ผลการดำเนินงานของสมาคมฯ
ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

สัมภาษณ์เปิดใจ ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์
นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ สองวาระซ้อน
(พ.ศ.2549-2550 และ พ.ศ.2551-2552)



      เนื่องในโอกาสที่คณะกรรมการอำนวยการสมาคมจิตแพทย์ฯ วาระปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ทีมงานของจุลสารจิตแพทย์สัมพันธ์ (จพส) จึงถือโอกาสนี้ไปสัมภาษณ์เปิดใจนายกสมาคมฯ ถึงการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

จพส: สวัสดีคะ อยากให้อาจารย์ช่วยเปิดใจหน่อยคะว่าเป็นยังไง อาจารย์ถึงมาลงสมัครเป็นนายกสมาคมฯ คะ?

นายกฯ: ได้ครับ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณสมาชิกสมาคมฯ ที่ได้ให้ความไว้วางใจเลือกผมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่ทรงเกียรตินี้ ในชีวิตนี้ผมไม่เคยคิด แม้แต่ฝันก็ยังไม่เคยฝันเลยครับ ที่จะเป็นนายกสมาคมจิตแพทย์ฯ เมื่อครั้งแรกที่เลขาธิการสมาคมฯ ในยุคนั้น (คุณหมอรณชัย) มาทาบทามผมว่าขอให้ช่วยลงสมัครหน่อย ผมยังตอบปฏิเสธไปเลยครับ ผมบอกคุณหมอรณชัยว่าให้ไปทาบทามอาจารย์ผู้ใหญ่คนอื่น ๆ จะดีกว่า จนคุณหมอรณชัยกลับมาหาผมอีกครั้ง พร้อมกับแจ้งว่าได้ไปทาบทามแล้ว แต่อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านไม่มีใครตอบรับ “พี่รับเถอะครับ เพราะสมัยหน้าสมาคมฯ เราต้องจัดงาน ASEAN” คุณหมอรณชัยกล่าวเชิงคะยั้นคะยอ ผมจึงขอคุณหมอรณชัยกลับไปคิดทบทวนก่อน โดยสิ่งแรกที่ทำคือไปค้นหา abstract and program book ของการประชุม AFPMH Congress ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 9 จัดที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์) ซึ่งมีจิตแพทย์ไทยไปประชุม 2 คน คืออาจารย์วีระ (พันเอกพิเศษวีระ เขื่องศิริกุล – ยศในขณะนั้น) ไปในฐานะนายกสมาคมฯกับผม ซึ่งไปในฐานะวิทยากรรับเชิญ (invited speaker) พร้อมกับคิดว่า ถึงอย่างไรประเทศไทยก็ต้องจัด AFPMH Congress อยู่ดี ในฐานะที่ผมเองเคยเข้าร่วมการประชุมนี้มาแล้ว 6 ครั้งจากจำนวน 9 ครั้งที่จัดมา ก็น่าจะได้นำ ประสบการณ์นี้มาช่วยวงการจิตเวชของไทยได้ ผมจึงตอบรับคุณหมอรณชัยในที่สุดครับ

จพส: แล้วการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ ?

นายกฯ: ก็แตกต่างกันครับ เพราะปีแรกที่เข้ามาใหม่ ๆ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง วันแรกที่เราประชุมคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ นั้น ประชุมกันถึง 17.00 น. ก็ยังไม่หมดวาระนะครับ ต้องยกวาระที่ค้างอยู่ไปประชุมครั้งต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในการประชุมกันวันแรก ผมได้เรียนเชิญอดีตนายกสมาคมฯ ทั้งหมดมารดน้ำขอพรปีใหม่ พร้อมกับขอคำแนะนำจากท่านเหล่านั้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของสมาคมฯ ต่อไป มีอดีตนายกฯ หลายท่านที่มาไม่ได้ (เช่น อ.สมพร, อ.พหล, อ.มล.สมชาย, อ.เกษม) ส่วนอดีตนายกฯ ที่มาในวันนั้น คือ อ.อรุณ, อ.อุดม และ อ.วีระ ก็ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับพวกเรา

จพส: เห็นสมาคมฯ มีคำขวัญแต่ละปี ไม่ทราบว่ามีทุกปีหรือเปล่าคะ ?

