เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


จากยาบ้าสู่ยาอีและยาเลิฟ

ทรงเกียรติ ปิยะกะ พ.บ.*
ชาญวิทย์ เงินศรีตระกูล พ.บ.**
อานนท์ วิทยานนท์ พ.บ.**

บทคัดย่อ

ยาอีและยาเลิฟเป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน ซึ่งมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาและทางคลินิกของยาใกล้เคียงกัน โดยจะไปเพิ่มปริมาณของ dopamine, serotonin และ norepinephrine ที่ส่วนต่อระหว่างเซลล์สมอง ผลทางคลินิกของยาในระยะแรกจะทำให้พึงพอใจ มีความสุข และระยะหลังจะเป็นอาการซึมเศร้าจากการที่ระดับสารสื่อประสาทลดลง สารทั้งสองตัวมีฤทธิ์ “psychedelic” คือก่อให้เกิดความรู้สึกเสมือน “ถักสายป่านโยงใยทางด้านจิตใจซึ่งกันและกัน” การตรวจใช้วิธีเช่นเดียวกับแอมเฟตามีน ซึ่งจะพบ ephedrine metabolites ในปัสสาวะได้ถึง 2-3 วันหลังการเสพ มีรายงานการเสียชีวิตชีวิตจากการใช้สารสองตัวนี้ การรักษาภาวะเป็นพิษและการเสพยาเกินขนาดจะเป็นการรักษาตามอาการร่วมกับการทำให้ปัสสาวะเป็นกรดเพื่อเพิ่มการขับสารออกจากร่างกาย การรักษาทั้งทางยาและทางจิตสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดสารเสพย์ติดโดยจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งคือเพื่อการป้องกันการติดยาซ้ำต่อไป

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(2): 184-9.

 * อาจารย์พิเศษ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90112

** ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90112

 

From Amphetamines to “E” and “Love” pills

Song K. Piyaka, M.D. *
Charnvit Nguensritakul, M.D.**,
Anont Vidhayanont, M.D.**

The “E” (for Ecstasy) and “Love” pills are both synthetic derivatives of the amphetamines. They share most of the common amphetamine pharmacological and clinical properties. Neurochemically, they all enhance the availability of the neurotransmitters Dopamine, Serotonin and Norepinephrine at the neuronal synapse. In addition to the initial stimulating and euphoric effects with subsequent depressive symptoms due to the depletion of the neurotransmitters, they uniquely possess the “psychedelic” effect in that they induce in the users “sense of love and connectedness”. Like the amphetamines, although in much smaller quantities, their ephedrine metabolites can be detected in the urine for up to 3 days. Deaths have been reported. Intoxication and overdose can be treated symptomatically. Urine acidification may be employed to increase their excretion from the body. Following this phase, treatment of the addiction is needed and it includes various pharmacological and non-pharmacological means with emphasis on relapse prevention and rehabilitation.

J Psychiatr Assoc Thailand 1998; 43(2): 184-9.

* Director of Psychiatry, Saint Anthony Hospital, Chicago, Illinois, USA.

** Department of Psychiatry, Songklanagarind hospital, Hadyai, Songkla, 90112 Thailand.

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า คนไทยกว่า 3 ล้านคนได้ตกเป็นทาสของยาเสพย์ติด ซึ่งคิดเทียบเป็นอัตราการติดยา (prevalence rate) ได้เท่ากับร้อยละ 5 เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนี้ ยาบ้า (หรือชื่อเดิมว่า ยาม้า) ยาอี และยาเลิฟ ได้แพร่ระบาดหนักในหมู่นักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะในสังคมเมือง จึงมีความจำเป็นที่จิตแพทย์จะต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ในยาทั้ง 3 ชนิดนี้ บทความนี้จะกล่าวถึงยาอีและยาเลิฟเป็นส่วนใหญ่

ยาอีและยาเลิฟนั้นเป็นอนุพันธ์ของกลุ่มยาบ้า (amphetamines) ชื่อที่เรียกขานในหมู่ผู้เสพและในวงสังคมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอสุดแล้วแต่กระแสนิยม ชื่อยาอีนั้นย่อมาจากคำว่า “เอ็กสตาซี่” (ecstasy) ยานี้เป็นอนุพันธ์ของ methamphetamine ชื่อทางเคมีคือ 3,4—methylene-dioxy-methamphetamine หรือย่อคือ MDMA โดยมีสูตรทางเคมีดังภาพที่ 1

