วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatric Association of Thailand
Volume 46 Number 3 July-September 2001
(J Psychiatr Assoc Thailand) is the official journal published quarterlyby The Psychiatric Association of Thailand.
ISSN: 0125-6985
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


บรรณาธิการแถลง

                วารสารสมาคมจิตแพทย์ฉบับนี้ประกอบด้วยนิพนธ์ต้นฉบับ 4 เรื่อง และบทฟื้นฟูวิชาการอีก 3 เรื่อง

                นิพนธ์ต้นฉบับเรื่องแรก เป็นของการศึกษาของศิริไชย หงษ์สงวนศรี และคณะถึงประสิทธิภาพและ tolerability ของยา mirtazapine ในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป สำหรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยศึกษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 25 คน แบบ open trial ระยะเวลาศึกษา 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า mirtazapine เป็นยาแก้ซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพดีในการลดอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล มีอาการไม่พึงประสงค์น้อยและไม่รุนแรง

                นิพนธ์ต้นฉบับเรื่องที่สอง วินัดดา  ปิยะศิลป์ และคณะศึกษาลักษณะทางคลินิกของ  Tourette’s disorder ในผู้ป่วยเด็กที่มารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในช่วง พ.. 2533–2543 รวมจำนวน 43 ราย พบว่าลักษณะอาการทางคลินิกและโรคที่พบร่วมคล้ายคลึงกับที่พบในต่างประเทศคืออาการส่วนใหญ่เป็นการกระตุกแบบ simple motor tic บริเวณหนังตา แก้ม มุมปาก และพบโรคสมาธิสั้นพบร่วมกับ Tourette’s disorderมากที่สุด

นิพนธ์ต้นฉบับเรื่องที่สาม พริ้มเพรา  ดิษยวณิช ศึกษาผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีต่อบุคลิกภาพและเชาวน์อารมณ์ โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 49 ราย ที่เข้ารับการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสูตรแบบเข้ม ประเมินโดยใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพและเชาวน์อารมณ์ของ Victor Serebriakoff ฉบับภาษาไทย พบผลว่าการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานในระยะเวลาเพียง 7 วันสามารถเพิ่มระดับของเชาวน์อารมณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางจิตใจและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ น่าสนใจว่าผลนี้จะคงอยู่นานเพียงไร และสัมพันธ์กับการนำไปปฏิบัติต่อที่บ้านหรือไม่ หากได้ผลดีก็น่าจะส่งเสริมให้เยาวชนของเราเข้ารับการอบรมกันมากขึ้น

ในนิพนธ์ต้นฉบับเรื่องที่สี่และบทฟื้นพูวิชาการ อภิชัย มงคล และคณะ ได้พัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย โดยมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4  องค์ประกอบ ได้แก่ สภาพจิตใจ สมรรถภาพของจิตใจ  คุณภาพของจิตใจ  และปัจจัยสนับสนุน จากการศึกษาพบว่าแบบสอบถามนี้มีค่าในการทดสอบอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียวทั้งในฉบับสมบูรณ์ 66 ข้อและฉบับสั้น 15 ข้อ  และจากการทบทวนวรรณกรรมเปรียบเทียบความหมายของสุขภาพจิตในการศึกษานี้ กับความหมายของความสุขในมุมมองของพุทธศาสนา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปพบว่าเป็นสิ่งเดียวกัน คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้ใช้ชื่อแบบสอบถามนี้ใหม่ว่า ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทย ซึ่งทำให้ง่ายแก่การเข้าใจ และบรรณาธิการเชื่อว่าจะได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายต่อไป

บทฟื้นฟูวิชาการเรื่องที่สองในฉบับนี้เป็นเรื่องการใช้ยากันชักในผู้ป่วย bipolar disorder โดย สรยุทธ วาสิกนานนท์ เป็นที่ยอมรับกันมานานว่าลิเทียมเป็นยาหลักในการรักษาภาวะแมเนียและป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค อย่างไรก็ตามแนวโน้มการใช้ยากันชักในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบทความนี้ผู้นิพนธ์ได้ทบทวนวรรณกรรมทั้งยากันชักรุ่นเดิม คือ valproate และ carbamazepine และยากันชักรุ่นใหม่ ได้แก่ lamotrigine, gabapentin, topiramate และ tiagabine ทั้งในด้านการรักษาระยะเฉียบพลัน การรักษาระยะยาว รวมทั้งผลข้างเคียงที่พบบ่อยและสำคัญ จัดเป็นบทฟื้นฟูวิชาการที่มีประโยชน์ยิ่ง

บทฟื้นฟูวิชาการเรื่องสุดท้ายพิเชฐ  อุดมรัตน์ ได้ทบทวนบทความและงานวิจัยทางระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้องกับโรคตื่นตระหนกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่น่าสังเกตคือพบว่าผู้ป่วยชายมารับการรักษามากกว่าผู้ป่วยหญิงซึ่งแตกต่างไปจากต่างประเทศที่พบในหญิงมากกว่าชาย ผู้นิพนธ์ได้ตั้งสมมุติฐานที่น่าสนใจไว้ว่าอาจเป็นเพราะสังคมไทยยอมรับอาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นในผู้หญิงว่าเป็น “โรคลม” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ในขณะที่หากฝ่ายชายมีอาการมักจะคิดว่าตนเองป่วยมีความผิดปกติที่ต้องรับการรักษาจึงมาพบแพทย์บ่อยกว่า

 

มาโนช หล่อตระกูล

 

 

 

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001