passo.jpg (6405 bytes)

ยุทธวิธีในการดูแลบุคคลที่มีปัญหาทางจิตของญาติ

Strategies Used by Caregivers in Managing Psychiatric Patients at Home

PDF file

เวทินี สุขมาก วท.บ. (พยาบาล), ปร.ด. (จิตวิทยา)* Vatinee Sukmak, R.N., Ph.D. (Psychology)*

อุไรวรรณ โชครัตน์หิรัญ วท.บ. (พยาบาล)** Uraiwan Chaorathirun, RN., B.Sc. (Nursing)**

เอมหทัย ศรีจันทร์หล้า พ.ย.บ. (พยาบาล)** Aimhathai Srichunlah, R.N., B.N.S**

 

Abstract

Objective To gain an understanding of the caregivers experiences in giving care to a relative with schizophrenia at home.

Method Data were collected through audiotaped, semi-structured interviews in local languages with 14 primary caregivers of schizophrenia patients. Content analysis and constant comparison were used in analysing the data.

Results The findings showed that the majority of the caregivers was female and their age ranged from 35 to 56 years. Four main stages emerged from the data: confuse, proceed, adapt and weary. In the weary stage, the caregivers often felt hopeless in dealing with their mentally ill patients.

Conclusions Through understanding the stages of strategies, this study has implications for designing effective interventions to support mental health of patients and caregivers. J Psychiatr Assoc Thailand 2001; 46(2):107-117.

Key words: strategies, mental illness, relatives, home

* Faculty of Nursing, Mahasarakham University, Kantaravichai, Mahasarakham 44150.

** Khon Kaen Neuropsychiatric Hospital, Muang Distric, Khon Kaen 4000.

 

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อเรียนรู้ถึงประสบการณ์ของญาติในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต โดยแพทย์ระบุว่าเป็นโรคจิตเภท

วิธีการศึกษา ศึกษาญาติผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคจิตเภท จำนวน 14 คน โดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง บันทึกเทป และถอดข้อมูล ผลการวิเคราะห์เนื้อหาจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของรหัสที่ได้จากบทสัมภาษณ์

ผลการศึกษา พบว่าญาติส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 35-56 ปี และได้ดูแลผู้ป่วยระหว่าง 5-40 ปี กระบวนการของพฤติกรรมการเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน คือ สับสน แสวงหา ปรับตัว และหดหู่ โดยขั้นตอนที่ญาติรู้สึกหดหู่เป็นระยะที่ญาติรู้สึกสิ้นหวังในการรักษาดูแลผู้ป่วย

สรุป ผลการศึกษาสามารถนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนเพื่อให้การสนับสนุนด้านจิตใจของญาติและผู้ป่วยในแต่ละขั้นตอนของพฤติกรรมอย่างเหมาะสมต่อไป วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2544; 46(2):107-117.

คำสำคัญ ยุทธวิธี ผู้มีปัญหาทางจิต ญาติ ที่บ้าน

* คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150

** โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ถนนชาตะผดุง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000

บทนำ

จากสภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคมในปัจจุบัน ทำให้อาการป่วยของประชาชนทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้น เช่น ความเครียด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ซึ่งมีผลทำให้จำนวนผู้ป่วยทางจิตใจเพิ่มจำนวนมากขึ้น1 โดยจากสถิติในปี 2539 สถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตมีผู้ป่วยในจำนวนถึง 35,020 ราย 2 อย่างไรก็ตามนโยบายปฎิรูปสาธารณสุขได้พยายามผลักดันให้มีการดูแลในชุมชนมากขึ้น จากเหตุนี้ทำให้ญาติของผู้ป่วยส่วนมากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชน3 อีกทั้งยังพบว่าญาติผู้ป่วยส่วนใหญ่เรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยโดยการลองผิดลองถูก ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบได้4 ซึ่งจะเห็นว่าความเจ็บป่วยของบุคคลส่งผลกระทบให้สมาชิกในครอบครัวมีปัญหาทางจิตได้ เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล5,6 ปรับตัวไม่ได้7

ญาติของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตเหล่านี้บางคนมีอาการซึมเศร้า สิ้นหวัง ซึ่งเกิดจากการให้การดูแลที่ไม่สิ้นสุด ญาติบางคนแก้ปัญหาโดยการยอมรับในสถานการณ์ ปลอบใจตนเอง6 จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษายุทธวิธีในการดูแลผู้มีปัญหาทางจิตของญาติ โดยคำถามที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ญาติทำอะไรบ้างและมีประสบการณ์ชนิดไหน มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างในชีวิตเมื่อมีผู้มีความผิดปกติทางจิตเกิดขึ้นในครอบครัว ผู้วิจัยยังได้ศึกษารวมไปถึงผลต่อวัฒนธรรมหรือความเชื่อในสังคมที่เกิดจากพฤติกรรมหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้

