เกี่ยวกับวารสาร
วารสารฉบับปัจจุบัน
วารสารฉบับก่อนๆ
กองบรรณาธิการ
คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ
สมัครสมาชิก
อีเมล์เตือน
สมาคมจิตแพทย์
ติดต่อ
ค้นหาบทความในวารสาร


สนับสนุนการจัดทำโดย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
Journal of the Psychiatrist Association of Thailand
ISSN: 0125-6985

บรรณาธิการ มาโนช หล่อตระกูล
Editor: Manote Lotrakul, M.D.


Mental Health Problems in Residents at Ramathibodi Hospital

Amporn Benjaponpitak, M.D. *

Abstract : Objective : To date, medical practitioners seem to suffer from high level of stress that produces psychiatric problem, especially during the postgraduate medical training years. Hence, the purposes of this study are to investigate the prevalence rate of stress in residents and to identify possible causes. Moreover, this study attempted to assess how the stress affects their attitude about the training programs. Method : All 226 residents in Ramathibodi Hospital from every year (first, second and third) and every department were sent questionnairs in November-December 1995. The questionnairs contained questions about demographic data, self-report of every day life stressors, self-evaluation of training and working in postgraduate year, and the General Health Questionnaire 30 (GHQ 30) to estimate psychiatric morbidity. c 2 , Fisher’s exact and t Test were used to study the relationship between stress and various aspects of data. Results : Completed questionnairs were returned by 128 of 226 subjects (56.64 %). With the methods of scoring and validity data for the recommended cutoff from GHQ30, the estimated prevalence of emotional disturbance in this group was 54 cases (42.2 %). Subjects whose spouses were physicians were significantly more stressed than the others. On the contrary, there was no relationship between other demographic data and stress. Owing to the causes, the first three problems which influenced the perception of both stressed and non-stressed groups were problems about the dormitory, finance, and work. Additionally, in comparison, the stressed residents felt more disappointed about their decision in training as a resident position and more hesitated about their competence to finish the training courses than the non-stressed group in a statistically significant difference.

J Psychiatr Assoc Thailand 1996 ; 41(2) : 87-98.

Key words : mental health problems, residents, GHQ

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Rama VI Road, Bangkok 10400

 

ปัญหาสุขภาพจิตของแพทย์ประจำบ้านโรงพยาบาลรามาธิบดี

อัมพร เบญจพลพิทักษ์ พ.บ.*

* แพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร 10400

วัตถุประสงค์ : ในสภาพสังคมปัจจุบัน แพทย์มีโอกาสเกิดความเครียดจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิตได้สูงโดยเฉพาะในช่วงการเรียนต่อในสาขาเฉพาะทาง การศึกษาครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อหาอัตราภาวะเครียดในแพทย์ประจำบ้าน และศึกษาปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในด้านข้อมูลพื้นฐานและปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงผลกระทบที่มีต่อสภาพการทำงาน และการเรียนของตัวแพทย์เอง วิธีการ : การศึกษานี้ ทำในแพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี ทุกภาควิชาในโรงพยาบาลรามาธิบดี รวม 226 ราย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ.2538 โดยใช้แบบสอบถามซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐาน ปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวัน การประเมินตนเองในเรื่องการทำงานและการเรียน และแบบสอบถามมาตรฐาน GHQ 30 ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินภาวะเครียดซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต แล้วเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้ ด้วยวิธีการทางสถิติ โดยใช้ c 2 , Fisher’s exact และ t Test ผลการศึกษา : มีแพทย์ประจำบ้านตอบแบบสอบถามกลับคืน จำนวน 128 รายจาก 226 ราย (ร้อยละ 56.64 ) ในจำนวนนี้ได้รับการประเมินว่า เป็นผู้มีความเครียด จนเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต จำนวน 54 ราย (ร้อยละ 42.2 ) ภาวะนี้ สัมพันธ์กับการมีคู่ครองที่มีอาชีพแพทย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับข้อมูลพื้นฐานอื่น ในส่วนของปัญหาในชีวิตประจำวัน แพทย์ทั้งสองกลุ่มคือทั้งที่มีภาวะเครียดและไม่มีภาวะเครียด ต่างก็มีปัญหาจากหอพักแพทย์ ปัญหาการเงินและปัญหาการทำงานสูงเป็นสามอันดับแรก แต่เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับภาวะเครียดแล้ว พบว่ามีปัญหาสี่ด้านที่มีนัยสำคัญทางสถิติ คือปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน ปัญหาการเงิน และปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ ภาวะเครียดจะส่งผลให้แพทย์ประจำบ้านรู้สึกผิดต่อการตัดสินใจในการศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง และขาดความมั่นใจในการเรียนจนจบหลักสูตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย

วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539 ; 41(2) : 87-98.

คำสำคัญ ปัญหาสุขภาพจิต, แพทย์ประจำบ้าน, GHQ

แพทย์เป็นวิชาชีพหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมาก ในขณะเดียวกัน ความคาดหวังในตัวแพทย์จากสังคมก็มีไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Kalb1 ได้เคยกล่าวถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของแพทย์ว่า ควรประกอบด้วยความฉลาด มีวินัย เชื่อมั่นในตนเอง ใจกว้างที่จะยอมรับทฤษฎีใหม่ๆ และมีเมตตา มีจริยธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมไทยแล้ว แพทย์ไทยดูเหมือนจะได้รับความคาดหวังที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย2,3,4 ทั้งในอดีต5 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีพัฒนาการของวัตถุและกระแสทุนนิยมค่อนข้างสูง จนกระทั่งโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมาย4,6 ปัจจัยเหล่านี้มีโอกาสส่งผลต่อแนวโน้มความเจ็บป่วยทางจิตเวชของแพทย์ได้ง่าย7,8 ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย9 และการติดสุรา10 หรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท11

