เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


การให้การปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเลือดเพื่อการติดเชื้อเอดส์ในหญิงอาชีพพิเศษ จังหวัดเชียงราย 300 คน

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พ.บ. *

* โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ เชียงราย 57000

ศึกษาการให้การปรึกษาหญิงอาชีพพิเศษในจังหวัดเชียงราย 300 ราย ระหว่าง 1 พฤษภาคม 2535 ถึง 16 เมษายน 2536 โดยบุคลากรจากศูนย์ความร่วมมือการวิจัยโรคเอดส์ ภายใต้การอบรมและนิเทศโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นประจำทุกเดือน พบว่ามีผลเลือดบวกเอดส์ 102 ราย (ร้อยละ 34) มีผู้ได้รับการปรึกษาก่อนตรวจเลือด 255 ราย (ร้อยละ 85) ปฏิกิริยาที่พบมากที่สุดคือ กลัว เสียใจ หรือไม่รู้สึกอะไร มีผู้ได้รับการปรึกษาเพื่อแจ้งผลเลือดบวกเอดส์ 80 ราย (ร้อยละ 26.7) ปฏิกิริยาที่พบมากที่สุดคือเสียใจ ไม่รู้สึกอะไร หรือยอมรับ ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ให้การปรึกษาคือความไม่มั่นคงในการบอกข้อมูลข่าวร้ายและความไม่มั่นคงในหน้าที่ของตนเอง

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539 ; 41(1) ; 31-44.

คำสำคัญ เอดส์ การให้การปรึกษา หญิงอาชีพพิเศษ การนิเทศ

บทนำ

การให้การปรึกษาผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการระบาดของเชื้อเอดส์ เป็นทั้งการป้องกันปฐมภูมิและทุติยภูมิ กล่าวคือลดการติดเชื้อในประชากรทั่วไปและช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองตามสมควร1,2,3 อีกทั้งเป็นกลวิธีหนึ่งของแผนป้องกันและควบคุมโรคเอดส์แห่งชาติ 2535-25393,4,5 ซึ่งเน้นให้มีการให้การปรึกษาทั้งก่อนและหลังตรวจเลือดโดยสมัครใจ3,6,7 แต่เนื่องจากผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากเกินกำลังของบุคลากรสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องฝึกอบรมบุคลากรหรือหน่วยงานอื่นให้สามารถให้การปรึกษาเป็นโดยมีการติดตามนิเทศ อย่างสม่ำเสมอ 5,8,9

จากสถิติปี 2535 จังหวัดเชียงรายมีอัตราการแพร่ระบาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ3 เพราะมีการแพร่เชื้อผ่านทางหญิงอาชีพพิเศษที่มีอยู่จำนวนมากในจังหวัด10 ในเดือนกันยายน 2534 จังหวัดเชียงรายมีหญิงอาชีพพิเศษ 1,374 คนทำงานในสถานบริการ 184 แห่ง11 และพบว่าในเดือนธันวาคม 2535 มี sentinel surveillance ในหญิงอาชีพพิเศษตรง (direct prostitute) ร้อยละ 50.0 ในหญิงอาชีพพิเศษแอบแฝง (indirect prostitute) ร้อยละ 8.512 (ดูรายละเอียดในแผนภูมิที่ 1)

การให้การปรึกษาแก่หญิงอาชีพพิเศษจังหวัดเชียงรายโดยบุคลากรที่ผ่านการอบรมและได้รับการติดตามนิเทศ อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกลวิธีสำคัญในการป้องกันการระบาดของเอดส์ในจังหวัดเชียงราย8 รายงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการให้การปรึกษาทั้งต่อหญิงอาชีพพิเศษและบุคลากรผู้ให้การปรึกษา เน้นถึงข้อดีและความจำเป็นของการติดตามนิเทศอย่างสม่ำเสมอ