การวิจัยนี้ใช้วิธีการของทฤษฎีพื้นฐาน (grounded theory) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการที่ญาติใช้ในการดูแลผู้มีอาการผิดปกติทางจิตที่บ้าน โดยเฉพาะความรู้สึกต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในช่วงเวลาที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาบางคนไม่ได้เป็นผู้กระทำหรือก่อขึ้น อนึ่งการวิจัยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ3,7 และการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้รูปแบบวิธีวิจัยอื่น8,9 ที่เป็นการตรวจสอบ ณ จุดเวลาหนึ่งทำให้ไม่ทราบกระบวนการพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง การศึกษานี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติการช่วยเหลือที่เหมาะสมทั้งต่อญาติและผู้ป่วยต่อไปในอนาคต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการดูแลที่ถูกต้องแก่ญาติ

วิธีการศึกษา

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการของทฤษฎีพื้นฐานในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยที่หอผู้ป่วย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าป่วยเป็นโรคจิตเภท ตัวอย่างคำถามที่ใช้ได้แก่

ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านทราบว่าญาติเป็นโรคจิต

การดำเนินชีวิตของท่านได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างเมื่อญาติเป็นโรคจิต

ท่านมีวิธีอะไรบ้างในการดูแลญาติของท่านตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน

มีใครและอะไรบ้างที่สามารถช่วยเหลือท่านในการดูแลญาติของท่าน

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างในการรวบรวมข้อมูล เป็นการถามเกี่ยวกับประสบการณ์การดูแลที่บ้านตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการจนกระทั่งมารักษาที่โรงพยาบาลหลังจากนั้นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ซึ่งได้บันทึกเทปนำมาถอดคำต่อคำ การเก็บข้อมูลอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2543 และได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินไปพร้อม ๆ กัน โดยมีลำดับขั้นดังนี้

  1. จัดรหัสตามกลุ่มของพฤติกรรมที่ญาติใช้ในการดูแลผู้ป่วย
  2. รหัสที่ได้นำมาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง เพื่อลดจำนวนรหัสที่ได้
  3. ให้ความหมายของรหัสที่ได้
  4. หาความสัมพันธ์และลำดับรหัสก่อนหลัง
  5. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของรหัสกับข้อมูลดิบ

การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการของทฤษฎีพื้นฐาน เป็นวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการสำรวจตรวจสอบกระบวนการทางสังคมที่บุคคลนั้นมีความเกี่ยวพัน ซึ่ง Glaser และ Sturauss10 ได้พัฒนาและเสนอวิธีการนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือ The Discovery of Grounded Theory อีกทั้งได้จำแนกเกณฑ์ 4 ข้อ ในการพิจารณาทฤษฎีที่ได้พัฒนาขึ้นจากวิธีการนี้ว่า ทฤษฎีนั้นต้องสามารถเข้าใจได้ สามารถใช้ได้ทั่วไป สามารถควบคุมได้และสามารถเข้ากับบริบทต่างๆ ของสังคม

ผลการศึกษา

ผู้ป่วยมีระยะเวลาที่เจ็บป่วยตั้งแต่ 5 ปี ถึง 40 ปี ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโดยเป็น แม่ พี่ และภรรยา อายุระหว่าง 35-56 ปี จำนวนทั้งสิ้น 14 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และใช้บัตรสุขภาพในการรักษาผู้ป่วย ระดับการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี

ผลการวิจัยพบว่า บริบทเป็นปัจจัยที่สำคัญของญาติในการใช้ยุทธวิธีในการดูแลผู้มีความผิดปกติทางจิตที่บ้าน ซึ่งมีความเชื่อว่าความผิดปกติในร่างกายเกิดจากความผิดปกติในส่วนใดส่วนหนึ่งคือในส่วนร่างกายและจิตใจโดยที่ทั้งสองส่วนต่างมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ดังนั้นการรักษาจึงต้องรักษาทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน การรักษาโดยแพทย์แผนโบราณพบว่า สามารถจำแนกการรักษาได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ การรักษาด้วยสมุนไพร การรักษาทางไสยศาสตร์ เช่น หมอน้ำมนต์ หมอผี หมอเสกเป่า เป็นต้น การรักษาด้วยการนวด หรือยาตำหรับเฉพาะโดยใช้สมุนไพร และการรักษาแบบผสมผสาน

กระบวนการการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่พบในการศึกษา แสดงให้เห็นว่าญาติได้พยายามเผชิญปัญหา โดยการปรับตัวและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยเพื่อที่จะให้การดูแลผู้ป่วยได้ต่อไปในภาวะที่มีขีดจำกัดของแต่ละครอบครัว ลักษณะการเผชิญปัญหาที่พบสามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ สับสน แสวงหา ปรับตัว และหดหู่ โดยมีรายละเอียด ของลักษณะภายในแต่ละขั้นตอน ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 กระบวนการการดูแลผู้มีปัญหาทางจิตของญาติ

ขั้น

ลักษณะ

สับสน วิตกกังวล ตกใจ เชื่อผู้อื่น สงสาร กลัว
แสวงหา หาข้อมูล ปรึกษา ทดลอง ความหวัง
ปรับตัว ระมัดระวัง อยู่ใกล้ชิด ตรวจสอบ ติดต่อเจรจา แสวงหาความช่วยเหลือ

วางแผน

หดหู่ หมดแรง หมดหวัง

หมายเหตุ: ลักษณะในแต่ละขั้นไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา

