เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


Neuroleptic Malignant Syndrome : A review of 12 cases*

 

Damrong Wae-Alee,M.D.**
Waran Tanchaiswad, M.D.**

The patients with Neuroleptic Malignant Syndrome (NMS) admitted in Songklanagarind Hospital from December 1987 to April 1994 are reviewed. The cases consisted of 8 male and 4 female patients,aged 15-69 years (mean age = 37 years). Clinical manifestations of all cases were muscle rigidity, alterationof consciousness, hyperpyrexia (mean 39.2c) and autonomic nervous system disturbances. Laboratory findings were increased WBC over 10,000 cells/cu. mm in 10 cases, and increased creatinine phosphokinase (CPK) over 1000 U/L in 11 cases. Ten patients developed NMS after starting or changing the dosage of antipsychotic drugs and two afterantidepressants. The symptoms occurred in 1-10 days after taking the medications (mean = 4.7 days) and lasted 4-36 days (mean = 18.8 days). Acute renal failure, pneumonia and urinary tract infection were found in 2,3 and 1 case(s) respectively. The patients were treated by immediate discontinuation of the medication and supportive measures. All cases recovered without any serious sequalae. Eight cases were suscessfully rechallenged with another antipsychotic drug without recurrence of NMS. This study suggests that starting or changing the dosage or type of medications might play some role in precipitating the occurrence of NMS, and the intensive supportive treatment should be carried out immediately to save the patients and to prevent morbidity.

J Psychiatr Assoc Thailand 1996 ; 41(2) : 89-109.

* Presented at the Scientific Annual Meeting of the College of Psychiatrists of Thailand and the Psychiatric Association of Thailand, Bangkok, July 13-15, 1994.

** Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hatyai, Songkhla 90112.Š

Neuroleptic Malignant Syndrome : การศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วย 12 ราย

ดำรงค์ แวอาลี, พ.บ.*
วรัญ ตันชัยสวัสดิ์. พ.บ.**

ผู้รายงานได้ศึกษาย้อนหลังผู้ป่วย Neuroleptic Malignant Syndrome (NMS) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระหว่างเดือนธันวาคม 2530 ถึงเมษายน 2537 จำนวน 12 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 4 ราย อายุระหว่าง 15-69 ปี (เฉลี่ย 37 ปี) พบว่าผู้ป่วยทุกรายมีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ไข้สูง (เฉลี่ย 39.2 c) และระบบประสาทอัตบาลแปรปรวน การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าส่วนใหญ่มีจำนวนเม็ดโลหิตขาวสูงขึ้น (เฉลี่ย 15,876 เซลล์/ลบ.มม.) มีเอ็นไซม์ creatinine phosphokinase (CPK) สูงกว่า 1,000 u/L จำนวน 11 ราย (เฉลี่ย 24,686 u/L) ผู้ป่วย 10 ราย มีอาการ NMS เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการได้รับหรือการเปลี่ยนแปลงขนาดหรือชนิดของยารักษาโรคจิต 2 รายได้รับยาแก้เศร้า ผู้ป่วยมีอาการของ NMS เกิดขึ้นหลังจากได้รับหรือเปลี่ยนแปลงยาเฉลี่ย 4.7 วัน ระยะเวลาที่มีอาการเฉลี่ย 18.8 วัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบคือ ไตวายเฉียบพลัน 2 ราย ปอดบวม 3 ราย และติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 1 ราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาโดยหยุดยาทางจิตเวชทั้งหมด และรักษาแบบประคับประคองอย่างเต็มที่จนหายจากภาวะ NMS โดยไม่มีความพิการตามมา และผู้ป่วย 8 ราย สามารถกลับมาใช้ยารักษาโรคจิตขนานอื่นได้โดยไม่เกิด NMS อีก การศึกษานี้ได้ชี้แนะถึงว่าการได้รับหรือเปลี่ยนแปลงขนาดหรือชนิดของยารักษาโรคจิตเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิด NMS และการรักษาแบบประคับประคองอย่างเต็มที่จะช่วยชีวิต ผู้ป่วยไว้ได้โดยไม่มีความพิการติดตามมา

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539 ; 41(2) : 99-109.