วัสดุและวิธีการ

ชมรมส่งเสริมสุขภาพเชียงรายเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ และศูนย์ความร่วมมือการวิจัยโรคเอดส์ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ในจังหวัดเชียงรายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 ชมรมฯ มีการศึกษาในหญิงอาชีพพิเศษที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิก โดยมีบริการให้สุขศึกษา ตรวจร่างกายและรักษาโรค พร้อมทั้งบริการให้การปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเลือดเอดส์ รายงานนี้ได้ศึกษาหญิงอาชีพพิเศษที่เป็นสมาชิกของชมรมนี้ 300 รายแรก ระหว่าง 1 พฤษภาคม 2535 ถึง 16 เมษายน 2536 ตรวจเลือดเอดส์ด้วยวิธี ELISA และยืนยันด้วยวิธี western blot มีขั้นตอนสรุปดังนี้

1. เตรียมบุคลากรของชมรมฯ จำนวน 6 คน ทั้งหมดเป็นเพศหญิง อายุ 26-40 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ บริหารสาธารณสุข เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์ รับการอบรมการให้การปรึกษาผู้ติดเชื้อเอดส์จากผู้รายงาน โดยใช้แนวทางจากเอกสารการให้การปรึกษาผู้ติดเชื้อ HIV ของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์13 และคู่มือการให้การปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์ ของ ดร.จีน แบรี่14

2. เตรียมแบบบันทึกการให้การปรึกษาก่อนและหลังตรวจเลือดเอดส์ โดยใช้แนวทางของคู่มือการให้การปรึกษาก่อนและหลังตรวจเลือดที่ทดสอบการติดเชื้อเอดส์ ของกองป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร6 และบทความเอดส์ในแง่มุมทางจิตเวช ของ น.พ.ไพรัตน์ พฤกษชาติคุณากร15 ลักษณะของแบบบันทึกเป็นแบบเปิดกว้างเพื่อความคล่องตัวต่อการทำงานในลักษณะ client-centered counselling9 รายละเอียดของแบบบันทึก ดูในภาคผนวก 1 และ 2

3.ลงมือปฏิบัติงานพร้อมทั้งส่งบุคลากรหมุนเวียนไปรับการอบรมเพิ่มเติมจากหลักสูตรการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการให้การปรึกษาเกี่ยวกับโรคเอดส์ ในโครงการ Multidisciplinary programme on AIDS ศูนย์วิจัยการวางแผนครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

4. มีการติดตามนิเทศ เป็นประจำทุกเดือนโดยผู้รายงาน หรือนักจิตวิทยา จากโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ บันทึกรายงานการประชุมนิเทศด้วยเทปบันทึกเสียง

5. รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบบันทึกและเทปบันทึกเสียง เพื่อศึกษาปฏิกิริยาต่อการให้การปรึกษาของหญิงอาชีพพิเศษ และผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของผู้ให้การปรึกษา รายงานผลเป็นค่าร้อยละและเชิงพรรณา

ผลการศึกษา

ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของหญิงอาชีพพิเศษ

พบว่าส่วนใหญ่อายุ 14-18 ปี (ร้อยละ 29.3) และอายุ 19-23 ปี (ร้อยละ 26.3) การศึกษาระดับประถมปลาย (ร้อยละ 52) ไม่เคยสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย (ร้อยละ79) ปัจจุบันไม่มีคู่นอนประจำ (ร้อยละ 77) เป็นหญิงอาชีพพิเศษตรง (ร้อยละ 59) และภูมิลำเนาจังหวัดเชียงราย (ร้อยละ 84) รายละเอียดดูตารางที่ 1

ส่วนที่ 2 ผลเลือดและปฏิกิริยาต่อการให้การปรึกษาของหญิงอาชีพพิเศษ

1. นับถึง 16 เมษายน 2536 หญิงอาชีพพิเศษจำนวน 300 ราย มีผลเลือดบวกเอดส์ 102 ราย (ร้อยละ 34) ผลเลือดลบ 197 ราย (ร้อยละ 65.7) และผลก้ำกึ่ง 1 ราย (ร้อยละ 0.3)

2. มีผู้ได้รับการปรึกษาก่อนตรวจเลือด 255 ราย (ร้อยละ 85) ไม่ได้รับการปรึกษาก่อนตรวจเลือด 45 ราย (ร้อยละ 15) เวลาที่ใช้ในการให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือดเฉลี่ยเท่ากับ 19.9? 7.3 นาที (n=234)