ขั้นที่ 1 สับสน

การเผชิญปัญหาในระยะแรกเริ่มที่ญาติทราบอาการและสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วย ญาติส่วนใหญ่จะระบุความรู้สึกค่อนข้างยาก บางครั้งความรู้สึกเกิดขึ้นพร้อมกันหลายอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและลักษณะของบุคลิกภาพของญาติเป็นสาเหตุสำคัญ ลักษณะของอาการสับสน ได้แก่ มีความเครียดสูง เชื่อในเรื่องสาเหตุและการรักษาผู้ป่วยง่ายและพยายามที่จะทำตามเพื่อให้ ผู้ป่วยหาย ย้ำคิดย้ำทำ ญาติส่วนใหญ่จะลืมเรื่องของตัวเองไปทันที

วิตกกังวล ญาติส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น วิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ติดตามมา การทำงานทั้งของผู้ป่วยและตนเอง พฤติกรรมที่สำคัญที่ญาติได้ให้สัมภาษณ์ในส่วนนี้ ได้แก่

“ฉันไม่เคยเห็นนะ ฉันก็ร้องไห้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ยืนเฝ้าลูกอยู่นั่นแหละ”

”ก็กลุ้มใจ แบบว่าแกคลุ้มคลั่ง”

ตกใจ ความตกใจเกิดจากการไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมาเกิดขึ้นกับตนเอง และไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จะร้ายแรง ความตกใจอาจเกิดเมื่อผู้ป่วยมีความผิดปกติมาก ๆ เช่นจากการบอกกล่าวว่า

”ตกใจสั่นทำอะไรไม่ถูก ยิ่งตอนที่แกมีอารมณ์รุนแรง”

เชื่อผู้อื่น ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่พร้อมที่จะเชื่อญาติคนอื่น เพื่อนบ้าน หรือข่าวลือในเรื่องของการรักษา บางครั้งก็เป็นการรักษาซ้ำซาก เพียงแต่ต่างผู้รักษา เช่น

“เชื่อว่าผีเข้า พอแก้แล้ว มาเยี่ยม ก็พูดได้ทันทีเลย”

สงสาร ญาติส่วนใหญ่มีความรู้สึกสงสารผู้ป่วย อย่างไรก็ตามเมื่อดูแลผู้ป่วยนาน ๆ ความสงสารก็อาจกลายเป็นความเอือมระอา หรือเบื่อ เช่น

“ผมก็บอกไม่ถูก บางครั้งก็เอือมระอา ครั้งแรกก็โมโห ตอนหลังสงสาร”

กลัว ความกลัวที่เกิดขึ้นในญาติเกิดจากความกลัวว่าผู้ป่วยจะทำร้าย กลัวว่าจะไม่หาย กลัวว่าจะทำไปร้ายผู้อื่น กลัวว่าผู้ป่วยจำอะไรไม่ได้อาจทำอะไรที่ร้ายแรงโดยไม่ตั้งใจ ญาติบางคนกลัวเกี่ยวกับการรักษา เช่น ไม่ทราบว่าจะรักษาหายหรือไม่ การรักษาต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากหรือไม่ อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปเป็นความกลัวเกี่ยวกับอาการและการรักษาผู้ป่วย ดังเช่น

“กลัวลูกไม่หาย”

“เวลาอาการหนัก ๆ ก็เอาไปฝากขังกับตำรวจไว้ก่อน มีอาการหนัก ๆ พ่อกับแม่ก็ไม่สบายใจ”

“กลัวว่าจะไม่หายกลัวว่าจะกลับมาเป็นอีก กลัวว่าเขาจะไม่กินยา”

ขั้นที่ 2 แสวงหา

พฤติกรรมกลุ่มที่สองของการเผชิญปัญหาเกิดขึ้นหลังจากญาติมีอาการสับสนไประยะหนึ่ง หลังจากนั้นญาติก็เริ่มค้นหาว่ามีอะไรบ้างสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการที่เป็นได้ โดยพฤติกรรมการแสวงหา ประกอบด้วย การหาข้อมูลการรักษาแบบต่าง ๆ การปรึกษาหารือกับญาติด้วยกันกับเพื่อนบ้านผู้รู้หรือชาวบ้านที่คิดว่ารู้หรือสามารถปรับทุกข์ได้ และได้ทดลองแสวงหาสถานที่รักษาโดยการพาผู้ป่วยไปรักษาเรื่อย ๆ ตามที่ทราบมาและมีความหวังเป็นระยะ ๆ ตามที่รู้ว่ามีที่รักษา ผู้ป่วยอื่นที่มีอาการเดียวกันหรือคล้ายกัน รักษาแล้วหายจากอาการที่เป็น โดยมีลักษณะย่อยจากการสัมภาษณ์ ดังนี้

หาข้อมูล ครอบครัวและญาติส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วยทางจิต จะเห็นว่าคำตอบที่ได้จากญาติส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ทราบว่าทำไมผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้ และได้สอบถามเพื่อนบ้านและคนอื่นที่คิดว่าทราบ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้ก็ยังเป็นข้อมูลที่เป็นความเชื่อว่าการเจ็บป่วยทางจิตมีสาเหตุมาจากการถูกทำทางไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังเช่น

