เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย    Journal of the Psychiatric association of Thailand  สารบัญ (content)

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2543; 45(2): 117-127.  download PDF file 

บทบรรณาธิการ

  สุนทรภู่

บุญสวย เชิดเกียรติกุล

  สุนทรภู่หรือพระสุนทรโวหาร  ผู้มีฉายานามว่า  อาลักษณ์ขี้เมา  ได้รับเกียรติว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งในทางวรรณกรรมของชาติ  แม้ว่ายุคสมัยของสุนทรภู่จะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม  งานของสุนทรภู่ยังไม่ตาย  ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ  สุนทรภู่เป็นทั้งกวี  นักคิด  นักปรัชญาและนักอักษรศาสตร์  งานต่าง ๆ  ของสุนทรภู่จึงแพรวพราวด้วยคติธรรมและความไพเราะ  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกย่องสุนทรภู่ว่าเป็นกวีที่วิเศษสุดคนหนึ่ง  ถ้าให้เลือกเอากวีไทย  5  คน  ใคร ๆ  ก็ย่อมเลือกสุนทรภู่ไว้คนหนึ่ง  เพราะสุนทรภู่ดีทางกลอนเป็นเอกและสำนวนกลอนแบบปากตลาดที่ไม่มีใครสู้  ประวัติและงานของสุนทรภู่จึงเป็นที่สนใจและศึกษากัน  จึงทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตามทัศนะ  ดั่งฉบับของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  และฉบับของนายฉันท์  ขำวิไล  ที่เขียนแก้ให้สุนทรภู่ในทางดี  สุนทรภู่ไม่เพียงแต่มีคุณค่าแต่ในทางวรรณกรรม  ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเท่านั้น  ในด้านของจิตวิทยาก็มีความสำคัญที่ควรศึกษาอยู่ไม่น้อย  ทั้งทางประวัติส่วนตัว  บุคลิก  ตลอดจนงานที่ได้สร้างสรรค์ไว้

 

ประวัติและงานของสุนทรภู่

            สุนทรเกิดเมื่อ  ..2329  ในรัชกาลที่  1  (เมื่อ  180  ปีมาแล้ว)  ที่บริเวณโรงพยาบาลศิริราชปัจจุบัน  พ่อแม่สุนทรภู่เลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่อยู่ในครรภ์  พ่อไปบวชอยู่เมืองแกลง  แม่ไปเป็นแม่นมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง  และได้สามีใหม่  สุนทรภู่มีการศึกษาที่วัดศรีสุดารามจนได้เข้าเป็นเสมียนกรมพระคลังสวน  แต่มีนิสัยไม่ชอบทำงานอื่น  นอกจากแต่งบทกลอนและเกิดไปลอบรักกับแม่จันซึ่งอยู่ในวังจึงถูกจำคุก  จากนั้นจึงออกเดินทางไปพบพ่อ  เพื่อจะบวชล้างเคราะห์  แต่เกิดป่วยหนักจึงเดินทางกลับและได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้นเรื่องแรกเมื่ออายุ  22  ปี  (ก่อนอายุ  20  ปี  สุนทรภู่ได้เขียนหนังสือบ้างแล้วรวมทั้งนิทานเรื่องโคบุตร)  ได้เข้าเป็นมหาดเล็ก  ได้แต่งงานกับแม่จัน  และทะเลาะกับแม่จันด้วยเรื่องเมาและเจ้าชู้  จึงได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระพุทธบาทและแต่งนิราศพระบาทขึ้น  จากนั้นก็เร่ร่อนไปกับคณะละคร  เดินทางไปเพชรบุรีอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนากและขุนแพ่งพักหนึ่ง  ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน  พออายุ  30  ปีถูกสงสัยว่าร่วมมือทิ้งบัตรสนเท่ห์จึงหนีภัยไปเพชรบุรีอีกกับแม่จันจนอายุเข้า  35  ปี  พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดฯ  หากวีช่วยแต่งซ่อมสร้างวรรณคดีไทย  สุนทรภู่จึงเข้ารับราชการแสดงความสามารถเป็นกวีที่ปรึกษาและได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร  รับราชการไม่นานเกิดเมาเหล้าและทุบตีญาติผู้ใหญ่เลยต้องโทษจำคุกและหย่าร้างกับแม่จัน  ติดคุกอยู่ไม่นาน  รัชกาลที่  2  ทรงบทละครติดขัดโปรดให้สุนทรภู่มาช่วยต่อกลอน  (ระยะติดคุกนี้ได้เขียนเรื่องพระอภัยมณีขายฝีปากเลี้ยงตัวและเอาความคับแค้นที่อยู่ในคุกเล่าไว้ในเสภาขุนช้างขุนแผน)  และโปรดให้เป็นครูถวายอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์  สุนทรภู่ได้แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวาย  มาถึงรัชกาลที่  3  สุนทรภู่ก็ออกบวชเพราะเกรงอาญาด้วยขุ่นเคืองสุนทรภู่มาก่อนแล้วและระหว่างนั้นสุนทรภู่มีเรื่องอื่นๆ  ที่ยุ่งยากอยู่ด้วย  จึงไม่มีใครกล้าช่วยเหลือเพราะเกรงรัชกาลที่  3  อยู่  เมื่อสุนทรภู่บวชอายุได้  41  ปีอยู่ที่วัดเลียบ  ได้เป็นครูเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว  ซึ่งทรงอุปการะสุนทรภู่ในระหว่างนั้น  สุนทรภู่ได้เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ  และไปจังหวัดพิษณุโลกเพื่อหาลายแทง  เมื่อเจ้าฟ้า  2  พระองค์เสด็จกลับเข้าพระราชวัง  สุนทรภู่จึงคิดสึก  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงช่วยเหลือเพราะพอพระทัยในบทกลอน  บวชมาได้  3  พรรษาเกิดถูกกล่าวหาว่าเสพย์สุราและยุ่งกับผู้หญิงถูกขับไล่จากวัด  จึงแต่งเพลงยาวถวายโอวาทแด่เจ้าฟ้าทั้ง  2  พระองค์  ออกจากวัดเลียบเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยาและแต่งนิราศภูเขาทองขึ้นเมื่ออายุ  44  ปี  ย้ายมาอยู่วัดอรุณฯ  เดินทางไปเพชรบุรี  แต่งนิราศเมืองเพชร  (มีข้อขัดแย้งว่านิราศเรื่องนี้เป็นนิราศสุดท้ายของสุนทรภู่)  จากวัดอรุณฯ  ย้ายไปวัดโพธิ์เพราะพระองค์เจ้าลักขณาฯ  อุปสมบทที่วัดนี้  ได้เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรัง  และเขียนนิราศพระแท่นดงรังขึ้นโดยใช้ชื่อเณรหนูกลั่น  บุตรบุญธรรมเป็นผู้เขียนเมื่ออายุ  47  ปี  ปีรุ่งขึ้นได้เดินทางไปอยุธยาเพื่อค้นคว้ายาอายุวัฒนะที่วัดแก้วฟ้าและเขียนนิราศวัดแก้วฟ้าขึ้นใช้ชื่อเณรหนูพัดผู้แต่ง  (ใช้ชื่อบุตร  เพราะอยู่ในระหว่างบวช)  กลับมาอยู่วัดมหาธาตุ  1  พรรษา  พระองค์เจ้าลักขณาฯ  สิ้นพระชนม์  หมดที่พึ่งพาเลยลาสิกขาบท  รวมบวชอยู่  10  พรรษา  อายุเข้า  50  ปี  จากนั้นก็ตกยากอย่างหนักถึงกับลงเรือล่องลอยปล่อยชีวิตแก่เต็มที่มีภรรยาเรื่อยไป  และแต่งหนังสือหลายเรื่องมีกลอนสุภาษิตสอนหญิง  นิทานเรื่องลักษณวงศ์  ถึงอายุ  54  ปี  จึงบวชอีกพร้อมกับบุตรคนโตที่วัดเลียบ  แล้วย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นจึงแต่งกาพย์เทียบสอนอ่านภาษาไทยเรื่องพระไชยสุริยา  ระหว่างนี้ได้เดินทางไปสุพรรณฯ  เพื่อเล่นแร่แปรธาตุและแต่งโคลงนิราศสุพรรณฯ  เกิดมีความเดือดร้อนคิดสึกอีกจึงแต่งเรื่องรำพันพิลาปหวังว่าให้เป็นอนุสรณ์ที่จะร่ำลาจากวัดนี้ประมวลความทุกข์ยากทั้งหมดเข้าไว้  เผอิญได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงบวชอยู่มาอีก  3  พรรษา  จึงสึกเพราะได้ความเกื้อกูลจากกรมขุนอิศเรศรังสรรค์  พระอนุชาในรัชกาลที่  4  เดินทางไปสักการะพระปฐมเจดีย์  เขียนนิราศพระประฐมเรื่องสุดท้ายเมื่ออายุ  56  ปี  ครั้นรัชกาลที่  3 สวรรคต  พระบาทสมเด็จฯ  พระจอมเกล้าฯ  ขึ้นเสวยราชเป็นรัชกาลที่  4  ทรงสถาปนาพระอนุชาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าฯ  (วังหน้า)  สุนทรภู่ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหารเมื่ออายุ  66  ปี  รับราชการจนอายุ  70  ปี จึงถึงแก่กรรม