3. ในหญิงอาชีพพิเศษที่ได้รับการปรึกษาก่อนตรวจเลือด 255 ราย มีผู้ได้รับการให้การปรึกษาเพื่อแจ้งผลเลือดบวก 80 ราย เพื่อแจ้งผลเลือดลบ 122 ราย และยังไม่มาฟังผลเลือด 53 ราย ส่วนหญิงอาชีพพิเศษที่ไม่ได้รับการปรึกษาก่อนตรวจเลือด 45 ราย มีผู้ได้รับการให้การปรึกษาเพื่อแจ้งผลเลือดบวก 10 ราย เพื่อแจ้งผลเลือดลบ 10 ราย และไม่มีข้อมูล 25 ราย

4. จากข้อ 3 มีผู้ได้รับการปรึกษาหลังตรวจเลือดรวม 222 ราย (ร้อยละ 74) ไม่ได้รับการปรึกษาหลังตรวจเลือด 78 ราย (ร้อยละ 36) ระยะห่างระหว่างวันที่ให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือดและหลังตรวจเลือดเฉลี่ยเท่ากับ 9.9 ? 8.9 สัปดาห์ (n=192) เวลาที่ใช้ในการให้การปรึกษาหลังตรวจเลือดเพื่อแจ้งผลเลือดบวกเฉลี่ยเท่ากับ 22.5 ? 9.4 นาที (n=77) เพื่อแจ้งผลเลือดลบเฉลี่ยเท่ากับ 13.6 ? 5.8 (n=132)

5. ในการให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือด ถามว่าถ้าสมมุติรู้ว่าติดเชื้อเอดส์จะมีความรู้สึกอย่างไร ได้รับคำตอบ 205 ราย พบว่าร้อยละ 22.4 รู้สึกกลัว ร้อยละ 16.6 รู้สึกเสียใจ ร้อยละ 12.7 ไม่รู้สึกอะไร มีผู้ตอบว่าจะแพร่เชื้อก่อนตาย 2 ราย เท่ากับร้อยละ 0.9 รายละเอียดดูในแผนภูมิที่ 2

6. ในการให้การปรึกษาเพื่อแจ้งผลเลือดบวก ถามว่าหลังจากที่รู้ว่าติดเชื้อเอดส์แล้วมีความรู้สึกอย่างไร ได้รับคำตอบ 71 ราย พบว่าร้อยละ 23 รู้สึกเสียใจ ร้อยละ 18.3 ไม่รู้สึกอะไร ร้อยละ 12.7 ตอบว่ายอมรับและทำใจได้ มีผู้ตอบว่ามีความคิดฆ่าตัวตาย 3 ราย เท่ากับร้อยละ 4.2 รายละเอียดดูในแผนภูมิที่ 3

7. คำถามก่อนยุติการให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือด ส่วนใหญ่เป็นคำถามเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเอดส์เลย ตัวอย่างคำถามที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเอดส์ เช่น สามีขอคืนดีด้วยจะทำอย่างไร เลือดออกทางช่องคลอดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ควรทำอย่างไร หรือประจำเดือนขาดควรทำอย่างไร เป็นต้น

8. คำถามก่อนยุติการให้การปรึกษาหลังตรวจเลือด ส่วนใหญ่เป็นคำถามเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อหรือเป็นคำถามเกี่ยวกับการรักษาและพยากรณ์โรค ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับการรักษาและพยากรณ์โรค เช่น จะมีชีวิตอยู่อีกกี่ปี ตายแน่นอนใช่หรือไม่ ขณะที่ตายมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น

