เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541; 43(1):2-13.

Download in pdf format

แนวโน้มการฆ่าตัวตายในประเทศไทย: แง่มุมทางเพศและช่วงวัย

มาโนช หล่อตระกูล

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สูตรสำเร็จที่มักพบในตำราหรือบทความวิชาการทั่วไป คือ เพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จบ่อยกว่าเพศหญิง ในอัตราส่วนประมาณ 3 ต่อ 1 ในขณะที่เพศหญิงพบว่าจะพยายามฆ่าตัวตายบ่อยกว่าเพศชาย1 ซึ่งการศึกษาในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น ข้อสังเกตคือ ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสากลหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ในภูมิภาคอื่นๆ พบเช่นนี้ด้วยหรือไม่ ตารางที่ 1 แสดงอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศต่างๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้รวบรวมขึ้น จะเห็นว่าอัตราส่วนในแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกันออกไป โดยนอกจากประเทศจีนแล้ว ในประเทศอื่นๆ เพศชายจะพบการฆ่าตัวตายบ่อยกว่าเพศหญิง โดยสหรัฐอเมริกาพบอัตราส่วนเพศชายต่อหญิงสูงถึง 4.1 ต่อหนึ่ง ในขณะที่ประเทศทางแถบเอเชียพบประมาณ 1.3 ถึง 1.7 ต่อหนึ่ง ยกเว้นประเทศศรีลังกาซึ่งนอกจากพบเพศชายฆ่าตัวตายบ่อยกว่าประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ แล้ว ยังมีมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมาก

 ตารางที่ 1 แสดงอัตราการฆ่าตัวตายและสัดส่วนระหว่างเพศของประเทศต่างๆ

 ในประเทศไทยนั้น ในการวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพจิต สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา3 ได้รวบรวมสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2520-2527 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนของเพศชายต่อหญิงเฉลี่ย 1.1 ต่อ 1 (มีตั้งแต่ 1.03:1 ถึง 1.31:1) เมื่อพิจารณาดูในแต่ละภาคพบว่าทุกภาคและกรุงเทพมหานคร เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิง ยกเว้นภาคกลางที่เพศหญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย (1.04:1) กล่าวโดยรวมแล้ว อัตราการฆ่าตัวตายของเพศชายใกล้เคียงกับเพศหญิง

ในช่วง 2 ทศวรรษหลังนี้สภาพทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเครียดในการใช้ชีวิตในยุคหลังๆ นี้มีมากกว่าก่อนๆ4 ซึ่งนอกจากอาจทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ความแตกต่างทางเพศในเรื่องการฆ่าตัวตายอาจเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งความบีบคั้นจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีสูง

อีกปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความแตกต่างทางเพศคือปัจจัยในด้านอายุ เนื่องจากแต่ละเพศ ในแต่ละช่วงวัยนั้นมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างกัน สภาพความกดดันที่เกิดขึ้นย่อมแตกต่างกันออกไป การพิจารณาโดยคำนึงถึงทั้งสองปัจจัยร่วมกันจะทำให้มองปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจนขึ้น

วัตถุประสงค์ในการศึกษานี้ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาถึงอัตราการฆ่าตัวตายและความแตกต่างระหว่างเพศในพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2520-2539 2) ศึกษาอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละช่วงวัย และความสัมพันธ์ระหว่างเพศและช่วงวัย ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2535-2539) และ 3) ศึกษาเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในเมืองใหญ่กับเมืองเล็ก รวมทั้งเปรียบเทียบในด้านเพศและช่วงวัย

ทั้งนี้ โดยมีสมมติฐานว่าภายใต้สภาพความบีบคั้นที่เพิ่มขึ้นในสังคมปัจจุบัน อัตราการฆ่าตัวตายน่าจะเพิ่มสูงขึ้น ความแตกต่างระหว่างเพศชายกับหญิง และอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละช่วงอายุจะต่างไปจากแต่ก่อน เมืองใหญ่น่าจะพบอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเมืองเล็ก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

วิธีการศึกษา

ข้อมูลที่มาของการศึกษานี้ได้จากส่วนข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากมรณบัตรของทุกจังหวัด โดยเมื่อมีการตายเกิดขึ้นเจ้าบ้านจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่รับผิดชอบภายใน 24 ชั่วโมง นายทะเบียนจะออกมรณบัตรซึ่งประกอบด้วย 3 ตอน ในแต่ละตอนมีข้อความตรงกัน ตอนที่ 1 ให้แก่ผู้แจ้ง ตอนที่ 2 ส่งสำนักทะเบียนจังหวัด เพื่อส่งเข้าสำนักบริหารการทะเบียน และตอนที่ 3 จะส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามลำดับ เพื่อส่งต่อไปยังส่วนข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุขในที่สุด5

ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของแต่ละช่วงวัยในแต่ละปีนำจากรายงานประชากรกลางปี โดยส่วนข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข ซึ่งใช้วิธีการนำเอาสัดส่วนของแต่ละกลุ่มอายุจากจำนวนประชากรคาดประมาณประชากรของกองวางแผนทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาเฉลี่ยจากยอดรวมชายและหญิงของประชากรจากสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร 6

จังหวัดที่เลือกศึกษาเปรียบเทียบ ได้แก่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชัยนาท โดยศึกษาสถิติการฆ่าตัวตายในช่วงปีพ.ศ. 2538-2539 ของทั้งสองจังหวัด ผู้วิจัยเลือกจังหวัดชัยนาทเนื่องจากเป็นจังหวัดขนาดไม่ใหญ่ ไม่มีปัญหาการอพยพของแรงงานมากเหมือนจังหวัดทางภาคอิสาน และไม่มีปัญหาการตายจากโรคเอดส์มากเหมือนจังหวัดทางภาคเหนือ จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย7 จังหวัดชัยนาทอยู่ภาคกลางห่างจากกรุงเทพฯ 194 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 2,469.75 ตารางกิโลเมตร มีประชากรเมื่อพ.ศ. 2539 รวมทั้งสิ้น 351,590 คน ในปี 2538 พบว่า ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 38,780 บาทต่อปี เป็นอันดับ 37 ของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาขาการเกษตร มีอัตราคดีอาชญากรรมสูงเป็นลำดับที่ 39 ของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำดัชนีคุณภาพชีวิต (Human Development Index : HDI) ของคนไทยขึ้น เพื่อเป็นเกณฑ์วัดระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยระดับภาพรวมทั่วประเทศ พบว่าดัชนีคุณภาพชีวิตของคนจังหวัดชัยนาทจัดอยู่ในระดับกลาง คือ มีดัชนีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.7710 เป็นอันดับที่ 7 ของภาค และอันดับที่ 8 ของประเทศ

กรุงเทพมหานคร ในพ.ศ. 2539 มีประชากรประมาณ 5.57 ล้านคน มีเนื้อที่ 1569 ตารางกิโลเมตร เกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตของประเทศมาจากกรุงเทพฯ ประชากรมีจำนวนมากกว่าประชากรของเมืองใหญ่อันดับรองลงไปถึง 20 เท่า มีการอพยพเข้าของแรงงานมากที่สุด แม้จะเป็นเมืองที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุด แต่การบริการพื้นฐานยังไม่ทั่วถึง มีการจราจรคับคั่งเนื่องจากไม่ได้มีการวางแผนระบบขนส่งมวลชน มีมลพิษสูงจากการขาดการควบคุมอย่างจริงจัง8

