passo.jpg (6405 bytes)

ความคิดเห็นของผู้ป่วยจิตเวชต่อการแต่งกายและคำทักทายของจิตแพทย์

Thai Patients’ Views on the Attire and the Form of Address of Their Psychiatrists

PDF file

จตุรพร แสงกูล พ.บ.* Jaturaporn Sangkool, M.D.*

พิเชฐ อุดมรัตน์ พ.บ.* Pichet Udomratn, M.D.*

 

Abstract

Objective To find out the preference of patients with regard to the attire and the form of address used by their psychiatrists.

Method A questionnaire was administered to the sample consisting of both in- and out-psychiatric patients who were 15 years of age or older to identify preferences for the style of attire and terms of address during July 1998 at Songklanagarind Hospital. The questionnaire was specially designed to elicit information concerning demographic data, psychiatric disorder, and it included a selection of photographs of different styles of dressing for both male and female doctors for the patients to assess.

Results Of the 231 patients, 142 (61.5%) were female, and 207 (89.6%) were Buddhists, with ages ranging from 15-82 (mean = 40.92; SD. = 14.05). Most of the patients (71%) had non-psychotic disorders. A preference was found for smart, formal attire as well as white gowns, which made the doctors appear more capable, professional, friendly, empathetic, understanding, and easy to talk to. Eighty eight percent of those questioned also preferred their doctors to have their name specified on their gown. Furthermore, almost three-quarters of the patients (74%) preferred to be called with the Thai honorific “khun” with their first name by the doctor, who should in turn call him/herself “doc.”

Conclusions This study indicates that the psychiatrist’s appearance and ways of addressing the patients have a significance influence on the patient’s attitudes towards his/her capability, compassion, and communication skills. The psychiatrists, therefore, should pay close attention to their own attire and their choice of language so as to create and maintain a good relationship with their patients. J Psychiatr Assoc Thailand 2001; 46(2):85-94.

Key words: forms of dress, address, views of psychiatric patients

* Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkla 90110

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยจิตเวชที่มีต่อการแต่งกายและคำทักทายของจิตแพทย์

วิธีการศึกษา สัมภาษณ์ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2541 แบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลความเจ็บป่วย ความคิดเห็นต่อการแสดงตัว คำทักทายและการแต่งกายของจิตแพทย์ โดยมีรูปถ่ายแสดงการแต่งกายของแพทย์หญิงและชายประกอบการสัมภาษณ์

ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 231 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 61.5) อายุอยู่ในช่วง 35-44 ปี (ร้อยละ 25.5) เป็นผู้ป่วยกลุ่ม non – psychotic disorder (ร้อยละ 71.0) ผู้ป่วยส่วนใหญ่นิยมให้จิตแพทย์ทั้งอาจารย์แพทย์และแพทย์ใช้ทุนแต่งกายในลักษณะเป็นพิธีการ โดยสวมเสื้อกาวน์สีขาวร่วมกับชุดสุภาพ เพราะเห็นว่าเป็นการแต่งกายที่แสดงถึงความเป็นมิตร ความเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ความสามารถ พูดคุยด้วยง่าย เห็นใจและเข้าใจผู้ป่วยมากที่สุด ร้อยละ 88 ของผู้ป่วยนิยมให้จิตแพทย์มีป้ายชื่อหรือปักชื่อ ร้อยละ 74 ของผู้ป่วยนิยมให้จิตแพทย์เรียกผู้ป่วยว่า “ คุณ ” แล้วตามด้วยชื่อจริง และนิยมให้จิตแพทย์ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “หมอ”

สรุป การแต่งกายและคำทักทายของจิตแพทย์มีผลต่อเจตคติของผู้ป่วยต่อจิตแพทย์ในแง่ของความเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วย ความเป็นมิตรและพูดคุยด้วยง่าย จิตแพทย์จึงควรให้ความสำคัญกับการแต่งกายและคำทักทายที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ และช่วยในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2544; 46(2):85-94.

