เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(1):84-104.

ประสาทชีววิทยาของภาวะใกล้ตาย

จำลอง ดิษยวณิช, M.S., พ.บ.

*ปาฐกถาหลวงวิเชียรแพทยาคม ในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 25 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่ง

ประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 20 -

21 พฤศจิกายน 2540 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี กรุงเทพมหานคร.

**ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200.

 ความตายเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากได้ศึกษาภาวะใกล้ตายมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่จำกัดอยู่กับเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ต่อมาเมื่อประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) และประสาทจิตเวชศาสตร์ (neuropsychiatry) เจริญมากขึ้น ได้มีนักวิจัยหลายคน รวมทั้งประสาทแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์และจิตแพทย์ ได้ศึกษาเรื่องประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย (a near-death experience or NDE) ในมุมมองทางสมองมากขึ้น1-4 จิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ Elisabeth Kuber-Ross ได้ศึกษาอย่างมากเกี่ยวกับความตายและภาวะใกล้ตาย มีความเชื่อว่าชีวิตหลังตาย (life after death) เป็นเรื่องจริง ท่านผู้นี้ได้ทำการค้นคว้าผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้ตายเป็นจำนวนถึง 193 ราย อายุของคนเหล่านี้มีตั้งแต่ 2 ขวบ ถึง 90 ปี 5

ในปี 1995 Peter Fenwick และ Elizabeth Fenwick2 ได้เขียนหนังสือเรื่อง "ความจริงในแสงสว่าง (The Truth in the Light)" ซึ่งเป็นการสืบสวนเรื่องราวอย่างละเอียดของประสบการณ์ใกล้ตายเกินกว่า 300 ราย ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 80 เป็นผู้ใหญ่มีอายุเกิน 18 ปี ร้อยละ 9 อายุสิบปีหรืออ่อนกว่า ส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายต่าง ๆ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีร้อยละ 12 ศาสนายิวร้อยละ 1 อีกร้อยละ 8 เป็นพวกอไญยนิยม (agnosticism) คือพวกที่มีทรรศนะว่า มีความรู้บางอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ และร้อยละ 2 เป็นพวกอเทวนิยม (atheism) คือเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า ในขณะที่ประสบกับภาวะใกล้ตายส่วนมากอยู่ในระหว่างการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ เกินกว่าหนึ่งในสามกำลังรับประทานยาบางอย่าง ผู้ป่วยหลายรายมีการหยุดเต้นของหัวใจและเริ่มพบกับภาวะนี้เมื่อค่อย ๆ รู้สึกตัว ประสบการณ์ส่วนมากเกิดขึ้นระหว่างการเจ็บป่วยซึ่งมักรุนแรงแต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิตเสมอไป สองรายเกิดขึ้นในขณะถูกฆาตกรรมและหมดสติไป ร้อยละ 2 ของกลุ่มตัวอย่างนี้มีประสบการณ์ใกล้ตายระหว่างการทำร้ายตนเอง สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่เพิ่งรู้เรื่องภาวะใกล้ตายเป็นครั้งแรกก่อนที่ตัวเองจะมีประสบการณ์เช่นนี้ แต่ส่วนใหญ่คือร้อยละ 98 ไม่เคยรู้เรื่องราวทำนองนี้มาก่อนเลย

ในประเทศไทย มีผู้ศึกษาเรื่องนี้บ้างพอสมควร6 แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก เรื่องตายแล้วฟื้นที่โด่งดังมากคือเรื่องของพันเอกเสนาะ จินตรัตน์ ในการตายครั้งที่ 2 ท่านได้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์ขณะที่หมดสติและอยู่ในภาวะใกล้ตาย เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วก็ได้เล่าประสบการณ์ที่พบเห็นให้ผู้สนใจฟัง ก่อนจะนำเสนอต่อไป ขอเล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ใกล้ตายของผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ตอนที่หนึ่ง "เรื่องของนาย" ดิฉันมีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ "ลำยอง" มาช่วยทำงานบ้านให้และอยู่ด้วยกันกับเราที่บ้านตลอดวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงสุดสัปดาห์จึงกลับไปบ้านสามีที่อยู่ต่างอำเภอไม่ไกลนัก วันหนึ่งในตอนบ่าย ดิฉันมีอาการง่วงจัดและฟุบหลับไปอย่างง่ายดาย ระหว่างที่หลับรู้สึกตัวว่าได้ไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นตึกมีชั้นเดียว หลังคาเป็นกระเบื้องหนาสีสดหลากสีและสวยงามมาก ลักษณะรูปทรงและหลังคาของบ้านนี้ดูแปลก ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนเลย แม้เป็นคนชอบเดินทางเกือบทั่วโลก และมีความสนใจในสถาปัตยกรรมของอาคารสถานที่ต่าง ๆ อยู่แล้ว จึงเดินดูจนรอบ บ้านหลังนี้ปิดสนิท เมื่ออยากทราบว่ามีใครอยู่ในบ้านบ้าง จึงพยายามที่จะร้องเรียกคนข้างในแต่ก็เงียบสนิท ราวกับไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ อยู่ในบริเวณนั้นเลย

สักครู่ใหญ่ดิฉันรู้สึกตัวว่า ได้มายืนอยู่ในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง (รู้ว่าไม่ได้เดินและไม่ได้เหาะ) เพียงแต่คิดนิดเดียวเท่านั้นว่า เอ! นี่เป็นที่ไหน? ก็เปลี่ยนมาอยู่อีกที่หนึ่งแล้ว เพียงแวบเดียวที่จิตคิดเท่านั้น ที่นี่เป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่ม กว้างไกลสุดสายตา ขณะนั้นมีหญิงกลุ่มหนึ่ง ราว 4-5 คนเดินมาแต่ไกล ดิฉันรู้สึกว่าคนหนึ่งในกลุ่มนี้คือคนที่ดิฉันต้องการมาพบ เมื่อเธอมาปรากฏตัวตรงหน้าดิฉันตรงรี่เข้าไปพูดกับเธอว่า "กลับมานะ ไปไหนไม่ได้ เธอจะต้องกลับมา" ดิฉันเน้นย้ำประโยคนี้กับเธอด้วยกิริยาอาการ น้ำเสียง และท่าทางราวกับบังคับหรือขู่เข็ญว่า เธอจะไปไหนไม่ได้ ทั้งที่ดิฉันเองในตอนนั้นก็บอกไม่ได้เหมือนกัน ถ้ามีใครถามว่า เธอผู้นี้จะไปไหน? และจะบังคับให้เธอกลับมาสู่ที่ใด?

และแล้วดิฉันก็รู้สึกตัวเหมือนลอยละลิ่วลงมาจากที่สูงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดิฉันลืมตาขึ้นมา มีอาการใจสั่นเหมือนจะเป็นลมให้ได้ เห็นสามียืนอยู่ข้างเตียง มองดูดิฉันและพูดว่า "มัวนอนหลับอยู่นี่ เดี๋ยวจะไม่ทันไปทำงานต่อในตอนเย็น"

ดิฉันรีบลุกขึ้นทั้งที่ยังใจสั่น ตรงขึ้นไปบนบ้านแต่งตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อนั่งรถออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ได้เล่าเรื่องนี้ให้สามีฟัง และบอกว่า มีอาการเหนื่อยเหมือนกับทำงานอย่างหนัก ไม่ทราบว่าเป็นเพราะต้องใช้กำลังใจอย่างมากที่จะบังคับหญิงคนนั้นให้กลับมาหรือไม่ ถึงได้เหนื่อยในใจอย่างนี้

ที่ทำงานนี้เริ่มเปิดตั้งแต่บ่าย 5 โมงเย็น และปิดราว 2 ทุ่ม ประมาณ 6 โมงเย็น ได้รับโทรศัพท์จากญาติทางสามีของหญิงรับใช้ แจ้งข่าวว่าเธอผู้นี้กินยาฆ่าแมลง ด้วยประสงค์จะฆ่าตัวตาย ตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาลตั้งแต่เช้ามืดของวันนี้ เมื่อรับโทรศัพท์แล้วดิฉันรีบไปยังห้อง ICU ของโรงพยาบาลเห็นเธออยู่ในอาการหมดสติ หน้าตาเนื้อตัวขาวซีด และเย็นชืดไปหมด ไม่รู้สึกว่าจะหายใจด้วยซ้ำไป สามีของดิฉันซึ่งเป็นแพทย์ดูอาการของเธอแล้วพยักหน้าบอกดิฉันว่าให้รีบปลุกเธอเร็วเข้า

ดิฉันจับตัวเธอเขย่า บางทีก็จับที่มือหรือแขนให้สัมผัสเพื่อใส่พลังจิตของดิฉันลงไปและเขย่าไปมาแรง ๆ พร้อมกับเรียกชื่อของเธอดัง ๆ บางครั้งก็บอกให้เธอรู้ว่าดิฉันเป็นใคร และบอกกับเธอเหมือนกับบอกในความฝันว่า "เธอจะไปไหนไม่ได้ เธอต้องกลับมา" ดิฉันทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเธอเริ่มรู้สึกตัวและพยักหน้าได้ เมื่อดิฉันเรียกชื่อของเธอ และในที่สุดเธอก็โต้ตอบกับดิฉันได้

ดิฉันทำการปลุกเธออย่างนี้ทุกวัน เมื่อไปเยี่ยมจนกระทั่งอาการดีขึ้น ราว 4 วันต่อมา อาการของเธอกลับทรุดลงอีก ไม่โต้ตอบเหมือนทุกวันที่ผ่านมา ทำให้ดิฉันรู้สึกประหลาดใจมาก ขณะที่ยืนสังเกตอาการอยู่นั้น ได้เห็นมดดำเดินเป็นริ้วขบวนจากเพดานข้างบนลงมาตามผนังห้องที่ชิดขอบหัวเตียงของผู้ป่วย ดิฉันเดินไปรอบ ๆ ห้องที่มีเตียงของผู้ป่วยคนอื่นที่ตั้งอยู่ในห้องเดียวกัน ก็ไม่เห็นมดดำไต่เป็นแถวลงมาอย่างนี้เลย จึงรู้สึกประหลาดใจมากว่าในห้อง ICU ของโรงพยาบาลมีมดดำเดินขบวนขนาดนี้เชียวหรือ? มดดำมาจากไหนมากมาย และจะมาทำอะไรที่เตียงนี้ มองไปที่คนป่วยแล้วรู้สึกว่าวันนี้อาการไม่ดีแน่ จึงบอกกับพยาบาลว่าขอเปิดผ้าห่มดูหน่อย เมื่อเปิดผ้าคลุมตัวเธอออกมาดูก็พบว่า ผู้ป่วยนอนจมอุจจาระที่ไหลออกมาเป็นน้ำเปียกอยู่ภายใต้ผ้าคลุมที่สะอาดนั้น สามีของดิฉันซึ่งเป็นแพทย์จึงบอกกับพยาบาลว่า ให้ช่วยส่งตรวจอุจจาระด่วน ผลปรากฏว่า เธอผู้นี้เป็นอหิวาตกโรค (cholera) การรักษาจึงต้องเปลี่ยนมารักษาโรคนี้อีก ดิฉันจึงต้องปลุกและเรียกเธอให้กลับมาทุกครั้ง จนกระทั่งเธอรู้สึกตัวดีขึ้นแล้วจึงเลิกปลุก เมื่อหายเป็นปกติได้รับตัวกลับไปพักต่อที่บ้านของดิฉัน ตลอดเวลาที่ป่วย สามีของเธอไม่เคยมาเยี่ยมเยียนเลย