 ผลการศึกษา

ในที่นี้มิได้นำสถิติในปีพ.ศ. 2537 เข้ามาใช้ในการนำเสนอและการวิเคราะห์ เนื่องจากจากการวิเคราะห์พบว่าความน่าเชื่อถือของข้อมูลการฆ่าตัวตายในปีนี้ค่อนข้างต่ำ ตัวอย่างเช่น อัตราการฆ่าตัวตายซึ่งก่อนหน้านั้นจะอยู่ประมาณ 6 เศษๆ ต่อแสนประชากร ในปีนั้นจากข้อมูลมีเพียงแค่ 4 ต่อแสนประชากร และวิธีการฆ่าตัวตายซึ่งในทุกๆ ปีจะพบ ใช้วิธีแขวนคอ ประมาณร้อยละ 40 แต่ในพ.ศ. 2537 รายงานการแขวนคอพบเพียง 1 ราย ทั้งนี้อาจเนื่องจากในปีนั้นเป็นปีที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปลี่ยนการบันทึกข้อมูลจากระบบ ICD-9 มาเป็นระบบ ICD-10 ผู้บันทึกข้อมูลยังไม่มีความคุ้นเคยกับการลงระหัสระบบใหม่ซึ่งมีการจำแนกโรคที่ละเอียดขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในต่างประเทศก็พบในทำนองเดียวกันในปีที่เริ่มมีการปรับปรุงระบบการจำแนกโรคใหม่ 9

ตารางที่ 2 อัตราการฆ่าตัวตายรวมและจำแนกตามเพศ ตั้งแต่พ.ศ. 2520-2539 (อัตราต่อแสนประชากร)

 ตารางที่ 2 แสดงถึงอัตราการฆ่าตัวตายโดยรวมและจำแนกตามเพศ ตั้งแต่ปี 2520 ถึง 2539 จะเห็นว่าอัตราการฆ่าตัวตายเริ่มเพิ่มสูงในปีพ.ศ. 2521 และสูงสุดในปีพ.ศ. 2523-2524 หลังจากนั้นค่อยๆ ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในปีพ.ศ. 2529 และเริ่มค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นจนถึง 8.1 ต่อแสนประชากรในปี 2539 ตัวเลขในวงเล็บเป็น age-adjusted rate ได้แก่ จำนวนผู้ฆ่าตัวตาย X 100,000/จำนวนประชากรทั้งประเทศในช่วงวัยของผู้ฆ่าตัวตาย ต่างจาก suicide rate ซึ่งจำนวนประชากรในประเทศที่นำมาใช้ในการคำนวนคือจำนวนประชากรทุกช่วงวัย การเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายระหว่างประเทศโดยใช้ค่าที่ไม่ได้ปรับอายุก่อน อาจทำให้ผลออกมาคลาดเคลื่อนได้หากประเทศที่นำมาเปรียบเทียบกันนั้นมีจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยเด็กต่างกันมาก12

ค่าเฉลี่ยในทุก 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2520 ได้เท่ากับ 6.7, 6.1, 6.4 และ 7.0 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ซึ่งเมื่อดูค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีแรก (พ.ศ. 2520-2529) กับ 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2530-2539) แล้วพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น (6.4 กับ 6.7 ต่อแสนประชากรตามลำดับ)

อย่างไรก็ตามเมื่อจำแนกอัตราการฆ่าตัวตายตามเพศแล้ว เพศชายจะมีการฆ่าตัวตายในอัตราที่เพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายในเพศหญิงในช่วง 10 ปีหลังต่ำกว่า 10 ปีแรก (ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 1) โดยรวมแล้วอัตราการฆ่าตัวตายระหว่างชายต่อหญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก ชาย:หญิง=1.1:1 ในพ.ศ. 2520 มาเป็น ชาย:หญิง=1.7:1 ในพ.ศ. 2529 และชาย:หญิง=2.9:1 ในพ.ศ. 2539

 จากสถิติในระหว่างพ.ศ. 2535-2539 เมื่อจำแนกอัตราการฆ่าตัวตายตามช่วงวัย พบว่าช่วงวัยที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดได้แก่ช่วงวัยตั้งแต่ 20—34 ปี โดยสูงสุดในช่วงอายุ 20-24 ปี อัตราการฆ่าตัวตายจะลดลงในช่วงวัยตั้งแต่ 40 ปีไปจนถึง 69 ปี และไปสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวัยอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

เมื่อจำแนกอัตราการฆ่าตัวตายตามช่วงวัยและเพศแล้ว พบว่าเพศชายและเพศหญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน (แผนภูมิที่ 2) โดยที่ในทุกช่วงวัยเพศชายจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิง จะมีก็แต่เพียงในช่วงอายุ 15-19 ปีเท่านั้นที่ต่างกันไม่มากนัก (ชาย=9.8 และหญิง=7.0 ต่อแสนประชากร) ในเพศหญิงนั้นอัตราการฆ่าตัวตายจะสูงสุดในช่วงอายุ 15-19 ปีและ 20-24 ปีตามลำดับ (7.4 และ 6.7 ต่อแสนประชากรตามลำดับ) หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนเริ่มเข้าสู่ระดับคงที่ ที่อายุตั้งแต่ 35 ปีเป็นต้นไป อัตราการฆ่าตัวตายต่ำสุดในช่วงอายุ 55-59 ปี ส่วนในเพศชายนั้นอัตราการฆ่าตัวตายพบสูงสุดที่ช่วงอายุ 20-24 ปี, 25-29 ปี และ 30-34 ปี ตามลำดับ (

17.1, 16.2 และ 16.0 ต่อแสนประชากรตามลำดับ) และจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวัยตั้งแต่ 70 ปีเป็นต้นไป ที่น่าสังเกตคือ เพศชายในช่วงวัย 20-34 ปีนั้นมีการฆ่าตัวตายในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากโดยเฉลี่ย 12.7 ต่อแสนประชากร ในพ.ศ. 2535 เป็น 14.3, 18.0 และ 20.8 ต่อแสนประชากรในพ.ศ. 2536 พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2539 ตามลำดับ ในขณะที่เพศหญิงในช่วงวัยนี้อัตราการฆ่าตัวตายจะค่อนข้างใกล้เคียงกันคือประมาณ 6 รายเศษๆ ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ส่วนในผู้สูงอายุนั้นอัตราการฆ่าตัวตายไม่ได้มีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั้งเพศชายและหญิง

 ในด้านของวิธีการฆ่าตัวตายนั้นเพศชายจะใช้วิธีการที่รุนแรงกว่าโดยใช้วิธีแขวนคอ ส่วนเพศหญิงส่วนใหญ่ใช้วิธีกินยาเกินขนาดหรือสารเคมี (ตารางที่ 3)