“ตอนแรกนึกว่าป่วยธรรมดา”

“ไปหาหมอดู เขาบอกว่าสูบกัญชา ไม่เรียกปู่ (ผีปู่ตา) สูบด้วย เขาบอก ปู่อยู่ที่นี่นานนะคะ”

“บอกว่าโดนวางของพวกเขมร รักษาก็ไม่หาย ผมก็ไม่ทราบฟังจากเขา (เพื่อน) มา”

ปรึกษา ในระยะที่เริ่มมีผู้ป่วยทางจิตเกิดขึ้นในครอบครัว ญาติพี่น้องมีการปรึกษาหารือกันบ่อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการหาสถานที่รักษาอาการผู้ป่วย อย่างไรก็ตามเมื่อการรักษาหรืออาการ ผู้ป่วยดำเนินเป็นระยะเวลาหนึ่ง การปรึกษาหารือได้เปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่องของผู้รับผิดชอบ การดูแล และเงินทองในการรักษา ในระยะหลัง ๆ การปรึกษาหารือจะน้อยลง ทั้งนี้เนื่องมาจากอาการของผู้ป่วยยังคงไม่หาย ดังจากข้อมูล

“ฉันยังไม่รู้ ก็รักษาเอง พี่สาวก็บอกให้พารักษาข้างนอก”

“น้องสาวที่เป็นพยาบาลก็แนะนำว่าที่จิตเวชก็จะรักษาโดยตรง”

ทดลอง เมื่อมีผู้เจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นในบ้าน ญาติจะรักษากันเองก่อน การทดลองรักษาชนิดต่าง ๆ เนื่องจากคิดว่าทำแล้วจะเกิดความสบายใจ คิดว่าผู้ป่วยจะดีขึ้น เช่น

“ไปให้พระรดน้ำมนต์”

“ไปให้พระผูกแขน”

“ไปหมด ได้ข่าวว่าวัดไหนดี”

ความหวัง เห็นได้จากพฤติกรรมที่ญาติได้พยายามหาข้อมูล ปรึกษาหารือเรื่องการรักษา ผู้ป่วยเนื่องจากญาติรู้สึกมีความหวังที่ผู้ป่วยจะหายจากอาการทางจิต จากข้อมูลที่ได้พบว่าญาติส่วนใหญ่มีความหวังค่อนข้างสูง เช่น

“ใครเขาแนะนำไปก็ไป อยากให้ลูกหาย”

“มีความเชื่อว่าประมาณ 70-80% ว่าจะหาย”

ขั้นที่ 3 ปรับตัว

การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเป็นภาระที่หนักมากภาระหนึ่ง ต้องดูแลตลอดเวลา 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ญาติมีการปรับตัวอย่างมากหลังจากได้พยายามแสวงหาทางรักษาต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลาพอควร ลักษณะของการปรับตัวที่พบ ได้แก่ ญาติมีอาการตื่นตัวอยู่เสมอ พยายามทำตัวใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากไม่สามารถดูแลด้วยตนเองได้ก็พยายามขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น รวมถึงการปรับตัวเรื่องเงินทองที่ต้องใช้ในการรักษาดูแล ตรวจสอบอาการผู้ป่วยเพื่อความแน่ใจและการวางแผนในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต

ระมัดระวัง เนื่องจากอาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแปรปรวน หรือมีอาการที่อาจทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมที่ต้องระแวดระวังอยู่เสมอทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ทั้งของผู้ป่วย ตนเองและผู้อื่น เช่น

“บนบ้านก็ไม่ได้ไปนอน ลงมานอนห้องต่อกับห้องเขา เพราะต้องฟังเสียงเกือบทุกระยะ”

อยู่ใกล้ชิด ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมักพยายามอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่าที่เคยปฎิบัติมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้กินยาอย่างครบถ้วนเป็นสำคัญ และสามารถหายจากอาการทางจิต

“แม่ต้องดูแลเขาเหมือนหมอเลย แม่จ่ายยาให้เอง”

“ก็ดูแลตั้ง 36 ปี เรื่องอาหารการกินดูแลดีหมด”

“ไม่ได้กินยา ผมก็สังเกตดูอยู่”

“ไม่เป็นอันกินอันนอน”

ตรวจสอบ ญาติส่วนใหญ่มีการปรับตัวเป็นอย่างมากในการดูแลผู้ที่มีอาการทางจิต การปรับตัวที่สำคัญอย่างหนึ่งได้แก่การต้องตรวจสอบความเป็นอยู่ การกินยา อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยอยู่เสมอ โดยส่วนใหญ่เมื่อญาติสังเกตอาการว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเมื่อกินยาที่มีลักษณะแบบใดก็จะไม่ให้ ผู้ป่วยกินยาชนิดนั้น เช่น

“มียาตัวหนึ่ง ตัวนี้ยายจำได้นะคะ เม็ดขาว เขาซึมเลย ถ้าทานยาเม็ดนี้เขาจะนอน ที่นี้ยายก็เลยคิดเอาเองว่า ยาตัวนี้เรากวาดออกไปไม่ทาน นับเม็ดไว้ ก็จะทานแต่ตัวอื่น ก็จะดีขึ้น ดีขึ้น”