คำสำคัญ

* แพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

** รองศาสตราจารย์, หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

Neuroleptic Malignant Syndrome (NMS) เป็นผลแทรกซ้อนของการใช้ยารักษาโรคจิต ซึ่งพบไม่บ่อย แต่มีอาการรุนแรง และมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 20-301,2 Delay และ Deneker ได้รายงานและตั้งชื่อกลุ่มอาการนี้ในปี 19682,3 อาการหลักของ NMS คือไข้สูง มี extrapyramidal symptoms รุนแรง เช่น lead pipe muscle rigidity ระบบประสาทอัตบาลแปรปรวน เช่น ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เหงื่อออกมาก และมีระดับของความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง4,5 ผลของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น เอ็นไซม์ creatinine phosphokinase (CPK) สูง4,5 ส่วนใหญ่อาการมักเกิดหลังจากได้รับยารักษาโรคจิต เช่น กลุ่ม phenothiazine, buterophe- none, thioxanthene6,7 และกลุ่มอื่น ๆ เช่น loxapine2,8 นอกจากนี้ยังพบเกิดจากได้ยาแก้เศร้า เช่น fluoxetine9 และยังพบเกิดจาก metoclopramide10 ซึ่งเป็นยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการมักเกิดภายใน 1 สัปดาห์แรกที่ได้ยา เมื่อเกิดอาการแรกแล้ว จะเกิดอาการเต็มที่ภายใน 48 ชั่วโมง และเมื่อหยุดยารักษาโรคจิต อาการจะค่อย ๆ สงบลงในเวลาเฉลี่ย 15 วัน4 การรักษาที่สำคัญที่สุดคือ หยุดยารักษาโรคจิตและยาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นทันที และรักษาแบบประคับประคอง ระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยผู้ป่วยให้หายจากภาวะนี้ได้1,2,6,7,11,12 ภาวะนี้ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ แต่ยาที่มีรายงานว่าใช้ได้ผล คือbromocriptine1-3,6,12-14 และ dantrolene2,3,12,15

การศึกษาในปัจจุบัน พบว่าอัตราตายลดลงจากร้อยละ 25 ก่อนปี 1984 เหลือ ร้อยละ 11.6 ในช่วงปี 1984-19873,16 และจากการศึกษาแบบ prospective โดย Rosebush และ Stewart ในปี 1989 ไม่พบว่ามีการตายเกิดขึ้น17 ซึ่งอาจแสดงถึงการที่แพทย์ได้ตระหนักมากขึ้น วินิจฉัยได้เร็วขึ้น สามารถหยุดยาและรักษาได้เร็วขึ้น3,17 ดังนั้นการศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาดูลักษณะต่าง ๆ ของผู้ป่วย NMS ในเรื่องอาการ การดำเนินโรค ยาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ตระหนักและสามารถวินิจฉัยในระยะแรกเพื่อรักษาได้ทัน และสามารถลดอัตราการตายได้

วิธีการศึกษา

ศึกษาย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น neuroleptic malignant syndrome ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2530 ถึง 30 เมษายน 2537

ผลการศึกษา

การวินิจฉัย

มีผู้ป่วย NMS ในการศึกษานี้จำนวน 12 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 4 ราย อายุตั้งแต่ 15 ถึง 69 ปี (เฉลี่ย 37.2 ปี, SD 17.4 ปี) โรคหรือภาวะที่เป็นอยู่มี bipolar disorder 4 ราย (ร้อยละ 33.3) schizophrenia 3 ราย (ร้อยละ 25) psychosis 2 ราย (ร้อยละ 16.6) major depression 1 ราย (ร้อยละ 8.3) substance use disorder 1 ราย และ simple phobia 1 ราย (ดังตารางที่ 1)