 ในปีพ.ศ. 2538-2539 ในกรุงเทพมหานครมีอัตราการฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยเท่ากับ 4.4 ต่อแสนประชากร (ชาย:หญิง= 2.6:1) ในขณะที่จังหวัดชัยนาทพบการฆ่าตัวตายสูงกว่ากรุงเทพประมาณ 2 เท่า กล่าวคือมีอัตราการฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9.4 ต่อแสนประชากร (ชาย:หญิง= 2.1:1) โดยที่อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2538-2539 เฉลี่ยเท่ากับ 7.6 ต่อแสนประชากร จากแผนภูมิที่ 3 จะเห็นว่าในจังหวัดชัยนาทเพศชายในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (25-34 ปี) มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมาก หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง และในอายุหลัง 65 ปีไม่พบการฆ่าตัวตายอีก ในขณะที่ในกรุงเทพนั้นอัตราการฆ่าตัวตายของเพศชายในแต่ละช่วงวัยไม่ต่างกันมากนัก โดยมีสูงในช่วง วัย 25-34 ปี และตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิงในจังหวัดชัยนาทมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ากรุงเทพมหานครเช่นกันโดยจะสูงสุดในช่วงอายุ 45-54 ปีหลังจากนั้นจะลดลงและไม่พบการฆ่าตัวตายอีกหลังอายุ 65 ปี ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายของเพศหญิงในกรุงเทพมหานครนั้น ในแต่ละช่วงวัยค่อนข้างใกล้เคียงกัน

 แผนภูมิที่ 3 เปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายระหว่างกรุงเทพฯและชัยนาท โดยจำแนกตามเพศและช่วงวัย (พ.ศ. 2538-2539)

 วิจารณ์

การศึกษานี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากใบมรณบัตร ซึ่งอาจมีบางกรณีที่ไม่มีการลงบันทึก เช่น ผู้เสียชีวิตอยู่ในถิ่นที่ห่างไกล มาแจ้งลำบากหรือไม่แจ้งก็ไม่มีผลกระทบอะไร กรณีเช่นนี้พบได้ไม่น้อย หรือแจ้งเป็นการตายในรูปแบบอื่นๆ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการระบุว่าฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้พอสมควรในหลายๆ ประเทศซึ่งการฆ่าตัวตายถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย หรือก่อให้เกิดความอับอายแก่ครอบครัว อัตราการฆ่าตัวตายจึงน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งรายงานการฆ่าตัวตายของทางการนั้นในแทบทุกประเทศมักพบว่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงในระดับหนึ่ง13 ในประเทศไทย จันทรเพ็ญ ชูประภาวรรณและวิสุทธิ์ กิตติวัฒน์14 เปรียบเทียบข้อมูลการฆ่าตัวตายในกรุงเทพมหานครช่วงปีพ.ศ. 2520-2527 ระหว่างข้อมูลซึ่งรวบรวมจากกรมตำรวจและแผนกนิติเวชโรงพยาบาลศิริราช กับข้อมูลจากมรณบัตรที่รวบรวมตามปกติ พบว่าการรายงานตามปกติต่ำกว่าที่ศึกษา โดยมีผลต่างของอัตราเฉลี่ยร้อยละ 21.5 (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 12.7)

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายคือแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้บันทึกหลักฐานว่ากรณีใหนที่จะเป็นการฆ่าตัวตาย กรณีใหนเป็นการตายในลักษณะอื่นๆ นอกจากนั้น วิธีการเก็บรวบรวม กระบวนการเก็บ และรายงานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานยังอาจแตกต่างกันออกไป ทำให้การศึกษาเปรียบเทียบจากหลายๆ รายงานอาจมีความคลาดเคลื่อนได้15

ตัวอย่างเช่นจากการศึกษาของสุดสบาย จุลกทัพพะ16 ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเก็บข้อมูลจากใบมรณบัตรของสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย 3,323 คน ขณะที่ในปีเดียวกันนั้น รายงานของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งข้อมูลมาจากมรณบัตรเช่นเดียวกัน พบยอดการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตนเองถึง 3,801 คน11 แตกต่างกันประมาณ 500 คน

ในการศึกษาเปรียบเทียบในช่วงเวลาที่ต่างกันนั้น ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคืออาจมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ในการระบุประเภทและรายละเอียดของการตาย อีกทั้งวิธีการเก็บข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบโดยใช้ฐานข้อมูลจากแหล่งเดียวกันตลอด วิธีการเก็บข้อมูลไม่เปลี่ยนไปจากเดิม นอกจากในปีล่าสุดคือ พ.ศ. 2539 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เริ่มปรับเปลี่ยนการให้บริการทะเบียนราษฎรมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ การจัดทำรายงานของสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจึงเปลี่ยนมาใช้ฐานข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทยแทน5

โดยรวมแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอัตราการฆ่าตัวตายในประชากรกลุ่มต่างๆ ในการศึกษานี้น่าจะบ่งชี้แนวโน้มหรือสภาพปัญหาได้ค่อนข้างตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากข้อมูลมาจากฐานข้อมูลเดียวกันตลอด อีกทั้งเป็นการศึกษาในระยะยาวซึ่งหากมีการคลาดเคลื่อนจากแนวโน้มก็จะสังเกตเห็นได้ดังเช่นรายงานในพ.ศ. 2537 ซึ่งผิดแผกไปจากปีอื่นๆ มาก นอกจากนั้น แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในด้านเพศหรือช่วงวัยที่ฆ่าตัวตายนี้ ไม่ค่อยขึ้นกับการกระบวนเก็บหรือบันทึกข้อมูลมากนัก17,18 วิธีการศึกษาอัตราการฆ่าตัวตายโดยจำแนกตามเพศหรือช่วงวัยนี้ ในช่วงหลังเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้นในการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแต่ละภูมิภาค หรือแต่ละประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกันแต่คนละเวลา18

ผลการศึกษาในด้านอัตราการฆ่าตัวตายโดยรวมตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 6 เศษๆ ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นอัตราที่จัดว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (ดูตารางที่ 1) โดยอัตราการฆ่าตัวตายที่ต่ำกว่า 5 ต่อแสนประชากรจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หากอยู่ระหว่าง 5-15 จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และระหว่าง 15-30 จัดว่าสูง13 อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่า การฆ่าตัวตายในประเทศจะมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติล่าสุด ในปีพ.ศ. 2538 การฆ่าตัวตายจัดอยู่ในลำดับที่ 10 ของกลุ่มตายตามอัตราต่อแสนประชากร 10 กลุ่มแรก6

เมื่อพิจารณาตามความแตกต่างทางเพศแล้วจะเห็นชัดว่าตั้งแต่พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา อัตราการฆ่าตัวตายระหว่างเพศหญิงกับชายเริ่มมีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะเพศชายจะเห็นว่า ตั้งแต่ในพ.ศ. 2530 เป็นต้นมาอัตราการฆ่าตัวตายมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เพศหญิงนั้น ตั้งแต่ปี 2526 อัตราการฆ่าตัวตายเริ่มลดลงเรื่อยๆ และเมื่อวิเคราะห์โดยดูความสัมพันธ์ระหว่างเพศและช่วงวัยที่พบการฆ่าตัวตาย ปรากฎว่าในวัยตั้งแต่ 20 ถึง 40 ปีนั้น เพศชายจะมีการฆ่าตัวตายในอัตราที่สูงกว่าเพศหญิงค่อนข้างมาก (ดูแผนภูมิที่ 2) ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของเพศชายที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเป็นจากการเพิ่มขึ้นของการฆ่าตัวตายในวัยนี้

