เฅี่ยวฅับวารสาร
วารสารŠบับัจจุบัš
วารสารŠบับฅ่อšๆ
ฅองบรรณาธิฅาร
คำแšะšำใšฅารส่งพ้šŠบับ
สมัครสมาชิฅ
อีเมล์เพือš
สมาคมจิพแžกย์
พิดพ่อ
ค้šหาบกความใšวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


Stress of Kaukaroon College Nursing Students

Wanpen Wangwiwatjaroen, M.D.*
Sara Mukdee, M.A. (Counseling Psychology)**

The stress level of six hundred and thirteen nursing students in academic year of 1995-1996 at Kaukaroon College of Nursing were assessed. By using Health Opinion Survey (HOS) questionnaires, we found the average stress score of all the students was 47.67. The highest score was confined to the fourth year student (47.83), while the average stress score for the second year student was the lowest (47.39). The statistically significant causes are their parent relationships, their mother’s health, financial problems, sibling relationships, and their classmate relationships (P< 0.05).

J Psychiatr Assoc Thailand 1996 ; 41(2) :

Keywords : stress, HOS, nursing students

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine Srinakharinwirot University

** Pedriatric Nursing Department, Kaukaroon College of Nursing

ความเครียดของนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย

วันเพ็ญ หวังวิวัฒน์เจริญ พ.บ.*
สาระ มุขดี ศศม. (จิตวิทยาการปรึกษา)**

ผู้วิจัยทำการศึกษาระดับความเครียดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดของนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ปีการศึกษา 2538-2539 จำนวน 613 คน โดยใช้แบบสอบถาม Health Opinion Survey (HOS) พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของนักศึกษาพยาบาลเท่ากับ 46.67 นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดมากที่สุดคือ 47.83 และนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดน้อยที่สุดคือ 47.39 จากการวิเคราะห์ทางสถิติหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล โดยวิธี analysis of variance พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดในนักศึกษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< 0.05) ได้แก่ ความสัมพันธ์กับบิดา มารดา สุขภาพของมารดาและการเสียชีวิตของมารดา ปัญหาด้านการเงิน สัมพันธภาพระหว่างพี่น้อง และสัมพันธภาพกับเพื่อน

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539 ; 41(2) : 78-86.

คำสำคัญ ความเครียด, HOS, นักศึกษาพยาบาล

* ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

** ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์

บทนำ

วิชาชีพพยาบาล เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความปลอดภัยของผู้ที่มาขอรับบริการ1,2 การศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์จึงเป็นระบบการศึกษาที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดต่อนักศึกษาได้สูง ผู้ที่เรียนในสาขาวิชาชีพพยาบาลจะต้องมีพื้นฐานความรู้อย่างดี มีความอดทน เสียสละ ในสภาพสังคมปัจจุบัน ปัญหาการระบาดของโรคร้ายแรงทำให้บุคลากรในทีมสุขภาพต้องมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็นลำดับ นักศึกษาพยาบาลต้องปรับตัวให้ทันต่อสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคม โดยที่ช่วงวัยของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย การที่ต้องเข้ามารับผิดชอบกับชีวิต ความเจ็บไข้ ล้วนก่อให้เกิดปัญหากับผู้เรียนได้ทั้งสิ้น

ภารกิจหลักของวิทยาลัยพยาบาล คือ การผลิตพยาบาลที่มีความรู้ ความสามารถรับผิดชอบต่อสังคม เปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรมในการให้บริการแก่ประชาชน การศึกษาในวิชาชีพพยาบาล นักศึกษาต้องศึกษาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ต้องฝึกให้การพยาบาลผู้ป่วยในสถานการณ์จริง ฝึกฝนการทำงานร่วมกับบุคลากรในทีมสุขภาพ การฝึกภาคปฏิบัติบนหอผู้ป่วยของนักศึกษาพยาบาล ทั้งเวรเช้า บ่ายและดึก เผชิญกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการตัดสินใจและทักษะต่างๆ วิทยาลัยพยาบาลต้องจัดสภาพการเรียนการสอนที่เหมาะสมให้กับนักศึกษาเพื่อให้ได้บัณฑิตทางการพยาบาลที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ สภาพแวดล้อมเหล่านี้มีส่วนทำให้นักศึกษาพยาบาลเกิดความเครียดได้สูง

หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตของวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ใช้เวลาเรียนรวม 4 ปีเต็ม สถานที่เรียนมี 2 แห่ง คือ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์หลังโรงพยาบาลวชิระ และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ หลังโรงพยาบาลกลาง

การเรียนชั้นปีที่ 1 เป็นการเรียนพื้นฐานวิชาชีพ ประกอบด้วยวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา จุลชีววิทยา ปาราสิตวิทยา เภสัชวิทยา ในปลายปีที่ 1 นักศึกษาพยาบาลจะเริ่มขึ้นฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยเพื่อฝึกทักษะทางการพยาบาล

การเรียนในชั้นปีที่ 2 เป็นชั้นปีที่เรียนเนื้อหาหนักไปทางด้านการพยาบาล การฝึกปฏิบัติพยาบาล และการเรียนในชั้นเรียน มีน้ำหนักเท่าเทียมกัน

การเรียนในชั้นปีที่ 3 เป็นการเรียนในเนื้อหาวิชาการพยาบาลเฉพาะสาขา ศึกษาทางด้านอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ การพยาบาลเด็ก การพยาบาลผู้สูงอายุ สาธารณสุข การพยาบาลจิตเวช การพยาบาลแม่และเด็ก

การเรียนในชั้นปีที่ 4 เป็นการเรียนเน้นหนักทางสูติศาสตร์ นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติภายในห้องคลอด ต้องมีประสบการณ์ด้านการคลอด ศึกษาลึกซึ้งทางด้านการพยาบาลสาธารณสุข การรักษาเบื้องต้น การสัมมนาทางการพยาบาลนักศึกษาจะต้องออกฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนเป็นการเตรียมนักศึกษาก่อนจบการศึกษา

ลักษณะการเรียนการสอนดังกล่าว จะเห็นได้ว่านักศึกษาในแต่ละชั้นปีต้องเรียนหนักกว่านิสิตนักศึกษาในสาขาอื่น ๆ ในภาคฤดูร้อนนักศึกษาพยาบาลจะต้องใช้เวลาในการฝึกภาคปฏิบัติเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อเป็นการเสริมทักษะทางด้านการพยาบาลทุกปีการศึกษา

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาระดับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลแต่ละชั้นปี

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียด เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้นักศึกษาเกิดความเครียดมากขึ้นจนเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต

3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียด และข้อมูลส่วนบุคคล

วัสดุและวิธีการ

1. กลุ่มประชากร เป็นนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ปีการศึกษา 2538-2539 ชั้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 จำนวน 613 คน

2. แบบสอบถาม

ส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลส่วนบุคคล และปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเครียด

ส่วนที่ 2 แบบสอบถาม Health Opinion Survey เป็นแบบสอบถามที่สร้างขึ้นโดย McMillan3 ในปี ค.ศ.1957 เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale) วัดระดับความเครียดด้วยวิธี subjective report ซึ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดระดับความเครียดที่ Army’s Neuropsychiatric Screening เป็นแบบสอบถามที่ประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับอาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ถูกทดสอบเมื่อมีความเครียดจำนวน 20 ข้อ ได้คะแนนตั้งแต่ 20 คะแนน จนถึง 60 คะแนน นำมาเปรียบเทียบเป็นค่าความเครียดของแต่ละคน โดยถือว่าผู้มีคะแนนรวมสูงจะมีความเครียดมากกว่าผู้ที่ได้คะแนนรวมต่ำกว่า

HOS เป็นเครื่องมือที่สั้น ใช้ง่าย ตรงตามวัตถุประสงค์และเชื่อถือได้ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงบรรจง สืบสมาน นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และได้ปรับปรุงให้เป็นภาษาไทยเพื่อใช้วัดระดับความเครียดของนิสิตแพทย์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมามีการนำแบบสอบถาม HOS มาใช้ในการศึกษาระดับความเครียดของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย4-11

3. วิเคราะห์ทางสถิติหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล โดยวิธี analysis of variance ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for MS Window Release 6.0