นายกฯ: ในช่วงสองปีแรก (พ.ศ.2549-2550) เป็นปีมหามงคลของชาวไทย คือเป็นปีที่ในหลวงทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 และทรงมีพระชมมายุครบ 80 พรรษาในปี 2550 สมาคมฯ ไม่ได้มีคำขวัญของสมาคมฯ โดยเฉพาะครับ แต่สมาคมฯ ได้รณรงค์เรื่อง “สุขภาพจิตดี เพราะมีชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” และทางสมาคมฯ ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสำนักงานราชเลขาธิการ ให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ในแต่ละปีมาใช้ในกิจกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งนับว่าเป็นมงคลยิ่งสำหรับสมาคมฯ ในช่วง 2 ปีดังกล่าว โดยเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนเล่าให้สมาชิกทราบแล้วในบทความชื่อ “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ในปีมหามงคล” โดยตีพิมพ์ในจุลสารจิตแพทย์สัมพันธ์ ฉบับที่ 3 ของปี 2550

      แต่มาในสองปีหลัง เราเริ่มมีคำขวัญของสมาคมฯ เอง โดยปี 2551 เป็นปีที่สมาคมฯ ครบรอบ 55 ปี ผมเห็นว่าช่วงที่สมาคมฯ ครบ 50 ปีนั้น เราไม่ได้จัดกิจกรรมใด ๆ เพื่อเฉลิมฉลองสุพรรณสมโภช ก็เลยถือโอกาสที่ครบ 55 ปีมาฉลองแทน โดยเรามีโลโก้สัญลักษณ์ 55 ปีของสมาคมฯ เป็นการเฉพาะ ทั้งแบบสีและขาวดำ แต่กว่าจะตัดสินใจเลือกโลโก้ได้ ต้องให้ฝ่ายออกแบบแก้กันไปมา จนมาสรุปกันในช่วงปลายปี ส่วนคำขวัญในปี 2551 เราใช้คำขวัญ ว่า “55 ปีสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ก้าวไกลไปสู่ 1 รอบศตวรรษ” (55 years of PAT: Stride for the Century) ครั้งถึงปี 2552 ก็ตรงกับครบ 120ปี จิตเวชศาสตร์ไทย เราจึงมีคำขวัญว่า “120 ปีจิตเวชศาสตร์ไทย สมาคมฯ ก้าวไกล จิตแพทย์ไทยก้าวหน้า”


จพส: 4 ปีที่ผ่านมา รู้สึกภูมิใจกับผลงานเรื่องไหนบ้างคะ ?

นายกฯ: ภูมิใจหลายเรื่องนะครับ ผมขอยกเป็นข้อ ๆ มาพูดให้ฟังแล้วกัน

      ข้อแรกคือ โครงการ “สุขภาพจิตดี เพราะมีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เริ่มขึ้นในปี 2549 ซึ่ง เราก็ทราบว่าเป็นปีมหามงคลของชาวไทย หลายหน่วยงานต่าง ก็หยิบยกพระราชกรณียกิจ หรือพระราโชบาย มาเทิดทูนพระองค์ท่าน เช่นเรื่องกษัตริย์นักดนตรี, กษัตริย์นักกีฬา หรือเรื่องพลังงานทดแทน และแน่นอนปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็มีคนกล่าวถึงกันมากในช่วงนั้น แต่ไม่มีหน่วยงานใดที่หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเรื่องสุขภาพจิตมาก่อน ผมจึงเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ ก็มีคนค้านผมนะครับ แต่ไม่ได้ค้านว่าไม่ให้ทำ แต่เขาค้านด้วยความเป็นห่วงว่าจัดบรรยายเรื่องนี้ จะมีจิตแพทย์ที่ไหนมาฟัง สุดท้ายผมได้เป็นคนไปเชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ด้วยตัวเอง กว่าจะหาวันที่ท่านว่าง ผมจำต้องยอมเลื่อนการเดินทางของผมที่จะไปบรรยายที่ญี่ปุ่นออกไป 1 วัน เพื่อจะได้จัดการบรรยายของ ดร.สุเมธ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ปรากฏว่าวันนั้นมีคนมาฟังเต็มห้องประชุม อาจารย์จิตแพทย์อาวุโสหลายท่านก็มา เช่น อ.ศรีธรรม เป็นต้น จากนั้นผมก็ถอดเทปคำบรรยายของ ดร.สุเมธ ส่งให้ท่านตรวจทานก่อน แล้วจึงนำไปเผยแพร่บน website ของสมาคมฯ และนำไปตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์ฯ ซึ่งเราทำเป็นฉบับพิเศษ หน้าปกวารสารมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมบทความเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตพอเพียง รวม 3 บทความ