            นิราศเรื่องต่าง   ของสุนทรภู่คือกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นชีวิตของสุนทรภู่ที่แท้จริงเพราะได้รวบรวมเรื่องราวต่าง   ของตนเข้าไว้หมด  เป็นประจักษ์พยานที่ทำให้สามารถเข้าใจสุนทรภู่ได้อย่างแจ่มแจ้ง  นี่คือลักษณะของงานสร้างสรรค์  คือถ่ายทอดตนเองลงในงาน  นิราศต่าง   สุนทรภู่ได้บรรยายสิ่งต่าง   ที่อยู่รอบตน  นับแต่การเดินทางท่องเที่ยวไป  เปรียบเทียบตนเองอุปมาอุปมัยกับสิ่งเหล่านั้น  กล่าวถึงชีวิตที่คับแค้น  ผิดหวัง  และความใฝ่ฝัน  ตลอดจนความรักและความชิงชัง  แสดงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอ่อนไหวตามเหตุการณ์  การต่อสู้และการกระทำแสดงให้เห็นอุปนิสัยใจคอของสุนทรภู่ได้เป็นอย่างดี  ความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต  การเกี่ยวข้องกับคนต่าง   ที่ทั้งพอใจและเจ็บใจ  เหล่านี้ก่อให้เกิดความคิด  ปรัชญาและสุภาษิต  บรรยายออกมาเป็นบทกลอนที่เพราะพริ้งซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์และเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ  จึงได้รับการยกย่องเข้าเป็นวรรณกรรมอมตะ  สร้างความภาคภูมิใจแก่ชนชาติไทยที่ได้มีวรรณกรรมประจำชาติ

 

บุคลิกของสุนทรภู่

สุนทรภู่เกิดในครอบครัวที่แตกแยกพ่อและแม่หย่าร้างกันด้วยแม่มีเรื่องชู้สาวทำให้พ่อหนีออกบวช  เมื่อสุนทรภู่เกิดแม่ไปเป็นแม่นมอยู่ในวังปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงดูแทน  (สุนทรภู่จึงเป็นขวากหนาม  เป็นลูกรักลูกชังของแม่กระมัง)  และไม่ช้าก็มีสามีใหม่มีบุตรอีก  2  คน  ชีวิตสุนทรภู่ขาดความอบอุ่นขาดความผูกพัน  ทั้งพ่อและแม่ตลอดมา  ซึ่งกลายเป็นแบบฉบับอีกอันหนึ่งของสุนทรภู่ที่เป็นมิตรกับใครไม่เป็น  (loss of interpersonal relationship)  สุนทรภู่พบพ่อครั้งแรกเมื่อมีอายุ  21  ปี  ความรู้สึกต่อพ่อ  (ซึ่งเป็นลักษณะที่อ่อนแอและไม่อาจเป็นภาพพจน์ที่ดีต่อสุนทรภู่)  มีทั้งรักและสงสารดังได้กล่าวไว้ในนิราศเมืองแกลง  ส่วนแม่เป็นสิ่งที่เข้าใจสุนทรภู่ยาก  เป็นลักษณะที่ลังเล  คือมีทั้งรักและทั้งชังระคนกัน  (เพราะแม่คือต้นเหตุของการหย่าร้าง)  และจะเห็นได้ที่ได้สร้างความรู้สึกให้กับสุนทรภู่ที่มีต่อผู้หญิงทั้งในด้านดีและด้านร้าย  ชีวิตสุนทรภู่ตลอดเวลามีแต่ยุ่งยากอยู่กับผู้หญิง  และการแต่งงานครั้งแรกก็ลงเอยด้วยการหย่าร้าง  (สุนทรภู่ยังมีนิสัยของผู้หญิงติดตัวอยู่  เช่นการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน  จุกจิก  ค่อนแคะ  เห็นจะเป็นเพราะใกล้ชิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  และอยู่ใกล้รั้วใกล้วังด้วย)  ด้านพ่อเลี้ยง  สุนทรภู่ไม่มีเยื่อใยด้วยแม้แต่น้อย  (เห็นจะเป็นเพราะโกรธแทนพ่อ  และเป็นตัวการให้พ่อแม่หย่าร้าง)  เพราะไม่เคยเห็นกล่าวถึงที่ใดเลย  สำหรับน้องต่างพ่อทั้ง  2  คน  ดูสุนทรภู่รักใคร่ดีเพราะกล่าวถึงด้วยความห่วงใยอยู่บ่อย ๆ  ไว้ในนิราศ 