ผลการศึกษา

จากการแจกแบบสอบถามให้กับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 670 คน ได้รับแบบสอบถามที่สมบูรณ์กลับคืนมาทั้งหมด 613 คน คิดเป็นร้อยละ 91.49 ซึ่งจำแนกดังนี้

ชั้นปีที่ 1 จำนวน 172 คน จาก 184 คน (ร้อยละ 93.48)

ชั้นปีที่ 2 จำนวน 145 คน จาก 164 คน (ร้อยละ 88.41)

ชั้นปีที่ 3 จำนวน 172 คน จาก 176 คน (ร้อยละ 97.33)

ชั้นปีที่ 4 จำนวน 124 คน จาก 146 คน (ร้อยละ 84.93)

คะแนนความเครียดของนักศึกษาพยาบาลแต่ละชั้นปีดังตารางที่ 1 เมื่อนำค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดจำแนกตามชั้นปีมาวิเคราะห์เปรียบเทียบทางสถิติ พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดระหว่างชั้นปีการศึกษา

ตารางที่ 1 แสดงค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดจาก HOS ของนักศึกษาพยาบาลแต่ละชั้นปี

นักศึกษาพยาบาล คะแนนความเครียดจาก HOS

X SD N

ปีที่ 1 47.76 4.67 172

ปีที่ 2 47.39 4.92 145

ปีที่ 3 47.70 5.32 172

ปีที่ 4 47.83 4.83 124

F = 0.224 P = 0.879

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดกับนักศึกษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่

ความสัมพันธ์ของนักศึกษากับบิดามารดา ความสัมพันธ์กับเพื่อน ความสัมพันธ์กับพี่น้อง สุขภาพ

ของมารดา และการเสียชีวิตของมารดา และปัญหาด้านการเงินดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลส่วนบุคคล F-test P VALUE (p<0.05)

1. สถานภาพการสมรสของบิดา-มารดา 1.406 0.239 NS

2. สุขภาพของบิดา 0.350 0.705 NS

3. สุขภาพของมารดา 4.007 0.018 S

4. ปัญหาเรื่องที่พัก 0.635 0.426 NS

5. การสูบบุหรี่ 2.090 0.149 NS

6. การเดินทางมาเรียน 0.025 0.875 NS

7. ปัญหาด้านการเงิน 3.249 0.039 S

8. การได้รับทุนการศึกษา 0.303 0.582 NS

9. การดื่มสุรา 3.846 0.050 NS

10. การมีโรคประจำตัว 2.639 0.105 NS

11. ปัญหาเรื่องห้องสมุด 2.459 0.117 NS

12. การสามารถคุยกับเพื่อนที่ไว้ใจได้ 1.819 0.178 NS

13. การมีกิจกรรมนอกหลักสูตร 0.088 0.767 NS

14. ความสัมพันธ์กับบิดามารดา 5.002 0.002 S

15. ความสัมพันธ์กับอาจารย์ 1.589 0.190 NS

16. ความสัมพันธ์กับเพื่อน 4.672 0.009 S

17. ความสัมพันธ์กับพี่น้อง 3.151 0.043 S


บทวิจารณ์

จากการวิจัยนี้พบว่าในปีการศึกษา 2538 - 2539 ระดับความเครียดของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียด เท่ากับ 47.67 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของประชากรกลุ่มอื่น ตามตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของประชากรกลุ่มอื่น

ประชากร

ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียด

ประชาชนทั่วไป (มาร์วิน ไฟร์สโตน4 )

35.6

ทหารปกติ (วิศาล ศรีโพธิ์ทองนาค5 )

34.9

ตำรวจในกรุงเทพมหานคร (อัมพร โอตระกูล6 )

34.6

ประชาชนในจังหวัดชลบุรี (ส่งศรี จัยสิน7 )

34.4

นักเรียนแพทย์ทหารวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏ (พรยุทธ ปรีชายุทธและคณะ8 )

32.4

นักเรียนชั้นประถมศึกษาและ มัธยมศึกษา (บรรจง สืบสมาน9 )

31.9

นักศึกษาเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล (กุลนารี สิริสาลี10 )

31.8

นิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (รัชนี อัศวรุ่งนิรันดร์11 )