จพส: ดิฉันก็จำได้คะ ยังเก็บวารสารฉบับนี้เอาไว้ด้วย แล้วเรื่องอื่น ๆ ที่ภูมิใจละคะ ?

นายกฯ: เรื่องถัดไป ก็คือ โครงการสำหรับจิตแพทย์รุ่นเยาว์ครับ ซึ่งมีหลายโครงการย่อยมาก เช่นการให้ทุนไปฝึกอบรมดูงานระยะสั้นที่ University of Melbourne, University of Toronto, และที่ Yonjin Mental Hospital สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็น WHO Collaborating Center for Psychosocial Rehabilitation and Community Mental Health, อีกโครงการหนึ่งจะเป็นทุนให้ไปเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุมนานาชาติ ซึ่งแต่ละปีก็จะมีการประชุมที่ไม่ซ้ำกัน และล่าสุด จิตแพทย์ที่เราคัดเลือกส่งไปเสนอผลงานที่การประชุม World Congress of Asian Psychiatry ที่ไต้หวัน คือคุณหมอตะวันชัย จิระประมุขพิทักษ์นั้น ยังคว้ารางวัล best poster award มาด้วย

      อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพการวิจัยของจิตแพทย์รุ่นเยาว์ ที่เราเรียกว่า Mentor & Mentee (หรือเรียกย่อๆ ว่า M&M) Program ซึ่งในปีแรก เราตั้งใจไว้ 10 ทุน แต่เอาเข้าจริงมีคนสมัครเข้าโครงการนี้ของเราเพียง 2 ทุนเท่านั้น คือคุณหมอทัดกมล พรหมมา กับคุณหมอศิริณา ศรัทธาพิสิฐ หลังจากที่คุณหมอทำงานวิจัยเสร็จสิ้น ก็ได้นำผลงานนี้ไปนำเสนอในการประชุม World Congress of Psychiatry ที่ปราก และ Pacific Rim College of Psychiatrists (PRCP) Congress ที่โตเกียวอีกด้วย


จพส: แล้วเรื่องกลุ่ม GeNPIG ละคะ ดิฉันจำได้แต่ GeNPIG จนนึกชื่อเต็ม ๆ ไม่ออกเสียแล้ว

นายกฯ: GeNPIG ย่อมาจากคำว่า Geriatric Psychiatry /Neuropsychiatry Interest Group หรือชื่อภาษาไทย ว่า กลุ่มผู้สนใจในจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ/และหรือประสาทจิตเวชศาสตร์ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ภูมิใจอยู่ลึก ๆ ว่า เป็นคนช่วยตั้งต้นและก่อให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาได้ โดยกลุ่มนี้เขาได้จัดกิจกรรมทางวิชาการขึ้นปีละ 4 ครั้ง ปัจจุบันสมาคมจิตแพทย์ฯ ได้ยอมรับกลุ่มนี้อย่างเป็นทางการแล้ว และได้เสนอให้ GeNPIG จัดตั้งเป็นชมรม และมีระเบียบข้อบังคับของตัวเองขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นองค์กรลูกของสมาคมฯ อยู่ ข่าวดีก็คือทางกลุ่มฯ ได้ยื่นสมัครขอเป็น affiliation member กับทาง International Psychogeriatric Association (IPA) ซึ่งทาง IPA ก็ได้ approve ให้เป็น affiliation member ไปแล้ว ในการประชุมใหญ่ของ IPA เมื่อเดือนกันยายน 2552 ที่ผ่านมา


จพส: เรื่องการจัดประชุม AFPMH Congress ละคะ เป็นเรื่องที่สมาคมฯ ภูมิใจด้วยหรือเปล่า ?