เพื่อทดสอบสมมติฐานนี้ จึงศึกษาโดยเปรียบเทียบ อัตราการฆ่าตัวตายระหว่างเพศชายกับเพศหญิงจำแนกตามช่วงวัย จากรายงานของจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ และสุมมนา วิศัลยบุตร19 ในปีพ.ศ. 2527 กับอัตราการฆ่าตัวตายในอีก 10 ปีให้หลัง คือ พ.ศ. 2536 พบว่าอัตราส่วนการฆ่าตัวตายของเพศชายในพ.ศ. 2536 เพิ่มสูงขึ้นในช่วงอายุ 15-39 ปี และช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป ในขณะที่เพศหญิงวัย 15-29 ปีลดลงกว่าก่อน (ดูแผนภูมิที่ 4) ดังนั้น อัตราการฆ่าตัวตายในเพศชายเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น ปัจจัยสำคัญเป็นจากการที่เพศชายในช่วงวัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ตอนต้นมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทางเอเชียด้วยกันแล้ว ประเทศไทยมีอัตราการส่วนฆ่าตัวตายของเพศชายต่อหญิงสูงกว่าประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ18

ในแง่ของช่วงวัยที่ฆ่าตัวตายนั้น ในการศึกษานี้ ซึ่งอิงข้อมูลระหว่างพ.ศ. 2535-2539 พบการฆ่าตัวตายสูงสุดช่วง 20-25 ปี และช่วงวัย 15-19 ปียังพบไม่สูงมากนัก ในขณะที่การศึกษาของสุดสบาย จุลกทัพพะ ในปี พ.ศ. 253316 พบการฆ่าตัวตายสูงสุดในช่วงวัย 15-25 ปี และไพฑูรย์ ณรงค์ชัย20 ซึ่งศึกษาจากศพที่ส่งมาตรวจชันสูตรที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2532-2536 พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายมีอายุอยู่ในช่วง 21-30 ปีมากที่สุด ความแตกต่างนี้ อาจเป็นจากการแบ่งช่วงวัยที่ศึกษาไม่ตรงกัน โดยสุดสบาย จุลกทัพพะ แบ่งช่วงอายุที่ศึกษาเป็นช่วงละ 10 ปี (15-25) และไพฑูรย์ ณรงค์ชัย แบ่งช่วงละ 10 ปีเช่นกัน แต่แบ่งที่ช่วงอายุ 21-30 ปี ซึ่งหากได้แบ่งย่อยลงไปอีกเป็นช่วงละ 5 ปีก็น่าจะพบเช่นเดียวกับการศึกษานี้

ในขณะที่เพศชายมีการฆ่าตัวตายสูงสุดในช่วงวัย 20-24 ปี นั้น พบว่าเพศหญิงมีการฆ่าตัวตายสูงสุดในช่วงวัย 15-19 ปีและลดลงเรื่อยๆ หลังจากนั้น หากมองในแง่ของการมีคู่ครองแล้วอาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงวัยของการเริ่มมีคู่ครองเช่นเดียวกัน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเพศหญิงจะมีคู่ครองที่มีอายุมากกว่าตนเอง

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าช่วงวัยที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดในประเทศไทยคือช่วงวัยเริ่มมีคู่ครอง เป็นวัยต่อของการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่เริ่มรับมีการผิดชอบด้วยตนเองทั้งในด้านการงานและชีวิตคู่ เป็นวัยที่ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดส่วนตัวกับสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาในมโนธรรมหรือประเพณีวัฒนธรรมมีเด่นชัดขึ้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการพัฒนาไปในสู่รูปแบบของสังคมตะวันตกก่อให้เกิดความบีบคั้นสูงแก่ผู้ที่อยู่ในวัยเริ่มก่อร่างสร้างตัว วัยที่ต้องรับผิดชอบมากต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น สังคมไทยในระยะหลังมีลักษณะเป็นสังคมบริโภค21 สังคมแห่งวัตถุนิยม ทำให้ต้องมีการแสวงหาทรัพยากรเพื่อการใช้จ่ายอย่างมาก ประเวศ วะสี22 กล่าวว่าสมัยก่อนๆ สังคมเปลี่ยนแปลงช้า คน องค์กร และสถาบันทางสังคมจึงมีเวลาปรับตัว แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวของคน องค์กร และสถาบันไม่ทันกัน จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น ก่อให้เกิดความเครียดในสังคม นำไปสู่การเสื่อสลายขององค์กรหรือสถาบัน หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ เช่น ติดสารเสพย์ติด ความรุนแรง และการฆ่าตัวตาย การเสพสุราน่าจะถือเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะเครียดของสังคม จากการรวบรมข้อมูลของสถาบันวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหลักฐานบ่งชี้ว่าคนไทยเพิ่มการดื่มสุราขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยในช่วง พ.ศ. 2530-2535 ปริมาณการดื่มสุราเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละร้อย อัตราตายของโรคตับแข็งและโรคตับเรื้อรังเพิ่มจาก 4.4 ต่อแสนประชากรในปีพ.ศ. 2505 เป็น 9.4 ต่อแสนประชากรในพ.ศ. 253523

พระเทพเวทีกล่าวว่า วัฒนธรรมแบบเดิมๆ ของไทยเราคือวัฒนธรรมสบายๆ เมื่อมาพบกับเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากตะวันตก เป็นเทคโนโลยีเชิงบริโภค เลยยิ่งสบายมากขึ้นทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเป็นคนลวกๆ ไม่ชอบเผชิญปัญหา และเป็นคนอ่อนแอเปราะบาง ตลอดจนเป็นคนมักง่าย ไม่ต่อสู้ความยาก กลายเป็นคนที่ปล่อยตัวและล้มเหลวได้ง่าย24

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อเพศชายมากกว่าเพศหญิง ตามประเพณีไทยแล้วเป็นที่ยอมรับกันว่าหน้าที่ของภรรยาคือการดูแลจัดการเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน และสามีมีหน้าที่จัดการเรื่องเกี่ยวกับภาระนอกบ้าน การหาเลี้ยงคนในครอบครัว ตลอดจนการติดต่อกับสังคมภายนอก25 แม้ในปัจจุบันในสังคมเมืองใหญ่การแบ่งบทบาทเช่นนี้อาจไม่ชัดเจนนัก แต่ยังอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่แล้วบทบาทของคู่ครองในครอบครัวยังคงลักษณะนี้อยู่ จากการศึกษาของสุนทรี โคมิน26 เพศชายจะสนใจเรื่องนอกครอบครัว เรื่องของอำนาจ เรื่องระหว่างบุคคล ในขณะที่เพศหญิงสนใจเรื่องในครอบครัว

การเลี้ยงดูตามประเพณีไทยนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์27 ตั้งข้อสังเกตว่า เพศชายจะเติบโตขึ้นมาโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนัก เตรียมเป็นเจ้าคนนายคน ในขณะที่เพศหญิงถูกเลี้ยงดูมาในรูปแบบที่เตรียมให้ต้องรับผิดชอบครอบครัวในหลายๆ ด้าน อาจจะถึงกระทั่งด้านเศรษฐกิจของครอบครัว การเลี้ยงดูเช่นนี้อาจทำให้เพศชายปรับตัวได้ไม่ดีกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในสภาพสังคมเศรษฐกิจยุคปัจจุบันครอบครัวใหม่ต้องต้องรับผิดชอบต่อภาระต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น ความสัมพันธ์หรือการพึ่งพาครอบครัวเดิมลดลง ความเครียดที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวหรือหัวหน้าครอบครัวในช่วงปีต้นๆ ของการแต่งงานจึงมีค่อนข้างสูง