เมื่อกลับมาที่บ้านเธอเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องให้ดิฉันฟัง และมีตอนหนึ่งซึ่งเธอบอกว่า เวลาที่เธอป่วยหนักและไม่รู้สึกตัวอยู่นั้นจะมีมือพระขาว ๆ ไปจับที่มือของเธอไว้และบอกว่า "ไม่ให้ไปไหน ให้กลับมา" ดิฉันบอกว่า "ไม่ใช่มือพระหรอก มือคนน่ะ" แต่เธอก็จะยืนยันว่าเป็นมือพระที่เป็นคน (ไม่ใช่มือพระพุทธรูป) เป็นพระที่เป็นคนมีมือขาว ๆ มาจับตัวของเธอไว้ ไม่ให้ไปไหน

ตอนที่สอง "เรื่องของลำยอง" ลำยองเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ มีสามีซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และลูกสาวอายุเพียงไม่กี่เดือน สามีต้องไปเกณฑ์ทหารที่เชียงใหม่จึงต้องฝากลูกไว้กับพี่สาวแล้วตามสามีมา สามีจับได้ใบแดงจึงถูกเกณฑ์ไปอยู่ในค่ายทหารที่เชียงใหม่ ลำยองต้องหางานทำที่นี่ ช่วงเย็นวันศุกร์และวันเสาร์กับวันอาทิตย์เต็มวัน จะได้กลับมาอยู่บ้านสามีที่อยู่ต่างอำเภอ แต่ก็ไม่ไกลนัก นั่งรถประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึง

ลำยองยังเป็นสาวสวย ชอบแต่งตัว ไม่ชอบทำงานบ้าน ยิ่งเป็นอาชีพที่ต้องทำงานรับใช้ยิ่งไม่อยากทำ แต่ที่ทำไปเพราะความจำเป็น บ้านที่ทำงานอยู่ด้วยมีนายผู้หญิง เป็นคนใจบุญ สนใจเรื่องศาสนา ผิดกับลำยองที่ไม่เคยไปวัด ไม่สนใจเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ นรกและสวรรค์แต่อย่างใด

บางวันนายจะตื่นแต่เช้า ทำอาหารจัดใส่ถุง ให้เอาใส่ตะกร้าหน้ารถจักรยานยนต์เพื่อไปใส่บาตรพระที่มารับบิณฑบาตรตามท้องถนน นายบอกว่า "เอารถเครื่องตระเวนไปใส่บาตรอย่างนี้แหละ จะได้ใส่ได้ทั่ว ๆ ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ" แต่ลำยองกลับรำคาญ บางทีก็แอบไปคุยกับญาติของสามีจนเลยเวลาพระมารับบิณฑบาต ทั้งข้าวทั้งกับก็เหลืออยู่เท่าเดิมเพราะไม่ได้ใส่ เมื่อกลับมาก็บอกกับนายว่า "หาพระใส่ไม่ได้" จบเรื่องสำหรับลำยองแต่ทำให้นายไม่ค่อยจะพอใจ

ลำยองเพิ่งมารู้ทีหลังว่า สามีแอบไปติดสาวในหมู่บ้าน และจริงจังถึงขั้นจะทำพิธีแต่งงานกันอย่างออกหน้าออกตา ความจริงนายเคยถามและเคยเตือนเรื่องนี้หลายครั้งแล้วแต่ไม่สนใจและไม่เชื่อว่าสามีจะกล้าทำเช่นนี้ ระยะหลังเริ่มเกงานบ่อยขึ้น กลับจากบ้านสามีแล้ว แทนที่จะมาทำงานกลับเถลไถลไปที่อื่น บางทีก็ไม่มาเลยตลอดสัปดาห์นั้น พยายามหาทางสอดแนมจับผิดสามีให้ได้ นายเบื่อที่จะว่ากล่าวตักเตือนจนไม่อยากยุ่งด้วย

ในที่สุดลำยองทราบแน่ว่าสามีไปยุ่งกับผู้หญิงอื่นโดยไม่แยแสตน และบอกขอเลิกทางกันด้วย ด้วยความผิดหวังและเสียใจอย่างรุนแรงจึงตัดสินใจดื่มยาฆ่าแมลงหมายใจจะให้ตายไปเสียเลย ระหว่างที่นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในโรงพยาบาล ลำยองจำได้ชัดเจนว่าเห็นร่างของตัวเองลอยออกไปจากร่างเดิมที่นอนนิ่งอยู่บนเตียงผู้ป่วย ลอยขึ้นไปถึงระดับเพดานแล้วก็ลอยออกไปสู่ที่มืดที่หนาวเย็นจัด และรู้สึกว่าเป็นที่ที่ไม่มีความสุขสบายเลย แต่เวลามองออกไปข้างหน้าจะเห็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งมีสภาพแตกต่างจากที่ที่กำลังลอยอยู่ที่นั่นมีแสงสว่าง บรรยากาศดูอบอุ่นและน่าอยู่ รู้สึกว่าอยากจะไปให้ถึงและอยากอยู่ที่นั่น แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมีกระแสลมหรือพลังอะไรสักอย่างหนึ่งพัดให้ลอยห่างออกไป

ลำยองล่องลอยไปตามที่ต่าง ๆ เห็นแต่ภาพคนที่น่ากลัว ครั้งหนึ่งลอยผ่านผู้ชายหลายคนที่นอนนิ่งอยู่ รู้สึกว่าคนพวกนี้ตายแล้วด้วยจิตของตัวเอง เมื่อลอยผ่านหลุมลึกใหญ่ ทำท่าว่าจะตกลงไป แต่สักครู่มีแรงอะไรก็ไม่รู้มาดึงไว้ให้ลอยห่างออกไปจากหลุม ที่บริเวณนั้นเห็นคนหลายคนกลิ้งขึ้นมาจากหลุม แต่ละคนเนื้อตัวสกปรกมอมแมมไปด้วยฝุ่นและมีเลือดไหลโทรมทั่วตัว น่าขยะแขยง คนพวกนี้กลิ้งขึ้นมาได้ไม่นาน ก็กลับกลิ้งตกลงไปในหลุมเดิมอีก ส่งเสียงร้องแสดงถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานอย่างน่าเวทนา ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ต่อมาได้ผ่านเข้าไปในศาลาเล็ก ๆ และเห็นพระสององค์ พระองค์หนึ่งมีผิวสีดำและอีกองค์มีผิวสีขาว พระองค์ผิวสีขาวไม่สุงสิงกับใคร หันหน้าเข้าหาข้างฝา ส่วนพระองค์ผิวสีดำหันหน้าออกข้างนอก พระทั้งสององค์นี้พยายามดึงแขนของเธอเอาไว้ไม่ให้ลอยไปไหนไกลกว่านี้ ขณะที่ลอยอยู่นั้นมองเห็นภาพคนตายแล้วน่ากลัว ช่วงนี้เองที่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่อยากตาย คิดถึงลูกที่ฝากไว้กับพี่สาว ถ้าตายไปแล้วใครจะเลี้ยงลูก ความรู้สึกผูกพันกับลูกทำให้คิดว่าจะตายไปไม่ได้

ระหว่างที่ท่องเที่ยวล่องลอยไปนั้น รู้สึกว่าไปตามกระแสหรือพลังที่พัดพาไปไม่สามารถบังคับด้วยตนเองให้ไปที่ไหน ๆ ได้ตามใจชอบ บางครั้งก็เหมือนกลับมาอยู่ที่โรงพยาบาล ที่นี่มองเห็นสิ่งที่เรียกว่า "แดนสนธยา" คือเมื่อความมืดค่อย ๆ ครอบคลุม คนกลุ่มหนึ่งจะออกมาปฏิบัติการ คนเหล่านี้มากับยานหรือพาหนะที่ใหญ่มากเท่า ๆ กับตึก 15 ชั้น ของโรงพยาบาลนี้ ลำเลียงเอาคนที่ตายแล้วไปด้วย และเมื่อแสงสว่างเกิดขึ้น คนกลุ่มหนึ่งก็จะออกมาปฏิบัติการของตน ตามห้องต่าง ๆ ของโรงพยาบาล จะมีคนสองฝ่ายทำงานกันคนละซีกของห้อง ในขณะที่แพทย์และพยาบาลรวมทั้งเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ที่กำลังทำงานจะมองไม่เห็นคนสองกลุ่มนี้ แต่ละกลุ่มทำงานตรงกันข้าม ทางซีกหนึ่งของห้องมองเห็นกลุ่มพระและแม่ชีกำลังสวดมนตร์ และอีกซีกหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำลังรอคอยที่จะเอาตัวคนไข้ไปสู่ยานพาหนะให้ได้

หลังจากนั้นเกิดมีแรงผลักที่รุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ตัวของลำยองที่ล่องลอยอยู่ต้องกลับเข้าไปสู่ร่างเดิม เมื่อมีสติฟื้นขึ้นมาก็รู้สึกว่าเป็นผู้ป่วยนอนอยู่ในโรงพยาบาล อาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ สำหรับลำยองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่นอนหมดสติอยู่ในห้อง ICU เป็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นจริง ชัดเจน และติดตาติดใจ จนยากที่จะลืมได้ ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีอะไรอีกมากมายในโลกที่ไม่สามารถรู้ได้ด้วยตาธรรมดา เมื่อกลับมาอยู่บ้านนายไม่กี่วัน ก็คิดอยาก

ทำบุญ อยากใส่บาตร วันหนึ่งนายตื่นขึ้นมาตอนเช้ารู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นลำยองขมีขมันในการทำบุญ แทนที่จะเอาเงินของนายไปซื้อข้าวของมาทำก็ได้ แต่กลับมีศรัทธาเอาเงินเดือนที่ได้ไปจัดการด้วยตนเอง ตั้งใจว่าจะทำความดี จะเลี้ยงลูกให้โตและเป็นคนดีในวันข้างหน้า และจะไม่ยอมทำชั่วทำบาปอีกต่อไป