29.4

เมื่อแยกพิจารณาค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของนักศึกษาพยาบาลแต่ละชั้นปีพบว่านักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดสูงที่สุด (47.83) อาจจะเป็นผลจากการจัดการเรียนในชั้นปีที่ 4 ให้นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติทางด้านสูติศาสตร์ มีรายงานและวิชาใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการค้นคว้ามากกว่าการศึกษาในชั้นปีอื่น ๆ ตลอดทั้งความไม่มั่นใจในความสามารถของตนเองที่จะต้องจบออกไปปฏิบัติงานตามลำพัง

นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดสูงเป็นอันดับสอง (47.76) อาจเนื่องมาจากการที่นักศึกษายังใหม่ต่อการปรับตัวเรียนในระดับอุดมศึกษา แม้วิชาต่าง ๆ ที่นักศึกษาเรียนส่วนใหญ่ในชั้นปีที่ 1 จะเป็นวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ตามปัญหาการปรับตัวต่อสภาพสังคมใหม่ของนักศึกษายังเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเครียดในระดับสูงให้กับนักศึกษา จากการสำรวจภูมิลำเนาของนักศึกษาในชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2538-2539 พบว่านักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 จำนวน 165 คน มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด การเรียนในวิทยาลัยพยาบาลนักศึกษาจึงต้องเช่าหอพักในบริเวณใกล้เคียงวิทยาลัย บางรายพักอยู่กับญาติและเดินทางมาเรียนเนื่องจากวิทยาลัยไม่สามารถจัดหอพักให้นักศึกษาอยู่ได้พอเพียง การปรับตัวกับรุ่นพี่ในชั้นปีที่สูงกว่าก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาเกิดความเครียดได้สูง12,13

สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 มีค่าเฉลี่ยของระดับความเครียดสูงเป็นอันดับสาม (47.69) เนื่องจากการเรียนในชั้นปีที่ 3 นักศึกษาพยาบาลต้องเรียนเน้นหนักทางด้านการพยาบาลทุกสาขา เนื้อหาวิชาค่อนข้างมากต้องใช้เวลาในการฝึกภาคปฏิบัติบนหอผู้ป่วยเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ เรียนทฤษฎีเต็ม 2 วันต่อสัปดาห์ วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ นักศึกจะได้หยุด 3 วัน ต่อ 2 สัปดาห์ การเรียนการสอนเน้นทางด้านทฤษฎี ปฏิบัติและการฝึกฝนให้นักศึกษาได้ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้กิจกรรมของนักศึกษา ส่วนใหญ่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ต้องเป็นผู้ดำเนินการเกือบทั้งสิ้น นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 จะเริ่มส่งมอบงานกิจกรรมให้นักศึกษาปี 3 เป็นผู้จัดทำ ปัจจัยเหล่านี้จึงอาจทำให้นักศึกษาเกิดความเครียด

นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 มีค่าเฉลี่ยของความเครียดน้อยที่สุด (47.38) อาจเนื่องจาก นักศึกษาผ่านการปรับตัวมาจากชั้นปีที่ 1 และเริ่มที่จะเข้าสูการเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ ปรับตัวต่อสภาพสังคมภายในวิทยาลัย ปรับตัวต่อสภาพการเรียน การขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตการเรียนในวิชาชีพพยาบาล

แต่เมื่อนำค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของแต่ละชั้นปีมาเปรียบเทียบทางสถิติ พบว่าไม่มี

ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P<0.05) แสดงว่าแต่ละชั้นปีมีความเครียดจากสาเหตุต่าง ๆ กัน แต่ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดออกมาใกล้เคียงกัน

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดและความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียด และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีผลทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

1. ความสัมพันธ์กับบิดามารดา นักศึกษาพยาบาลที่มีความสัมพันธ์ดีมากกับบิดามารดามี 418 คน มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดเท่ากับ 48.091+4.845 นักศึกษาพยาบาลที่มีความสัมพันธ์ดีกับบิดามารดามี 171 คน ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดเท่ากับ 47.00+4.996 นักศึกษาพยาบาลที่มีความสัมพันธ์พอใช้กับบิดามารดามี 22 คน ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดเท่ากับ 44.636+4.962 และนักศึกษาพยาบาลที่มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับบิดามารดามี 2 คน ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดเท่ากับ 49.500+ 2.121