คำสำคัญ การแต่งกาย คำทักทาย ความคิดเห็นของผู้ป่วย

* ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

 

บทนำ

โดยทั่วไปแพทย์จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจให้เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย (doctor-patient relationship) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรักษา1 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ2-4 ซึ่งการสื่อสารนั้นมักจะประกอบด้วย การสื่อสารโดยใช้ภาษาในการพูดคุยและการสื่อสารด้วยท่าทาง การแต่งกาย การแต่งกายของแพทย์ไม่เพียงแต่จะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นแพทย์เท่านั้น แต่ยังอาจบอกถึงลักษณะอุปนิสัยของแพทย์คนนั้นๆ ด้วย5 การแต่งกายที่แตกต่างกันของแพทย์ผู้รักษาอาจทำให้ ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกพึงพอใจที่แตกต่างกัน6

การศึกษาในอังกฤษโดย Barrett และ Booth7 สำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยเด็กและ ผู้ปกครองที่มีต่อการแต่งกายของกุมารแพทย์ พบว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ไม่นิยมให้กุมารแพทย์สวมเสื้อกาวน์สีขาว โดยมีความเห็นว่าเป็นชุดที่แสดงถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ขาดความเป็นมิตร Gledhill และคณะ6 สำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยจิตเวชที่มีต่อการแต่งกายและคำทักทายของจิตแพทย์พบว่าการสวมชุดสูทแสดงถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญมากที่สุด แต่แสดงถึงความเป็นมิตรน้อยที่สุด พูดคุยด้วยได้ยากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่นิยมให้จิตแพทย์ผู้รับปรึกษา (consultant) แต่งกายในชุดสูท แต่นิยมให้จิตแพทย์ฝึกหัด (trainee) แต่งกายในชุดเสื้อและกระโปรงสุภาพ สำหรับแพทย์หญิง หรือเสื้อเชิร์ตแขนยาว ผูกเนคไท และกางเกงขายาว สำหรับแพทย์ชายโดยไม่สวมสูท ผู้ป่วยส่วนใหญ่นิยมให้จิตแพทย์ติดป้ายชื่อและนิยมให้จิตแพทย์เรียกผู้ป่วยด้วยชื่อจริง ( first name )

จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่ามีรายงานการศึกษาในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อยและรายงานที่สืบค้นได้ทั้งหมดเป็นรายงานสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยที่อยู่ในซีกโลกตะวันตก ซึ่งอาจได้ผลแตกต่างกันกับผู้ป่วยในประเทศทางซีกโลกตะวันออกที่มีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดได้ศึกษาถึงเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงสนใจสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยจิตเวชที่มีต่อการแต่งกายและคำทักทายของจิตแพทย์ไทยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร มีความแตกต่างจากการศึกษาในต่างประเทศหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพิจารณาปรับปรุงในเรื่องการแต่งกายและคำทักทายของจิตแพทย์ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาทางจิตเวชต่อไป

วัสดุและวิธีการ

ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่มารักษาที่คลินิกจิตเวชโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2541 โดยสัมภาษณ์เฉพาะผู้ที่มีความสมัครใจเข้าร่วมในงานวิจัย สำหรับผู้ป่วยนอกจะสัมภาษณ์ในวันแรกที่ผู้ป่วยมารักษา ส่วนผู้ป่วยในจะสัมภาษณ์ในวันก่อนกลับบ้าน 1 วัน การสัมภาษณ์จะใช้แบบสอบถามซึ่งประกอบด้วย ส่วนข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ ศาสนา ระดับการศึกษาและอาชีพ โรคที่ได้รับการวินิจฉัยตามระบบการจำแนกโรคมาตรฐาน8 โดยใช้หลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM-IV9) ส่วนความคิดเห็นต่อการแต่งกายของจิตแพทย์นั้น ได้ให้ผู้ป่วยดูชุดรูปถ่าย 2 ชุด ชุดละ 6 รูป เป็นรูปถ่ายสี ฉากหลังเป็นพื้นสีขาว ผู้แสดงแบบวางสีหน้าปกติ ซึ่งแสดงถึงการแต่งกายของแพทย์หญิงและชายในแบบต่างๆ กัน 6 แบบ แต่ละแบบแสดงถึงความเป็นพิธีการแตกต่างลดหลั่นกัน (ภาพที่ 1 และ 2)

v4622f1.jpg (23689 bytes)