นายกฯ: แน่นอนครับ ไม่เพียงแต่การประชุม AFPMH Congress ที่ประสบความสำเร็จ เพราะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดประชุม APMMH มา ซึ่งคงต้องยกเครดิตนี้ให้กับทางกรมสุขภาพจิต และทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ด้วย แต่ที่น่าภูมิใจกว่านั้นคือ ASEAN Journal of Psychiatry ที่ประเทศไทยรับผิดชอบอยู่ 2 ปีนั้น ก็ได้รับคำชื่นชมมากเช่นกัน และเป็นครั้งแรกที่เราเป็นผู้นำ ASEAN Journal ขึ้น web ซึ่งต้องยกเครดิตนี้ให้กับ อ.มานิต ที่เชียงใหม่ พร้อมทีมงานครับ แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสมาชิกหลายท่านคงยังไม่ทราบก็คือ ในช่วงที่ผมเป็นประธาน AFPMH นั้น เป็นครั้งแรกที่การประชุม AFPMH Council ที่กรุงเทพฯ ได้มีนายกสมาคม และหรือตัวแทนของนายกสมาคมมาประชุมครบเกือบทุกประเทศ ขาดแต่ประเทศลาวกับบรูไนเท่านั้น และเป็นครั้งแรกที่นายกสมาคมของประเทศในอาเซียนได้ประชุมร่วมกับนายกสมาคม ของญี่ปุ่นกับเกาหลี ความจริงเราต้องการจัด AFPMH +3 แต่นายกสมาคม ของจีนมาไม่ได้ จึงได้แค่ +2 และการประชุมที่กรุงเทพฯ เราได้ข้อสรุปเรื่องการเวียนรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยาวไปถึงปี ค.ศ.2022 โดยต่อไปในอนาคตจะมีการจัด AFPMH ที่ประเทศพม่า กัมพูชาและเวียดนามด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากข้อตกลงของการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2551 นี่เอง


จพส: ความสัมพันธ์กับต่างประเทศละคะ เป็นยังไงบ้าง ?

นายกฯ: ในช่วง 4 ปีนี้ สมาคมจิตแพทย์ฯ ได้กระชับความสัมพันธ์ไว้มาก จะเห็นว่าเรามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทาง World Psychiatric Association (WPA) ในปี 2549 ทาง Prof.Mario Maj ซึ่งเป็น President – elect ของ WPA ในขณะนั้น มีจดหมายมาชื่นชมสมาคมฯ ของเรา และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา WPA ได้จัดสรรทุนให้สมาคมของเราคัดเลือกจิตแพทย์รุ่นเยาว์ไปร่วมประชุมนานาชาติที่ทาง WPA จัดขึ้นทุกปี ในช่วง 4 ปีนั้น นอกจากการกระชับความสัมพันธ์กับสมาคมจิตแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนแล้ว เรายังสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมจิตแพทย์ของเกาหลี (KNPA) ของญี่ปุ่น (JSPN) ของไต้หวัน (TSOP) และของอเมริกา (APA) อีกด้วย