ทางจิตวิทยาว่าการหย่าร้างสร้างความกระทบกระเทือนต่อเด็กรุนแรงมาก  ธรรมชาติของเด็กกลัวการแตกแยก  (separation)  อยู่แล้ว  เพราะต้องการพึ่งพิง  (dependency  need)  นับแต่การคลอด  การหย่านม  การเจ็บไข้  การมีน้อง  การพลัดพราก  การเข้าโรงเรียน  และการถูกทอดทิ้ง  เด็กเริ่มมีความรู้สึกต่อโลกตั้งแต่เริ่มเกิดจากบุคคลที่อยู่ใกล้ตน  จากการสัมผัสทางกาย  จากการกดดันของความหิวและอื่น ๆ  จากความสุขสบายที่ได้รับสนอง  การเลี้ยงดู  การอบรม  การฝึกนิสัย  การชมเชย  การลงโทษ  ท่าทีของพ่อแม่  จะสร้างความคิดเข้าใจที่เป็นจริงและที่คาดคะเนต่อเด็ก  กลายเป็นแบบฉบับและนำออกแสดงต่อผู้อื่น  สภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว ตั้งแต่แรกเกิดมีบทบาทที่สำคัญยิ่งยวดที่จะช่วยให้เด็กเติบโตหรือขัดขวางสร้างปัญหาให้  ความผูกพันที่ดีจากแม่  พ่อ  และพี่น้องทำให้เด็กเชื่อมั่นในการที่เป็นที่รัก  และรักผู้อื่นเป็นความรักความสนใจช่วยให้เด็กทนความยุ่งยากต่าง ๆ  ได้ดี  เด็กจะมีวิธีเอาชนะความเกลียดและความอิจฉาของตน  เช่นทำตามอย่างแม่ช่วยดูแลน้อง  ทำตัวเป็นเพื่อนกับพี่ ๆ  น้อง ๆ  แทนที่จะเป็นศัตรูคู่แข่งกัน  ภาพพจน์ที่ดีของแม่เท่ากับผู้คุ้มครองที่มั่นคง  ภาพพจน์ของพ่อเท่ากับผู้มีอำนาจที่จะปกป้องตน  ภาพพจน์ที่ดี  (good  image)  นี้จะฝังใจเด็กและสร้างความเข้มแข็งให้ตลอดชั่วชีวิต         

ครอบครัวที่พ่อแม่มีความขัดแย้ง  ทะเลาะทุบตีกัน  เฉยเมยต่อกัน  แสดงความสุภาพที่เย็นชาต่อกัน  หรือถึงกับหย่าร้าง  จะทำให้เด็กเกิดความสับสนวุ่นวาย  เกิดความกลัวที่ตนเองไม่เข้าใจและไม่อาจจะซักถามใคร  เกิดความหวาดหวั่นต่ออนาคต  เกิดความผิดหวังและขาดความสนใจทั้งทางวัตถุและจิตใจ  เกิดความรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง  ขาดความสำคัญ  เป็นคนถูกทอดทิ้ง  ผลลัพธ์ก็คือ  เด็กเกิดความแค้นเคืองพ่อแม่  ตกอยู่ในอารมณ์ที่โกรธแค้น  มองโลกด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ  อันเป็นสิ่งที่ขัดขวางจิตใจที่จะเติบโตในการเข้าใจโลกและปรับตน  กลายเป็นเด็กเกเร  เป็นโรคประสาท  ติดยา  ติดเหล้า  เป็นอันธพาล  และเป็นคนไข้โรคจิต  และรับมรดกของพ่อแม่ที่ถ่ายทอดการหย่าร้างต่อไป             

ชีวิตสุนทรภู่เป็นเรื่องของคนที่ถูกทอดทิ้ง  ขาดพ่อแม่และมีปมด้อย  และจะแสดงลักษณะต่าง ๆ  ปรากฏออกมาดังนี้

 

1) ลักษณะที่พึ่งตนเองไม่ได้  การขาดความอบอุ่น  ขาดสิ่งเสริมสร้างกำลังใจ  ทำให้ขาดความเชื่อมั่นตนเอง  การต้องการความรัก  ความช่วยเหลืออันเป็นสิ่งควรได้แต่วัยเด็กจะตกค้างตลอดมาทำให้เกิดความต้องการพึ่งพิงอยู่ตลอดเวลา  เป็นสิ่งที่เห็นชัดในตัวสุนทรภู่  เมื่อได้ที่พึ่งก็เป็นสุข  ขาดที่พึ่งก็เกิดทุกข์  ผู้ที่พึ่งพิงได้ก็เป็นที่รักและสรรเสริญ  ผู้ที่ขัดข้องไม่ช่วยเหลือ  สุนทรภู่ก็โกรธแค้น  เป็นนิสัยที่เกิดจากการขาดแม่นั่นเอง  รัชกาลที่  2  เคยพระราชทานยศและที่อยู่แก่สุนทรภู่  จึงคร่ำครวญถึงอยู่ตลอดเวลา   ดังเห็นได้ในนิราศภูเขาทองว่า

 

                                                ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                  

คิดถึงบาทบพิตรอดิศร

                                โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร

                                แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

                                พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด   

                ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ

                                ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                 

                ไม่แลเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา

 

กล่าวถึงเจ้าฟ้า  2  พระองค์ที่เคยทรงอุปการะว่า

 

                                                ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก  

เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี

                เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี                                    

ดังวารีซาบอาบละออง           

กล่าวถึงหม่อมบุนนาก  และขุนแพ่งที่เคยไปอาศัยอยู่ด้วยว่า

              ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาก        

เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย

                มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล                       

                มาทำไร่ไถนาท่านการุณ

 