ยาที่ใช้

ยาที่เกี่ยวข้องที่ผู้ป่วยได้รับก่อนเกิดอาการเกือบทุกรายได้รับยามากกว่า 1 อย่าง ส่วนใหญ่ได้รับ haloperidol 6 ราย (ร้อยละ 50) ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ด ชนิดน้ำ และชนิดฉีด ขนาดยาตั้งแต่ 1-20 มก.ต่อวัน ได้รับ thioridazine 2 ราย (ร้อยละ 16.6) ขนาด 300 และ 800 มก.ต่อวัน perphenazine 1 ราย (ร้อยละ 8.3) ขนาด 4 มก.ต่อวัน chlorpromazine ชนิดฉีด 50 มก. 1 ราย (ร้อยละ 8.3) zuclopenthixol acetate 50 มก.ฉีดเข้ากล้าม 1 ราย (ร้อยละ 8.3) นอกจากนี้มีผู้ป่วย 2 ราย ได้รับยาลิเทียมขนาด 900 และ 1200 มก.ต่อวัน ผู้ป่วย 2 รายได้รับยาแก้เศร้า nortriptyline ขนาด 50 และ 75 มก.ต่อวัน โดย 1 ใน 2 รายนี้ได้ nortriptyline ร่วมกับ clorazepate โดยไม่ได้ยารักษาโรคจิตใด ๆ ผู้ป่วย 1 ราย ได้รับยา moclobemide โดยไม่ได้ยารักษาโรคจิตอื่น ๆ ผู้ป่วย 2 รายได้ benzodiazepine 3 รายได้รับ trihexyphenidyl และ 1 รายได้ยาแก้อาเจียน metoclopramide ร่วมด้วย นอกจากนี้พบว่าการเกิด NMS สัมพันธ์กับการลดขนาดยารักษาโรคจิต 2 ราย (ร้อยละ 16.6) การเพิ่มขนาดยา 1 ราย(ร้อยละ 8.3) การเปลี่ยนชนิดของยารักษาโรคจิต 1 ราย (ร้อยละ 8.3) และการได้รับยาครั้งใหม่หลังหยุดยามานาน 2 ราย (ร้อยละ 16.6) (ดังตารางที่ 2)

อาการและอาการแสดง

อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้นทุกรายมีไข้สูง โดยอุณหภูมิสูงสุด 38.2-40.9 c (เฉลี่ย 39.25 c, SD 0.92 c), กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ระดับของการรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง โดยมีได้ตั้งแต่ mutism, drowsy, stuporous, confusion จนถึง coma มีอาการของระบบประสาทอัตบาลแปรปรวน โดยมีชีพจรเพิ่มขึ้นทุกราย ความดันโลหิตไม่คงที่ 10 ราย (ร้อยละ 83.3) หายใจเร็ว 11 ราย (ร้อยละ 91.6) เหงื่อออก 7 ราย (ร้อยละ 58.3) กลั้นปัสสาวะไม่ได้ 8 ราย (ร้อยละ 66.6) (ดังแสดงในตารางที่ 3) นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น cogwheel rigidity, มือสั่น กลืนลำบาก occulogiric crisis, retrocollis, trismus, opisthotonos, choreiform movement, dyskinetic movement, ชัก และผื่นที่ผิวหนัง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญ พบ leukocytosis โดยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวตั้งแต่ 7,700-30,700 เซลล์/ลบ.มม. (เฉลี่ย 15,876 เซลล์/ลบ.มม, SD 6,622 เซลล์/ลบ.มม.) มีลักษณะ left shift 3 ราย (ร้อยละ 25) มีเอนไซม์ creatinine phosphokinase เพิ่มขึ้นมากกว่า 1000 u/L จำนวน 11 ราย (ร้อยละ 91.6) โดยมีค่าระหว่าง 227-106,800 u/L (เฉลี่ย 24,686 u/L, SD 38,293 u/L) ดังตารางที่ 4

การดำเนินโรคและการรักษา

ลักษณะการดำเนินโรคจะเริ่มเกิดอาการหลังได้รับยาหรือเปลี่ยนแปลงยาตั้งแต่ 1-10 วัน (เฉลี่ย 4.72 วัน, SD 2.76 วัน) โดยมีอาการเริ่มต้นคือ ซึมลง ไข้ เกร็ง มือเท้าสั่น ปากสั่น ไม่พูด และความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนหาย กินเวลาตั้งแต่ 4-36 วัน (เฉลี่ย 18.82 วัน, SD 10.42 วัน) โดยกรณีที่เป็นนานมักเกิดภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย โดยพบปอดบวม 3 ราย (ร้อยละ 25) ไตวายเฉียบพลัน 2 ราย (ร้อยละ 16.6) และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 1 ราย (ร้อยละ 8.3) ทุกรายได้รับรักษาโดยหยุดยาทางจิตเวชและยาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และรักษาแบบประคับประคองอย่างเดียว 6 ราย(ร้อยละ 50) ใช้ยา bromocriptine ร่วมด้วย 4 ราย (ร้อยละ 33.3) และใช้ยา diazepam ร่วมด้วย 2 ราย (ร้อยละ 16.6) ทุกรายได้รับการรักษาจนหายจากภาวะ NMS โดยไม่มีความพิการตามมา(ตารางที่ 5) นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ป่วย 8 ราย ที่สามารถกลับมาใช้ยารักษาโรคจิตขนานอื่นได้โดยไม่เกิดอาการของ NMS อีก