 ลักษณะเฉพาะของภาวะใกล้ตาย

จากการศึกษาพบว่าแต่ละคนมีปรากฏการณ์เกี่ยวกับภาวะใกล้ตาย (a near-death experience or NDE) แตกต่างกัน แม้กระนั้นก็ยังมีความคล้ายคลึงกันที่น่าพิศวงหลายอย่างในคนเหล่านี้ ลักษณะบางอย่างมักเกิดแล้วเกิดอีกโดยไม่คำนึงถึงเพศ อายุ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา Bruce Greyson7,8 ผู้เป็นจิตแพทย์ชาวอเมริกันและนักวิจัยเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายได้ศึกษาลักษณะเฉพาะของภาวะดังกล่าวอย่างน่าสนใจ เหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นในคนที่กำลังเผชิญกับภาวะใกล้ตาย แต่น้อยคนจะมีเหตุการณ์ทุกอย่างครบหมด

ความรู้สึกสงบ (feeling of peace) คนส่วนมากมีความรู้สึกเป็นสุขสงบ ศานติ และดื่มด่ำอย่างล้นพ้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นและจำได้ดีที่สุด ความรู้สึกเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่มีอยู่เดิมมักหายไป

ประสบการณ์นอกกายเนื้อ (out of the body experience) มักเกิดความรู้สึกว่ามีร่างอีกร่างหนึ่งออกไปจากร่างเดิม ร่างนี้บางคนเรียกว่า กายละเอียด (astral body) ซึ่งหลุดลอยออกไปจากกายเนื้อ (physical body) โดยมีสายโยงใยสีเงิน (silver cord) เชื่อมต่อระหว่างกายทั้งสองนี้9,10 กายนี้มีลักษณะโปร่งใสไร้น้ำหนัก มักล่องลอยอยู่บริเวณเบื้องบนใกล้เพดานและมองเห็นกายเดิมนอนสงบอยู่เบื้องล่าง เคลื่อนที่ไปตามที่ต่าง ๆ โดยไร้จุดหมาย

การเข้าไปสู่อุโมงค์ (into the tunnel) กายละเอียดอาจเคลื่อนเข้าสู่ความมืด ซึ่งมักเป็นอุโมงค์ที่มืดทึบ มีความรู้สึกเหมือนว่าสามารถผ่านเข้าไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ เมื่อถึงปลายอุโมงค์จะมองเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กและเมื่อเคลื่อนเข้าไปใกล้ ๆ แสงสว่างนี้จะใหญ่ขึ้น ๆ สำหรับบางคนภายในอุโมงค์เต็มไปด้วยแสงสว่าง ไม่ใช่ความมืด

การเข้าหาแสงสว่าง (approaching the light) แสงสว่างเป็นประสบการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีลักษณะเป็นแสงที่สวยจ้าสุกใส มีสีขาวหรือสีทอง แต่ไม่ทำให้ตาพร่าหรือระคายตา บ่อย ๆ แสงนี้มีลักษณะคล้ายแม่เหล็ก พยายามดึงดูดกายละเอียดเอาไว้

ผู้ที่อยู่ในแสง (the being of light) ในช่วงนี้กายละเอียดอาจพบกับผู้ที่อยู่ในแสงสว่าง ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาในศาสนาอาจมองเห็น พระพุทธเจ้า อัครสาวก พระเยซูคริสต์ พระนาบีมะหะหมัด ศาสดาในศาสนาต่าง ๆ นักบุญ เทพเจ้า เทพบุตร เทพธิดา และบุคคลอื่น ๆ ผู้มีความสำคัญในศาสนาที่ตนนับถือ การเห็นบุคคลเหล่านี้เป็นประสบการณ์ทางอารมณ์อย่างรุนแรง จนไม่สามารถจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ เป็นประสบการณ์ที่น่ายินดี ปลื้มปีติ ซาบซึ้ง และมีความรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและละมุนละไมจากบุคคลเหล่านี้

สิ่งกีดขวาง (the Barrier) ในขณะที่กายละเอียดล่องลอยไปตามที่ต่าง ๆ อยู่นั้น บางครั้งจะรู้สึกว่ามีสิ่งกีดขวางระหว่างตัวเขากับแสงสว่าง สิ่งกีดขวางเป็นเสมือนสิ่งหนึ่งที่เตือนว่าได้มาถึงจุดที่จะกลับมาไม่ได้อีกแล้ว (a point of no return) หลายคนอาจเห็นสิ่งกีดขวางนี้เป็นคน สิ่งที่มีชีวิต ประตู หรือรั้วที่คอยห้ามไว้ บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่าได้มาถึงจุดที่ไม่สามารถผ่านต่อไปอีกได้แล้ว

สถานที่อีกแห่งหนึ่ง (another country) เกิดความรู้สึกว่าตนหรือกายละเอียดได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ เห็นทิวทัศน์, ท้องทุ่ง, ไร่นา, ขุนเขาที่มีทุ่งหญ้าเขียวขจี เต็มไปด้วยแสงสีสว่างน่าตื่นตา บางครั้งอาจเห็นสถานที่เหล่านั้นอยู่นอกสิ่งกีดขวางออกไป

การพบญาติพี่น้อง (meeting relatives) บางคราวได้มีโอกาสพบกับคนอื่น โดยเฉพาะญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว รวมทั้งเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าที่เพิ่งพบกันและยังมีชีวิตอยู่ บางครั้งบุคคลเหล่านี้ก็พยักหน้า โบกมือให้หรือทำท่าคล้ายจะเป็นสัญญาณบอกให้กลับไป บางคนได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่เสียชีวิตแล้ว2

การเห็นภพภูมิต่าง ๆ (different realms) กายละเอียดอาจประสบภพภูมิต่าง ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สามารถท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ได้คล่องแคล่ว และรวดเร็วตามใจปรารถนา บางครั้งอาจไปปรากฏในแดนที่สวยสดงดงาม เป็นสถานที่อันกอรปด้วยแสง สี และดนตรีอันไพเราะคล้ายสวรรค์หรือแดนสุขาวดี

ภาพนรก (hellish visions) บางโอกาสกายละเอียดกลับท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่น่ากลัว วังเวงและหดหู่ มีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความร้อนหรือความเย็นจนทนแทบไม่ได้ บางทีได้ยินเสียงหรือเห็นสัตว์นรกกำลังถูกทรมานอย่างแสนสาหัส11

การทบทวนวิถีชีวิต (the life review) แต่ละคนมักเห็นเหตุการณ์ในชีวิตปรากฏต่อหน้าอย่างชัดเจน มองเห็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้ เป็นการทบทวนบุญและบาป ความดีและความชั่วของตนอีกครั้งหนึ่ง บางคนมีประสบการณ์ราวกับว่าได้มาถึงวันพิพากษาครั้งสุดท้าย (day of judgment) บางครั้งมีการระลึกถึงธุรกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น (unfinished business) ซึ่งทำให้เขาต้องกลับไปจัดการให้เสร็จเสียก่อน

จุดแห่งการตัดสินใจ (the point of decision) คนส่วนมากต้องการที่จะอยู่ในภาวะเช่นนี้ต่อไปนาน ๆ แต่ก็เข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้ มีความรู้สึกว่าครอบครัวยังต้องการเขาอยู่ บางคนก็ถูกส่งกลับไปสู่ที่เดิมโดยผู้ที่อยู่ในแสงสว่าง เพื่อน หรือญาติพี่น้องที่ได้พบ ไม่มีใครยอมให้ผ่านสิ่งกีดขวางไปได้

การกลับ (the return) การกลับคืนของกายละเอียดสู่กายเนื้อมักเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เกิดความรู้สึกคล้ายกับว่ามีพลัง ผลักให้กลับเข้าสู่อุโมงค์ด้วยความเร็วที่สูงสุดจนเข้าไปอยู่ในกายเนื้อตามเดิม

ภายหลังกลับมาแล้ว (the aftermath) สำหรับคนเป็นจำนวนมาก ภาวะใกล้ตายเป็นประสบการณ์ที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งในช่วงชีวิตของเขา มักจะจดจำอย่างติดตาติดใจเป็นเวลาหลายปีหรือจนชั่วชีวิต สิ่งที่ทุกคนรายงานเหมือนกันคือว่า เขาไม่มีความกลัวตายแม้ว่าไม่มีใครที่ต้องการจะตาย เจตคติของคนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือมีศรัทธาและปสาทะในศาสนาที่ตนนับถืออยู่มากขึ้น มีความเชื่อในเรื่องของผลบุญและบาป และกฎแห่งกรรมมากกว่าแต่ก่อน บางคนคิดว่ามีอำนาจจิตมากขึ้น สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า หรือสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างได้

 ประสาทกายวิภาคศาสตร์ของภาวะใกล้ตาย

นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า ส่วนของสมองคือ limbic system, amygdala, hippocampus และ temporal lobe มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจิตวิญญาณ (mind or soul) และประสบการณ์ทางศาสนาต่างๆ12,13,14 ประสบการณ์เหล่านี้ได้แก่ ความรู้สึกศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า (hyper-religiousness) ปัญญาอันกว้างใหญ่ไพศาล (cosmic wisdom) ปรากฏการณ์ของกายทิพย์ (astral projection) การเห็นนิมิตหรือภาพหลอน (hallucination) ของเทพเจ้า เทวดา พรหม ภูติผี ปีศาจ เปรต และอสุรกาย รวมทั้งโอปปาติกะ (สัตว์ที่มีกายทิพย์หรือกายละเอียด) ประเภทต่างๆ10,15 เมื่อนิวเคลียส (nuclei) ของสมองส่วนนี้ถูกกระตุ้น ประสบการณ์ทางศาสนาในหลายรูปแบบมักปรากฏออกมา (ดูรูปที่ 1)

 James Papez16,17 มีทรรศนะว่า limbic lobe อาจก่อให้เกิดวงจรซึ่งพลังกระทบทางอารมณ์ (emotional impulses) ที่เกิดภายใน hypothalamus สามารถเดินทางไปสู่ cerebral cortex และโดยนัยเดียวกัน cerebral cortex ก็สามารถปรับสภาวะทางอารมณ์ได้ที่ระดับของ hypothalamus วงจรนี้เรียกว่า Papez circuit นอกจากนั้น limbic lobe ยังมีบทบาทสำคัญอันดับแรกในกระบวนการและการร่วมหน่วยของสัญชานที่เกี่ยวกับการรู้ (cognitive perceptions) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในบริเวณ cerebral cortex และพลังกระทบทางสัญชาติญาณ (instinctual impulses) ที่ออกมาจาก hypothalamus. Papez ได้เสนอแนะอย่างจำเพาะเจาะจงว่า รายละเอียดจาก hypothalamus จะถูกนำจาก mammillary bodies ไปยัง anterior thalamic nucleus โดย mammillothalamic tract และหลังจากนั้นก็จะไปสู่ cingulate gyrus ซึ่งการร่วมหน่วยกับรายละเอียดจาก cerebral cortex จะเกิดขึ้น อิทธิพลจาก cerebral cortex จะถูกนำจาก cingulate gyrus ไปสู่ hippocampal formation และจากที่นี่ก็จะผ่าน fornix ไปสู่ mammilary bodies อีกทอดหนึ่ง (ดูรูปที่ 2)