“ฉันเคยตรวจดู เขาให้ยา 2 เดือน เพราะฉันไม่มีเวลา ฉันก็ตรวจดูยา ยาเก่ายังไม่หมด เหลือประมาณ 10 กว่าเม็ด มีเที่ยวนี้ที่ยังไม่หมด”

ติดต่อเจรจา ในการรักษาดูแลผู้ป่วยทางจิตจำเป็นต้องใช้เงิน และการดูแลที่ต่อเนื่อง ผู้ดูแลส่วนใหญ่ต้องพาผู้ป่วยไปหาแพทย์อยู่เรื่อยๆ ทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองอยู่เสมอ รวมถึงการตอบข้อซักถามของแพทย์ที่สอบถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ทำให้ญาติส่วนใหญ่จะมีทักษะในการพูดเป็นอย่างมาก เช่นจากข้อมูล

“แบบว่าเข้าพบหมอทุกครั้งแล้วไปขอหมอตีราคาให้แล้วก็ไปเข้าห้องสงเคราะห์อีก ก็ขอลด สมมติว่า 300 ก็ขอลดเหลือ 100 บาท”

แสวงหาความช่วยเหลือ การดูแลผู้ที่มีอาการทางจิต ญาติต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเงินเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล ความช่วยเหลือด้านกำลังใจ สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น

“ฉันต้องวิ่งหาพี่หาน้อง พาส่งโรงพยาบาล”

“มีญาติมาดูแลกัน ก็มีเพื่อนมาคอยดูแล พูดคุยด้วย”

วางแผน สำหรับญาติผู้ดูแลที่เป็นบิดา มารดาส่วนใหญ่จะวางแผนในอนาคตให้กับผู้ป่วยซึ่งเป็นลูก เนื่องจากมีความเป็นห่วงว่าเมื่อตนไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยจะต้องมีผู้ดูแลตลอดไป ญาติผู้ทำหน้าที่ดูแลในปัจจุบันตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่ที่จะต้องวางแผนให้ ผู้ป่วยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต เช่น

“น้องสาวเขานั่นแหละต้องดู เพราะว่าบ้านยายก็จะสร้างให้ ให้เขาอยู่คนเดียว ที่ยายก็จะยกให้เขา ถ้าใครเลี้ยงดูเขาคนนั้นก็ดูไป”

“ถ้าเกิดว่ามีอาการหนัก ๆ แม่ก็จะฝากตากับยายไว้ว่าให้พามาที่โรงพยาบาลอีก”

ขั้นที่ 4 หดหู่

หลังจากญาติได้ดูแลผู้ป่วยมาเป็นเวลานานพอสมควร ญาติมักมีพฤติกรรมที่ปล่อยปละละเลยการดูแล ทั้งนี้เนื่องมาจากความอ่อนล้า อ่อนเพลียกับการที่ต้องดูแลผู้ป่วยเป็นระยะเวลาหลายปี และผู้ป่วยอาการไม่ทุเลาลง หรือญาติค้นพบว่าผู้ป่วยไม่มีทางรักษาหายได้ พฤติกรรมที่แสดงออกส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางที่หมดแรงและสิ้นหวัง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

หมดแรง ญาติผู้ป่วยที่เคยอยู่รักษามีประสบการณ์ต้องเผชิญกับอาการและพฤติกรรมของ

ผู้ป่วยที่รุนแรงมาก ๆ จนญาติทนอาการหรือพฤติกรรมของผู้ป่วยไม่ไหวจึงได้นำส่งโรงพยาบาล ต้องการให้อยู่โรงพยาบาลนาน ๆ เช่น

“ดีใจมากที่โรงพยาบาลรับไว้ เพราะหมดหนทางแล้ว”

“ถ้าหากอาละวาดก็นำส่งโรงพยาบาลเพราะเอาไม่ไหว”

หมดหวัง ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่สามารถที่จะกระทำอะไรได้มากกว่านี้แล้ว คิดว่ารักษาไปก็เท่านั้นอาการผู้ป่วยก็ไม่ดีขึ้น เช่น

“ก็จะทำอย่างไรได้ เขาเป็นลูก นี่ละกรรม ลูกคนอื่นเขาหาเงินมาให้แม่ ก็คิดว่าเป็นบุญเป็นกรรมของเราสร้างมา”

“บางครั้งฉันตัดสินใจตายซะ เราคนเดียวจะไปสู้ไหวเหรอคะ ฉันจะตายก่อนเขา ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย ไหนจะไปรับจ้างถึงเวลากินก็ไม่ได้กิน นอนก็ไม่ได้นอน”

“เห็นใจแม่เถอะ ฉันคิดว่าชีวิตนี้ลำบากมาก”

วิจารณ์

จากพฤติกรรมและประสบการณ์ที่ญาติผู้ป่วยให้สัมภาษณ์ จะเห็นว่าการศึกษานี้ได้บรรยายถึงลักษณะและกระบวนการของพฤติกรรมตั้งแต่ระยะเริ่มดูแลผู้ป่วย จนกระทั่งถึงระยะที่ดูแลผู้ป่วยมานาน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษในการศึกษาโดยใช้วิธีการของทฤษฎีพื้นฐาน อย่างไรก็ตามในระยะต่าง ๆ ที่การวิจัยนี้ได้ค้นพบสามารถเชื่อมโยงกับวรรณกรรมที่นักวิจัยท่านอื่นได้ค้นพบทั้งที่เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพในลักษณะอื่น ๆ