สภาพความบีบคั้นที่แตกต่างกันดังกล่าวนี้ จะเห็นได้จากทั้งงานวิจัยของ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และคณะ28 ซึ่งศึกษาการพยายามฆ่าตัวตายในจังหวัดเชียงราย และจันทรเพ็ญ ชูประภาวรรณและวิสุทธิ์ กิตติวัฒน์14 ซึ่งศึกษาการพยายามฆ่าตัวตายในกรุงเทพมหานคร พบว่าเหตุผลของการฆ่าตัวตายในเพศหญิงเกือบครึ่งหนึ่งเป็นจากความขัดแย้งกับคู่สมรสหรือคนรัก ในขณะที่เพศชายนั้นส่วนใหญ่เป็นจากขัดแย้งกับญาติ โดยเฉพาะการมีปากเสียงกับบิดามารดาในเรื่องการเงินหรือการงาน

สาเหตุประการหนึ่งที่อาจทำให้พบเพศชายฆ่าตัวตายมากกว่าเพศหญิง ได้แก่ วิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตายที่แตกต่างกัน โดยพบว่าเพศชายมักใช้วิธีที่รุนแรงกว่าเพศหญิง ทำให้อัตราการตายสำเร็จสูงกว่า ดังในการศึกษานี้ที่พบว่าเพศชายมักใช้วิธีผูกคอตาย ในขณะที่เพศหญิงมักใช้ยาหรือสารเคมี (ดูตารางที่ 3) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ของ สุดสบาย จุลกทัพพะ16 ไพฑูรย์ ณรงค์ชัย20 และจันทรเพ็ญ ชูประภาวรรณและวิสุทธิ์ กิตติวัฒน์14 ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และคณะ28 ซึ่งศึกษาผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายก็ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่าเพศชายมักใช้วิธีการที่รุนแรงกว่าการกินยา หรือถ้ากินยาก็เลือกสารที่เป็นพิษกว่าที่เพศหญิงเลือก

ในด้านวิธีการที่ใช้นั้น จากการศึกษาในอเมริกาของ Kellerman29 พบว่า situational risk factor ในการฆ่าตัวตายที่มีความสำคัญมากที่สุดประการหนึ่ง ได้แก่ การมีวัตถุอันตรายในบ้านซึ่งได้แก่อาวุธปืน เมื่อพิจารณาจากวิธีการฆ่าตัวตายในประเทศไทย situational risk factor ในการฆ่าตัวตายที่มีความสำคัญน่าจะเป็นการมีสารพิษในบ้านหรือการหามาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าวัชชพืช ยาฆ่าแมลง หรือยาเบื่อหนู ก็ตาม ดังไพฑูรย์ ณรงค์ชัย20 พบว่าสารพิษที่ใช้ในการฆ่าตัวตายอยู่ในกลุ่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นประเภทแลนเนทมากที่สุด เนื่องจากเป็นสารที่นิยมใช้ในการเกษตรทางภาคเหนือมากที่สุด จึงมีอยู่ในบ้านหรือหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาดที่รุนแรง ในประเทศที่พัฒนาแล้วปัญหาอันตรายจากยาฆ่าแมลงมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสารพิษอื่นๆ ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาปัญหาการเป็นพิษจากยาฆ่าแมลงเป็นปัญหาใหญ่ มีผู้ประมาณว่าภาวะเป็นพิษจากยาฆ่าแมลงนี้ 2 ใน 3 เป็นมาจากการใช้ฆ่าตัวตาย30

นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจเป็นจากความรู้สึกผูกพันกับคนในครอบครัว ซึ่งเพศหญิงจะมีมากกว่าชาย ความรู้สึกนี้จะเป็นสิ่งต่อต้านพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ซึ่ง Venkoba Rao31 จิตแพทย์ชาวอินเดียเรียกว่า suicide counters จากการสังเกตว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหญิงชาวอินเดีย มีการฆ่าตัวตายไม่มากเมื่อเทียบกับทางตะวันตก เมื่อสอบถามพบว่าผู้ป่วยบอกว่าคิดอยากตายหรือคิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย แต่ไม่ทำ เพราะเป็นห่วงลูก หรือห่วงพ่อแม่จะไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยไทยก็พบลักษณะเช่นนี้อยู่เสมอๆ

วัยสูงอายุพบว่ามีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มากเท่ากับวัยหนุ่มสาว ในการศึกษาช่วงปีพ.ศ. 2535-2539 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของวัยสูงอายุต่อวัยหนุ่มสาวเท่ากับ 0.9:1 โดยในเพศชายพบ 1:1 เพศหญิงเท่ากับ 0.6:1 ต่างจากประเทศทางตะวันตกซึ่งพบการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มวัยสูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ดังเช่น Vaillant และ Blumental32 ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “the increasing risk of suicide as a function of age is one of the most basic facts about suicide in the United States” และต่างจากประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่อัตราการตายในหนุ่มสาวมีไม่สูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัยสูงอายุซึ่งพบมากกว่าวัยหนุ่มสาวถึงประมาณ 7 เท่า18 (แผนภูมิที่ 5)

ความแตกต่างในแง่อัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความแตกต่างในแง่ของสัดส่วนของประชากรสูงอายุ เนื่องจากปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุอันได้แก่ การอยู่โดดเดี่ยว คู่สมรสเสียชีวิต กังวลใจด้านการเงิน และสุขภาพไม่สมบูรณ์ดังแต่ก่อนนั้น ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้นประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก ก็ย่อมมีโอกาสพบพฤติกรรมฆ่าตัวตายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ในประเทศไทยพบร้อยละ 5 ในขณะที่ในญี่ปุ่นพบร้อยละ 15 ฮ่องกงพบร้อยละ 10 สิงคโปร์พบร้อยละ 7 และจีนพบร้อยละ 6 (รายงานมีตั้งแต่พ.ศ. 2535-2539)33 จากแผนภูมิที่ 5 ประเทศที่ผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงได้แก่สิงคโปร์และจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุในสัด ส่วนที่ไม่มาก ในแง่ของอายุขัยโดยเฉลี่ยนั้น ก็พบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน เช่น ประชากรไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับประชากรจีน (ชาย 67 ปี หญิง 72 ปีและชาย 67 ปี หญิง 72 ปีในไทยและจีนตามลำดับ34)

ดังนั้นความแตกต่างในเรื่องของอายุขัยโดยเฉลี่ยหรือสัดส่วนผู้สูงอายุ จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุของความแตกต่างในอัตราการฆ่าตัวตายที่พบในผู้สูงอายุ