ให้ผู้ป่วยแสดงความคิดเห็นโดยให้เป็นระดับคะแนนแก่รูปที่แสดงถึงการแต่งกายที่เหมาะสมในด้านต่างๆ 4 ลักษณะ คือ ลักษณะเป็นมิตร ลักษณะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ความสามารถ ลักษณะพูดคุยด้วยง่าย และลักษณะเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วย ระดับคะแนนมีตั้งแต่ 1-6 โดยคะแนน 6 หมายถึง การแต่งกายในรูปนั้นมีความเหมาะสมกับลักษณะนั้นๆ มากที่สุด คะแนน 1 หมายถึง การแต่งกายในรูปนั้นมีความเหมาะสมกับลักษณะนั้นๆ น้อยที่สุด นอกจากนั้นได้ถามผู้ป่วยถึงการแต่งกายของจิตแพทย์ในประสบการณ์จริงที่ผู้ป่วยพบเห็นด้วย ส่วนในเรื่องการแสดงตัวและคำทักทายของจิตแพทย์ ได้ถามความเห็นของผู้ป่วยในเรื่องการติดป้ายชื่อของแพทย์และคำสรรพนามที่ใช้แทนตัวของผู้ป่วยและของแพทย์ที่ผู้ป่วยคิดว่าเหมาะสม

ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS เพื่อหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างของแต่ละกลุ่มโดยใช้ one way ANOVA

ตารางที่ 1 อายุและเพศของผู้ป่วย

ช่วงอายุ ( ปี )

เพศ

รวม

จำนวน (คน)

ร้อยละ

  หญิง(คน) ชาย(คน)    

15-24

25-34

35-44

45-54

55-64

65 ปีขึ้นไป

20

25

34

36

19

8

9

23

25

20

11

1

29

48

59

56

30

9

12.6

20.8

25.5

24.2

13.0

3.9

 

ผลการศึกษา

ในเดือนกรกฎาคม 2541 มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 721 คน และมี ผู้ป่วยในจำนวน 34 คน ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าร่วมในงานวิจัย จำนวน 240 คน เป็นผู้ป่วยนอก 217 คน (ร้อยละ 90.4) และผู้ป่วยใน 23 คน หลังการใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูล จำเป็นต้องคัดผู้ป่วยออกจากกลุ่มตัวอย่าง 9 คน (ร้อยละ 3.8) เนื่องจากผู้ป่วยให้ข้อมูลไม่ครบ ทำให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ จึงเหลือผู้ป่วยที่นำมาวิเคราะห์ได้ 231 คน

v4622f2.jpg (25117 bytes)

ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 61.5) มีอายุตั้งแต่ 15-82 ปี (อายุเฉลี่ย 40.92, SD = 14.05) ข้อมูลด้านอายุและเพศของผู้ป่วย (ตารางที่ 1) ผู้ป่วยนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 89.6 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 10 ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 40.3) และระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (ร้อยละ 27.7) ผู้ป่วยร้อยละ 21.7 ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 14.7 รับราชการ และร้อยละ 14.7 เป็นเกษตรกร

ส่วนที่ 2 ข้อมูลด้านความเจ็บป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยอยู่ในกลุ่ม non-psychotic disorders (ร้อยละ 71.0) โดยโรคที่พบมากที่สุด คือ major depressive disorder (ร้อยละ 23.4) แสดงข้อมูลไว้ในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 โรคทางจิตเวชในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยตาม DSM-I V9

โรคหรือกลุ่มอาการ

จำนวน(คน)

ร้อยละ

Psychotic disorders*    
- Brief psychotic disorder

2

0.9

- Schizophreniform disorder

1

0.4

- Schizophrenia

30

13.0

- Schizoaffective disorder

3

1.3

- Delusional disorder

1

0.4

- Bipolar I disorder with psychotic features

5

2.2

- Major depressive disorder with psychotic features

4

1.7

- อื่นๆ (Substance-induced psychotic disorder, psychotic disorder

due to a general medical condition)

3

1.3

Non-psychotic disorders**    
- Panic disorder

35

15.2

- Social phobia

2

0.9

- Obsessive-compulsive disorder

2

0.9

- Generalized anxiety disorder

11

4.8

- Adjustment disorder

6

2.6

- Bipolar I disorder (without psychotic features)

20

8.7

- Major depressive disorder (without psychotic features)

54

23.4

- Dysthymic disorder

19

8.2

- Primary insomnia

6

2.6

- Conversion disorder

1

0.4

- Borderline personality disorder

1

0.4

- Alcohol dependence

Others (ยังไม่ได้ definite diagnosis, tension headache, etc.)