การศึกษาที่ผ่านมาในต่างประเทศได้แสดงได้เห็นว่า ปัญหาต่างๆทางจิตเวชที่เกิดขึ้นในแพทย์ มีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในช่วงการศึกษาหลังปริญญา 9, 12 อาทิเช่น Valko และ Clayton 9 ได้รายงานถึงอัตราของโรคซึมเศร้าในแพทย์อินเทอร์น ว่ามีสูงถึง ร้อยละ 30 และปัญหาทางอารมณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังที่ปรากฏในการศึกษาของ Smith8 ว่ามีแพทย์ประจำบ้านแผนกอายุรกรรมในสหรัฐอเมริกาต้องลาออกจากการเรียนต่อเฉพาะทางกลางคันถึง ร้อยละ 10 จากปัญหาความกดดันทางอารมณ์ ในจำนวนนี้ ยังประกอบด้วย ร้อยละ 5 ที่มีการฆ่าตัวตาย และเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในอัตรา ร้อยละ 2 Firth13,14 ได้ศึกษาต่อเนื่องเพื่อเปรียบเทียบภาวะกดดันจิตใจ พบว่าแพทย์ประจำบ้านมีแนวโน้มของปัญหาทางอารมณ์รุนแรงกว่าขณะเป็นนักเรียนแพทย์ปีที่ 4 ชัดเจน Schneider15 ได้ศึกษาถึงปัจจัยการทำงานที่เป็นสาเหตุของปัญหาทางอารมณ์ และรายงานว่า ปัญหาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนรูปแบบของงาน ระบบ และความรับผิดชอบ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากต่อแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ศัลยกรรมศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์ ขณะเดียวกัน การศึกษาถึงผลของปัจจัยอื่นที่มีต่อภาวะทางอารมณ์ของแพทย์ประจำบ้านยังมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อวิเคราะห์อัตราของแพทย์ประจำบ้านคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีภาวะกดดันทางอารมณ์ ในแง่ความสัมพันธ์กับปัญหาต่างๆซึ่งอาจเป็นสาเหตุ และผลกระทบต่อการประเมินตนเองของแพทย์ประจำบ้าน สำหรับการศึกษาในหลักสูตรของตนต่อไป

วัสดุและวิธีการ

ผู้วิจัยได้แจกแบบสอบถามให้แก่แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี ทุกภาควิชา ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวนทั้งสิ้น 226 คน พร้อมทั้งขอรับแบบสอบถามที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วกลับคืน ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเก็บข้อมูลในช่วงที่มีการสอบ และสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน พฤศจิกายน - ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นช่วงกลางปีการศึกษา เพื่อที่แพทย์ประจำบ้านจะได้อยู่ในสมดุลของการปรับตัวกับระบบงานของแต่ละชั้นปีแล้ว

แบบสอบถาม ประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้

1) ข้อมูลพื้นฐาน ครอบคลุมถึง อายุ ชั้นปี ภาควิชา เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา สถานภาพสมรส ที่อยู่และอาชีพของคู่สมรส จำนวนบุตร สถาบันและปีที่จบการศึกษา ผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ระยะเวลาในการประกอบวิชาชีพแพทย์ องค์กรและหน่วยงานที่เคยปฏิบัติงาน และเหตุผลในการเลือกสาขาวิชาเฉพาะทางที่มาศึกษาต่อ

2) แบบสอบถาม General Health Questionnaire 30 (GHQ 30) เป็นแบบสอบถามมาตรฐาน ที่เคยถูกใช้ในการประเมินภาวะทางจิตเวชในชุมชน และในหน่วยงานต่างๆ16 ผ่านการแปลเป็นภาษาไทย ทดสอบหาค่าความแม่นตรงและความเชื่อถือได้โดย ธนา นิลชัยโกวิทย์และคณะ17

แบบสอบถามชุดนี้ มี 30 ข้อย่อย แต่ละข้อมีคะแนนเป็น 0 หรือ 1 คะแนนรวมสูงสุด จึงมีค่า 30 ผู้มีคะแนนรวมตั้งแต่ 4 ขึ้นไป จะบ่งชี้ถึงภาวะกดดันทางอารมณ์ ซึ่งในที่นี้ การแสดงผลจะแทนด้วยคำว่า “ผู้มีความเครียด” ดังนั้น ความเครียดในที่นี้ จึงมีความหมายกว้างถึงสภาพอารมณ์ที่ผิดปกติ เป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต มิได้มีความหมายจำเพาะถึงโรคทางจิตเวชโรคใดโรคหนึ่ง และมิได้แสดงถึงผลต่อเนื่องระยะยาวในชีวิต โดยสรุปแล้ว GHQ จึงแสดงลักษณะ 2 ประการ คือ ความบกพร่องต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของตนอย่างปกติ และการมีปรากฏการณ์ของภาวะความกดดันทางอารมณ์

3) แบบสอบถามถึงความรู้สึกที่แพทย์ประจำบ้านมีต่อปัญหาด้านต่างๆ โดยอาศัยแนวทางจาก axis IV ใน multiaxial system ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders 4th edition (DSM IV)18 ซึ่งได้จำแนกรายละเอียดเป็นแง่มุมต่างๆดังนี้

3.1 ปัญหาครอบครัว หมายถึง ปัญหาจากสมาชิกในครอบครัว เช่น ปัญหาการเสียชีวิต ปัญหาสุขภาพ การหย่าร้าง

3.2 ปัญหาสังคม หมายถึง ปัญหาจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น การเสียชีวิตหรือพลัดพรากจากเพื่อนสนิท การปรับตัวทางวัฒนธรรม

3.3 ปัญหาการงานและการศึกษา เช่น ไม่พึงพอใจในงานที่ทำอยู่ มีความยุ่งยากของสภาพการทำงาน มีความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน

3.4 ปัญหาเรื่องบ้าน เช่น ปัญหาเรื่องถูกเวนคืนที่ดิน ขัดแย้งกับเจ้าของบ้านหรือเจ้าของที่ดิน ไม่มีผู้ดูแลบ้าน ขาดสวัสดิภาพในการอยู่อาศัย

