ประวัติสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย


         สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นองค์กรเอกชนซึ่งประกอบด้วยจิตแพทย์เป็นสมาชิกสามัญ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมฯ และจดทะเบียนเมื่อ พ.ศ.2496 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 94 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600 ในบริเวณโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย


          แนวคิดในการก่อตั้งสมาคมฯ นี้ มีปรากฏในประวัติของสมาคมฯโดยสังเขป กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2494  คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่  ศาสตราจารย์นายแพทย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม  ,   ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ,  ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรุณ  ภาคสุวรรณ์และศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ  รัตนากร  มีความเห็นว่า งานทั้งหลายหากต้องการความร่วมมือจากประชาชน ต้องให้ประชาชน มีส่วนร่วมด้วย แนวคิดเช่นนี้เป็นรากฐานของการจัดตั้งสมาคมทางวิชาการเพื่อการศึกษาวิชาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น

วัตถุประสงค์
1. บำรุงและส่งเสริมการแพทย์สาขาจิตเวชศาสตร์ในประเทศไทยตลอดจนการศึกษาป้องกันและรักษาโรคทางจิตเวชให้ก้าวหน้าไปตามหลักวิทยาศาสตร์
2. เผยแพร่และโฆษณาความรู้ในวิชาการจิตเวชศาสตร์  สุขภาพจิตและจิตวิทยาแก่ประชาชน ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
3.  ร่วมมือกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยและสมาคมทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ  รวมทั้งสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
4. ร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคม องค์การ และสถาบันการแพทย์สาขาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตในต่างประเทศ

กิจกรรม





 1.  บำรุงและส่งเสริมวิชาการจิตเวชศาสตร์

 ตีพิมพ์วารสารวิชาการชื่อ“วารสารสมาคม    จิตแพทย์แห่งประเทศไทย”  ปีละ 4 ฉบับ เริ่ม  ตั้งแต่ พ.ศ.2498 อย่างต่อ   เนื่อง เพื่อรายงานผล  งานวิจัย,รายงานผู้ป่วย ฯลฯ เผยแพร่วิชาการแก่  สมาชิกและผู้สนใจ

จัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2516 การประชุมนี้เปิดโอกาสให้แก่สมาชิก, แพทย์สาขาต่างๆที่สนใจ,พยาบาล,และนักวิชาชีพผู้เกี่ยวข้อง
ผลิตตำราจิตเวชศาสตร์โดยมีผู้เขียนจากสถาบันจิตเวชต่าง ๆ ทั่วประเทศ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก   พ.ศ.2520 และฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2536 เพื่อเป็นตำราวิชาการที่ใช้ในการศึกษาของแพทย์ทั่วไป และวงการวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ให้ทุนวิจัยศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคมแก่สมาชิกของสมาคมฯ เป็นประจำทุกปี ทุนนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2521 เพื่อการศึกษาวิจัยด้านจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต

2.  ร่วมมือกับสมาคมและองค์กรในประเทศและต่างประเทศ
         -  ให้ความร่วมมือและให้คำปรึกษาทางวิชาการสาขาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตแก่สถาบันและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการติดต่อโดยตรงที่ได้รับคำขอ
         -  ให้ความร่วมมือแก่แพทยสภาในการจัดตั้งกรรมการพิจารณาจัดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารจิตเวชศาสตร์  และปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ (เป็นบทบาทของสมาคมฯ ก่อนหน้าที่จะมีราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)
          -  สนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการจัดการประชุมวิชาการในประเทศไทย เช่น เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ The Third Regional Symposium on Psychotropic Medication เมื่อ พ.ศ.2519 ,The Third ASEAN Forum on Child and Adolescent Psychiatry เมื่อ พ.ศ.2524,ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหิดล  และกรมสุขภาพจิต ในการจัดประชุม CINP Regional Asia Pacific Meeting เมื่อ พ.ศ.2549  เป็นต้น
          -  ให้ความร่วมมือสนับสนุนและประสานงานกับ World Psychiatric Association  (WPA), World Federation for Mental Health (WFMH), และ  ASEAN Federation for Psychiatry and Mental Health (AFPMH) อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดและส่งผู้แทนไปเข้าร่วมประชุมการประชุมวิชาการที่องค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวจัดให้มีขึ้นตามโอกาสอันควร รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับ AFPMH ในการจัดประชุมวิชาการในภูมิภาค ASEAN ที่หมุนเวียนผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยสมาคมฯ ได้จัดการประชุม ASEAN Congress ไปเมื่อ พ.ศ.2524 และ พ.ศ.2539
          -  ให้ความร่วมมือแก่สถาบันและองค์กรเอกชนในการจัดฝึกอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตเช่น เป็นวิทยากรดำเนินการฝึกอบรมให้แก่สภาพัฒนาองค์การเด็กและเยาวชน (ส.อ.ย.ด.)  เมื่อ พ.ศ.2531 ฯลฯ

3.  เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน
         ให้ความรู้ทางจิตเวชและสุขภาพจิตแก่ประชาชนโดยผ่านทาง สื่อมวลชน,หนังสือพิมพ์,วิทยุ, และโทรทัศน์เป็นระยะ ๆ เช่น  เผยแพร่ทางรายการปัญหาชีวิตและสุขภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9  ในช่วงทศวรรษ 2520-2530 และเผยแพร่ทางสถานีวิทยุศึกษา ในรายการตามตะวัน ทุกวันอังคารที่ 1,2 ของเดือนเป็นต้น

4.  อื่น ๆ
          เสนอกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มเงินพิเศษแก่จิตแพทย์ผู้ทำงานส่วนภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ พ.ศ.2522 ซึ่งมีผลให้จิตแพทย์ผู้ปฏิบัติราชการในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ได้รับเงินเพิ่มพิเศษคนละ 1,500  บาท ต่อเดือนตลอดมา
ส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เช่น จัดพิธีรดน้ำสงกรานต์จิตแพทย์อาวุโสในเดือนเมษายน  เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปกิจกรรมของสมาคมจิตแพทย์ฯ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมด้านวิชาการสาขาจิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ    ผลแห่งการพัฒนาวิชาการและความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ   ย่อมตกอยู่แก่ประชาชนในที่สุด ทั้งในด้านการรักษาและการป้องกันโรคทางจิตเวชและการส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทั้งปวง