วิจารณ์

การศึกษานี้มีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูล เพราะศึกษาย้อนหลังจากเวชระเบียน จึงอาจได้ข้อมูลเฉพาะที่บันทึกไว้ จากทั้งหมด 12 ราย จะเห็นว่า NMS เป็นได้เกือบทุกอายุ ต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 69 ปี โดยมีถึง 8 ราย (ร้อยละ 66.6) ที่เป็นในอายุน้อยกว่า 40 ปี และพบอัตราส่วนเพศชายมากกว่าหญิงถึง 2 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นที่พบอัตราส่วนชายต่อหญิง = 2:11,18 และประมาณร้อยละ 80 พบในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี3,18 แต่อย่างไรก็ตามอายุและเพศก็ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด NMS3 โรคหรือภาวะทางจิตเวชที่เป็นอยู่พบได้ทั้งกลุ่ม affective disorder และ schizophrenia ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน โดยรายงานส่วนใหญ่มักพบในกลุ่ม affective disorder มากกว่า17,19,20 แต่ก็มีบางรายงานที่พบในกลุ่ม schizophrenia มากกว่า 6,12

ยาที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคจิต โดยมีถึงครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับ haloperidol ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วย NMS ได้รับ haloperidol มาก่อน3,6,12 ทั้งนี้เนื่องจาก haloperidol มีการใช้มากกว่ายาตัวอื่น ๆ3 หรืออาจเนื่องจาก NMS สัมพันธ์กับ antidopaminergic potency ซึ่ง haloperidol มี potency สูงจึงเกิด NMSได้ง่าย2,21 การศึกษานี้พบว่าผู้ป่วยจำนวนกึ่งหนึ่งเกิดอาการหลังมีการเปลี่ยนแปลงในขนาดและชนิดของยา โดยเกิดขึ้นหลังลดขนาดยารักษาโรคจิต 2 ราย หลังเพิ่มขนาดยา 1 ราย หลังเปลี่ยนแปลงชนิดของยารักษาโรคจิตทันที 1 ราย และเกิดขึ้นเมื่อเริ่มใช้ยาใหม่หลังหยุดยามานาน 2 ราย มีรายงานว่าปัจจัยในการเกิด NMS นั้น มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เช่น การเพิ่มหรือลดขนาดยาหรือการใช้ยาครั้งแรกในขนาดสูง 2,6,22 โดยอธิบายด้วยเรื่องการเสียสภาวะสมดุลหรือเสียการควบคุมของระบบ dopamine22 การศึกษานี้ยังพบการเกิด NMS โดยไม่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรคจิตเลย โดยได้รับยา nortriptyline ร่วมกับ clorazepate 1 ราย และยา moclobemide ร่วมกับ nicergoline 1 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า NMS ไม่ได้เกิดจากการได้รับยารักษาโรคจิตอย่างเดียว ดังมีรายงานการเกิด NMS จากยา fluoxetine9 ยาแก้อาเจียน metoclopramide10 และยาลิเทียมที่ให้ร่วมกับ benzodiazepine12 ฉะนั้นกรณีที่พบผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของ NMS ถึงแม้ไม่มียารักษาโรคจิต แต่มียาจิตบำบัดตัวอื่น ๆ ก็ควรนึกถึงภาวะนี้ และควรหยุดยาดังกล่าวทันทีก่อน

ลักษณะทางคลินิกพบว่า ทุกรายมีไข้ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง และมีระบบประสาทอัตบาลแปรปรวน บางรายพบอาการของ extrapyramidal symptoms อื่น ๆ โดยมีอาการเริ่มต้นได้หลายอย่าง เช่น ไข้ ซึมลง เกร็ง มือเท้าสั่น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่มี leukocytosis โดยมีเม็ดเลือดขาวเฉลี่ย 15,876 เซลล์/ลบ.มม. ซึ่งสอดคล้องกับรายงานอื่นๆ 2,6,7,12 ในการศึกษานี้ยังพบลักษณะ left shift ถึงร้อยละ 25 จากลักษณะอาการ และผลเลือดดังกล่าวทำให้คล้ายกับภาวะติดเชื้อในร่างกาย เช่น ติดเชื้อในระบบประสาท ซึ่งก็ควรวินิจฉัยแยกโรคดังกล่าวพร้อม ๆ กับหยุดยาทางจิตเวชด้วย การศึกษานี้มี 11 ราย (ร้อยละ 91.7) ที่พบเอนไซม์ CPK สูง โดยพบสูงสุดถึง 106,800 u/L ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่ผ่านมา2,6,12 โดยอาจพบได้สูงถึง 340,000 u/L6 ซึ่งอาจอธิบายจากมีการทำลายกล้ามเนื้ออย่างมากและต่อเนื่อง แต่ CPK อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยภาวะ NMS เนื่องจากอาจพบในภาวะอื่น ๆ ที่มีการทำลายกล้ามเนื้อ เช่น myocardial infarction, การฉีดยาเข้ากล้าม เป็นต้น และยังมี false positive สูงถึงร้อยละ 3623 มีการเสนอว่าการเพิ่มของ CPK เป็น nonspecific finding และการใช้ CPK ในการวินิจฉัยอาจทำให้มี overdiagnosis ของ NMS ได้24