การศึกษานี้พบว่าญาติที่ให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ซึ่งผู้วิจัยคิดว่าน่าจะเนื่องมาจากสภาพวัฒนธรรมและสังคมไทย ที่เพศหญิงอยู่บ้านมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและดูแลสมาชิกในครอบครัว ส่วนเพศชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว สอดคล้องกับงานวิจัยของ

อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย11 ที่พบว่าผู้รับภาระในการดูแลผู้ป่วยคือญาติ ญาติผู้รับภาระในการดูแลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงและมีบทบาทเป็นมารดาของผู้ป่วย

ในแง่ของพฤติกรรม Lazarus12 ได้อธิบายว่าพฤติกรรมการเผชิญปัญหาเป็นกลไกทางจิตของบุคคล โดยจะแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะกำจัด ควบคุม หรือบรรเทาสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยมีการใช้กลไกป้องกันตนเองเพื่อให้กลับสู่ภาวะสมดุลและพฤติกรรมการเผชิญปัญหาเป็นการขจัดและบรรเทาสถานการณ์ที่เป็นปัญหา การเลือกวิธีการเผชิญปัญหาขึ้นอยู่กับอารมณ์และสถานการณ์

ในระยะแรกพบว่าญาติมีพฤติกรรมที่สับสน โดยมีความวิตกกังวล ตกใจ เชื่อผู้อื่นได้ง่าย และสงสารผู้ป่วยซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เน้นอารมณ์เป็นหลัก จากการศึกษาของ รุจิรา จงสกุล และคณะ3 พบว่า การดูแลผู้ป่วยที่บ้านมีผลกระทบต่อญาติและบุคคลแวดล้อม ผลกระทบอันดับแรก ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อความเจ็บป่วย เกี่ยวกับอาการ การดูแล ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดการเตรียมพร้อมในการดูแลผู้ป่วย การไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Jones และ Peters5 Nechmad และคณะ6 และ Schene และคณะ7 พบว่าปัญหาความเจ็บป่วยของคนคนหนึ่งอาจส่งผลกระทบให้สมาชิกในครอบครัวมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ เช่น ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปรับตัวไม่ได้ การศึกษาของ Parker13 รายงานว่านอกจากญาติมีความวิตกกังวลและยังมีความกลัว โกรธ และรู้สึกผิด

ความวิตกกังวลของญาติอาจเกิดขึ้นเนื่องจาก ผู้ป่วยมีความพร่องในการดูแลตนเอง และไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัวและชุมชน และผู้ป่วยประสบปัญหาในการจัดการกับชีวิตประจำวันให้มีความสมดุลในเรื่องการอยู่ลำพังกับการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยเฉพาะคนใกล้ชิด สอดคล้องกับการศึกษาของ พวงเพ็ญ เจียมปัญญารัช14 พบว่าผู้ป่วยมีความพร่องในการพูดคุยติดต่อสื่อสาร ปรารถนา บริจันทร์15 รายงานว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ญาติผู้ป่วยโรคจิต ด้านสังคมและเศรษฐกิจมีระดับสูง เมื่อญาติพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ ญาติผู้ป่วยต้องหยุดการทำงานประจำทั้งวัน ใช้เงินเพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาผู้ป่วย มีปัญหาเรื่องเงิน ค่าใช้จ่ายในการนำผู้ป่วยมารักษาทุกครั้ง อีกทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคจิตของครอบครัวทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้และเงินออมก็ลดลงทั้งจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้ป่วย ค่ารักษาพยาบาลที่จำเป็นในระยะยาวและอย่างต่อเนื่อง การที่มี

ผู้ป่วยจิตเวชในครอบครัวทำให้เกิดความยากลำบากเป็นทวีคูณ เป็นผลกระทบกระเทือนต่อระดับ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชและญาติ16

ในแง่ของความเชื่อผู้อื่นในการรักษา จะเห็นว่าญาติส่วนใหญ่จะพาผู้ป่วยไปรักษากับหมอพื้นบ้านก่อนที่จะพาไปรักษาที่โรงพยาบาล การที่ญาติพาผู้ป่วยไปหาหมอพื้นบ้านเป็นระยะ ๆ ตลอดระยะเวลาการเจ็บป่วย อาจเนื่องมาจากเมื่อไปหาหมอประจำบ้าน หมอดูหรือหมอพระ ญาติได้พูดคุย และสามารถระบายความวิตกกังวล ทำให้มีความรู้สึกสบายใจ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะยังไม่หายจากโรค ญาติก็ยังมีความรู้สึกมีความหวังมากขึ้น สอดคล้องกับการวิจัยของสุพล รุจิรพัฒน์17 พบว่าเมื่อมีผู้ป่วยทางจิตเกิดขึ้น สถานที่แรกที่ไปรักษาคือ หมอไสยศาสตร์ในชุมชน รองลงมาเป็นโรงพยาบาลจิตเวช หรือคลินิก จิตเวช โรงพยาบาลทั่วไปและสถานีอนามัย ที่ไปรักษากับหมอไสยศาสตร์เป็นแห่งแรกเนื่องจากความเชื่อถือ