3.5 ปัญหาที่พักอาศัยในโรงพยาบาล ซึ่งหมายถึงหอพักแพทย์ ปัญหาข้อนี้ดัดแปลงเพิ่มเติมจากปัญหาเรื่องบ้าน เนื่องจากผู้วิจัยตระหนักถึงการอยู่อาศัยของแพทย์ประจำบ้านซึ่งมีส่วนแตกต่างจากผู้อื่น ปัญหาเรื่องหอพักแพทย์ เช่น ความคับแคบ บริการไม่สะดวก ขาดความปลอดภัย

3.6 ปัญหาการเงิน เช่น มีภาระค่าใช้จ่ายสูง รายได้ไม่เพียงพอ

3.7 ปัญหาทางสุขภาพ เช่น มีโรคประจำตัว

3.8 ปัญหาทางกฎหมาย เช่น ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีต่างๆ กำลังดำเนินเรื่องราวร้องทุกข์ทางกฎหมาย เป็นเหยื่อของอาชญากร

3.9 ปัญหาจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ

3.10 ปัญหาอื่นๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้แพทย์ประจำบ้าน กรอกข้อมูลเพิ่มเติมได้

4) การประเมินตนเองของแพทย์ประจำบ้าน ในเรื่องของ

4.1 การทบทวนความถูกต้อง ต่อการตัดสินใจมาศึกษาต่อของตน

4.2 ความมั่นใจในการศึกษาต่อ จนจบหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขานั้นๆ

4.3 ความมั่นใจต่อการสอบวุฒิบัตรวิชาชีพเฉพาะทาง

ผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลทั้งสี่ส่วน จากแบบสอบถามที่ตอบกลับคืนมา และนำเสนอข้อมูลดังนี้

1) อัตราของผู้มีความเครียดในแพทย์ประจำบ้าน

2) ความสัมพันธ์ของข้อมูลพื้นฐานที่มีต่อความเครียด

3) ความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ ต่อความเครียด

4) ความสัมพันธ์ของความเครียด กับการประเมินตนเองของแพทย์ประจำบ้าน

การนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้ chi square ( c 2) Test, t Test และ Fisher’s exact test ด้วยโปรแกรม Epi info

ผลการศึกษา

ในช่วงเวลาของการศึกษา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม 2538 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 128 ราย จากจำนวนแพทย์ประจำบ้านทั้งสิ้น 226 ราย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 56.64

ผู้ตอบแบบสอบถาม มีอายุในช่วง 25-36 ปี (mean 28.16, SD 2.99) เพศชาย 63 ราย (ร้อยละ 49.2 ) และเพศหญิง 65 ราย (ร้อยละ 50.8 ) เป็นแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 จำนวน 40 ราย (ร้อยละ 31.25 ) ชั้นปีที่ 2 จำนวน 36 ราย (ร้อยละ 28.13 ) และชั้นปีที่ 3 จำนวน 52 ราย (ร้อยละ 40.62 ) จากกลุ่ม major ward (สูตินรีเวชศาสตร์ ศัลยกรรม กุมารเวชศาสตร์ อายุรศาสตร์ และศัลยกรรมกระดูก) 80 ราย (ร้อยละ 62.5 ) และจากกลุ่ม minor ward (วิสัญญีวิทยา รังสีวิทยา จิตเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู โสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา จักษุวิทยา และพยาธิวิทยา) 48 ราย (ร้อยละ 37.5 ) แพทย์ประจำบ้านส่วนใหญ่ คือ 125 ราย (ร้อยละ 97.7 ) นับถือศาสนาพุทธ มีเพียง 1 ราย (ร้อยละ 0.8 ) นับถือศาสนาคริสต์ ในด้านเชื้อชาติมีแพทย์ 114 ราย (ร้อยละ 89.1 ) มีเชื้อชาติไทย 14 ราย (ร้อยละ 10.9 ) มีเชื้อชาติจีน ภูมิลำเนาของแพทย์ 69 ราย (ร้อยละ 53.9 ) อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และ 58 ราย (ร้อยละ 45.3 ) เป็นชาวต่างจังหวัด

แพทย์ประจำบ้าน 78 ราย (ร้อยละ 61.5 ) มีสถานภาพโสด และ 50 ราย (ร้อยละ 38.5 ) สมรสแล้ว สำหรับแพทย์ที่สมรสแล้ว มีถึง 24 ราย (ร้อยละ 46.7 ) ที่มีคู่สมรสประกอบอาชีพแพทย์ และ 37 ราย (ร้อยละ 71.1 ) ยังไม่มีบุตร คู่สมรสของแพทย์ประจำบ้าน 32 ราย (ร้อยละ 64 ) มีที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 17 ราย (ร้อยละ 34 ) อยู่ต่างจังหวัด และไม่มีข้อมูล 1 ราย (ร้อยละ 2)

สถาบันที่แพทย์เหล่านี้ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ได้แก่รามาธิบดี 82 ราย (ร้อยละ 64.1 ) ศิริราช 12 ราย (ร้อยละ 9.4 ) จุฬาลงกรณ์ 9 ราย (ร้อยละ 7.0 ) มศว. 2 ราย (ร้อยละ 1.6 ) พระมงกุฎ 1 ราย (ร้อยละ 0.8 ) ขอนแก่น 11 ราย (ร้อยละ 8.6) เชียงใหม่ 4 ราย (ร้อยละ 3.1 ) สงขลา 5 ราย (ร้อยละ 3.9 ) และจบการศึกษาแพทยศาสตร์จากต่างประเทศ จำนวน 2 ราย (ร้อยละ 1.6 ) ทั้งนี้ปีที่จบการศึกษาอยู่ในช่วง พ.ศ.2529-2536 ผลการเรียนอยู่ในช่วงเกรด 2.20-3.93 (mean 2.79, SD 0.88) และระยะเวลาปฏิบัติงานในวิชาชีพแพทย์ก่อนมาศึกษาต่อ อยู่ในช่วง 0-7 ปี โดยส่วนใหญ่ 95 ราย (ร้อยละ 74.2 ) ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา 3 ปี (mean 2.99, SD 0.92) และมีเพียง 29 ราย (ร้อยละ 22.7 ) ที่ไม่เคยปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขเลย

แพทย์ส่วนใหญ่ คือ 108 ราย (ร้อยละ 84.4 ) ยังยืนยันการตัดสินใจเดิมในการเลือกสาขาวิชาของตนว่าถูกต้องแล้ว ขณะที่อีก 18 ราย (ร้อยละ 14.0 ) เกิดความลังเลใจ และ 1 ราย (ร้อยละ 0.8 ) คิดว่าตนตัดสินใจผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ไม่มีแพทย์รายใดเลยที่คิดจะสิ้นสุดการศึกษาต่อโดยยังไม่ครบหลักสูตร มีแพทย์ 7 ราย (ร้อยละ 5.5 ) ที่เริ่มลังเล และ 121 ราย (ร้อยละ 94.5 ) มั่นใจว่าตนจะศึกษาจบครบหลักสูตรได้ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องการประเมินตนเองว่าสามารถผ่านการสอบวุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางได้นั้น มีเพียง 99 ราย (ร้อยละ 77.3 ) ที่มั่นใจว่าตนสามารถผ่านได้แน่ และ 28 ราย (ร้อยละ 21.9) รู้สึกไม่แน่ใจ

จากผลการศึกษาในแพทย์ประจำบ้าน ทั้งสิ้น 128 ราย มีแพทย์ 54 ราย (ร้อยละ 42.2 ) อยู่ในภาวะเครียดซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต และ 74 ราย (ร้อยละ 57.8 ) มีสุขภาพจิตปกติตามเกณฑ์การประเมินด้วยแบบสอบถาม GHQ 30 แพทย์ทั้งสองกลุ่มนี้ มีรายละเอียดของข้อมูลพื้นฐาน ดังแสดงในตารางที่ 1

จากข้อมูลพื้นฐานดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของแพทย์กลุ่มที่มีภาวะเครียดกับแพทย์กลุ่มที่ไม่มีภาวะเครียด ในเรื่องของ อายุ เพศ ชั้นปีที่ศึกษา การศึกษาใน major หรือ minor ward สถานภาพสมรส ภูมิลำเนา เชื้อชาติ ศาสนา และสถาบันที่จบการศึกษา จะพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P> 0.05) นอกจากนี้ แพทย์ทั้งสองกลุ่มยังมีการกระจายตัวไม่แตกต่างกันในเรื่องของปีที่จบการศึกษา เกรดเฉลี่ย ระยะเวลาปฏิบัติงานในวิชาชีพแพทย์ ตลอดจนถึงรายละเอียดของหน่วยงานที่เคยปฏิบัติงานมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของแพทย์ที่สมรสแล้ว พบว่า การมีภาวะเครียด สัมพันธ์กับคู่สมรสที่มีอาชีพแพทย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความสำคัญต่อภาวะการมีบุตร หรือที่อยู่ของคู่สมรส (ตารางที่ 2)

เหตุผลที่พบมากที่สุดในการเลือกสาขาวิชาของแพทย์ประจำบ้าน คือความชอบ ซึ่งมีถึง 108 ราย (ร้อยละ 84.4 ) อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลอื่นๆที่เป็นปัจจัยประกอบด้วย เช่น ความเป็นประโยชน์ต่อสังคม 29 ราย (ร้อยละ 22.7) ความก้าวหน้าของวิชาชีพ 23 ราย (ร้อยละ 18) ผลตอบแทนทางการเงิน 17 ราย (้อยละ 13.3 ) และมีเพียง 5 ราย (ร้อยละ 3.9 ) ที่เรียนตามความต้องการของบุคคลใกล้ชิด

สำหรับเหตุผลในการเลือกสาขาวิชานั้น ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆกับภาวะเครียดในแพทย์ประจำบ้านเลย (P > 0.05) ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความชอบ ความก้าวหน้า ผลตอบแทนของรายได้ สภาพความสบายของงาน ความเป็นประโยชน์ของสังคม หรือการเลือกเรียนตามความประสงค์ของบุคคลใกล้ชิด (ตารางที่ 3) แต่พบว่าภาวะเครียดสัมพันธ์กับความรู้สึกว่าตนเองตัดสินใจผิดพลาดในการมาศึกษาต่อนี้ กล่าวคือ แพทย์ที่มีภาวะเครียด จะมั่นใจต่อการตัดสินใจเดิมของตน น้อยกว่าแพทย์ที่ไม่มีภาวะเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 4) ความสัมพันธ์เช่นนี้ เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับความมั่นใจที่จะศึกษาต่อจบครบหลักสูตร ตรงข้ามกับการประเมินว่าตนสามารถผ่านการสอบวุฒิบัตรได้นั้น กลับพบว่า แพทย์ทั้งสองกลุ่มมีการประเมินที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.06)

สำหรับปัญหาที่กระทบกระเทือนสภาพความเป็นอยู่ของแพทย์ประจำบ้านมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาเรื่องหอพักแพทย์ 44 ราย (ร้อยละ 34.4 ) ปัญหาการเงิน 27 ราย (ร้อยละ 21.1) และปัญหาด้านการงานและการศึกษา 25 ราย (ร้อยละ 19.5 ) ปัญหาจากสมาชิกในครอบครัว 17 ราย (ร้อยละ 13.3) และปัญหาทางสุขภาพ 11 ราย (ร้อยละ 8.6 )

ในส่วนของปัญหาในชีวิตของแพทย์ประจำบ้านนี้ พบว่าภาวะเครียดไม่สัมพันธ์กับปัญหาสังคม ปัญหาบ้านและที่อยู่อาศัย ปัญหาทางกฎหมายหรือปัญหาจากภัยพิบัติต่างๆแต่ภาวะเครียดของแพทย์ประจำบ้านมีความสัมพันธ์กับปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน ปัญหาการเงิน และปัญหาสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 5) ทั้งนี้โดยไม่มีอิทธิพลของอาชีพของคู่สมรสมาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อแจกแจงด้วยวิธีทางสถิติแล้ว