ส่วนยาเลิฟนั้นเป็นยาที่เกิดจากการผสมยา 3,4-methylene-dioxy-amphetamine หรือเรียกย่อว่า MDA เข้าไปกับยา MDMA โดยยา MDA มีสูตรทางเคมีดังภาพที่ 2

 ประวัติของยาอี

เมื่อปี ค.ศ. 1914 บริษัท Merck ซึ่งเป็นบริษัทเภสัชกรรมขนาดใหญ่พยายามสังเคราะห์อนุพันธ์ชนิดใหม่ๆ ของยา amphetamine เพื่อสรรหายาลดความอ้วนที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่กลับได้ยาอี MDMA แทนบริษัทจึงได้ลงทะเบียนสงวนลิขสิทธิ์ไว้ จวบจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพบกสหรัฐอเมริกาจึงมีการวิจัยยาอีอย่างจริงจัง ก็พบว่ายาอีไม่มีฤทธิ์ต่อระบบจิตใจร้ายแรงพอ ที่จะใช้เป็นวัตถุสงครามได้แต่อย่างใด ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนามซึ่งเป็นยุคบุบผาชน สังคมสับสนปั่นป่วนมาก จึงเริ่มมีการใช้ยาอีในหมู่ผู้เสพยาเสพย์ติด ก็พบว่ายาอีมีคุณลักษณะแปลก ทำให้ผู้เสพเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจอย่างประหลาด ต้องการแต่จะเปิดเผยความในใจ มีส่วนร่วมรู้ในความรู้สึกนึกคิดกับบุคคลอื่นๆ “ประหนึ่งถักสายป่านโยงใยทางด้านจิตใจซึ่งกันและกัน” และยังพบว่ายาอีมีคุณลักษณะเป็นยาที่ทำให้จิตประสาทบิดเบี้ยว จัดอยู่ในจำพวก psychedelic หรือ hallucinogen คือทำให้การรับรู้ทางอายตนะสัมผัสผิดแผกแตกต่างไปหมด เช่น “มีความรู้สึกว่ากุหลาบมีรสหวาน น้ำตาลมีเสียงไพเราะ เสียงเพลงมีความอบอุ่น ความละมุนของดนตรีมีความหนาว จิตใจวัดได้ด้วยระยะทาง” เป็นต้น คุณลักษณะนี้จึงทำให้ยาอีเด่นขึ้นเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่มีความต้องการการยอมรับจากกลุ่ม (peer acceptance) สูง เพราะยาอีทำให้เกิดความรู้สึกผนึกเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งทางกายและทางจิตใจ มีการขนานนามยาอีว่าเป็น “ยาแห่งความรัก” ถึงกับมีจิตแพทย์บางคนในยุคหนึ่งเมื่อ 20 ถึง 30 ปีที่แล้ว ใช้ยาอีเพื่อช่วยเสริมในการรักษาจิตบำบัด เพราะหวังผลให้ยาอีช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสภาพจิตใจของตนเอง แต่ต่อมากลับมีการเสนอกฏหมายให้ยาอีเป็นยาเสพย์ติดต้องห้ามประเภทเดียวกับเฮโรอีน เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างที่มีการประชาพิจารณ์อยู่นั้น มีผู้คัดค้านร่างกฎหมายนี้มากพอสมควร ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศห้ามใช้ยาอีอย่างเด็ดขาดในปี ค.ศ. 1985 แต่จากการที่ยาอีมีคุณสมบัติเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เสพต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงได้มีการนิยมจัดปาร์ตี้ยาอีขึ้นโดยให้ผู้เสพได้มีการเต้นรำในจังหวะรุ่มร้อนและเต้นกันได้ตลอดคืน เรียกปาร์ตี้นี้ว่า rave party ซึ่งระบาดหนักในยุโรปในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่แล้ว ต่อมายังได้แพร่หลายสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผู้นำเข้าสู่ประเทศไทยจากรัฐทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ ค.ศ. 1990 การที่ยาอีเป็นยาที่ต้องนำเข้าสู่ประเทศ มีราคาแพง การเสพยาอีในระยะแรกจึงมีอยู่ในวงแคบ จำกัดอยู่แต่ในหมู่เยาวชนที่มีกำลังซื้อสูง และในหมู่ดาราผู้มีชื่อเสียงเท่านั้น ผู้เสพที่อยู่ในวงสังคมชั้นสูงเหล่านี้มักจะตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ ทำให้เยาวชนวัยรุ่นทั่วไปต้องการเลียนแบบ กลายเป็นกระแสนิยม เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ยาอีระบาดหนักในหมู่นักเรียนนักศึกษาในเวลานี้