รายละเอียดดูในแผนภูมิที่ 4

ส่วนที่ 3 การติดตามนิเทศผู้ให้การปรึกษา

พบว่าผู้ให้การปรึกษาทุกคนมีความสนใจและเข้าร่วมประชุมนิเทศทุกครั้งตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปี สนใจซักถาม เตรียมกรณีศึกษาและเต็มใจให้ผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์ มีประเด็นที่ได้รับการถกเถียงอภิปรายซ้ำๆ หลายเรื่อง ได้แก่ ไม่มีความมั่นคงในการแจ้งผลเลือดบวก ไม่มีความมั่นคงในการบอกพยากรณ์โรค มีความสงสัยในความจำเป็นที่จะต้องสอบถามและสำรวจความคิดฆ่าตัวตาย มีความกระอักกระอ่วนใจในการพูดถึงเพศสัมพันธ์โดยการใช้ถุงยางอนามัย ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในการปิดบังความจริงต่อคู่ครอง มีความลำบากใจที่จะพูดถึงการทำแท้ง มีความลำบากใจที่จะพูดถึงประเด็นที่บุตรของผู้ติดเชื้ออาจเป็นเด็กกำพร้าในวันข้างหน้า รีบร้อนให้ข้อมูลโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อระบายความในใจ ขาดทักษะในการสัมภาษณ์ประวัติส่วนตัวหรือประวัติครอบครัว รู้สึกไม่มั่นคงและหงุดหงิดเมื่อผู้ติดเชื้อเงียบ-ไม่ตอบสนองต่อการให้การปรึกษา และรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อผู้ติดเชื้อไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ พบว่าระหว่างการนิเทศไม่มีบุคลากรคนใดแสดงอาการเบื่อหน่ายที่จะปฏิบัติงานให้การปรึกษาต่อไป

วิจารณ์

การศึกษานี้ทำในหญิงอาชีพพิเศษที่เป็นสมาชิกชมรมส่งเสริมสุขภาพ 300 รายแรก ทำให้การเก็บข้อมูลในผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ไม่สมบูรณ์ มีข้อมูลขาดหายไป 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.3 ลักษณะแบบบันทึกเป็นแบบเปิดกว้างเพราะยังไม่มีแบบสอบถามมาตรฐานในการศึกษาเช่นนี้ แต่แบบบันทึกแบบเปิดกว้างนี้มีประโยชน์ทำให้ผู้ให้การปรึกษาสามารถทำงานบริการได้คล่องตัว และปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้การปรึกษาได้ตามการศึกษา ภาษา วัฒนธรรมและบทบาททางเพศของหญิงอาชีพพิเศษได้9

หญิงอาชีพพิเศษส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและการศึกษาน้อย ผู้ให้การปรึกษาจึงต้องคำนึงถึงจิตวิทยาพัฒนาการของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการทำแท้งและความต้องการมีบุตร16, 17 มัลลิกา ตั้งเจริญ ศึกษาหญิงอาชีพพิเศษ 218 รายในจังหวัดเชียงรายพบว่า อายุ การศึกษา และรายได้ มีความสัมพันธ์ทางตรงกับการรับรู้เรื่องโรคเอดส์และความสามารถในการดูแลตนเอง โดยมีการศึกษาเป็นตัวทำนายที่ดีที่สุด18 ตัวแปรอื่นๆ ในหญิงอาชีพพิเศษเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ลำบาก หญิงอาชีพพิเศษเกือบทุกรายมีหนี้สินซึ่งไถ่คืนด้วยแรงงาน มีภาระรับผิดชอบคือบิดามารดาหรือบุตร มีคู่ครองที่ไม่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา และมีการย้ายถิ่นฐานอยู่เสมอ10,18

หญิงอาชีพพิเศษในการศึกษานี้มีทั้งตรงและแอบแฝงทำให้ได้อัตราการติดเชื้อเท่ากับร้อยละ 34 เข้ากันได้กับค่า sentinel surveillance เดือนธันวาคม 2535 ของจังหวัด คือ หญิงอาชีพพิเศษตรง เท่ากับร้อยละ 50 หญิงอาชีพพิเศษแอบแฝงร้อยละ 8.5