      สำหรับ JSPN นั้น ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 120 ปี และรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต่างจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อฉลองความสัมพันธ์ดังกล่าว ทางสมาคมจิตแพทย์ฯ จึงได้เชิญคณะผู้บริหาร JSPN ให้มาประเทศไทย โดยมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในการประชุมนานาสาระวิชาการภาคฤดูร้อน (Summer Variety Meeting) ซึ่งการประชุมนี้ เป็นการประชุมใหม่ที่ทางสมาคมฯ ได้จัดขึ้นปีละครั้ง ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับจิตแพทย์รุ่นเยาว์ เช่นการไปฝึกอบรมต่อในต่างประเทศ การนำเสนอผลงานของจิตแพทย์รุ่นเยาว์ที่เข้าโครงการ M&M เป็นต้น ในปีนั้นเราได้ให้ผู้บริหารของ JSPN มานำเสนอทั้งเรื่องระบบบริการสุขภาพจิตของญี่ปุ่น งานวิจัย และการพัฒนายาจิตเวชใหม่ ๆ ในญี่ปุ่น เป็นต้น หลังจากนั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่าง JSPN กับสมาคมจิตแพทย์ฯ ของเรา ก็แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดย JSPN ได้มอบทุนให้จิตแพทย์รุ่นเยาว์ของไทยไปนำเสนอผลงานทางวิชาการในช่วง international session ในการประชุมวิชาการประจำปีของ JSPN ทุกปี


จพส: ดิฉันจำได้ว่า นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว สมาคมฯ ยังเคยจัดประชุมร่วมกับ APA ด้วยใช่ไหมคะ?

นายกฯ: ใช่ครับ คือในปี 2551 เป็นปีที่ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 175 ปี รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงได้จัดให้มีกิจกรรมเพี่อฉลองความสัมพันธ์ดังกล่าว สมาคมฯ จึงได้เชิญ Prof.Pedro Ruiz ซึ่งตอนที่ติดต่อไป เขายังเป็น President APA อยู่ แต่ว่าระนายกของ APA เขาเป็นแค่ปีเดียว ดังนั้นวันที่เราจัดการประชุมวิชาการจิตเวชศาสตร์ไทย – อเมริกัน (Thai – American Psychiatry Conference, TAPCon) นั้น Prof.Pedro Ruiz จึงเป็น Past President และทางฝั่งอเมริกันก็มีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ทางประเทศไทยก็ 3 คน นับเป็นการประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างสมาคมจิตแพทย์ของสองประเทศ


จพส: กิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคมฯ ละคะ มีอะไรอีกบ้าง ?

นายกฯ: ก็มีกิจกรรม ๑๐๐ ปีชาตะกาล อาจารย์ฝน (ศ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 ความจริงอาจารย์ฝนเกิดวันที่ 24 เมษายน 2450 ตอนแรกผมอยากจัดวันที่ 24 เมษายน แต่ไม่ลงตัวเรื่องสถานที่ กับวิทยากร จึงต้องเลื่อนมาจัดวันที่ 26 เมษายน แทน โดยกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดในวันนั้น มีทั้งการวางพวงมาลัย เพื่อร่วมกันน้อมจิตรำลึกถึงอาจารย์ฝน ต่อด้วยการบรรยายพิเศษ โดยมีอดีตนายกสมาคมฯ 2 ท่าน มาเป็นวิทยากร พูดถึงอาจารย์ฝนในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งอาจารย์อุดม ลักษณะวิจารณ์ และอาจารย์สมพร บุษราทิจ จากนั้นเราได้นำบทความของอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมฯ ซึ่งฉบับนั้นเราทำเป็นฉบับพิเศษลงรูปอาจารย์หมอฝน ที่หน้าปกด้วยครับ

      นอกจากนี้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผมได้จัดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนทุกปี เรียกว่า จิตเวชน่ารู้สู่ประชาชน ถ้าไปจัดต่างจังหวัด ก็จะเรียกว่า จิตเวชน่ารู้สู่ประชาชนสัญจรครับ สำหรับการจัดในกรุงเทพฯใน 3 ปีหลัง เราจะจัดในเดือนกันยายน ร่วมกับทางโรงพยาบาลราชวิถี โดยจะจัดเนื่องในวันรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day, WSPD) ซึ่งกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดขึ้นในประเทศไทยนี้ เคยมีบันทึกไว้ใน website ของ International Association for Suicidal Prevention, IASP) ด้วยครับ


จพส: แล้วกิจกรรมที่ทำเป็นประจำละคะ?