 เภสัชวิทยา

MDMA และ MDA มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาใกล้เคียงกันมาก โดยมีฤทธิ์ (potency) ต่ำกว่ายา psychedelic หรือ hallucinogen ชนิดอื่นมาก ยาอีมักมี MDMA อยู่เม็ดละ 50-150 มิลลิกรัม ยาอีเมื่อใช้กิน จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 20 ถึง 40 นาที และมีฤทธิ์สูงสุดภายในเวลา 1-5 ชั่วโมง จะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะ โดยที่ภาวะความเป็นกรดของปัสสาวะช่วยเร่งการขับถ่ายออกให้ได้เร็วขึ้น โดยปกติ ยาอีและยาเลิฟจะถูกกำจัดออกจากร่างกายได้หมดภายในเวลา 1 ถึง 2 วัน เมื่อยาอีและยาเลิฟเข้าสู่สมองส่วนกลางแล้ว จะเป็นตัวกระตุ้น 5-HT2 receptors ทำให้สารสื่อเคมี serotonin ถูกหลั่งออกมาจาก presynaptic neurons มากขึ้น และยังทำให้สื่อเคมี dopamine ถูกหลั่งออกมากเช่นกัน แต่ไม่มากเท่า serotonin ในสัตว์ทดลอง พบว่ายาอีมีพิษร้ายแรงทำลายเซลล์ประสาทที่ผลิต serotonin (serotogenic neurons) ให้ตายได้ มีรายงานว่ายา fluoxetine สามารถยับยั้งฤทธิ์ของยาอีต่อระบบ serotnergic neurons ได้

 ผลทางคลินิก

ยาอีและยาเลิฟจะมีผลทางคลินิกต่อร่างกายคล้ายคลึงกับยาบ้า (amphetamine) มาก กล่าวคือ ระยะแรกจะเป็นผลที่เกิดจากการกระตุ้นของยา เพราะมีสื่อเคมี dopamine และ serotonin หลั่งออกมามาก ต่อไปจะเป็นผลจากการที่สารสื่อเคมีเหือดแห้งไป การที่มีสารสื่อเคมี dopamine มากขึ้นจะทำให้เกิดผลทาง reinforcing effect คือมีการสร้างความทรงจำถึงผลดีของยา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการติดยา ส่วนการที่สื่อเคมี serotonin ลดน้อยลง จะส่งผลให้เกิดอาการขาดยาทางใจ คือมีอาการเบื่อหน่าย ซึมเศร้าคล้ายกับป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั่นเอง

อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นประมาณ 20-40 นาทีหลังการเสพยาอีโดยการกินเข้าไปแล้ว โดยจะรู้สึก “วูบ หวิว ซู่ซ่า rush, high” คล้ายกับอาการจากยาบ้า (amphetamine) ผู้เสพจะรู้สึกพอใจและมีความสุข อาการที่ตามมาคือมีความรู้สึกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในที่นั้น เหมือนกับ “ถักสายป่านโยงใยทางด้านจิตใจซึ่งกันและกัน” ในระยะนี้อาการก้าวร้าวจะลดน้อยลง ความหุนหันพลันแล่นก็จะลดลงด้วย นอกจากนั้น ยังรู้สึกกระสับกระส่ายทางจิตใจเล็กน้อย และความต้องการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา ผู้เสพจึงนิยมการเต้นรำมาก เพราะเป็นการตอบสนองต่ออาการของยาได้เป็นอย่างดี ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในช่วงนี้ผู้เสพมักมีความต้องการทางเพศสูงขึ้น แต่สมรรถภาพในการร่วมเพศกลับลดลง (sensual, not sexual) ผู้เสพบางคนอาจจะประสบกับผลข้างเคียงของยา คือ อาจมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อย อาจมีอาเจียนก็ได้ กล้ามเนื้อกราม อาจเกร็งตัวทำให้ปวดกรามมาก มีอาการบดฟันตนเอง สายตาพร่า เหงื่อไหลมาก และมีอาการร้อนวูบวาบไปตามลำตัว บางคนมีอาการปวดศรีษะ เกิดอาการตากระตุก (nystagmus) ก็ได้ อาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์นี้อาจจะอยู่นานถึง 24 ชั่วโมง