การให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือดมีความสำคัญเท่ากับหรือมากกว่าการให้การปรึกษาหลังตรวจเลือด การให้การปรึกษาเพื่อแจ้งผลลบมีความสำคัญเท่ากับหรือมากกว่าเพื่อแจ้งผลบวก เพราะเป็นโอกาสที่ดีที่จะป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการระบาด19, 20 เวลาที่ใช้ในการให้การปรึกษาเพื่อแจ้งผลลบจึงไม่ควรน้อยกว่าเพื่อแจ้งผลบวกดังที่ปรากฏในการศึกษานี้ ระยะห่างระหว่างวันที่ให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือดและหลังตรวจเลือดไม่ควรนานเกินไป การศึกษานี้ทำควบคู่ไปกับการบริการสมาชิกของชมรมฯ จึงไม่ได้บังคับให้มาฟังผลเลือด เป็นการมาฟังผลเลือดโดยสมัครใจหรือเมื่อมีปัญหาอื่นๆ ทำให้วันที่ให้การปรึกษาก่อนตรวจเลือดและหลังตรวจเลือดห่างกันตั้งแต่ 1 วัน ถึง 48 สัปดาห์ เฉลี่ยเท่ากับ 9.9? 8.9 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1 ถึง 4 สัปดาห์

หญิงอาชีพพิเศษที่ให้คำตอบว่ารู้สึกกลัวหลังจากรับการปรึกษาก่อนตรวจเลือด มีมากที่สุด คือ ร้อยละ 22.4 ของผู้ตอบ (มีผู้ตอบ 205 ราย) ผู้ติดเชื้อที่ให้คำตอบว่ารู้สึกเสียใจหลังจากรับการปรึกษาเพื่อแจ้งผลเลือดบวกมีมากที่สุด คือร้อยละ 23 ของผู้ตอบ (มีผู้ตอบ 71 ราย) ความกลัวว่าน่าจะหมายถึง anxiety และความเสียใจน่าจะหมายถึง depression ผู้ให้การปรึกษาจึงควรมีความสามารถอย่างดีในการดูแล anxiety และ depression21

คำตอบอื่นๆ ล้วนแสดงถึงกลไกทางจิตของผู้ติดเชื้อ แม้ว่าคำตอบหนึ่งอาจจะเป็นส่วนผสมของกลไกหลายอย่าง13 การพยายามแปลความหมายทำให้ผู้ให้การปรึกษามีความมั่นใจที่จะดูแลผู้ติดเชื้อต่อไป เช่น “ไม่รู้สึกอะไร” แสดงถึง shock หรือ denial “ไม่รู้” แสดงถึงอารมณ์หงุดหงิดหรือโกรธ “คิดว่าไม่ติด” แสดงถึง denial ค่อนข้างชัดเจน “ตกใจ” แสดงถึง shock หรือ anxiety ที่รุนแรงมากขึ้น “ยอมรับ” หรือ “แล้วแต่กรรม” อาจจะหมายความว่าผู้ติดเชื้อรับได้จริงแม้ว่ามีอารมณ์เศร้าร่วมอยู่ด้วยก็ตาม

คำถามก่อนยุติการให้การปรึกษาก็แสดงถึงกลไกทางจิตของผู้ติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง13 ชนิดของคำถามน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้จัดการอบรมการให้การปรึกษาโรคเอดส์เพื่อเตรียมตัวให้เข้าใจถึงความต้องการของผู้ติดเชื้อ

พบความคิดฆ่าตัวตายร้อยละ 4.2 ของผู้ติดเชื้อ และความคิดจะแพร่เชื้อ ร้อยละ 0.9 ของผู้ได้รับการปรึกษาก่อนเจาะเลือด ผู้ให้การปรึกษาควรมีความมั่นคงในการสำรวจความคิดฆ่าตัวตายและช่วยให้ผู้ติดเชื้อระบายความคิดที่จะแพร่เชื้ออย่างเหมาะสม

งานสุขภาพจิตจำเป็นต้องอาศัยกำลังจากบุคลากรอื่นที่ไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุขเข้าช่วยเหลือ22 ซึ่งรวมทั้งงานให้การปรึกษาผู้ติดเชื้อเอดส์ด้วย บุคลากรเหล่านี้ควรได้รับการฝึกอบรมและนิเทศอย่างสม่ำเสมอจึงจะมีเจตคติที่ดีและช่วยงานได้ 9, 23 บุคลากรทางสาธารณสุขเองก็ไม่ได้มีเจตคติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์ดีเสมอไป24