การศึกษานี้ยังค้นพบอีกว่าหลังจากอาการสับสนลดลง ญาติก็จะเริ่มแสวงหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย มีการปรึกษาหารือกันทั้งระหว่างบุคคลในครอบครัวและในชุมชน และได้ทดลองรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ สอดคล้องกับการศึกษาพฤติกรรมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเชิงพื้นบ้านในเขตภาคใต้ของประเทศไทย8 พบว่าเมื่อเจ็บป่วยญาติก็จะรักษากันเองในครอบครัวก่อนที่จะไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งขณะได้รับการรักษาจากแพทย์ ญาติยังคงนำวิธีการรักษาเชิงพื้นบ้านตามความเชื่อของตนเองเข้ามาผสมผสานด้วยเสมอ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หายป่วยได้เร็วขึ้น นอกจากนี้จะหาหมอเข้าทรงอีกครั้งเมื่อให้การดูแลด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

มีผลการศึกษาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันของ จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์ และกฤตยา แสวงเจริญ18 ที่พบว่า วัดชัยภูมิพิทักษ์ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีการรักษาผู้ป่วยทางจิตด้วยการต้มยาสมุนไพร การรดน้ำมนต์ และการใช้อำนาจจิต ญาติมักเข้าใจว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากไสยศาสตร์ ผีเข้าสิง จึงพยายามแสวงหาการรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ ประกอบกับการไม่เชื่อถือการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน จึงไม่พาผู้ป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยก็อยู่ในระยะเรื้อรังจนยากที่จะรักษาให้หายขาดได้

อย่างไรก็ตามจากการพบว่าญาติมีความหวังว่าผู้ป่วยอาจหายจากอาการทางจิตได้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ ปรารถนา บริจันทร์ และคณะ16 พบว่าพฤติกรรมการเผชิญปัญหาเน้นอารมณ์ของญาติผู้ป่วยโรคจิตที่ใช้บ่อย ได้แก่ ปลอบใจตนเอง หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ขัดแย้งกับการศึกษาของ ศักดา กาญจนาวิโรจน์ และคณะ19 ที่พบว่าญาติเข้าใจว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทควรรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลให้นานที่สุดเพื่อจะได้หายขาด ญาติกลุ่มนี้มีแนวโน้มทิ้งผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลนาน ๆ โดยเฉพาะรายที่เคยไปดูแลที่บ้านแต่อยู่ได้ไม่นานผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นอีก

จากผลการวิจัยพบว่าหลังจากกระบวนการหาข้อมูลและทดลองรักษาผู้ป่วยอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ญาติเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมการปรับตัว โดยพยายามใกล้ชิดผู้ป่วยมากขึ้น มีการระมัดระวังความปลอดภัยทั้งของผู้ป่วยและผู้อื่น มีการตรวจสอบและวางแผนเพื่ออนาคตของผู้ป่วย ดังจะเห็นได้จากในระยะนี้ญาติมีพฤติกรรมเน้นการแก้ปัญหา สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ระพีพร แก้วคอนไทย และคณะ20 ที่ศึกษาความเครียดและวิธีการแก้ปัญหาและการจัดการกับความเครียดของเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตจังหวัดสกลนคร พบว่าวิธีการแก้ปัญหาของเครือข่ายที่ใช้บ่อย ได้แก่ การวางแผนแก้ไขปัญหา และลงมือทำตามแผนที่ตั้งไว้ พยายามระงับอารมณ์ ปรึกษาหารือกับคนใกล้ชิด

เมื่อญาติได้ดูแลผู้มีอาการทางจิตเป็นเวลานาน ญาติเริ่มมีพฤติกรรมหมดแรง และหมดหวัง ซึ่งไม่พบในรายงานการศึกษาอื่น ๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่ใช้วิธีการถาม ณ จุดใดจุดหนึ่งของเวลา การศึกษานี้ เป็นการศึกษาถึงกระบวนการของพฤติกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งพบว่าญาติเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีพฤติกรรมนี้ซึ่งเป็นพฤติกรรมเน้นอารมณ์ พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากญาติรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ล้า และสังเกตเห็นว่าอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น หรือยังคงเดิมหลังจากรักษามาเป็นระยะนาน

โดยสรุปการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเป็นกระบวนที่ต่อเนื่องขึ้นอยู่กับทั้งสถานการณ์แวดล้อมและบุคลิกภาพของบุคคลโดยรวม เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น บุคคลจะเผชิญปัญหาเน้นด้านอารมณ์ ตามด้วยพฤติกรรมเน้นการแก้ปัญหา และท้ายที่สุดเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่สามารถหาทางออกได้ก็จะแสดงพฤติกรรมการเผชิญปัญหาด้วยอารมณ์อีกครั้ง ในการศึกษาระยะต่อไปอาจใช้กลุ่มตัวอย่างมากขึ้น รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างภาคอื่น ๆ หรือกลุ่มอาการอื่น เพื่อสามารถนำไปสร้างแบบสอบถามการเผชิญปัญหาที่เหมาะสมกับประชากรไทยต่อไป