นายกฯ: กิจกรรมที่ทำเป็นประจำ สมาคมฯ ก็ทำอย่างต่อเนื่อง และพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การจัดรดน้ำสงกรานต์ขอพรอาจารย์จิตแพทย์อาวุโส ในช่วง 4 ปีมานี้ จะจัดควบคู่ไปกับการบรรยายพิเศษทุกครั้ง, การจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่จิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษา (APEC Night) ทำให้งานดูมีคุณค่ามากขึ้น ด้วยการเชิญ อ.ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ มาแหล่บายศรีสู่ขวัญ ก่อนจะให้อาจารย์จิตแพทย์ผูกข้อมือให้กับน้อง ๆ ส่วนงานเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงการประชุมวิชาการประจำปี ก็จะตอบแทนสมาชิกด้วยการแสดงที่ยิ่งใหญ่และคาดไม่ถึง เพื่อสร้างความสนุกสนานและประทับใจเช่น งานค่ำคืนแห่งดวงดาว เมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ทราบว่ามีสมาชิกหลายคนที่พลาดโอกาส ไม่ได้เข้าร่วมงานในวันนั้น ต่างเรียกร้องหา CD มาดูกันเป็นแถว และกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ การคัดเลือกจิตแพทย์ดีเด่นทุก ๆ 2 ปี ซึ่งในปี 2550 และ 2552 นั้น เราก็มีจิตแพทย์ดีเด่นครบทั้ง 3 ด้านทั้ง 2 ปี

จพส: แล้ววารสารสมาคมฯ กับหนังสือต่าง ๆ ละคะ ?

นายกฯ: ครับ สมาชิกทุกท่านคงเห็นแล้วว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา วารสารสมาคมฯ ของเราออกตรงเวลาครบทุกฉบับและในปี 2551 กับ 2552 ยังออกฉบับผนวก (supplementum) เพิ่มอีก ปีละ 1 ฉบับ คือปี 2551 เป็นฉบับการประชุมวิชาการจิตเวชศาสตร์ไทย – อเมริกัน ส่วนปี 2552 เป็นฉบับ ๑๒๐ ปี จิตเวชศาสตร์ไทย เรียกได้ว่าในปีหนึ่ง ๆ สมาชิกได้อ่านวารสารถึงปีละ 5 ฉบับ แล้วยังมีตำราโรคไบโพลาร์ กับตำราโรคจิตเภท ที่สมาคมฯ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2550 กับ 2552 รวมทั้งสมาคมฯ ยังจัดพิมพ์หนังสือในชุด “จิตเวชทันยุค” ของ อ.สมพร บุษราทิจและคณะ โดยสมาคมฯ จัดพิมพ์แจกให้กับสมาชิกทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เรียกได้ว่าใครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ช่วง 4 ปีนี้ ได้รับทั้งหนังสือ, ตำรา,และวารสาร คุ้มค่ากับค่าเงินสมาชิกตลอดชีพเพียง 1,500 บาทต่อปีจริง ๆ ครับ ความจริงยังมีหนังสือภาษาอังกฤษอีกเล่มหนึ่งคือ “120 Years of Thai Psychiatry” ซึ่งผมพยายามเร่งให้ออกในปลายปี 2552 นี้ แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็คงราว ๆ ต้นปี 2553 นี่แหละครับ

จพส: แล้วมีงานอะไรที่ยังรู้สึกว่ายังไม่ราบรื่น และอยากจะฝากต่อให้กับคณะกรรมการชุดหน้าไหมคะ ?

