เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


Subliminal audio-tape: A shortcut to well-being

 

Prakob Pooviboonsuk, M.D., Ph.D. (Clinical Psychopharmacology)
Pimolvan Tappayuthpijarn, MS.(Pharm)
Tharis Hincheranundana, (Cert. of Medical Science Technology)
Pornpong Kingwattanakul, M.D.
Boonchua Dhorranintra, M.D., Ph.D.

Abstract To test the effectivenesss of subliminal audio-tape on subjective well-being, we used double-blinded controlled trial. The control audio-tape was music without subliminal message while the experimental tape was the same music but with subliminal messages. The messages contained suggestions related to 6 different areas of well-being. The music from both tapes was identical and equal in both loudness and length. Sixty-four normal volunteers (20 males, 44 females) were recruited. They were devided into two equal groups and randomly allocated to listen to either of the tapes that were 30 minutes long. Each subject listened to the tape daily for 5 days, consecutively. The time, environment and loudness of subject's listening condition were the same throughout the experiment. Before listening to the music, all subjects did rating scales on their own well-being. Immediately after the first listening session and after the last listening, the subjects were again asked to do the same rating scales. The subjects who listened to music alone reported that they were relaxed while the experimental group reported to be significantly more relaxed and more well-being, even after the first listening session. Four different aspects of well-being that subjects rated to be improved were relaxation, life enjoyment, strong-mindedness, and self-esteem. The study can be concluded that the subliminal audio-tape is effective and useful in improving personal well-being and relaxation.

Key words: subliminal, relaxation, mental well-being

Department of Pharmacology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok.

Subliminal audio tape: ทางลัดสู่การคลายเครียด

ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข พ.บ. ว.ว.(จิตเวชศาสตร์), ปรด. (Clinical Psychopharmacology)
พิมลวรรณ ทัพยุทธพิจารณ์ วทบ. ภม.
พรพงศ์ กิ่งวัฒนกุล พ.บ. ว.ว.(สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา)
ธริส หิญชีระนันทน์ ป. พนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์
บุญเจือ ธรณินทร์ พ.บ. ปรด. (Magna cum Laude).

* ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ในการวัดประสิทธิภาพของ subliminal audio tape ต่อการคลายเครียด ผู้วิจัยใช้ วิธี double-blinded controlled trial โดยทำเทปเพลงความยาวครึ่งชั่วโมงขึ้นมา 2 ม้วนเหมือนกันทุกประการ ต่างกันเพียงม้วนหนึ่งมีเสียงคำชักจูงผสมกลมกลืนไปด้วย ส่วนอีกม้วนหนึ่งไม่มี รับอาสาสมัครจำนวน 64 คน(ชาย 20 หญิง 44)เข้าร่วมการวิจัย โดยอาสาสมัครจะถูกแบ่งแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่มเท่ากัน ให้ฟังเทปม้วนใดม้วนหนึ่งเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกวัน จากจันทร์ถึงศุกร์ ก่อนเริ่มการทดลองให้อาสาสมัครทุกคนทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้สึกในเรื่องความเครียดและสุขภาพจิต และหลังจากฟังเทปครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ก็ให้อาสาสมัครทำแบบสอบถามอีกเช่นเดียวกัน ระยะเวลา สภาพแวดล้อมและความดังของการฟังจะเหมือนกันทุกครั้งของการทดลอง ผลของการทดลองพบว่า ในกลุ่มที่ได้ฟังเทปม้วนที่มีคำชักจูงผสมอยู่รายงานว่า รู้สึกผ่อนคลาย มีความร่าเริง จิตใจเข้มเข็ง และเชื่อมั่นในตนเอง มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงสามารถสรุปได้ว่า subliminal audio tape ทำให้อาสาสมัครมีความผ่อนคลายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539; 41(3): 184-190.