จากการนิเทศพบว่าปัญหาสำคัญของผู้ให้การปรึกษา คือ ความมั่นคง ได้แก่ความมั่นคงในบทบาท หน้าที่ และการบอกข้อมูล13 ความมั่นคงในบทบาทและหน้าที่มักจะดีเมื่อจบการนิเทศแต่ละครั้ง แต่จะถูกรบกวนเสมอเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงปฏิกิริยาต่อการให้การปรึกษาต่างๆ นา นา แสดงให้เห็นในรูปของการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อมากเกินควร การสนิทสนมกับผู้ติดเชื้อมากเกินควร การผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อผลของการให้การปรึกษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง การส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อปิดบังความจริงต่อคู่ครอง หรือการเลียนแบบผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้สึกตัว

ส่วนความมั่นคงในการบอกข้อมูลซึ่งโดยมากก็เป็นข่าวร้ายจะถูกรบกวนจากสภาวะจิตใจของผู้ให้การปรึกษาเอง ได้แก่การแจ้งผลเลือดบวก การบอกพยากรณ์โรค การพูดถึงประเด็นการทำแท้ง หรือประเด็นการกำพร้าของบุตรในวันข้างหน้า เพราะที่จริงแล้วผู้ให้การปรึกษาต้องเผชิญกับภาวะ separation และ loss ร่วมกับผู้ติดเชื้อคล้ายกับการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย25

ความมั่นคงของผู้ให้การปรึกษาจะมีมากเมื่อเข้าใจความรู้สึกของตนเองที่กำลังเผชิญกับภาวะ separation และ loss มีความรู้และเข้าใจว่าความโศกเศร้าของผู้ติดเชื้อเป็นส่วนหนึ่งของ anticipatory grief ซึ่งมีหน้าที่ลดความรุนแรงของการ shock เมื่อความตายใกล้เข้ามา25 มีความรู้ว่าบทบาทที่ตนเองต้องทำคือการแสดงความจริงใจต่อผู้ติดเชื้ออย่างถูกเวลาและสถานที่ ดูแลสภาพของผู้ติดเชื้อ และให้ความมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง25, 26

การนิเทศยังเป็นกลวิธีป้องกัน burn-out syndrome ที่จะเกิดกับผู้ให้การปรึกษา Edelwich และ Brodsky แบ่ง burn-out syndrome เป็น 4 ระยะ คือ enthusiasm- บุคลากรขยันขันแข็งและทุ่มเทให้กับงานบริการทางจิตเวชอย่างมากมายเกินสมควร stagnation- งานเริ่มช้าลงเมื่อพบว่างานที่ทุ่มเทไม่ได้ตอบสนองความต้องการของตน frustration- เมื่อบุคลากรรู้สึกถึงความจริงที่ว่าตนเองไม่สามารถดูแลผู้มารับบริการได้ทุกเรื่อง และ apathy- บุคลากรจะทำงานไปตามหน้าที่โดยขาดความกระตือรือร้นในที่สุด22 ประสบการณ์ในการนิเทศพบว่าผู้ให้ปรึกษาผ่านภาวะ enthusiasm และ frustration สลับไปมา

กิติกรรมประกาศ

ผู้รายงานขอขอบคุณบุคลากรชมรมส่งเสริมสุขภาพทั้ง 6 ท่าน ที่ได้ปฏิบัติงานให้การปรึกษาอย่างอุตสาหะรวมทั้งยังช่วยในการบันทึกข้อมูล ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ที่ช่วยแจกแจงข้อมูล ขอขอบคุณ คุณอัปษรศรี ธนไพศาล ที่ช่วยนิเทศผู้ให้การปรึกษา และขอขอบพระคุณนายแพทย์ครรชิต ลิมปกาญจนรัตน์ ศูนย์ความร่วมมือวิจัยโรคเอดส์ ที่สนับสนุนให้เขียนรายงานฉบับนี้จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

เอกสารอ้างอิง

1. ยรรยง ศุทธรัตน์. จิตเวชชุมชน. ใน: สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา และคณะ, บรรณาธิการ.

ตำราจิตเวชศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 2520: 865-71.

2. พัฒน์ สุจำนงค์, ไพรัตน์ พฤกษชาติคุณากร. ชุมชน สุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน. ใน : ไพ

รัตน์ พฤกษชาติคุณากร, บรรณาธิการ. จิตเวชศาสตร์ เล่มที่ 4. เชียงใหม่: โครงการตำรา

แพทย์เชียงใหม่, 2534: 1073-5.

3. สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาเชียงราย. สรุปผลการประชุมสัมมนาเรื่อง กลยุทธการปฏิบัติงานเพื่อต้านเอดส์จังหวัดเชียงราย 11-12 พฤศจิกายน 2535 ณ โรงแรมเวียงอินทร์

จังหวัดเชียงราย. เชียงราย, 2535: 1, 6-8, 11-2.

4. กองแผนงานสาธารณสุข. สรุปการกิจหลักที่ส่วนภูมิภาคต้องปฏิบัติเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล

ด้านสาธารณสุข และงานเร่งรัดตามแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับที่ 7 ประจำปีงบประมาณ

2536. กรุงเทพมหานคร, 2535: 17.

5. ธงชัย ทวิชาชาติ และคณะ, บรรณาธิการ. นิยามผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้มีอาการสัมพันธ์กับ

เอดส์ที่ใช้ในการเฝ้าระวังโรค. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : กองระบาดวิทยา, 2532: 25-9.

6. กองป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. คู่มือการให้คำปรึกษา

ก่อนหลังตรวจเลือดที่ทดสอบการติดเชื้อเอดส์. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร

แห่งประเทศไทยจำกัด, 2534: 1-22.

7. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์. รูปแบบการประชาสัมพันธ์เอดส์ด้วยวิชาการจิตวิทยาสังคม. ใน :

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. การประชุมฟื้นฟูวิชาการประจำปี ครั้งที่ 33, 9-13 มีนาคม

2535. กรุงเทพมหานคร: ชวนพิมพ์, 2535: 384-8.

8. บรรพต ต้นธีรวงศ์ และคณะ. รายงานการติดตามสนับสนุนและนิเทศเรื่องการให้คำปรึกษา

โรคเอดส์ พ.ศ.2534-2535. กรุงเทพมหานคร: กองฝึกอบรม, 2536 : 21-8, 50, 51.

9. Centers for Disease Control and Prevention. Technical guidance on HIV counseling.

Morbidity and Mortality Weekly Report 1993; 42: 11-7.

10. ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล และคณะ, ผู้รวบรวม. ปัญหาสาธารณสุขเขต 10 เอดส์ อุบัติเหตุ

ไอโอดีน. เชียงราย:สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงาย, 2534: 1-3, 15-6.

11. ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล และคณะ, ผู้รวบรวม. เอกสารการนำเสนอผลงานการพัฒนา

สาธารณสุข เขต 10 ปีงบประมาณ 2534 การประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข 23-25

ธันวาคม 2534 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ พัทยา จังหวัดชลบุรี. เชียงราย : สำนักงานสา

ธารณสุขจังหวัดเชียงราย, 2534: 60.

12. งานระบาดวิทยา ฝ่ายแผนงานและประเมินผล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย. รายงาน

สถานการณ์โรคเอดส์. เชียงราย, 2535.

13. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. การให้คำปรึกษาผู้ติดเชื้อ HIV. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่ง

ประเทศไทย. 2534; 36: 169-74.

14. จีน แบรี่. คู่มือการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ ฉบับร่าง. เอกสารประกอบการฝึก

อบรมผู้ให้การปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการให้คำปรึกษาแนะ

นำผู้ป่วยโรคเอดส์ แก่บุคลากรสาธารณสุข จังหวัดเชียงราย 8-13 มีนาคม 2536 ณ โรงแรมโร

สการ์เด้น สวนสามพราน นครปฐม. กรุงเทพมหานคร : สภากาชาดไทย, 2536.