เมื่อนำมาคิดทางสถิติพบว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างนักศึกษาพยาบาลและบิดามารดาทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) อธิบายได้ว่านักศึกษาพยาบาลเป็นวัยรุ่นตอนปลาย (17-20 ปี) การมีความสัมพันธ์ไม่ดีกับบิดามารดาทำให้เกิดความเครียดและก่อให้เกิดโรคทางจิตเวช14 ได้แก่ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ โรคประสาทวิตกกังวล โรคซึมเศร้าซึ่งแสดงออกด้วยพฤติกรรมเกเร หนีเรียน การเรียนตกต่ำ ดังนั้น เมื่อพบว่านักศึกษามีการเรียนเลวลง ควรได้คำนึงถึงสาเหตุนี้ และให้คำปรึกษากับนักศึกษาและบิดามารดาเพื่อแก้ไขความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

2. สุขภาพของมารดาและการเสียชีวิตของมารดา มารดาเป็นผู้คอยดูแลทุกข์สุข ให้ความรักกำลังใจและเงินทอง เมื่อสุขภาพมารดาไม่ดีหรือมารดาเสียชีวิต ทำให้ขาดในจุดนี้ก่อให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้นได้

3. ความสัมพันธ์กับเพื่อน ชีวิตวัยรุ่นเรื่องเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ15 เขาต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ชอบทำกิจกรรมกับเพื่อน จะเห็นว่าวัยรุ่นจำนวนมากมีพฤติกรรมเกเร หนีเรียน ติดยาเสพติด ก็เพราะคบเพื่อนไม่ดี เพื่อนชวน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ทำให้เกิดความสบายใจ อุ่นใจ ได้พูดคุยปัญหา ได้ระบายความเครียด และยังได้ช่วยกันเรียน ซึ่งสำหรับนักศึกษาพยาบาลนั้น การขึ้นปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย ต้องขึ้นเป็นกลุ่มกับเพื่อนในชั้นปีเดี่ยวกัน ช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจึงช่วยให้เมื่อมีปัญหาในการทำงานเกิดขึ้นจะปรับความเข้าใจกันได้โดยง่าย ก่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ความเข้าใจและคะแนนการเรียนก็ดีไปด้วย

4. ความสัมพันธ์กับพี่น้อง เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่น้อง ซึ่งมักจะเป็นวัยไล่เลี่ยกัน เวลามีปัญหาปรึกษาก็มักจะเข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้ดีทำให้มีที่ปรึกษา เป็นการลดความเครียด

5. ปัญหาด้านการเงิน เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดกับนักศึกษาพยาบาลได้สูง เนื่องจากนักศึกษาพยาบาลในชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ไม่สามารถเข้าอยู่ในหอพักของวิทยาลัยได้ ต้องเช่าหอพักของเอกชนในบริเวณใกล้เคียงกับวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นค่าหอพักเฉลี่ย 900 - 1800 บาท ต่อเดือนต่อคน ประกอบกับนักศึกษาพยาบาลส่วนใหญ่ของวิทยาลัยมาจากต่างจังหวัดจำเป็นต้องมีที่พักในกรุงเทพฯ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาทางด้านการเดินทางมาเรียนในตอนเช้า นอกจากนี้นักศึกษายังต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว นักศึกษากำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นการใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตัว ซึ่งปัจจุบันค่านิยมของวัยรุ่นมักนิยมของใช้ราคาแพง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดกับนักศึกษา และอาจทำให้การเรียนเลวลง ดังเช่นที่ Okasha และคณะ16 ศึกษาในปี 1985 พบว่านักศึกษาที่มีปัญหาการเรียนมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำ วิธีการแก้ปัญหาจึงต้องมีการจัดทุนการศึกษา และแจ้งให้นักศึกษาทราบ เพื่อได้ขอทุนการศึกษาเป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการเงินลง

สรุป

1. ค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์เท่ากับ 47.67

2. ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียดระหว่างชั้นปี

3. สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดของนักศึกษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่

- ความสัมพันธ์กับบิดามารดา

- สุขภาพของมารดาและการเสียชีวิตของมารดา

- ความสัมพันธ์กับเพื่อน

- ความสัมพันธ์กับพี่น้อง

- ปัญหาทางด้านการเงิน

ซึ่งจะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดของนักศึกษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นปัญหาส่วนตัวมากกว่าจากสถาบันที่ศึกษา

กิติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณพันเอกพิเศษ แพทย์หญิงบรรจง สืบสมาน (วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า) ที่ได้กรุณาให้คำแนะนำและอนุญาตให้นำแบบสอบถาม HOS มาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ขอขอบคุณคุณอรุณี บัวเร่งเทียนทอง หน่วยจุฬาชนบท มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

เอกสารอ้างอิง

1. นงคราญ ผาสุข, เฉลิมศรี นันทวรรณ. ภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรพยาบาล ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. วารสารสมาคมจิตแพทย์แแห่งประเทศไทย 2529; 31: 7-13.

2. บุญเพียร จันทวัฒนา, จังหวะชีวภาพกับการพยาบาล. วารสารพยาบาล 2523; 4: 24.

3. Mc Millan A. The health opinion survey:technique for estimating prevalence of psychoneurotic and related types of disorder in communities. Psychological Report 1957; 3: 325-39.

4. มาร์วิน ไฟร์สโตน, ฝน แสงสิงแก้ว. การสำรวจคนไข้จิตเวชที่แม่สะเรียง. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2522; 24: 121-33.

5. วิศาล ศรีโพธิ์ทองนาค, สายันต์ สวัสดิ์ศรี “การศึกษาความเครียดในทหารทุพพลภาพ” รายงานการศึกษาเพื่อปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า 2523.

6. อัมพร โอตระกูล, เจตน์สันต์ แดงสุวรรณ.การศึกษาความเครียดของตำรวจในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารสาธารณสุขศาสตร์ 2526; 13: 175-83.

7. ส่งศรี จัยสิน, จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ, เรไร ทีวะทัศน์, สุภาภรณ์ ทองดาว, จันทนา ชูบุญราษฎร. การสำรวจสภาวะสุขภาพจิตของประชาชน จังหวัดชลบุรี. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2531; 33: 119-27.

8. พรยุทธ ปรีชายุทธ, ชุมพล สมพงษ์. การศึกษาความเครียดในนักเรียนแพทย์ทหารโดยใช้ Health Opinion Survey Technique. รายงานการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วิทยาศาสตร์การแพทย์) วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า 2522.

9. Seupsaman B. The study of stress in Thai children: Epidermiological study of school children in Bangkok, Thailand. Dr.P.H. Thesis in Mental Health, University of North Carolina 1973.

10. กุลนารี สิริสาลี, อุไรรัตน์ สุบรรณวิลาส, บังอร ณ พัทลุง, รัตนา ฤทธิมัต. ความเครียดของนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล. วารสารเทคนิคการแพทย์ 2532; 17: 157-60.

11. รัชนี อัศวรุ่งนิรันดร์, วันเพ็ญ หวังวิวัฒน์เจริญ. ความเครียดของนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วชิรเวชสาร 2536; 37: 113-8.

12. สัมพันธ์ หิญธีระนันท์, สุทธิรัตน์ พิมพ์พงศ์, ปริศนา ภูวนันท์, บรรจง คำหอมกุล. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความถนัดและบุคลิกภาพบางประการที่ส่งผลต่อการปฏิบัติพยาบาลของนักศึกษาพยาบาลในประเทศไทย. รายงานการวิจัยโดยทุนอุดหนุนของสภาวิจัยแห่งชาติ 2529-2531.

13. ธีรวัฒน์ นิจเนตร. สภาพเชิงจิตสังคมในโรงเรียนกับสุขภาพจิตของนักเรียนวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร. รายงานการศึกษาปริญญานิพนธ์ การศึกษาดุษฎีบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2526.

14. Kaplan HI, Saddock BJ. Synopsis of psychiatry. 7th edition. Baltimore; Williams & Wilkins 1994: 54.

15. ดวงใจ กสานติกุล. วัยรุ่น. ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536: 838.

16. Okasha A, Kamel M, Lotaif F, Khalil AH, Bishy Z.Academic difficulty among male Egyptian University students: Associations with demographic and psychological factors. Br J Psychiatry 1985; 146: 146-50.

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us