วิจารณ์

ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่า แพทย์ประจำบ้านของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ประสพกับภาวะเครียดซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต ถึง ร้อยละ 42.5 นับเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่พบในต่างประเทศซึ่งมีความถี่ในช่วง ร้อยละ 30-50 อัตราที่พบนี้มีสูงกว่า ภาวะเครียดที่พบในอาชีพอื่นๆชัดเจน แม้แต่ในการศึกษาที่ใช้แบบสอบถามประเภทเดียวกัน คือ GHQ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น การศึกษาในครู โดย Finlay-Jones19 พบภาวะเครียดเพียง ร้อยละ 17 การศึกษาในแม่บ้านโดย Clarkson และคณะ20 พบภาวะเครียดเพียง ร้อยละ 20 และการศึกษาในชุมชนหนองจอก โดยจักรกฤษณ์ สุขยิ่ง และคณะ21 พบภาวะเครียดเพียง 19 % เป็นต้น

ภาวะเครียดที่เกิดขึ้นในแพทย์นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ การมีบุคลิกภาพส่วนตัวที่เอื้อต่อภาวะเครียด ดังที่เคยมีรายงานว่า นักศึกษาแพทย์มีบุคลิกภาพเด่นในด้านความย้ำคิดย้ำทำ มีความหมกมุ่นต่อสุขภาพ และไม่กล้าแสดงอารมณ์อย่างเปิดเผย22-24 แต่เมื่อเปรียบเทียบความถี่ของการเกิดปัญหาความเครียดในแพทย์ประจำบ้านจากการศึกษาครั้งนี้กับการศึกษาที่เคยทำในนักศึกษาแพทย์แล้ว ก็ยังเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาความเครียดในแพทย์ประจำบ้านมีอัตราสูงกว่าชัดเจน ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า นอกเหนือจากปัจจัยด้านบุคลิกภาพแล้ว น่าจะมีสาเหตุอื่นที่ส่งอิทธิพลต่อภาวะเครียดที่เพิ่มขึ้นในช่วงของการเป็นแพทย์ประจำบ้านอีก ดังที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

การศึกษานี้ได้พิจารณาถึงความแตกต่างของข้อมูลพื้นฐาน กับการเกิดภาวะเครียด พบว่า เพศหญิงมีแนวโน้มของอัตราภาวะเครียดที่สูงกว่าเพศชายเล็กน้อย โดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับที่พบจากการศึกษาในต่างประเทศ ทั้งในกรณีที่ใช้วิธีการศึกษาต่างกัน และกรณีที่ใช้แบบสอบถามประเภทเดียวกัน คือ GHQ8, 14, 25 อนึ่ง การศึกษาครั้งนี้ ยังสนับสนุนผลที่พบจากการใช้ GHQ ในต่างประเทศ ในประเด็นที่พบว่ามักมีค่าความลำเอียงอันเนื่องมาจากเพศได้เล็กน้อยด้วย ส่วนการที่แพทย์ไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทย (ร้อยละ 89.1 ) และนับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 97.7) ได้ค่าความถี่ของภาวะเครียด ร้อยละ 42.2 เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาด้วยวิธีเดียวกัน ของ Firth14 ซึ่งให้ค่าความถี่ 50 % แล้ว ทำให้พบแนวโน้มว่า เชื้อชาติ และศาสนา ไม่น่าจะมีผลต่อความเครียดในแพทย์ประจำบ้าน

นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นช่วงอายุ ที่แพทย์นิยมมาศึกษาต่อเฉพาะทางว่าอยู่ในช่วงไม่เกิน 30 ปี และ ร้อยละ 74.2 ปฏิบัติงาน 3 ปี ก่อนมาศึกษาต่อ ทั้งนี้ น่าจะเป็นอิทธิพลของเงื่อนไขการปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ตามภาระผูกพันที่มีต่อแพทยสภา ข้อสังเกตหนึ่งที่พบได้คือ แพทย์ที่มาศึกษาต่อในโรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าจากสถาบันนี้ (ร้อยละ 64.1 ) และการมีข้อมูลพื้นฐานด้านการศึกษาที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันที่จบ ผลการเรียน ปีการศึกษาที่จบ หรือประสพการณ์การทำงานในวิชาชีพแพทย์ ล้วนไม่มีผลต่ออัตราของภาวะเครียดที่เกิดขึ้น

แพทย์ประจำบ้านจากกลุ่มภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์ ศัลยกรรมศาสตร์ อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ และศัลยกรรมกระดูก ซึ่งจัดเป็นกลุ่ม major ward ก็มิได้มีอัตราของภาวะเครียดสูงกว่าแพทย์ประจำบ้านจากลุ่มภาควิชาที่เป็น minor ward อันประกอบด้วยภาควิชาวิสัญญีวิทยา จิตเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาธิวิทยา รังสีวิทยา จักษุวิทยา และโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา

ชั้นปีของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1, 2 หรือ 3 แม้จะมีอัตราความเครียดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามชั้นปี ซึ่งแตกต่างจากที่ Reuben12 ได้รายงานไว้ว่า พบอัตราของปัญหาทางอารมณ์สูงที่สุดในแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ความแตกต่างนี้อาจเนื่องมาจากรายละเอียดของโครงสร้างหลักสูตร ความรับผิดชอบ และความสามารถในการปรับตัวที่แตกต่างกันระหว่างแพทย์ไทยและต่างประเทศ หรืออาจเนื่องมาจากอิทธิพลของการสอบวุฒิบัตรซึ่งเป็นปัญหาที่คุกคามต่อแพทย์ประจำบ้านชั้นปีสูงๆ ชาวไทยมากกว่าในแพทย์ชาวต่างประเทศก็เป็นได้

เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการเลือกสาขาวิชาที่ศึกษาต่อ พบว่าแพทย์ประจำบ้านส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84.4 ) ยังนิยมเลือกสาขาวิชาตามความชอบของตนเองเป็นหลัก โดยเหตุผลในการเลือกเช่นนี้ ก็มิได้เป็นปัจจัยป้องกันต่อภาวะเครียดแต่ประการใด กล่าวคือแพทย์ที่เกิดภาวะเครียด และไม่เกิดภาวะเครียด ต่างก็เลือกศึกษาต่อด้วยเหตุผลความชอบในอัตราใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 81.5 และร้อยละ 86.5 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ความสัมพันธ์ลักษณะเดียวกันก็เกิดขึ้นกับเหตุผลการเลือกอื่นๆด้วยเช่นกัน

ในปัจจัยของข้อมูลส่วนตัวนั้น การศึกษาครั้งนี้พบว่า แพทย์ประจำบ้านส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60.9 ) ยังมีสถานภาพโสด โดยสัดส่วนของการสมรสจะมีเพิ่มขึ้นตามชั้นปีของการศึกษา อย่างไรก็ตาม สถานภาพสมรสนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับภาวะความเครียดแต่ประการใด (ตารางที่ 1) แม้ว่าปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเครียดของแพทย์ประจำบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 5) ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า แพทย์ประจำบ้านมีปัญหาความเครียดซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาครอบครัว โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานภาพสมรส

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าการมีคู่ครองมีที่อยู่อาศัยใกล้ชิดกับตนและการมีบุตร ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลใดๆต่อภาวะเครียด แต่ปัจจัยที่ส่งผลชัดเจน กลับเป็นเรื่องอาชีพของคู่ครอง กล่าวคือ ผู้มีคู่ครองประกอบอาชีพแพทย์ จะมีอัตราความเครียดสูงกว่าผู้ที่คู่ครองอาชีพอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 2) และเมื่อแจกแจงแล้ว ก็มิได้พบความสัมพันธ์กับปัญหาครอบครัวแต่ประการใด ดังนั้น จึงน่าจะอธิบายได้ว่า การที่แพทย์มีคู่สมรสในวิชาชีพเดียวกัน ซึ่งถือว่ามีภาวะเครียดสูงกว่าบุคคลทั่วไปแล้ว จะทำให้ขาดแหล่งสนับสนุนให้กำลังใจที่มีความมั่นคงทางจิตใจ และตรงกันข้าม ตัวแพทย์เองอาจมีภาระกังวลต่อสภาพความเครียดของคู่สมรสเพิ่มขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของข้อมูลนี้ อาจต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปด้วย

ผลการศึกษาในส่วนของการประเมินตนเองนั้น พบว่าแพทย์ที่มีภาวะเครียด เริ่มมีทัศนคติในทางลบต่อการศึกษาในสาขาเฉพาะทางของตน กล่าวคือ แพทย์ ร้อยละ 37 ในกลุ่มที่มีภาวะเครียด ตระหนักถึงปัจจัยการทำงานและการศึกษาว่าเป็นปัญหาสำคัญอัตรานี้ต่างจากที่พบในแพทย์ที่ไม่มีภาวะเครียดอย่างมีนัยสำคัญ (ตารางที่ 5) นอกจากนี้แพทย์ที่มีภาวะเครียด ร้อยละ 26 คิดว่าตนตัดสินใจผิดพลาดต่อการมาศึกษานี้ และ ร้อยละ 11 ไม่มั่นใจต่อการศึกษาจนจบหลักสูตร ความสัมพันธ์สองกลุ่มหลังนี้ ก็มีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแพทย์ที่ไม่มีภาวะเครียด (ตารางที่ 4) และอาจอธิบายจากความเป็นไปได้สองประการ ประการแรกแพทย์ที่มีความเครียดสูง อาจมีทัศนคติที่เป็นลบ (negative point of view) ต่อปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีอคติต่อการศึกษา และการงานของตนด้วย ในทางตรงข้าม ประการที่สอง อาจอธิบายได้ว่าเมื่อแพทย์ได้มาศึกษาต่อระยะหนึ่ง และพบว่าสภาพทั่วไปแตกต่างจากที่ตนคาดหวังไว้ (disillusion) ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันต่อเนื่องจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิตได้

ปัญหาด้านการเงินและรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับภาวะเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 5) ปัญหานี้น่าจะอธิบายได้จากการที่แพทย์ประจำบ้านส่วนหนึ่งมีรายได้ต่ำกว่าที่ตนคาดหวัง เช่น ต่ำกว่ารายได้ที่เคยรับขณะปฏิบัติงานก่อนมาศึกษาต่อ หรือต่ำกว่าเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องในอาชีพอื่น หรืออาจเป็นจากการที่แพทย์อยู่ในภาวะที่มีค่าครองชีพสูง ไม่ว่าจะในด้านความรับผิดชอบต่อครอบครัว หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆตามสถานะของตนในสังคมก็ตาม อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวของแพทย์ประจำบ้านเป็นตัวชี้วัดเท่านั้น โดยมิได้มีเกณฑ์มาตรฐานใดๆ หากแพทย์ผู้ตอบถูกครอบงำโดยอิทธิพลของกระแสวัตถุนิยมมาก ก็อาจส่งผลให้ข้อมูลสะท้อนออกมาในลักษณะนี้ได้เช่นกัน

นอกเหนือจากปัจจัยด้านครอบครัว การทำงาน และปัจจัยด้านการเงินแล้ว ปัญหาสุขภาพยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับภาวะเครียดของแพทย์ประจำบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 5) ผลการศึกษานี้ แม้จะสอดคล้องกับที่รายงานไว้โดย Firth14 ว่ามีแพทย์ถึง ร้อยละ 25 ที่ต้องใช้ยารักษาโรคของตนเป็นประจำ แต่การศึกษาครั้งนี้ ก็มีจุดบกพร่องในแง่ความจำเพาะของความหมาย เนื่องจากไม่ได้ระบุในแบบสอบถามอย่างชัดเจนเพียงพอว่า โรคประจำตัวหรือความเจ็บป่วยนั้น หมายถึงความเจ็บป่วยทางกายหรือความเจ็บป่วยทางจิตเวช และความเจ็บป่วยทั้งสองนี้ อาจให้ผลการศึกษาและความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงได้