คำสำคัญ: subliminal, relaxation, mental well-being

การสื่อสารผ่านจิตใต้สำนึก (subliminal processing) หรือการรับรู้ที่ไม่อยู่ในความตั้งใจ (preconscious processing)1 นั้น มีการศึกษากันมานานแล้วว่า สามารถเข้าสู่สมองและมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งสามารถที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามที่ต้องการได้ มีหลายการทดลองที่พบว่า subliminal stimulus มีผลทำให้ผู้ป่วยคลายจากอาการวิตกกังวล ลดอาการย้ำคิดย้ำทำ ลดอาการซึมเศร้า ลดการใช้ยาในผู้ป่วยโรคจิต รวมทั้งช่วยให้การรักษามาตรฐานสำหรับการเลิกบุหรี่และเฮโรอีนได้ผลดีขึ้น2

subliminal stimuli ที่นิยมวิจัยกันมี 2 รูปแบบ คือ visual subliminal และ auditory subliminal การสื่อสารผ่านจิตใต้สำนึกทางการมองนั้นต้องใช้เครื่องมือที่สลับซับซ้อน เพราะจะต้องเป็นเครื่องฉายภาพที่ฉาย visual subliminal ได้เร็วระดับ 10-50 millisecond อีกทั้งต้องการให้อาสาสมัครมองภาพที่ฉายด้วย ตรงข้ามกับการสื่อสารผ่านจิตใต้สำนึกที่ผ่านทางหู (auditory subliminal) การสื่อสารวิธีนี้ไม่ต้องการความสนใจ อาสาสมัครไม่ต้องมอง เครื่องมือที่ใช้ก็ไม่ยุ่งยาก เป็นเพียงเครื่องเล่นเทปธรรมดาที่หาได้ทั่วไป ดังนั้น auditory subliminal จึงเหมาะสมทั้งสำหรับผู้วิจัยและผู้นำไปใช้ ด้วยความสะดวกหลายประการดังกล่าว

เนื่องจาก auditory subliminal ที่กล่าวถึง ไม่เคยมีรายงานการศึกษาในประเทศไทย อีกทั้งคณะผู้วิจัยต้องการพิสูจน์ว่า subliminal audio-tape ที่ได้ผลคลายเครียดในภาษาต่างประเทศนั้น สำหรับภาษาไทยแล้วจะได้ผลเช่นกันหรือไม่ และหากได้ผลเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกจริง ก็น่าที่จะได้รับการพัฒนาเพื่อผลที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปในด้านต่างๆด้วย ดังนั้นจุดประสงค์ของการทดลองครั้งแรกนี้จึงเพื่อที่จะตรวจสอบว่าเนื้อหา (messages) ที่ผสมลงไปเพื่อให้เกิด mental well-being นั้นได้ผลจริงหรือไม่

วัสดุและวิธีการ

การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธี randomised double-blind controlled trial จำนวนอาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัยทั้งสิ้น 64 คน เป็นหญิง 44 คน ชาย 20 คน อายุเฉลี่ย 20.1 ปี อาสาสมัครทุกคนถูกแบ่งแบบคละ (random) ให้ฟังเทปม้วนใดม้วนหนึ่งในสองม้วนที่ทำขึ้นมาเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นว่าเทปม้วนหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ mental well-being ผสมอยู่ ส่วนอีกม้วนหนึ่งไม่มี ในการฟังเทปให้ฟังครั้งละ 30 นาที ทุกเที่ยงวัน เป็นเวลาติดต่อกัน 5 วัน (จากวันจันทร์ถึงวันศุกร์) ก่อนการฟังเทปครั้งแรกสุด (control) หลังการฟังครั้งแรก (post 1) และหลังการฟังครั้งสุดท้าย (post 2) ให้อาสาสมัครทำแบบสอบถามชนิด visual analogue scales เกี่ยวกับ mental well-being จำนวนทั้งสิ้น 11 ข้อ (ภาพที่ 1)

ในการทำแบบสอบถาม ให้อาสาสมัครแสดงความรู้สึกในแง่ต่างๆ ทั้ง 11 หัวข้อด้วยการขีดเส้นตั้งฉากบนเส้นตรงยาว 100 มิลลิเมตร โดยมีปลายทั้งสองข้างเป็นจุดที่มีความรู้สึกในด้านนั้นมากที่สุด และปลายทั้งสองบนเส้นตรงเดียวกันจะแทนความรู้สึกที่ตรงกันข้ามสิ้นเชิง เช่น รู้สึกมีสุข-เป็นทุกข์ ผ่อนคลาย-ตึงเครียด เศร้า-ร่าเริง ฯลฯ