นายกฯ: ความจริง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 เราได้มีการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างคณะกรรมการชุดวาระ 2551-2552 กับชุดวาระ 2553-2554 เพื่อส่งมอบงานกันไปแล้ว ที่บอกว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเราไม่เคยมีมาก่อนเลยนะครับ ที่จะทราบชื่อคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมฯ ครบทุกคน ก่อนจะเริ่มทำงาน ที่ผ่านมาเวลาส่งมอบงาน จึงมักมีแต่ว่าที่นายกสมาคมฯ คนใหม่เท่านั้นที่จะไปเข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย แต่ครั้งนี้เราทราบชื่อกรรมการฯ คนใหม่ครบทุกคน และรายชื่อกรรมการฯ คนใหม่ทุกคนยังผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 มาแล้วด้วย ซึ่งเรื่องที่ผมได้มอบให้คณะกรรมการชุดใหม่ ช่วยนำไปพิจารณาต่อก็มีอยู่หลายเรื่องครับ เช่น คือเรื่องทุนวิจัยศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม ซึ่งที่ผ่านมาเรามอบได้แค่ปีเดียว คือปี 2550 โดยทุนนี้ เป็นทุนที่จะพิจารณามอบให้ทุก 2 ปี เราเสนอว่าควรประกาศและมอบทุนให้ในปีแรกของการบริหารงานของคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ เพราะจะต้องติดตามผลงานของผู้รับทุนต่อจนส่งรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งยังได้ฝากให้ช่วยพิจารณาเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมจิตแพทย์ฯ ว่าควรแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานในปัจจุบัน และฝากให้ช่วยหาทางจัดให้มี section หรือ forum ของ young psychiatrists and trainees ที่ผมเรียกย่อๆ ว่า Y-PAT ด้วย เพราะเราอยากให้กลุ่มจิตแพทย์รุ่นเยาว์จากทุกที่ และแพทย์ประจำบ้านจิตเวชจากทุกสถาบัน ได้มารวมตัวกัน เพื่อทำงานส่วนรวม เพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน เนื่องจากความหวังของจิตเวชศาสตร์ไทยในอนาคต อยู่ที่น้อง ๆ เหล่านี้แหละครับ


จพส: สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรจะกล่าวกับสมาชิกบ้างไหมคะ ?

นายกฯ: ก็ต้องกล่าวขอบคุณอีกครั้ง สำหรับสมาชิกสมาคมฯ ทุกท่าน ที่ได้ให้ความไว้วางใจ เลือกผมมาทำงานตรงนี้ เป็นงานที่มีเกียรติและผมภาคภูมิใจยิ่ง ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีค่ามากสำหรับผม อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่สามารถทำงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นให้สำเร็จลงได้เลย หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง จากคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็น อุปนายก, เลขาธิการ, ประธานวิชาการ, ประธานวารสาร, ปฏิคม, บรรณารักษ์, นายทะเบียน และกรรมการกลางทุกท่าน ทั้งในวาระที่แล้ว และวาระปัจจุบัน ดังที่ผมได้เคยพูดอยู่เสมอว่า คำย่อของสมาคมจิตแพทย์ฯ ที่เป็นภาษาอังกฤษว่า PAT นั้น ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ หมายถึง Pichet And Team ดังนั้นหากสมาชิกประสงค์ที่จะปรบมือให้กับผลงานของสมาคมฯ ที่ผ่านมาตลอด 4 ปีนี้แล้วละก็ ขออย่าได้ปรบมือให้กับผมคนเดียวเลยครับ แต่ช่วยกรุณาปรบมือให้กับคณะกรรมการอำนวยการสมาคมจิตแพทย์ฯ ทุก ๆ คน


จพส: ดิฉันก็ขอเป็นคนหนึ่งที่ปรบมือให้กับคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ ทุกท่านค่ะ

นายกฯ: สุดท้ายนี้ เนื่องในโอกาสปีใหม่ 2553 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบัลดาลให้ สมาชิกสมาคมจิตแพทย์ฯ ทุกท่าน ประสบแต่ความสุขความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดที่ถูกที่ต้องแล้ว ก็ขอให้ได้สัมฤทธิผลที่พึงปรารถนาทุกประการ และขอให้สุขเกษมสำราญ ตลอดปี 2553 นี้เทอญ


จพส: ขอขอบคุณแทนสมาชิกสมาคมฯ สำหรับพรปีใหม่ และขอให้อาจารย์ได้ประสบพรนั้นเช่นเดียวกันค่ะ สุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอขอบคุณอาจารย์อีกครั้ง ที่ได้สละเวลามาให้สัมภาษณ์เปิดใจในครั้งนี้ค่ะ