7

18

3.0

7.8

ส่วนที่ 3 ความคิดเห็นต่อการแต่งกายของจิตแพทย์

3.1 การแต่งกายของอาจารย์แพทย์ ผู้ป่วยจิตเวชมีความเห็นว่าการแต่งกายในลักษณะรูปที่ 3 คือ สวมเสื้อกาวน์ยาวสีขาวคลุมทับเสื้อกระโปรงสุภาพ สำหรับอาจารย์แพทย์หญิง และเสื้อกาวน์ยาวสีขาวคลุมทับเสื้อเชิร์ตแขนยาว เนคไท กางเกงขายาว สำหรับอาจารย์แพทย์ชาย มีความเหมาะสมมากที่สุดทั้งใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะเป็นมิตรมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย = 4.9 และ 5.0 ; 95% CI = 4.7-5.1 และ 4.8-5.2 สำหรับอาจารย์แพทย์หญิงและชาย ตามลำดับ) ลักษณะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ความสามารถมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย = 5.3 และ 5.4 ; 95% CI = 5.1 -5.4 และ 5.2-5.5 สำหรับอาจารย์แพทย์หญิงและชาย ตามลำดับ) ลักษณะพูดคุยด้วยง่ายที่สุด (คะแนนเฉลี่ย = 4.6 และ 4.7 ; 95% CI = 4.4-4.9 และ 4.5-4.9 สำหรับอาจารย์แพทย์หญิงและชายตามลำดับ )

3.2 การแต่งกายของแพทย์ใช้ทุน การแต่งกายในลักษณะรูปที่ 6 คือสวมเสื้อกาวน์สั้นสีขาวกับกระโปรงสุภาพ สำหรับแพทย์หญิง เสื้อกาวน์สั้นสีขาวกับกางเกงขายาว สำหรับแพทย์ชาย มีความเหมาะสมที่สุดใน 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะเป็นมิตรมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย = 5.0 และ 4.9 ; 95% CI = 4.8-5.1 และ 4.7-5.1 สำหรับแพทย์ใช้ทุนหญิงและชาย ตามลำดับ ) ลักษณะพูดคุยด้วยง่ายที่สุด (คะแนนเฉลี่ย = 5.0 และ 4.9 ; 95% CI = 4.8-5.1 และ 4.8-5.1 สำหรับแพทย์ใช้ทุนหญิงและชาย ตามลำดับ ) ลักษณะเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วยมากที่สุด ( คะแนนเฉลี่ย = 4.8 และ 4.8; 95% CI = 4.6-5.0 และ 4.7-5.0 สำหรับแพทย์ใช้ทุนหญิงและชาย ตามลำดับ ) การแต่งกายที่ทำให้แพทย์ใช้ทุนดูเป็น ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ความสามารถมากที่สุดในความเห็นของผู้ป่วย ได้แก่ การแต่งกายในลักษณะรูปที่ 3 คือ สวมเสื้อกาวน์ยาวสีขาวคลุมทับชุดสุภาพ ( คะแนนเฉลี่ย = 5.1 และ 5.0; 95% CI = 4.9-5.3 และ 4.9-5.2 สำหรับแพทย์ใช้ทุนหญิงและชาย ตามลำดับ)

ในความเห็นของผู้ป่วย การแต่งกายที่เหมาะสมน้อยที่สุดสำหรับจิตแพทย์ทั้งที่เป็น อาจารย์แพทย์และแพทย์ใช้ทุน ได้แก่ การแต่งกายในลักษณะรูปที่ 4 คือ เสื้อยืด กระโปรงลำลอง สำหรับแพทย์หญิงและเสื้อยืด กางเกงขายาว สำหรับแพทย์ชาย