Levenson12 ศึกษาผู้ป่วย NMS 53 ราย พบว่ามีไข้ร้อยละ 98 เอนไซม์ CPK เพิ่มขึ้น ร้อยละ 97 หัวใจเต้นเร็วร้อยละ 91 กล้ามเนื้อแข็งเกร็งร้อยละ 89 ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 84 leukocytosis ร้อยละ 79 ความดันโลหิตผิดปกติ ร้อยละ 74 หายใจเร็วร้อยละ 73 เหงื่อออกมากร้อยละ 6712 จึงได้เสนอข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยว่าต้องมีสิ่งแสดงหลัก 3 ประการ คือ ไข้ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และเอนไซม์ CPK สูงขึ้น หรือมีสิ่งแสดงหลัก 2 ประการร่วมกับสิ่งแสดงรอง 4 ใน 6 ประการที่เหลือ ซึ่งต่อมา Silver และ Yodofsky25 ได้เสนอข้อบ่งชี้

ที่รัดกุมขึ้นโดยดัดแปลงมาจากของ Pope และคณะ26 ดังนี้

1.ไข้สูง โดยไม่มีสาเหตุอื่นของไข้

2. extrapyramidal effect ที่รุนแรง เช่น lead pipe muscle rigidity, pronounced cogwheeling, occulogyric crisis, retrocolis, opisthotonos, trismus, choreiform movement, dyskinetic movement, flexer-extenser posturing, dysphagia, drooling

3. ระบบประสาทอัตบาลแปรปรวน เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หายใจ เร็ว เหงื่อออกมาก และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

4.อาการแสดงที่จำเพาะ เช่น ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น และระดับ serum CPK สูงกว่า 300 u/ml

การศึกษานี้พบว่าระยะเวลาที่เกิดอาการหลังได้รับยามีตั้งแต่ 1-10 วัน และอาการจะดำเนินต่อไปเฉลี่ย 18.82 วัน จากรายงานวิจัยอื่นพบว่า อาการของ NMS จะเริ่มเกิดหลังจากได้ยารักษาโรคจิตตั้งแต่ 45 นาที จนถึง 65 วัน ค่าเฉลี่ย 4.8 วัน6 และหลังจากหยุดยาแล้วรักษาแบบประคับประคองอาการจะสงบลงใน 4-40 วัน6 จะสังเกตได้ว่ากรณีที่เกิดอาการนานมักมีผลแทรกซ้อนตามมาด้วย ที่พบคือ ปอดบวม ไตวายเฉียบพลัน และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การเกร็งของกล้ามเนื้อที่รุนแรงและเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะ rhabdomyolysis ซึ่งทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงของ NMS12

ถึงแม้มีรายงานว่า bromocriptine ได้ผลในการรักษาภาวะ NMS1-3,6,12-14 แต่ในการศึกษานี้พบว่า มีการใช้ bromocriptine เพียง 4 ราย ใช้ diazepam 2 ราย ส่วนอีก 6 ราย หรือครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาแบบประคับประคองอย่างเดียว ซึ่งก็พบว่าทุกรายหายจากภาวะ NMS โดยไม่มีความพิการตามมา

สรุป

ภาวะ NMS เป็นผลแทรกซ้อนที่รุนแรง ไม่เฉพาะจากยารักษาโรคจิต แต่พบได้ในยาทางจิตเวชอื่น ๆ โดยมีอาการสำคัญคือ ไข้ ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ระบบประสาทอัตบาลแปรปรวน แพทย์ทั่วไปควรตระหนักถึงภาวะนี้ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ พร้อม ๆ กับการหยุดยาทางจิตเวชทั้งหมด และรักษาแบบประคับประคองอย่างเต็มที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้โดยไม่มีความพิการตามมา