ในการฟังเทป ให้อาสาสมัครนั่งห่างจากลำโพงเป็นระยะ 5 เมตร ความดังของเสียงเพลง ณ ตำแหน่งที่นั่งฟังโดยเฉลี่ยเท่ากับ 65 dB ระหว่างการนั่งฟังอาสาสมัครสามารถที่จะอ่านหนังสือหรือทำการบ้านได้ และทุกครั้งของการฟัง เวลาที่เริ่มฟัง ระยะเวลาในการฟัง รวมทั้งสภาพแวดล้อมทุกอย่างจะเหมือนกันตลอดการวิจัย

เพลงในเทปที่ใช้ในการวิจัยเป็นเพลงสากลบรรเลง ส่วนเนื้อหาที่ผสมลงไปมี 7 หัวข้อ ดังต่อไปนี้ 1. จิตใจสงบ-ผ่อนคลาย 2. จิตใจเข้มแข็ง 3. มีความเชื่อมั่นในตนเอง 4. รู้สึกเป็นสุข-มีความพึงพอใจในชีวิต 5. มองโลกในแง่ดี-มีเมตตา 6. เป็นมิตรกับใครๆ 7. สุขภาพแข็งแรง

สถิติที่ใช้ในการวิจัยนี้คือ repeated measure analysis เพื่อแยกความแตกต่างของผลจากเทปทั้งสองม้วนในหัวข้อต่างๆ โปรแกรมที่ใช้คือ SPSS for Windows v. 6.0 แล้วคำนวณต่อเพื่อแยกผลของระยะเวลาในการฟังด้วย post hoc analysis

ผลการศึกษา

จากหัวข้อต่างๆ 11 หัวข้อในแบบสอบถาม (ภาพที่ 1) มีเพียง 7 หัวข้อเท่านั้นที่เป็นเนื้อหาในเทป ส่วน 4 หัวข้อที่เหลือซึ่งวัตถุประสงค์ในการใส่เพิ่มเติมลงในแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบความโน้มเอียงในทางดีขึ้นของอาสาสมัคร ผลปรากฏว่า อาสาสมัครไม่มีความโน้มเอียงดังกล่าว เนื่องจากทั้งสี่หัวข้อไม่เปลี่ยนแปลงหลังการฟังเทปไม่ว่าจะเป็นม้วนที่มีเนื้อหาหรือไม่มีก็ตาม

ส่วนใน 7 หัวข้อที่เป็นเนื้อหานั้น มีถึง 4 หัวข้อที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หัวข้อเหล่านี้คือ 1. จิตใจสงบ-ผ่อนคลาย (p = 0.006) 2. จิตใจเข้มแข็ง (p = 0.001) 3. มีความเชื่อมั่นในตนเอง (p = 0.05) 4. รู้สึกเป็นสุข-มีความพึงพอใจในชีวิต (p = 0.02)

จากผลข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่า subliminal messages ที่ผสมลงไปมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของอาสาสมัครในแง่สุขภาพจิตโดยรวม (mental well-being) ดีขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าผลต่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นเกือบทั้งหมด(ยกเว้นความรู้สึกเป็นสุข-พึงพอใจในชีวิต) นั้น ดีขึ้นตั้งแต่เริ่มฟังเทปเป็นครั้งแรก (ดูจากค่า critical value ในตารางที่ 1) และผลดีก็ยังคงอยู่จวบจนสิ้นสุดการทดลอง

รายละเอียดของคะแนนที่อาสาสมัครประเมินตามความรู้สึกในหัวข้อต่างๆ ที่ดีขึ้นขอให้ดูในตารางที่ 1 เช่นกัน