ต่อมา Paul MacLean ได้แนะนำว่าโครงสร้างอื่น ๆ ควรจะรวมเข้าไว้ใน limbic system ด้วย สิ่งเหล่านี้ได้แก่ amygdala, septum, nucleus accumbens (ส่วนของ striatum ใน basal ganglia), ส่วนของ hypothalamus anterior to mammillary bodies และ orbitofrontal cortex (ส่วนของ prefrontal และ limbic association cortices)

นิวเคลียสของ limbic system สมัยดั้งเดิม รวมถึง hypothalamus, amygdala, cingulate gyrus, septal nuclei และ hippocampus1,18,19 (ดูรูปที่ 3) นิวเคลียสเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความจำ จินตภาพทางตา (visual imagery) ความรู้สึกทางเพศ (sexuality) การแสดงออกและการกำหนดรู้ด้านต่าง ๆ ของอารมณ์ ซึ่งรวมเรื่องความรัก ความเสียใจ ความเศร้าโศก ความซึมเศร้า ความกลัว ความก้าวร้าว ความโกรธ ความพอใจ ความสุข ความครื้นเครง และยังรวมแม้แต่ความรู้สึกปีติสุขทางเพศและทางศาสนา (sexual and religious ecstasy)

Amygdala ซึ่งมีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับ hypothalamus มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนา รวมทั้งการเห็นและการได้ยินสิ่งลึกลับและมหัศจรรย์นานาประการ ความรู้สึกทางอารมณ์ที่ดื่มด่ำ เช่น ปีติ สุข จากกิจกรรมทางศาสนา หรือแม้แต่ความสุขสุดยอดจากการร่วมเพศ (orgasm) ก็เกิดจากการกระตุ้นของสมองส่วนนี้ และทำให้มีการหลั่งของ enkephalin ออกมา20

 ประสบการณ์นอกกายเนื้อและภาวะใกล้ตาย (The out-of-body and near-death experience)

เด็กและผู้ใหญ่บางคนได้รับการยืนยันทางการแพทย์แล้วว่าถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นเกิดมีประสบการณ์ว่ามีอีกร่างหนึ่งออกไปจากร่างเดิม และลอยวนเวียนอยู่ในบริเวณนั้น21,22 มีความรู้สึกเป็นสุขสงบ บางทีก็ลอยเข้าไปในอุโมงค์ที่มืด และต่อมาก็พบกับแสงสว่างที่เจิดจ้าและนุ่มนวล เมื่อกลับคืนสู่ร่างเดิมก็สามารถเล่ารายละเอียดต่าง ๆ ได้ ยิ่งกว่านั้น บางคนยังเห็นภาพของ "การทบทวนชีวิต (life review)" ต่อหน้าต่อตาอย่างชัดเจน ปรากฏการณ์เช่นนี้เชื่อว่าเกิดจากการกระตุ้นศูนย์ความจำบริเวณ amygdala และ hippocampus ประสบการณ์ทำนองนี้มีกล่าวไว้อย่างละเอียดในตำราพิธีฝังศพของชาวอียิปต์และหนังสือแห่งความตายของอียิปต์ (the Egyptian Book of the Dead) เมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว รวมทั้งหนังสือแห่งความตายของธิเบต (the Tibetan Book of the Dead)23,24 นอกจากนั้น ประมาณร้อยละ 37 ของผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยคืนชีพ จะรายงานประสบการณ์นอกกายเนื้อทำนองเดียวกัน2,25,26 ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการผ่าตัดขณะหมดสติจากยาสลบเมื่อฟื้นขึ้นมาแล้ว สามารถเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการสนทนา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัด

การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง การอยู่ในภาวะใกล้ตายจากอุบัติเหตุรถยนต์ การปะทะกันของหน่วยประจัญบาน หรือแม้แต่ระหว่างการผ่าตัด มักก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ ความกลัวอย่างรุนแรง ผู้ที่ประสบกับความรู้สึกตื่นตระหนกเช่นนี้มักเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการกำหนดรู้ เช่น การแตกตัวออกของจิต (dissociation) ความรู้สึกว่าตนเปลี่ยนไปจากเดิม (depersonalization) และการแตกแยกของอัตตา (the splitting of ego) จนทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายกับว่ามีอีกร่างหนึ่งซึ่งมักเรียกว่า "กายละเอียด" แยกออกมาจากกายเนื้อ ล่องลอยขึ้นไปบนเพดานและมองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องล่าง27,28,29

ความรู้สึกกลัวและตื่นตระหนก เกี่ยวข้องกับ amygdala แต่ความสามารถที่จะมองเห็นตำแหน่งของตนเองและของคนอื่นในห้วงอวกาศขึ้นอยู่กับ hippocampus30 ซึ่งมีเซลล์ประสาทที่เกี่ยวกับสถานที่ (place neurons) เซลล์ประสาทเหล่านี้สามารถทำเป็นรหัสบอกตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของตนในอวกาศได้ ดังนั้น hippocampus สามารถสร้างแผนที่เกี่ยวกับการรู้ (cognitive map) ของสิ่งแวดล้อมและการเคลื่อนไหวภายใน ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีกายทิพย์หรือกายละเอียดออกไปจากกายเนื้อ (astral projection) มองเห็นร่างกายของตนเองและพฤติกรรมของคนอื่น อย่างไรก็ตามภายใต้ภาวะที่มีการกระตุ้นอย่างแรง (hyperactivation) เช่น ความกลัวอย่างสุดขีด ดูเหมือนว่า hippocampus สามารถสร้างนิมิตทางตาของแผนที่เกี่ยวกับการรู้ (a visual hallucination of "cognitive map") จนทำให้เกิดมีประสบการณ์ว่ามีร่างใหม่แยกออกไปจากร่างเดิม และคอยสังเกตเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

หลักฐานโดยตรงอันแรกที่แสดงให้เห็นว่า temporal lobe เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย เริ่มต้นจากการทดลอง โดย Wilder Penfield ระหว่างปี 1930 - 194031,32 ผู้นี้เป็นประสาทศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน และได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาของประสาทวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (the father of modern neuroscience)" ได้ทำการศึกษาโดยหาแผนที่ของสมอง ระหว่างการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ (local anesthetic) สามารถกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองผู้ป่วยโดยใช้ขั้วไฟฟ้าขนาดเล็ก พบว่า สมองจะไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่กลับเป็นส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่รับรู้ความรู้สึกนี้ได้ สามารถพบส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การเห็น การพูด และหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง นอกจากนั้นยังพบว่า เมื่อกระตุ้นสมองบริเวณ temporal lobe ตรงส่วนที่อยู่เหนือหูพอดี ผู้ป่วยจะเกิดมีประสบการณ์ของภาวะใกล้ตายคือ การแตกแยกของจิตใจ (a splitting of consciousness) ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีอีกร่างหนึ่งแยกออกไปจากร่างเดิม ความรู้สึกสุขสงบ อาการประสาทหลอนเห็นภาพคนต่าง ๆ ผู้ป่วยสองสามคนรายงานว่ามีความจำบางอย่างเกิดขึ้นเพียงชั่วแวบเดียว

สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวามีส่วนสัมพันธ์กับภาวะใกล้ตายด้วย ตามปกติสมองซีกซ้ายมีหน้าที่เกี่ยวกับคำพูด ภาษา การเขียน ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และความคิดเชิงวิเคราะห์ (analytic thought) ส่วนสมองซีกขวาเกี่ยวกับ อารมณ์ การสร้างสรรค์ จินตนาการ การรู้เองหรืออัชฌัตติกญาณ (intuition) กาลเวลา อวกาศ (space) ความซาบซึ้งในศิลปะและดนตรี และความคิดเชิงองค์รวม (holistic thought)2,33 ดังนั้น ในภาวะใกล้ตายบางคนได้ยินเสียงดนตรีอันไพเราะเพราะพริ้ง เหมือนเสียงทิพย์จากแดนสุขาวดี เชื่อว่าเกิดจากการกระตุ้นของ temporal lobe ซีกขวา หลายคนบอกว่าไม่สามารถจะสรรหาคำพูดมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะว่าคำพูดและการจำแนกแยกแยะประสบการณ์ต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสมองซีกขวามากกว่าซีกซ้าย

คนที่ประสบกับภาวะใกล้ตายยังมีความรู้สึกเวิ้งว้าง เหมือนอยู่ในอวกาศ ไร้ขอบเขตหรือพรมแดน มีความรู้สึกของเอกภาพที่ลึกซึ้ง (deep feeling of unity) การรับรู้เรื่องกาลเวลาและสถานที่ก็เปลี่ยนแปลงไป กาลเวลายืดยาวออกไปจนหาที่สุดมิได้ นอกจากนั้นยังมีความรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แจ่มชัด เป็นจริง เป็นของแท้ และมักจะดูเหมือนว่าเป็นจริงเป็นจังมากกว่าชีวิตประจำวันด้วยซ้ำไป ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดจากหน้าที่ของ temporal lobe ซีกขวา ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก ซึ่งเกิดจากพยาธิสภาพของ temporal lobe ซีกขวามักเกิดมี deja vu phenomenon คือเกิดมีความรู้สึกทางอารมณ์อย่างชัดเจนว่า ได้เคยพบเห็นสถานที่หรือเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดมาก่อน ความรู้สึกเช่นนี้ก็มีส่วนคล้ายกับที่พบในภาวะใกล้ตายด้วย อย่างไรก็ตาม temporal lobe โดยเฉพาะซีกขวาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย แต่ก็ยังมีสมองส่วนอื่น ๆ อีกที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้

ได้มีการสาธิตที่แสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นอย่างแรง (hyperactivation) หรือการ

กระตุ้นด้วยไฟฟ้าที่บริเวณ amygdala-hippocampus-temporal lobe สามารถทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีร่างอีกส่วนหนึ่งแยกออกไปจากร่างเดิม ล่องลอยอยู่ข้างบนระดับเพดาน และมองจ้องดูเหตุการณ์ข้างล่าง31,32,34 อาจอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ว่า อัตตา (ego) และความรู้สึกของเอกลักษณ์แห่งตน (sense of personal identity) ได้แตกแยกออกมาจากร่างกายเดิม ทำให้เกิดความรู้สึกว่าคล้ายกับมีคนสองคน คนหนึ่งกำลังจ้องมองส่วนอีกคนหนึ่งกำลังถูกจับตาดูอยู่ Penfield31 ได้อธิบายว่า "คล้ายกับว่าผู้ป่วยกำลังชมการแสดงที่คุ้นเคย และตัวเขาเป็นทั้งผู้แสดงและผู้ฟัง" Penfield และ Perot ได้รายงานผู้ป่วยที่เป็น temporal lobe seizures พบว่า บางคนมีประสบการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน32

ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าตายทางการแพทย์ (clinically dead) และกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง บางคนรายงานว่า หลังจากกายละเอียดออกไปจากกายหยาบแล้ว จะล่องลอยเข้าไปสู่อุโมงค์ที่มืด และต่อมาก็พบกับแสงสว่างที่สดใสและนุ่มนวล ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือแห่งความตายของอียิปต์และธิเบต เชื่อว่าการกระตุ้นที่บริเวณ hippocampus, amygdala และ inferior temporal lobe ทำให้เกิดการเห็นแสงสว่างเช่นนี้ สมองส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับการเกิดปรากฏการณ์ของ "การทบทวนชีวิต (life review)" รวมทั้งนิมิตหรือภาพทางตาที่ทำให้เห็นญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนรู้จักที่ตายไปแล้ว2,3,35 นอกจากนั้นยังทำให้มีการหลั่งของ endorphin และ enkephalin ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข สงบ เยือกเย็น และสบายใจ

อาจเป็นไปได้ว่า hippocampus และ amygdala เป็นสมองส่วนแรกที่ได้รับผลกระทบโดยภาวะใกล้ตาย นอกเหนือจากนั้นยังเป็นสมองส่วนสุดท้ายอีกด้วยที่จะตายจริง ๆ1 กล่าวคือ เมื่อคนเราเข้าสู่ภาวะใกล้ตายหรือได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าตายแล้ว ส่วนของ amygdala และ hippocampus จะคงยังทำหน้าที่ต่อไปในช่วงเวลาอันสั้น และไม่เพียงแต่ถูกกระตุ้นอย่างแรงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความรู้สึก ปีติ สุข สงบ และศานติ รวมทั้งประสบการณ์นอกกายเนื้อ การพบปะกับคนที่เสียชีวิตแล้ว และการเห็นภาพของศาสดา สาวก พระอรหันต์ นักบุญ หรือบุคคลที่สำคัญ ๆ ในศาสนาที่ตนนับถือ

 ตัวแบบของภาวะใกล้ตาย (The Model of NDE)

สมองของมนุษย์มีส่วนคล้ายคอมพิวเตอร์ สมองยังเป็นผู้สร้างตัวแบบ (a model- maker) ด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นเมื่อหน้าที่ของสมองเปลี่ยนแปลงไป ตัวแบบก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย อาจเป็นไปได้ไหมว่า ปรากฏการณ์ของภาวะใกล้ตายเป็นตัวแบบอีกอย่างหนึ่ง (another model) ซึ่งเกิดขึ้นเพราะหน้าที่ของสมองเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีสองทาง ประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา (physiological) การบาดเจ็บ การทำลาย หรือการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ก่อให้เกิดความผิดปกติในหน้าที่ของสมอง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง คนที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณสมองจากรถจักรยานยนต์คว่ำ หรือคนที่มีระดับของน้ำตาลในเลือดต่ำ จะมีอาการสับสน จำเวลา สถานที่ และบุคคลไม่ได้ (disoriented)2,36

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงของสมองอาจเกิดจากจิตใจ (psychological) ปฏิกิริยาทางจิตใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีระดับของความรุนแรงน้อยหรือมากแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของเหตุการณ์และความหมายที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ถ้าเราเห็นสิงห์โตอยู่ในกรงขัง กำลังส่งเสียงคำรามลั่น เราอาจรู้สึกหวาดกลัวเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อสิงห์โตถูกปล่อยออกจากกรงขัง ความรู้สึกของเราต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและทันท่วงที2 โดยนัยเดียวกันในภาวะใกล้ตาย ความรู้สึกและความหมายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตคติ การคาดหวัง การยอมรับ ความเชื่อในศาสนา วัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

 ตัวแบบทางสรีรวิทยาของภาวะใกล้ตาย (Physiological Models of NDE)

การศึกษาภาวะใกล้ตายมักกระทำกับคนที่กำลังจะตายจากโรคหัวใจ การผ่าตัด การคลอดลูก การบาดเจ็บทางร่างกายหรือสมองหรือโรคอื่น ๆ ภาวะเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองและสารเคมีในสมองซึ่งมีผลกระทบต่อความจำและการเกิดปรากฏการณ์ของภาวะใกล้ตายด้วย

1. ภาวะใกล้ตายที่ถูกชักนำโดยยา

คำอธิบายอันแรกและที่ง่ายที่สุดสำหรับการเกิดภาวะใกล้ตายคือ การใช้ยา

ระหว่างการช่วยคืนชีพ (resuscitation) และผลของยาสลบ ผู้ที่ใช้ LSD และ nitrous oxide มักเล่าประสบการณ์ใกล้ตายที่เกิดขึ้น nitrous oxide มักทำให้เกิดประสบการณ์ที่ลึกลับ (mystical experience) ดังนั้นยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ของสมอง และผลที่ตามมาอย่างหนึ่งคือ ประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย จากการศึกษาพบว่ามีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้รับยาและเกิดภาวะดังกล่าว2

2. ภาวะใกล้ตายที่ถูกชักนำโดยการขาดออกซิเจน

การขาดออกซิเจนอาจเป็นคำอธิบายอย่างหนึ่งสำหรับปรากฏการณ์เกี่ยวกับ

อุโมงค์และแสงสว่าง (the tunnel-and-light phenomenon) ของภาวะใกล้ตาย ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดทำงาน หรือความดันโลหิตลดลงทันทีทันใด สมองมักขาดออกซิเจนที่มาเลี้ยง Blackmore2 เชื่อว่าปริมาณของออกซิเจนที่ลดลงทีละน้อย อย่างเช่น ผู้ที่หมดสติเป็นระยะเวลานาน มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะใกล้ตายได้มากกว่า สิ่งที่ช่วยสนับสนุนทฤษฎีเกี่ยวกับการขาดออกซิเจนคือว่า temporal lobe ของสมองซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการสังเคราะห์อารมณ์ (the synthesis of emotion) มีความไหวเร็วต่อการขาดออกซิเจนมาก

3. ภาวะใกล้ตายที่ถูกชักนำโดยระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ระดับของออกซิเจนในเลือดลดลง ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์จะ

เพิ่มขึ้น Blackmore ชี้ให้เห็นว่า ผลทางจิตใจจากการที่มีระดับของคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งคล้ายกับที่พบในภาวะใกล้ตาย ในปี 1950 จิตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ L.J. Meduna2 ได้สังเกตการรักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยการใช้กาซผสมของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นจำนวนมากได้รายงานประสบการณ์คล้ายฝันซึ่งเหมือนกันอย่างมากกับภาวะใกล้ตาย

4. ภาวะใกล้ตายเป็นอาการประสาทหลอน

อาการประสาทหลอนเป็นการกำหนดรู้ความจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในสมอง

จนเกิดความเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง อาการประสาทหลอนเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติของสมอง เช่น มีไข้สูง อาการของโรคจิตอย่างที่พบในจิตเภท (schizophrenia) หรืออารมณ์แปรปรวนร่วมกับโรคจิต (mood disorder with psychotic features) การใช้ยา เช่น LSD หรือ amphetamine และการหยุดใช้ยาหรือสารเสพติดบางอย่าง เช่น แอลกอฮอล์

แต่บางครั้ง อาการประสาทหลอนอาจเป็นเรื่องปกติหรือเกิดขึ้นในคนปกติก็ได้

ตัวอย่างเช่น ภรรยาที่เพิ่งสูญเสียสามีที่รักไป อาจมองเห็นสามีมานั่งที่เก้าอี้หรือเดินอยู่ในบ้าน บางคนมีอาการประสาทหลอนในขณะที่กำลังจะหลับ หรือกำลังจะตื่น (hypnagogic or hypnopompic hallucinations)37 คนที่ปฏิบัติสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน บางครั้งอาจเกิดนิมิตซึ่งก็คือ อาการประสาทหลอนซึ่งเป็นเรื่องปกติ38 แต่สิ่งที่น่าสนใจและยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ ทำไมสมองของคนที่หมดสติไม่รู้สึกตัว และมีความผิดปกติหลายอย่างจึงทำให้เกิดมีอาการประสาทหลอนที่ชัดเจน (lucid hallucination) ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องจริงอย่างที่พบในภาวะใกล้ตาย

5. ภาวะใกล้ตายกับอนุพันธ์ฝิ่นของสมอง

ราวต้นปี 1970 มีการค้นพบว่า สมองสามารถผลิตสารระงับอาการปวดได้ เมื่อมีความปวดหรือความเครียดเกิดขึ้น สารดังกล่าวเรียกว่า endorphins ซึ่งมีผลในการลดอาการปวด และทำให้เกิดภาวะผ่อนคลาย2,39 ระดับของ endorphins จะสูงขึ้นเมื่อเผชิญกับความหวาดกลัวหรือความเครียดอย่างรุนแรง การออกกำลังกาย การวิ่ง และการปฏิบัติกรรมฐานทำให้สารเหล่านี้หลั่งออกมามากขึ้น นอกจากนั้นยังมีหลักฐานสนับสนุนว่า endorphins เกี่ยวข้องกับภาวะใกล้ตาย ผู้ที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ดังกล่าวมักมีความปวดและความเครียดในระดับสูงซึ่งมีผลทำให้ระดับของสารเหล่านี้หลั่งออกมามาก หลายคนเกิดความรู้สึกปีติ สุข สงบ เยือกเย็น เบาสบายและผ่อนคลาย

 ตัวแบบทางจิตใจของภาวะใกล้ตาย (Mind Models of NDE)

ถึงแม้จะมีกลไกหลายอย่างที่อธิบายภาวะใกล้ตาย แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่รู้

ประการแรก บางคนเมื่อเข้าสู่ภาวะใกล้ตายก็ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าวมาแล้ว ประการที่สองคนเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในภาวะเช่นนี้กลับเกิดมีประสบการณ์ใกล้ตาย หรือมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งจะเหมือนกันมากจนแยกไม่ออกจากประสบการณ์นี้ คนเป็นจำนวนมากเกิดมีประสบการณ์ของภาวะใกล้ตายทั้ง ๆ ที่ร่างกายมิได้เจ็บป่วย แต่อาจมีความวิตกกังวล ความเครียด และอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง บางรายปรากฏการณ์ทำนองนี้อาจเกิดขึ้นเองหรือโดยจงใจจะให้เกิด2,10