15. ไพรัตน์ พฤกษชาติคุณากร. เอดส์ในแง่มุมทางจิตเวช. ใน:ไพรัตน์ พฤกษชาติคุณากร,

บรรณาธิการ. จิตเวชศาสตร์ เล่มที่ 1. เชียงใหม่: ธนบรรณการพิมพ์, 2533: 73-5.

16. Green J. Counselling and pregnancy. In: Green J, McCreaner A, eds. Counselling in

HIV infection and AIDS. Oxford: Blackwell Scientific Publications, 1989: 141-56.

17. Mok J. Pediatric HIV infection. In: Green J, McCreaner A, eds. Counselling in HIV

infection and AIDS. Oxford: Blackwell Scientific Publications, 1989: 157-66.

18. มัลลิกา ตั้งเจริญ. การรับรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์กับความสามารถในการดูแลตนเองเพื่อป้องกัน

การติดเชื้อโรคเอดส์ในหญิงอาชีพพิเศษ. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยามหิดล, 2534.

19. McCreaner A. Pre-test counselling. In: Green J, McCreaner A, eds. Counselling in HIV

infection and AIDS. Oxford: Blackwell Scientific Publications, 1989: 21-7.

20. Green J. Post-test counselling. In: Green J, McCreaner A, eds. Counselling in HIV

infection and AIDS. Oxford: Blackwell Scientific Publications, 1989: 28-68.

21. Green J. Dealing with anxiety and depression. In: Green J, McCreaner A, eds. Counselling in HIV infection and AIDS. Oxford: Blackwell Scientific publications, 1989: 174-97.

22. Aguilera DC, Messick JM. Crisis intervention theory and methodology. St. Louis: CV

Mosby, 1982: 9-11, 179-85.

23. McCreaner A. Training models. In: Green J, McCreaner A, eds. Counselling in HIV

infection and AIDS. Oxford: Blackwell Scientific Publications, 1989: 276-84.

24. สุริยา คติไทย, บรรจง คำหอมกุล. การศึกษาความคิดเห็นของพยาบาลต่อผู้ติดเชื้อเอดส์และ

การปฏิบัติพยาบาล. ใน: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. การประชุมฟื้นฟูวิชาการประจำ ปี ครั้งที่ 33 9-13 มีนาคม 2535. กรุงเทพมหานคร: ชวนพิมพ์, 2535: 581-93.

25. Gonda TA. Death, dying and bereavement. In: Kaplan HI, Sadock BJ, eds. Comprehensive textbook of psychiatry. 5th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1989: 1339-51.

26. ไพรัตน์ พฤกษชาติคุณากร. มรณะวิทยา.ใน : ไพรัตน์ พฤกษชาติคุณากร, บรรณาธิการ. จิต

เวชศาสตร์ เล่ม 1. เชียงใหม่: ธนบรรณการพิมพ์, 2533: 102-3.

Pre-test and Post-test Counselling for HIV Infection in 300 Prostitutes of Chiangrai

Prasert Palitponganpim, M.D. *

Abstract To study prospectively the effects of pre-test and post-test counselling for HIV infection in 300 prostitutes of Chiangrai between May 1, 1992 and April 16, 1993. Counsellors are paraprofessionals from the HIV/AIDS Collaboration, a joint activity of The Thailand Ministry of Public Health and The US Centers for Disease Control, who had been trained and supervised monthly by a psychiatrist or a clinical psychologist from Chiangrai Regional Hospital. There are 102 HIV infected prostitutes (34%). Of the 300 prostitutes, 255 (85%) had received pre-test counselling and most of the verbal responses were feeling fearful, sad or not feel anything. Of the 102 HIV-infected, 80 (26.7%) had received post-test counselling and most of the verbal responses were feeling sad, not feel anything or accept. Records of the monthly-supervisors revealed counsellors’ insecurity to play counsellor-role and tell the truth.

J Psychiatr Assoc Thailand 1996 ; 41(1) : 31-44.

Key words HIV counselling, prostitute, supervision

* Chiangrai Regional Hospital, Chiangrai 57000

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us