองเป็นผู้กรอกแบบสอบถามนี้ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด จากนั้นนำแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาไปวัดเชาวน์ปัญญาเด็กและเยาวชนกลุ่มตัวอย่างเดียวกับกลุ่มครูผู้ปกครอง ประเมินพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยา

ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ด้วยวิธีหาความถี่ ร้อยละ ค่าสหสัมพันธ์ (correlation) และวิเคราะห์ความแปรปรวนระหว่างระดับเชาวน์ปัญญาและลักษณะปัญหาพฤติกรรมทางสังคมกับคดีที่กระทำผิด

 ผลการศึกษา

1. พบว่าเด็กและเยาวชนในสถานแรกรับจำนวน 208 คน เป็นชาย 194 คน (ร้อยละ 93.3) หญิง 14 (ร้อยละ 6.7) ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 14–18 ปี จำนวน 182 คน (ร้อยละ 87.5) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับบิดามารดา (ร้อยละ 52.4) บิดามารดาส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกร

2. ลักษณะคดีที่กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพย์ติด (ร้อยละ 44.7) และการลักทรัพย์ (ร้อยละ 39.9) ดังในตารางที่ 1

3. เชาวน์ปัญญาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 48.6) และฉลาด (ร้อยละ 20.2) ดังตารางที่ 2

4. ปัญหาพฤติกรรมทางสังคมพบว่า มีพฤติกรรม withdrawn และ anxious/depressed มากกว่าปัญหาอื่น ดังในตารางที่ 3

5. ระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนในสถานแรกรับมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม other problems (CBCL) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงลบ ดังตารางที่ 4 ซึ่งหมายความว่าถ้ามีระดับเชาวน์ปัญญาสูงมักจะไม่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวได้แก่ การประพฤติตนเหมือนเพศตรงข้าม กิน/ดื่มสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร กลัวไปโรงเรียน กัดเล็บ สั่นกระตุก แคะแกะเกา หลับในชั้นเรียน เป็นต้น

6. ระดับเชาวน์ปัญญากับลักษณะคดีที่กระทำผิดไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับ p = 0.05 ดังตารางที่ 5 และ 6

7. คะแนนพฤติกรรมทางสังคมโดยรวมของเด็กและเยาวชนกับลักษณะคดีที่ต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p = 0.05 ดังตารางที่ 7

 วิจารณ์

1. ลักษณะทั่วไปของเด็กและเยาวชนในสถานแรกรับ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 14–18 ปี ซึ่งคล้ายคลึงกับสถิติของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง8 Kaplan และคณะ9 กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงในบทบาทของสังคมจิตใจหลายด้าน ถ้าเด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทันจะเกิดความสับสนว้าวุ่นใจ และอาจจะประพฤติตนในทางที่ไม่เหมาะสมได้

2. ลักษณะของครอบครัว ส่วนใหญ่อยู่กับบิดามารดาหรือญาติพี่น้อง บิดามารดาส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ เสาวภา วัชรกิตติ10 พบว่า สภาพครอบครัวของเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและกระทำผิด มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวมีรายได้น้อย บิดามารดาเป็นกรรมกรใช้แรงงาน ลักษณะของครอบครัวเกษตรกรและ รับจ้างนับเป็นส่วนใหญ่ของครอบครัวไทย ซึ่งมักต้องหาเช้ากินค่ำ เศรษฐฐานะต่ำ และไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ส่งผลให้คุณภาพของการดูแลเด็กลดน้อยลงจนเกิดปัญหาให้เด็กกระทำผิดหรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้

3. ลักษณะคดีที่กระทำความผิด ส่วนใหญ่จะทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพย์ติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเสพย์ติดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน ยาบ้า ฝิ่น กัญชา เป็นต้น รองลงมาเป็นคดีลักทรัพย์ ซึ่งคล้ายคลึงกับรายงานประจำปี 2539 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง1

4. ระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (IQ = 90-109) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ วัลลี ธรรมโกสินธิ์ และสาริกา โค้วบุญงาม11 ที่ได้ศึกษาสภาพทางสังคมและจิตวิทยาของเยาวชนที่กระทำผิดในสถานกักกันและอบรมบ้านอุเบกขา เพื่อพิจารณาในประเด็นที่เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีเชาวน์ปัญญาปกติ น่าจะทำในสิ่งที่เหมาะสม หรือถูกชักจูงได้ยาก แต่ผลที่ปรากฏกลับกัน ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นเป็นสำคัญ เช่น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดประสบการณ์ชีวิต ขาดความยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น

5. ลักษณะปัญหาพฤติกรรมทางสังคม พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม internalizing โดยมีลักษณะอาการ withdrawn สูงที่สุด อันประกอบด้วยอาการชอบอยู่ตามลำพัง ไม่ยอมพูด หลบๆ ซ่อนๆ ขี้อาย จ้องไร้จุดหมาย เฉยไม่พูด เสียใจ เศร้าใจ ไม่ว่องไว แยกตัวเอง รองลงมาคืออาการ anxious/depressed พฤติกรรมทางสังคมที่แสดงออกน่าจะเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู และความผูกพันของเด็กกับครอบครัวและสิ่งแวดล้อม กฤษณา อิสสระเสรี12 อ้างถึงงานวิจัยของ Hirchi ว่าเด็กที่มีความผูกพันต่อบิดามารดา โรงเรียน และเพื่อนดี การกระทำผิดจะต่ำลง ดังนั้นจากการศึกษานี้จะช่วยให้แนวทางในการช่วยเหลือและป้องกันต่อกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงขึ้น

6. ความสัมพันธ์ระหว่างเชาวน์ปัญญากับปัญหาพฤติกรรมทางสังคมด้านต่าง ๆ พบว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมกลุ่ม other problem (CBCL) ในทางลบ อันได้แก่ ประพฤติตนเหมือนเพศตรงข้าม กิน/ดื่มสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร กลัวไปโรงเรียน กัดเล็บ สั่นกระตุก น้ำหนักมาก แคะแกะเกา หลับในชั้นเรียน ไม่รับผิดชอบ เป็นต้น ความสัมพันธ์นี้หมายถึงถ้าเชาวน์ปัญญาสูงจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวน้อย

7. ความสัมพันธ์ระหว่างระดับเชาวน์ปัญญา ปัญหาพฤติกรรมสังคมและลักษณะคดีที่กระทำผิด แม้ว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีข้อสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่มีระดับเชาวน์ปัญญาปานกลางกับฉลาด มิได้มีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำ น่าจะเป็นไปได้ว่าปัจจัยอื่นมีส่วนสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมในบ้าน จากการศึกษาของ ขัตติยา รัตนดิลก13 และการศึกษาของ ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา14 พบว่าเด็กที่กระทำผิดมักมาจากครอบครัวยากจน การศึกษาต่ำ ชอบคบเพื่อนเกเร ศิริพร หลิมศิริวงศ์15 พบว่าสัมพันธภาพในครอบครัว ทำให้เด็กหนีปัญหาออกนอกบ้าน คบเพื่อนเลวในที่สุด สำหรับพฤติกรรมทางสังคมของการศึกษานี้ได้รับการสำรวจและรายงานพฤติกรรมโดยครูผู้ปกครอง ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลาในการสังเกตพฤติกรรมเพียง 2 สัปดาห์ อาจทำให้ยังไม่เข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร

 สรุป

ภาพโดยรวมของการศึกษานี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมโดยส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดคดี มีระดับเชาวน์ปัญญาปานกลาง ถึงฉลาด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปอีกทั้งเป็นกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวเกษตรกรและลูกจ้างฐานะยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการให้ความดูแลเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่เหมาะสม ปัจจุบันระบบทุนนิยม และความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมเมือง ยิ่งทำให้ผู้ปกครองมีเวลาในการดูแลบุตรน้อยลง ต้องแข่งขันทางวัตถุมากขึ้นน่าจะส่งผลกระทบต่อการดูแลบุตรและเด็กยุคใหม่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้อง น่าจะได้มีมาตรการและแนวทาง ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่น่าจะทำได้มีดังต่อไปนี้