เมื่อพิจารณาภาพรวมของแพทย์ประจำบ้านทั้งสองกลุ่มแล้ว จะพบว่า ปัญหาหอพักแพทย์กลับเป็นสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของแพทย์จำนวนมากที่สุด ทั้งที่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะเครียดเลย (ตารางที่ 5) ซึ่งน่าจะอธิบายได้ว่า แพทย์ประจำบ้านน่าจะมีความสามารถในการปรับตัวต่อปัญหาความเป็นอยู่ได้ดี หรืออีกนัยหนึ่งอาจมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงภาวะกดดันจากปัญหาที่อยู่อาศัยได้ดี ก็ได้

จากข้อมูลที่ได้นำเสนอมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า การศึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลรามาธิบดี นี้ เป็นเพียงการศึกษานำร่อง เพื่อให้ทราบถึงภาพรวมของภาวะทางอารมณ์ ที่อาจเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิตของแพทย์ประจำบ้านเท่านั้น การศึกษาครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า แพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในประเทศไทย มีภาวะความกดดันทางอารมณ์ในอัตรา ร้อยละ 42.2 ซึ่งไม่แตกต่างจากที่พบในต่างประเทศ ภาวะกดดันทางอารมณ์นี้ เกิดขึ้นในอัตราที่สูงกว่าในผู้ที่คู่สมรสเป็นแพทย์ และภาวะนี้สัมพันธ์กับการมีปัญหาในสี่ด้านต่อไปนี้ คือ ปัญหาความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ปัญหาการทำงานและการเรียน ปัญหาการเงิน และปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ภาวะทางอารมณ์ของแพทย์ประจำบ้านจะส่งผลต่อความรู้สึกและทัศนคติในการศึกษาต่อของตน ทำให้แพทย์ประจำบ้านรู้สึกว่าตนตัดสินใจผิดพลาดที่มาศึกษาต่อ และมีโอกาสเลิกศึกษาต่อก่อนที่จะจบหลักสูตร

อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ ยังมีข้อบกพร่องอีกหลายประการโดยเฉพาะความจำเพาะของปัญหา หรือผลกระทบในแนวลึก ซึ่งควรจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อแยกแยะปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์ และแสวงหาแนวทางป้องกัน แก้ไข เพื่อส่งเสริมคุณภาพของแพทย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อไปในอนาคต

กิตติกรรมประกาศ

ผู้วิจัยขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ณรงค์ สุภัทรพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่อนุญาตให้ทำการศึกษาและเสนอรายงาน ขอบคุณอาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร ที่ให้คำปรึกษาทางด้านสถิติ ขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนา นิลชัยโกวิทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มาโนช หล่อตระกูล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ และอาจารย์นายแพทย์จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง ที่ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือในการวิจัยอย่างดียิ่ง ขอขอบคุณเพื่อนแพทย์ประจำบ้านโรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกภาควิชา ที่ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล และขอขอบคุณ คุณสุพัตรา ชำนาญกิจ ที่ช่วยจัดพิมพ์เอกสารรายงานการวิจัย

เอกสารอ้างอิง

1. Kalb WS. Your future as a physician. New York : Richard Rasen Press, 1963.

2. ณรงค์ สุภัทรพันธุ์. คุณสมบัติของแพทย์ประจำบ้านจิตเวชเมื่อจบการฝึกอบรม. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2533 ; 35 : 175-7.

3. สุภา มาลากุล ณ อยุธยา. บทบาทของจิตแพทย์ในอนาคต. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2533 ; 35 : 166-71.

4. อดุลย์ วิริยะเวชกุล. มาตรฐานการแพทย์ไทย-ใครรับผิดชอบ ? (บทบรรณาธิการ). แพทยสภาสาร 2530 ; 15 : 589-90.

5. อวย เกตุสิงห์. “แด่หมอใหม่” อัตตาน อุปม กเร. สารศิริราช 2524 ; 13 : 219-21.

6. ประกิต วาทีสาธกกิจ. ภาพพจน์ของแพทย์ไทยในเวชปฏิบัติภาคเอกชน. แพทยสภาสาร 2530 ; 16 : 259-64.

7. Murray RM. Psychiatric illness in male doctors and controls : an analysis of scottish hospital inpatient data. Br J Psychiatry 1977 ; 131 : 1-10.

8. Smith JW, Denny WF, Witzke DB. Emotional impairment in internal medicine house staff: Result of a national survey 1986 ; 225 : 1155-8.

9. Valko RJ, Clayton PJ. Depression in the internship. Disease of the nervous system 1975 ; 36 : 26-9.

10. Anonymous. Alcohol-dependent doctors (Editorial). Br Med J 1979 ; ii : 351.

11. Vaillant GE, Brighton JR, McArthur M. Physicians’ use of mood-altering drugs : a 20- year follow up report. N Engl J Med 1970 ; 282 : 365-70.

12. Reuben DB. Depressive symptoms in medical house officers. Arch Inter Med 1985 ; 145 : 286-8.

13. Firth J. Level and source of stress in medical students. Br Med J 1986 ; 292 : 1177-80.

14. Firth J. Emotional distress in junior house officers. Br Med J 1987; 295 : 533-6.

15. Schneider SE, Phillips WM. Depression and anxiety in medical, surgical, and pediatric interns. Psychol Rep 1993 ; 72 : 1145-6.