                                โอ้คิดถึงบุญท่านขุนแพ่ง                      

ไปหน้าแล้งรับแขกแรกวสันต์

                ตำข้าวเม่าเคล้าน้ำตาลทั้งหวานมัน                     

                ได้ช่วยกันขยำน้ำกะทิ

    กล่าวถึงสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตที่ทรงพระกรุณาช่วยย้ายมาวัดโพธิว่า    

              เหมือนพบปะพระสิทธาที่ปรารภ                        

ชุบบุตรลบเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน

 

แสดงความแค้นเคืองคราวถูกจำคุกครั้งแรกว่า

 

                                                เหมือนไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง                

จะเกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย

 

ด่าว่านายแสง  คนนำทางที่หนีไประหว่างไปเมืองแกลงว่า

 

                                                เดชะสัตย์อธิษฐานประจานแจ้ง           

                ให้เรียกแสงเทวทัตจนตัดษัย

                                เหมือนชื่อตั้งหลังวิหารเขียนถ่านไฟ  

                ด้วยน้ำใจเหมือนมินหม้อทรชน

 

ตัดพ้อต่อว่าและทวงบุญคุณเจ้าฟ้าอาภรณ์ที่ทรงเฉยเมยไม่ช่วยเหลือว่า

 

                                                แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ   

ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน

                                สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร                                               

ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม

 

เมื่อไม่มีใครยอมจุนเจือ  รำพันด้วยความแค้นใจว่า

 

                                                เสียแรงมีพี่ป้าหม่อมน้าสาว                 

ล้วนขาวขาวคำหวานน้ำตาลใส

                                มายามฝืดจืดเปรี้ยวไปเจียวใจ                            

                เหลืออาลัยลมปากจะจากจร

 

รู้ตัวอยู่เหมือนกันว่า  เอาแต่คอยพึ่งคนอื่น  แต่ก็หักใจไม่ได้ว่า

 

                                                โอ้อายเพื่อนเหมือนเขาว่ากิ่งกาฝาก  

มิใช่รากรักเร่ระเหระหน

                                ที่ทุกข์สุขขุกเข็ญเกิดเป็นคน                                              

ต้องคิดขวนขวายหารักษากาย

                                ได้พึ่งบ้างอย่างนี้เป็นที่ยิ่ง                                    

สัจจังจริงจงรักสมัครหมาย

                                ไม่ลืมคุณพูนสวัสดิ์ถึงพลัดพราย                         

                มิได้วายเวลาคิดอาลัย

                                    . . . . . . . . . . . . . . . .

 

                                                คิดอายเพื่อนเหมือนเขาเล่าแม่เจ้านี่   

                เร่ไปปีละร้อยเรือนเดือนละร้อยบ้าน

                                เพราะบุญน้อยย่อยยับอัประมาณ                                      

เหลือที่ท่านอุปถัมภ์ช่วยบำรุง

 

            2) ลักษณะที่อิจฉา  ก้าวร้าวและเพ้อฝันใหญ่โต   เป็นลักษณะของคนที่ด้อยและมีอยู่มากในตัวสุนทรภู่  เป็นเหตุที่ทำให้สุนทรภู่ประสบความยุ่งยากอย่างใหญ่หลวง  กล่าวคือเมื่อรัชกาลที่  2  ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์แต่งบทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษบาเล่นธาร  เมื่อกรมหมื่นเจษฎาฯ  แต่งแล้วให้สุนทรภู่ตรวจดูก็ว่าดี  ครั้นพออ่านถวายหน้าพระที่นั่ง  ถึงบทหนึ่งว่า

 

                                                น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว                       

ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว

                       

            สุนทรภู่กลับติว่าไม่ดี  ขอให้แก้ใหม่เป็นว่า

 

                                                น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา                     

ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว

 

            กรมหมื่นเจษฎาฯ  กริ้วว่าเมื่อขอให้ตรวจทำไมไม่แก้ไข  แกล้งนิ่งไว้ติหักหน้าเล่นกลางคัน  จึงขัดเคืองสุนทรภู่อยู่  อีกคราวหนึ่งตอนทรงบทละครเรื่องสังข์ทอง  ตอนที่ว่า

 

                                                จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว                       

ให้ลูกแก้วสมมาถปรารถนา

 

            สุนทรภู่ถามว่า  ลูกปรารถนาอะไร  กรมหมื่นเจษฎาฯ  ต้องแก้ว่า

 

                                                ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา

 

            เมื่อกรมหมื่นเจษฎาฯ  ได้เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  3  ทรงถอดสุนทรภู่จากบรรดาศักดิ์  ไม่ทรงชุบเลี้ยงต่อไป  สุนทรภู่เกรงพระราชอาญาจึงออกบวชและต้องทุกข์ยากอย่างหนักตลอดรัชกาลที่  3  และสุนทรภู่เองไม่เคยกล่าวถึงรัชกาลที่  3  ไว้ในที่แห่งใดเลย  ในสมัยรัชกาลนี้  ทรงเสาะหากวีที่ชำนาญเพื่อแต่งจารึกวัดโพธิ์  แม้แต่มหาดเล็กชั้นเลวก็ได้มีชื่อแต่ง  แต่ไม่ปรากฏชื่อสุนทรภู่  เล่ากันว่าสุนทรภู่แอบแต่งล้อเลียนเป็นคำผวนไว้ว่า  “โรคมากรากโมกต้มกินหาย” 

การโอ้อวดตัวเองของสุนทรภู่เห็นได้หลายแห่ง  เช่นในเพลงยาวถวายโอวาทว่า

 

                                                อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว               

                ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว

                                เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว                        

                เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

 

ในนิราศพระประธม  สาบแช่งคนที่คิดแข่งขันกับตนว่า

 

                                                อนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ             

                ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน

                                สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล               

                                พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร

                อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง                     

แล้วเอาอย่างเทียบคำทำอักษร

                ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน         

ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา

 

สุนทรภู่คุยว่าตนเป็นนักกลอนปากตลาดที่ไม่มีใครรู้  เพราะตนเป็นไพร่จึงแต่งได้  ถ้าเป็นเจ้านายก็แต่งไม่ได้  รัชกาลที่  2  รู้เข้าจึงทรงนิพนธ์บทละครเรื่องไกรทองเพื่อหักล้างคำพูดของสุนทรภู่  นอกจากนี้สุนทรภู่ต้องการจะแสดงว่าตนเก่งทางกวีทุกด้านจึงเขียนบทละครเรื่องอภัยณุราชขึ้น  กล่าวกันว่าเป็นเรื่องที่เลวที่สุดในงานของสุนทรภู่ทั้งหมด  และเขียนนิราศเมืองสุพรรณเป็นโคลง  ก็ได้รับการวิจารณ์ว่าสู้โคลงของคนอื่นอย่างของนรินทรอินไม่ได้