ในคนเหล่านี้ปัจจัยทางจิตใจมีผลมากกว่าปัจจัยทางสรีรวิทยา ในฐานะที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจิตใจจะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ก็ต้องอาศัยกลไกการทำงานของสมองร่วมด้วย กลวิธานทางจิต(defense mechanisms)ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดคือ dissociation ทำให้กระบวนการทางจิตบางส่วนแตกแยกออกไปจากส่วนที่เหลือของจิตใจ มีส่วนทำให้เกิดการแตกแยกของอัตตา (the splitting of ego) จนมีความรู้สึกคล้ายกับว่ามีร่างหนึ่งหลุดลอยออกไปจากร่างเดิม depersonalization ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นร่างที่ละเอียดอ่อน เบา และล่องลอยไปยังที่ต่าง ๆ ได้ และ derealization ทำให้เกิดมีประสบการณ์ว่าได้พบเห็นสิ่งที่แปลกประหลาด น่าพิศวง เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีกาลเวลา และอวกาศอันหาขอบเขตมิได้1,40

ความแปรปรวนทางอารมณ์ เช่น ความโศกเศร้า ความเสียใจ และอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง รวมทั้งความเครียด ความกลัว ความตื่นตระหนก และความเจ็บปวดทางจิตใจ ต่างก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะใกล้ตายได้ ยังมีรายงานว่าผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานบางรายอาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน2,38

อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งลึกลับและมืดมนอีกหลายอย่างที่นักวิจัยยังหาคำตอบไม่ได้เกี่ยวกับภาวะใกล้ตาย ผู้ที่ได้รับการศึกษา (subjects) ส่วนมากเป็นผู้ที่ป่วยหนักต้องอยู่ในห้อง ICU กำลังได้รับการผ่าตัด และการดมยาสลบ บางรายก็อยู่ในช่วงของการช่วยคืนชีพ (resuscitation) คนเหล่านี้อยู่ในภาวะหมดสติหรือไม่รู้สึกตัว (uncousciousness) การทำงานของสมองย่อมแปรปรวนหรือผิดปกติไม่มากก็น้อย ตามปกติคนที่หมดสติหรือเข้าขั้นตรีฑูต (coma) ไม่น่าจะคงสภาพของความจำที่ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ของภาวะใกล้ตายปรากฏอย่างชัดเจนเหมือนเป็นเรื่องจริง นักวิจัยเหล่านี้ต้องใช้คำว่าประสบการณ์ของภาวะใกล้ตายเป็น "สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความไม่รู้สึกตัว (the paradox of unconsciousness)"2

นักวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งสมมุติฐานว่า สมองมนุษย์ยังคงความสามารถในความจำ (memory) ความระลึกได้ (recollection) และการสร้างจินตภาพ (images) ต่าง ๆ ได้ แม้จะอยู่ในภาวะที่หมดสติหรือไม่รู้สึกตัวเลย กล่าวคือ เมื่อวงจรของความจำ (memory circuits) ถูกปิดลงในขณะที่หมดสติ จะยังคงมีกลไกบางอย่างที่ทำให้สมองทำงานต่อไปได้เช่นปกติ แต่ก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่ากลไกนี้คืออะไร?

หลายคนพยายามอธิบายว่าประสบการณ์ของภาวะใกล้ตายคล้ายกับความฝันตามหลักจิตวิทยา ความฝันเป็นปรากฏการณ์ของการแสดงออกของสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึก Freud41 มีทรรศนะว่า ความฝันเป็นถนนสายตรงที่จะนำไปสู่จิตไร้สำนึก ความฝันแสดงให้เห็นถึงการบรรลุผลของความปรารถนา (wish fulfilment) มีความหมายและมีความสำคัญทางจิตใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำจิตวิเคราะห์และจิตบำบัดได้โดยการศึกษาสัญญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมา ในทางสรีรวิทยา ความฝันจะเกิดขึ้นในช่วงของ REM sleep (paradoxical sleep, desynchronized sleep) ความฝันอาจเกิดขึ้นได้บ้างในช่วงของ slow wave sleep แต่มักจำไม่ได้ ส่วนที่เกิดในช่วงของ REM sleep มักจะจำได้ เพราะว่ามีกระบวนการของการทำให้เป็นเรื่องราวของความฝัน (the process of consolidation of dreams) ในความจำเกิดขึ้น42

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่มีประสบการณ์ของภาวะใกล้ตายต่างก็ยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความฝัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแจ่มชัดมาก และนอกจากนั้นในแต่ละคนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน43 จิตแพทย์หลายคนที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้คือ Gabbard, Twemlow และ Jones44 มีความเห็นว่าคนเหล่านี้ต้องอยู่ในภาวะใกล้ตายจริง ๆ จึงจะมีปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างดังกล่าวแล้ว ถึงแม้ว่าความฝันจะเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ ในช่วงของการหลับไม่สนิทหรือ REM sleep ความฝันก็ยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ของภาวะใกล้ตายได้ชัดเจน

สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญคือว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจน เป็นระเบียบและเป็นเรื่องราวติดต่อกันตามลำดับอย่างดีนั้น เกิดขึ้นในสมองที่แปรปรวนขณะหมดสติได้อย่างไร อาจเป็นไปได้ไหมว่ามีจิตหรือวิญญาณอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมอง แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องอาศัยสมองในการทำหน้าที่ จากจุดนี้เองที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเกิดแนวคิดก้าวไปอีกขั้นหนึ่งว่า จิตใจ (mind) และสมอง (brain) เป็นคนละส่วนกัน ทั้งสองส่วนทำงานร่วมกันและต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน และในบางครั้ง จิตใจสามารถทำงานเป็นอิสระได้โดยไม่ต้องอาศัยสมอง และความจำบางอย่างจะถูกเก็บสั่งสมไว้ในจิตใจรวมทั้งในสมองด้วย

นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นพวกวัตถุนิยมมักมีทรรศนะแบบแคบ ๆ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นภายในสมองเท่านั้น แม้แต่เรื่องลึกลับพิสดารอย่างที่พบในภาวะใกล้ตาย ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ของสมองทั้งสิ้น ในอีกมุมมองหนึ่ง นักวิจัยหลายคนกลับมีแนวคิดว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างถูกถ่ายทอดผ่านสมอง (everything is transmitted through the brain)" และได้ทั้งเป็นทฤษฎีขึ้นเรียกว่า "ทฤษฎีการถ่ายทอด (transmission theories)"2 นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ William James ได้อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง Human Immortality ว่า มีจิตวิญญาณ (soul) ที่อยู่เหนือขอบข่ายของวัตถุหรือสมอง ยังไม่มีการทดสอบทางจิตวิทยาที่จะบอกได้ชัดว่าสมองเป็นเหตุทำให้เกิดความรู้สึกตัว (consciousness) ซึ่งเป็นการรับรู้ทางอวัยวะประสาทสัมผัส (sense organs) เช่นตา หู จมูก ลิ้น และกาย หรือการรับรู้ได้รับการถ่ายทอดโดยการทำงานของสมองจนเกิดเป็นความรู้สึกตัวขึ้นมา2,45

ทฤษฎีการถ่ายทอด ชี้ให้เห็นว่า จิตใจและสมองแตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ข้อมูลที่ผ่านทางอวัยวะประสาทสัมผัส จะถูกเปลี่ยนแปลงโดยสมองและถูกถ่ายทอดไปยังจิตใจ โดยนัยเดียวกัน จิตใจสามารถก่อให้เกิดการกระทำหรือพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยกระตุ้นกระบวนการทางสมอง แม้ว่าความจำจะถูกบันทึกไว้ในสมอง แต่ความจำส่วนใหญ่อีกส่วนหนึ่งกับถูกเก็บสั่งสมไว้ในจิตใจโดยตรง ความจำในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์เฉพาะตน (personal identity) รวมทั้งประสบการณ์ของภาวะใกล้ตายและหลังตายแล้ว เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่นอกเหนือประสาทชีววิทยา ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกของปรากฏการณ์เช่นนี้ แต่สิ่งที่น่าประหลาดอย่างยิ่งคือ พุทธศาสนามีคำตอบในเรื่องเหล่านี้อย่างละเอียดและชัดเจน

ทรรศนะทางพุทธศาสนาของภาวะใกล้ตาย

หลักคำสอนในพุทธศาสนาเน้นเรื่องสังสารวัฏ หรือการเวียนตายเวียนเกิด ตราบใดที่คนยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรมอยู่ เมื่อตายจากชาตินี้แล้วก็ต้องเกิดอีกในชาติหน้า แรงขับอันสำคัญที่ทำให้คนต้องเกิดอีกคือตัณหา46 ร่างกายของคนประกอบด้วยส่วนที่สำคัญสองส่วนคือ กายกับใจ หรือรูป (materiality) กับนาม (mentality) รูปคือสิ่งที่รู้อะไรไม่ได้ ร่างกายทุกส่วนรวมทั้งสมองและพฤติกรรมทุกอย่าง เป็นสสารและพลังงาน จัดอยู่ในส่วนที่เป็นรูป นามคือสิ่งที่สามารถรับอารมณ์หรือสิ่งเร้าที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สามารถรับ จำ รู้สึก และนึกคิดสิ่งต่าง ๆ ได้ นามมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จิต หรือวิญญาณ

ดังนั้น สมองคือรูปอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถนึกคิดอะไรได้ ซึ่งแตกต่างจากจิตใจคือนาม ซึ่งมีความสามารถเช่นนั้นได้ ทั้งสมองและจิตใจต้องอาศัยซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ทำนองเดียวกันกับรูปและนาม ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จิตหรือวิญญาณในพุทธศาสตร์แบ่งง่าย ๆ

เป็นสองประเภทคือ47,48 วิถีจิต (Vithi citta) หมายถึงจิตที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์ (สิ่งเร้า) ทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังนั้น วิถีจิต จึงมี 6 อย่าง ได้แก่ การเห็น (จักขุวิญญาณ) การได้ยิน (โสตวิญญาณ) การได้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) การลิ้มรส (ชิวหาวิญญาณ) การสัมผัส (กายวิญญาณ) และการนึกคิด (มโนวิญญาณ) วิถีจิตเกิดขึ้นในขณะที่คนเราตื่นตัวหรือรู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ วิถี

จิตเมื่อเปรียบเทียบกับจิตวิทยาพลศาสตร์ (dynamic psychology) ก็คือ จิตสำนึก (the conscious) และจิตก่อนสำนึก (the preconscious)