กิตติกรรมประกาศ

การศึกษานี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากเงินรายได้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปี 2543 ผู้วิจัยขอขอบคุณพยาบาลโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ที่กรุณาอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีในการดำเนินการวิจัย และขอบคุณญาติผู้ป่วยทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการให้สัมภาษณ์

เอกสารอ้างอิง

  1. กระทรวงสาธารณสุข. การปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ. สำนักงานปฏิรูประบบสาธารณสุขแห่งชาติ นนทบุรี, 2543.
  2. พวงเพ็ญ เจียมปัญญารัช,นภวัลย์ กัมพลาศิริ, ยาใจ สิทธิมงคล, ถวิล นภาพงศ์สุริยา. พฤติกรรม การดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเวช. วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต 2542;13:45-54.
  3. รุจิรา จงสกุล, สิวลี เปาโรหิตย์, วรรณภา แห้วดี, เพ็ญศิริ สมใจ, วัชนี หัตถพนม. ปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน. วารสารกรมสุขภาพจิต 2540;4:21-36.
  4. นิตยา ตากวิริยะนันท์. พฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเภทที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากลำบากใจแก่ญาติขณะอยู่ที่บ้าน. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2535; 7:29-35.
  5. Jones DA, Peters TJ. Caring for elderly dependents: effects on the cares quality of life. Age Ageing 1992; 21:421-8.
  6. Nechmad A, Fennig S, Ternochiano P, Treves I, Fennig-Naisberg S, Levkovich Y. Siblings of schizophrenic patients: a review Israel. J Psychiatr Relat Sci 2000; 37:3-11.
  7. Schene AH, van Wijingarrden B, Koeter MW. Family caregiving in schizophrenia: domains and distress. Schizophr Bull 1998; 24:609-18.
  8. ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต, สุรพันธ์ ปราบกรี, อรวรรณ หนูแก้ว, เยาวนาถ สุวลักษณ์. พฤติกรรมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเชิงพื้นบ้านในเขตภาคใต้ของประเทศไทย. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2542; 19:23-37.
  9. Ip GS, Mackenzie AE. Caring for relatives with serious mental illness at home: the experiences of family carers in Hong Kong. Arch Psychiatr Nurs 1998; 12:288-94.
  10. Glaser B, Strauss A. The discovery of grounded theory. Chicago: Aldine, 1967.
  11. อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วยจิตเวชผู้ใหญ่และ ครอบครัวด้วยการให้คำปรึกษาที่บ้าน. วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุภาพจิต 2542; 13:32-44.
  12. Lazarus RS. Psychological stress and the coping process. New York: McGraw-Hill, 1966.
  13. Parker BA. Living with mental illness: the family as caregiver. J Psychosoc Nurs Ment Health Serv 1993; 31:19-21.
  14. พวงเพ็ญ เจียมปัญญารัช, นภวัลย์ กัมพลาศิริ, ยาใจ สิทธิมงคล, ถวิล นภาพงศ์สุริยา. พฤติกรรม การดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเวช. วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุภาพจิต 2542; 13:45-54.
  15. ปรารถนา บริจันทร์, วัชนี หัตถพนม, นิมิต แก้วอาจ, สุริยา ราชบุตร. การศึกษาความวิตกกังวลและพฤติกรรมการเผชิญปัญหาของญาติผู้ป่วยโรคจิต. รายงานการวิจัย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2535.
  16. พรชัย พงศ์สงวนสิน, จุฬารัตน์ วิเรขะรัตน์, ชุติมา ประทีปะจิตติ. คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวช ญาติผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ: เฉพาะกรณีโรงพยาบาลศรีธัญญา. วารสารกรมสุขภาพจิต 2541; 5:16-24.
  17. สุพล รุจิรพิพัฒน์. อิทธิพลความเชื่อในท้องถิ่นที่มีต่อบริการสุขภาพจิต. รายงานการวิจัย กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี, 2533.
  18. จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์, กฤตยา แสวงเจริญ. ความคิด ความเชื่อทางศาสนาและการรักษาโรคแผนโบราณ: กรณีศึกษาที่วัดชัยภูมิพิทักษ์ จังหวัดชัยภูมิ. รายงานการวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอนแก่น, 2538.
  19. ศักดา กาญจนาวิโรจน์, สุพิน พิมพ์เสน, วรางรัตน์ ทะมังกลาง, บังอร ศรีเนตรพฒน์, คมชาย สุขยิ่ง. การสอนญาติผู้ป่วยจิตเภทแบบมีส่วนร่วม. รายงานการวิจัย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2541.
  20. ระพีพร แก้วคอนไทย, วัชนี หัตถพนม, สุวดี ศรีวิเศษ และคณะ. การศึกษาความเครียด สาเหตุ วิธีการแก้ปัญหาและวิธีการจัดการกับความเครียดของเครือข่ายปฏิบัติงานสุขภาพจิตจังหวัดสกลนคร. รายงานการวิจัย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2543.