อาการระยะหลังนั้นจะเป็นอาการคล้ายที่พบในผู้ป่วยซึมเศร้า คือมีอาการเบื่ออาหาร ไม่มีเรี่ยวแรง นอนไม่หลับ อ่อนเพลียอย่างมาก ซึมๆ เศร้าๆ ไม่มีความกระตือรือร้น ขาดความพึงพอใจ ขาดความสุข เกิดความท้อแท้ เหนื่อยหน่ายต่อชีวิต อาจต้องการฆ่าตัวตายก็ได้ ทั้งนี้เพราะระดับ serotonin ลดน้อยลง ประกอบกับการที่ยาอีมีผลทำให้เซลล์ประสาทหยุดการผลิตสารสื่อเคมี serotonin ชนิดใหม่อย่างสิ้นเชิง จึงทำให้ระดับสารสื่อเคมีชนิดนี้ไม่มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้เลย การเสพยาอีซ้ำแล้วซ้ำอีกจึงไม่ทำให้ผู้เสพได้รับผลที่พึงประสงค์ ตรงกันข้าม ผู้เสพกลับได้ผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการมากขึ้น ถ้าเสพซ้ำอีกก็จะเกิดอาการเสพยาอีเกินขนาด ทำให้มีอาการ sympathetic hyperactivity คือ ความดันเลือดและชีพจรจะขึ้นสูง ม่านตาจะขยาย หัวใจเต้นผิดปกติ (cardiac arrhythmia) เกิดอาการชัก (convulsion) บางคนมีไข้ขึ้นสูงจัด (hyperthermia) กล้ามเนื้อเน่าตายสลายเป็นพิษ (rhabdomyolysis) มีอาการตับเป็นพิษ (hepatotoxicity) บางคนมีอาการใจสั่น กระสับกระส่าย อาจมีอาการคลุ้มคลั่ง หวาดระแวง ประสาทหลอน คือมีอาการทางโรคจิตคล้ายผู้ป่วยโรคจิตเภท (schizophrenia) อาการเหล่านี้เกิดจาก dopamine มีขนาดมากเกินไปนั่นเอง เคยมีรายงานว่าการเสพยาอีทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้เพราะเกิดภาวะ sympathetic hyperactivity อย่างมากมายและฉับพลัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้พ้นจากขีดอันตรายได้

การที่ยาอีรวมทั้งยาเลิฟมีผลทางคลินิกดังกล่าวข้างต้นนั้น จึงทำให้ผู้เสพไม่นิยมและไม่สามารถเสพได้อย่างพร่ำเพรื่อจนเกิดอาการดื้อยา (tolerance) ขึ้นมาได้ การเสพยาอีหรือยาเลิฟนั้นมักจะเป็นการเสพร่วมกับยาเสพย์ติดอย่างอื่น โดยเฉพาะเสพร่วมกับเหล้าและกัญชา

 การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยทางคลินิกจะต้องยึดหลักการวินิจฉัยโรคจาก DSM-IV คือต้องแยกว่าเป็นการลองเสพชั่วครั้งชั่วคราว หรือเสพจนเป็นโรคติดยาเสพย์ติด คือเป็น substance use disorder ซึ่งต้องแยกต่อว่าเป็น abuse disorder หรือ dependence disorder และยังต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่นหรือไม่

สำหรับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการนั้นให้ใช้ตรวจปัสสาวะเป็นหลัก โดยใช้หลักเดียวกับการตรวจสารยาบ้า (amphetamine) คือตรวจหา amphetamine นั่นเอง แต่พึงระวังว่าจำนวน amphetamine จากยาอีและยาเลิฟจะมีขนาดน้อยกว่าที่พบในยาบ้ามาก ดังนั้นต้องแจ้งให้ทางห้องปฏิบัติการกำหนดผลบวก (cut-off) ของการพบสารยาอีหรือยาเลิฟไว้ที่จำนวน amphetamine เท่ากับ 300 ng/ml ซึ่งต่ำมากกว่า การกำหนดผลบวก (cutoff) ของการตรวจพบยาบ้าซึ่งเท่ากับ 1,000 ng/ml สำหรับเทคนิกการตรวจมักจะใช้แบบ immunoassay ก่อน เมื่อได้ผลบวกแล้วจึงยืนยันให้แน่นอนอีกครั้งโดยเทคนิกการตรวจแบบ GC/MS การตรวจปัสสาวะจะสามารถตรวจพบยาอีหรือยาเลิฟ ได้เป็นเวลา 2-3 วันหลังการเสพ แต่ถ้าใช้ตรวจจากเส้นผม จะสามารถตรวจพบได้นานถึง 3 เดือนหลังเสพ