จิตอีกประเภทคือ ภวังคจิต (Bhavanga citta or Life-continuum) หมายถึงจิตที่ไม่ขึ้นวิถีหรือไม่รับอารมณ์ (สิ่งเร้า) ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตัวอย่างของภวังคจิต คือจิตที่เกิดขึ้นในคนที่นอนหลับสนิทและไม่ฝัน หรือคนที่หมดสติจนไม่รู้สึกตัวเลย เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ ขณะใดที่จิตไม่รับอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 จิตก็เป็นภวังค์ เป็นจิตตั้งแต่ปฏิสนธิคือ เกิดจนถึงจุติคือตาย ถึงแม้จะเป็นจิตที่ไม่รับอารมณ์แต่ก็ทำงานอยู่ตลอดเวลาคือการเกิดดับ ถ้าจะเปรียบเทียบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (dynamo) ภวังคจิตคล้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่หมุนอยู่ตลอดเวลาทำให้มีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น กระแสไฟฟ้าที่ปรากฏออกมาเป็นแสงสว่างในหลอดไฟก็เปรียบเสมือนวิถีจิตนั่นเอง

ภวังคจิตสามารถเปรียบเทียบได้กับจิตไร้สำนึก (the unconscious) ตามแนวคิดของ Freud และกับจิตไร้สำนึกรวม (the collective unconscious) ตามทรรศนะของ Jung เพียงแต่ว่าภวังคจิตในพุทธศาสนามีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าในจิตวิทยาสมัยใหม่มาก ภวังคจิตเป็นที่เก็บสั่งสมประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว บุญ บาป กุศลกรรม อกุศลกรรม ความดีและความชั่วทั้งหลายที่ได้กระทำมาแล้วไม่สูญหายไปไหน แต่จะถูกเก็บรวบรวมไว้ในภวังคจิต เมื่อได้โอกาสวิบากกรรมจะปรากฏผลออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในภวังคจิตยังรวมถึงสิ่งที่ Jung เรียกว่า archetypes ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญลักษณ์เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า ศาสดา เทพเจ้า เทพบุตร เทพธิดา นางฟ้า บุคคลหรือสัตว์ประหลาดในเทพนิยาย แม่มด ภูติผี ปีศาจ เปรต และอสุรกาย เป็นต้น

ในคัมภีร์อภิธรรมมัตถสังคหะ49,50 กล่าวว่า เวลาใกล้ตายแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะคือ 1) มรณาสันนกาล และ 2) มรณาสันนวิถี มรณาสันนกาล หมายถึง เวลาใกล้จะตาย ผู้ที่อยู่ในช่วงเวลานี้จะมีอารมณ์อยู่เสมอไม่ทวารใดก็ทวารหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สำหรับผู้ที่ถึงแก่วิสัญญีคือสลบหรือหมดสติไป อารมณ์จะเกิดขึ้นเฉพาะทางใจเท่านั้น มรณาสันนกาลนี้อาจเกิดขึ้นเร็วหรือช้าก็ได้ และผู้ที่อยู่ในเขตนี้มีโอกาสที่จะฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกได้ แต่ถ้าหากเข้าสู่มรณาสันนวิถี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชาตินี้เมื่อใดแล้ว ก็ไม่มีหวังที่ชีวิตจะกลับคืนมาได้อีก

ดังนั้น ผู้ที่มีประสบการณ์ของภาวะใกล้ตาย และกลับฟื้นคืนขึ้นมาอีกแสดงว่ายังอยู่ในมรณาสันนกาล49 ในช่วงนี้กรรมที่ได้กระทำอยู่เสมอ ๆ มักจะปรากฏผลออกมาเช่น เคยทำกุศลหรืออกุศลในทางใดเสมอ ๆ กรรมที่ถูกเก็บสั่งสมไว้ก็จะออกมากระทบกับจิตทำให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนและจริงจังต่อหน้าต่อตา บางคนเห็นภาพที่ดี เช่น การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา มองเห็นวัดวาอาราม โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น บางคนก็เห็นภาพที่น่ากลัว เช่น เห็นสัตว์ที่กำลังถูกฆ่า อาวุธที่ใช้เป็นเครื่องมือในการประหารสัตว์ เห็นเลือดไหลนอง เป็นต้น มรณาสันนกาลเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า "เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ย่อมมีทุคติเป็นที่หวัง เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่หวัง"51

ตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมาจึงมีกรรมวิธีที่จะช่วยคนที่ป่วยหนักหรืออยู่ในภาวะใกล้ตายให้มีสติและจิตผ่องใส ซึ่งเรียกกันว่า "บอกหนทาง" ท่านผู้รู้ ญาติผู้ใหญ่ มิตรสหาย หรือผู้ดูแล อาจบอกกับผู้ป่วยให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรืออาจบอกดัง ๆ ให้นึกในใจว่า
พุทโธ ๆ ๆ อะระหัง ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนสิ้นลม51,52 อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่มรณาสันนวิถีซึ่งเป็นวิถีสุดท้ายอยู่ติดกับความตายแล้ว จะไม่สามารถรับอะไรได้ทางทวารทั้ง 5 เลย ดังนั้น การบอกหนทางหรือการให้สติแก่ผู้ป่วยควรกระทำในตอนต้น ๆ ของมรณาสันนกาลในขณะที่ยังพอมีสติดีอยู่

ในมรณาสันนวิถีของปุถุชนหรือบุคคลที่กำลังจะตาย และก่อนจุติจิตจะเกิดขึ้นนั้น จะมีอารมณ์ 3 ประการเกิดขึ้น คือ กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งในทวารทั้ง 649,50,53,54

ก. กรรม ได้แก่ อารมณ์คือกรรมที่เกี่ยวกับกุศล และอกุศล ที่เกี่ยวกับกุศลนั้น ได้แก่บุญกุศลที่ตนได้กระทำมาแล้ว เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม หรือการเจริญภาวนา เมื่อจวนใกล้จะตาย ก็เป็นเหตุให้นึกถึงบุญกุศลนั้น มีปีติ โสมนัสเกิดขึ้น คือมีจิตใจ หน้าตาแช่มชื่นเบิกบาน คนพวกนี้มักตายไปอย่างสงบ

ที่เกี่ยวกับอกุศลนั้น ได้แก่ บาปอกุศลที่ตนได้กระทำมาแล้ว เช่น การฆ่าคน การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การทุจริต การถูกจองจำ หรือการผิดศีลธรรม เมื่อจวนใกล้จะตาย ก็เป็นเหตุให้นึกถึงบาปอกุศลนั้น มีความเศร้าใจ ความโกรธ และความเศร้าหมองเกิดขึ้น คนพวกนี้มีจิตไม่สงบและมักตายไปอย่างกระสับกระส่าย กรรมอารมณ์เป็นความรู้สึกทางใจ จึงปรากฏได้ทางใจหรือทางมโนทวารอย่างเดียว ถ้าฝ่ายกุศลมาปรากฏก็จะนำไปสู่สุคติ แต่ถ้าฝ่ายอกุศลมาปรากฏก็จะนำไปสู่ทุคติ

ข. กรรมนิมิต ได้แก่ เครื่องหมายหรืออุปกรณ์ในการกระทำกรรม ถ้าเป็นฝ่ายบุญกุศล ก็ทำให้รู้เห็นเครื่องหมาย หรือนิมิตแห่งบุญกุศลที่ตนเคยทำมาแล้ว เช่น โบสถ์ วิหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ศาลา กุฏิ เห็นภาพพระพุทธรูปที่ตนเคยสร้าง พระภิกษุที่ตนเคยบวช เห็นขันข้าวหรือทัพพีที่ตนเคยตักบาตร เป็นต้น เมื่อจิตหน่วงเอาภาพนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ จิตใจย่อมเบิกบานไม่เศร้าหมอง และเป็นปัจจัยนำไปเกิดในสุคติ

แต่ถ้าเป็นฝ่ายบาปอกุศล จะเห็นนิมิต เช่น หอก ดาบ อวน แห ธนู หน้าไม้ บางทีเห็นสัตว์ หมู โค ปลา นก หมา แมว บางทีเห็นการพนัน ชนไก่ ยิงนก ตกปลา เล่นถั่ว เล่นไพ่ เล่นหวยใต้ดิน บางคนร้องเสียงลั่น คิดว่ามีคนจะมาทำร้าย บางคนเคยฆ่าหมู ก็ร้องเสียงเหมือนหมู ถ้าเคยชนไก่ก็เอาหัวแม่มือทั้งสองของตนชนกัน แล้วร้องเหมือนเสียงไก่ชน เมื่อจวนเจียนจะตายถ้ากรรมนิมิตฝ่ายบาปอกุศลมาปรากฏ ย่อมเป็นปัจจัยนำไปเกิดในทุคติ กรรมนิมิตทั้งฝ่ายกุศล และอกุศลนี้ปรากฏได้ทั้งทางทวารทั้ง 6 แต่ส่วนมากเป็นการเห็นทางตา และทางใจ

ค. คตินิมิต ได้แก่ นิมิต หรือเครื่องหมายที่บอกให้ทราบถึงคติหรือภพที่จะไปเกิด ถ้าเป็นคตินิมิตที่จะนำไปสู่สุคติ ก็จะปรากฏเป็นประสาท ราชวัง วิมาน ทิพยสมบัติ เทพบุตร เทพธิดา เห็นครรภ์มารดา เห็นวัดวาอาราม บ้านเรือน ตัวอย่าง ธัมมิกะอุบาสก เห็นราชรถ 6 คันมาจากเทวภูมิทั้ง 6 ชั้น ปรากฏอยู่เฉพาะหน้ากลางอากาศ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรนั่งไปในราชรถที่มาจากชั้นดุสิต55

ถ้าเป็นคตินิมิตที่จะนำไปสู่ทุคติ เช่นจะไปเกิดในนรก ก็ปรากฏเห็นเป็นเปลวไฟนรก เห็นนายนิรยบาล เห็นสุนัข เห็นแร้ง เห็นกา เป็นต้น กำลังจะเข้ามาทำร้ายตน ถ้าจะไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็จะเห็นเหว ถ้ำ ป่าทึบ ทุ่งหญ้า หรือหนองน้ำ เป็นต้น ตัวอย่าง พระเจ้าศิริธัมมาโสกะองค์ศาสนูปถัมภ์ ในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 เมื่อใกล้สิ้นพระชนม์ จิตเกิดมีการเศร้าหมองด้วยโทสะ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วไปบังเกิดเป็นเปรต งูเหลือม จนกระทั่งพระโอรสมหินทะเถระพระอรหันต์ต้องไปทำการช่วยเหลือด้วยวิธีทำให้ระลึกชาติได้ ในที่สุดก็พ้นจากการเป็นเปรตงูเหลือมได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ55

คตินิมิตจะปรากฏได้ในทวารทั้ง 6 แต่มักปรากฏทางจักษุทวารและมโนทวาร คือ เห็นทางตาและทางใจเป็นส่วนมาก และจัดเป็นอารมณ์ในปัจจุบัน รวมความว่า อารมณ์ของคนที่ใกล้ตายจริง ๆ เมื่อเข้าสู่มรณาสันนวิถี ย่อมได้แก่ กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏ อาจเรียกได้ว่าเป็นการฝันครั้งสุดท้ายในชีวิตก็ได้ ถ้าฝันไม่ดีคือเห็นอารมณ์นิมิตไม่ดี ก็ไปเกิดในทุคติ ถ้าฝันดี คือเห็นอารมณ์นิมิตที่ดีก็ไปเกิดในสุคติ