ในแง่ของการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับทางตะวันตกแล้ว ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่ง คือ เรื่องของชีวิตครอบครัว วัยสูงอายุเป็นวัยที่ต้องพึ่งการช่วยเหลือจากผู้อื่นในระดับหนึ่ง ซึ่งในสังคมตะวันตก เรื่องของ self-independecnce หรือ self-reliance เป็นเรื่องสำคัญ การต้องพึ่งพิงผู้อื่นเป็นสิ่งที่มีผลต่อ self-esteem ของตนเองเป็นอย่างมาก สังคมตะวันตกโดยเฉพาะสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ความหนุ่มสาว ความสร้างสรรค์ ถือกันว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ความชราภาพนั้นมีภาพลักษณ์ไปในทางตรงข้าม จึงมีความบีบคั้นทางวัฒนธรรมต่อผู้สูงอายุในทางตะวันตกค่อนข้างมาก35 ในขณะที่สังคมบ้านเรานั้นเป็นสังคมที่เน้นการจัดลำดับชั้นของคน ซึ่งนอกเหนือจากชาติตระกูลแล้ว ความมีอาวุโสก็ถือกันว่าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เยาว์ต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพผู้สูงอายุ ค่านิยมในเรื่องของความกตัญญูในครอบครัวยังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ การที่ลูกหลานต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตอบแทนถือเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดในการที่ต้องพึ่งลูกหลาน36

ในการสำรวจข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของคนหนุ่มสาวไทยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและดูแลผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่ให้การดูแลบ่อยและสม่ำเสมอและมีเจตคติแน่วแน่ที่จะให้การดูแลจนกว่าผู้สูงอายุจะจากไป และพบว่าผู้สูงอายุหญิงเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากลูกๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุเพศชาย37 นอกจากนี้ ในระดับชุมชน ผู้รู้ในชุมชนมักเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับการยกย่องจากคนในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในชนบท นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีสังคมของตนเองในรูปของการไปวัด การมีงานพิธี งานบุญ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุในบ้านเราไม่รู้สึกแปลกแยกจากลูกหลานหรือชุมชน ตามสมมุติฐานเช่นนี้ในสังคมเมืองที่เปลี่ยนเป็นตะวันตกมากขึ้น ครอบครัวห่างเหินกันมากขึ้น สังคมนอกครอบครัวของผู้สูงอายุมีน้อย น่าจะพบการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุมากกว่าในชนบท ซึ่งการเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายระหว่างกรุงเทพมหานครกับชัยนาทสนับสนุนสมมุติฐานนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสังคมที่มีค่านิยมในการเคารพผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีบทบาทในครอบครัวมากเช่นกัน แต่ก็ยังพบการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุค่อนข้างมาก จึงน่าจะมีปัจจัยที่มีผลกระทบอื่นๆ นอกเหนือไปจากที่กล่าวมานี้ น่าที่จะมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศเหล่านี้ว่า มีอะไรที่แตกต่างกันบ้างในการดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุม อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง และอะไรเป็นปัจจัยปกป้องของแต่ละชุมชน หรือหากจะศึกษาในประเทศก็อาจศึกษาเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดที่มีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสูงกับจังหวัดที่มีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายต่ำ

การเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายระหว่างกรุงเทพมหานครกับชัยนาทนั้นมีข้อน่าสังเกตอีกหลายประการ เช่น อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในจังหวัดชัยนาทสูงกว่ากรุงเทพมหานครถึง 2 เท่า โดยเฉพาะในเพศชายวัย 25-34 ปี และเพศหญิงวัย 45-54 ปี ซึ่งตรงกันข้ามกับสมมติฐานว่าเมืองใหญ่จะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเมืองเล็ก เนื่องจากสภาพสังคมมีความบีบคั้นมากกว่า ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การจัดอันดับคุณภาพชีวิตของคนโดยกระทรวงมหาดไทยนั้นจังหวัดชัยนาทจัดอยู่ในอันดับที่ 7 ของภาค และอันดับที่ 8 ของประเทศ7 แต่กลับพบการฆ่าตัวตายในอัตราที่สูงโดยเฉพาะในประชากรวัยแรงงาน จากการศึกษาของ Tousignant และ Mishara38 พบว่ารายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการฆ่าตัวตายและวัฒนธรรม แทบจะทั้งหมดมีความเห็นว่า การฆ่าตัวตายจัดเป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพชีวิตของประชากรในวัฒนธรรมนั้นๆ และเป็นดัชนีที่นิยมใช้กันมากที่สุดตัวหนึ่งในการบ่งชี้สภาวะสุขภาพของสังคม คำว่าดัชนีคุณภาพชีวิตของกระทรวงมหาดไทยสำหรับจังหวัดชัยนาทนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากการประเมินอิงปัจจัยทางกายภาพทั้งหมด แต่คุณภาพชีวิตทางจิตใจซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อยนั้น กลับมิได้นำมาร่วมประเมินด้วย (ดัชนีคุณภาพชีวิตของคนไทยในชนบทของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคำนวณจากข้อมูล กชช. 2ค.ผนวก จปฐ.13 ตัวแปร แบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ น้ำดื่มน้ำใช้ สาธารณสุข การศึกษา ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม7)

การพบการฆ่าตัวตายของประชากรในจังหวัดชัยนาทสูง โดยเฉพาะในเพศชายวัยหนุ่มสาว นั้น หากมองในระดับมหภาค สังคมมีการขับเคลื่อนไปในทางตะวันตกมากขึ้น เป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกระทบสูงต่อประชากรในระดับภูมิภาค ซึ่งอาจปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าประชากรในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม การสรุปเช่นนี้น่าจะคร่าวเกินไป การฆ่าตัวตายเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างจะเป็นแนวโน้มเฉพาะถิ่น ในการศึกษานอกจากจะดูแนวโน้มโดยรวมจากสถิติระดับชาติแล้ว ยังควรศึกษาปํญหาในบริบทของสังคมเศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะถิ่น เข้าใจถึงพลังขับเคลื่อนในระดับมหภาคที่มีผลกระทบต่อสังคมในระดับภูมิภาคแต่ละแห่งซึ่งจะแตกต่างกันออกไป การศึกษาในแง่มุมของระบาดวิทยาทำให้ทราบถึงระดับของปัญหา บอกได้ว่าปรากฏการณ์นี้มีลักษณะอย่างไร แต่การจะเข้าใจถึงที่มาของปัญหา การเข้าใจถึงปัญหาในมุมมองระดับชุมชนนั้น จำต้องมีการศึกษาในระดับลึก ซึ่งควรเป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการ (multidiciplinary research) ดังเช่น Cohler และ Jenuwine39 ได้เสนอแนวการศึกษาโดยการผสมผสานวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์คือ narrative method เข้าในกระบวนการวิจัย เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงปรากฏการณ์การฆ่าตัวตายในแต่ละช่วงวัยในชุมชนนั้นๆ หรือ Corin35 เสนอว่าควรมี in-depth ethnographic study ร่วมไปกับข้อมูลทางสถิติ โดยเฉพาะการศึกษาเปรียบเทียบในกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยปกป้องในกลุ่มนั้น ตลอดจนเข้าใจว่าปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่พฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะ

    1. อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยโดยรวมจัดว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งดูเสมือนว่าปัญหานี้มีไม่มาก อย่างไรก็ตาม อัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละภูมิภาคย่อมแตกต่างกันออกไป การวางแผนงานสุขภาพจิตในเรื่องนี้ควรพิจารณาลงไปถึงระดับภาคและระดับจังหวัดตามลำดับ เพื่อที่จะได้กำหนดแหล่งเป้าหมายที่มีปัญหาสูงได้ชัดเจนขึ้น และเพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาซึ่งแต่ละแหล่งก็มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป วิธีการนี้น่าจะเหมาะสมและสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่าการกำหนดนโยบายหรือแผนงานในระดับประเทศ
    2. เพศชายในวัย 20-34 ปีในช่วง 5 ปีหลังมีการฆ่าตัวตายในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างชัดเจน ควรมีการศึกษาในแนวลึกเพื่อที่จะได้เข้าใจมากขึ้นว่าอะไรเป็นปัจจัยบีบคั้นที่พบบ่อยในช่วงวัยนี้ ทำใมชายในวัยนี้จึงปรับตัวต่อปัญหาไม่ได้ หรือมีทางออกต่อปัญหาด้วยวิธีนี้มากกว่าวัยอื่น
    3. มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายที่พบว่าได้ผลในระดับมหภาคได้แก่การทำให้สารที่นิยมใช้ในการฆ่าตัวตายนั้นยากแก่การซื้อหาหรือใช้หรือไม่สะดวกแก่การฆ่าตัวตาย41 ดังการศึกษาของ Marzuk และคณะ42 ซึ่งพบว่าปัจจัยเสี่ยงในการฆ่าตัวตายโดยรวมซึ่งแตกต่างในแต่ละประเทศนั้น สามารถอธิบายได้จากความแตกต่างในความยากง่ายของมีการวัตถุหรือสารอันตรายไว้ในครอบครอง จึงควรมีการควบคุมสารพิษที่มีอัตรายสูง หรือหามาตรการที่ทำให้การฆ่าตัวตายโดยการใช้สารเคมีลำบากขึ้น เช่น ให้ผู้ผลิตมีการเพิ่มกลิ่นหรือสารทำให้อาเจียนในแลนเนทหรือสารพิษที่มักใช้บ่อย
    4. ลักษณะครอบครัวไทยปัจจุบันต่างจากก่อนมาก มีการเคลื่อนย้ายของประชากรในวัยแรงงานจากต่างจังหวัดมายังส่วนกลางสูง ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งหรือต้องรับภาระดูแลเด็กเล็กแทนพ่อแม่ของเด็ก ดังตัวอย่างจากการศึกษาในชุมชนแออัดจังหวัดกาญจนบุรีของจุมพล สมประสงค์ ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงสุดถึงประมาณร้อยละ 6040 แม้ว่าที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุยังไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพสังคมแล้วปัญหาในผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ควรที่จะมีการศึกษาถึงปัจจัยปกป้องและปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในวัยสูงอายุ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันในผู้สูงอายุต่อไป

สรุป

อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะจัดว่ายังไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยที่ในช่วงทศวรรษหลังนี้เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นกว่าเพศหญิงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเพศชายในช่วงวัย 20-24 ปี ส่วนเพศหญิงพบการฆ่าตัวตายสูงในช่วงอายุ 15-19 ปี วัยสูงอายุพบการฆ่าตัวตายไม่มาก ซึ่งอาจเป็นจากประชากรในวัยหนุ่มสาวยังมีค่านิยมในการดูแลผู้สูงอายุมากอยู่ วิธีการฆ่าตัวตายที่พบบ่อยในเพศชายได้แก่การแขวนคอ ส่วนในเพศหญิงนิยมกินยาเกินขนาดหรือใช้สารเคมี อัตราการฆ่าตัวตายในวัยหนุ่มสาวของจังหวัดชัยนาทสูงกว่ากรุงเทพมหานครมาก ในขณะที่การฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุพบไม่มาก ควรที่จะศึกษาโดยวิธีการทางสังคมศาสตร์ต่อไปเพื่อที่จะได้อธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ชัดเจนขึ้น

 เอกสารอ้างอิง

1. Kaplan HI, Sadock BJ, Grebb JA, editors. Synopsis of psychiatry. 7th ed. Baltimore: Williams &Wilkins, 1994: *.

2. Desjarlais R, Eisenberg L, Good B, Kleinman A. World mental health: Problems and priorities in low-income countries. New York: Oxford University Press, 1995:68-86.

3. สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา. รายงานการวิเคราะห์สถานภาพของปัญหาสุขภาพจิต 6 เรื่อง. กรุงเทพ: ศูนย์ผลิตเอกสารโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา, 2532: 1-13.

4. ประเวศ วะสี. ความสุข. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2539: 1-7.

5. อรพิน ทรัพย์ล้น. การจัดทำข้อมูลการเกิดและการตาย. ประมวลข่าวสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2540; 21(210): 1-5.

6. สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2538. กรุงเทพ: กระทรวงสาธารณสุข, 2539.

7. ศูนย์สารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. ข้อมูลสถิติสำคัญจังหวัดชัยนาท. กรุงเทพมหานคร: ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์, 2539: 6,14,38,52.

8. The Urbanization and Primacy of Bangkok. Available URL: http://www.macalester.edu/~geograph/world-urbanization/laying/

9. Sainsbury P. Validity and reliability of trends in suicide statistics. Wld Hlth statist Quart 1983; 36:339-48.

10. กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2531. กรุงเทพ: กระทรวงสาธารณสุข, 2533.

11. สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2536. กรุงเทพ: กระทรวงสาธารณสุข, 2538.

12. Moscicki EK. Epidemiology of suicide. Int Psychogeriatr 1995; 7:137-48.

13. Diekstra RFW, Gulbinat W. The epidemiology of suicidal behavior: a review of three continents. Wld Hlth statist Quart 1993; 46: 52-68.

14. จันทรเพ็ญ ชูประภาวรรณ, วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์. รายงานการวิจัยอัตวินิบาตกรรมในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2517-2527. กรุงเทพมหานคร: 2529.

15. Monk M. Epidemiology. In: Perlin S. editor. A handbook for the study of suicide. New York: Oxford University Press, 1975: 185-211.

16. สุดสบาย จุลกทัพพะ. การสำรวจภาวะการฆ่าตัวตายในประเทศไทย 2533. สารศิริราช 2536, 45: 245-54.

17. Robins LN, Kulbok PA. Epidemiologic study in suicide. In: Frances AJ, Hales RE, editors. American Psychiatric Press review of psychiatry volume 7. Washington, D.C., American Psychiatric Press: 289-306.

18. Pritchard C. Suicide in the People’s Republic of China categorized by age and gender: evidence of the influence of culture on suicide. Acta Psychiatr Scand 1996; 93: 362-7.

19. Choprapawon C, Visalyaputra S. Suicidal behavior in Thailand. In: Tseng WS, Peng KL, ed. Suicidal behavior in the Asia-Pacific region. Kent Ridge: Singapore University Press, 1992: 127-42.

20. ไพฑูรย์ ณรงค์ชัย. สาเหตุการฆ่าตัวตายพบที่โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2532-2536. เชียงใหม่เวชสาร 2538: 34: 15-21.

21. พระเทพเวที. การพัฒนาจริยธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธรรม, 2535: 10-16.

22. ประเวศ วะสี. บทเรียนจาก 18 พฤษภามหาวิปโยค กับการฟื้นฟูบูรณะชาติบ้านเมือง. กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2535: 19.