วิจารณ์

ในการศึกษาถึงผลของ auditory subliminal stimuli ต่อมาตรวัด (parameter) ความเครียดหลายชนิด พบว่า มาตราวัดเหล่านี้มีค่าเปลี่ยนแปลงไปในทำนองที่ดีขึ้น การศึกษาของ Borgeat และ Goulet (1983)3 อีกทั้งการศึกษาต่อมาที่นำโดยหัวหน้าคณะวิจัยคนเดียวกัน (Borgeat และคณะ 1985)4 พบว่า auditory subliminal stimuli สามารถทำให้ skin conductance (หรือ GSR) frontal EMG และการเต้นของชีพจรเปลี่ยนไปในทิศทางที่บ่งชี้ว่าความวิตกกังวลลดน้อยลง และไม่เพียงการวิจัยจากกลุ่มนักวิจัยกลุ่มเดียวกันจะให้ผลเหมือนกันเท่านั้น ยังมีการวิจัยเร็วๆ นี้จากสถาบันอื่นอีกที่ยืนยันผลเช่นเดียวกันนี้ด้วย (Kotze และ Moller, 1990)5 จึงเป็นการตอกย้ำถึงผลของ subliminal stimuli ที่มีต่อสรีรวิทยาของร่างกาย ส่วนผลจากการวิจัยของผู้รายงานนั้นก็เป็นสิ่งที่เติมเต็มการวิจัยในด้านอารมณ์ความรู้สึก (subjective feelings) ซึ่งให้ผลในแนวทางเดียวกับสรีรวิทยาเช่นกัน โดยที่อาสาสมัครมีความรู้สึกว่าดีขึ้นในหลายแง่ คือ ไม่เพียงเฉพาะการผ่อนคลายที่มีมากขึ้นเท่านั้น ยังรู้สึกดีขึ้นในเรื่องของจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น เชื่อมั่นตัวเองมากขึ้น และรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของตัวเองมากขึ้น

เป็นที่สังเกตว่าความรู้สึกในด้านต่างๆ ที่ดีขึ้นนั้นเกิดขึ้นหลังการฟัง subliminal tape ตั้งแต่ครั้งแรก มีเพียงความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตที่ต้องฟังหลายครั้งกว่าจะเป็นผลดีขึ้น คำอธิบายต่อผลอันนี้น่าจะเป็นว่า ความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากกว่า ต้องใช้เวลามากกว่า หรือเป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจกว่าความรู้สึกอื่นๆ หลักการหรือสมมติฐานอันเดียวกันนี้อาจจะนำมาอธิบายได้ว่า เหตุใดเนื้อหาอื่นๆ อีกสามหัวข้อ คือ การมองโลกในแง่ดี การเป็นมิตรกับใครๆ และการให้มีสุขภาพแข็งแรง ที่ผสมลงไปในเทปไม่ได้ผล สิ่งเหล่านี้คงจะลึกซึ้งเกินกว่าการฟังเพียงระยะเวลาสั้นๆ จะเห็นผลได้ การให้อาสาสมัครฟังให้นานขึ้นอาจจะบอกได้ว่า subliminal tape จะให้ผลได้ลึกซึ้งลงไปในจิตใจถึงขั้นเหล่านี้ได้หรือไม่