3.3 การแต่งกายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับจิตแพทย์ การแต่งกายของอาจารย์แพทย์ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ได้แก่ การแต่งกายในลักษณะรูปที่ 3 คือ สวมเสื้อกาวน์ยาวสีขาวคลุมทับชุดสุภาพ (คิดเป็นร้อยละ 55.4 และ 56.3 สำหรับอาจารย์แพทย์หญิงและชาย ตามลำดับ) ส่วนการแต่งกายที่เหมาะสมกับแพทย์ฝึกหัดมากที่สุดได้แก่ การแต่งกายในลักษณะรูปที่ 6 คือ สวมเสื้อกาวน์สั้นสีขาวและกระโปรงสำหรับแพทย์หญิง (ร้อยละ 45.9) และเสื้อกาวน์สั้นสีขาวและกางเกงขายาว สำหรับแพทย์ชาย (ร้อยละ 44.2)

3.4 การแต่งกายของจิตแพทย์ในประสบการณ์จริงที่ผู้ป่วยพบเห็น ผู้ป่วยร้อยละ 61 ได้รับการรักษาโดยอาจารย์แพทย์ อาจารย์แพทย์ที่ผู้ป่วยพบส่วนใหญ่แต่งกายในลักษณะรูปที่ 1 คือ อาจารย์แพทย์หญิงนิยมสวมเสื้อ กระโปรงสุภาพ (ร้อยละ 80) และอาจารย์แพทย์ชาย นิยมสวมเสิ้อเชิร์ตแขนยาว เนคไท และกางเกงขายาว (ร้อยละ 63) ส่วนการแต่งกายของแพทย์ใช้ทุนที่ผู้ป่วยพบเห็น ส่วนใหญ่แต่งกายในลักษณะรูปที่ 6 คือ แพทย์หญิงนิยมสวมเสื้อกาวน์สั้นสีขาวกับกระโปรงสุภาพ (ร้อยละ 89) และแพทย์ชายนิยมสวมเสื้อกาวน์สั้นสีขาวกับกางเกงขายาว (ร้อยละ 92)

ส่วนที่ 4 การแสดงตัวของจิตแพทย์ ผู้ป่วยร้อยละ 88 นิยมให้จิตแพทย์แสดงตัวโดยมีป้ายชื่อหรือปักชื่อ และพบว่าจากประสบการณ์จริงของผู้ป่วยนั้นจิตแพทย์ที่ดูแลร้อยละ 52 ก็มีป้ายชื่อหรือปักชื่อ

ส่วนที่ 5 คำทักทายของจิตแพทย์ ผู้ป่วยร้อยละ 74 ต้องการให้จิตแพทย์เรียกผู้ป่วยว่า “คุณ” ตามด้วยชื่อจริง ส่วนที่เหลือต้องการให้เรียกโดยใช้สรรพนามแทน เช่น ลุง ป้า ฯลฯ และนิยมให้จิตแพทย์ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “หมอ” (ร้อยละ 90) มากกว่าใช้คำว่า “ผม” หรือ “ดิฉัน"

วิจารณ์

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่นิยมให้จิตแพทย์แต่งกายในลักษณะเป็นพิธีการและมีสัญลักษณ์บอกถึงการเป็นแพทย์ชัดเจน คือแต่งกายสุภาพและมีเสื้อกาวน์สีขาว พบข้อแตกต่างระหว่างการแต่งกายที่เหมาะสมของอาจารย์แพทย์และแพทย์ใช้ทุนคือ ผู้ป่วยนิยมให้อาจารย์แพทย์แต่งกายโดยมีเสื้อกาวน์ยาวสีขาว คลุมทับชุดสุภาพ ดังในลักษณะรูปที่ 3 แต่นิยมให้แพทย์ใช้ทุนแต่งกายโดยสวมเสื้อกาวน์สั้นสีขาวกับกระโปรงสุภาพหรือกางเกงขายาว ดังในลักษณะรูปที่ 6 จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยจิตเวชอาจต้องการให้อาจารย์แพทย์และแพทย์ใช้ทุนแต่งกายแตกต่างกัน เพื่อช่วยในการจดจำ