 

3) ลักษณะที่แสดงการหนี   เช่นการบวช  ร่อนเร่พเนจร  และเพ้อฝัน  พรรณนาความน้อยใจในวาสนาของตน  สุนทรภู่คิดออกบวชเมื่ออายุ  21  ปี  และบวชจริง ๆ  เมื่ออายุ  41  ปี  เพื่อหนีอาญา  ระหว่างบวชก็ไม่มีความสุข  และดูเหมือนว่าสุนทรภู่ได้แต่บวชแต่ไม่ได้เรียนเพราะเดินทางไปโน่นนี่เสมอ  ไม่ก็เขียนหนังสือ  ดื่มเหล้าและยุ่งกับผู้หญิง  สุนทรภู่ไม่เคยใช้ถ้อยคำที่แสดงตนว่าเป็นพระในบทกลอนแห่งใดเลย  มีเรื่องเล่าว่าตอนเป็นพระได้จอดเรือระหว่างเดินทาง  ชาวบ้านนำอาหารมาถวายแต่อาราธนาไม่เป็น  สุนทรภู่จึงสอนให้ว่า

 

                อิมัสมิงริมฝั่ง  อิมังปลาร้า  กุ้งแห้งแตงกวา  อีกทั้งปลาดุกย่าง  ช่อมะกอกดอกมะปราง  เนื้อย่าง  ยำมะดัน  ข้าวสุกค่อนขัน  น้ำมันขวดหนึ่ง  น้ำผึ้งครึ่งโถ  ส้มโอแช่อิ่ม  ทับทิมสองผล  เป็นยอดกุศลสังฆัสสะเทมิ

 

สุนทรภู่บวชครั้งที่  2  เพราะหมดหนทาง  บวชอยู่ได้  3  พรรษาจึงสึกเพราะได้ที่พึ่งใหม่  หลังจากนั้นชีวิตสุนทรภู่ก็เป็นหลักแหล่งจึงเลิกดิ้นรนและสงบสุขแต่นั้นมา

การร่อนเร่พเนจร  ท่องเที่ยวไปไม่อยู่เป็นที่ทาง  อยู่ไหนก็อยู่ไม่ติดและไม่ได้นาน  คบกับใครไม่ได้ยืด  แม้แต่ญาติก็ทะเลาะวิวาทด้วย  มีภรรยาก็หย่าร้างเป็นตัวคนเดียว  หาคนที่สนิทร่วมเป็นร่วมตายไม่ได้  สุนทรภู่จึงเรียกได้ว่าเป็นคนที่ปรับตัวไม่ได้เลย  เพราะความด้อยและพยายามทำเด่น  (compensate)  ทำให้เป็นคนมีอาชีพนับไม่ถ้วน  เป็นนายเสมียน  นายระวาง  นักบอกบทกลอน  มหาดเล็ก  คนคุก  อาลักษณ์  ครู  กวี  พ่อค้าเรือเร่  คนพเนจร  นักบวช  คนติดเหล้า  และนักเสี่ยงโชค  อันเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากความกดดันจากการต้องการเด่น

การแสวงโชคและเชื่อถือโชคลางเป็นคุณสมบัติของคนที่อ่อนแอ  ขาดความเชื่อมั่นตนเอง  ขาดความสามารถที่จะต่อสู้  สุนทรภู่เดินทางไปพิษณุโลกเพื่อหาลายแทง  ไปอยุธยาเพื่อหายาอายุวัฒนะ  ไปสุพรรณเพื่อเล่นแร่แปรธาตุ  ล้วนแต่ล้มเหลวทั้งสิ้น

เมื่อเกิดอุปสรรคและผิดหวัง  สุนทรภู่จะโกรธแค้นและแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจออกมา  ดังในนิราศพระบาท  กล่าวคำอธิษฐานไว้ว่า

 

                                                ถ้าเกิดมาชาตินี้มีแต่กรรม   

                แสนระยำยุบยับด้วยอับจน

                                ได้เคืองแค้นแสนยากลำบากบอบ                      

                ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน

                                แม้นกลับชาติเกิดใหม่ได้เป็นคน                         

                ชื่อว่าจนแล้วจากกำจัดไกล

                                สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง                                      

                                ทั้งสองสิ่งอย่าได้ชิดพิศมัย

                สัญชาติชายทรชนที่คนใด   

ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง

                                ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย                              

                บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง

                                อย่ารู้มีโรคาในสารพางค์                      

                ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร์

                                หนึ่งบิดามารดาคณาญาติ    

                ให้ผุดผาดผาสุกเป็นนิจสิน

                                ความระยำคำใดอย่าได้ยิน  

                                ให้สุดสิ้นสูญหายละลายเอง

                                ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก                                     

ให้ปราศจากทั้งคนเขาข่มเหง

                ใครปองร้อยขอให้กายมันเป็นเอง                                      

ให้ครื้นเครงเกียรติยศปรากฏครัน

 

กล่าวถึงชีวิตลูกกำพร้าไว้ในพระแท่นดงรังว่า

 

                                                ท่านบิดรสอนว่าตำราห้าม                   

คือคนสามประเภทในเทศนา

                คนเข็ญใจไร้ทรัพย์อัปรา                      

                ลูกกำพร้าดูเมฆวิเวกใจ

                                จะสร้อยเศร้าเหงาง่วงในดวงจิต                          

                เสียจริตงวยงงลุ่มหลงไหล

                                เห็นเที่ยงแท้แต่เราพิศพินิจไป                             

                จนตกใจเจียนจะเห็นว่าเป็นตัว

 

กล่าวถึงการขาดแม่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า

 

                                                เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน      

                ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน

                                บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้                     

                เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน

                                บ้างคลอเคล้าเข้าเคียงประเอียงอร     

                                เอาปากป้อนปีกปกอกประคอง

                                ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวเที่ยวเดี่ยวโดด                           

                ไม่เต้นโลดแลเงาเหมือนเศร้าหมอง

                                ลูกน้อยน้อยคอยแม่ชะแง้มอง                             

                เหมือนอกน้องตาบน้อยกลอยฤทัย

                                มาตามติดบิดากำพร้าแม่                     

                สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย

                                เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ                

                ที่ฝากไข้ฝากผีไม่มีเลย

 