ในความเป็นจริงแล้ว subliminal stimuli ไม่ได้ถูกใช้แต่ในแง่คลายเครียดหรือให้สุขภาพจิตดีขึ้นในแง่ทั่วๆไปเท่านั้น ยังมีการใช้ subliminal stimuli ในด้านอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น Thornton (1987)6 ได้นำอาสาสมัครที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 36 คนมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกให้ดู subliminal slide ที่มีข้อความว่า 'Mommy/Daddy and I are one' กลุ่มที่สองให้ดู subliminal slide ที่ไม่มีผลต่อจิตใต้สำนึกซึ่งมีข้อความว่า 'People are walking' และกลุ่มที่สามไม่ได้ดูอะไร ผลปรากฏว่า กลุ่มแรกที่ได้ดู subliminal content ที่มีผลต่อจิตใต้สำนึกเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อาการซึมเศร้าดีขึ้น (จากการวัดด้วย Beck Depression Scale) ในด้านของการเสริมการรักษาผู้ติดยาเสพติดก็เช่นกันที่ subliminal stimuli ใช้ได้ผล Thornton, Igleheart และ Silverman (1987)7 ได้ร่วมกันทดลองให้คนไข้ติดเฮโรอีนจำนวน 47 คนที่มารับการรักษาด้วย methadone treatment programme ณ New York VA Methadone Clinic ด้วยการให้ฟังเทปที่มีเนื้อหาผสมอยู่ โดยที่ครึ่งหนึ่งได้ฟังเทปม้วนที่มีเนื้อหาว่า 'Mommy and I are one' ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้ฟังเทปที่มีเนื้อหาว่า 'People are walking' เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 สัปดาห์ โดยให้ฟังสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ผลที่ได้ออกมาก็น่าประทับใจ คือ กลุ่มที่ได้ฟังเนื้อหาแรกสามารถลดการใช้ methadone ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งการใช้เฮโรอีนและยาเสพติดอื่นๆ ก็น้อยลงด้วย ในแบบสอบถามที่อาสาสมัครตอบหลังจากติดตามผลการรักษาต่อไปอีกระยะหนึ่งพบว่า อาสาสมัครกลุ่มนี้ควบคุมการใช้ยาเสพติดของตัวเองได้ดีขึ้น ทำการงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งในความฝัน สัมพันธภาพกับคนใกล้ชิดก็ดีขึ้นอีกด้วย ผลของการวิจัยชิ้นนี้ทำให้ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เหตุใด subliminal tape จึงทำให้อาการของผู้ป่วยจิตเภทดีขึ้นได้8 และนำไปสู่การใช้ยาที่น้อยลง อันที่จริงผลของ subliminal ยังมีต่อเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เสริมความจำในเรื่องชื่อคน9 และทำให้ความสามารถในทางคณิตศาสตร์10 ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการประยุกต์ใช้ subliminal tape นี้สามารถทำได้กว้างขวางไม่จำกัดวงเฉพาะในทางจิตเวชหรือจิตวิทยาเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ auditory subliminal stimuli นั้นยังมีข้อได้เปรียบ visual subliminal stimuli ในหลายแง่ เช่น ไม่ต้องตั้งใจดูหรือฟัง สะดวกในการนำเสนอ อุปกรณ์หาง่าย และราคาไม่แพง

ผลของการวิจัยครั้งนี้จึงเป็นก้าวแรกที่พิสูจน์ผลของการประยุกต์ใช้ auditory subliminal stimuli ที่เป็นภาษาไทย และสำหรับในอนาคตการนำ subliminal tape มาใช้ยังจะอำนวยประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายดังที่ได้กล่าวไว้แล้วอีกด้วย

กิติกรรมประกาศ

คณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณท่านรองศาสตราจารย์ ดร. บุญเรียง ขจรศิลป์ แห่งภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้กรุณาให้คำแนะนำและช่วยเหลือในด้านสถิติเป็นอย่างดียิ่ง

เอกสารอ้างอิง

1. Dixon N. Preconscious processing. John Wiley and Sons, Chichester; 1981.

2. Swingle PG. Subliminal treatment procedures: A clinician's guide. Sarasota, Professional Resource Press; 1992

3. Borgeat F, Goulet J. Psychophysiological changes following auditory subliminal suggestions for activation and deactivation. Percept Mot Skills 1983; 56: 759-65.

4. Borgeat F, Elie R, Chaloult L, Chabot R. Psychophysiological responses to masked auditory stimuli. Can J Psychiatry 1985; 30(1): 22-7.

5. Kotze HF, Moller AT. Effect of auditory subliminal stimulation on GSR. Psychol Rep 1990; 67,: 931-4.

6. Thornton JW. A test of subliminal symbiotic activation as a means of alleviating depression. Psychoanalytical Psychology 1987; 4(4): 335-42.

7. Thornton PI, Igleheart HC, Silverman LH. Subliminal stimulation of symbiotic fantasies as and aid in the treatment of drug abusers. Int J Addict 1987; 22(8): 751-65.

8. Kaplan R, Thornton PI, Silverman LH. Further data on the effects of subliminal symbiotic stimulation on schizophrenics. J Nerv Ment Dis 1985; 173(11): 658-66.

9. Chakalis E, Lowe G. Positive effects of subliminal stimulation on memory. Percept Mot Skills 1992; 74(3): 956-8.

10. Hudesman J, Page W, Rautiainen J. Use of subliminal stimulation to enhance learning mathematics. Percept Mot Skills 1992; 74(3): 1219-24.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us