การรักษา

การรักษาผู้ติดยาอี และ ยาเลิฟทำได้ดังนี้

1. การถอนพิษยา (detoxification) เป็นการรักษาในช่วงเมายา หรือเสพยาเกินขนาด เป็นการรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการกระสับกระส่าย หรือหวาดผวา ก็ให้ยาจำพวก benzodiazepines เช่น diazepam ถ้ามีอาการอาละวาด หรือมีอาการโรคจิต (psychosis) เช่น ประสาทหลอน (hallucination) ก็อาจใช้ยาจำพวกยารักษาโรคจิต เช่น haloperidol การทำให้ปัสสาวะมีภาวะความเป็นกรดมากขึ้น (urine acidification) จะเร่งขับถ่ายยาอี และยาเลิฟให้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ทำให้ระยะเมาหรือระยะยาเป็นพิษลดสั้นลง urine acidification ทำได้โดยการให้วิตามินซีเป็นจำนวนมาก เช่น ให้ในขนาด 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง และให้ดื่มน้ำผลไม้เป็นจำนวนมาก การให้อาบน้ำเย็นจัด หรือการให้เดินไปเดินมาจะเป็นการช่วยให้ผู้เมายามีความรู้สึกสบายขึ้นได้ ถ้ามีอาการอันตรายของ sympathetic hyperactivity ก็จำเป็นต้องรับเข้ารักษาแบบฉุกเฉินในโรงพยาบาล โดยต้องลดความดันเลือดให้เร็วที่สุด ด้วยยา phentolamine ถ้ามีอาการชัก ต้องให้ยาจำพวก benzodiazepines เช่น diazepam สำหรับอาการ หัวใจเต้นผิดปกติ (cardiac arrhythmia) อาจรักษาได้โดยการให้ยาจำพวก beta-blockers เช่น propranolol เป็นต้น

2. การรักษาการกระหายยา (craving) อาจใช้ยาจำพวกที่กระตุ้น dopamine อย่างอ่อนๆ เช่น bromocriptine, bupropion, amantadine หรืออาจใช้ยา desipramine, ยา amineptine ก็น่าจะได้ผลพอสมควร แต่ยังไม่ได้มีรายงานการวิจัยศึกษาผลของยาเหล่านี้ต่ออาการหระหายยา

3. การป้องกันการติดยาซ้ำ (relapse prevention) ต้องให้คำแนะนำ ฝึกฝนให้ผู้เสพได้พัฒนาวิธีการต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงสถานะการณ์หรือภาวะความเสี่ยงสูง (high risk situation) ที่จะนำไปสู่การเสพยาอีก

4. การรักษาโรคจิต (comorbid psychiatric disorders) ซึ่งอาจจะมีมาก่อนการติดยาอี หรือยาเลิฟ หรืออาจเป็นผลแทรกซ้อนจากการติดยาก็ได้ ที่พบบ่อย ๆ คือโรคซึมเศร้า ถ้ามีอาการซึมเศร้าค่อนข้างรุนแรง ก็ให้รักษาโดยการให้ยาแก้เศร้าได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอวินิจฉัยให้ได้แน่นอนก่อนว่าผู้เสพป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเป็นเอกเทศจากโรคติดยาเสพย์ติด

5. การแก้ไขสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือกับบุคคลอื่นรวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ (psychosocial treatment and rehabilitation) เป็นส่วนสำคัญในการรักษาเช่นกัน

 บรรณานุกรม

  1. ทรงเกียรติ ปิยะกะ, เวทิน ศันสนียเวทย์. ยิ้มสู้ เรียนรู้ยาเสพติด. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2540: 145-51.
  2. ทรงเกียรติ ปิยะกะ. เวชศาสตร์โรคติดยา : คู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ตุลาคม 2540.
  3. Fawcett J. The New Psychedelic Subculture. Psychiatric Annals 1994; 24: 127–133.
  4. Pechnick RN, Ungerleider JT. Hallucinogens. In: Lowinson JH, Ruiz P, Millman RB. eds. Substance Abuse: A comprehensive Textbook. 3rd ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1997 : 230-8.
  5. Bono JP. Criminalistics-Introduction to Controlled Substances. In: Karch SB, ed. Drug Abuse Handbook. CRC Press; 1998.

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us