23. สมชัย บวรกิตติ, ประเสริฐ ทองเจริญ. ภาวะวิกฤติสังคมไทยกับผลกระทบต่อสุขภาพ. สารศิริราช 2540; 49(12): 1191-9.

24. พระธรมปิฎก. ภาษา วรรณกรรมและวัฒนธรรมไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธรรม, 2538: 40.

25. นิศา ชูโต. บทบาทชายหญิงในครอบครัว. รายงานการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “ปีสตรีไทย” พุทธศักราช 2535. 1-2 มีนาคม 2535. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2535: 72-4.

26. Komin S. Psychology of the Thai people: values and behavioral patterns. Bangkok: National Institute of Development Administration, 1990: 49-58.

27. นิธิ เอียวศรีวงศ์. สถานภาพผู้หญิง: อดีต ปัจจุบัน อนาคต. รายงานการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “ปีสตรีไทย” พุทธศักราช 2535. 1-2 มีนาคม 2535. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2535: 40-9.

28. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, อัปษรศรี ธนไพศาล, สุพรรณี เกกินะ. รายงานผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตาย 485 คนของโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2541 (รอตีพิมพ์)

29. Kellerman A, Rivara FP, Somes G, et al. Suicide in the home in relation to gun ownership. New Engl J Med 1992; 327: 467-72.

30. Jeyaratnam J. Acute pesticide poisoning: a major global health problem. Wld Hlth statist Quart 1990; 43: 139-43.

31. Venkoba Rao A. Suicide in the elderly: a report from India. Crisis 1991; 12(2):33-9.

32. Vaillant G, Blumental S. Introduction-Suicide over the life-cycle: Risk factors and life-span development. In: Blumental S, Kupfer D. editors. Suicide over the life cycle. Washington, DC: American Psychiatric Press 1990: 1-16.

33. Population Division, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific. ESCAP population data sheet, 1997: Population and Development Indicators for Asia and the Pacific. (Available URL: http://www.undp.org/popin/wdtrends/cap/capa.htm).

34. Population Division, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific. ESCAP population data sheet, 1997: Population and Development Indicators for Asia and the Pacific. (Available URL: http://www.undp.org/popin/wdtrends/cap/capi.txt).

35. Corin E. From a cultural stance: Suicide and aging in a changing world. Int Psychogeriatr 1995; 7:335-56.

36. สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย: ค่านิยม: ครอบครัว: ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2536: 31-49.

37. ศิริวรรณ ศิริบุญ. ข้อเท็จริงและทัศนคติเกี่ยวกับการการเลี้ยงดูและการดูแลผู้สูงอายุของคนหนุ่มสาวไทย. กรุงเทพมหานคร: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.

38. Tousignant M, Mishara BL. Suicide and culture: A review of the literature (1969-1980). Transcultural Psychiatric Research Review 1981; 18: 5-32.

39. Cohler BJ, JenuwineMJ. Suicide, life course, and life story. Int Psychogeriatr 1995; 7:199-220.

40. จุมพล สมประสงค์. การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในเขตชุมชนแออัด ของเทศบาลเมืองกาญจนบุรี. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2540; 42: 184-96.

41. Lewis G, Hawton K, Jones P. Strategies for preventing suicide. Br J Psychiatry 1997; 171: 351-4.

42. Marzuk PM, Leon AC, Tardiff K, et al. The effect of access to lethal methods of injury on suicide rates. Arch Gen Psychiatry 1992; 49: 451-8.

 


 ตารางที่ 1 แสดงอัตราการฆ่าตัวตายและสัดส่วนระหว่างเพศของประเทศต่างๆ 2 

ประเทศ

ปีที่รายงาน

รวม(ต่อแสน)

ชาย(ต่อแสน)

หญิง(ต่อแสน)

ชาย/หญิง

ฮังการี

1991

38.6

58.0

20.7

2.8

ศรีลังกา

1986

33.2

46.9

18.9

2.5

รัสเซีย

1990

21.1

34.4

9.1

3.8

จีน

1989

17.1

14.7

19.6

0.8

ญี่ปุ่น

1991

16.1

20.6

11.8

1.7

เยอรมัน

1990

15.8

22.4

9.6

2.3

สิงคโปร์

1990

13.1

14.7

11.5

1.3

แคนาดา

1990

12.7

20.4

5.2

3.9

สหรัฐอเมริกา

1989

12.2

19.9

4.8

4.1

ฮ่องกง

1989

10.5

11.89

9.1

1.3

อินเดีย

1988

8.1

9.1

6.9

1.3

ไทย

1985

5.8

7.1

4.5

1.6

  ตารางที่ 2 อัตราการฆ่าตัวตายรวมและจำแนกตามเพศ ตั้งแต่พ.ศ. 2520-2539 (อัตราต่อแสนประชากร) * 

อัตรารวม

ชาย

หญิง

ชาย:หญิง

2520

5.9

6.3

5.5

1.1

2521

5.9

6.0

5.8

1.0

2522

6.7

6.9

6.5

1.1

2523

7.4

7.6

7.3

1.0

2524

7.3

7.6

7.0

1.1

2525

6.7

7.0

6.3

1.1

2526

6.6

6.9

6.2

1.1

2527

6.0

6.8

5.2

1.3

2528

5.8

6.8

4.8

1.4

2529

5.4

6.9

4.0

1.7

2530

5.8

7.1

4.5

1.6

2531

6.3

7.8

4.8

1.6

2532

6.7

8.7

4.7

1.9

2533

6.7

8.8

4.7

1.9

2534

6.4

8.6

4.1

2.1

2535

6.3(7.8)**

8.3(10.4)**

4.2(5.2)**

2.0

2536

6.7(8.2)**

9.1(11.2)**

4.3(5.3)**

2.1

2537

4.0

5.6

2.4

2.3

2538

7.2(8.8)**

10.6(12.9)**

3.9(4.7)**

2.7

2539

8.1(9.8)**

12.0(14.5)**

4.1(5.0)**

2.9

 *ข้อมูลก่อนพ.ศ. 2535 มาจากได้จากเอกสารอ้างอิงที่ 3, 10 และ 11

** ตัวเลขในวงเล็บได้แก่ age-adjusted rates

 ตารางที่ 3 วิธีการฆ่าตัวตายที่พบบ่อยจำแนกตามเพศ

เพศ

2535 (ร้อยละ)

2536 (ร้อยละ)

2538 (ร้อยละ)

2539 (ร้อยละ)

ชาย แขวนคอ (46.0) แขวนคอ (42.3) แขวนคอ (42.2) แขวนคอ (46.6)
  ยา (14.9) สารเคมี (14.1) ยา (18.8) สารเคมี (22.6)
  สารเคมี (12.0) ยา (12.5) ปืน (5.1) ปืน (6.2)
  ปืน (6.4) ปืน (5.6) สารเคมี (3.8)  
หญิง แขวนคอ (34.3) แขวนคอ (33.0) ยา (33.9) สารเคมี (39.5)
  สารเคมี (26.2) สารเคมี (22.4) แขวนคอ (30.5) แขวนคอ (36.4)
  ยา (20.7) ยา (19.1) สารเคมี (6.7) ปืน (2.2)
  ปืน (1.5) ปืน (2.4) ปืน (2.6)  

 

 

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us