รวมความว่า มนุษย์ทุกคนถ้ายังมี อวิชชา (ความไม่รู้) ตัณหา (ความอยาก) อุปาทาน (ความยึดมั่น) และกรรม (การกระทำ) อยู่ เมื่อตายไปจากชาตินี้แล้วยังต้องเกิดอีกในปรโลกหรือโลกหน้า (afterlife) ภาวะจิตในขณะที่กำลังจะตายนั้นมีความสำคัญมาก ถ้าจิตเศร้าหมองย่อมไปเกิดใหม่ในทุคติภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีแต่ความทุกข์ หรืออบายภูมิ ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่ปราศจากความเจริญ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน ถ้าจิตไม่เศร้าหมองย่อมไปเกิดใหม่ในสุคติภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่มีความสุข ได้แก่ มนุษย์ และเทวะ (หมายถึงเทวดา และพรหม)

เมื่อจุติจิต (death consciousness) เกิดขึ้นปฏิสนธิจิต (relinking or rebirth consciousness) ย่อมเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีระหว่างขั้น กล่าวคือ ในขณะที่ตาย กาย (รวมทั้งสมอง) กับใจ หรือรูปกับนาม จะดับแต่ถ้ายังมีเหตุปัจจัยดังกล่าวอยู่ รูปกับนามจะเกิดใหม่พร้อมกันทันทีโดยอาศัยซึ่งกันและกัน มิใช่ว่าเมื่อสมองหยุดทำงานหรือเมื่อตายแล้วชีวิตเป็นอันสิ้นสุดลงอย่างแน่นอน โดยไม่มีการเกิดอีกในชาติหน้า

 โดยสรุปการศึกษาเรื่องประสบการณ์ใกล้ตาย โดยจำกัดอยู่แต่เฉพาะมุมมองในทางประสาทชีววิทยาไม่สามารถอธิบายสาเหตุความพิสดารและความซับซ้อนของเรื่องนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง ทรรศนะทางพุทธศาสนากล่าวว่า ประสบการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผลของกรรมที่เก็บสั่งสมไว้ในภวังคจิต (the life-continuum) หรือจิตไร้สำนึกส่วนรวม (the collective unconscious) ซึ่งปรากฏออกมาในขณะใกล้ตาย จิตเป็นนามธรรมแต่สมองเป็นรูปธรรม ทั้งรูปและนามต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น ประสบการณ์ใกล้ตายจึงเป็นการทำงานของจิตและสมองอย่างใกล้ชิดจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

 เอกสารอ้างอิง

1. Joseph R. Neuropsychiatry, neuropsychology, and clinical neuroscience. 2nd ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1996: 268-319.

2. Fenwick P, Fenwick E. The truth in the light: an investigation of over 300 near-death experiences. London: Headline, 1995: 1-267.

3. Zisook S. Death, dying, and bereavement. In: Harold IK, Benjamin JS, eds. Comprehensive textbook of psychiatry, 6 th ed. Vol. 2. Baltimore: Williams & Wilkins, 1995: 1713-29.

4. Stevenson I, Greyson B. Near-death experiences. JAMA; 1979;242: 265-7.

5. ศิริ พุธศุกร์. การเกิดใหม่และการตายใหม่ (Rebirths and redeaths). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ, 2535: 9-27.

6. แสง อรุณกุศล. ตายแล้วฟื้น. กรุงเทพมหานคร: รุ่งเรืองสาสน์การพิมพ์, 2539: 215-66.

7. Greyson B. Near-death experiences and personal values. Am J Psychiatry 1983; 140:618-20.

8. Greyson B. The Near-death experience scale. J Nerv Ment Dis 1983; 171:376-81.

9. เกรียงศักดิ์ จรัณยายนท์. สมาธิแบบธิเบต. (แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง Tibetan meditation เขียนโดย ที่ ลอบซัง รัมปา). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปัญญา, 2537: 61-85.

10. ศิริ พุธศุกร์. การเดินทางด้วยจิต (แปลจากเรื่อง The mind travellers เขียนโดย Brad Steiger). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ, 2539: 1-33.

11. Rinpoche S. The Tibetan book of living and dying. London: Rider, 1992: 319-36.

12. Joseph R. The limbic system: emotion, laterality, and unconscious mind. Psychoanal Rev 1992; 79: 405-56.

13. Halgren E, Walter RD, Cherlow DG, Crandal PH. Mental phenomena evoked by electrical stimulation of the human hippocampal formation and amygdala. Brain 1978; 101:83-117.

14. Mesulam MM. Dissociative states with abnormal temporal lobe EEG: multiple personality and the illusion of possession. Arch Gen Psychiatry 1981;38: 176-81.

15. Jung CG. Memories, dreams, reflections. Glasgow: Fountain Books, 1977: 320-58.

16. Lewis DA, Oeth KM. Functional neuroanatomy. In Harold IK, Benjamin JS, eds. Comprehensive textbook of psychiatry, 6th ed. Vol. 1 Baltimore: Williams & Wilkins, 1995: 4-25.

17. Pedersen CA, Golden RN, Petitto JM, Evans DL, Haggerty, Jr. JJ. Neurobiological aspects of behavior. In: Alan S, ed. Human Behavior: An introduction to medical students, 2nd ed. Philadelphia: J.B. Lippincott Company, 1994: 347-412.

18. Halgren E. Walter RD, Cherlow DG, Crandal PH. Mental phenomena evoked by electrical stimulation of the human hippocampal formation and amygdala. Brain 1978;101: 83-117.

19. Ayd Jr FJ. Lexicon of psychiatry, neurology, and the neurosciences. Baltimore: Williams & Wilkins, 1995: 360.

20. Atweh SF, Kuhar MJ. Autoradiographic localization of opiate receptors in rat brain. III. Brain Res 1977; 134: 273-405.

21. Morse M, Venecia D, Milstein J, Tyler C, Donal C. Childhood near-death experience. Am J Dis Children 1986; 140: 1110-4.

22. Noyes R. The experience of dying. Psychiatry 1972;35: 174-84.

23. Evans-Wentz WY. The Tibetan book of the dead. London: Oxford University Press, 1960: 1-81.

24. Fremantle F, Trungpa C. The Tibetan book of the dead. Boston: Shambhala, 1992: 1-74.

25. Noyes R, Slymen D. The subjective response to life-threatening danger. Omega 1979; 9: 313-21.

26. Pasricha, Satwan, Stevenson I. Near-death experience in India: a preliminary report. J Nerv Ment Dis 1986;174: 165-70.

27. Noyes R, Kletti R. Depersonalization in response to life threatening danger. Comp Psychiatry 1977; 18:375-84.

28. Summit RC. The child sexual abuse accommodation syndrome Child Abuse Negl 1983; 7:177-93.

29. Spiegel D. Dissociating damage. Am J Clin Hypn 1988; 29: 123-31.

30. Nadel L. The hippocampus and space revisited. Hippocampus 1991; 1:221-9.

31. Penfield W. Memory mechanisms. Arch Neurol Psychiatry 1952; 67:178-91.

32. Penfield W, Perot P. The brains record of auditory and visual experience. Brain 1963; 86:595-695.

33. วชิระ ลาภบุญทรัพย์. ภาวะใกล้ตายในมุมมองของ neuropsychiatry (ภาคที่ 1). จดหมายข่าว ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 1996; 5(3):2.

34. วชิระ ลาภบุญทรัพย์. ภาวะใกล้ตายในมุมมองของ neuropsychiatry (ภาคที่ 2). จดหมายข่าว ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 1996; 5(4):2.

35. Penfield W. The role of the temporal cortex in certain psychical phenomena. J Ment Sci 1955;101: 451-65.

36. Disayavanish C, Furmaga KM. Delirium. In Thomas HJ, Moises G, Kovilparambil, eds. Clinical neuropsychiatry, Massachusetts: Blackwell Science, 1997: 59-72.

37. Yager J, Gittin MJ. Clinical manifestations of psychiatric disorders. In: Harold IK, Benjamin JS, eds. Comprehensive textbook of psychiatry, 6th ed. Vol 1 Baltimore: Williams & Wilkins, 1955.

38. จำลอง ดิษยวณิช, พริ้มเพรา ดิษยวณิช. โรคจิตที่เกิดจากการฝึกสมาธิ (Meditation induced psychosis). วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2527; 29:1-12.

39. Uhl RG, Kuhar BR, Snyder SH. Endephalin containing pathways: amygdaloid efferents in the stria terminalis. Brain Res 1978; 149:223-8.

40. Geschwind N. Disconnection syndromes in animals and man. Brain 1965; 88:585-644.

41. Laird JD, Thompson NS. Psychology. Boston: Houghton Mifflin Company, 1992: 118-49.

42. Greyton AC. Textbook of medical physiology, 8th ed. Philadelphia: W.B. Saunders Company, 1991: 659-66.

43. Rink K, Rosing CJ. The Amega project: an empirical study of the NDE-prone personality. J Near-Death Studies 1990; 9:211-19.

44. Gabbard GO, Twemlow SW, Jones FC. Do near-death experiences occur only near death? J Nerv Ment Dis 1981; 169: 19-27.

45. Morris CG. Psychology: am introduction, 7th Edition. New Jersey: Prentice-Hall International, 1990: 4-5.

46. Sumano Bhikkhu. Psychology of the extinction of suffering (part 1) World Fellowships of Buddhists 1981; 12: 1-7.

47. จำลอง ดิษยวณิช. จิตวิเคราะห์แนวพุทธเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2535; 37:170-81.

48. Gunaratna VF. Rebirth Explained Kandy: Buddhist Publication Society, 1980: 21-36.

49. บุญมี เมธางกูร. คนตายแล้วไปเกิดได้อย่างไร. พิมพ์ครั้งที่ 17 กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์, 2538: 45-62.

50. พระศรีวิสุทธิกวี. จิตวิทยาในพระอภิธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528: 82-85.

51. ธนิต อยู่โพธิ์. สมุดมัคคุเทศก์: สำหรับผู้เตรียมตัวเดินทางไปปรโลก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2522: 19-31.

52. ส. ศิวรักษ์. เตรียมตัวตายอย่างมีสติ. กรุงเทพมหานคร: รุ่งแสงการพิมพ์, 2531: 13-34.

53. ฐิตวัณโณ ภิกขุ. ตายแล้วไปไหน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2530: 29-35.

54. Jayasuriya WF. The psychology & philosophy of Buddhism: an introduction to the Abhidhamma. Kuala Lampur: Buddhist Missionary Society, 1988: 117-21.

55. พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริย. ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ 5 เล่ม 6 มรณุปปัติจตุกกะ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2530: 2833.

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us