16. Goldberg DP, Williams P. A User’s Guide to the General Health Questionnaire. Berkshire : Nelson publishing, 1988.

17. ธนา นิลชัยโกวิทย์, จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง, ชัชวาลย์ ศิลปกิจ. ความเชื่อถือได้และความแม่นตรงของ General Health Questionnaire ฉบับภาษาไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2539 ; 41 :

18. American Psychiatric Association : Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th ed. Washington, DC: American Psychiatric Association, 1994.

19. Finlay-Jones R. Factors in the teaching environment associated with severe psychological distress among school teachers. Aust N Z J Psychiatry 1986 ; 20: 304-13.

20. Clarkson SA, Mullen P, Sharples K. The mental health of preschool children : some preliminary data. New Zealand Med J 1985; 98 : 1007-8.

21. จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง, ธนา นิลชัยโกวิทย์, ชัชวาลย์ ศิลปกิจ. การสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร. นำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 23 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2538.

22. กนกรัตน์ สุขะตุงคะ, สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์, ปราณี ชาญณรงค์ และคณะ. ลักษณะบุคลิกภาพนักศึกษาแพทย์ศิริราช ปี 5 ในระยะ 5 ปี. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2523 ; 34 : 181-92.

23. Ford CV. The somatoform disorders psychiatry. Consultation Liaison Psychiatry and Behavioral Medicine. Vol 2. In : Cavenar JO, editor. New York : Basic Books, 1986.

24. Lloyd C. Sex differences in medical students requesting psychiatric intervention. J Nerv Ment Dis 1983 ; 171 : 535-45.

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนแพทย์ประจำบ้านกลุ่มที่มีภาวะเครียด และไม่มีภาวะเครียด

ตามลักษณะข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลพื้นฐาน

มีภาวะเครียด

ไม่มีภาวะเครียด

P

อายุ

28.15

28.56

0.69

เพศ ชาย:หญิง

21:33

42:32

0.69

ชั้นปี 1:2:3

16:17:21

24:19:31

0.77

สาขาวิชา major:minor

39:15

41:33

0.07

สถานภาพสมรส

โสด : คู่

33 : 21

45:29

0.97

ภูมิลำเนา

กทม : ต่างจังหวัด

29 : 24

40 : 34

0.94

เชื้อชาติ

ไทย : อื่นๆ

48 : 6

66 : 8

0.96

ศาสนา

พุทธ : อื่นๆ

52 : 2

73 : 1

0.38

สถาบันที่จบการศึกษา

รามาฯ : อื่นๆ

33:21

49 : 25

0.55

 

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่มีภาวะเครียด และไม่มีภาวะเครียด

จำแนกตามรายละเอียดข้อมูลของคู่สมรสและบุตร

ข้อมูล

Stress

non stress

P

อาชีพ (แพทย์ : อื่นๆ)

14 : 7

10 : 19

0.02

ที่อยู่ (กทม : ต่างจังหวัด)

16 : 5

16 : 12

0.17

การมีบุตร (ไม่มีบุตร : มีบุตร)

19 : 2

18 : 11

0.06

 

ตารางที่ 3 แสดงจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่มีภาวะเครียด และไม่มีภาวะเครียด

จำแนกตามเหตุผลในการเลือกสาขาวิชา

เหตุผล

Stress

non stress

P

ความชอบ (ใช่ : ไม่ใช่)

44 : 10

64:10

0.44

ความก้าวหน้า (ใช่ : ไม่ใช่)

8 : 46

15 : 59

0.42

ผลตอบแทนทางการเงิน (ใช่ : ไม่ใช่)

6 : 48

11 : 63

0.53

ความสบายของงาน (ใช่ : ไม่ใช่)

10 : 44

11 : 63

0.58

เป็นประโยชน์ต่อสังคม (ใช่ : ไม่ใช่)

15 : 39

14 : 60

0.23

ความต้องการของบุคคลใกล้ชิด (ใช่ : ไม่ใช่)

3 : 51

2 : 72

0.41

 

ตารางที่ 4 แสดงจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่มีภาวะเครียด และไม่มีภาวะเครียด

จำแนกตามการประเมินตนเองในด้านต่างๆ

การประเมิน

Stress

non stress

P

การตัดสินมาศึกษาต่อ (ถูกต้อง : ลังเล)

40 : 14

68 : 6

< 0.01

สามารถศึกษาต่อจนจบหลักสูตร (มั่นใจ : ลังเล)

48 : 6

73 : 1

0.02

สามารถสอบผ่านวุฒิบัตรได้ (มั่นใจ : ลังเล)

37 : 17

62 : 12

0.06

 

ตารางที่ 5 แสดงจำนวนแพทย์ประจำบ้าน ที่มีภาวะเครียด และไม่มีภาวะเครียด

จำแนกตามปัญหาต่างๆ

ปัญหา

Stress

non stress

P

ปัญหาครอบครัว (ใช่ : ไม่ใช่)

12 : 42

5 : 69

0.01

ปัญหาสังคม (ใช่ : ไม่ใช่)

4 : 50

3 : 71

0.41

ปัญหาการทำงานและการศึกษา (ใช่ : ไม่ใช่)

20 : 34

5 : 69

< 0.01

ปัญหาบ้านและที่อยู่อาศัย (ใช่ : ไม่ใช่)

5 : 49

1 : 73

0.09

ปัญหาหอพักแพทย์ (ใช่ : ไม่ใช่)

20 : 34

24 : 50

0.58

ปัญหาการเงิน (ใช่ : ไม่ใช่)

17 : 37

10 : 64

0.01

ปัญหาสุขภาพ (ใช่ : ไม่ใช่)

8 : 46

3 : 71

0.03

ปัญหากฎหมาย (ใช่ : ไม่ใช่)

1 : 53

0 : 74

0.42

ปัญหาภัยพิบัติ (ใช่ : ไม่ใช่)

3 : 51

4 : 70

0.63

Search | Present Issue | Archives | Editorial Board | Author Instructions | Subsribe | E-mail Alert | Contact

© Copyright The Psychiatric Association of Thailand. All Rights Reserved.1999-2001  

Home page Site map Contact us