4) ลักษณะของคนติดเหล้า  สุนทรภู่เป็นนักดื่มจนได้ฉายาว่าอาลักษณ์ขี้เมา  สุนทรภู่ดื่มเมื่อไรไม่ปรากฏ  แต่เมื่อแต่งงานกับแม่จันก็ทะเลาะกันด้วยเรื่องดื่มเหล้า  ติดคุกครั้งที่  2  ก็เพราะเมาถูกถอดบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่  3  เพราะเหตุที่มึนเมา  บวชอยู่วัดเลียบต้องอธิกรณ์ว่าเสพย์สุรา  พูดถึงคนกินเหล้าติดยาไว้ในสุภาษิตสอนหญิงว่า

 

                คิดถึงตัวหาผัวนี้หายาก                       

มันชั่วมากนะอนงค์อย่าหลงใหล

                คนสูบฝิ่นกินสุราพาจัญไร    

                แม้นหญิงใดร่วมห้องจะต้องจน

                                มักเบียดเบียนบีฑาประดาเสีย                            

                เหมือนเลี้ยงเหี้ยอัปรีย์ไม่มีผล

                                ไม่ทำมาหากินจนสิ้นคน                       

                แล้วซุกซนตีชิงเที่ยววิ่งราว

 

เมื่อเดินทางผ่านบางยี่ขัน  กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

 

                                                เห็นโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง           

                มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา

                                โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา                          

                ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

                                ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ                             

                พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย

                                ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                                    

ไม่กล้ากรายแกล้งเมินก็เกินไป

 

วิสัยสุนทรภู่นั้น  เวลาแต่งกลอนถ้าได้สุราเป็นเชื้ออยู่จะแต่งคล่องทันบอกเสมียนสองคนเขียนต่อกัน  มีสิ่งน่าสังเกตในเรื่องรำพันพิลาป  ที่สุนทรภู่เล่าความฝันไว้ดังนี้

 

                                                สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน               

                พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์

                                จึงจดวันเวลาด้วยอาวรณ์                    

   . . . . . . . . . . . . . . . . . .     

 

เงียบสงัดวัดวาในราตรี

เสียงเป็ดผีหวีหวีดจังหรีดเสียง                           

หริ่งหริ่งเรื่อยเฉื่อยชื่นสะอื้นอก                          

สำเนียงนกแสกแถกแสกแสกเสียง                     

เสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียง                              

ตีอกเพียง ผึงผึงตะลึงฟัง                      

ฝ่ายฝูงหนูมูสิกกิกกิกร้อง    

เสียวสยองยามยินถวิลหวัง                 

อนึ่งผึ้งซึ่งมาทำประจำรัง                     

ริมบานบังร้องสยองเย็น                                      

                        . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

 

ฝันว่าว่ายสายชะเลอยู่เอกา                 

สิ้นกำลังยังมีนารีรุ่น                                                              

รูปเหมือนหุ่นเหาะเร่ร่อนเวหา                            

ช่วยจูงไปไว้ที่วัดได้ทัศนา                   

พระศิลาขาวล้ำดังสำลี                                          

ทั้งพระทองสององค์ล้วนทรงเครื่อง                    

แลเลื่อมเหลืองเรืองจำรัสรัศมี                                              

พอเสียงแซ่แลหาเห็นนารี                                    

ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน

 

การฝันแบบนี้  คือเห็นเป็นสัตว์และแมลงต่างๆ  และมีนางฟ้ามาร่ายรำพบได้ในพวกคนไข้ติดเหล้า  (onirism, zoopsia และ  sex fantasy)  ทำให้คิดไปว่าระหว่างที่บวชอยู่วัดเทพธิดานี้  สุนทรภู่ยังคงดื่มอยู่และป่วยเป็นโรคพิษสุราด้วย  อายุสุนทรภู่ตอนนี้  46  ปี  เป็นระยะที่พบโรคนี้ได้มากที่สุด

 

5) ลักษณะทางกามารมณ์  สุนทรภู่ได้ชื่อว่าเจ้าชู้พอ ๆ  กับขี้เมา  ในชีวิตมีเรื่องผู้หญิงพัวพันอยู่ตลอดเวลา  นับตั้งแต่ความยุ่งยากในเรื่องของแม่ตนเอง  ติดคุกก็เพราะหญิง  แม้แต่เมื่อบวชก็มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง  เดินทางไปแห่งไหนก็เที่ยวมีภรรยาหรือเที่ยวเป็นชู้กับลูกเมียเขา  แม้แต่ญาติพี่น้องของตนเอง  และผู้ที่มีพระคุณก็ไม่เว้น  การขาดผู้หญิงไม่ได้ทำให้ชีวิตสุนทรภู่เดือดร้อนและมีความเจ็บแค้นเมื่อผิดหวัง  ผู้หญิงที่สุนทรภู่อาลัยอาวรณ์มาก  คือ  แม่จันที่งอนและขี้หึง  สุนทรภู่จึงทั้งรักและทั้งแค้น  เพราะความสัมพันธ์กับแม่จันนี้กระทบจุดอ่อนของสุนทรภู่ที่เคยมีความรู้สึกรักและชังแม่มาก่อน  และแม่จันเมื่อแยกกับสุนทรภู่ก็ไปได้สามีใหม่

ในนิราศเมืองแกลง  สุนทรภู่ตั้งใจเขียนเพื่อแม่จัน  โดยลงท้ายเรื่องว่า

                                   

นิราศเรื่องเมืองแกลงแต่งมาฝาก         

เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิศมัย

อย่าหมางหมองข้องขัดตัดอาลัย                        

ให้ชื่นใจเหมือนแต่หลังมั่งเถิดเอย

 

            เมื่อเจ็บหนักอยู่ที่เมืองแกลง  สุนทรภู่เกิดยุ่งกับผู้หญิงที่มีศักดิ์เป็นหลาน

 

                                                ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ     

                ม่วงกับคำกลอยจิตขนิษฐา

                                เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนทา                          

                ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาร

                                ครั้นหายเจ็บเก็บดอกไม้มาให้บ้าง                     

                กลับระคางเคืองข้องกับสองหลาน

                                จะว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน                          

                ไม่สมานสโมสรเหมือนก่อนมา

 

            ตอนเข้าถ้ำประทุน  ในนิราศพระบาทว่า

 

                                                พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคน               

                ผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย

                                เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำ                        

                ชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหลาย

                                ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย . . .

 

กล่าวถึงเรื่องที่ตนเองติดคุกไว้ ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนติดคุกอันเป็นคำพูดของขรัวเกิดว่า

 

ทุดอ้ายแผนถ่อยแท้ไม่แก้ไข                               

เมื่อความรู้กูสอนเจ้าหล่อนไว้                             

ยังวิ่งไปเข้าคุกสนุกจริง                       

อ้ายเจ้าชู้กูได้ว่ามาแต่ก่อน                  

จะทุกข์ร้อนอ่อนหูเพราะผู้หญิง                                                          

 

            เปรียบเทียบการเมาเหล้ากับเมารักไว้ว่า

 

                                                ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก                  

สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน

                                ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                               

                แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

 

            ในนิราศเมืองเพชร  เมื่อถึงคลองเตยเปรียบเปรยว่า

 

                                                ถึงคลองเตยเตยแตกเป็นแฉกงาม      

                คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย

                                จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง                                  

ต้องคว้างเคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย

 

            เมื่อถึงเมืองเพชร  พบผู้หญิงที่เคยพบเห็นมาก่อน ๆ  กล่าวว่า

 

          เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก                   

      ครั้นจะทักเล่ากลัวผัวจะหึง

              แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง             

                  เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน

 

            เมื่อเห็นต้นงิ้ว  ในนิราศสุพรรณว่า

 

                                                ยามยลต้นงิ้วป่า                                     หนาหนาม

                                นึกบาปวาบวับหวาม                                            วุ่นแล้ว

                                คงจะปะงิ้วทราม                                                    สวาทเมื่อ  ม้วยแฮ

                                งิ้วกับพี่มิแคล้ว                                                       คึ่นงิ้วลิ่วสูง

 

                สุนทรภู่เห็นอะไรที่ชื่อคล้ายผู้หญิงที่ตนเคยใกล้ชิด  มักจะกล่าวไว้เสมอในนิราศต่าง ๆ 

 

                                - จัน ต้นผลห่ามให้                                                 หวนหอม

                                - บางม่วงทรวงเศร้าคิด                                         เคยชวน

                                - ม่วง เก็บมะม่วงสวน                                           สุกระย้า

                                - บางกรวยกรวดน้ำแบ่ง                                       บุญทาน

                                  ส่ง นิ่ม นุชนิพพาน                                              ผ่องแผ้ว

                                - บางน้อยพลอยนึก น้อย                                     น้องเอย

 

            เมื่อแลเห็นลูกชายอายสาว ๆ  สุนทรภู่ตอนที่ยังบวชอยู่  อดไม่ได้ที่จะพูดว่า

 

                                                ลูกเอยเฉยเช่นปั้น                                 ปูนขาว

                                สาวเพ่งเล็งหลบสาว                                              ซิ่นแล้ว

                                ปะเป็นเช่นพ่อคราว                                              ครั้งหนุ่ม  ชุมฤา

ตายราบลาภไม่แคล้ว                                            คลาดช้านาที

 

เพ้อถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  เมื่อครั้งอยู่วัดเทพธิดาว่า

 

                                                จึ่งเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น

ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา

                                ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา                  

                รักแต่  เทพธิดา  สุราลัย

 

สุนทรภู่มีภรรยาราว ๆ  23  คน  มีแม่สร้อย  แม่จัน  แม่นิ่ม  แม่ม่วง  แม่แจ่ม  แม่แก้ว  แม่น้อย  แม่กลิ่น  แม่เกษ  แม่แตง  แม่สาย  แม่ปราง  แม่อิน  แม่ทอง  แม่นวล  เป็นต้น

            การเป็นคนเจ้าชู้ของสุนทรภู่นั้น  เป็นผลจากขาดแม่  การขาดรักและความอบอุ่นเป็นอารมณ์ค้างที่ผลักดันให้เกิดความต้องการแม่หรือผู้หญิงอยู่อย่างไม่จบสิ้น  ความรักและความอบอุ่นกับกามารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดคู่กันและทดแทนกันได้  (รักกับใคร่)  คนเราเมื่อพึ่งพิงหาความสุขจากโลกภายนอกไม่ได้  ก็กลับเข้าหาความสุขจากตัวเอง  (auto-erotic) ทำให้เกิดนิสัย excessive masturbation เกิดขึ้น  (auto-erotomania)  ซึ่งจะเห็นได้บ่อย ๆ  ในคนไข้โรคประสาทและโรคจิต  เมื่อถึงวัยหนุ่มสาวเต็มที่พอจะแต่งงานได้แล้ว  ความคับแค้นที่เคยหาทางออกโดยการทำ  masturbation  จะกลายเป็นคนที่มีความต้องการทางเพศมากเกินปกติ  (hyper-sexual  desire)  เพราะยิ่งคับแค้นเท่าใดก็จะเปลี่ยนรูปเพื่อหาทางออกเป็นความต้องการทางเพศมากเท่านั้น  และใช้ความสุขทางเพศเป็นเครื่องทดแทนความคับแค้นและในความใคร่ที่ได้อยู่ใกล้ชิดเพศตรงข้าม  เป็นการชักจูงให้ได้รับความรักความอบอุ่นไปในตัว  คือการคิดถึงและต้องการแม่หรือพ่อ  บางคนการทำ  masturbation  จะติดเป็นนิสัยจนถึงวัยผู้ใหญ่และพอใจมากกว่ากับเพศตรงข้าม  ทั้งนี้เพราะการทำ  masturbation  ให้ความสุขได้มากทาง  fantasy  จะนึกเพ้อฝันถึงใครก็ได้  อันเป็นแบบฉบับที่เคยทำอยู่เดิมและเป็นการตัดปัญหาที่จะยุ่งเกี่ยวกับคนที่คอยทำแต่ให้คับแค้นใจ  การขาดความอบอุ่น  คับแค้น  และใช้กามารมณ์เป็นทางออกเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางเพศ  (parapathy)  แม่จันในความรู้สึกส่วนลึกของสุนทรภู่คือแม่ของตน  สุนทรภู่ถูกแม่ทอดทิ้งจึงทั้งรักและชังแม่และมาออกกับแม่จันเต็มที่  การหย่าร้างกับการที่แม่จันไปมีสามีใหม่  ยิ่งกระตุ้นอารมณ์โกรธและกลัวชักจูงให้สุนทรภู่หาที่พึ่งคือผู้หญิงอื่นอย่างไม่จบสิ้น  ลักษณะอันนี้คือความเจ้าชู้แบบเดียวกับดอนจวนของฝรั่งซึ่งได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากการขาดแม่

            ความคับแค้นที่เกิดจากผู้หญิง  สุนทรภู่อธิษฐานไว้ที่พระเจดีย์ภูเขาทองว่า

 

                                                อีกสองหญิงสิ่งร้ายและชายชั่ว           

                อย่าเมามัวหมายรักสมัครสมาน

 