สำหรับการแต่งกายที่เหมาะสมในแต่ละลักษณะ พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชยังให้ความสำคัญกับการสวมเสื้อกาวน์สีขาวว่า ทำให้จิตแพทย์ดูเหมาะสมมากที่สุดทั้งใน 4 ลักษณะคือ ดูเป็นมิตร เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ความสามารถ พูดคุยด้วยง่าย และเข้าใจผู้ป่วย การแต่งกายที่ผู้ป่วยเห็นว่าเหมาะสมน้อยที่สุดสำหรับจิตแพทย์ คือ การสวมเสื้อยืดหรือชุดลำลอง

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในประเทศไทยครั้งนี้ แตกต่างจากการศึกษาในประเทศอังกฤษ6 ซึ่งผู้ป่วยที่นั่นนิยมให้จิตแพทย์แต่งกายในลักษณะเป็นพิธีการ โดยไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อกาวน์สีขาว (ดังการแต่งกายในลักษณะรูปที่ 1) นอกจากนี้ การศึกษาในอังกฤษ6 ยังพบว่าชุดสูทเหมาะสมกับแพทย์ผู้รับปรึกษา (consultant) มากกว่า ซึ่งจะทำให้ดูเป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น แต่ในการศึกษานี้ผู้ป่วยจิตเวชไทยมีความเห็นว่าการสวมเสื้อกาวน์สีขาว ทำให้ดูเป็นผู้เชี่ยวชาญมากกว่า โดยเฉพาะถ้าเป็นกาวน์ชนิดยาว ชุดสูทจะทำให้แพทย์ดูไม่ค่อยเป็นมิตร พูดคุยด้วยยากกว่าและผู้ป่วยบางส่วนยังให้ความเห็นว่าชุดสูทไม่เหมาะกับจิตแพทย์ไทย เนื่องจากทำให้ดูเหมือนนักธุรกิจ ดูเคร่งเครียดเกินไปและไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อน

เมื่อเปรียบเทียบ การแต่งกายจริงของจิตแพทย์ที่ผู้ป่วยพบเห็น กับการแต่งกายที่เหมาะสม

ในความคิดเห็นของผู้ป่วยพบว่าแพทย์ใช้ทุนส่วนใหญ่แต่งกายในลักษณะเดียวกับที่ผู้ป่วยต้องการ คือ สวมเสื้อกาวน์สั้นสีขาวกับกระโปรงหรือกางเกงขายาว สำหรับแพทย์หญิงหรือชาย ตามลำดับ ส่วนการแต่งกายของอาจารย์แพทย์ พบว่า อาจารย์แพทย์ส่วนใหญ่นิยมแต่งกายในลักษณะสุภาพโดยไม่สวมเสื้อกาวน์ ซึ่งต่างจากความนิยมของผู้ป่วยที่อยากให้อาจารย์แพทย์สวมเสื้อกาวน์ยาวสีขาวคลุมทับชุดสุภาพ

ในด้านการแสดงตัวของแพทย์ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าได้ผลในลักษณะเดียวกับการ ศึกษาในอังกฤษ6 คือ ผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่ต้องการให้จิตแพทย์แสดงตัวให้ชัดเจน โดยมีป้ายชื่อหรือปักชื่อ เพื่อทำให้รู้จักและจดจำแพทย์ผู้รักษาได้ สำหรับผู้ป่วยที่แสดงความเห็นว่า จิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องแสดงตัว ในส่วนนี้ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เพราะรู้จักแพทย์ผู้รักษามาก่อนแล้ว หรือทราบชื่อแพทย์มาก่อนจากป้ายชื่อหน้าห้องตรวจ จึงไม่จำเป็นต้องติดป้ายชื่ออีก และในการศึกษานี้ พบว่าจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ส่วนใหญ่ก็นิยมติดป้ายชื่อหรือปักชื่ออยู่แล้ว