1. การป้องกันแก้ไขที่ตัวเด็กให้เป็นคนดี มีความคิดสร้างสรร โดย

    • ฝึกให้เด็กได้เห็นคุณค่าของตัวเอง สร้างเป้าหมายในชีวิตและสร้างทักษะในการเผชิญปัญหา
    • สร้างกลุ่มเพื่อนให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
    • ฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

2. การป้องกันแก้ไขครอบครัว ให้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น โดย

    • ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง
    • การบริการให้คำปรึกษาแก่ครอบครัว

3. ป้องกันแก้ไขในโรงเรียน โดยให้โรงเรียนน่าอยู่ มีครูที่มีทักษะในการอบรมดูแลเด็ก โดย

    • พัฒนาครูและผู้ดูแลเด็กให้มีเจตคติที่ดีในวิชาชีพและการอบรมสั่งสอนนักเรียน
    • จัดกิจกรรม การเรียนการสอน ที่เป็นการส่งเสริมสติปัญญาและความรู้แก่นักเรียน
    • ประสานงานกับผู้ปกครองในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เด็ก

4. การแก้ไขปรับปรุงสิ่งแวดล้อม โดย

    • ปรับปรุงไม่ให้มีแหล่งมั่วสุม
    • ใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมสิ่งยั่วยุ
    • สร้างสถานที่ที่เด็กและครอบครัวให้ไปใช้ประโยชน์ เช่น สนามกีฬา ห้องสมุด สวนสาธารณะ
    • ส่งเสริมให้สื่อมวลชนดำเนินการสร้างค่านิยม และส่งเสริมความรู้ที่เกิดประโยชน์ ให้แก่เด็กและเยาวชน

กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบคุณ รศ.ดร.พรเพ็ญ เพชรสุขศิริ ที่กรุณาให้คำแนะนำและเอกสารเพื่อประกอบการวิจัย อาจารย์อัมพร หัสศิริ นักจิตวิทยาศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ อาจารย์วรรณภา อินต๊ะประเสริฐ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่ ที่กรุณาเก็บรวบรวมข้อมูล และอาจารย์สมทรง สุวรรณเลิศ ที่กรุณาแนะนำการใช้คู่มือและการวิเคราะห์คะแนนพฤติกรรมทางสังคมของการวิจัยในครั้งนี้ และครูผู้ปกครองสถานแรกรับจังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ที่ให้ความช่วยเหลือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเด็กในสถานแรกรับ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ และพิษณุโลก ที่อนุญาตให้เข้าไปทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูล

เอกสารอ้างอิง

  1. คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ศาลเยาวชนและครอบครัว. รายงานประจำปี พ.ศ.2539. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง. กรุงเทพมหานคร: ศาลเยาวชนและครอบครัว, 2539.
  2. สุชา จันทร์เอม. ปัญหาการกระทำผิดของเด็กและวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522.
  3. อัชญา ลิมป์ไพฑูรย์. ลักษณะของกลุ่มเพื่อนของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในสถานฝึกอบรมศึกษาเฉพาะกรณี สถานฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2521.
  4. ประณีต ปิยะสินานนท์, พัทนี เทียนสุวรรณ. การศึกษาปัญหาการติดยาเสพติดให้โทษของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง. วารสารจิตวิทยาคลินิค 2519; 7:25-7.
  5. ประเทิน มหาขันธ์ และคณะ. การกระทำผิดกฎหมายของเยาวชนไทย (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2521.
  6. สุพจน์ จักขุทิพย์. ปัจจัยบางประการที่มีผลต่อการประพฤติตนที่ไม่สมควรแก่สภาพนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตกรุงเทพมหานคร (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2521.
  7. สมทรง สุวรรณเลิศ, วันชัย ไชยสิทธิ์. คู่มือแบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก (Manual for the Thai Youth Checklist (TYC). พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2540.
  8. ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง. สถิติของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง, กรุงเทพมหานคร : ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง, 2530.
  9. Kaplan HI, Sadoch BJ, Grebb JA. Synopsis of psychiatry. 7th ed. Baltimore: William & Wilkins, 1994: 51–6.
  10. เสาวภา วัชรกิตติ. สาเหตุของปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำผิด (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2521.
  11. วัลลี ธรรมโกสิทธิ์, สาริกา โค้วบุญงาม. การศึกษาสภาพทางสังคมและจิตวิทยาของเยาวชนที่กระทำผิดในสถานกักกันและอบรมบ้านอุเบกขา. นครปฐม: โรงพยาบาลนิติจิตเวช, 2538–2539.
  12. กฤษณา อิสสระเสรี. แนวทางการให้การสงเคราะห์ภายหลังปล่อยแก่เด็กและเยาวชน ศึกษากรณี สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
  13. ขัตติยา รัตนดิลก. ลักษณะทางสังคมจิตใจของเยาวชนผู้กระทำผิดซ้ำ ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง: ศึกษากรณี บ้านกรุณาและบ้านปราณี (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล 2539.
  14. ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา. บทบาทปัญหาและอุปสรรคของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงใหม่ในการบำบัดแก้ไขสงเคราะห์เด็กและเยาวชนก่อนและหลังการปลดปล่อย (วิทยานิพนธ์). เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2531.
  15. ศิริพร หลิมศิริวงศ์. ปัญหาทางครอบครัวที่ทำให้เด็กต้องมาอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง (วิทยานิพนธ์). กรุงเทพมหานคร : วิทยาลัยการศึกษา, 2511.

 ตารางที่ 1 แสดงจำนวนและร้อยละของเด็กและเยาวชนจำแนกตามคดี

คดี

จำนวน(คน)

ร้อยละ


ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
  • ลักทรัพย์ ร่วมกันลักทรัพย์
  • ปล้นทรัพย์ ร่วมกันปล้นทรัพย์
  • ยักยอกทรัพย์

ความผิดทางร่างกาย

  • ฆ่าคนตาย ร่วมกันฆ่า
  • พยายามฆ่า
  • ทำร้ายร่างกาย

ความผิดทางเพศ

  • ข่มขืนกระทำชำเรา
  • พรากผู้เยาว์
  • ค้าประเวณี

ความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพย์ติด

- สิ่งเสพย์ติดสารระเหย

- สิ่งเสพย์ติดร้ายแรง (กัญชา

เฮโรอีน ยาบ้า ฝิ่น เป็นต้น)

อื่น ๆ

  • อนาจาร
  • บุกรุก
  • บุกรุก อนาจาร ลักทรัพย์
  • ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุสื่อสาร
  • ความผิดตาม พ.ร.บ.พนัน
  • ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน
  • ความผิดตาม พ.ร.บ.ต่างด้าว
  • ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร

81

73

5

3

11

4

4

3

9

5

3

1

93

18

75

 

14

1

3

1

1

3

3

1

1

38.9

90.1

6.2

3.7

5.3

36.4

36.4

27.2

4.3

55.6

33.3

11.1

44.7

19.7

80.6

 