            อีกสองหญิง คือแม่จันและแม่ตัว  ชายชั่ว เช่น  นายแสง  พ่อเลี้ยง  และสามีใหม่แม่จัน                    

ประณามผู้หญิงอย่างรุนแรงไว้ในนิราศพระประธมว่า

 

                                                อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด

ถึงเนื้อน้ำธรรมชาติไม่ปรารถนา

                ข้างนอกนวลส่วนข้างในใจสุดา                           

                เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง

                        ถึงรูปชั่วตัวดำระกำบาก                                      

สู้รักปากรักหน้าประสาหญิง

                ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง                        

                จะรักยิ่งรักยอดรักให้หนักครัน

                                จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด                  

                จะสู้กอดแก้วตาจนอาสัญ

                                อันหญิงลิงหญิงค่างหญิงอย่างนั้น      

                                ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา

 

ความเจริญทางเพศ  (psychosexual development)  ของสุนทรภู่นับว่าเข้าสู่ระยะของผู้ใหญ่ได้  แต่จะเห็นร่องรอยของ  oral-genital-aggressive  (ความคับแค้นที่ขาดความรักและความเจ้าชู้) เหลือไว้ชัดแจ้ง สุนทรภู่จึงเจ้าชู้ดังกล่าว และทำอะไรแผลง ๆ  ออกไป  เช่น  เขียนกาพย์เรื่องพระไชยสุริยาให้เด็กหัดอ่านก็ยังเอากามารมณ์เข้าไปปะปนไว้จนได้  ดังปรากฏอยู่ในบทของแม่กด  ที่ว่า

 

                                ขึ้นกดบทอัศจรรย์                                 เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง

                นกหกตกรังรวง                                                     สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงน

                     . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

 

                                สององค์ทรงสังวาส                               โลกธาตุหวาดหวั่นไหว

                                ตื่นนอนอ่อนอกใจ                                                 เดินไม่ไหวให้อาดูร

 

ความด้อยของสุนทรภู่  ปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม  ทำให้สุนทรภู่มีประสบการณ์ที่เข้มข้นด้วยอารมณ์ที่ต้องการหาทางออก  เป็นพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้สุนทรภู่ได้นึกคิดทบทวนเหตุการณ์ของตนเอง  เมื่อคิดไปเขียนไปทำให้ได้ข้อคิดที่เป็นปรัชญาและสุภาษิตที่สอดใส่ไว้  ทำให้งานเต็มไปด้วยชีวิตชีวาดีเด่น  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีชั้นเลิศนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสุนทรภู่  และวิธีนี้เองที่เป็นทางช่วยให้สุนทรภู่รอดพ้นจากการเป็นคนไข้โรคจิต (functional) ไปได้อย่างเหมาะสม

ในการวิจารณ์วรรณคดี  แง่คิดทางจิตวิทยาสามารถนำมาใช้ประกอบเพื่อแก้ข้อสงสัยบางประการในงานของสุนทรภู่เกี่ยวกับนิราศเมืองเพชร  นิราศอิเหนา  และนิราศพระแท่นดงรัง  ว่าแต่งเมื่อใดและใครเป็นผู้แต่ง  ผู้เขียนเห็นว่านิราศเมืองเพชรควรเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่  เพราะสำนวนกลอนหย่อนความเผ็ดร้อนไปมาก  แม้แต่นิราศพระประธม  ซึ่งว่าเป็นเรื่องสุดท้ายก็ยังมีอารมณ์รุนแรงอยู่ที่เหยียดผู้หญิงหนัก ๆ  เรื่องราวในนิราศเมืองเพชร  กล่าวถึงว่าได้นำเอาข้าวของไปแจกจ่ายและเยี่ยมเยียนคนที่คุ้นเคย  แสดงว่ามั่งมีศรีสุข  และมีอารมณ์ผ่องใสแล้ว  เหมาะแก่วัยที่ชราแล้วด้วย  แม้แต่ในตอนจบของนิราศเรื่องนี้ก็จบลงอย่างเป็นสุข  ต่างกับนิราศอื่น ๆ  ว่า 

 

                                                จึงจดหมายรายความตามสังเกต                        

ถิ่นประเทศแถวทางกลางวิถี

                ให้อ่านเล่นเป็นเรื่องเมืองพริบพรี                        

                ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ

                                ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม                    

                พระประธมที่ลำเนาภูเขาขุน

                                กุศลนั้นบรรดาที่การุญ                                       

รับส่วนบุญเอาเถิดท่านผู้อ่านเอย

 

ใครแต่งนิราศอิเหนานั้น  ถกเถียงกันว่าสุนทรภู่แต่งบ้าง  นายมีศิษย์สุนทรภู่แต่งบ้าง  ทัศนะผู้เขียนว่าเป็นของสุนทรภู่  เพราะนิราศอิเหนาที่ว่านี้กล่าวถึงตอนลมหอบเอานางบุษบาไป  เป็นการกระทำของเทวดาที่จะลงโทษอิเหนาที่ก่อเรื่องวุ่นวายเรื่องนี้คล้ายชีวิตจริงของสุนทรภู่ตอนที่แอบรักกับแม่จันเลยต้องโทษติดคุก  สุนทรภู่เอาชีวิตจริงของตนมาเขียนเสมอ  ส่วนนิราศพระแท่นฉบับที่ใช้ชื่อเณรหนูกลั่น  สุนทรภู่เป็นคนเขียนอีกเช่นกัน  เพราะมีเรื่องราวของสุนทรภู่ทั้งเรื่อง  แต่นิราศพระแท่นอีกฉบับหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า

 

                                                นิราศรักหักใจ  อาลัยหวน   

                ไปพระแท่นดงรังตั้งแต่ครวญ              

           

และจบท้ายว่า

 

                                                ใช่จะแกล้งแต่งประกวดอวดฉลาด      

                ทำนิราศรักมิตรพิสมัย

                                ด้วยจิตรักกาพย์กลอนอักษรไทย                       

                จึงตั้งใจแต่งคำแต่ลำพัง

 

เรื่องนี้ไม่ใช่ของสุนทรภู่แน่  เพราะเนื้อเรื่องไม่มีแบบฉบับของสุนทรภู่อยู่เลย  สุนทรภู่ไม่เคยถ่อมตน  และเป็นการเขียนเรียบร้อยเกินไป  ทั้ง ๆ  ที่ระยะนั้นสุนทรภู่กำลังมีความยุ่งยากมากมายอยู่  เมื่อสุนทรภู่สุขสบายแล้ว  ก็ไม่เขียนหนังสืออีกเลย                       

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us