ในเรื่องการทักทายของจิตแพทย์นั้น พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการให้เรียกผู้ป่วยว่า “คุณ” ตามด้วยชื่อจริง มีผู้ป่วยบางส่วนต้องการให้จิตแพทย์เรียกโดยใช้สรรพนามแทน เช่น “ลุง ป้า ฯลฯ” เพื่อแสดงความสนิมสนมเป็นกันเอง โดยผู้ป่วยส่วนนี้มักเป็นผู้ป่วยสูงอายุหรือมีอายุมากกว่าแพทย์ผู้ตรวจ ในด้านการใช้สรรพนามแทนตัวของแพทย์ ผู้ป่วยนิยมให้แพทย์แทนตัวเองว่า หมอ มากกว่าใช้คำว่า ผม หรือดิฉัน เนื่องจากให้ความรู้สึกเป็นกันเอง เป็นมิตรและสุภาพเหมาะกับแพทย์

สรุป

การแต่งกาย การแสดงตัว และคำทักทายของจิตแพทย์ มีผลต่อความรู้สึกของผู้ป่วยจิตเวช ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาในครั้งนี้และผลการศึกษาในต่างประเทศ การแต่งกายบางลักษณะอาจดูไม่เหมาะสมสำหรับจิตแพทย์ในความรู้สึกของผู้ป่วย ผลการศึกษาครั้งนี้ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการแต่งกาย การแสดงตัว และคำทักทายที่เหมาะสมของจิตแพทย์ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้ป่วย ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในการรักษา ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลรักษาทางจิตเวช จึงอาจเป็นข้อคิดให้จิตแพทย์ไทยนำไปใช้ในการปรับปรุงการแต่งกาย การแสดงตัวและคำทักทายให้เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแต่งกายของจิตแพทย์ไทยโดยทั่วไป อาจมีความหลากหลายมากกว่านี้ ในการศึกษาครั้งนี้ได้ยกตัวอย่างการแต่งกายที่คณะผู้วิจัยคิดว่ามีการแต่งกันอย่างค่อนข้างแพร่หลายในประเทศไทยบางลักษณะเท่านั้น และได้เลือกลักษณะการแต่งกายที่คล้ายคลึงกับการศึกษาของ Gledhill และคณะ ในประเทศอังกฤษเพื่อจะได้นำผลของการศึกษาไปเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้ยังเป็นการศึกษาเฉพาะผู้ป่วยชาวไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคใต้ และเป็นความคิดเห็นของผู้ป่วยต่อจิตแพทย์และแพทย์ใช้ทุนที่ปฏิบัติงานอยู่ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เท่านั้น ซึ่งอาจจะแตกต่างจากการศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ ได้ คณะผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้มีการศึกษาทำนองเดียวกันนี้ในภูมิภาคอื่นๆ และหรือศึกษากับผู้ป่วยแผนกอื่นๆ ต่อไป

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มอบทุนสนับสนุนงานวิจัย ขอบคุณนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติที่ช่วยเป็นแบบถ่ายรูป และคุณนิศานติ์ สำอางศรี เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ที่ช่วยแนะนำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. 1.Wise TN. The physician-patient relationship. In: Wiener JM, ed. Behavioral science. 2nd ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1990:193-8.
  2. Hendren RL. Communication and interviewing. In: Wiener JM, ed. Behavioral science. 2nded. Baltimore: Williams & Wilkins, 1990:203-11.
  3. พิเชฐ อุดมรัตน์. มนุษยสัมพันธ์สำหรับแพทย์. แพทยสภาสาร 2529; 15:467-74.
  4. Kaplan HI, Sadock BJ. Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry : behavioral science, clinical psychiatry. 7nd ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1994:1-15.
  5. Gjerdingen DK, Simpson DE, Titus SL. Patients’ and physicians’ attitudes regarding the physician’s professional appearance. Arch Int Med 1987; 147:1209-12.
  6. Gledhill JA, Warner JP, King M. Psychiatrists and their patients : views on forms of dress and address. Br J Psychiatry 1997; 171:228-32.
  7. Barrett TG, Booth IW. Sartorial eloquence : does it exist in the paediatrician-patient relationship? BMJ 1994;309:1710-2.
  8. Sadock BJ, Kaplan HI. Classification of mental disorders. In: Kaplan HI, Sadock BJ, eds. Comprehensive textbook of psychiatry IV. 6th ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1995:681.
  9. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders. 4th ed. Washington, DC: American Psychiatric Association, 1994:273-315.