เอกสารอ้างอิง

1. Abbott R, Loizou L. Neuroleptic malignant syndrome. Br J Psychiatry 1986; 148: 47-51.

2. Guze B, Baxter L. Neuroleptic malignant syndrome. New Eng J Med 1985; 313: 163-6.

3. Caroff S, Mann S. Neuroleptic malignant syndrome. Med Clin North Am 1993; 77: 185-202.

4. Davis J, Barter J, Kane J. Antipsychotic drugs in : Kaplan H, Sadock B, eds. Comphrehensive Textbook of Psychiatry, 5th ed. Williams & Wilkins, Baltimore 1989; 1624-5.

5. Kellam A. The neuroleptic malignant syndrome, so-called : A survey of the world literature. Br J Psychiatry 1987; 150: 752-9.

6. Shalev A, Munitz H. The neuroleptic malignant syndrome : agent and host interaction. Acta Psychiatr Scand 1986; 73: 337-47.

7. Smego R, Durack D. The neuroleptic malignant syndrome. Arch Intern Med 1982; 142: 1183-5.

8. Abbott P, Chong L. Neuroleptic malignant syndrome secondary to loxapine. Br J Psychiatry 1991; 159: 572-3.

9. Halman M, Goldbloom D. Fluoxetine and neuroleptic malignant syndrome. Biol psychiatry 1990; 28: 518-21.

10.Friedman L, Weinrauch L, D'Elia J. Metoclopramide-induced neuroleptic malignant syndrome. Arch Intern Med 1987; 147: 1495-7.

11.Pearlman C. Neuroleptic malignant syndrome : A review of literature. J Clin Psychopharmacol 1986; 6: 257-73.

12.Levenson J. Neuroleptic malignant syndrome. Am J Psychiatry 1985; 142: 1137-45.

13.Mueller P, Vester J, Fermaglich J. Neuroleptic malignant syndrome, successful treatment with bromocriptine. JAMA 1983; 249: 386-8.

14.Zubenko G, Pope H. Management of a case of neuroleptic malignant syndrome with bromocriptine. Am J Psychiatry 1983; 140: 1619-620.

15.Goekoop J, Carbaat P. Treatment of neuroleptic malignant syndrome with dantrolene. Lancet 1982;Jul 3:49-50.

16.Sczesni B, Bittkau S, Baumgarten F, et al. Intravenous lisuride in treatment of the neuroleptic malignant syndrome. J Clin Psychopharmacol 1991; 11: 185-8.

17.Rosebush P, Stewart T. A prospective analysis of 24 episodes of neuroleptic malignant syndrome. Am J Psychiatry 1989; 146: 717-25.

18.Allsop P, Twigley A. The neuroleptic malignant syndrome, case report with a review of the literature. Anaesthesia 1987; 42: 49-53.

19.Pope H, Aizley H, Keck P, et al. Neuroleptic malignant syndrome: longterm follow up of 20 cases. J Clin Psychiatry 1991; 52: 208-12.

20.Gelenberg A, Bellinghausen B, Wojcik J, et al. A prospective survey of neuroleptic malignant syndrome in a short term psychiatric hospital. Am J Psychiatry 1988; 145: 517-8.

21.Hashimoto F, Sherman C, Jeffery A. Neuroleptic malignant syndrome and dopaminergic blockade. Arch Intern Med 1984; 144: 629-30.

22.Spivak B, Weizman A, Wolovick L, et al. Neuroleptic malignant syndrome during abrupt reduction of neuroleptic treatment. Acta Psychiatr Scand 1990; 81: 168-9.

23.Adityanjee. The myth of elevated serum creatine phosphokinase level and neuroleptic malignant syndrome. Br J Psychiatry 1991; 158: 706-7.

24.O'Dwyer Anne-Marie, Sheppard N. The role of creatine kinase in the diagnosis of neuroleptic malignant syndrome. Psychol Med 1993; 23: 323-6.

25.Silver J, Yudofsky S. Psychopharmacology and electroconvulsive therapy in : Talbott J, Hales R, Yudofsky S, eds. The American Psychiatric Press Textbook of Psychiatry. Washington, DC : American Psychiatric Press, 1988; 767-853.

26.Pope H, Keck P, McElroy S. Frequency and presentation of neuroleptic malignant syndrome in a large psychiatric hospital. Am J Psychiatry 1986; 143: 1227-33.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us