6.7

7.1

21.5

7.1

7.1

21.5

21.5

7.1

7.1



รวม

208

100.0

 ตารางที่ 2 จำนวน และร้อยละของเด็กและเยาวชน จำแนกตามระดับเชาว์นปัญญา

ระดับเชาวน์ปัญญา IQ จำนวน ร้อยละ

ฉลาดมาก 120 ขึ้นไป 1 0.5

ฉลาด 110-119 42 20.2

ปานกลาง 90-109 101 48.6

ทึบ 80-89 18 8.7

คาบเส้น 71-79 15 7.2

ปัญญาอ่อน 50-70 1 0.5

ปัญญาอ่อนมาก ต่ำกว่า 50 - -

ไม่ได้วัด IQ - 30 14.4

รวม 208 100.0 

ตารางที่ 3 จำนวนมีพฤติกรรมทางสังคมที่อยู่ในระดับเสี่ยงสูง

พฤติกรรม ผู้มีพฤติกรรมทางสังคมที่อยู่ในระดับเสี่ยงสูจำนวน (คน) ร้อยละ

Internalizing 102 49.0

- Withdrawn 147 70.7

- Somatic complaints 42 20.2

- Anxious/depressed 121 58.2

Neither high loading

on internalizing nor externalizing 68 32.7

Externalizing

- Social problems 66 31.7

- Thought problems 39 18.8

- Attentiom problems 117 56.3

Externalizing 85 40.9

- Delinquent behavior 95 45.7

- Aggressive behavior 80 38.5

Other problem (CBCL) 35 16.8

Other problem (THAI) 104 50.0

Other problem (ACQ) 143 68.8

พฤติกรรมโดยรวม 123 59.1

 

ตารางที่ 4 ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนกับพฤติกรรมด้านต่างๆ

พฤติกรรม

จำนวน

ค่าสหสัมพันธ์

P

Internalizing

Neither high loading on internalizing nor externalizing

Externalizing

Other problems (CBCL)

Other problems (THAI)

Other problems (ACQ)

178

178

 

178

178

178

178

-0.0935

-0.01316

 

0.0014

-0.1600*

-0.0817

-0.0990

0.215

0.080

 

0.986

0.033

0.278

0.189

พฤติกรรมโดยรวม 178 -0.0923 0.221

ตารางที่ 5 แสดงจำนวนและร้อยละของเด็กและเยาวชน จำแนกตามลักษณะคดีที่กระทำผิดและระดับเชาวน์ปัญญา

 

 

ระดับเชาวน์ปัญญา

 

ลักษณะคดีที่กระทำผิด

ฉลาดมาก

(ร้อยละ)

ฉลาด

(ร้อยละ)

ปานกลาง

(ร้อยละ)

ทึบ

(ร้อยละ)

คาบเส้น

(ร้อยละ)

ปัญญาอ่อน

(ร้อยละ)

รวม

(ร้อยละ)

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

 

ความผิดทาง ร่างกาย

 

ความผิดทางเพศ

 

 

ความผิดตาม

พ.ร.บ.ยาเสพติด

 

ความผิดอื่น ๆ

1

(1.5)

 

-

-

 

-

-

 

-

-

 

-

-

17

(25.8)

 

1

(14.3)

 

2

(28.6)

 

21

(24.1)

 

1

(9.1)

33

(50.0)

 

5

(71.4)

 

4

(57.1)

 

52

(59.8)

 

7

(63.6)

9

(13.6)

 

1

(14.3)

 

1

(14.3)

 

6

(6.9)

 

1

(9.1)

5

(7.6)

 

-

-

 

-

-

 

8

(9.2)

 

2

(18.2)

1

(1.5)

 

-

-

 

-

-

 

-

-

 

-

-

66

(33.7)

 

7

(3.9)

 

7

(3.9)

 

87

(48.9)

 

11

(6.2)

รวม

1

(0.6)

42

(23.6)

101

(56.7)

18

(10.1)

15

(8.4)

1

(0.6)

178

(100.0)

 ตารางที่ 6 การวิเคราะห์ความแปรปรวนเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของเชาวน์ปัญญาของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดตามลักษณะคดีที่แตกต่างกัน

แหล่งความแปรปรวน

df

SS

MS

F

ระหว่างกลุ่ม

ภายในกลุ่ม

4

173

330.58

24870.72

82.65

143.76

0.5749

รวม

177

25201.31

   

 P>0.05

 ตารางที่ 7 การวิเคราะห์ความแปรปรวนเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมโดยรวมของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดตามลักษณะคดีที่แตกต่างกัน

แหล่งความแปรปรวน

df

SS

MS

F

ระหว่างกลุ่ม

ภายในกลุ่ม

4

203

4028.28

666530.49

1007.07

3283.40

0.3067

รวม

207

670558.77

   

* P>0.05 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us